Skip to main content
sharethis

 


ห่างไปไม่กี่ร้อยกิโลเมตรจากกรุงเทพฯ แต่เรื่องราวของที่นั่นดูเหมือนห่างไกลยิ่งกว่านั้นมากนัก ชาวบ้านราษีไศล ชาวบ้านหัวนา จ.ศรีสะเกษ กำลังต่อสู้ดิ้นรนในเรื่องที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ หลายคนไม่เคยสนใจ เรื่องที่มีประวัติความ (เดือดร้อน) เป็นมายาวนาน เรื่องที่กลไกต่างๆ ยังคงแก้ปัญหาไม่ได้มาจนปัจจุบัน หากชีวิตไม่เร่งรีบจนเกินไป รายงานชิ้นนี้จะเปิดโลกของท่านไปสู่ดินแดนไกลโพ้น เพื่อทำความรู้จักและทำความเข้าใจปัญหาว่า ทำไมชาวบ้านต้องบุกยึดเขื่อน (อันที่จริงแค่เพียงยึดข้างเขื่อน) เหมือนที่แล้วมา และถึงเวลาหรือยังที่จะสรุปบทเรียนว่าด้วยโครงการพัฒนาที่มีชื่อว่า "เขื่อน"


 


00000


 


สนั่น ชูสกุล


 


 


คนอีสานมีความหวังทุกปีเพราะธรรมชาติกำหนด สภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่และตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่เคยเป็นทะเลมาก่อนเมื่อหลายล้านปีก่อน ทำให้ผืนดินแห่งนี้ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มที่ แม้ว่าจะมีแม่น้ำขนาดใหญ่และลำสาขานับหมื่นแห่งก็ตาม รัฐบาลทุกสมัยมีแนวคิดการจัดการน้ำแบบกักเก็บน้ำไว้เป็นจำนวนมาก เขื่อนขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำ และฝายน้ำล้นจำนวนมาก นับไม่ถ้วนจึงเกิดขึ้นพร้อมกับ แม่น้ำสายหลัก ลำสาขา ห้วย หนอง คลอง บึงธรรมชาติ ถูกขุดลอก กักกั้น เพื่อกักเก็บด้วยเขื่อนขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำ ฝาย และโครงการขุดลอกต่างๆ จนหมดสิ้น เพื่อทำให้แผ่นดินอีสานเขียวขจี ผู้คนไร้ความยากจน


 


ปี 2532 ความหวังครั้งใหญ่ของคนอีสานกำลังเกิดขึ้นอีกครั้งด้วยโครงการโขง ชี มูล


 


คนอีสานดีใจหนักหนา แผ่นดินอีสานกำลังจะกลายเป็นสีเขียว เพราะโครงการโขง ชี มูล


 


เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2532 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ด้วยการสนับสนุนและผลักดันของนายประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมขณะนั้น ได้เสนอโครงการโขง ชี มูล ให้คณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อคราวประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดขอนแก่น คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ 18,000 ล้านบาท ในการก่อสร้างอาคารและระบบส่งน้ำชลประทานให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี  คือ พ.. 2533 - 2535 (วราลักษณ์ อิทธิพลโอฬาร,2538-2539) สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรประมาณ 4.98 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 15 จังหวัด (ยกเว้น นครพนม มุกดาหาร สกลนครและหนองบัวลำภู) ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 228,000 ล้านบาท แบ่งระยะการพัฒนาโครงการ ฯ ออกเป็น 3 ระยะ ใช้เวลาดำเนินการ 42 ปี (2534 - 2576) ดังนี้


 


การดำเนินการตั้งแต่ปี 2536 - ปัจจุบัน กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ได้ก่อสร้างเฉพาะฝายและระบบชลปะทานในลุ่มน้ำมูน ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำสาขาตามแผนระยะที่ 1 จำนวน 14 โครงการ ในวงเงินประมาณ 9,996 ล้านบาท , โครงการชลประทานรอบอ่างห้วยหลวงในวงเงิน 350 ล้านบาท รวม 10,346 ล้านบาท พื้นที่เพาะปลูก 510,480 ไร่ และเมื่อรวมกับเงินงบประมาณที่อนุมัติครั้งแรก 18,000 บาท โครงการโขง ชี มูล จึงได้รับอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการทั้งสิ้น 28,346 ล้านบาท ปัจจุบันการดำเนินโครงการระยะที่ 1 ได้เสร็จสิ้นแล้ว  มีการก่อสร้าง  14 โครงการย่อย คือ การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำมูน 6 เขื่อน คือ เขื่อนชุมพวง เขื่อนบ้านเขว้า เขื่อนตะลุง เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา  แม่น้ำชี 8 คือ เขื่อนวังยาง เขื่อนธาตุน้อย เขื่อนยโสธร เขื่อนชนบท และเขื่อนมหาสารคาม เขื่อนหนองหานกุมภวาปี  เขื่อนลำเซบก เขื่อนลำโดมใหญ่


 


แม้ว่าในปี 2536 คณะผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้เสนอให้มีการชะลอโครงการไว้ เพราะจะเกิดปัญหาผลกระทบการแพร่กระจายดินเค็มในภาคอีสาน และให้ปรับปรุงรายงานหลายเรื่อง แต่โครงการก็ยังได้รับการอนุมัติและดำเนินโครงการในระยะที่ 1 เกือบเสร็จทุกโครงการ


 


1.  โครงการเขื่อนราษีไศล


 


            เขื่อนราษีไศล เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนมีนาคม 2535 แล้วเสร็จและทำการเก็บกักน้ำตั้งแต่เดือนตุลาคม 2536 ลักษณะโครงการเป็นเขื่อนคอนกรีตขนาดความสูง 9 เมตรปิด-เปิดด้วยบานประตูเหล็ก 7 บาน ควบคุมด้วยระบบไฮโดรลิค สร้างปิดกั้นลำน้ำมูนที่บ้านปากห้วย อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ และมีการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำ  (dike) ระดับความสูง 120  เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง  (.รทก.) เพื่อกั้นพื้นที่น้ำหลากท่วมสองฝั่งแม่น้ำ เป็นระยะทาง 45.8 กิโลเมตร  ระดับการเก็บกักน้ำสูงสุด 119  .รทก. ขณะที่พื้นที่ท้องน้ำเท่ากับ 110 ม.รทก. จะช่วยยกระดับน้ำในลำน้ำมูนเป็นระยะทาง 120 กิโลเมตร และลำสาขา คือห้วยทับทัน 26 กิโลเมตร ลำน้ำเสียว 15 กิโลเมตร ห้วยน้ำเค็ม 5 กิโลเมตร และลำพลับพลา 7 กิโลเมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 20 ตารางกิโลเมตร (12,500 ไร่) สามารถเก็บกักน้ำได้ 74.43 ล้านลูกบาศก์เมตร


 


            พื้นที่ชลประทานตามแผนในระยะแรก 34,420 ไร่ และในอนาคตเมื่อมีการผันน้ำมาจากแม่น้ำโขงจะได้พื้นที่ชลประทานจำนวน 143,260 ไร่ มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 228,000 ไร่ โครงการมีแผนการก่อสร้างเป็นเวลา 6 ปี นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2535 - 2541 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 871.9 ล้านบาท


 


            หลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ เขื่อนราษีไศลได้ทดลองกักเก็บน้ำในเดือนตุลาคม 2536 ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำมูนได้รับผลกระทบอย่างหนัก พื้นที่ทำการเกษตรเสียหายเป็นวงกว้าง ไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ทัน ทำให้ชาวบ้านต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เครือข่ายชาวบ้านลุกขึ้นเคลื่อนไหวเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาแก้ไขปัญหา การนำน้ำจากเขื่อนราษีไศลยังไม่สามารถให้ผลประโยชน์ทางชลประทานได้ เนื่องจากระบบการกระจายน้ำที่ไม่เสร็จ และความเค็มของน้ำเป็นปัญหาต่อการผลิตของชุมชนที่อยู่รอบเขื่อน แต่การกักเก็บน้ำทำให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศน์อย่างหนัก ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้


 


1.2 ผลประโยชน์จากเขื่อนราษีไศล


 


            ในเอกสารสรุปผลการวิเคราะห์ปัญหาผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาการจ่ายค่าชดเชยที่ดินโครงการฝายราษีไศล ของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังระบุว่า เขื่อนจะเก็บกักน้ำได้ 74.43 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน  79,120 ไร่ ในฤดูแล้ง 28,425 ไร่ และถ้ามีการสูบน้ำโขงเข้ามาจะได้พื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 288,000 ไร่ ฤดูแล้ง 64,100 ไร่


 


            เอกสารดังกล่าว สรุปผลประโยชน์ที่เกิดในช่วงเวลานั้นว่า ด้านอุปโภค บริโภค ราษฎร 98 หมู่บ้าน 48,000 คน ได้ประโยชน์ และราษฎรในเขตเทศบาลท่าตูม เทศบาลราษีไศล เทศบาลกันทรารมย์ อีก 24,000 คน ได้ใช้น้ำ 3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ด้านการชลประทาน ระหว่างปี 2536 - 2543 โครงการสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าเดิม 20 สถานี ได้ใช้น้ำในฤดูฝน 41,760 ไร่ ฤดูแล้ง 3,671 ไร่


 


            ผลประโยชน์ด้านการประมง ราษฎรทำการประมงหน้าเขื่อนมีรายได้เฉลี่ยปีละ 4.2 ล้านบาท (กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน, 2543)


 


            จากการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่พบว่า


 


1.   ผลประโยชน์จากการใช้น้ำของเขื่อนราศีไศลยังไม่เกิดขึ้นจริง


 


            ผลประโยชน์จริงของเขื่อนราษีไศลจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการใช้น้ำชลประทานเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ความจริงก็คือ สถานีสูบน้ำที่สร้างใหม่ 2 สถานี  (RSP - 21 และ RSP - 22) ที่อำเภอรัตนบุรีและอำเภอบึงบูรพ์ ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 37,360 ไร่ (เอกสารเผยแพร่ว่า 34,420 ไร่) นั้น ยังสร้างไม่เสร็จ และมีการทดลองสูบน้ำสำหรับทำนาปรังในพื้นที่ตำบลดอนแรด อ.รัตนบุรี  เพียงครั้งเดียว เมื่อปี 2545  ประมาณ 100 ไร่เท่านั้น


 


            สำหรับตัวเลขพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 41,760 ไร่และ 3,671 ไร่ ในฤดูแล้ง ตามรายงานดังกล่าวเป็นตัวเลขตามโครงการเดิม 20 สถานีสูบน้ำทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน เป็นตัวเลขเต็มตามวัตถุประสงค์ที่โครงการวางไว้ ไม่ใช่ตัวเลขการใช้ประโยชน์จริง และ 11 ใน 20 สถานีดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากเขื่อนราษีไศลโดยตรง เพราะอยู่บริเวณใต้เขื่อน และเป็นพื้นที่ชลประทานของเขื่อนหัวนา (อีก 1 เขื่อนในโครงการโขง ชี มูลเช่นกัน) ตัวเลขในรายงานดังกล่าวจึงเป็นตัวเลขเหมารวมและสำหรับโฆษณาไม่ใช่ความจริง


 


            ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยสังคมในช่วงระยะเวลาเดียวกัน จากคำถามเกี่ยวกับการได้รับผลประโยชน์จากการมีเขื่อนราษีไศลของครอบครัวทั้งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์ พบว่าโดยรวมมีครัวเรือนถึงร้อยละ 62.3 ตอบว่าไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการมีเขื่อนราษีไศล โดยเฉพาะในชุมชนที่โครงการเขื่อนราษีไศลอ้างว่าจะเป็นพื้นที่รับประโยชน์ กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 67.2 ตอบว่าไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย  ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ  มีผู้ตอบว่าไม่ได้รับประโยชน์อะไรร้อยละ  60.7 (สถาบันวิจัยสังคม, 2547)


 


            2.  ประโยชน์ทางด้านการอุปโภคบริโภค   ใน 3 เทศบาลนั้นก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน เพราะการประปาเทศบาลตำบลท่าตูม จ.สุรินทร์ ไม่ได้ใช้น้ำจากแม่น้ำมูนทำน้ำประปา เทศบาลท่าตูมมีอ่างเก็บน้ำสำหรับทำน้ำประปาของตนเองต่างหากเพราะเคยใช้น้ำจากลำน้ำมูนทำน้ำประปาแล้วมีปัญหาความเค็ม สำหรับเทศบาลกันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ นั้นอยู่ใต้เขื่อนราษีไศลลงไปประมาณ 80 กิโลเมตร (อยู่เหนือเขื่อนหัวนาประมาณ 10 กิโลเมตร) ส่วนเทศบาลเมืองคง อ.ราษีไศล ซึ่งอยู่ใต้เขื่อนราษีไศลลงไป 5 กิโลเมตรก็ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำจากเขื่อนราษีไศลเช่นกัน การเก็บกักน้ำของเขื่อนราษีไศลเสียอีกที่จะทำให้เทศบาลแห่งนี้ขาดแคลนน้ำทำน้ำประปา


 


            3.  ด้านการประมง ที่มีตัวเลขผลประโยชน์ที่ได้รับปีละ 4.2 ล้านบาท อาจเปรียบกันไม่ได้เลยกับผลที่เสียไปตามที่เราทราบเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วว่า ปลาเศรษฐกิจหายไป กบและหอยหลายชนิดหายไป เครื่องมือประมงพื้นบ้านซึ่งมี 47 ชนิด  ส่วนใหญ่สามารถใช้ในการหาปลาในน้ำลึกได้อีกต่อไป ทั้งยังมีวัชพืชและหอยคันระบาด เป็นอุปสรรคต่อการหาปลา ปลาที่จับได้รสจืดเน่าเร็ว  จากการศึกษาของโครงการทามมูล เมื่อปี 2538 ศึกษากลุ่มตัวอย่าง 366 ครอบครัว ใน 11 หมู่บ้าน พบว่ารายได้จากการประมง (หาปลา หอย กบเขียด) มีรายได้รวมปีละ 3,865,049 บาท เฉลี่ยครอบครัวละ 10,560 บาท พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล 141 หมู่บ้าน ถ้าประมาณว่า ก่อนการสร้างเขื่อน มีคนทำการประมงสัก 5,000 คน ก็จะมีรายได้รวม 52.8 ล้านบาท (โครงการทามมูล, 2538)


 


            4. ศักยภาพของการใช้น้ำชลประทานในการเกษตร ถ้ามีการเก็บน้ำของเขื่อนราษีไศลแล้ว การใช้น้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่สองฝั่งลำน้ำมูนจะเป็นอย่างไร ?


 


            เรื่องนี้คาดการณ์ไม่ยาก เพราะประสบการณ์เดิมในพื้นที่สถานีสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าทั่วไปในลุ่มน้ำมูนนั้นประจักษ์อยู่ในตัว คือ ชาวบ้านจะใช้ประโยชน์จากสถานีสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าในช่วงฤดูฝนทิ้งช่วงเป็นหลัก เพื่อนำน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นข้าว


 


            ส่วนประสบการณ์การทำนาปรัง พบว่า ค่อนข้างล้มเหลวเพราะไม่คุ้มทุน การต้องซื้อน้ำลงทุนปุ๋ย ยาเคมี และมีปัญหาโรคแมลงระบาดในฤดูแล้ง และที่สำคัญ คือ เมื่อสูบน้ำจากลำน้ำมูนมาใส่นาซึ่งเป็นนาดินทรายซึ่งมีชั้นเกลืออยู่ใต้ดินผสมกับความเค็มที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำจากลำน้ำมูน ทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็มจนข้าวเสียหาย และต้นไม้ในนายืนต้นตาย ด้วยเหตุผลดังกล่าว ชาวบ้านจึงไม่นิยมนำน้ำจากแม่น้ำมูนมาทำนาปรัง ดังนั้นวัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มผลผลิตในฤดูแล้งจะเกิดผลน้อยมาก


 


            ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจริงจึงเหลือเพียงการสูบน้ำในแม่น้ำมูนใช้ในการทำนาในฤดูฝนทิ้งช่วง  ซึ่งเกิดขึ้นประมาณเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งในฤดูดังกล่าวในลำน้ำมูนจะมีน้ำเพียงพอสำหรับให้สถานีสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าใช้สูบให้กับชาวนา นั่นหมายถึงไม่ต้องมีการเก็บกักน้ำของเขื่อนราศีไศลแต่อย่างใด


 


5.   การจัดหาพื้นที่ชลประทานของเขื่อนราษีไศล ลงทุนไร่ละเท่าไหร่?


 


ค่าก่อสร้างเขื่อนราษีไศลตามโครงการ 871 ล้านบาท เพื่อการจัดหาพื้นที่ชลประทาน 34,420 ไร่ นั้นเท่ากับว่าไร่หนึ่งต้องลงทุน 25,305 บาท


 


            ในความจริง เขื่อนราษีไศลได้จ่ายค่าชดเชยไปแล้ว 2 ครั้ง จำนวน 420,925,344 บาท และต้องจ่ายอีกสำหรับผู้เดือดร้อนที่เหลืออยู่ ถ้าต้องจ่ายอีก 52,000 ไร่ (ตัวเลขการตรวจสอบพื้นที่ทำกินล่าสุด มีนาคม 2548) ไร่ละ 32,000 บาท เป็นเงิน 1,664,000,000 บาท รวมค่าก่อสร้างและการจ่ายค่าชดเชยทั้งหมดเป็นเงิน 2,956,825,344 บาท โดยยังไม่คิดค่าดูแล ซ่อมแซมตลอดอายุเขื่อน ค่าศึกษาผลกระทบ ออกแบบ วางแผนแก้ผลกระทบ และงบโฆษณาประชาสัมพันธ์


 


            นั่นจะเท่ากับว่าเขื่อนราษีไศลอาจจะต้องจ่าย 85,904 บาท เพื่อจัดหาพื้นที่ชลประทาน 1 ไร่ และนั่นคือราคาที่มีประสิทธิภาพการใช้งานของระบบชลประทานอยู่ที่ 100 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกันไม่ได้กับการลงทุนของระบบชลประทานในพื้นที่ทามของชาวบ้านหนองแค - สวนสวรรค์ ที่ลงทุนในการทำโครงสร้างระบบชลประทานราคาเฉลี่ยเพียงไร่ละ 783.30 บาทเท่านั้น


 


            6. ในปัจจุบันที่การก่อสร้างเขื่อนราษีไศลผ่านมาแล้ว 15 ปี ผู้ที่ได้รับประโยชน์จริงคือใคร ?


 


            ในขณะที่ผลประโยชน์ทางตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ก็มีผลประโยชน์ทางอ้อมที่เกิดขึ้นจริง ก็คือ ธุรกิจท่าทรายและการเลี้ยงปลาในกระซัง


 


            หลังจากมีการเก็บกักน้ำของเขื่อนราษีไศล ในปี 2536 ธุรกิจท่าทรายเติบโตเป็นอันมากโดยที่ระดับน้ำเหนือเขื่อนสูงตลอดปี สะดวกต่อการใช้เรือดูดทราย มีธุรกิจท่าทราย 5 ท่าในปัจจุบันที่ทำธุรกิจดูดทรายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เป็นธุรกิจของนักการเมืองใหญ่ระดับชาติ นักธุรกิจท่าทรายจึงมีพลังในการล่ารายชื่อชาวบ้านในท้องถิ่นสนับสนุนผลักดันให้รัฐบาลตัดสินใจเปลี่ยนมติคณะรัฐมนตรี 25 กรกฎาคม 2543 ให้เปิดบานประตูเขื่อนให้มีการปิดเขื่อนครั้งใหม่ เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2548


 


            ผู้ได้ประโยชน์อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มผู้เลี้ยงปลาทับทิมและปลานิลในกระซังที่บ้านดงแดง ตำบลด่าน ซึ่งอยู่ห่างจากหัวงานเขื่อนไปทางเหนือน้ำประมาณ 7 กิโลเมตร ประมาณ 10 ราย เริ่มเลี้ยงมาหลังจากมีการเก็บกักน้ำ กลุ่มนี้เรียกร้องให้มีการเก็บกักน้ำเพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการเลี้ยงปลา ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกับผู้ที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามจำนวนหลายพันครัวเรือนอย่างสิ้นเชิง


 


1.4. ผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล


 


              4.1 การสูญเสียที่ดินทำกินของราษฎร  พื้นที่บุ่งทามในบริเวณที่เขื่อนราษีไศลใช้เป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เป็นแหล่งที่ราษฎรสองฝั่งลำน้ำมูนครอบครองและทำประโยชน์มาตามครรลองจารีตประเพณีอย่างยาวนาน มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจประมาณ 25  กิจกรรม  เมื่อเขื่อนราษีไศลกักเก็บน้ำเมื่อปลายปี 2536 น้ำได้ท่วมที่ทำกินนับตั้งแต่ที่ต่ำ คือ กุด หนอง เลิง ที่ใช้ทำนาทาม และที่โนนที่ใช้ทำข้าวไร่และพืชไร่ บางบริเวณที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงก็กลายเป็นการไม่สามารถเดินทางหรือนำเครื่องมือไปทำการผลิตใด ๆ ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากตามมาเมื่อราษฎรได้เรียกร้องให้โครงการแก้ปัญหา  เพราะไม่มีหลักฐานที่เป็นทางการ คือ เอกสารสิทธิ์ตามกฎหมายในที่ดิน


 


            ในปี 2542 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาพบว่า ในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำราษีไศล มีครัวเรือนที่นาทามสูญเสียราว 7,856 ครัวเรือน พื้นที่นาทามที่ถูกน้ำท่วมราว 46,937 ไร่ ใน 9 ตำบล ผลผลิตข้าวนาทามเปรียบเทียบระหว่างปี 2535 (ก่อนเก็บกักน้ำ) กับปี 2542 รายได้หลักของครัวเรือนที่ทำนาทามลดลงราวปีละ 11,520 บาท ผลผลิตรวมโดยประมาณที่ลดลงคือราว 540 ล้านต่อปี (สถาบันวิจัยสังคม จุฬา ฯ, 2547 : 4 - 42)  ปี 2547 ภายหลังกรมชลประทานเข้ามารับผิดชอบเมื่อปี 2545 กรมชลประทานได้ระบุว่า พื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนราษีไศล ประมาณ 100,000 ไร่


 


            4.2 การสูญเสียพื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ เศรษฐกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ชุมชนต้องสูญเสียอย่างหนักคือ อาชีพการเลี้ยงวัวควาย ครัวเรือนร้อยละ 90 เลี้ยงวัวควาย ครัวเรือนละตั้งแต่ 10-30 ตัว พื้นที่บุ่งทามเป็นทำเลที่กว้างขวาง มีพืชอาหารสัตว์หลากหลายและเพียงพอ มีแหล่งน้ำและที่พักสัตว์ ชุมชนแถบนี้มีแบบแผนการเลี้ยงแบบเฉพาะตัวและมีภูมิปัญญาที่สั่งสมมายาวนาน  เมื่อมีการเก็บกักน้ำ ปริมาณการเลี้ยงวัวควายลดลง ชาวบ้านต้องขายไปเพราะไม่มีที่เลี้ยง  ส่วนที่เหลือต้องหาที่เลี้ยงใหม่ ทั้งในทุ่งนา ป่าโคก และเลี้ยงที่บ้าน ข้อมูลของสถาบันวิจัยสังคมระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังการสร้างเขื่อน (ระหว่างปี 2535 - 2542)  จากการที่ทามถูกน้ำท่วมทำให้การเลี้ยงวัวในพื้นที่บุ่งทามลดลงร้อยละ 75.4 เปลี่ยนมาเลี้ยงที่บ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 446.7 จำนวนผู้เลี้ยงวัวลดลง ร้อยละ 14.9 และจำนวนผู้เลี้ยงควายลดลงร้อยละ 77.6 (สถาบันวิจัยสังคม จุฬา ฯ , 2547 : 12)


 


            4.3 ปัญหาพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมนานอกอ่างเก็บน้ำ คันดินกั้นน้ำ (Dike) ของเขื่อนราษีไศล ซึ่งก่อสร้างขนาบสองฝั่งแม่น้ำมูนรวมทั้งสองฝั่งเป็นความยาวทั้งสิ้น 45.8 กิโลเมตร ข้อสรุปจากคณะกรรมการศึกษาผลกระทบ เมื่อปี 2540 พบว่า คันดินดังกล่าวปิดกั้นน้ำจากที่สูงไม่ให้ไหลลงแม่น้ำมูนได้ดั่งเดิม ส่งผลให้น้ำท่วมนาบริเวณนอกอ่างเก็บน้ำเกือบทุกพื้นที่ ราษฎรที่มีที่นาอยู่ในบริเวณดังกล่าวต้องประสบความเดือดร้อนทุกปี คณะกรรมการจึงมีมติให้แก้โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำถาวรบนคันดิน 7 จุด  ซ่อมและเสริมคันดินอีก 1 และ 2 จุดตามลำดับ และตั้งอาสาสมัครชาวบ้านเพื่อเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี    แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ จนถึงปัจจุบัน 


 


ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ การสร้างคันดินกั้นน้ำปัญหาในบริเวณที่มีการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำเป็นขอบเขตชัดเจนนั้นมีการก่อสร้างในพื้นที่เหนือเขื่อนนับระยะทางได้ประมาณ 20 กิโลเมตรเท่านั้น เหนือนั้นขึ้นไปเป็นระยะทาง 70-80 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเก็บกักน้ำของเขื่อน   ในบางพื้นที่ เช่น ตำบลยางคำ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด เขื่อนราษีไศลกำหนดเอาฝั่งแม่น้ำมูนเป็นขอบเขตอ่างเก็บน้ำ  ทุ่งนาไกลฝั่งออกไปมีระดับความสูงที่ 117 ม.รทก. ต่ำกว่าระดับเก็บกักน้ำของเขื่อน (119 ม.รทก.) จึงประสบกับน้ำท่วมนาทุกปีเช่นกัน  


 


            พื้นที่ที่อยู่สูงขึ้นไปเกือบสิบตำบล ได้รับผลกระทบจากเขื่อนในฤดูน้ำหลากเช่นกัน ขณะที่ก่อนการสร้างเขื่อน การทำนาในพื้นที่ทามและในนาทุ่งที่สูงขึ้นไปมักต้องถูกน้ำท่วม แต่เป็นการท่วมในระยะ 1-2 สัปดาห์เท่านั้น ต้นข้าวในนายังไม่ตายและสามารถฟื้นคืนได้  แต่หลังการก่อสร้างเขื่อน  แรงอัดเอ่อของน้ำทำให้เกิดการท่วมยาวนานถึง 1-3 เดือน


 


            ความจริงประการหนึ่ง คือ  เดิมเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก  ความกว้างของทางเดินน้ำบริเวณก่อสร้างเขื่อนคือบุ่งทามกว้างประมาณ 6 กิโลเมตร เมื่อมีการสร้างเขื่อน มีการสร้างเขื่อนดินเป็นถนนฝั่งซ้ายแม่น้ำมูนยาว 5 กิโลเมตร ฝั่งขวายาว 1 กิโลเมตร ปิดกั้นพื้นที่น้ำหลาก โดยไม่มีช่องระบายน้ำใด ๆ เลย มีแต่ประตูระบายน้ำที่หัวงานเขื่อนเพียง 7 บาน กว้างบานละ 12.5 เมตร รวมเป็น 87.5 เมตร   น้ำที่เคยมีทางระบาย กว้าง 6 กิโลเมตร (6,000 เมตร) กลับเหลือช่องไหลเพียง 87.5 เมตร ในฤดูน้ำหลากน้ำจึงไหลไม่ทันและก่อผลกระทบอย่างมหาศาลต่อพื้นที่เหนือเขื่อนขึ้นไปนับ 100 กิโลเมตร


 


            4.4 การสูญเสียป่าบุ่งป่าทามแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่บุ่งทามถือได้ว่าเป็นระบบนิเวศน์ที่สำคัญของภาคอีสาน ของประเทศและของโลก มีภูมิสัณฐานที่หลากหลายอันเกิดจากอิทธิพลของสายน้ำ จำนวน 19 ลักษณะ  เช่น บุ่ง ทาม วัง ฮองหรือร่องน้ำ คุย วัง เวิน มาบ เลิง ดูน ซำ คำ หนอง บวก ปาก กุด แก้ง ฯลฯ ส่งผลให้มีความหลากหลายของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ในแต่ละบริเวณ และมีวงจรห่วงโซ่อาหารอันละเอียดซับซ้อน สัมพันธ์กับฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ในฤดูแล้งพื้นดินมีโอกาสได้ตากแห้ง วัชพืชน้ำตายลง ถูกแผดเผาโดยแสงแดดจนแห้งรอเปื่อยเป็นอาหารพืชสัตว์  จะเป็นที่อาศัย หากินและแพร่พันธุ์ของสัตว์บก มดปลวก แมลง และเป็นที่จำศีลของกบเขียดและหอย  เมื่อถึงฤดูน้ำหลากนอง สัตว์เล็ก แมลงและผลไม้ เมล็ดพืชต่าง ๆ  เป็นอาหารอันโอชะของปลาที่ว่ายทวนน้ำขึ้นมาหากินและวางไข่ในพุ่มไม้อย่างปลอดภัย  เหตุนี้จึงมีการเรียกพื้นที่นี้ว่า "มดลูกของแม่น้ำ"


 


            วงจรของธรรมชาติในพื้นที่ป่าบุ่ง ป่าทาม อยู่บนเงื่อนไขที่ต้องมีฤดูน้ำหลากท่วมสลับกับฤดูแล้ง ทำให้เกิดวิวัฒนาการของพืชสัตว์ที่มีดุลยภาพในตัวเอง  แต่เมื่อกลายเป็นอ่างเก็บน้ำถาวร มวลชีวิตที่มีวงจรระบบนิเวศน์เฉพาะดังกล่าวก็ไม่สามารถดำเนินวงจรชีวิตของตนต่อไปได้


 


            ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำอาณาเขตเกือบแสนไร่แห่งนี้ มีสภาพนิเวศน์แบบต่าง ๆ หลากหลายสลับกันไป โดยเฉพาะแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวนไม่น้อยกว่า 500 แหล่ง และระบบภูมิสัณฐาน 19 แบบ ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพและกายภาพต้องจมอยู่ภายใต้อ่างเก็บน้ำของเขื่อนราษีไศล พบว่า มีพันธุ์พืชในพื้นที่บุ่งทามจำนวน 250 ชนิด แยกเป็น ไม้ยืนต้น 67 ชนิด ไม้พุ่ม 33 ชนิด ไม้เลื้อย 51 ชนิด ประเภทเป็นกอ 43 ชนิด พืชน้ำ 24 ชนิด เห็ด 32 ชนิด เมล็ดพันธุ์ 47 ชนิด (งานวิจัยไทบ้านราษีไศล, 2548) พืชที่เป็นสมุนไพร 57 ชนิด (สนั่น ชูสกุลและคณะ,2540)  สัตว์ป่า พบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 10 ชนิด ใน 4 วงศ์  สัตว์เลื้อยคลาน 21 ชนิด ใน 9 วงศ์  สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 13 ชนิด ใน 6 วงศ์  และนก 53 ชนิด ใน 31 วงศ์ (ประสิทธิ์ คุณุรัตน์,2536.)


ยคลน์ พบสัตว์สะเทินบกสะเทินน้


            ด้านพันธุ์ปลา (วิจัยไทบ้านราษีไศล,2548) พบว่า ในลำน้ำมูนและบริเวณบุ่งทาม มีปลาที่พบ 112 ชนิด ในช่วงที่มีการเก็บกักน้ำ พบพันธุ์ปลา 100 ชนิด แต่ปลาหลายชนิดลดจำนวนลงจนหายากมาก จนมีคำพูดว่า "มีเหมือนไม่มี" ปลาที่สูญพันธุ์ และปลาหายากเป็นปลาอพยพ และล้วนเป็นปลาที่สร้างเศรษฐกิจรายได้แก่ชุมชน เช่น ปลาแข่เหลือง ปลาเคิงดำ ปลาจอก ปลาจอกขาว ปลาจอกดำ ปลาซวยหางแดง ปลาเผียะขาว ปลาสูดหางขาว ปลาหมากผาง ปลาสบ เมื่อมีการเปิดบานประตูเขื่อนตามมติคณะรัฐมนตรี 25 กรกฎาคม 2543 ปรากฏว่าปลาเหล่านี้กลับคืนมา ยกเว้น ปลาขบ ปลาแข่เหลือง ปลาซวยหางแดง และปลาเพียะขาว 


 


            อนึ่ง หลังมีการเก็บกักน้ำใหม่ ๆ ในปี 2537 สงกรานต์ มีงาม โครงการทามมูล ได้ศึกษาพบว่าปลา 37 ชนิดลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว แต่จำพวกปลาชะโด ปลาปักเป้า เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน และปลาที่จับได้รสชาติเปลี่ยนไป มีกลิ่นคาวจัด เนื้อเหลว เน่าง่าย และมีเห็บปลาระบาด บางแห่งจะพบปลาขาวสร้อยลอยตายเป็นแพเพราะขาดออกซิเจน  ทรัพยากรทางชีวภาพเหล่านี้ต้องจมหายไปกับอ่างเก็บน้ำ บางชนิดเกิดการสูญพันธุ์และเกิดเป็นพิษต่อมนุษย์แทนที่


 


            4.5 การแพร่กระจายของดินเค็ม น้ำเค็ม พื้นที่ราษีไศลเป็นพื้นที่ตอนล่างซึ่งเป็นแอ่งรับน้ำเค็มจากห้วยก๊ากว้าก ลำน้ำเสียว ทุ่งกุลาร้องไห้ และความเค็มจากการทำนาเกลือจากพิมาย-โนนไทย ในฤดูน้ำหลาก เกลือที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำจะถูกน้ำนำพาไปสู่ปลายน้ำ ไม่มีผลกระทบใดๆ เมื่อถึงฤดูแล้งจะมีส่าเกลือตกค้างอยู่บนผิวดินทามทั่วไป ชาวบ้านใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับต้มเกลือจนชุมชนแถบนี้สามารถพึ่งพิงตนเองได้ในเรื่องเกลือ มีแบบแผนการต้มเกลือสืบต่อกันมาถึงขนาดเกิดความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับการต้มเกลือที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง ในบริเวณขอบเขตบุ่งทามที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำราษีไศลมี "บ่อเกลือ" นับได้ประมาณ 150 บ่อ แต่ละแห่งมีพื้นที่กว้างตั้งแต่ 10 ไร่ ถึง 100 ไร่ (งานวิจัยไทบ้าน 2548) นอกจากนั้น ส่าเกลือหรือโป่งเกลือ หรือชาวบ้านเรียกว่า "ขี้ตำปวก" เป็นอาหารของปลาจำนวนมากที่ว่ายทวนน้ำจากแม่น้ำโขงเพื่อมาวางไข่และอาศัยอยู่ในป่าทามลุ่มน้ำมูนตอนกลางในช่วงฤดูน้ำหลากอีกด้วย


 


            เมื่อพื้นที่บุ่งทามกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ปริมาณความเค็มจากเกลือก็ถูกสะสมอยู่ในอ่างเก็บน้ำนั่นเอง ในปี 2538 กรมพัฒนาที่ดินได้สำรวจผลกระทบแล้วสรุปว่า หลังการเก็บกักน้ำของเขื่อนราษีไศล เกลือถูกสะสมในพื้นที่เหนือเขื่อนมากขึ้นเพราะไม่สามารถระบายออกจากระบบได้ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำในการเพาะปลูกตามปกติได้ ทั้งนี้ มีผลการวิเคราะห์ทั้งในบริเวณเขื่อนในช่วงแล้งมีความเค็มระดับสูง นำน้ำไปใช้ทำการเกษตรไม่ได้ ในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำที่ชาวบ้านเคยสูบน้ำขึ้นมาทำนาปรังและปลูกพืชผักในฤดูแล้ง หลังมีการเก็บกักน้ำในปี 2536 ปรากฏว่า พืชผักที่รดน้ำพากันเหี่ยวเฉาตายทั้งแปลงเพราะผลจากน้ำเค็ม ในพื้นที่การทำนาปรังมีความเค็มปนเปื้อนจนต้นข้าวตาย และเมื่อน้ำในแปลงนาแห้งลงก็ปรากฏส่าเกลือตกค้างอยู่ในนา  ต้นไม้ธรรมชาติในแปลงนาก็ตายลงจำนวนมาก (กรมพัฒนาที่ดิน, 2538 ใน วราลักษณ์  อิทธิพลโอฬาร, 2538 - 2539)


 


            จากการศึกษาแผนที่การกระจายดินเค็มเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ ของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ในขอบเขตอ่างเก็บน้ำราษีไศลมีชั้นหินเกลือรองรับอยู่ข้างใต้เป็นพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10 ตารางกิโลเมตร และนอกจากนั้นเขื่อนราษีไศล ก็ได้ทำลายอาชีพและวัฒนธรรมการต้มเกลือของชาวบ้าน ชาวบ้านต้องหันไปพึ่งเกลือดิบจากตลาดมาบริโภค และก็มีอาการแพ้ คันตามเนื้อตัว เอามาทำปลาแดกก็เก็บไว้ได้มานาน หมดยุคของการต้มเกลือพื้นบ้านไปแล้ว  นายหมื่น สุปรีชา บ้านผึ้ง หมู่ 4 ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ  กล่าวว่า "ในอดีตชาวบ้านผึ้งและบ้านใกล้เคียงเคยต้มเกลือกินในพื้นที่ใกล้มูลที่ชาวบ้านใช้เป็นบ่อเกลือหน้าดินมาต้มกินนานหลายชั่วอายุคน ในแถบนี้มีเป็นร้อยบ่อ ชาวบ้านไม่เคยต้องซื้อเกลือกิน  และประสบการณ์จากการสร้างคลองชลประทานสูบน้ำจากมูนขึ้นมาใช้ในหน้าแล้งที่ผ่านมาไม่ได้ผลเพราะน้ำมูนหน้าแล้งมันเค็ม  สูบขึ้นมารดพืชผักก็บ่เป็นผล ชาวบ้านผึ้งเคยสูบน้ำเฮ็ดนาปรัง  พอฮอดปีหลังมาดินในที่นาก็เกิดคราบเกลือขึ้น ชาวบ้านแถวนี้ก็เลยเลิกใช้น้ำคลองอีกเดี๋ยวนี้คลองกลายเป็นคลองลม  ปล่อยทิ้งไว้ซือ ๆ (ทิ้งไว้เฉย ๆ) ชาวบ้านก็สงสัยว่าถ้าตันเขื่อนแล้วน้ำจะเค็มเหมือนก่อน 


 


แต่ทางฝาย (เจ้าหน้าที่ฝาย) เพิ่นบอกว่าตะกี้น้ำน้อย น้ำเลยเค็ม ถ้าตันเขื่อนแล้วน้ำหลายขึ้นเกลือก็จะเจือจางเหมือนเราเอาน้ำใส่แก้วละลายเกลือ ถ้าใส่น้ำหลาย ๆ น้ำก็บ่เค็ม  เพิ่นว่าอย่างนั้น  แต่พอตันเขื่อนขึ้นแล้วมันบ่เป็นคือเพิ่นว่า (ไม่เป็นอย่างเขาว่า) นาของพ่อที่ติดมูนเนินไหนที่ถูกท่วมแล้วน้ำลดลงปล่อยไว้บ่ถึงมื้อ  แดดส่องมาเห็นคราบเกลือขึ้นขาวจานพาน (ปล่อยไว้ไม่ถึงวัน แดดส่องมาเห็นคราบเกลือขึ้นขาวไปทั่ว) สังเกตได้เลยว่าหลังจากเขื่อนตันน้ำมา  น้ำท่วมถึงหม่องได๋เกลือแผ่ไปหม่องนั่น (น้ำท่วมถึงที่ไหนเกลือแพร่ไปถึงที่นั่น) และเบิ่งจากคันแทนา (คันนา) ตะกี้มีหญ้าขึ้นหลายเดี๋ยวนี้คันนาที่ติดน้ำท่วมหญ้าเหลืองตายหมด" (หมื่น สุปรีชา บ้านผึ้ง อายุ 48 ปี สัมภาษณ์ใน วราลักษณ์ อิทธิพลโอฬาร, 2539)


 


            4.6  ปัญหาน้ำเน่า น้ำเสียและปัญหาสุขภาพ  เมื่อมีการเก็บกักน้ำ ป่าทามทั้งผืนจมอยู่ใต้น้ำ เกิดการเน่าเปื่อยของต้นไม้ใบไม้ ส่งผลให้น้ำเน่าเสีย น้ำมีสีดำ ยิ่งน้ำนิ่งไม่มีการถ่ายเทยิ่งเพิ่มความรุนแรง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง แหล่งน้ำที่หลายชุมชนใช้ผลิตน้ำประปา (กุด) เกิดสกปรกเพราะมีเศษซากวัชพืชเน่าเปื่อยหมักหมม  เกิดผลกระทบต่อบ่อน้ำตื้นทั่วไปที่ชาวบ้านใช้บริโภค หลังการสร้างเขื่อน ระดับน้ำใต้ดินยกระดับสูงขึ้น น้ำบ่อในชุมชนจำนวนมากเริ่มมีสนิมปนเปื้อน บางบ่อน้ำกลายเป็นน้ำกร่อย น้ำเค็มและเป็นสนิม เกิดการระบาดของวัชพืชน้ำจำพวกจอกแหนและหอยคัน  เมื่อชาวบ้านลงน้ำไปหาปลาก็เกิดอาการคันตามเนื้อตัว  การระบาดของหอยเชอรี่ พร้อมกับการสูญพันธุ์ของหอยโข่ง ซึ่งต้องวางไข่ในดินในฤดูแล้ง  หอยเชอรี่ระบาดไปยังทุ่งนาทุกพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำราษีไศล โดยเฉพาะพื้นที่ที่สูบน้ำไปทำการเกษตร


 


            ผลกระทบด้านสุขภาพ พบว่า หลังการสร้างเขื่อนชาวบ้านเกิดเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่เคยเป็นมาก่อนถึงร้อยละ 19.0  โรคที่พบมากที่สุด คือ โรคผิวหนังผื่นคันร้อยละ 40 ของโรคที่พบ (สถาบันวิจัยทางสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2547) นอกนั้นก็มีโรคท้องร่วง  ตาแดง หวัดเรื้อรัง ภูมิแพ้และพยาธิต่าง ๆ  ทั้งยังมีอาการป่วยจากการกินปลาปักเป้า แพทย์โรงพยาบาลราษีไศลลงความเห็นว่าเกิดจากพิษปลาปักเป้า (fish poisoning, tetrodo toxin intoxication) มีอาการชารอบริมฝีปาก แขนขาและปลายมือปลายเท้า กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย ไม่มีแรง หายใจขัด  ในอดีต ปลาปักเป้าเป็นปลาที่ชาวบ้านสามารถบริโภคได้ไม่เคยมีอาการแพ้พิษ และโรคที่มาพร้อมกับโรคอื่นๆ ก็คือ โรคเครียด วิตกกังวล เกิดจากการสูญเสียที่ทำกินอย่างไม่เป็นธรรม  เมื่อมีการรวมกลุ่มเพื่อผลักดันให้มีการแก้ปัญหา ซึ่งมีความยากลำบากเพราะมีการต่อสู้ยืดเยื้อเผชิญหน้ากับรัฐอย่างตึงเครียด และเป็นกิจกรรมที่ต้องลงทุนลงแรงพอสมควร บางครอบครัวถึงขั้นนำโฉนดที่ดินไปจำนองเพื่อนำเงินมาใช้ในการต่อสู้ หลายคนเกิดอาการเครียดถึงขนาดไปหาหมอ  และมีไม่น้อยกว่า 10 คนที่เสียชีวิตขณะชุมนุม


 


            4.7 ผลกระทบต่อแหล่งน้ำชลประทานเดิม ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนราษีไศลนั้น เดิมเคยมีโครงการชลประทานขนาดเล็กระดับชุมชนและมีการใช้ประโยชน์ร่วมกันในท้องถิ่นอยู่แล้ว เป็นโครงการของกรมชลประทาน กรมการปกครอง กรมโยธาธิการ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) กรมทรัพยากรธรณี  ส่วนมากจะเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ฝายน้ำล้น ทำนบกั้นน้ำ บ่อน้ำตื้น แหล่งน้ำเหล่านี้ เมื่อก่อสร้างเสร็จหน่วยงานรัฐก็จะมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือชุมชนเป็นผู้จัดการดูแล เฉพาะในพื้นที่อำเภอราษีไศลและอำเภอบึงบูรพ์ พบว่า มีโครงการชลประทานดังกล่าว จำนวน 12 โครงการ คือ อ่างห้วยน้ำเค็ม ฝายบ้านหนองบัวดง ฝายกุดก้อม ฝายน้ำล้นกุดปลาเซียม ฝายน้ำล้นห้วยน้ำเค็ม ฝายหนองโดน ฝายน้ำล้นหนองตาหวด ทำนบฮองหวาย อ่างเก็บน้ำร่องไผ่ ฝายน้ำล้นอ่างร่องไผ่ ฝายหนองหล่ม (กั้นห้วยทับทัน) อ่างเก็บน้ำร่องจิกปูด อ่างเก็บน้ำบ้านโนนลาน รวมงบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 40 ล้านบาท  ในโครงการต่าง ๆ ดังกล่าว ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ในการใช้น้ำอุปโภคบริโภค การปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ บางแห่งสามารถใช้เป็นแหล่งน้ำในการทำนาปรังในฤดูแล้ง


 


            เขื่อนราษีไศลได้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทับซ้อนลงไปในพื้นที่ดังกล่าว ท่วมทั้งพื้นที่เก็บน้ำและท่วมทั้งพื้นที่ทำกินที่ใช้ประโยชน์รอบอ่างเก็บน้ำเดิม ถือเป็นการทำโครงการที่ซ้ำซ้อนกับโครงการเดิม  


 


4.8 การสูญเสียพื้นที่ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของชุมชน ป่าทามลุ่มน้ำมูนตอนกลางเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชนสองฟากฝั่ง การเข้าไปใช้ประโยชน์ในการทำมาหากินร่วมกัน เช่น การเลี้ยงวัว - ควาย การทำนาหนอง การหาปลา การเอาผือ กก มาทอเสื่อ ฯลฯ ทำให้คนสองฝั่งหรือระหว่างชุมชนที่เป็นรอยต่อกันเกิดมีปฏิสัมพันธ์กันฉันญาติมิตร เพื่อน พี่น้อง เกิดการแต่งงานกันข้ามหมู่บ้านสองฟากแม่น้ำมูน กลายเป็นเสี่ยวกัน เป็นเส้นทางในการคมนาคมของชุมชน การค้าขาย หรือแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน  เช่น  บ้านท่างาม  กับบ้านโนนทราย  ซึ่งอยู่คนละฟากแม่น้ำมูน  มีเส้นทางเชื่อมต่อกันเพียง 2 กม. ทำให้คนสองบ้านนี้ไปมาหาสู่กันสะดวก หากมีงานบุญในหมู่บ้าน คนในสองหมู่บ้านก็จะเดิน ปั่นจักรยาน ขับมอเตอร์ไซด์ ผ่านป่าทามแห่งนี้มาช่วยเหลือกัน หากเป็นฤดูฝนก็จะพายเรือมาตามร่องน้ำ  กุดที่เชื่อมต่อกันและข้ามแม่น้ำมูนมาอีกฝั่งหนึ่งได้ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาหรือค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปในการเดินทางไปมาหาสู่กัน


 


นอกจากนี้ การสร้างเขื่อนราษีไศลทำให้ชุมชนสูญเสียภูมิปัญญาในการทำมาหากิน คนรุ่นหลังขาดโอกาสที่จะลงไปใช้ชีวิต เรียนรู้และทำมาหากินเพื่อดำรง สืบทอดภูมิปัญญาดังกล่าว เช่น การทำนาไร่ การทำนาหนอง การหาปลา หาผัก การต้มเกลือ เพราะต้องออกไปทำมาหากินนอกชุมชน ขายแรงงาน ในฐานะเป็นคนที่มีกำลังมากที่สุดในครอบครัว คนหนุ่มสาว เยาวชนรุ่นหลังจึงขาดการซึมซับ ถ่ายทอดวิถีการทำมาหากินที่เป็นภูมิปัญญาของครอบครัว วิถีการผลิตที่เรียบง่ายและพึ่งตนเอง ไปหลงไหลกับสมัยนิยมแทน


 


 


 


………………………………………..


โปรดติดตาม ตอนที่ 2 โครงการเขื่อนหัวนา ในวันพรุ่งนี้


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net