Skip to main content
sharethis

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในช่วงเดือน "รอมฎอน" หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิม เมื่อปี 2547 คือ เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 และมาสู่การเสียชีวิตของผู้ร่วมชุมนุม ทั้งในที่เกิดเหตุและระหว่างการขนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี รวม 85 คน


 


แม้เหตุการณ์นี้จะผ่านมา 3 ปีแล้ว แต่ขณะนี้ในส่วนของคดีการไต่สวนชันชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจากการขนย้ายผู้ชุมนุม ที่มีผู้เสียชีวิต 78 คนนั้น ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องที่ศาลจังหวัดสงขลา เนื่องจากเป็นคดีที่ถูกโอนย้ายมาจากศาลจังหวัดปัตตานี ที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดปัตตานี


 


ทั้งนี้ในตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงวันที่ 20 กันยายน 2550 ศาลจังหวัดสงขลาได้มีการไต่สวนพยานไปแล้วรวม 13 ปาก ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจทั้งระดับชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวน


 


สำหรับพยานปากสำคัญๆที่ถูกนำตัวมาเบิกความในช่วงเวลาดังกล่าว ประกอบด้วย พล.ท.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ขณะนั้นมียศเป็น พล.ต.ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ถูกนำตัวมาเป็นพยานเบิกความเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2550


 


นอกจากนี้ยังมี นาวาเอกไตรขวัญ ไกรฤกษ์ขณะนั้นเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธิน ในฐานะผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เป็นพยานเบิกความเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 และพ.ต.อ.สมหมาย พุทธกูล ขณะนั้นเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เป็นพยานเบิกความเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550


 


สำหรับ พล.ท.เฉลิมชัย อายุ 59 ปี ปัจจุบันประจำอยู่ที่สำนักงานเลขานุการ กองทัพบก เป็น 1 ใน 3 นายทหารที่ถูกกระทรวงกลาโหมตั้งคณะกรรมการสอบวินัย จากกรณีการสลายการชุมนุมดังกล่าว ร่วมกับ พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม้ทัพภาคที่ 4 และ พล.ต.สินชัย นุตสถิตย์ สินชัย รองแม่ทัพภาคที่ 4 ขณะนั้น โดยตำหนิว่า บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ลงโทษทางวินัย โดยงดบำเหน็จและมีคำสั่งให้ย้ายทั้ง 3 คน ไปปฏิบัติหน้าที่ที่อื่น


 


โดยก่อนหน้านี้ ศาลได้ไต่สวนพยานปากสำคัญไปแล้วหลายปาก ทั้ง พล.อ.พิศาล, นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ซึ่งขณะนั้นเป็นปลัดจังหวัดนราธิวาส พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 รวมทั้งแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รักษาการผู้อำนายการสถานบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น


 


ขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตได้พยายามติดตามการพิจารณาคดีอย่างใกล้ชิด แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว พวกเขาได้มาฟังการไต่สวนได้เพียงวันเดียว คือ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2550 อีกทั้งยังเป็นคดีหลายองค์กรให้ความสนใจ โดยเฉพาะองค์การด้านการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) หรือ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเกาะติดการพิจารณาคดีมาตลอดอย่างใกล้ชิด


 


 


ไต่สวนพยาน78ศพคดีตากใบ


สำหรับการเบิกความครั้งนี้ พยานส่วนใหญ่เบิกความตรงกันว่า ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน จากตำบลเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ 6 คนที่ถูกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบจับกุมไปอย่างไม่มีเงื่อนไข


 


โดยทั้ง 6 คนถูกจับกุมข้อหาแจ้งความเท็จ ว่าถูกคนร้ายปล้นอาวุธปืนที่ทางราชการมอบให้ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2547 เบื้องต้นได้ควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จากนั้นจึงนำตัวเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านทั้ง 6 คน ไปฝากขังต่อศาลจังหวัดนราธิวาส


 


พยานในระดับผู้บังคับบัญชาทั้ง 3 ปาก คือ พล.ท.เฉลิมชัย, นาวาเอกไตรขวัญ และพ.ต.อ.สมหมาย เบิกความยืนยันว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้พยายามเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว โดยยืนยันจะดำเนินการประกันตัวเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยทั้ง 6 คน พร้อมทั้งได้นำผู้นำศาสนา รวมทั้งพ่อแม่และญาติของทั้ง 6 คน เข้าไปร่วมเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย แต่ไม่เป็นผลจนนำมาสู่การสลายการชุมนุมในเวลาประมาณ 15.00 น.


 


ทั้งนี้ การสลายการชุมนุมโดยการฉีดน้ำจากรถดับเพลิงและขว้างแก๊สน้ำตำ เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามดันแผงเหล็กกั้นเข้ามายังสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 ถึง 3 นัด นั้นฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ยิงปืนขึ้นฟ้าหลายนัด


 


แม้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้ง 6 คนทันที เนื่องจากเห็นว่าถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรม แต่พยานปากล่าสุด คือ พ.ต.อ.สมหมาย เบิกความสรุปว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นแผนการของขบวนการก่อความไม่สงบ


 


ทั้งนี้ เขาเบิกความด้วยว่า เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยทั้ง 6 คน เป็นแนวร่วมของขบวนการก่อความไม่สงบ และได้มอบอาวุธปืนของทางราชการให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ พบว่า การก่อการชุมนุมเป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการ โดยใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการยึดอำนาจรัฐ ตามแผนการ 7 ขั้นตอน


 


พ.ต.อ.สมหมาย เบิกความยืนยันว่า "ชรบ.บางคนรับสารภาพเองว่าอยู่ในขบวนการก่อความไม่สงบด้วย เขาได้อธิบายโครงสร้างของขบวนการด้วย แต่ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ยังไม่เข้าใจ"


 


ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอตากใบบางกลุ่มมีแนวโน้มจะอยู่ในกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งมีในรายงานที่เสนอมายังเขา แต่เขาเบิกความว่า ปัจจุบันจำไม่ได้แล้ว และไม่ได้ตรวจสอบว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 85 รายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบหรือไม่


 


นอกจากนี้เขายังเบิกความสรุปว่า ในระเวลาตั้งแต่ทั้ง 6 คนถูกจับกุม คือวันที่ 12 ถึง วันที่ 25 ตุลาคม 2547 นั้น เป็นช่วงเวลาหลายวัน มีเวลาพอที่จะยื่นขอประกันตัวไปได้ แต่ทั้ง 6 คน จะยื่นขอประตัวต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่นั้น ไม่ทราบ แต่ระหว่างนั้นไม่มีหนังสือมาขออนุมัติมายังตน


 


อย่างไรก็ตาม เขาเบิกความด้วยว่า แม้ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ตนได้เบิกความในคดีฟ้องร้องผู้ต้องหาคดีตากใบ 58 คน ว่า ไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้ง 6 คนประกันตัว แต่ไม่ตัดสิทธิ์ที่จะไปยื่นประกันตัวต่อศาล


 


ขณะที่นาวาเอกไตรขวัญ เบิกความสรุปว่า ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน ได้รับรายงานทางสายข่าวว่าจะมีการชุมนุมกัน โดยยังไม่ทราบสถานที่ เรื่องที่จะชุมนุมกัน และไม่ทราบว่าจะมีประชาชนจากพื้นที่ใดเข้าร่วม แต่น่าจะเกี่ยวข้องกับการจับกุมเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านทั้ง 6 คน


 


ส่วนในวันเกิดเหตุนั้น พยานหลายปากยืนยันตรงกันว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งขณะนั้นคือ พล.ท.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก


 


ทั้ง พ.ต.อ.สมหมาย และ พล.ท.เฉลิมชัย เบิกความตรงกันว่า ในวันเกิดเหตุขณะมีการชุมนุมและเจรจาอยู่นั้น มีการประชุมกันของผู้บังคับบัญชาระดับสูง ในเวลาประมาณ 14.00 น. ที่ห้องประชุมชั้นล่างของอาคารสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ


 


ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย พล.ท.พิศาล เป็นประธานในที่ประชุม, พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9, พล.ต.ท.วงกต มณีรินทร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่วนฝ่ายปกครองประกอบด้วย นายศิวะ แสงมณี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, นายปิยะ ภารตะศิลปิน นายอำเภอตากใบ และนายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล ปลัดจังหวัดนราธิวาส


 


พล.ท.เฉลิมชัย เบิกความสรุปว่า ในการประชุมมีการระบุว่า ขณะนั้นเจ้าหน้าทีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ทั้ง 6 คน ถูกควบคุมตัวตามคำสั่งของศาลจังหวัดนราธิวาส หากจะปล่อยตัว ต้องทำเรื่องขอประกันตัวชั่วคราว ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 3 ชั่วโมง ระหว่างนั้นได้ให้นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล ปลัดจังหวัดนราธิวาส ไปชี้แจงกับผู้ชุมนุม แต่ไม่ไม่เป็นผลและถูกโห่ไล่ตลอดเวลา ที่ประชุมเห็นว่า ควรสลายการชุมนุม เนื่องจากเกรงว่าผู้ชุมนุมจะบุกเข้ามา และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ


 


โดย พล.ท.เฉลิมชัย เบิกความว่า แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งให้ตนวางแผนสลายการชุมนุม ตนจึงได้จัดให้ตำรวจตระเวนชายแดนอยู่ด้านขวาของสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ หน่วยนาวิกโยธินอยู่ด้านซ้าย ด้านหน้าเป็นตำรวจชุดปราบจลาจลและทหารพราน ส่วนด้านหลังสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เป็นทหารจากหน่วยเพชราวุธ


 


ขณะที่นาวาเอกไตรขวัญ เบิกความยืนยันด้วยว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ได้มอบอำนาจให้ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 เป็นผู้ควบคุมปฏิบัติการทางยุทธการ


 


นอกจากนี้ พล.ท.เฉลิมชัย ยังเบิกความด้วยว่า ที่ประชุมกำหนดจะสลายการชุมนุมเวลา 17.00 น. ระหว่างนั้น มีการชี้แจงต่อผู้ชุมนุมเป็นระยะๆ ว่าจะสลายการชุมนุมให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกลับบ้าน แต่ผู้ชุมนุมขว้างปาเศษไม้เข้ามาเป็นระยะๆ และดันแผงเหล็กกั้นเข้ามา 4 - 5 เมตร แม่ทัพภาคที่ 4 จึงสั่งให้สลายการชุมนุมเวลา 15.00 น. และได้ให้ปลัดจังหวัดนราธิวาส ชี้แจงกับผู้ชุมนุมอีกครั้ง แต่ยังถูกโห่ไล่


 


นอกจากนี้ที่ประชุมยังตกลงกันว่า ห้ามใช้กำลังและอาวุธโดยเด็ดขาด ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของ ร.ต.อ.นายนิวัฒน์ สุวรรณสิงห์ หัวหน้าชุดปฏิบัติการจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งนำกำลังเข้าไปสนับสนุนสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เป็นพยานเบิกความเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2550 ซึ่งได้รับคำสั่งให้ควบคุมดูแลรถดับเพลิง เบิกความว่า ที่ประชุมห้ามใช้อาวุธอย่างเด็ดขาด หลังจากนั้นตนจึงกลับไปไปชี้แจงภารกิจให้กับกองกำลังที่รออยู่


 


แม้มีข้อตกลงห้ามใช้อาวุธ แต่นาวาเอกไตรขวัญ เบิกความว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ไม่ได้สั่งปลดอาวุธหรือปลดซองกระสุน ซึ่งในวันเกิดเหตุ ตนได้นำกำลังทหารเรือนาวิกโยธินมาด้วย 60 นาย ซึ่งใช้กระสุนจริง แต่ในวันเกิดเหตุตนไม่ให้บรรจุในรังเพลิง


 


สลายการชุมนุมมูลเหตุสู่ความตาย


เมื่อถึงเวลา 15.00 น. ตามที่กำหนดไว้ รถดับเพลิงจึงฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม โดยพล.ท.เฉลิมชัย เบิกความตอนนี้ว่า เพื่อแยกผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านในกับด้านนอกออก และพยายามรวบแกนนำ ขณะนั้นมีการใช้แก๊สน้ำตา


 


แต่ขณะนั้นผู้ชุมนุมได้ขว้างก้อนหินถูกศีรษะตน เจ้าหน้าที่จึงนำตัวไปห้ามเลือดด้านหลังสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ ขณะนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 - 2 นัด ก่อนจะดังขึ้นเป็นชุด เมื่อเสียงปืนเงียบจึงทราบว่าเจ้าหน้าที่ยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อยุติการชุมนุม


 


ขณะที่ พ.ต.อ.สมหมาย เบิกความว่า ในช่วงชุลมุนได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด บริเวณกลุ่มผู้ชุมนุม จากนั้นได้ยินเสียงปืนของฝ่ายเจ้าหน้าที่ยิงในแนววิธีสูง หากยิงในแนวราบจะทำให้ผู้ชุมนุมถึงแก่ความตายจำนวนมาก


 


เช่นเดียวกับคำเบิกความของนาวาเอกไตรขวัญ ที่ระบุว่า ทหารที่ยิงปืนขึ้นฟ้านั้น อยู่ภายในกำแพงด้านหน้าสถานีตำรวจ ทางฝั่งทิศตะวันออก ซึ่งมีทั้งทหารและตำรวจ


 


ส่วน ร.ต.อ.นิวัฒน์ เบิกความว่า อาวุธที่ใช้วันเกิดเหตุมีทั้งอาวุธปืนพกยาวและสั้น แต่มีการห้ามใช้อาวุธปืนยาวและไม่มีการปลดอาวุธของเจ้าหน้าที่เฉพาะตำรวจที่อยู่ในแนวด้านหลัง


 


ส่วนเสียงปืนที่ดังขึ้นนั้น ดังขึ้นนานประมาณ 5 - 10 นาที ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานส่วนใหญ่


 


ร.ต.อ.นิวัฒน์ ระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการของตนไม่มีใครใช้ปืน และไม่มีการเรียกอาวุธทั้งของตนและผู้ใต้บังคับบัญชาไปตรวจสอบ


 


ขณะที่อาสาสมัครทหารพรานสำราญ แก้วกำลัง จากรมทหารพรานที่ 45 เป็นพยานเบิกความเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550 ว่า หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งให้นำอาวุธประจำกายไปตรวจสอบ เช่นเดียวกับคำเบิกความของนาวาเอกไตรขวัญ ที่ระบุว่าไม่มีการเรียกเก็บอาวุธประจำกายของตนไปตรวจสอบเช่นกัน


 


ส่วนผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 6 คนนั้น นาวาเอกไตรขวัญ เบิกความว่า เนื่องจากถูกกระสุนปืน แต่ไม่พบเห็นอาวุธบริเวณข้างศพ ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพล.ท.เฉลิมชัย และพ.ต.อ.สมหมาย


 


โดยพล.ท.เฉลิมชัย ระบุเพิ่มเติมว่า มีผู้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 คน ข้างผู้ตายไม่มีอาวุธไม่ว่าปืนหรือมีดเช่นกัน


 


ส่วน พ.ต.อ.สมหมาย เบิกความเพิ่มเติมว่า ในการเคลียร์พื้นที่นั้น มีการค้นพบอาวุธในที่เกิดเหตุในคืนวันเกิดเหตุส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งพบในคลองด้านหน้าสถานีตรวจภูธรอำเภอตากใบ เช่น ปืน ระเบิด


 


นอกจากนี้นาวาเอกไตรขวัญ ยังเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุมีรถยนต์กระบะ 2 คัน นำผู้บาดเจ็บส่งไปรักษาตัว แต่เห็นมีการประคองผู้บาดเจ็บเพียงคนเดียว ซึ่งหมดสติแต่ตนไม่เห็นบาดแผล เห็นผู้ชุมนุมอีกประมาณ 20 คน ช็อก อีกประมาณ 10 คน อ่อนเพลียแต่สามารถเดินได้


 


หลังจากที่มีการสลายการชุมนุมแล้ว พล.ท.เฉลิมชัย เบิกความว่า เมื่อควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ตนสั่งให้ควบคุมตัวแกนนำ โดยเตรียมรถขนแกนนำไว้ 4 คัน เพื่อจะนำตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี แต่ไม่สามารถควบคุมตัวแกนนำได้ เนื่องจากได้เข้าไปปะปนอยู่กับประชาชนทั่วไป


 


"ส่วนในการควบคุมผู้ชุมนุมนั้นให้ถอดเสื้อ นอนคว่ำหน้าและมัดมือไขว้หลัง มีเจ้าหน้าที่บางรายทำร้ายผู้ชุมนุม ตนจึงได้ว่ากล่าวตักเตือน"


 


เขาเบิกความต่อไปว่า ตอนนั้นรวบตัวแกนนำได้เพียง 20 คน แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งเปลี่ยนแผนให้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมทั้งหมด โดยแยกผู้ชุมนุมที่เป็นหญิงออกไป และได้ขอสนับสนุนรถขนผู้ชุมนุม ประมาณ 30 คัน เป็นรถสิบล้อและรถจีเอ็มซี


 


ขณะที่ พ.ต.อ.สมหมาย เบิกความว่า ผู้ชุมนุมที่ถูกมัดมือไขว้หลังแล้วมีการร้อยเชือกด้วยกันนั้น เป็นแกนนำ


 


นอกจากนี้ มีการแยกผู้หญิงและเด็กออก และมีการแยกผู้ชุมนุมบางคนออกมา บางส่วนเจ้าหน้าที่นำตัวไปทางด้านหลังสถานีตำรวจ รวมผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 1,298 คน ต่อมาได้ปล่อยตัวทั้งหมด ยกเว้น 58 คน เนื่องจากมีพยานหลักฐานว่าได้ร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งถูกดำเนินคดี


 


โดย พ.ต.อ.สมหมาย เบิกความว่า ผู้ต้องหาทั้ง 58 คน เป็นชาวอำเภอตากใบ ถูกดำเนินคดีเนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ รู้จักและจำได้ว่าอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย


 


อย่างไรก็ตาม ต่อมาภาครัฐได้ดำเนินการถอนฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 58 คน แล้ว


 


78คนตายระหว่างขนย้าย ทับซ้อน - ขาดอากาศหายใจ


ส่วนกรณีการนำผู้ชุมนุมขึ้นไปบนรถบรรทุกซึ่งนำมาสู่การเสียชีวิตเพิ่มอีก 78 คนนั้น พล.ท.เฉลิมชัย เบิกความว่า หลังสลายการชุมนุม ได้ให้ผู้ชุมนุมขึ้นไปนั่งบนรถ โดย 4 คันแรก ให้นั่งประมาณคันละ 30 คน ออกเดินทางเป็นขบวนแรก เวลาประมาณ 17.00 น. ส่วนคันอื่นเมื่อบรรทุกเต็ม จึงออกเดินทางเป็นขบวน ในขบวนท้ายๆ ได้ให้ผู้ชุมนุมขึ้นบนรถ มีทั้งนั่งและยืน คันละประมาณ 50 คน ซึ่งมากกว่าปกติ


ด้านนาวาเอกไตรขวัญ เบิกความว่า มีการนำผู้ชุมนุมขึ้นไปทับซ้อนกันบนพื้นกระบะรถคันหนึ่งในลักษณะคว่ำหน้า แต่ไม่แน่ใจว่าแม่ทัพภาคที่ 4 คือ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 สั่งให้ลงมาแล้วจัดระเบียบใหม่ไม่ให้นอนซ้อนทับกัน


ขณะที่ พล.ท.เฉลิมชัย เบิกความว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งให้จัดเรียงผู้ชุมนุมใหม่โดยให้นั่งนั้น เวลาประมาณ 18.00 น. และไม่ทราบว่าเป็นคันที่เท่าไหร่


ด้านจ่าสิบเอกฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ กรมทหารพรานที่ 45 จังหวัดนราธิวาส ทำหน้าที่พลขับรถบรรทุกทหาร หมายเลขทะเบียนตรากงจักร 19232 เป็นพยานเบิกความเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2550 ว่า รถที่ตนขับเป็นรถขนาดใหญ่ ปกติจุทหารที่มีอาวุธและอุปกรณ์ ได้ 25 คน นั่งที่ม้านั่ง 2 ข้าง แต่ในวันนั้นได้พับม้านั่งขึ้น และให้ผู้ชุมนุมเดินเข้าแถวขึ้นทีละคนเนื่องจากรถมีบันได แล้วนั่งที่พื้นทั้งหมดประมาณ 50 คน นั่งเต็มกระบะ ไม่ถึงกับแออัดเกินไป


เขาเบิกความด้วยว่า เมื่อบรรทุกเต็มคันแล้ว แล้วตั้งขบวนเพื่อรอเคลื่อนย้ายไปพร้อมกันประมาณ 30 คัน โดยออกจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบเวลา 19.30 น.เศษ มีตำรวจตระเวนชายแดน นั่งคู่ไป 2 คน ด้านหลังมีทหารพรานคุมอยู่ 5 คน ถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เวลาประมาณ 21.30 น.เศษ


ส่วนพยานปากจ่าสิบเอกวิรัตน์ บุตรทอง พลขับรถบรรทุก 6 ล้อ บรรทุกผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร เบิกความเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550 สิบโทสุวรรณพจน์ มุ่งกอบกิจ อาสาสมัครทหารพรานที่ 43 ทำหน้าที่คุมท้ายกระบะรถ เป็นพยานเบิกความเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550 และร.ต.ต.สมพร เพชรหนองชุม หัวหน้าชุดปฏิบัติการจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นพยานเบิกความเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550 เบิกความสอดคล้องกันว่า รถบรรทุกผู้ชุมนุมแต่ละคันไม่แออัดมากประมาณคันละ 20 คน และสภาพนั่งอยู่ในรถ


ทั้งนี้ พยานทุกปากเบิกความตรงกันว่า ผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกนำตัวขึ้นรถนั้น ยังอยู่ในสภาพถอดเสื้อและมัดมือไขว้หลัง แต่สิบโทสุวรรณพจน์ เบิกความว่า ไม่มีการจับโยนผู้ชุมนุมขึ้นรถ


อย่างไรก็ตาม ร.ต.ต.สมพร เบิกความด้วยว่า ไม่เห็นการจัดผู้ชุมนุมขึ้นรถ เนื่องจากขณะเดินทางไปถึงไม่สามารถเข้าไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบได้ ส่วนพยานอีกหนึ่งปาก คือ ร.ต.ท.อรุณ อ่องแก้ว จากสถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งขับรถคุ้มกันขบวนรถขนย้ายผู้ชุมนุม เป็นพยานเบิกความเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550 และร.ต.ต.สมพร เบิกความว่า ไม่เห็นสภาพผู้ถูกควบคุมอยู่ในรถ เนื่องจากขอบกระบะท้ายรถอยู่สูง และไม่เห็นขณะขนผู้ชุมนุมขึ้นรถ


หลังจากจัดผู้ชุมนุมขึ้นรถแล้ว มีการออกเดินทางเป็นขบวน โดยพล.ท.เฉลิมชัย เบิกความอีกว่า ขบวนสุดท้ายออกเดินทางเวลาประมาณ 19.00 น. โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ประสานไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารให้เตรียมน้ำ อาหารและแพทย์


โดยสิบโทสุวรรณพจน์ เบิกความว่า ออกเดินทางออกเป็นขบวน โดยผู้ถูกควบคุมตัวมีสภาพอาการปกติ แต่ระหว่างเดินทางผู้ร่วมชุมนุมยังคงถูกพันธนาการโดยถูกมัดมือไขว้หลังตลอดเวลา


เมื่อรถขนผู้ชุมนุมออกเดินทางไปหมดแล้ว พล.ท.เฉลิมชัย เบิกความถึงตอนนั้นว่า หลังเหตุการณ์สงบ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ พร้อมมอบเงินรางวัลให้


จากนั้นตนจึงเดินทางไปพบแพทย์ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ แต่ได้รับรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่เดินทามาที่จังหวัดนราธิวาส จึงได้ไปสมทบกับแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อพบกับพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เรียบร้อยดี และนำผู้ชุมนุมไปควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 6 ศพ และที่โรงพยาบาลอีก 1 ศพ และส่งนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับ เวลา 21.00 น. จากนั้นตนจึงได้ไปพบแพทย์เพื่อเย็บแผลและพักผ่อน


ส่วนระหว่างเส้นทางการขนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งมีรายงานว่ามีการโรยตะปูเรือใบ เผายางรถยนต์และตัดต้นไม้ขวางถนนนั้น มีเพียง 2 ปากเท่านั้น ที่เบิกความว่า เห็นเหตุการณ์ คือ อาสาสมัครทหารพรานสำราญ และจ่าสิบเอกฤทธิรงค์


โดยอาสาสมัครทหารพรานสำราญ เบิกความว่า ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง ระหว่างทางมีการตัดต้นไม้ขวางถนน จึงได้จอดรถรอเพื่อให้เพื่อนทหารพรานที่อยู่คันหน้าได้เคลียร์ถนน เมื่อรถขับผ่าน เห็นต้นไม้ถูกนำไปวางข้างทาง ลักษณะเป็นต้นกระถิ่นที่ปลูกไว้ริมทาง


ส่วนจ่าสิบเอกฤทธิรงค์ เบิกความว่า ระหว่างทางไม่เห็นมีการโรยตะปูเรือใบ แต่เห็นมีการเผายางรถบนถนนทางช่องจราจรด้านซ้าย ขณะที่ตนขับรถช่องทางขวาและจำไม่ได้ว่าอยู่ในเขตหมู่บ้านใด โดยขณะนั้นยางรถยนต์ถูกเผาจนมอดแล้ว และไม่ทราบว่าการเผายางรถยนต์เกี่ยวข้องกับผู้ชุมนุมอย่างไร


นอกจากนี้ จ่าสิบเอกฤทธิรงค์ ยังเบิกความว่า เห็นชาวบ้านขว้างกิ่งไม้ใส่ขบวนรถแต่ไม่เห็นก้อนหิน ขณะที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่คุมท้ายกระบะรถไม่ได้แจ้งเหตุว่ามีการขว้างปามาในขบวนรถ และไม่มีหยุดขบวนรถเพื่อจับกุมคนขว้างปา


ส่วนพยานอีก 4 ปากที่เป็นพลขับ ตำรวจนำขบวน และทหารพรานคุมท้ายกระบะ เบิกความสอดคล้องกัน ว่า ระหว่างทาง ไม่มีเหตุวุ่นวาย ไม่มีสิ่งกีดขวาง บางช่วงฝนตก ไม่ได้ยินเสียงร้องของผู้ถูกควบคุมด้านท้ายกระบะ และไม่มีการให้น้ำและอาหารแก่ผู้ถูกควบคุมในรถ อีกทั้งไม่มีการร้องขอน้ำหรืออาหาร


อย่างไรก็ตาม จ่าสิบเอกฤทธิรงค์ เป็นพยานปากเดียวเท่านั้น ที่มาเป็นพยานเบิกความในช่วงดังกล่าวว่า ที่มีผู้เสียชีวิตในรถ โดยเขาเบิกความว่า รถยนต์ที่มาจากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส พร้อมรถที่เขาขับมี 4 คัน ได้แก่ รถทะเบียน กงจักร 19338, 19232, 19263, 13164 โดยรู้จักกับพลขับทุกคน ได้แก่ ชื่อ "จ่าสิบเอก สัมพันธ บัวแดง, จ่าสิบเอกณัฐวุฒิ เลื่อมใส, จ่าสิบเอกปิติ ญาณแก้ว และทั้ง 4 คัน มีผู้เสียชีวิต


"รถทั้ง 4 คันคือ รถหมายเลขทะเบียน กงจักร 19338 มีผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิต 21 ศพหมายเลขกงจักร 19232 จำนวน 5 ศพ หมายเลขกงจักร 19263 จำนวน 6 ศพ และหมายเลข กงจักร 13164 จำนวน 23 ศพ โดยรถของจ่าสิบเอกฤทธิรงค์ คือหมายเลขกงจักร 19232"


เขาเบิกความต่อว่า เมื่อไปถึงที่ค่ายอิงคยุทธบริหารแล้วต้องรอนานร่วมชั่วโมงกว่าจะได้ขนคนลงจากรถ โดยระหว่างรอไม่มีการนำน้ำและข้าวให้ผู้ถูกควบคุมรับประทาน


"จากนั้นได้นำรถไปจอดรถหน้าเรือจำภายในค่ายฯ บริเวณหน้าประตูเพื่อให้ผู้ชุมนุมเดินลงจากรถ โดยมีเจ้าหน้าที่เรือนจำรอรับ ซึ่งขณะเอาคนลงจากรถโดยให้เดินลงเองนั้น มือยังคงไขว้หลังอยู่ โดยมีลักษณะอ่อนล้าและอิดโรย


ปรากฏว่า มีคนที่ไม่ยอมลุกขึ้น 5 คน เจ้าหน้าที่ไปเรียกให้ลุกขึ้น แต่ไม่ลุกและไม่ขยับตัว จึงคิดว่าหมดสติ โดยยังนอนทับซ้อนกันอยู่ เจ้าหน้าที่บอกให้ผมขับรถไปส่งที่โรงพยาบาลภายในค่ายฯ ซึ่งห่างจากเรือนจำประมาณ 1 กิโลเมตร โดยที่เรือนจำมองไม่เห็นแพทย์และพยาบาล ที่โรงพยาบาลมีเจ้าหน้าที่มารับโดยหามใส่เปลโรงพยาบาล


เมื่อขนลงทั้งหมดแล้ว ได้รับคำสั่งให้จอดรถเข้าขบวนเพื่อกลับ โดยออกค่ายฯ เวลาประมาณ 24.00 น. เพื่อกลับไปยังพระราชตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ มาทราบตอนวันรุ่งขึ้นว่าทั้ง 5 คนเสียชีวิต และมีคนเสียชีวิตทั้งหมดประมาณ 60-70 คน ไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต"


ขณะที่พยานที่เหลือ เบิกความสอดคล้องกันว่า ทราบว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 70 คน จากสื่อทั้งโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ซึ่งระบุสาเหตุว่า มาจากการขาดอากาศหายใจ


ส่วน พล.ท.เฉลิมชัย เบิกความว่า ได้รับรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตระหว่างขนย้าย 78 ศพเมื่อ เวลาประมาณ 01.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ส่วนวิทยุเป็นผู้รายงานให้แม่ทัพภาคที่ 4 ทราบ ซึ่งขณะนั้นกำลังเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าฯ ซึ่งทราบภายหลังจากผลการชันสูตรพลิกศพว่า มีสาเหตุมาจากการขาดอากาศหายใจ


เขาเบิกความด้วยว่า ระหว่างการขนย้ายมีการโปรยตะปูเรือใบและในการนำรถบรรทุกผู้ถูกควบคุมเข้าไปในเรือนจำของค่ายอิงคยุทธบริหาร สามารถนำเข้าได้ทีละคัน สันนิษฐานว่าเสียชีวิตระหว่างรอ นอกจากนี้ รถบรรทุกคันแรกออกเดินทางตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น. ซึ่งใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง มีผู้เสียชีวิตด้วย 1 คน


แม้แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ซึ่งเป็นผุ้ชันสูตรพลิกศพ ระบุว่า สาเหตุการตายเพราะการขาดอากาศหายใจ แต่รอยฟกช้ำบนใบหน้าศพนั้น พล.ท.เฉลิมชัยเบิกความยืนยันว่า เกิดก่อนเสียชีวิตแน่นอน


นอกจากนี้ เขาเบิกความด้วยว่า วันเกิดเหตุสภาพอากาศร้อนมาก ส่วนในช่วงเย็นมีฝนตก มีผู้ชุมนุมบางส่วนนอนแช่น้ำหลังการสลายการชุมนุม ดังนั้นสาเหตุการตายส่วนหนึ่งเป็นไปได้ว่า เพราะร่างกายปรับสมดุลไม่ทัน และอยู่ในช่วงการถือศีลอด ทำให้ผู้ชุมนุมเหนื่อยอ่อน


นอกจากนี้ทั้งนาวาเอกไตรขวัญและพ.ต.อ.สมหมาย เบิกความว่า หลังจากเหตุการณ์ภาครัฐได้มีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตด้วย


ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความจากพยานในคดีนี้ ซึ่งยังมีอีกหลายปากที่พนักงานอัยการยังต้องนำมาเบิกความ เส้นทางการพิจารณาคดีคงยังอีกไกล กว่าศาลจะมีคำสั่งว่าผู้ตายคือใคร ใครทำให้ตายและตายด้วยสาเหตุอะไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net