Skip to main content
sharethis

วิทยากร บุญเรือง


 



พลเอกเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ (Pervez Musharraf) ถูกศาลสูงสุดปากีสถานแช่แข็งทางการเมือง ด้วยการเลื่อนประกาศผลการโหวตจนกว่าศาลจะตัดสินว่าการลงชิงตำแหน่งอีกสมัยหนึ่งของพลเอกมูชาร์ราฟ ขณะที่ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (ที่มาภาพ: Mian Khursheed/Reuters)


 


สำหรับคอการเมืองไทยทั้งหลาย ควรมองสถานการณ์เปรียบเทียบที่ปากีสถานไว้บ้าง เพราะถือได้ว่าที่นั่นอาจจะเป็นสนามทดลองของการปะทะกันระหว่าง "ประชาธิปไตย - เผด็จการทหาร - อำนาจของชนชั้นนำ" ในยุคโลกาภิวัตน์ เช่นเดียวกับประเทศไทย


 


ก่อนอื่นขอแนะนำตัวละครสำคัญในการเมืองกระแสหลักในประเทศปากีสถาน ที่เล่นบทบาทสามเส้ากันมาโดยเกือบตลอดนั่นคือ พลเอกเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ (Pervez Musharraf), นายนาวาซ ชารีฟ (Nawaz Sharif) และนางเบนาซี บุตโต (Benazir Bhutto)


 


ไม่กี่วันมานี้ เกมที่มูชาร์ราฟต้องการที่จะนำมาสร้างภาพความชอบธรรม ก็คือความพยายามที่จะนิรโทษกรรมให้กับนางบุตโต ที่จะสามารถให้นางบุตโตหลุดจากข้อกล่าวหาต่างๆ และจะสามารถกลับเข้ามามีอำนาจทางการเมือง


 


ทั้งนี้จะเป็นการประนีประนอมเพื่อให้เขามีความชอบธรรมในการลงสมัครรับเลือกเป็นประธานาธิบดีของมูชาร์ราฟเอง เพราะขณะนี้เขากำลังถูกศาลสูงสุดปากีสถานไต่สวนคำอุทธรณ์ของคู่แข่งในการเลือกตั้ง ที่ยื่นฟ้องร้องให้ศาลพิจารณาเพื่อตัดสิทธิเขาไม่ให้ลงสมัครรับเลือก


 


ขั้นแรกบุตโต ที่อยู่ในระหว่างการลี้ภัยทางการเมืองที่กรุงลอนดอน ก็ออกมาแก้เกม โดยกล่าวว่ามูชาร์ราฟกำลังใช้กลยุทธ์ทางการเมืองในการที่จะขอนิรโทษกรรมคดีทุจริตสินบนของเธอ ในช่วงก่อนที่เธอจะเดินทางกลับปากีสถานเพื่อรณรงค์เลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้นในปี ค.ศ. 2008 โดยเธอยังยืนยันที่จะกลับปากีสถานในวันที่ 18 ตุลาคมนี้


 


แต่แกนนำบางส่วนของพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan People's Party PPP) ของบุตโตก็กลับออกมาให้ข่าวว่าการประนีประนอมของคนทั้งคู่อาจจะเกิดขึ้น --- ซึ่งเป็นแนวทางแบ่งรับแบ่งสู้ตามสไตล์นักการเมืองอาชีพ


 


ตามกระแสข่าวที่ออกมาปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดของปากีสถาน ว่ามูชาร์ราฟสามารถลงสมัครรับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย พร้อมกับการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพนั้นถูกต้องไหม


 


ล่าสุดศาลสูงสุดของปากีสถานซึ่งเป็นองค์กรปฏิปักษ์กับเผด็จการมูชาร์ราฟ ก็ได้พยายามเดินเกมแช่แข็งมูชาร์ราฟ ด้วยคำวินิจฉัยให้คณะกรรมการจัดการ สามารถจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันพรุ่งนี้ (6 .. 2550) ต่อไปได้ 


 


แต่ทั้งนี้จะยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้งจนกว่าศาลจะตัดสินว่าการลงชิงตำแหน่งอีกสมัยหนึ่งของมูชาร์ราฟ ขณะที่ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 


 


โดยการต้านทานครั้งล่าสุดที่ปากีสถานนี้นำโดยพรรคฝ่ายค้านหลายพรรค ซึ่งมีพรรคประชาชนปากีสถานของบุตโตเป็นหัวหอก ได้ยื่นฟ้องต่อศาลถึงความชอบธรรมดังกล่าว ทั้งนี้ศาลมีกำหนดที่จะไต่สวนคดีอีกในวันที่ 17  ตุลาคม


 


ทั้งนี้วาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของพลเอกมูชาร์ราฟจะหมดลงในวันที่  25 พ.. ส่วนตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพนั้น มีความสำคัญทางการเมืองมาก เพราะในตำแหน่งดังกล่าว มูชาร์ราฟสามารถประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึกเมื่อใดก็ได้  


 


ซึ่งคาดว่าเรื่องผลการโหวตนั้น มูชาร์ราฟ คงจะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีได้อย่างแน่นอน แต่ก้างขวางคอชิ้นใหญ่นั้นคงอยู่กับการวินิจฉัยของศาลเท่านั้น


 


และก็พอมองออกว่าท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ของบุตโตและพลพรรคนั้นกำลังรออะไรอยู่


 


 


งูกินหาง


 



เบนาซี บุตโต (Benazir Bhutto) อดีตนายกรัฐมนตรีของปากีสถานอีกคน ที่โดนรัฐประหารเงียบ ปลดออกจากตำแหน่งด้วยคำกล่าวหาคลาสสิค "ไม่มีจริยธรรมทางการเมือง" (ที่มาภาพ: AFP)


 


ครอบครัวบุตโต คือครอบครัวการเมืองที่มีสีสันที่สุดหลังจากการประกาศเอกราชของปากีสถาน


 


ซุลฟิการ์ อาลี บุตโต (Zulfikar Ali Bhutto) บิดาของนางเบนาซีร์ บุตโต ผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan People's Party PPP) อดีตประธานาธิบดีของปากีสถานระหว่างปี ค.. 1971 - 1973 และเคยได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของปากีสถานในปี ค.. 1973 โดยดำรงตำแหน่งถึงปี ค.. 1977 ก็ถูกคณะทหารนำโดยนายพลมูฮัมหมัด เซีย-อุล-ฮัค (Muhammad Zia-ul-Haq) ทำการรัฐประหาร รวมถึงมีการตัดสินประหารชีวิตซุลฟิการ์ อาลี บุตโต ด้วย


 


นางเบนาซีร์ บุตโต ดำเนินรอยตามพ่อทุกฝีก้าว เธอเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปากีสถาน และได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี .. 1988 ดำรงตำแหน่งได้เพียง 20 เดือนก็ถูกประธานาธิบดี กูลัม อัสชัค ข่าน (Ghulam Ishaq Khan) ปลดออกจากตำแหน่งด้วยข้อหาคอรัปชั่น


 


เธอกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในปี .. 1993 เธออยู่ในตำแหน่งได้จนถึงปี ค.. 1996 ก็ถูกรัฐประหารเงียบปลดออกจากตำแหน่งโดยประธานาธิบดีฟารุค เลกฮารี (Farooq Leghari) ด้วยข้อหาเดิมคือคอรัปชั่น (จากนั้นในปี .. 1999 เธอก็ต้องลี้ภัยออกไปอยู่นอกประเทศ)


 


หลังจากรัฐประหารเงียบ ประธานาธิบดีฟารุค เลคฮารี ก็ได้แต่งตั้งผู้บัญชาการทั้ง 3 เหล่าทัพ เข้ามามีอำนาจทางการเมือง พร้อมทั้งที่จะจัดการเลือกตั้งที่มีพรรคนอมินีของทหารเข้าลงรับเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจของกองทัพ --- แต่ประชาชนปากีสถานในขณะนั้นไม่ต้องการคณะทหาร จึงได้เลือกนายนาวาซ ชารีฟ ผู้มีภาพเป็นมหาเศรษฐีนักธุรกิจเป็นนายกรัฐมนตรีในปี ค.. 1997


 


ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีอำนาจอยู่ในมือ กอปรกับการสร้างกระแสให้นายชารีฟมีมลทินเรื่องคอรัปชั่น แต่ขณะนั้นประชาชนปากีสถานส่วนใหญ่มั่นใจในนักธุรกิจมากกว่าทหารจึงได้เทคะแนนให้พรรคของชารีฟอย่างท่วมท้น --- คณะทหารไทยพึงระวังไว้ ;-)


 


แต่ไม่นานนักชารีฟก็ดันไปงัดข้อกับฝ่ายทหาร จนถูกทำรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ. 1999 โดยมูชาร์ราฟ และเช่นเดียวกันกับบุตโตอีก เขาและพลพรรคถูกกล่าวหาว่าคอรัปชั่น


 


สมาชิกหลายร้อยคนในคณะบริหาร, รัฐมนตรี และที่ปรึกษาทางการเมืองจำนวนมาก ของชารีฟ ถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศหลังจากที่บัญชีในธนาคารของพวกเขาถูกสั่งอายัด มีบุคคลสำคัญทางการเมืองหลายคนถูกจับหรือถูกควบคุม


                  


ในการทำรัฐประหารยึดอำนาจในครั้งนั้น มูชาร์ราฟได้รวบอำนาจเกือบทั้งหมดมาอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บัญชาการกองทัพ (ซึ่งมีเขาเป็นผู้นำสูงสุด) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระดับรัฐและประเทศ รวมทั้งคณะรัฐมนตรีประธานและรองประธานวุฒิสภาถูกปลดออกจากตำแหน่งทั้งหมด


 


จากนั้นมูชาร์ราฟสามารถสืบทอดอำนาจได้สำเร็จ ด้วยอำนาจอันเบ็ดเสร็จของเขานั้น ทำให้เขาได้ยืดเวลาเป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2002 - 2007 ด้วยการจัดการลงประชามติว่าจะให้เขามีอำนาจต่อไปหรือไม่


 


ในตอนนั้นรัฐบาลปากีสถานระบุว่า มีผู้มาใช้สิทธิลงประชามติมากอย่างไม่คาดคิดถึง 30% แต่พรรคฝ่ายค้านระบุว่ามีผู้มาใช้สิทธิเพียง 5%


         


 


มันก็แค่เกมของชนชั้นนำ


 


ที่ปากีสถานได้พิสูจน์แล้วว่าหากนักการเมืองอาชีพไม่ประนีประนอมกับทหารแล้ว เสถียรภาพทางการเมืองของพวกเขาจะสั่นคลอนเพียงใด


 


สำหรับบุตโต ในทางหนึ่งถ้าเธอมั่นใจกับฐานเสียงของเธอในการเลือกตั้งทั่วไป บุตโตอาจจะไม่ต้องไปข้องเกี่ยวกับมูชาร์ราฟให้หม่นหมอง


 


แต่ในด้านหนึ่งถ้ามูชาร์ราฟยังคงมีอำนาจต่อไป (ศาลวินิจฉัยให้เขามีคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี) การรัฐประหารเงียบด้วยการปลดตัวเธอหากเธอได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรีก็อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ เพราะอย่างน้อยเธอก็มีบทเรียนมาแล้วถึงสองครั้ง --- ซึ่งบุตโตอาจจะยอมเสียเครดิตในสายตาผู้ชื่นชอบประชาธิปไตย แต่การเป็นนายกสมัยที่ 3 อย่างมั่นคงโดยยอมแบ่งสันอำนาจกับมูชาร์ราฟ มันก็หอมหวนเหลือเกิน


 


ส่วนที่เมืองไทย เราจะมั่นใจได้อย่างไรหากพรรคพลังประชาชนของทักษิณ ถ้าหากกลับมาจะล้างบางทหารให้หมดอำนาจไปเลยทีเดียว  การพยายามประนีประนอมกับทหารอาจเป็นทางเลือกที่สวยกว่าสำหรับนักการเมืองอาชีพ เพราะสถาบันทหารไทยไม่ใช่สถาบันโดดเดี่ยว แต่กลับเป็นสถาบันที่มีพลังเบื้องหลังพันตูอยู่พอสมควร


 


และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในระดับภาพรวมแล้ว การเมืองปากีสถานและไทยจะไม่เปลี่ยน การเมืองภายในก็ยังจะถูกบงการโดยชนชั้นนำเช่นเคย


 


ส่วนบทบาทในการเมืองระดับนานาชาติ ทั้งคู่จะไม่หันหลังให้บรรษัทข้ามชาติและอำนาจตะวันตก สหรัฐยังหวังฐานที่มั่นในปากีสถานกดดันพื้นที่ในตะวันออกกลางและจีน เช่นเดียวกับไทยที่จะไม่หันหลังให้การค้าเสรีนานาชาติ --- การสร้างสังคมใหม่จะไม่เกิดขึ้นในกรณีของไทยหรือปากีสถาน


 


สำหรับไทยขั้วอำนาจจารีตในไทยนั้น ก็เข้าได้ดีกับระบบทุนนิยมโลก ขั้วนายทุนใหม่ก็พร้อมที่จะก้มหัวให้อำนาจจารีตและระบบทุนนิยมโลกเช่นกัน --- ไม่ว่าขั้วทักษิณจะกลับมา คุณเชื่อขนมกินได้เลยว่าการประนีประนอมจะเกิดขึ้นอีกครั้ง


 


สถานการณ์การเมืองยุคมิลเลเนี่ยม ประชาชนยังต้องคงใช้จิตสำนึกทางชนชั้นเลือกขั้วการเมืองเพื่อผลประโยชน์การอยู่รอดเฉพาะหน้า ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งผิด และจะเป็นประสบการณ์ในการใช้ประชาธิปไตยในการสร้างอำนาจของประชาชน


 


แต่จะให้ดีกว่านั้น หากการย่นเวลารื้อระบบแบบถอนรากถอนโคนให้เกิดขึ้นมาเร็วอีกหน่อย!


 


ประกอบการเขียน:


 


Benazir Bhutto (Wikipedia เข้าดูเมื่อ 5 .. 2550)


Zulfikar Ali Bhutto (Wikipedia เข้าดูเมื่อ 5 .. 2550)


Pakistan power-share talks 'stall'  (Al Jazeera 3 .. 2550)


Pakistan's Supreme Court puts Musharraf's future on ice (Reuters 5 .. 2550)


เผด็จการทหารทั้งหลายจ๋า ... ดูปากีสถาน แล้วก็มองย้อนกลับมาดูที่บ้านท่านบ้าง ! (ประชาไท 16 .. 2550)


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net