Skip to main content
sharethis


"ควรต้องเสนอกระทรวงศึกษาธิการให้กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติ ในการรณรงค์ลดความรุนแรงในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยกำหนดให้โรงเรียนมีการดำเนินงานด้านการป้องกันการรังแกกัน การลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรงและมีแนวปฏิบัติในการช่วยเหลือเด็กที่ถูกทารุณกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ" ผศ.สมบัติ ตาปัญญา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบแนวทางการป้องกันความรุนแรงต่อเด็กแบบยั่งยืน ระยะที่ 2 ระบุ

 


ปัญหาความรุนแรงในเด็กกลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและหาแนวทางแก้ไขมาโดยตลอด ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดจากโครงการไชด์วอทช์ สถาบันรามจิตติ ซึ่งสำรวจเด็กมัธยมจำนวน 70,000 คนทั่วประเทศ ในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่า เด็กได้รับความรุนแรง 9-10% มีการใช้ความรุนแรงรวมทั้งการกระทำทางกาย ทางคำพูด ตบ ตี เตะ ตื้บ โดยหากคิดจากจำนวนเด็กมัธยมขึ้นไปถึงอาชีวศึกษา รวมแล้วมีถึง 700,000 คน


 


นอกจากนั้นยังระบุว่า คดีความรุนแรงของเยาวชนเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปี จากมีคดีเด็กก่ออาชญากรรม 80 คดี เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 200 คดี หรือประมาณ 40,000 คดีต่อปี


 


ผศ.สมบัติกล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ความรุนแรงส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยที่ใกล้ตัวของเด็กนักเรียนทั้งสิ้น และหากมองย้อนถึงต้นต่อปัญหาความรุนแรงของวัยรุ่นตามหน้าหนังสือพิมพ์จะพบว่า หลายกรณีผู้ก่อเหตุเคยตกเป็นผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงมาก่อน การตอกย้ำด้วยความรุนแรงไม่ว่ารูปแบบใดก็ตามได้ส่งผลสะสมต่อทัศนะคติของผู้นั้น และเมื่อถูกกระตุ้นจนเกิดความกดดันมากๆ ก็จะตอบสนองออกมาด้วยวิธีการที่รุนแรง


 


 


ทั้งนี้ การรังแกกันเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งด้วยความก้าวร้าวรุนแรงในกลุ่มเยาวชน ซึ่งพฤติกรรมรังแกกันในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการทำร้ายจิตใจด้วยการล้อเลียน ดูถูกเหยียดหยามเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ และการลงโทษด้วยความรุนแรงโดยครู พบอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อเด็กในระยะสั้น คือเป็นผลเสียต่อการเรียนและสุขภาพจิต โดยในระยะยาวอาจมีผลต่อการปรับตัวในสังคมอันนำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าวและต่อต้านสังคมในเด็กซึ่งจะกระทำต่อผู้อื่นต่อๆ ไปอีก


 


โครงการศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบแนวทางการทางการป้องกันความรุนแรงต่อเด็กแบบยั่งยืน ระยะ 2 ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เป็นหนึ่งความพยายามในรูปแบบงานวิจัยกึ่งทดลองในโรงเรียนที่ได้นำหลักสูตรการป้องกันการรังแกกัน ของ แดน โอลวีอัส (Dan Olweus) มาปรับใช้ หลังจากมีการนำไปทดลองใช้และได้ผลในหลายประเทศ พบว่าสามารถลดอัตราการรังแกกันในโรงเรียนลงได้กว่าครึ่ง และมีผลต่อการลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์อื่นๆ อีกด้วย


 


โดยหลังจากการทดลองนำหลักสูตรการป้องกันการรังแกกันไปใช้ควบคุมในโรงเรียนนำร่อง 2 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าอัตราการรังแกกันในโรงเรียนไทยลดลง ทั้งนี้เพื่อความชัดเจนของผลที่ได้ ทำให้ปีที่ 2 ได้ขยายพื้นที่ออกไปครอบคลุมโรงเรียน 11 แห่งใน 6 จังหวัด จากภาคเหนือ 2 แห่ง ภาคกลาง 2 แห่ง ภาคตะวันออก 1 แห่ง ภาคอีสาน 2 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง รวมจำนวนนักเรียนที่มีส่วนร่วมประมาณ 2,300 คน


 


จากการสำรวจข้อมูลก่อนดำเนินโครงการพบว่า เด็กนักเรียนถูกเพื่อนรังแก 32.3% ถูกเพื่อนล้อเลียน 45.9% โดยพฤติกรรมการรังแกที่พบมากที่สุด คือ ถูกเยาะเย้ยเรื่องเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ 27.7% ถูกขโมยสิ่งของ 20.9% ถูกทำร้ายร่างกาย 14.8% และถูกรังแกเรื่องเพศ 11.8%


 


ที่น่าเป็นห่วงต่อการที่เด็กถูกรังแกนั้นข้อมูลระบุว่า มีการยอมรับว่ารังแกเพื่อนเพียง 21.1% ยอมรับว่าล้อเลียนเพื่อ 17.8% และยอมรับว่าทำร้ายร่างกายเพื่อน 13%


 


และเมื่อถามถึงการช่วยเหลือจากคนรอบข้างพบว่า เพื่อนพยายามช่วยเหลือถึง 66.3% และครูพยายามช่วยเหลือ 57.8%


 


"ข้อมูลชี้ชัดว่าว่าเด็กนักเรียนมีพฤติกรรมการรังแกกัน หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวและต่อต้านสังคม หากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ปัญหาก็จะสืบทอดไปอย่างไม่จบสิ้น"


 


เมื่อภายหลังดำเนินโครงการในโรงเรียนนำร่องประมาณหนึ่งปีการศึกษา พบพฤติกรรมการรังแกกันลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยพบเด็กนักเรียนที่ถูกเพื่อนรังแก 28.4% ถูกเพื่อนล้อเลียน 39.4% พบการถูกเยาะเย้ยเรื่องเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ 23% ถูกขโมยสิ่งของ 18.5% ถูกทำร้ายร่างกาย 13.4% และถูกรังแกเรื่องเพศ 11% ส่วนการช่วยเหลือปรากฏว่า เพื่อนพยายามช่วยเหลือ 63.5% และครูพยายามช่วยเหลือ 58.8%

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net