Skip to main content
sharethis

ฝ่ายค้านระบุท่าที่ผู้นำพม่าเป็นไปในทางที่ดี


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค : นายญาน วิน โฆษกพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของพม่า ได้วิเคราะห์ถึงท่าทีของพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ที่กล่าวกับนายอิบราฮิม กัมบารี ทูตพิเศษของสหประชาชาติ ที่ว่า อยากจะเปิดการเจรจากับนางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า ว่า ท่าทีของพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ผิดไปกว่าเดิมมาก เพราะไม่เคยเป็นฝ่ายออกปากอยากเจรจากับนางซู จี มาก่อน ซึ่งเท่ากับว่าผู้นำรัฐบาลทหารพม่าได้แง้มประตูให้แก่นางซู จี ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ ต่อถ้อยคำดังกล่าวของผู้นำรัฐบาลทหารพม่า


 


โฆษกพรรคเอ็นแอลดี ยังกล่าวอีกว่า โทรทัศน์ทางการพม่าได้นำภาพของนางซู จี ออกมาแพร่ทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกเมื่อคืนวันศุกร์ พร้อมกับเรียกชื่อนางซู จี ด้วยสรรพนามที่แสดงออกซึ่งการยกย่อง ล้วนเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า สถานการณ์ในพม่ากำลังเดินหน้าไปด้วยดี ขณะที่หนังสือพิมพ์ของทางการพม่าฉบับวันเสาร์ได้ตีพิมพ์รายงานระบุว่า ทางการพม่าได้แจ้งแก่นายกัมบารี ว่า กลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่าควรหันหน้ามาประนีประนอมและปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ได้แล้ว


 


 


ประเทศทั่วโลกมีแผนจัดเดินขบวนประท้วงเหตุรุนแรงในพม่า


องค์กรนิรโทษกรรมสากลระบุว่าประเทศต่างๆทั่วโลกทั้งในเอเชีย ยุโรปและอเมริกาเหนือมีแผนจัดการเดินขบวนประท้วงกรณีรัฐบาลพม่าใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ประท้วง โดยการเดินขบวนจะมีขึ้นตามเมืองต่างๆทั่วโลก รวมทั้งในนครไทเป กรุงนิวเดลี นครเจนีวา กรุงลอนดอน กรุงลิสบอนและกรุงออตตาวา เพื่อส่งสารให้รัฐบาลพม่าเห็นว่าโลกยังคงจับตามองอยู่ มีรายงานว่าที่นิวซีแลนด์ได้มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวประมาณ 500 คนออกมาเดินขบวนกันตามท้องถนนในกรุงเวลลิงตันแล้ว


 


ด้านสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนแจ้งต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาชาติว่า การแก้ไขปัญหาอย่างสันติต่อสถานการณ์ในพม่า จะต้องมีการใช้กำลังทหารรวมอยู่ด้วย ขณะที่นายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ ผู้นำอังกฤษกล่าวว่า อังกฤษต้องการให้สหภาพยุโรปคว่ำบาตรพม่าอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกครั้งหนึ่งซึ่งหมายความรวมถึงการห้ามลงทุนในพม่าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องการให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติตรวจสอบกระบวนการสร้างความปรองดองขึ้นในพม่าโดยให้เลขาธิการสหประชาชาติเป็นผู้นำในการดำเนินการเรื่องนี้


 


 


ทูตสิงคโปร์เห็นว่ามาตรการลงโทษจะสร้างปัญหาต่อการสร้างความปรองดองในพม่า


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค : นายวานู โกปาลา เมนอน เอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำสหประชาชาติแถลงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้มาตรการลงโทษรัฐบาลพม่า โดยเตือนว่ามาตรการลงโทษจะส่งผลเสียต่อการเจรจาเพื่อสร้างปรองดองในพม่าต่อไปได้ ในส่วนของสิงคโปร์เข้าใจถึงความจำเป็นที่อาจต้องใช้มาตรการหยุดยั้งพฤติกรรมของรัฐบาลพม่าที่นานาชาติยอมรับไม่ได้ พร้อมกันนี้ เรียกร้องให้จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมหาอำนาจในเอเชียใช้อิทธิพลกดดันพม่า โดยให้เหตุผลว่า ถึงแม้พม่าเป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน แต่อาเซียนก็มีอิทธิพลที่จำกัดในการกดดันพม่า


 


ด้านตำรวจญี่ปุ่นเปิดเผยผลการชันสูตรศพนายเคนจิ นางาอิผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่นที่ถูกยิงระหว่างการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงในพม่าว่าสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตเพราะเสียเลือดมาก เนื่องจากระสุนเจาะทะลุตับ ทั้งนี้จากภาพข่าวแสดงให้เห็นว่านายนางาอิถูกทหารพม่ายิงในระยะกระชั้นชิดและล้มลงไปกับพื้นขณะยังถือกล้องอยู่ในมือ ด้วยเหตุนี้ญี่ปุ่นจึงข้องใจในคำอธิบายของรัฐบาลพม่าที่ระบุว่าการเสียชีวิตของนายนางาอิเป็นอุบัติเหตุ และได้ตั้งชุดสอบสวนพิเศษขึ้น


 


 


อาเซียนสนับสนุนทูตพิเศษ UN กรณีพม่า


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค : นายจอร์จ เยียว รมว.ต่างประเทศสิงคโปร์ แถลงว่า สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของนายอิบราฮิม แกมบารี ทูตพิเศษของสหประชาชาติในพม่า และหวังว่าประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และประเทศตะวันตกจะสนับสนุนภารกิจของนายแกมบารีที่มีกำหนดจะเดินทางกลับไปเยือนพม่าอีกครั้งในเดือนหน้า นอกจากนี้ นายเยียวยังคาดว่า สถานการณ์ในพม่าจะพัฒนาดีขึ้น เป็นลำดับ เพราะเห็นได้จากการที่นายแกมบารีสามารถเดินทางเข้าพบ พล.อ.ตัน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า และนางออง ซาน ซู จี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านถึง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายยินยอมเจรจากันผ่านนายแกมบารี และหวังว่า ท่าทีดังกล่าวนี้จะนำไปสู่การเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติในพม่า


 


 


ประเทศมหาอำนาจในสหประชาชาติ เรียกร้องให้พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองโดยเร็ว


กรมประชาสัมพันธ์ :  ประเทศมหาอำนาจที่สำคัญในสหประชาชาติ เรียกร้องให้พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองโดยเร็ว  หลังจากที่นายอิบราฮิม กัมบารี ผู้แทนพิเศษว่าด้วยปัญหาของพม่า ได้กล่าวเตือนถึงเรื่องการตอบโต้อย่างรุนแรง จากนานาชาติอันเป็นผลมาจากการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลในพม่า  หลังจากที่ได้รายงานถึงสถานการณ์ในพม่าของเขาเป็นครั้งแรกต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมื่อเดินทางออกจากพม่าเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา


 


 


อดีตนักโทษการเมืองพม่า แฉความโหดของฝ่ายรัฐบาล


สำนักข่าวเนชั่น : อดีตนักโทษการเมืองพม่าบางคนบอกว่า พวกเขาอยากจะอาเจียน เมื่อเห็นภาพการปราบปรามพระและประชาชนที่ออกมาเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า เพราะพวกเขาเคยเจอกับความโหดร้ายเหล่านี้มาก่อน


 


เธ็ต อู่ วัย 46 ปี อดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของนางออง ซาน ซูจี แกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่าก่อนที่จะถูกกักบริเวณในปี 2532 เล่าว่า เจ้าหน้าที่เตะเข้าที่ศีรษะจนเขาหมดสติ  จากนั้นก็ถูกตีตรวน และโยนเข้าไปในห้องขังเล็กๆ ที่เขาใช้ชีวิตอยู่เกือบตลอด 12 ปีหลังจากนั้น


 


เธ็ต อู่ ที่หนีเข้ามาในประเทศไทย บอกว่าเขาถูกสอบสวนอยู่ 3 วันติด ถูกตะคอกตลอดเวลา ใบหน้าถูกปิดด้วยหน้ากาก แขนถูกมัด  ขาถูกตีตรวนตลอดเวลา ขณะที่พวกทหารต่างก็เมากันทุกคน เขาถูกตีถูกเตะอยู่หลายครั้ง จนกลายเป็นคนหูตึงเพราะการถูกซ้อม


 


ส่วน โม มยิน วัย 45 ที่เสียขา แขน และตาอย่างละข้างตอนเป็นทหาร ถูกจับในปี 2532 หลังออกจากกองทัพมาอยู่ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย เขาบอกว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่แก้ผ้า มัดด้วยเข็มขัดหนังในท่าที่เอาศีรษะลงนานถึง 4 ชั่วโมง เมื่อหมดสติ ก็จะถูกสาดด้วยน้ำ  ส่วนอีกครั้งหนึ่งก็มีการนำถุงมาสวมที่ศีรษะ ก่อนที่จะมีการเตะไม้เท้าของเขาทิ้ง เขาบอกว่า คนเหล่านั้นเกลียดเขาเพราะเขาเคยเป็นทหารมาก่อน


 


ด้าน อู่ เตซานิย่า วัย 42 ซึ่งเป็นพระก็เคยติดคุกในฐานะนักโทษการเมืองนาน 8 ปี 3 เดือน บอกว่าท่านถูกจับกลางดึกคืนหนึ่งในปี 2531 เมื่อมาที่ศูนย์สอบสวนก็ถูกตีด้วยปืน และถูกโยนเข้าห้องขังเล็กๆนาน 1 เดือน พร้อมกับชายอีก 2 คน โดยในนั้น ไม่มีห้องน้ำ


 


รัฐบาลทหารพม่า ปฏิเสธว่าไม่มีการทรมาณหรือละเมิดสิทธิของนักโทษ แต่อดีตนักโทษ


 


การเมืองก็กำลังรวบรวมหลักฐาน อย่างรายชื่อผู้ที่ทรมาณพวกเขา เพื่อส่งให้หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยหวังว่า สักวันหนึ่ง รัฐบาลทหารพม่าจะถูกนำตัวขึ้นศาลสากล ทางกลุ่ม ซึ่งมีสมาชิกราว 100 คน ได้จัดทำรายงานเรื่องนี้ขึ้นฉบับหนึ่งแล้วซึ่งในนั้นพูดถึงประสบการณ์ที่น่าสยอง การถูกข่มขืน การช็อตด้วยไฟฟ้า  การถูกจับกดน้ำ ลวกด้วยขี้ผึ้งร้อนๆ และการให้ยืนในถังที่เต็มไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะ


 


 


องค์สิทธิมนุษยชน จี้รัฐยกวิกฤตพม่าถกอาเซี่ยนซัมมิต พ.ย.


สำนักข่าวเนชั่น : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงเหตุการณ์การปราบปรามพระสงฆ์และประชาชนในประเทศพม่า ว่า สิ่งที่พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ประกาศในเวทีประชุมสหประชาชาติ ว่าไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามการชุมนุมของรัฐบาลทหารพม่า ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เมื่อเหตุการณ์เริ่มจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงอยากเรียกร้องให้ไทยในฐานะที่เป็นชาติผู้นำอาเซียนนำปัญหานี้ขึ้นพิจารณาในระดับอาเซียน ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมอาเซี่ยนซัมมิต ที่สิงคโปร์ ซึ่งรัฐบาลไทยควรจะเสนอให้ลดบทบาทของพม่า หรือแม้กระทั่งเสนอถอนชื่อพม่าออกจากชาติสมาชิกอาเซียน


 


นอกจากการกดดันทางการเมืองแล้ว ขอเรียกร้องให้เพิ่มแรงกดดันในด้านเศรษฐกิจ ของเรียกร้องให้บริษัท รัฐวิสาหกิจทั้งหลาย คำนึงถึงเรื่องบรรษัทภิบาล โดยเลิกติดต่อซื้อขายกับประเทศพม่า จนกว่าจะมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวพม่า


 


 


ทีวีพม่าแพร่ภาพ 'ซูจี' ครั้งแรกรอบเกือบ 4 ปี


สำนักข่าวเนชั่น : การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลทหารพม่า ดูเหมือนเป็นความพยายามสยบกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ ขณะที่บรรดาผู้นำรัฐบาลทหารพม่าถูกโจมตีอย่างหนักในที่ประชุมสหประชาชาติ กรณีการปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย


 


สถานีโทรทัศน์ของทางการพม่า แพร่ภาพขณะนางซู จี พบปะกับนายอิบราฮิม กัมบารี ทูตสหประชาชาติ และระบุว่า บุคคลทั้งสองได้พบกันถึง 2 ครั้ง นอกจากนี้ ยังมีภาพของนายกัมบารี พบปะหารือกับ พล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ในระหว่างการเยือนเป็นเวลา 4 วัน ในสัปดาห์นี้ด้วย รายงานระบุว่า นายกัมบารี กล่าวเรียกร้องให้พม่าใช้วิถีทางการเมืองคลี่คลายปัญหา โดยไม่ใช้ความรุนแรง ถอนทหาร ยกเลิกเคอร์ฟิว และเริ่มก้าวไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังได้ขอร้องให้พม่าเปิดโอกาสให้กาชาดสากลได้เข้าพบผู้ที่ถูกควบคุมตัว และปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดเป็นอิสระ


 


นางซู จี ถูกกักบริเวณตลอดระยะเวลาส่วนใหญ่ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา และภาพของนางไม่ได้ถูกนำมาออกอากาศในโทรทัศน์ของทางการพม่า นับแต่ก่อนที่นางถูกกักบริเวณครั้งหลังสุดที่เริ่มเมื่อปี 2546 เป็นต้นมา


 


ส่วนกรณีการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย รัฐบาลทหารพม่ายอมรับว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงบุกเข้าไปยังวัดถึง 18 แห่ง เมื่อสัปดาห์ก่อน และจับกุมผู้คนรวมทั้งพระสงฆ์จำนวนมาก แต่นับถึงขณะนี้ มีพระสงฆ์เพียง 109 รูปเท่านั้น ที่ยังคงอยู่ในความควบคุม.


 


 


พม่าตามล่าพระสงฆ์ที่เป็นแกนนำการประท้วงในพม่า


ศูนย์ข่าวแปซิฟิค : สถานีโทรทัศน์ "MRTV" ของทางการพม่า รายงานว่า รัฐบาลทหารพม่ากำลังตามล่าหาตัวพระสงฆ์ 4 รูปที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำการประท้วงต่อต้านรัฐบาลพม่าครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 20 ปีในกรุงย่างกุ้ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์ชาวพม่าเชื่อว่า หากมีการตัดสินลงโทษ ทางการพม่าคงตัดสินจำคุกแกนนำการประท้วงเป็นเวลา 20 ปี ส่วนประชาชนที่ถูกจับกุมในช่วงระหว่างการเดินขบวนประท้วงจะถูกจำคุกเป็นเวลา 2-5 ปี


 


อย่างไรก็ดี สถานีโทรทัศน์ "MRTV" รายงานว่า นับตั้งแต่ทหารและตำรวจพม่าได้บุกตรวจค้นวัด 18 แห่งทั้งในและรอบกรุงย่างกุ้ง ได้ปล่อยตัวพระสงฆ์ไปแล้วกว่า 400 รูป และฆราวาสหญิงชายรวม 188 คน แต่ยังมีพระสงฆ์แกนนำการประท้วงที่รอดพ้นการจับกุมไป 4 รูป และได้ร้องขอให้พระชั้นผู้ใหญ่ช่วยติดตามพระทั้ง 4 รูปแล้ว อย่างไรก็ดี ยังมีพระสงฆ์อีก 109 รูป และประชาชนอีก 9 คนที่อยู่ระหว่างการสอบสวน ส่วนการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงของรัฐบาลทหารพม่าในเมืองอื่นๆ รายงานไม่ได้เสนอรายละเอียด


 


 


นายกฯสิงคโปร์ปฏิเสธข้อกล่าวหาเป็นศูนย์กลางการฟอกเงินของสมาชิกรัฐบาลพม่า


กรมประชาสัมพันธ์ : ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น นายกรัฐมนตรีลี  เซียน-ลุง  ของสิงคโปร์ได้กล่าวปกป้องประเทศต่อกรณีมีข้อกล่าวหาว่า  สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการฟอกเงินของสมาชิกรัฐบาลพม่า  โดยนายกรัฐมนตรีลียืนยันว่า  สิงคโปร์ไม่เคยปล่อยให้มีการฟอกเงินและเข้มงวดในเรื่องนี้เท่าๆกับศูนย์กลางการเงินอื่นๆ  ส่วนการที่ไม่อาจปฏิเสธให้บรรดาผู้นำพม่าเดินทางมายังสิงคโปร์เพื่อเข้ารับการรักษาทางการแพทย์นั้น ก็เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นการไร้มนุษยธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net