รายงาน: เสียงเล็กๆ ที่ดังก้องในเมืองหลวงสหรัฐอเมริกา "ชาวพม่าต้องได้รับการปลดปล่อย!"

 

นักข่าวพลัดถิ่น 

 

"Free Free Free Burma!…Free Free Free Burma!"

 

"We support Sangha in Burma!...We support Burmese people!" 

 

เสียงของคนตัวเล็ก หลากเชื้อชาติ ราว 200 คน ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณหน้าสถานทูตพม่าในวอชิงตัน ดีซี เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา พวกเขาชูกำปั้นขึ้นฟ้า ตะโกนซ้ำไปซ้ำมา เรียกร้องให้ชาวพม่าได้รับการปลอดปล่อยจากรัฐบาลทหาร

 

"Burma Burma must be free…" เมื่อผู้นำการชุมนุมเปล่งเสียงนำ ผู้ร่วมชุมนุมก็จะส่งเสียงรับว่า "Freedom, justice, democracy!" 

 

การชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าคืนเสรีภาพให้ประชาชนครั้งนี้ เริ่มต้นที่เวลาเที่ยงตรงของกรุงวอชิงตัน ดีซี วันที่ 6 ตุลาคม 2550 ไล่เลี่ยกับการชุมนุมในเมืองอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกา ขณะที่การชุมนุมในเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่เริ่มขึ้นก่อนตามเวลาที่นำหน้าได้จบลงไปแล้ว ทั้งนี้ Michael Friedman หนึ่งในสมาชิกของ The US Campaign for Burma องค์กรเจ้าภาพในการจัดการชุมนุม บอกว่า การชุมนุมเพื่อสนับสนุนพระสงฆ์และชาวพม่าในวอชิงตันดีซีนั้น ได้เริ่มขึ้นและดำเนินอย่างต่อเนื่องมาหลายวันแล้ว โดยนักศึกษา นักสิทธิมนุษยชน และชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในย่านนี้

 

ขบวนผู้ชุมนุมถูกทาไปด้วยสีแดงของเครื่องแต่งกายอันเป็นสัญลักษณ์ของการสนับสนุนพระสงฆ์พม่า หลายคนบอกว่า อยากจะมาชุมนุมทุกวัน หากไม่ติดภารกิจการงาน หนึ่งในนั้นคือ "ดอนน่า เนลสัน" อาจารย์จากวิทยาลัยท้องถิ่นแห่งหนึ่งในรัฐนิวยอร์ค ซึ่งใช้เวลาราว 5 ชั่วโมงเพื่อเดินทางมาร่วมกิจกรรมในเมืองหลวงของประเทศครั้งนี้

 

"ฉันทนไม่ได้ที่จะนั่งกินข้าว ดูทีวี อยู่ที่บ้าน ขณะที่คนอีกมากมายนั้นกำลังทุกข์ทรมาน ทั่วโลกก็เห็นว่า พระสงฆ์และคนพม่ากำลังถูกทารุณจากรัฐบาลทหาร แล้วเราจะนั่งดูดายอยู่ได้อย่างไร" ดอนน่าในวัยกว่า 50 กล่าวอย่างกระตือรือร้น

 

 

จากหน้าสถานทูตพม่า บน S Street, NW ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนผ่านสถานทูตเซอร์เบีย มุ่งหน้าไปยังสถานทูตจีน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากกันนัก เมื่อเหยียบย่างเข้าสู่บริเวณหน้าสถานทูตจีน ผู้ชุมนุมก็เปล่งเสียงร้องว่า "China China…Shame on you!" เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจีนสนับสนุนรัฐบาลพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้หยุดขายอาวุธให้รัฐบาลทหารพม่า 

 

"รัฐบาลทุกรัฐบาลในโลกนี้บอกว่า จำเป็นต้องมีอาวุธไว้เพื่อคุ้มครองประชาชน แล้วหลายๆ รัฐบาลก็หันกระบอกปืนเข้าใส่ประชาชน และขณะนี้ รัฐบาลทหารพม่าก็กำลังเข่นฆ่าประชาชนด้วยอาวุธที่มาจากจีน" หนุ่มน้อยนักศึกษาชาวจีนผู้หนึ่ง กรอกเสียงผ่านโทรโข่งซึ่งผู้นำการชุมนุมยื่นให้

 

"จริงๆ แล้ว มันเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกรัฐบาลในโลกนี้ เพราะทั่วโลกกำลังซื้อขายอาวุธกัน ส่งผ่านอาวุธกันไปทั่ว ทั้งสหรัฐ จีน อินเดีย เซอร์เบีย หรือไทย พวกเขาเป็นทางผ่านกระบอกปืนไปยังพม่าทั้งสิ้น" แม็กกี โฮลเดน นักศึกษาปริญญาโทชาวสหรัฐ วัย 25 ปี ตะโกนผ่านเครื่องเสียง ราวกับเชื่อว่าเสียงนั้นจะเดินทางไปยังรัฐบาลทั่วโลกได้

 

 

"No Peace…No Olympic in China"

 

"Boycott Made in China"

 

ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ทั่วโลกบอยคอตกีฬาโอลิมปิกซึ่งจีนกำลังจะเป็นเจ้าภาพและบอยคอตสินค้าจากประเทศจีน เพื่อให้กดดันให้จีนหยุดสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า ด้วยเชื่อว่าบทบาทของจีนจะเป็นแรงสำคัญในการผลักดันให้เกิดสันติภาพในพม่า

 

 

หลังจากนั้น พวกเขาก็เดินเท้าต่อไปยังสถานทูตอินเดีย ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่กี่ช่วงถนน ท่ามกลางแดดแรงยามบ่าย ในระหว่างทาง ผู้ชุมนุมได้ช่วยกันแจกจ่ายโปสเตอร์ สติ๊กเกอร์ให้แก่ผู้ผ่านไปมาและคนในรถบนท้องถนน ซึ่งตอบรับการรณรงค์ครั้งนี้ด้วยการบีบแตรต่อๆ กันไปอย่างคึกคัก

 

เบื้องหน้าสถานทูตอินเดีย คือรูปปั้นของ มหาตมะ คานธี สัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อสันติภาพแบบ "อหิงสา" ผู้ชุมนุมไปถึงที่นั่นพร้อมกับเสียงร้องว่า "India India…Shame on you!" อันเป็นการบอกรัฐบาลอินเดียว่า การสนับสนุนของรัฐบาลอินเดียที่ยังมีต่อรัฐบาลทหารพม่าซึ่งกำลังเข่นฆ่าประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่น่าละอาย 

 

"มหาตมะ คานธี บรรพบุรุษของเราปลดปล่อยคนอินเดียจากจักรวรรดินิยม และสอนให้ทั่วโลกรู้จักการต่อสู้อย่างสันติวิธี ขณะนี้ พระสงฆ์และคนพม่าซึ่งกำลังเรียกร้องเสรีภาพด้วยสันติวิธีกำลังถูกทารุณจากรัฐบาลทหาร เลือดของพวกเขากำลังนองแผ่นดิน แต่อินเดียก็ยังเพิกเฉยต่อเลือดของคนพม่า และมุ่งหน้าสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าต่อไป มันช่างน่าละอายยิ่งนัก" จิมมี่ ปรีติ นักธุรกิจชาวอินเดียซึ่งเกิดและเติบโตในอเมริกา กล่าวเบื้องหน้าอาคารสถานทูตอินเดีย

 

 

จากสถานทูตอินเดีย ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนกลับไปยังหน้าถานทูตพม่า เปิดการปราศรัยที่อีกครั้ง ก่อนจะยุติการการชุมนุมในเวลาราว 4 โมง พวกเขามีสีหน้ายิ้มแย้ม และไม่มีท่าทีของความท้อถอย ขณะที่นัดแนะกันเพื่อจะกลับมาชุมนุมอีกในวันต่อไป

 

ซัน ทิน ทิน หญิงสาวชาวพม่าวัยกว่า 30 ซึ่งแต่งงานกับชาวอเมริกันและย้ายมาตั้งรกรากที่สหรัฐอเมริกา บอกว่า เธอรู้สึกมีความหวังมาก เมื่อเห็นคนหลากหลายเชื้อชาติมาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ ทั้งคนอเมริกัน ยุโรป จีน อินเดีย และยิ่งเมื่อเธอรู้ว่า มีการชุมนุมเพื่อสนับสนุนคนพม่าเกิดขึ้นในหลายๆ เมืองทั่วโลก เธอยิ่งรู้สึกว่าคนพม่ามีพลังเพิ่มมากขึ้น

 

"พวกเขาเหล่านี้ที่ออกมาชุมนุมเพื่อคนพม่า ทำให้ฉันรู้สึกว่าพม่าไม่ได้โดดเดี่ยว และการต่อสู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากคนทั้งโลกจะได้รับชัยชนะในที่สุด" เธอกล่าวพร้อมสีหน้าเปื้อนยิ้ม

 

"แม่ของฉันที่เพิ่งเดินทางมาจากเมืองไทย บอกว่า มีการชุมนุมเพื่อสนับสนุนเสรีภาพของคนพม่าอย่างต่อเนื่องในกรุงเทพฯ เช่นกัน แม้จำนวนจะไม่มาก แต่ฉันเชื่อว่าเมื่อรวมกับพลังของคนตัวเล็กทั่วโลกแล้วมันจะมีพลัง และฉันอยากจะบอกกับทุกคนว่า...ขอบคุณมาก จากหัวใจจริงๆ"

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท