Skip to main content
sharethis

ไอเซล มาซาร์ด


สิงหาคม 2550


 


แปลและเรียบเรียง: พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์


 


 


ต้นปี 2550 สมาชิกระดับสูงในคณะกรรมการกลาง (โปลิตบูโร) ของพรรคคอมมิวนิสต์ลาวกล่าวกับสื่อมวลชนว่า พวกเขาอยากเห็นการตัดไม้ในเขตอนุรักษ์ของลาวหมดไปโดยสิ้นเชิง  นี่เป็นการเรียกร้องอย่างนุ่มๆ ให้มีการเปลี่ยนนโยบายที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสนับสนุนการตัดไม้ การทำการเกษตรและการปลูกป่าเชิงอุตสาหกรรมใน "เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ" ของลาว


 


ทว่าเหตุผลเบื้องหลังข้อกังวลนี้ (ที่มีการแถลงข่าวอย่างต่อเนื่องและรายงานโดยสื่อของรัฐบาลเอง) ไม่ใช่เรื่องการอนุรักษ์เสียทีเดียว  ดูเหมือนว่าการตัดไม้ในเขตอนุรักษ์ภู Khao Kuay นี้จะหนักหนามากเสียจนทำให้ระบบการไหลเวียนของน้ำในบริเวณนั้นลดน้อยลงไป ส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนผลิตไฟฟ้าสามแห่งภายในอุทยานลดต่ำกว่าการคาดการณ์


 


ระดับน้ำที่ลดต่ำลงนี้ทำให้การผลิตไฟฟ้าลดลงไปด้วย ไม่เพียงแต่กำไรหดหายไปเท่านั้น แต่ยังทำให้การชำระหนี้ที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนต้องฝืดเคืองไปด้วย  ดังนั้น ในประเทศที่เศรษฐกิจต้องพึ่งพาการส่งออกไม้มาตลอดตั้งแต่หลังสงคราม การเรียกร้องให้มีการอนุรักษ์ป่าไม้จึงมาจากภายในรัฐบาล ด้วยเหตุผลของการผลิตไฟฟ้าและภาวะการเงินของรัฐ


 


ความย้อนแย้งน่าขันนี้ไม่ใช่เรื่องจงใจ ไม่ว่าต้นไม้จะยืนหรือล้มไป คุณค่าของพวกมันก็ยังคงวัดเป็นดอลลาร์


 


ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ ข้อเสนออีกอันหนึ่งที่ให้รักษาป่าไม้ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่การนึกถึงคนอื่นก็ได้รับการตีพิมพ์ใน Juth Pakai วารสารภาษาอังกฤษของสหประชาชาติ  เป็นบทความชื่อ "การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ทางเลือกสำหรับการปลูกยางพาราบนพื้นที่สูงในเขตอนุรักษ์ Nam Ha, หลวงน้ำทา"( Juth Pakai, Issue 8, April 2007) สตีเวน ชิพานี ชี้ว่า จนถึงปี 2548 รัฐบาลลาวได้อนุมัติการตัดไม้เป็นพื้นที่ถึง 4,580 เฮคตาร์ภายในเขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเพียงแห่งเดียวเพื่อที่จะทำการปลูกยางพารา  ผลลัพธ์เห็นได้ชัดว่าเป็นที่พอใจของรัฐบาล จึงมีการอนุมัติให้ตัดไม้เพิ่มอีก 3,000 เฮคตาร์ในปี 2549


 


ชิพานีรวมตัวเลขรายได้จากต้นยาง เปรียบเทียบกับรายได้ปัจจุบันและที่คาดการณ์ว่าจะได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แล้วตั้งคำถามที่เห็นได้ชัด  เขาบอกว่า เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ได้รับความนิยมและทำเงินแห่งหนึ่งในเมืองสิงต้องปิดตัวลงหลังจากป่าไม้ถูกตัด เผา แล้วแทนที่ด้วยกล้ายาง โดยทั้งหมดเป็นพื้นที่ภายในเขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ  เขารายงานว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อื่นๆ ต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อหาพื้นที่ป่าบริสุทธิ์ โดยที่การปลูกยางและการทำการเกษตรแผ่ขยายไปเรื่อยๆ  ผมได้ยินคำบอกเล่าในเรื่องนี้จากบริษัท "เดินป่า" ด้วยเช่นกัน


 


ชิพานีบอกกล่าวอย่างนิ่มนวลที่สุดว่า การปลูกยางนั้นขัดกับคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 164 ปี 2536 ที่กำหนดความเป็นเขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ  แน่นอนว่า ไม่ได้หมายความว่าการปลูกยางเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ก็เหมือนกับในประเทศอื่นๆ นั่นล่ะ คือ รัฐบาลจะทำอะไรก็ล้วนถูกกฎหมายเสมอ


 


ข้ออ้างในเชิงเศรษฐศาสตร์ล้วนแล้วแต่ฟังไม่ขึ้นทั้งนั้น  เจ้าหน้าที่รัฐที่เห็นต่างอาจจะพูดถูกที่ว่า ในระยะยาวแล้วเขื่อนผลิตไฟฟ้าจะสร้างรายได้มากกว่าการตัดไม้ และชิพานีอาจจะพูดถูกว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์จะสร้างรายได้มากกว่ายางพาราเกรดต่ำ


 


อย่างไรก็ตาม ที่แน่ชัดก็คือตัดไม้วันนี้ จะมีคนได้เงินวันพรุ่งนี้ ผลประโยชน์ระยะสั้นของคนเหล่านี้จากการตัดสินใจที่ "ผิดพลาด" ตัดข้อพิจารณาอื่นๆ ไปเสียทั้งหมด


 


มาตรฐานการปฏิบัติที่บุกเบิกโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ก็คือ การสร้างถนนที่จะเชื่อมต่อลาวให้เป็น "ระเบียงทางเศรษฐกิจ" สำหรับจีนนั้นบรรลุได้โดยการมอบสิทธิในการทำไม้ให้แก่บริษัทก่อสร้าง  ถนนไปถึงไหน ต้นไม้ก็เรียบตรงนั้น


 


ในระยะปัจจุบันนี้ ป่าถูกเผาทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ  ในช่วงหลายเดือนก่อนฤดูมรสุมของปี 2550 ยิ่งมีการเร่งเผาทำลายป่าอย่างมโหฬารในภาคเหนือของลาวและไทย เพื่อ "จัดการให้เสร็จ" ก่อนซุงจะเปียก  ผมเองได้เห็นต้นไม้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกินหนึ่งเมตร สูงกว่าห้าเมตรจำนวนมาก ที่ถูกเผาทิ้ง เนื่องจากต้องเร่งรีบเคลียร์พื้นที่จนไม่ทันได้ชักลากออกมาขาย


 


การสูญเปล่าอย่างนี้อยู่พ้นตรรกะของทุนนิยม  มันเป็นผลจากการผลักดันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแต่ละปีเพื่อนำไปสู่ "เป้าหมายการพัฒนา" ของสหประชาชาติที่ตั้งไว้สำหรับปี 2663 (2020)  สื่อของรัฐก็ย้ำเตือนตลอดเวลาว่า การ "เคลียร์พื้นที่" นี้ (บางทีก็มีการย้ายชุมชนออกไปด้วย) เป็นส่วนหนึ่งของแผนระดับชาติที่จะ "ขจัดความยากจน" ที่พัฒนาขึ้นมาโดยบรรดาที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายของสหประชาชาติ  เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดและระดับชาติปักเครื่องหมายบนพื้นที่ป่าว่าเป็นพื้นที่ที่ "ไม่มีการใช้ประโยชน์" และมีการเก็บภาษีพิเศษรายปีสำหรับเจ้าของที่ดินที่ปล่อยให้ผืนดิน "ไม่มีการใช้ประโยชน์"  ถ้าปล่อยให้ถูกปรับไปต่อเนื่องหลายปี รัฐบาลก็จะยึดที่ดินนั้น  การถือครองที่ดินของเอกชนค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ในแถบนี้ โดยรัฐมีโครงการหลากหลายในการทำที่ดินให้เป็นสินค้า ตามโครงการ "ออกโฉนด(land titling)"ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลกและออสเตรเลีย  หลังจากการปฏิวัติเป็นต้นมา ไม่มีการถือครองที่ดินโดยเอกชนในชนบทของลาว  ดังนั้นแรงผลักดันจากภายนอกทำให้ป่าบริสุทธิ์กลายเป็นทุนทรัพย์สำหรับชาวบ้าน  ทุกคนพากันรีบเร่งที่จะทำลายแหล่งอาหาร ไม้ฟืนและสัตว์ป่าที่ตนต้องพึ่งพา


 


แน่นอน ไม้ "มีราคา" ถูกนำออกไปแล้ว ก่อนที่จะมีการเผา  แต่สิ่งที่ผมได้เห็น ขณะปั่นจักรยานท่องไปบริเวณทางเหนือสุดคือ ภูเขาไหม้เกรียมดำเป็นลูกๆ บางทีก็ยังเหลือไม้สูงยี่สิบเมตรยืนตายอยู่ต้นสองต้น


 


ควันจากการเผาป่ามีความหนาทึบเสียจนต้องมีการยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดระหว่างเวียงจันทน์และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของลาว (ห้วยไซ) เป็นเวลาประมาณสองเดือน  และกระทั่งเที่ยวบินมาหลวงพระบางของเหล่านักท่องเที่ยวก็ยังต้องรวนเรไปด้วย  บางกอกโพสต์รายงานว่าสนามบินบางแห่งในภาคเหนือของไทยที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงต้องใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำขึ้นไปในอากาศเพื่อล้างควัน


 


ในจังหวัด Xaiñabouli and Bokeo ที่อยู่ทางภาคเหนือได้มีการปลูกข้าวโพดพันธุ์อเมริกันมาเป็นเวลาแค่สี่ปี แต่มันก็ได้กลายเป็นผลผลิตอันดับหนึ่งและสินค้าส่งออก(ที่ถูกกฎหมาย)ของพื้นที่แถบนี้ไปแล้ว เนื่องจากไม้ซุงมีปริมาณลดลง  สองจังหวัดนี้เป็นถิ่นฐานของช้างป่าทุกขนาดที่อาจจะยังเหลือเป็นที่สุดท้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มันเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างจังหวัดน่านของไทยไปจนถึงแถบชายแดนตะวันออกของรัฐฉานในพม่า  สิ่งเดียวที่เคยปกป้องคุ้มครองพวกมันก็คือการไม่สามารถเข้าถึงและความยากจนของพื้นที่แถบนั้นนั่นเอง


 


นักนิเวศวิทยา (และนักประกอบการ) ชาวฝรั่งเศสสองคนได้จัดการแสดงช้างและแห่ช้างในเมืองหงสาเมื่อต้นปี 2550 เพื่อเรียกร้องให้มีการตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปกป้องแหล่งอาศัยของพวกมัน  หงสาเป็นเมืองที่อยู่ใจกลางแหล่งช้างที่กระจายอยู่รายรอบ มีช้างเลี้ยงที่เคยชักลากไม้แต่ตอนนี้ไม่มีงานทำอยู่จำนวนหนึ่ง


 


งาน "คาราวานช้าง" นั้นประสบความสำเร็จ แต่ทฤษฎีที่ว่านักท่องเที่ยวจะช่วยรักษาช้างได้นั้นพิสูจน์ให้เห็นอย่างรวดเร็วว่าไม่เป็นจริง  รัฐบาลลาวเริ่มป่าวประกาศแทบจะพร้อมๆ กันกับงานนั้นว่า จะต้องมีการโยกย้ายอพยพชาวนาจำนวนมากออกจากเมืองหงสา  เนื่องจากจะต้องใช้พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเอกชน  คำประกาศเน้นย้ำว่าผู้ลงทุนมีข้อตกลงที่จะสร้างถนนและวางระบบน้ำใหม่ให้กับเมือง (ที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว และ แน่นอน เพื่อ "ขจัดความยากจน") เพื่อแลกกับสัมปทานการใช้ที่ดิน  การพัฒนาอย่างหลังนี้จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของช้างมากกว่าเสียยิ่งกว่าควันไฟในอากาศ  โรงไฟฟ้าจะเผาถ่านหินลิกไนต์คุณภาพต่ำ นำเข้าข้ามชายแดนจากไทย  มันเป็นเชื้อเพลิงสกปรกเสียจนกระทั่งข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมอันน่าขันของไทยยังห้ามไม่ให้ใช้ในประเทศ


 


ตัวอย่างของ "การพัฒนา" เห็นได้ในภาคอีสานของไทย  คนส่วนใหญ่ในภาคอีสานของไทยมีเชื้อสายลาว  ภาษาที่ใช้พูดกันคือลาว แม้ว่าจะได้เรียนอ่านเขียนไทย  ข้อแตกต่างสำคัญก็คือ อีสานเป็นที่ที่อเมริกันสร้างสนามบินเพื่อขนระเบิด และลาวก็คือที่ที่นักบินหย่อนระเบิดลงไป ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างย่อยยับกว่า 35 ปีมาแล้ว และส่งผลให้เกิดความแตกต่างทางเศรษฐกิจมาจนถึงทุกวันนี้


 


นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมคนหนึ่งบอกผมว่า ตอนนี้ภาคอีสานมีพื้นที่ป่า "ไม่ถึง 2%"  จากประสบการณ์ตรงของผมเอง ก็ยืนยันได้ว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นและคาดว่าลาวในอนาคตก็จะเหลือเท่านี้ด้วย  อันที่จริง โครงการของรัฐบาลลาวนั้นเป็นการทำลายป่าหมดทั้ง 100%  แต่สื่อของรัฐบาลบอกว่ารัฐบาลกำลังเพิ่มพื้นที่ป่า  ลูกเล่นก็แค่ว่านิยามให้ "ป่า" เท่ากับ "ต้นไม้อะไรก็ได้"  ผมว่าคงไม่ต้องนอกเรื่องไปถึงว่าการปลูกต้นไม้(ที่ไม่ใช่พื้นเมือง)อย่างยางและมะละกอนั้นไม่ได้เท่ากับเป็นการปลูกป่า ที่แน่ๆ ไม่ใช่สำหรับช้าง


 


เมื่อมองเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นกับอีสานในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันในลาวแสดงให้เห็นว่า การจำแนก "คอมมิวนิสต์" กับ "ทุนนิยม" นั้นไม่เป็นประเด็นแล้วในยุควิกฤตทางนิเวศยุคนี้  ผมเคยเห็นคนแต่งชุดประจำเผ่าแบกยาฆ่าแมลงบนหลัง เดินตีนเปล่าเข้าไปยังทุ่งนา เพื่อฉีดสารพิษเหล่านั้นลงบนพืชที่พวกเขาปลูกเป็นครั้งแรก  การเพาะปลูกแบบอินทรีย์ที่ดำเนินมานับพันปีจึงจบลง  ในเบื้องลึก พวกเขามองไม่เห็นว่ามันเป็นจะเป็นปัญหาอะไร มันเป็นการกระทำที่สมเหตุสมผลตามความคิดที่ว่า "ไล่ให้ทันประเทศไทย"


 


ผมคงจะโทษรัฐบาลลาวไม่ได้สำหรับสถานการณ์ที่กำลังเป็นไป  มองลงไปตามลำน้ำโขง ผมมองไม่เห็นประโยชน์ของระบอบฉ้อฉลที่สหประชาชาติสถาปนาขึ้นในกัมพูชา  หรือทั้งนึกไม่ออกว่าระบอบเผด็จการทหารจำแลงที่ปกครองไทยอยู่ในเวลานี้จะน่าพิสมัยมากกว่า  เปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านอื่นของลาว (จีน พม่า เวียดนาม) แล้ว ก็ยังนับว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่นี่ดีกว่า ถึงเป็นเหตุผลว่าทำไม UNDP จึงกระตือรือร้นที่จะยัดเงินเข้ามานัก  คุณงามความดีแบบแปลกๆ ของรัฐบาลลาวสามารถสรุปในสำนวนของสหประชาชาติได้ว่ามี "ศักยภาพสูง" ที่จะ "ดูดซับความช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิผล" แปลได้ว่า ถ้าคุณให้เงินแก่พวกเขา มันก็จะไม่หายไปดื้อๆ หรอก


 


แนวการพัฒนาในปัจจุบันนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินและวางแผนภายใต้ความอุปถัมภ์ของ UNDP และองค์กรทั้งหลายของสหประชาชาติ  ด้วยคาถา "ขจัดความยากจน" จริงๆ แล้ว พวกเขากำลังขจัดทรัพยากรธรรมชาติต่างหาก


 


อิทธิพลของสหประชาชาติที่นี่ทั้งกว้างขวางและลึกซึ้ง  ผมถามเจ้าหน้าที่ลาวแทบทุกคนที่เจอว่าพวกเขาเชื่อว่าการปลูกอ้อยได้ขจัดความยากจนที่ไหนมาบ้างแล้วหรือยัง


 


ผมพูดถึงอะไร?  ก็ ที่เฮติ ที่นั่นมีประสบการณ์ปลูกอ้อยมา 300 ปีแล้ว  ทั้งรัฐบาลและองค์กรพัฒนาต่างๆ พากันสนับสนุนการปลูกอ้อยเพื่อ "ขจัดความยากจน" ในลาว แต่ความยากจนที่นั่นถูกขจัดไปหรือเปล่า หรือที่ไหน?  คงยากที่จะพูดให้เกินจริงเรื่องความแปลกแยกหลุดโลกของแนวคิดนี้ที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลของที่นี่  พวกเขาไม่มีการประเมินเปรียบเทียบหรือพิจารณาเชิงประวัติศาสตร์เลยในเรื่อง "การพัฒนา" อย่าว่าอย่างนั้นเลย เอกสารสหประชาชาติก็ไม่มีพูดถึงเรื่องแบบนี้เลยเท่าที่ผมเห็นสำหรับประเทศลาว  แค่ทึกทักเอาดื้อๆ เลยว่ายาง, อ้อย, กาแฟ ฯลฯ จะขจัดความยากจนได้ เพราะสหประชาชาติบอกอย่างนั้น  ในบรรดาประเทศรายการยาวเหยียดที่ปลูกพืชเหล่านี้แล้ว ซึ่งโดยมากมักจะมีสาเหตุจากการเป็นอาณานิคม ความยากจนไม่ได้ถูกขจัด แต่โดยมากสร้างสภาพคล้ายทาสให้เป็นไปอย่างยั่งยืนเสียมากกว่า  ประวัติศาสตร์ดังกล่าวไม่เป็นที่รู้จักหรือไม่ก็เห็นว่าไม่เป็นประเด็น  การดำเนินการในปัจจุบันถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะว่าเป็นการดำเนินการภายใต้มนุษยธรรมของสหประชาชาติ ไม่ใช่ลัทธิล่าอาณานิคม


 


ธงวิเศษสีน้ำเงิน(ของสหประชาชาติ)นั้นจะป้องกันไม่ให้การปลูกยางและอ้อยย้อนกลับไปสู่ความไม่เท่าเทียม(ระหว่างเจ้าของที่ดินและคนที่ทำงานในไร่) ดังที่เคยเกิดตั้งแต่ศตวรรษที่ 17ได้หรือไม่?


 


บางทีข้อวิจารณ์ต่อ UNDP ที่ผ่านตาผู้คนมากที่สุดในลาวมาจากลูกจ้างคนหนึ่งของพวกเขาเองในปี 2540 และสร้างความฮือฮาขึ้นมาระยะสั้นๆ ในเวียงจันทน์


 


บทความ "The Laos Logos" ของเบอร์ลินสกีในเนชันแนลรีวิว เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและข้อสังเกตส่วนตัวเกี่ยวกับความตอแหลทั้งใหญ่และเล็ก แต่ผมไม่เห็นด้วยกับทิศทางของบทความโดยพื้นฐาน  ประเด็นหลักของเธอดูเหมือนจะเป็นว่า องค์กรต่างๆ ของสหประชาชาติไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายที่น่าชื่นชมได้  เบอร์ลินสกียกสถิติทางสังคมต่างๆ มากมายขึ้นมาแสดง ซึ่งดูน่ากลัวหากยกออกมานอกบริบท เปรียบเทียบกับความสมบูรณ์พูนสุขของลูกจ้างสหประชาชาติเองในท่ามกลางความข้นแค้น  อันที่จริง การยกระดับในสถิติทางสังคมต่างๆ นั้นเป็นการพิสูจน์ถึงการลงทุนของ UNDP จากมุมมองเสรีนิยมอันจำกัดตามแบบฉบับบทบรรณาธิการที่พบได้บ่อยๆ ในหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน  ในระหว่างปี 2538 ถึง 2548 อายุขัยโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 10 ปี และจำนวนบ้านที่มีไฟฟ้าเพิ่มมากกว่าสองเท่าจาก 25% เป็น 57% พร้อมกันกับสัดส่วนประชากร "ในเมือง" เพิ่มจาก 17% เป็น 27.1%


 


การสำรวจประชากรทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงความคุ้มต่อการลงทุนลงแรงของสหประชาชาติ ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในลาว และได้ผลตามอย่างที่ต้องการ  กรรมกรในเมืองแทนที่พรานล่าสัตว์และคนหาของป่า การเกษตรยังชีพพื้นเมืองถูกแทนที่โดยวิธีการใหม่  คำถามที่ทั้งเบอร์ลินสกีหรือเดอะการ์เดียนดูเหมือนจะไม่ได้ถามก็คือ เป้าหมายอย่างที่ว่านั้นน่าปลื้มจริงหรือไม่ หรือว่ามันจะกลายเป็นการสร้างชุมชนสลัมขึ้นมาตามฝั่งลำน้ำโขงแทน


 


ตัวแบบ "การพัฒนาเศรษฐกิจ" ของสหประชาชาตินั้นมองความยากจนเป็นปัญหาสังคมที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการอุตสาหกรรมโดยการลงทุนจากต่างชาติ  สมมติฐานนี้จะไม่มีวันได้รับการตั้งคำถามจากรัฐบาลใดๆ เนื่องจากเป็นผลประโยชน์ของรัฐที่ต้องยืนยันว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นทรัพย์สมบัติของรัฐ นั่นคือ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอยู่ในอำนาจของพวกเขา ไม่สำคัญว่าจะมีมนุษย์หรือสัตว์ใดๆ ที่อาจขวางทางเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้อยู่  ท่วงทีเสแสร้งมีมนุษยธรรมของนักปฏิวัติต่างๆ ตั้งแต่อัฟริกาใต้จนถึงอินเดีย ต้องพังพาบไปด้วยสาเหตุผลประโยชน์ส่วนตัวง่ายๆ นี้


 


การ "ขจัดความยากจน" ของ UNDP นี้จริงๆ แล้วเป็นการสร้างความยากจนขึ้นมาใหม่ ตามแบบที่ชาวตะวันตกเคยเป็นมาในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม  รายงานเกี่ยวกับประเทศลาวของเอดีบีในปี 2544 สรุปตัวเลขสถิติเหล่านี้ด้วยถ้อยความห้วนๆ อย่างน่าประหลาดใจว่า ความมั่งคั่งใหม่ที่เกิดในทศวรรษที่แล้วนั้นตกอยู่กับชนชั้นนำ มากกว่าที่จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนยากจน (ที่มีจำนวนมากขึ้น) ซึ่งไม่มีใครประหลาดใจเลย


 


นี่คือการตัดไม้ทำลายป่าในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้คนที่ไม่เคยได้รู้จักความร่ำรวยหรือความยากจนมาก่อน ตอนนี้ถูกจัดจำแนกเข้าไปอยู่ในระบบการขูดรีดที่ไม่คุ้นเคย ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขาเคยพึ่งพาถูกฉกฉวยไปเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับคนอื่น


 


รายงานปี 2547 ของคริส ลิตเติลตัน(Watermelons, Bars and Trucks…) แสดงกระบวนการนี้อย่างเห็นภาพชัดเจน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เขาเรียกว่า "การทำให้เป็นกรรมาชีพ (proletarianization)" และ "การทำให้เป็นสินค้า (commodification)" ที่กระทำต่อคนพื้นเมือง  ป่าไม้สูญไปพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของแรงงานในโรงงานสิ่งทอในเมือง  การลงทุนจากต่างชาติหมายความว่าทั้งเสื้อผ้าและกำไรจะต้องถูกส่งไปนอกประเทศ  นี่ผมต้องพูดอะไรอีกไหม?


 


ความยากจนไม่ใช่อุบัติเหตุอัคคีภัยที่สามารถ "ดับได้" อย่างที่สหประชาชาติมักจะบอกเสมอมา  ความยากจนเป็นรากฐานของความมั่งคั่งของโลกใบนี้  ทั้งสองสิ่งนี้เป็นปฏิภาคกัน คนรวยสร้างความยากจน ขณะเดียวกันคนจนก็สร้างความร่ำรวย  การพัฒนาสร้างความมั่งคั่ง และสร้างความยากจนด้วย  ยากที่จะเชื่อได้ว่าแรงงานที่จะทำงานในไร่อ้อยหรือสวนยางของลาวในอนาคตจะ "ไม่ยากจน" เทียบกับสังคมชนเผ่าที่หาเลี้ยงชีพกับผืนป่าที่ยังหลงเหลืออยู่  กระนั้นนี่ก็เป็นพื้นฐานของ "การพัฒนา"  และสื่อกระแสหลักก็ดูจะกระตือรือร้นในการสื่อเรื่องนี้อย่างผิดๆ ว่า เป็นเรื่องผิวเผิน เป็นเรื่องการกุศลที่โลกจะต้องให้การสนับสนุน


 


 


-----------------------------


แปลจากบทความ 100% Deforestation in Principle and Practice: Lao P.D.R., South-East Asia โดย Eisel Mazard


 


เกี่ยวกับผู้เขียน


 


"ไอเซล มาซาร์ด" เป็นนักวิชาการภาษาบาลี มีเว็บไซต์ www.pali.pratyeka.org  เขาเคยทำงานในชนบทลาว สอนภาษาอังกฤษให้กับนักพัฒนาการเกษตร ขณะนี้ไม่ได้ทำงานที่ลาวแล้ว จึงสามารถเผยแพร่บทความชิ้นนี้ได้ (เขียนร่วมกับนักศึกษาปริญญาเอกรายหนึ่ง) และกำลังหางานอาสาสมัครที่เกี่ยวกับผู้อพยพ (จากรัฐฉาน) ตามแนวพรมแดนไทย-พม่า หากหาไม่ได้ก็ตั้งใจจะไปทำงานที่กัมพูชา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net