Skip to main content
sharethis

11 ตุลาคม 2550


 


เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ได้มีการนัดประชุมวาระพิเศษ (Special Session) ในประเด็นสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าหลังจากได้มีการปราบปรามพระและผู้ชุมนุมที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย


 


การที่พม่าเข้าไปสู่ในวาระพิเศษนี้นับว่าเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งของขบวนการเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยในพม่า กระบวนการผลักดันนี้เกิดขึ้นโดยที่รัฐบาลโปรตุเกสและสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิฯ อีก 17 ประเทศได้เรียกร้องให้ประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนตั้งวาระพิเศษนี้ขึ้นมาพร้อมกับการเรียกร้องจากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลก  เพื่อนำสถานการณ์ในประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนตัวเอง จนทำให้มีผู้ลี้ภัยมากกว่าล้านคนทั่วโลก และผู้ผลัดถิ่นในประเทศ (Internally Displaced Persons)  หลายร้อยล้านคน จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดหนักให้เป็นวาระสากล และเป็นการเกิดขึ้นครั้งแรกที่นำประเด็นสิทธิมนุษยชนในเอเชียเข้าไปในวาระพิเศษเนื่องจากที่ผ่านมาคล้ายกับว่ากรณีสิทธิมนุษยชนในเอเชียถูกปลีกออกไป เนื่องจากในวาระที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาเพียงแค่กรณีซูดาน เลบานอน และปาเลสไตน์


 


จากการประชุมหนึ่งวันเต็มนี้เราได้เห็นข้อแถลง (intervention) ของรัฐบาลหลายประเทศที่เป็นไปในแง่บวกในการตอบรับกับสถานการณ์การปราบปรามประชาชน ประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปได้มีจุดยืนที่ร่วมกัน เช่น ประนามความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร เรียกร้องให้มีการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย เรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายอมรับให้ศาสตราจารย์พอลโล เซอร์จีโอ พินเฮโร (Paulo Sergio Pinheiro) ผู้ตรวจสอบพิเศษกรณีสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่าสามารถเข้าไปตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ซึ่ง ศจ.พอลโลในฐานะเป็นผู้ตรวจสอบพิเศษที่กรรมาธิการสิทธิมนุษยชน (Commission of Human Rights) ได้แต่งตั้งขึ้นมาไม่สามารถเข้าไปพม่าได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 เนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าปฎิเสธที่จะให้วีซ่า - ซึ่งนับว่าเป็นการแสดงตัวเป็นปฎิปักษ์กับกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ


 


ข้อแถลงที่มีพลังมากที่สุดอันหนึ่ง คือ โดยผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติของประเทศสวีเดน ซึ่งได้อยู่ในร่างกุ้ง ในเวลาที่รัฐบาลทหารได้ใช้ความรุนแรงกับประชาชนได้ให้ข้อมูลชัดเจนกับคณะมนตรีฯ เกี่ยวกับการปราบและสลายการชุมนุมกับผู้ชุมนุมและพระสงฆ์อย่างทารุณ และรวมถึงเหตุการณ์ที่ประชาชนถูกไล่ยิงในตรอกกลางเมืองโดยเจ้าหน้าที่ทหาร


 


ฑูตของประเทศญี่ปุ่นได้กล่าวว่าการสังหารประชาชนเป็นเหตุการณ์ที่ทารุณและเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าหยุดการใช้กองกำลังที่กดขี่ประชาชน ในขณะที่ประเทศที่อยู่ห่างไกลเหตุการณ์อย่างมอริเชียส (Mauritius) แสดงจุดยืนว่า "ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะไม่ยอมที่จะเห็นรัฐบาลใด ๆ สังหารประชาชนที่เรียกร้องเพียงแค่เสรีภาพและความยุติธรรม"


 


แม้ว่าการแถลงจากประเทศต่าง ๆ มากกว่า 50 ประเทศประนามการสลายการชุมนุมของรัฐบาลเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นและแสดงให้เห็นว่าประชาคมโลกกำลังติดตามสถานการณ์ในพม่าอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามผลที่ได้ออกมาจากวาระพิเศษหรือมติ (resolution) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ นี้ยังต่ำกว่าความคาดหวังของนักกิจกรรมพม่าและองค์กรสิทธิมนุษยชนมาก เนื่องจากมติของคณะมนตรีฯ ไม่ได้มีประเด็นที่เป็นรูปธรรมในการหยุดความรุนแรงโดยรัฐบาลพม่า


 


มตินี้เพียงพูดถึงประเด็นเพียงแค่การประนามการกระทำของเหล่านายพลทหาร ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่มีความเข้มแข็งเนื่องจากไม่ได้มีการพูดถึงกระบวนการที่จะนำไปสู่การนำคนเหล่านี้มาลงโทษเลย ซึ่งมติเช่นนี้คล้ายคลึงกับมติเก่าๆ ที่เคยออกโดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Commission on Human Rights) ซึ่งเป็นกลไกสิทธิมนุษยชนของโลกในอดีตก่อนมีการก่อตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนในปี ค.ศ. 2006 


 


แม้ว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคและระดับสากลได้มีการเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ประกอบไปด้วยผู้รายงานพิเศษจากหลากหลายประเด็น (Thematic-based Special Procedures) ในการเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ และทีมอิสระติดตามสถานการณ์ที่จะถูกตั้งขึ้นภายในประเทศพม่าเพื่อค่อยติดตามสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่มตินี้เพียงแต่พูดถึงการเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์โดยผู้รายงานพิเศษ


 


ในมุมมองของเรา แม้ว่ามติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนนี้จะไม่ใช่สิ่งที่องค์กรสิทธิมนุษยชนหวังจะให้เป็น แต่ประเด็นที่เรียกให้ "ผู้ตรวจสอบพิเศษเข้าไปประเมินสถานการณ์ในประเทศพม่า" ก็ยังเป็นประเด็นที่สำคัญในการพัฒนาสิทธิมนุษยชนของประเทศพม่า ดังนั้นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนในเอเชีย และในอาเซียนซึ่งประกอบไปด้วยประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียต้องร่วมกันกดดันให้รัฐบาลทหารพม่ายอมรับให้ ศจ.พินเฮโรเข้าไปในพม่า อาเซียนไม่สามารถอ้างถึงนโยบาย "หลักการไม่แทรกแซง" (Non-interference policy) ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของอาเซียนกำลังเข่นฆ่าประชาชนที่ต่อสู้มือเปล่าเพื่อประชาธิปไตย


 


ล่าสุดนี้ได้มีรายงานออกมามากมายเกี่ยวกับความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นหลังจากการปราบผู้ชุมนุม เราได้เห็นรายงานอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับยอดผู้เสียชีวิตที่มีมากกว่า 1,000 คนซึ่งขัดกับรายงานของรัฐบาลทหารอย่างสิ้นเชิง


 


การเข้าไปในพม่าของ ศจ.พินเฮโรดังนั้นจะมีความสำคัญมากเพราะตอนนี้ได้มีข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการเข้าไปจับกุมประชาชนกลางดึกจากบ้านหลังหนึ่งสู่บ้านอีกหลังหนึ่ง โดยมีเป้าหมายคือประชาชนที่ได้ออกมาชุมนุมในปลายเดือนที่ผ่านมา การให้ปากคำของนายพันของรัฐบาลทหารพม่าที่กำลังลี้ภัยไปประเทศนอร์เวย์ที่กล่าวว่าประชาชนและพระสงฆ์ได้ถูกฆ่าจำนวนมากก็แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของรัฐบาลพม่าให้ประชาคมโลกได้เห็นอีกครั้ง 


 


นอกจากนี้ กลุ่มขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวพม่าผลัดถิ่นก็ได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการหายตัวไปของพระสงฆ์จากท้องถนนหลังจากการปราบผู้ชุมนุมซึ่งกำลังสร้างข้อวิตกหลายอย่าง ดังนั้นการเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโดยผู้รายงานพิเศษจึงเป็นส่วนสำคัญในการอุดช่องว่างเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศพม่า


 


ประชาชนพม่าได้เสียสละแต่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างมากเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ประชาคมโลกโดยเฉพาะสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติไม่ควรทำให้พวกเขาผิดหวังหรือรอมากเกินไปกว่านี้


 


ภูมิหลัง


 


คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) เป็นกลไกทางด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติที่ถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2006 แทนที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Commission for Human Rights)


 


คณะมนตรีสิทธิฯ ประกอบด้วยสมาชิก 47 ประเทศที่ได้รับเลือกจากประเทศสมาชิก การปฎิรูปโครงสร้างจากคณะกรรมธิการเป็นคณะมนตรีฯ นี้ทำให้กลไกสิทธิมนุษยชนเป็นเอกภาพมากขึ้นเนื่องจากในอดีตประเด็นสิทธิมนุษยชนแม้ว่าเป็นหนึ่งในสามเป้าหมายของการก่อตั้งสหประชาชาติ คือ สิทธิมนุษยชน สันติภาพ และการพัฒนา (Human Rights, Peace, and Development) ไม่ได้รับความสำคัญ เนื่องจากคณะกรรมาธิการฯ ต้องรายงานต่อคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN Economic and Social Council) แต่หลังจากการปฎิรูปเป็นคณะมนตรีสิทธิฯ นี้ทำให้รายงานโดยตรงต่อสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติ (UN General Assembly) ได้เลย


 


นอกจากนี้ยังมีการสามารถเรียกประชุมวาระพิเศษ (Special Session) ได้ทันที เช่น เดียวกับที่มีการเรียกประชุมวาระประเทศพม่าเพื่อเป็นการตอบสนองกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศใดประเทศหนึ่งให้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังมีกระบวนการใหม่ซึ่งเรียกว่ากระบวนการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Reviews) โดยที่ทุกประเทศต้องผ่านการตรวจสอบนี้


 


ส่วนผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur) เป็นกลไกที่ถูกก่อตั้งโดยคณะกรรมกาธิการสิทธิมนุษยชนฯ ในการตรวจสอบ ติดตาม ให้ข้อแนะนำ และเผยแพร่รายงานกรณีสิทธิมนุษยชน โดยปัจจุบันนี้มีผู้รายงานพิเศษจำนวน 38 ตำแหน่ง ประกอบไปด้วยผู้รายงานพิเศษติดตามสถานการณ์ในประเทศ (Country-specific Special Procedures) 10 ประเทศ และ ผู้รายงานพิเศษติดตามสถานการณ์ตามประเด็น (Thematic-specific Special Procedures) 28 ประเด็น


 


ในเอเชียมีผู้รายงานพิเศษติดตามสถานการณ์ในประเทศอยู่ 3 ประเทศ คือ พม่า เกาหลีเหนือ และกัมพูชา โดยผู้รายงานพิเศษเหล่านี้สามารถรับข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากผู้ถูกละเมิด องค์กรสิทธิมนุษยชน ได้โดยตรงและจะมีหน้าที่ในการคำร้องเรียน (urgent appeal) ถึงรัฐบาลต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการสามารถเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศนั้น ๆ ได้


 


แต่สำหรับกรณีพม่า รัฐบาลทหารพม่าปฎิเสธที่จะให้ศาสตราจารย์พอลโล เซอร์จีโอ พินเฮโร ผู้ตรวจสอบฯ กรณีสิทธิมนุษยชนในพม่าเข้าไปตรวจสอบตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา


 


ในประเทศไทย ผู้รายงานพิเศษกรณีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Special Representative on the UN Secretary-General on Human Rights Defenders) ได้เดินทางมาตรวจสอบสถานการณ์กรณีการละเมิดสิทธินักปกป้องสิทธิมนุษยชนในปี ค.ศ. 2003


 


อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติ่มเรื่องคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติดูที่ http://www.ohchr.org/


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net