Skip to main content
sharethis

แทบไม่ได้ยินเสียงอะไรแล้วนอกจากเสียงของกระสุนปืนและระเบิดที่เปรี้ยงปร้างตูมตามตามรายวันแล้วเลยผ่านไป สถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้คล้ายจะสงบเรียบร้อยขึ้นไปทุกที บนหน้าหนังสือพิมพ์หรือจอทีวีต่างพากันนำเสนอข่าวคราวการจับกุมกลุ่มผู้ก่อการได้มากขึ้นจนเหมือนจะชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่รัฐสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หมด หากไม่มีสถานการณ์รายวันที่เล็ดรอดออกมาสู่สังคมที่กระหายตื่นเต้นในการเสพข่าวแบบอาชญากรรมแล้วล่ะก็คงคิดได้ว่า 3 จังหวัดภาคใต้วันนี้กำลังหวนกลับไปสู่ความสงบเรียบร้อยเหมือนเมื่อ 3 ปี ก่อนในอีกไม่ช้า


 


แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ !!?


 


ในความเงียบงันคงไม่ได้หมายความว่าไม่มีเสียงใด เพียงบางครั้งความเคยชินต่อสถานการณ์อาจทำให้ไม่ได้ยินเสียงอะไรเพราะชินชา ขณะเดียวกันยังอาจมีใครบางคนดอดเอามือไปปิดป้องเสียงไว้จึงทำให้สำหรับ 3 จังหวัดภาคใต้มีแต่เสียงปืน เสียงระเบิด และเสียงจากฝั่งรัฐที่กลบเสียงของผู้คนอื่นๆใน 3 จังหวัดไว้หมด


 


แต่จากการพูดคุยกับนักวิชาการจากศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้ชายแดนภาคใต้ หรือ Intellectual Deep South Watch (IDSW) ท่านหนึ่ง (ประชาไทขอสงวนนาม) พบว่ายังมีเสียงอีกมากมายที่ถูกกลบหายไป ในขณะที่เสียงที่หายไปนั้นยังทรงคุณค่าความหมายและอาจเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความสงบที่แท้จริงหากเปิดใจรับฟัง แม้มันจะคงยังไม่ใช่ในเวลาอันใกล้นี้แน่


 


ความรุนแรงที่เปลี่ยนเป้า


นักวิชาการจาก IDSW บอกกับ "ประชาไท" ว่า ปัจจุบันมีภาคประชาสังคมภาคใต้ 3 แห่งจัดทำข้อมูลสถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้น ได้แก่ รายงานสถานการณ์การเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Violence-related Injury Surveillance - VIS) จัดทำโดยนักวิชาการคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สื่อมวลชน และ IDSW พบสถิติสอดคล้องกันว่า ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2550 คือมกราคม- มิถุนายน มีสถานการณ์เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนครั้ง จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ และจำนวนผู้เสียชีวิต โดยผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของทหาร ตำรวจ ที่รองลงมาคือกลุ่มชาวบ้าน แต่ข้อมูลของเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ที่ผ่านมา สถิติเปลี่ยนไปคือแม้จำนวนครั้งของการเกิดเหตุยังเพิ่มขึ้น แต่จำนวนครั้งที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตนั้นลดลง คือค่อนข้างหนักไปทางตัดต้นไม้ เผาบ้าน เผาโรงเรียน เผาตู้โทรศัพท์


 


อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนครั้งของการเสียชีวิตและบาดเจ็บลดลงนี้แต่จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ไม่ได้ลดลง หมายความว่ามีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในการก่อเหตุต่อครั้ง ในขณะที่สัดส่วนของกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตนี้ก็ได้เปลี่ยนจากตำรวจทหารมาเป็นชาวบ้าน


 


นักวิชาการคนเดิมได้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนไปนี้ว่า อัตราการตายหรือบาดเจ็บมันเพิ่มขึ้นและยิงแม่นขึ้น อัตราการใช้ระเบิดน้อยลง ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากการยิงมีประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ และประเด็นที่เป็นคำถามสำคัญของนักวิชาการท่านนี้คือ "ใครยิง!"


 


สิ่งที่เขารู้และยืนยันได้ในเวลานี้ก็คือมันยิงแม่นขึ้นเท่านั้นเอง


 


"ในข้อมูลที่เราทำไม่ตอบไม่ได้หรอกว่าใครยิง เรารู้แค่ว่ามีคนไปยิงแล้วก็ยิงแม่นขึ้น คนที่ถูกยิงเปลี่ยนไปจากตำรวจ ทหารมาเป็นชาวบ้าน" เขากล่าว


 


ยุทธการเปลี่ยน "เป้า" ก็เปลี่ยนตาม


นักวิชาการ IDSW ท่านเดิมได้ตั้งข้อสังเกตห์ถึงสาเหตุของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบเดือน กรกฎาคม - สิงหาคมว่า ในรอบ 3 - 4 เดือนที่ผ่านมานี้ค่อนข้างชัดเจนว่าฝ่ายทหารได้เปิดยุทธการปิดล้อมหมู่บ้าน ตรวจค้น จับกุม แบบทุกหมู่บ้าน หากเจอผู้ต้องสงสัยตามบัญชีรายชื่อก็จะจับกุม นั่นรวมไปถึงเมื่อค้นเจอสิ่งผิดปกติในบ้านด้วย


 


วิธีการหนึ่งที่นำมาใช้คือการตรวจเขม่าดินปืนจากเครื่องตรวจเขม่าดินปืนที่สามารถดูได้ว่าไปผุ้ต้องสงสัยไปสัมผัสดินปืนมาหรือไม่ ถ้ามีจะถูกจับไปสอบ กลวิธีนี้มีส่วนสำคัญต่อสถานการณ์โดยรวมที่ทำให้จำนวนครั้งที่เกิดเหตุมีผลกระทบต่อผู้คนน้อยลง ภาพรวมแล้วจึงถือว่าวิธีนี้ได้ผล แต่การที่ยังมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นก็นำไปสู่การวิเคราะห์ได้ 2 แบบ


 


แบบแรกคือ ฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบหันมาเล่นงาน Soft Target หรือกลุ่มชาวบ้านแทนกลุ่มทหารหรือตำรวจเพื่อเป็นการตอบโต้ยุทธการปิดล้อมตรวจค้น


 


ส่วนสมมติฐานอีกแบบหนึ่งอาจมองได้เช่นกันว่าเป็นไปได้ที่ฝ่าย "รัฐ" เองใช้วิธีการจัดการไปตามบัญชีรายชื่อ


 


สำหรับการใช้เครื่องตรวจเขม่าดินปืนนั้น นักวิชาการ IDSW ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการใช้ Lab ตรวจเป็นเพียงองค์ประกอบในการช่วยยืนยันในสิ่งที่หมอคิดตามหลักการแพทย์เท่านั้นแต่ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าผู้ต้องสงสัยผิดเพราะมันมีโอกาสคลาดเคลื่อน ถ้าฝ่ายทหารไม่เข้าใจ เช่น ตรวจพบดินปืนจากคนบางคน แม้เป็นเรื่องถูกต้องว่าตรวจพบดินปืน แต่การจะบอกว่าคนดังกล่าวอยู่ในขบวนการก่อความไม่สงบหรือไม่นั้นต้องไปสอบหาความจริงอีกที สรุปไม่ได้ว่าถ้าตรวจเจอเขม่าดินปืนแล้วคือคนในขบวนการ เครื่องมือเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบในการตัดสินถูกผิดเท่านั้น


 


แต่เนื่องจากสถานการณ์ในภาคใต้อาจมองได้ว่าเป็น "สงคราม" ไปแล้วจึงมีโอกาสที่จะจับคนผิดตัวมากขึ้น ดังนั้น กรณีการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม จึงเป็นการสร้างเงื่อนไขแบบหนึ่ง ในระยะสั้นวิธีนี้สามารถลดจำนวนครั้งของการก่อเหตุได้ แต่ในระยะยาวถ้าทำได้ไม่ดี เช่น จับกุมแบบไม่รัดกุมพอ การตรวจค้นโดยใช้จิตวิทยาน้อยเกินไปจะกลายเป็นการสร้างเงื่อนไข แต่เวลานี้ทางฝ่ายทหารก็รู้และได้พยายามใช้จิตวิทยาใช้การตรวจค้นจับกุมที่มีคุณภาพขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก อย่างไรก็ตามการตรวจค้น จับกุม ก็ยังเป็นภาพของการบุกรุกบ้านคนอื่น ความไม่พอใจก็ย่อมมีขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา


 


ยุทธวิธีรุกพื้นที่ด้วยการสร้างความระแวง


การพูดคุยกับนักวิชาการจาก IDSW ได้ทำให้ทราบถึงวิธีการที่ทหารกำลังใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ คือ การสลายโครงสร้างองค์กรลับด้วยการกวาดจับเพื่อทำให้เกิดความหวาดหวั่น สงสัยและแตกแยกกันเอง โดยทหารเชื่อว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสลายโครงสร้างองค์กรลับ อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่าวิธีการแบบนี้อาจจะกลายเป็นอันตรายในระยะยาว


 


"ยุทธวิธีการกวาดล้างจับกุมบ่อยครั้งทำให้คนในพื้นที่ไม่ว่าคนพุทธ คนมุสลิม หรือแม้แต่ข้าราชการรู้สึกหวั่นใจมากขึ้น เช่น ถ้าเป็นคนไทยพุทธหรือข้าราชการจะรู้สึกกังวลว่าฝ่ายขบวนการจะตอบโต้หรือไม่ ส่วนคนมุสลิมจะก็รู้สึกว่าเจ้าหน้าที่จะมาจับอีกหรือเปล่า เป็นปฏิบัติการในเชิงจิตวิทยาแต่ความสุขเรื่องการดำรงชีวิตของชาวบ้านทุกคน ทุกศาสนา มีความเครียดเพิ่มขึ้นแน่นอน ถ้าถามว่าเป็นปฏิบัติการที่จำเป็นต้องทำไหม ฝ่ายทหารเขาวิเคราะห์ว่าเป็นปฏิบัติการที่จำเป็นและเป็นวิธีสลายโครงสร้างองค์กรลับที่ดีที่สุด กวาดจับแต่ไม่ไปทำร้ายอะไร อาจรีดข้อมูลบ้าง แต่ถึงรีดไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ทหารก็แค่บอกว่าคนๆนี้ที่อยู่ในหมู่บ้านเขาสารภาพหมดแล้ว คือไปสร้างความแตกแยกในส่วนของผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในขบวนการ ทหารเขาบอกว่าได้ผล" นักวิชาการคนเดิมกล่าว


 


จากนั้นจึงบอกต่อว่าสิ่งที่ทหารต้องการคือการไม่ต้องลงมือแต่ทำให้เกิดการตัดตอนกันเอง สิ่งที่น่ากังวลคือวิธีการนี้จะเพิ่มความเกลียดชังรัฐไทยแน่นอน และอาจจะเพิ่มการเข้าร่วมกับขบวนการไปโดยปริยาย ดังนั้นการกวาดจับในระยะสั้นๆยังพอยอมรับได้ แต่ถ้าทำกันเป็นปีๆคงเกิดปรากฏการณ์ตายสิบเกิดแสน การขยายตัวของความไม่พอใจจะมีสูง


 


อนาคต...ความสงบคงอีกยาวไกล


เมื่อให้มองไปข้างหน้า นักวิชาการจาก IDSW คิดว่า ปัจจุบันรัฐไทยยังแก้ปัญหาเพียงเฉพาะหน้าในมิติเดียวคือการทหารแต่ไม่มีแผนระยะยาว แต่ภาพที่เห็นเวลานี้มันชัดเจนว่าสถานการณ์ไม่สงบจะมีอีกยาว นาน ในเมื่อเขาเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีเชื้อชาติเป็นมลายู มีศาสนาที่ต่างออกไปคืออิสลาม แล้วก็มีมาตุภูมิเป็นประวัติศาสตร์ของตัวเองคือปัตตานี เขาย่อมมีความฝันที่จะได้ประเทศและอุดมการณ์นี้จะอยู่ต่อไปอีก 10 -20 ปีแน่นอน แต่สิ่งที่ยังไม่เห็นคือ สถานการณ์ผ่านมาเกือบ 4 ปีแล้ว ยังไม่เห็นการแก้ปัญหาระยะยาว


 


การแก้ปัญหาระยะยาวจะต้องฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวบ้านให้มีทรัพยากรเพียงพอต่อการดำรงชีวิต การทำให้ชาวบ้านมีอาชีพ มีโรงเรียนและมีการศึกษาที่ดีที่อยู่ในบริบทที่มุสลิมรับได้ บริบทดังกล่าวคือต้องได้เรียนศาสนาอิสลามด้วย แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่ถูกสร้าง ปัจจุบันวัยรุ่นมุสลิมกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ยังตกงาน ซึ่งต้องตกงานอยู่แล้วในเมื่อเรียนปอเนาะ แล้วระบบปอเนาะแบบนี้เอ็นทรานซ์ไม่ติดอยู่แล้วจึงทำให้ไม่มีที่ไป


 


ทางออกคือต้องวางโครงสร้างกันใหม่เลย เช่น ทำให้ในทะเลมีปลา เพราะอย่างน้อยหมู่บ้านริมทะเลที่เป็นชาวประมงพื้นบ้านทั้งหมดก็จะมีชีวิตที่วุ่นวายกับการจับปลา ไม่มีเวลาไปเข้าร่วมขบวนการและก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้ทะเลมีปลาก็ต้องไปทำให้ไม่มีเรือประมงปั่นไฟเข้ามาในน่านน้ำชาวบ้าน ตอนนี้เรื่องนี้ยังคาราคาซังมาเป็นสิบปี ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้นาที่ร้างได้มีผู้กลับมาทำนาใหม่ ในกรณีของลองกองก็ไม่เห็นมีใครช่วยเลย มีเพียงความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ที่เอาไปขายที่สนามหลวง


 


ในด้านสาธารณสุขก็มีปัญหามาก ตอนนี้มาลาเรียระบาดหนักใน 3 จังหวัด แม้แต่การยิงกันอย่างนี้ก็ทำให้มีคนไข้โรคเรื้อรังที่ต้องมาโรงพยาบาลต่อเนื่อง ประเด็นนี้จะส่งผลให้มีโอกาสขาดยาสูงในอนาคตอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า เพราะว่าสุขภาพจะไม่ได้แย่ลงฉับพลันแต่จะค่อยๆ ทรุดๆ แล้วพอถึงระยะหนึ่งจึงจะแย่


 


นอกจากนี้ งานบริการทางด้านสาธารณสุขยังเป็นงานที่ต้องใช้กำลังคนเพราะไม่สามารถใช้เครื่องจักรแทนได้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กำลังคนด้านสาธารณสุขมีแนวโน้มย้ายออก จำนวนคนจึงมีแนวโน้มจะลดลง ผลที่ตามมาคือจะทำให้การเข้าถึงบริการของชาวบ้านลดน้อยลง เช่น เมื่อมาอนามัย อนามัยก็ปิด หรือบางครั้งหมอเข้าไปในพื้นที่ไม่ได้ ถ้าไม่แก้ปัญหากำลังคนในพื้นที่ โอกาสของการเข้าถึงบริการจะลดลง สุขภาพโดยรวมของผู้ที่ได้รับความเจ็บป่วยจะได้รับการดูแลช้าลง


 


ปัญหาสาธารณสุขเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งคือปัญหาสังคมที่สืบเนื่องจากสถานการณ์ ตรงนี้อาจไม่ใช่สาธารณสุขเพียวๆ เช่น ปัญหาเด็กกำพร้า แม่หม้าย ปัญหาครอบครัวที่สูญเสียบุคคลในครอบครัวไป เพราะหากคนในครอบครัวคนหนึ่งเสียชีวิตจะมีผลต่อคนที่เหลือ สมมุติว่าพ่อบ้านโดนยิง แม่หม้ายก็ต้องเหนื่อยแน่นอน ลูกจะมีคุณภาพชีวิตคงแย่ลง ผลกระทบจากสถานการณ์ใน 3 จังหวัดมันมีมากกว่าที่เห็นว่ามีคนตาย มีการฆ่าตัดคอ ผลกระทบที่อยู่เบื้องหลังมันใหญ่มาก


 


ในขณะเดียวกันระบบการเยียวยาของรัฐไทยยังไม่ดีพอคือไม่บูรณาการ ต่างกระทรวงก็ต่างทำ กระทรวงสาธารณสุขก็ดูสุขภาพจิต กระทรวงมหาดไทยก็แจกเงิน กระทรวงศึกษาธิการก็แจกทุนการศึกษาไป มันควรมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง


 


การเยียวยาปัจจุบันนี้เน้นเงินเป็นหลัก พอเน้นเงินก็ทำให้ครอบครัวที่สูญเสียรอรับแต่เงินช่วยเหลือ ซึ่งช่วยเท่าไหร่ก็ไม่พอ ถ้าอยากให้ดีขึ้น การเยียวยาต้องทำให้เขาพึ่งตัวเองให้ได้ แต่คำว่าพึ่งตัวเองให้ได้ อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ ถามว่าฝึกอาชีพหรือ ถ้าฝึกก็ต้องเป็นอาชีพได้จริงๆ คือ ต้องมีโครงสร้างที่ดีถึงจะแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่แค่ถ้ากระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมจะฝึกอาชีพ กระทรวงมหาดไทยก็รับเอาผลผลิตไปขายแค่ 2 ครั้งแล้วเลิก


 


นักวิชาการ IDSW มองว่า การบูรณาการควรเป็นภาระที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ต้องทำ แต่เวลานี้ทำได้ยาก เพราะแต่ละกระทรวงเพียงส่งคนมานั่งในตำแหน่งเท่านั้นแต่ไม่เป็นทีม จึงคิดว่าโครงอย่างคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ที่ไม่ใช่โครงสร้างแบบราชการเพียวๆ และมีอำนาจพอสมควรนั้นน่าสนใจ ศอ.บต. ควรจะเหมือน กอส. หรือปรับตัวเข้าสู่การเป็นองค์กรอิสระมากขึ้น


 


นอกจากนี้ ข้อเสนอของ กอส. เช่น เรื่องการใช้งาน 2 ภาษา ก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ไม่ใช่เรื่องเสียความเป็นไทย การพูดภาษามลายูท้องถิ่นเป็นอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ ซึ่งรัฐไทยต้องใจกว้างจึงจะได้ใจประชาชน ถ้าใจแคบก็สมควรให้เขาไปอยู่ประเทศปัตตานี เมื่อเราดูแลเขาไม่ได้ เราก็ควรให้เขาไปตั้งประเทศเขา


 


อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงเขามองว่าปัจจุบันไม่สมควรมีการแยกประเทศใหม่ และสามารถเชื่อว่ารัฐไทยดูแลคนใน 3 จังหวัดได้ หากรัฐไทยเปิดใจกว้างและจัดระบบระเบียบองค์กรใหม่


 


"สุดท้ายคิดว่าเรื่องเขตปกครองตนเองในระดับหนึ่งเป็นคำตอบที่น่าสนใจ คือจัดการศึกษาเอง มีระบบสาธารณสุขที่สอดคล้องกับวิถีมุสลิม มีการจัดการทรัพยากรภายในที่ไม่ถูกกรุงเทพฯ ดูด เพียงแต่ตอนนี้ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก็ไม่พร้อมที่จะมาเจรจากัน เพราะต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าตัวเองได้เปรียบอยู่ จะมาเจรจากันก็ต่อเมื่อมันอิ่มตัวทั้งสองฝ่ายแล้ว ปัจจุบันไม่มีใครพร้อมจะจริงใจและพร้อมที่จะเจรจา ต้องรอดูสถานการณ์กันต่อไป" เขากล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net