Skip to main content
sharethis

เสรีภาพสื่อ


 


บทบรรณาธิการ โพสต์ ทูเดย์


11 ตุลาคม 2550


 


 


การเตรียมเสนอร่างกฎหมาย 2 ฉบับของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 64 คน ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ในมาตราที่เกี่ยวข้องถึงการทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.


 


การขอแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในแวดวงสื่อไทยจำนวนหนึ่ง และสื่อต่างประเทศ ว่า เป็นการปิดกั้นการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน


 


หากพิจารณาสาระของการเสนอขอแก้ไข สิ่งที่มีการเพิ่มเติมให้ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย 2 ฉบับนี้ ก็คือ พระราชโอรส พระราชธิดา ประธานองคมนตรี องคมนตรี หรือผู้แทนพระองค์ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ประเด็นมีการถกเถียงอย่างกว้างขวาง ว่า ประธานองคมนตรี และองคมนตรี ไม่ควรได้รับการปกป้องดุจเดียวกับบุคคลในสถาบันเบื้องสูง ซึ่งประการนี้ การคัดค้านมีเหตุมีผลรองรับ และต่างมีความเห็นสอดคล้องถึงความไม่ควรนั้น


 


ทั้งคณะองคมนตรี ยังแสดงถึงความรู้ควรไม่ควร ด้วยการขอให้ สนช.ทบทวนมาตราดังกล่าว เพราะมิได้อยู่ในสถานะเสมอบุคคล


 


อย่างไรก็ตาม สาระของการเสนอขอแก้ไข ที่สำคัญอีกประเด็นคือ ในของส่วน ป.วิอาญา ที่เพิ่มมาตรา 14/1 โดยข้อความระบุว่า ระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่มีการกล่าวหาหรือฟ้องในความผิดต่อองค์พระ มหากษัตริย์


พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามหมวด 1 ลักษณะ 1 ภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา


 


ในกรณีเห็นสมควร พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือคู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้สั่งห้ามมิให้โฆษณาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์หรือความเห็นเกี่ยวกับคดีไม่ว่าสื่อประเภทใด


 


หากศาลพิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้วเห็นว่ามีเหตุอันสมควรเพื่อการคุ้มครองปกป้องสถาบัน


พระ มหากษัตริย์ ให้ศาลสั่งอนุญาตตามคำร้องและอาจกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีการใดๆ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามคำสั่งห้ามของศาลดังกล่าวได้


 


ประการนี้ เป็นที่เข้าใจได้ว่า สำนักข่าวต่างประเทศจำนวนไม่น้อย ขาดความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับคนไทย อันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงการก่อกำเนิดของชาติที่ต่างกัน จึงนำเสนอข่าวสารคัดค้านในแง่มุมของตะวันตก


 


แต่น่าตระหนกที่ สาระตามมาตรา 14/1 กลับถูกสื่อมวลชนไทยจำนวนหนึ่ง และนักสิทธิมนุษยชนบางคน พยายามเคลื่อนไหวคัดค้าน กล่าวประณาม สนช.กลุ่มที่นำเสนอร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เพราะตีความว่า มาตรานี้เป็นการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสาร ทำให้ศาลมีอำนาจสั่งห้าม มิให้โฆษณาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์หรือความเห็นเกี่ยวกับคดีไม่ว่าสื่อประเภทใด


 


ในฐานะสื่อมวลชนไทยเช่นกัน จำเป็นต้องสอบถามถึงเพื่อนร่วมวิชาชีพต่อการแสดงท่าทีดังกล่าวด้วยความเคารพ ว่า ท่านต้องการเสรีภาพ โฆษณาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์หรือความเห็นเกี่ยวกับคดีที่มีการกล่าวหาหรือฟ้องในความ ผิดต่อองค์


พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จริงๆ น่ะหรือ


 


หากเป็นเช่นนั้น ก็สมควรที่เข้าชื่อเปิดเผยตัวตนต่อประชาชน เพื่อบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของความเป็นนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพให้ประจักษ์


 


เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารล้วนเป็นที่หมายปองของคนในวิชาชีพสื่อสารมวลชนทุกผู้ คน หากแต่เสรีภาพนั้นย่อมมีขอบเขตข้อจำกัดด้วยจารีต ประเพณี หน้าที่ของพลเมืองในแต่ละสังคม


 


หน้าที่ของคนไทย คือ ทำนุบำรุง ปกป้อง รักษาซึ่งสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หากเสรีภาพจะได้มาด้วยการสูญเสียซึ่งสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสามสิ่งนี้


 


เราขอยืนหยัดคัดค้านอย่างสุดกำลัง


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net