Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 50 มูลนิธิ 14 ตุลา จัดงานรำลึก 34 ปี 14 ตุลา มีการอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปการเมือง เสียงจาก 4 ภาค" โดยมีตัวแทนจากภาคประชาชน ประกอบด้วย นายสมเกียรติ พ้นภัย แกนนำชาวบ้านจากศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูล นายสุทธิ อัชฌาสัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก นายอดุลย์ ยศคำจู ตัวแทนเกษตรกรภาคเหนือ


 


 


ไทบ้านปากมูนชูรัฐธรรมนูญที่เห็นหัวคนจน ข้าราชการต้องเป็นข้าของราษฎร


นายสมเกียรติ พ้นภัย ตัวแทนไทบ้านปากมูนจากภาคอีสาน กล่าวถึงขบวนการต่อสู้ของคนในภาคอีสานว่า เริ่มตั้งแต่กบฏผีบุญที่จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาเมื่อกระบวนการพัฒนาของรัฐเข้าไปทำลายระบบวิถีชีวิต แหล่งอาหาร และการทำกิน ชาวบ้านจึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ มันคือการเรียกร้อง บอกกล่าวปัญหาจากการกระทำอันไม่ถูกต้องของรัฐ แต่เมื่อมาบ่อยเข้า เขาเริ่มรำคาญ จึงกลายเป็นการต่อสู้และมีการใช้กำลังเข้าปราบปราม


 


ตัวแทนไทบ้านยกตัวอย่างความเจ็บปวด กรณีการจับกุมชาวบ้านที่มาเรียกร้องปัญหากว่า 200 คน ในสมัยรัฐบาลชวน 2 โดยกล่าวว่า ชาวบ้านที่ถูกจับกุมในครั้งนั้นไม่อยากออกจากคุก เพราะอยู่คุกยังดีกว่าอยู่บ้านแล้วต้องกลับไปคุ้ยเขี่ยหากินอย่างยากลำบาก ในคุกฝนไม่รั่ว แดดไม่แรง มีที่นอนดีๆ มีอาหารให้กิน แม้จะไม่อิ่มแต่ก็ยังมีกินทุกมื้อ


 


ในส่วนความคิดเรื่องกฎหมายซึ่งเป็นกฎกติกาของสังคม นายสมเกียรติกล่าวว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ที่หลายคนจะบอกว่าดีแล้ว แต่ก็ยังมีช่องโหว่ มีการเขียนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งเป็นกฎหมายลูก ให้มีอำนาจเหนือกว่ากฎหมายแม่ คือรัฐธรรมนูญ แต่แม้เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ออกมา ยังไม่ได้มีการปลุกเสกขึ้นหิ้ง ก็มีการออก พ.ร.บ.มารอไว้แล้วหลายฉบับ อีกทั้งยังมีรุ่นหลานเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ออกตามมา ทั้งที่กฎหมายแม่ยังไม่สมบูรณ์แบบ


 


แต่สำหรับวิถีชีวิตชาวบ้าน การมีรัฐธรรมนูญหรือไม่ชาวบ้านไม่รับรู้ เพราะพวกเขามีธรรมนูญอันประกอบด้วยจารีต ประเพณี ศีลธรรม และวัฒนธรรมของชุมชนที่สั่งสมมาเป็นเวลานานกว่า 4,000 ปี มีมาก่อนรัฐธรรมนูญเกิด สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านยึดถือปฏิบัติสืบกันมา และบริหารจัดการทรัพยากรที่มีได้อย่างเป็นสุข อีกทั้งลูกหลานพวกเขาก็เข้าใจสิ่งเหล่านี้ ส่วนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะปฏิรูปอย่างไรก็ไม่เกิดเป็นประชาธิปไตย ตราบใดที่ยังไม่ให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง


 


นายสมเกียรติกล่าวท้าทายต่อไปอีกว่า นโยบายของภาครัฐทุกพรรคการเมืองที่พูดอยู่ทุกวันนี้ พูดได้ แต่พูดไม่ชัดเจนว่าจะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้อย่างไร ซึ่งหากจะพูดให้อยู่ดีกินดี หรืออยู่บนกองเงินกองทองก็พูดได้ แต่ไม่กล้าเน้นลงไปว่าดิน น้ำ ป่า ทรัพยากรต่างๆ จะจัดสรรให้ประชาชนที่ไม่มีที่ทำกิน ไม่กล้าเอาที่ดินของนายทุน ของนักการเมืองที่ถือครองอยู่มากมายมาจัดสรรให้ประชาชน ซึ่งหากไม่กล้าพูดก็ไม่ต้องไปเลือกเป็นตัวแทนเลยดีกว่า


 


นายสมเกียรติตั้งคำถามว่า เมื่อผู้มีอำนาจต่างก็ต้องการกุมอำนาจของตนเองไว้ แล้วประชาชนอยู่ที่ไหน เมื่อมีผู้บอกว่า อยู่ตรงกลางเขาควาย แต่ไม่ใช่ เพราะหากอยู่กลางเขาควายนั่นแสดงว่าชาวบ้านอยู่บนหัวฝูงควายเหล่านั้น ตามความคิดของตัวแทนไทบ้าน ความจริงชาวบ้านคือหญ้าที่เลี้ยงดูกลุ่มผู้มีอำนาจสองสามกลุ่ม ให้อิ่มหมีพลีมัน แล้วยังถูกเยี่ยว ถูกเหยียบ ตราบใดที่ภาครัฐทุกส่วน ทั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่น อบต. อบจ. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ไม่ใช่แค่นักการเมือง ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน ยังคงทำตัวเป็นนายของประชาชน


 


"ทำยังไงไอ้พวกเหล่านี้ถึงจะเป็นข้าราษฎร ไม่ใช่เป็นข้าราชการ เมื่อพวกนั้นยังเป็นข้าราชการอยู่ เราก็เป็นแค่ราษฎร ไม่มีวันที่ประชาธิปไตยจะเต็มใบ เพราะเราจะมีอำนาจแค่วันเลือกตั้งเท่านั้น" นายสมเกียรติ กล่าว


 


นายสมเกียรติ กล่าวว่า "การปฏิรูป" ในความคิดของชาวบ้านคือการปรับปรุงแก้ไข การปฏิรูปการเมืองไม่ใช่แค่การที่ทหารฉีกฉบับปี 40 ทิ้งและเขียนแก้ใหม่ โดยคนเขียนเป็นคนไม่กี่คนที่ไม่เคยรับรู้ปัญหาจริงๆ ของชาวบ้านไม่เคยไปเหยียบแผ่นดินนั้นๆ หากต้องการปฏิรูปจริงๆ ก็ให้ชาวบ้านเขียนแนวทางการพัฒนาทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า แล้วมาตีความเขียนเป็นกฎหมายอีกครั้งก็น่าจะทำได้


"รัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่มีชีวิต มีจิตวิญญาณ จับต้องได้ และเป็นรัฐธรรมนูญที่กินได้ ชาวบ้านเราประกาศอย่างนี้ ในหัวใจของรัฐธรรมนูญต้องมีจริยธรรม ศีลธรรม มีจารีตประเพณี ต้องเขียนมาจากสิ่งเหล่านี้เท่านั้นจึงจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เห็นหัวคนจน" ตัวแทนไทบ้านจากปากมูลกล่าว


 


 


ตัวแทนมาบตาพุดแฉ งบลับ 60 ล้าน ให้หยุดต่อสู้


ส่วนนายสุทธิ อัชฌาสัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวถึงการทำงานในพื้นที่บ้านเกิด ว่าจังหวัดระยองและภูมิภาคนี้เป็นทุนนิยมเต็มรูปแบบ เพราะมีนิคมอุตสาหกรรมที่เจ้าของเป็นนายทุนขนาดใหญ่ทั้งในและนอกประเทศซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญมากกว่าประชาชน โดยยกตัวอย่างการศึกษาปัญหาในพื้นที่มาบตาพุดซึ่งพบว่ามีการระบายมลพิษโดยไม่รับผิดชอบต่อสังคมใดๆ ทั้งสิ้นของโรงงานอุตสาหกรรม โดยคิดว่าตัวเองเป็นผู้สร้างความเจริญให้ประเทศ และรัฐบาลเอื้ออำนวยทุกรูปแบบ ไม่ว่าผ่อนปรนกฎหมาย หรือการเลือกปฏิบัติที่จะไม่ลงโทษ


 


นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่าในปี 47 มีการพบสารอินทรีย์ระเหยที่เป็นอันตรายในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งเป็นตัวก่อมะเร็งกว่า 21 ชนิด โดยพบมีสถิติผู้ป่วยมะเร็งในระยองสูงกว่าสมุทรปราการถึง 4 เท่า และมะเร็งที่พบในเด็กรุ่นใหม่ก็คือมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย ซึ่งมาจากสารเคมีทั้งหลาย อันเป็นผลจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม และในปี 48 ในช่วงที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำในจังหวัดระยองและภาคตะวันออก แทนที่จะมีการผันน้ำจากอ่างซึ่งสร้างจากภาษีประชาชนมาช่วยเหลือประชาชน กลับมีโครงการผันน้ำให้ระบบอุตสาหกรรมก่อน ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทอีสวอเตอร์ ด้วยการอ้างถึงเม็ดเงินที่จะสูญเสีย 3,200 ล้านบาทต่อวัน


 


เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลในปี 50 และให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีการผลักดันการประกาศเขตคุ้มครองมลพิษในจังหวัดระยอง ด้วยการส่งหลักฐานความเดือดร้อนของชาวบ้านเพื่อยืนยัน แต่หลังการพิจารณาและตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้วก็ไม่มีการประกาศเขตคุ้มครองฯ เมื่อตรวจสอบแล้วก็พบว่า มีผู้บริหารของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ซึ่งเป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีความเชื่อมโยงกับผู้บริหารในรัฐบาลปัจจุบัน


 


"เห็นความเชื่อมโยงได้ว่าไม่ว่ารัฐบาลเก่าที่เป็นทุนนิยม หรือรัฐบาลใหม่ที่อ้างเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็ไม่ต่างกัน" นายสุทธิกล่าว


 


นายสุทธิกล่าวว่า ถูกบริษัท 3-4 แห่ง เสนองบประมาณเกือบ 60 ล้าน เพื่อให้ไปทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ อ้างเพื่อฟื้นฟูชีวิตคนระยอง แทนการออกไปให้ความรู้ชาวบ้านและพูดถึงผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจากจุดนี้ ทำให้นายสุทธิคิดว่า การเอาทุนนิยมมาสู้กับทุนนิยมยังไงก็แพ้ แต่สิ่งที่จะเอามาต่อสู้กับทุนนิยมได้ดีที่สุด คือ ใช้ภูมิและความสามารถที่ชาวบ้านพึงกระทำได้ในพื้นที่นั้นเป็นทางเลือกให้เห็นจะดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้อง การเดินขบวน แต่การดำเนินการของกลุ่มทุนมีการส่งทหารออกจากราชการแล้วมาดูแลการดำเนินงาน พร้อมสร้างความสัมพันธ์แบบข่มขู่กับชาวบ้าน โดยกล่าวอ้างถึงความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้บริหารประเทศในขณะนี้


 


ส่วนในหัวข้อการปฏิรูปการเมือง นายสุทธิ กล่าวว่า หากสามารถสร้างความสมดุลเชิงอำนาจได้จริงจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่การจับขั้วแล้วเสนอคนเป็นนายกฯ ที่ไม่ได้เป็นการปฏิรูปการเมืองสู่การสร้างสมดุลเชิงอำนาจ เป็นเพียงการต่อรองทางอำนาจกันว่าใครจะมีอำนาจ จัดขั้วว่าใครจะผสมกับใครเท่านั้น การสร้างความสมดุลรัฐบาลนักการเมือง และข้าราชการเป็นเรื่องต้องทำ คิดเพื่อบูรณาการให้ประชาชนได้เข้าไปเสนอความคิดและร่วมตัดสินใจได้


 


ข้อต่อมาคือ สมดุลของการเข้าถึงความหลากหลายทางทรัพยากร ทำอย่างไรที่จะไม่ให้คนจนซึ่งอยู่เป็นฐานได้ทรัพยากรน้อย แต่คนรวยจำนวนหยิบมือครอบครองทรัพยากรมากมาย และสุดท้าย สมดุลของการมีพื้นที่ทางสื่อและสังคมอย่างแท้จริง อย่างกรณีการลงโฆษณาเท็จของโรงไฟฟ้าบริษัทเอ็กโก แต่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบพูดว่านั่นคือการหลอกลวง หากมีการปฏิรูปจะต้องมีการสร้างในสิ่งเหล่านี้ร่วมกับการมีคุณธรรม จริยธรรมเป็นองค์ประกอบ


 


นายสุทธิกล่าวถึงคดีความฟ้องร้องจากการนำชาวบ้านระยองกว่า 2,000 คน คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา คือ หมิ่นประมาทบนเวทีปราศรัย ทำผิดพ.ร.บ.การจราจรในข้อหาปิดถนนและกีดขวางการจราจร ซึ่งนายสุทธิเต็มใจจะมอบตัวและไม่สู้คดี โดยกล่าวว่า พร้อมจะติดคุกตามเจตจำนงของกฎหมาย ถึงเป็นกฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่ใครก็ตาม แต่อยากบอกว่า นักการเมือง นายทุน หรือใครก็ตาม ไม่สามารถจะทำโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ


 


นอกจากนี้ ยังพาดพิงถึงการทำผิดอื่นๆ ซึ่งต้องยอมรับผิดในการกระทำตามที่กฎหมายระบุไว้ โดยกล่าวว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง และหากมีการแพร่กระจายในเรื่องนี้ไปทุกหย่อมหญ้า และจะทำให้ดีสังคมดีขึ้นในขั้นตอนสุดท้าย แต่หากยังเป็น "หมานุษย์" และยังคงมี "สันดานกา" ก็คงไม่สามารเกิดเหตุการณ์ที่ดีขึ้นในสังคมได้


 


"การต่อสู้ที่ผ่านมาทำให้เรียนรู้ว่าไม่มีใครช่วยเราได้ เราต้องช่วยกันเอง" ส่วนนายสุทธิกล่าวแสดงความคิดเห็น


 


 


ตัวแทนเกษตรเหนือเสนอปลูกฝังจิตสำนึกให้ผู้นำเสียใหม่


นายอนันต์ วังเวียง ตัวแทนเกษตรกรภาคเหนือ กล่าวถึงปัญหาของเกษตรกรจากนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าในยุคเผด็จการทหารหรือเผด็จการของทุนพลเรือน เช่น เรื่องการเปิดการค้าเสรีที่ทำให้สินค้าทางการเกษตรหลักๆ ในภาคเหนือคือหอม และกระเทียมได้รับผลกระทบ จนเกษตรกรบางรายต้องเลิกการเพาะปลูกไป และต่อไปอาจส่งกระทบต่อผู้ปลูกลำไยที่ราคาตกต่ำลงทุกปีด้วย


 


นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการต่อสู่ของประชาชนเรื่องป่าชุมชน ที่ดิน ราคาพืชผล และการแก้ปัญหาหนี้สินของชาวบ้าน ซึ่งล้วนเป็นการต่อสู้เพื่อความมั่นคงของปัจจัย 4 แต่ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา อีกทั้งภาคประชาชนเองก็มีความไม่เข้มแข็งพอ


 


นายอนันต์ วังเวียง แสดงความเห็นต่อว่า การต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่ผ่านมา ก็เพื่อโค่นอำนาจเผด็จการ แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญกลับขาดการปฏิบัติ ขาดการบังคับใช้อย่างศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ชาวบ้านที่เดือนร้อนก็ยังคงประสบปัญหาอยู่เช่นเดิม และเศรษฐีก็ยังคงมีเงินซื้อที่เก็บไว้เป็นหมื่นเป็นแสนไร่


 


เขากล่าวถึงผู้นำและผู้มีอำนาจว่า หากมีจิตสำนึกรักประเทศชาติ รักประชาชน เป็นผู้เสียสละ และมีศีลธรรม เหตุการณ์ความรุนแรงดังเช่น 14 ตุลาคงไม่เกิด ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้นำควรได้รับการปลูกฝัง


 


หลังจบการพูดคุย เป็นการร้องเพลงของเด็กๆ ชนเผ่า จากคณะนักร้องประสานเสียงจากโรงเรียนสุนทรวิทยา โครงการเรียนรู้กู้บ้านเกิด กิจกรรมบันเทิงสุดท้ายเพื่อส่งท้ายของงานรำลึก 14 ตุลา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญแห่งหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net