Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ : ชื่อบทความเดิม "ท่าทีและความจริงใจของคณะรัฐประหารในการแก้ไขปัญหาของคนยากจนภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง"


 


ธุลี


 


ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาหลักของประเทศ ข้อมูลปี 2547 มีคนยากจนถึง 8.8 ล้านคน หรือ 14.4% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งประเทศจำนวน 104,571 บาทต่อครัวเรือน [1]  20% ของประชากรที่มีรายได้ต่ำสุดมีรายได้เฉลี่ย 982 บาท/คน/เดือน และมีรายได้รวมคิดเป็นร้อยละ 4.54 ของรายได้รวมทั้งประเทศ ขณะที่ 20% ของผู้มีรายได้สูงสุด มีรายได้เฉลี่ย 11,874 บาท/คน/เดือน คิดเป็นร้อยละ 54.86 ของรายได้ทั้งประเทศ [2]  


 


ปัญหาดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงเป็นการด่วน มิฉะนั้น จะบั่นทอนความเจริญทางเศรษฐกิจ และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ [3]   


 


เรามาดูว่ารัฐบาลไทยที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งมักจะกล่าวอ้างเรื่องความมั่นคงเสมอๆ มีท่าทีต่อปัญหาความยากจนของประชาชนอย่างไร


 


รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แถลงต่อสภาว่า จะใช้นโยบายเศรษฐกิจพอเพียง รูปธรรมที่เห็นก็คือ การทุ่มงบประมาณผ่านโครงการอยู่ดีมีสุข และโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, ยุบศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะปัญหาความยากจน (ศตจ.) ที่ตั้งขึ้นในสมัยทักษิณ และตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) แทน


 


โครงการอยู่ดีมีสุขที่เร่งอนุมัติงบให้หมดก่อนการลงประชามติ ส่อให้เห็นว่ามีการทุจริตของข้าราชการในระดับพื้นที่ในลักษณะของการมีผลประโยชน์ร่วมกับบริษัทที่รับเหมาดำเนินการ เช่น บริษัทจำหน่ายเครื่องสูบน้ำและระบบน้ำ ตัวแทนจำหน่ายพันธุ์สัตว์ เป็นต้น สิ่งที่ประชาชนได้รับจึงเป็นเพียงโครงการที่มีลักษณะเหมือนๆ กัน หรือล็อคสเปคตามผลประโยชน์ของนายทุนและข้าราชการ ไม่ได้ตอบสนองความต้องการหรือการแก้ปัญหาของประชาชนที่จะทำให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ และอยู่ดีมีสุขอย่างที่กล่าวอ้าง


 


ศจพ.ที่ใช้กลไกข้าราชการจากกระทรวงต่างๆ และ กอ.รมน.เป็นส่วนใหญ่ ไม่มีเป้าหมายในการขจัดหรือแก้ปัญหาความยากจนแต่อย่างใด "ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ศจพ. เป็นเพียงเวทีเจรจาเพื่อชะลอไม่ให้ปัญหาปะทุขึ้นมา หรือระงับการเคลื่อนไหวของชาวบ้านเท่านั้น" [4]  


 


และสิ่งที่ประชาชนจับต้องได้อย่างชัดเจนคือ งานอบรม/สัมมนา ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ โปสเตอร์ ป้ายผ้า สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโฆษณาตามวิทยุ/โทรทัศน์จำนวนมาก ที่เชิญชวนให้ประชาชนดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


 


ขณะเดียวกัน ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนอันเนื่องมาจากนโยบายรัฐก็ไม่ได้รับความเอาใจใส่อย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น ไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจนจากภาครัฐในกรณีความเดือดร้อนของคนงานที่ถูกเลิกจ้างหรือลดเวลาทำงานจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว


 


หรือในกรณีความเดือดร้อนของชาวบ้านปากมูน "ครม.ที่มีอำนาจแก้ปัญหากลับโยนให้ ศจพ.พิจารณา สุดท้ายแม้ ศจพ.จะยอมให้เปิดเขื่อนซึ่งไม่รู้ว่าเพื่อระบายน้ำ หรือเพื่อแก้ปัญหาตามที่คณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูลซึ่งเป็นกลไกการแก้ปัญหาที่มีมาแต่เดิม ได้มีความเห็นจากข้อมูลงานวิจัยมาก่อนหน้านี้ ให้เปิดเขื่อนปีละ 4 เดือน นับแต่เดือน พ.ค.หรือ มิ.ย. แต่กว่า ศจพ.จะมีความเห็นให้เปิดเขื่อนในวันที่ 12 สิงหาคม 2550 ก็เป็นช่วงที่น้ำหลากแรง ชาวบ้านที่เป็นชาวประมงพื้นบ้านก็ไม่สามารถจับปลาหรือจับได้น้อยไม่พอกินพอขาย ซึ่งเท่ากับไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนแต่อย่างใด"  [5]


 


ซ้ำร้ายการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายปี 2551 เป็นงบประมาณยุทธศาสตร์แก้ไขความยากจนเพียง 3.6% น้อยกว่างบประมาณด้านความมั่นคง (13.2%) [6]  และเทียบไม่ได้เลยกับสัดส่วนของคนยากจน


 


นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลและสนช.ยังร่วมกันผลักดันกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งมีเนื้อหาขัดแย้งกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ, พ.ร.บ.ป่าชุมชน, พ.ร.บ.น้ำ, พ.ร.บ.ปุ๋ย, พ.ร.บ.ประมงน้ำจืด, พ.ร.บ.แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ล้วนแล้วแต่แย่งชิงทรัพยากรไปจากประชาชนและชุมชน เพื่อการอนุรักษ์อย่างไม่ลืมหูลืมตา หรือไม่ก็ตอบสนองนายทุนและภาคอุตสาหกรรม โดยไม่ได้คำนึงว่าประชาชนจะมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงได้อย่างไรถ้าขาดฐานทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ทั้งเพื่อดำรงชีวิตอยู่และหล่อเลี้ยงสังคม , พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาออกนอกระบบ ที่ทำให้คนจนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และพอใจเพียงแค่เป็นเกษตรกรที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือเป็นแรงงานไร้ฝีมือที่ไม่มีคุณภาพชีวิตและหลักประกันในการทำงาน เป็นต้น


 


ท่าทีเช่นนี้ของรัฐบาลและคณะอำมาตย์ แสดงให้เห็นว่า


 


1. รัฐบาลโยนปัญหาความยากจนของประชาชนให้เป็นเรื่องท่าทีต่อชีวิต เช่น ไม่รอบคอบ ไม่มีเหตุผล ไม่รู้จักประมาณ ไม่ขยันหมั่นเพียร จึงโหมประชาสัมพันธ์และสนับสนุนงบประมาณให้ประชาชนดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง โดยทำให้สังคมลืมไปว่า การที่คนยากจนไม่ได้เป็นเพราะไม่รู้จักเพียงพอ 


 


ขบวนการต่อสู้ของคนจน นับตั้งแต่ขบถชาวนาในภาคเหนือ ขบวนการผู้มีบุญในอีสานในสมัยศักดินา และสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เกิดจากการกดขี่ขูดรีดของชนชั้นนำผ่านระบบภาษี, การเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ เกิดจากการขูดรีดภาษี แรงงาน และผลผลิตส่วนเกินโดยรัฐและนายทุน, จนถึงสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน และสมัชชาคนจนในปัจจุบัน ก็เกิดจากการแย่งชิงปัจจัยการผลิตและทรัพยากรจากประชาชนส่วนใหญ่ไปเอื้อประโยชน์แก่นายทุน ผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ เหล่านี้ เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า คนจนถูกทำให้จนโดยกลไกต่างๆแห่งรัฐและชนชั้นนำ


 


ในอีกนัยยะหนึ่ง รัฐบาลจงใจกดฐานะการต่อสู้ของขบวนการคนจนให้มีความหมายเป็นเรื่องของความไม่พอเพียงเท่านั้น


 


2. รัฐบาลและคณะรัฐประหารมองคนจนเป็นเพียงมวลชนที่ต้องช่วงชิงมาจากทักษิณและไทยรักไทย ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจพอเพียงที่ลงมาสู่ประชาชน จึงเป็นนโยบายประชานิยมที่ทำให้ดูตรงข้ามกับนโยบายของทักษิณ แต่มีเป้าหมายอันเดียวกัน คือ สร้างความนิยมในหมู่คนจน และกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจอันเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำของตน


 


3. รัฐบาลและคณะรัฐประหารไม่ได้ใส่ใจกับการแก้ปัญหาความยากจนที่มีสาเหตุจากโครงสร้างที่ไม่เสมอภาคของรัฐ เช่น โครงสร้างกฎหมาย ระบบภาษี ระบบการถือครองที่ดิน ที่เอื้อประโยชน์ต่อคนรวย เพราะการทำเช่นนี้ รวมถึงการแก้ปัญหาในกรณีความเดือดร้อนต่างๆ หมายถึงการสูญเสียผลประโยชน์ของชนชั้นนำ และยอมรับให้คนจนมีส่วนแบ่งในอำนาจ


 


แต่คณะรัฐประหารไม่ได้มีเป้าหมายเช่นนั้น พวกเขาแค่ต้องการรักษาอำนาจและผลประโยชน์ให้กระจุกตัวอยู่ในหมู่ชนชั้นนำที่ไม่ใช่ทักษิณ เราจึงได้เห็นการผลักดันกฎหมายจำนวนมากที่ให้บทบาทแก่อำนาจรัฐและนายทุน เหนือสิทธิของประชาชน ในยุคที่มี"สภาขุนนางคนดี" แทนที่"สภาผู้แทนน้ำเน่า"


 


หากกล่าวอ้างเรื่องสวัสดิการเรียนฟรี รักษาฟรี มีที่อยู่อาศัยในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ดูใส่ใจคนจนและดูก้าวหน้ากว่านโยบายประชานิยมของทักษิณ แต่นี่ก็เป็นเพียงจุดขายของรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารซึ่งสร้างความชอบธรรมด้วยการลงประชามติ


 


ในความเป็นจริงแล้ว สวัสดิการดังกล่าวเป็นเพียงบางด้านและบางส่วนเท่านั้น ผู้ที่มีสิทธิเข้าถึงสวัสดิการก็อาจมีจำนวนเพียงน้อยนิด ไม่ใช่ชนชาวไทยหรือคนยากจนทั้งหมด เนื่องจากการตีความคำว่า"ผู้ยากไร้" ในขั้นตอนการปฏิบัติ


 


อีกทั้ง งบประมาณในเรื่องดังกล่าวก็ทำท่าจะมาจากการขึ้นภาษีสุรา ยาสูบ และขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม อันเป็นการรีดเงินภาษีจากคนจน(เหมือนที่เป็นมาโดยตลอด) ไปสร้างสวัสดิการให้คนจนนั่นเอง


 


ดังนั้น สวัสดิการในรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงไม่มีผลในการแก้ปัญหาความยากจนหรือลดความเหลื่อมล้ำในสังคมแต่อย่างใด


 


นี่คือโฉมหน้าที่แท้จริงของคณะผู้ปกครองที่มาจากการรัฐประหาร ที่มีจุดยืนเช่นเดียวกับชนชั้นปกครองที่ผ่านมาในอดีต คือ กอบโกยและขูดรีดชนชั้นล่าง โดยเฉพาะในยุคเผด็จการ และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นเพียงเครื่องมือในการครอบงำสังคมและกดทับการต่อสู้ของประชาชน ไม่เพียงแค่รัฐบาลนี้ หากมันจะดำรงอยู่ต่อไปภายใต้ รัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตย กลไกรัฐราชการ และกฎหมายที่กำเนิดจากสภาขุนนาง


 


ดังนั้น สิ่งที่ คนจน และสังคมโดยรวมควรตระหนัก ก็คือ ในทางหนึ่งการที่ครอบครัวและชุมชนพยายามพึ่งตนเองนั้นต้องเกิดจากการรู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อกระแสบริโภคนิยม และในอีกทางก็ต้องไม่หลงติดกับดักของความพอเพียง เพราะนี่ไม่ใช่ทางออกของสังคมที่ดำรงอยู่บนความเหลื่อมล้ำอย่างสูงระหว่างคนจนกับคนรวย ประชาชนไม่อาจหลุดพ้นจากความยากจนได้จริง หากโครงสร้างสังคมและกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้คนรวย เอารัดเอาเปรียบและแย่งชิงทรัพยากรไปจากคนจน ไม่ว่ารัฐจะใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือเศรษฐกิจพอเพียง


 


นอกเหนือไปจากการต่อสู้ในประเด็นความเดือดร้อนจากนโยบายของรัฐแล้ว การสร้างหรือเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวของชนชั้นล่างในประเด็นสาธารณะต่างๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสังคมจะต้องมีต่อไป เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย, การเรียกร้องสิทธิชุมชนในการใช้ ดูแล และปกป้องทรัพยากร, ระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมทุกด้านและทั่วถึงทุกคน, การกระจายอำนาจ, ผลักดันกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อคนจนและคนส่วนใหญ่แทนกฎหมายที่ล้าหลัง, แก้ระบบภาษีให้คนรวยต้องจ่ายมากกว่าคนจน, จำกัดการถือครองที่ดินและกระจายให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกิน ฯลฯ ทั้งด้วยประชาธิปไตยทางตรง และผ่านตัวแทนด้วยการเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายในประเด็นดังกล่าวและผลักดันให้เข้าสู่สภา


           


เช่นนี้ ชนชาวไทยทุกคนจึงจะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเสมอภาคกัน อันจะนำไปสู่ความเจริญทางเศรษฐกิจและความมั่นคงภายในชาติอย่างแท้จริง


 


 


 


เชิงอรรถ :


 


[1] ดูใน ธิดา ถาวรเศรษฐ,"วิเคราะห์สังคมไทย:คนจนในสังคมไทย" ใน อุดมการณ์ (กรุงเทพฯ, 2548), หน้า 3-10


[2] ดูใน รายงานทีดีอาร์ไอ ฉบับที่ 40, ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับความขัดแย้งในสังคม: ทฤษฎี ประสบการณ์และแนวทางสมานฉันท์ (กรุงเทพฯ,2549)


[3] ดูใน นิคม จันทรวิทุร, ประเทศไทยจากเศรษฐกิจเฟื่องฟูถึงวิกฤติสังคม (กรุงเทพฯ:มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท.,2541), หน้า 97


[4] สัมภาษณ์ นิวาส โคตรจันทึก อนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ศจพ.


[5] สัมภาษณ์ นันทโชติ ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน


[6] ดูที่ เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร,โหวตล้มรัฐธรรมนูญคือล้มรัฐประหาร


[7] สาเหตุแห่งความยากจน ได้แก่ ท่าทีต่อชีวิต , ปัจจัยการผลิตและการเข้าถึงทรัพยากร , ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม, และระบบสวัสดิการ (ดูรายละเอียดใน ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ, บทสังเคราะห์ภาพรวมการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทย [กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง,2546], หน้า 64)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net