Skip to main content
sharethis

องอาจ เดชา


 



"รสิตา ซุยยัง" หนึ่งในกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น


 


นิ หรือ"รสิตา ซุยยัง" บอกเล่าให้ฟังว่า เธอเดินทางเข้ามาในฝั่งไทยเมื่อช่วงปี พ.ศ.2545 เข้ามาพร้อมกับแม่ เพราะว่าพ่อเสียที่พม่า และก็มีพี่ชายหนึ่งคนมาทำงานที่ไทยแล้ว พอพี่ชายรู้ข่าวว่าพ่อเสียแล้ว ก็ไปรับน้องกับแม่มาอยู่ที่ จ.ระนอง


 


"ตอนนั้น พี่ชายบอกว่า ถ้าเรายังอยู่ที่โน่น น้องก็อาจจะโดนบังคับให้แต่งงานกับคนพม่า แล้วเราอาจจะถูกกลืนสัญชาติ กลายเป็นคนพม่าไป พี่ชายก็เลยบอกแม่ว่าเราไปอยู่เมืองไทยกันดีกว่า ก็เลยตัดสินใจมาอยู่ที่ระนอง และได้มาอยู่กับญาติที่พังงา" เธอบอกเล่าถึงการเดินทางเข้ามาฝั่งไทยครั้งแรก นับจากที่แผ่นดินไทยถูกแบ่งแยกออกเป็นสองฝั่ง


 


หลังจากที่รัฐไทยได้มีการตกลงเจรจาแบ่งเขตพรมแดนใหม่ระหว่างไทยกับอังกฤษ ซึ่งปกครองพม่าใน


ขณะนั้น (ประมาณสมัยรัชกาลที่ 5) ผลจากการแบ่งแยกพรมแดนในครั้งนั้น ได้ทำให้ประเทศไทยเสียเมืองอีกฝั่งหนึ่งให้กับพม่า ซึ่งส่งผลให้คนไทยที่อาศัยอยู่เดิมนั้น ต้องกลายเป็นคนพม่าไปโดยปริยาย


 


และเธอก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นคนไทย แต่สุดท้ายก็ต้องถูกกล่าวหาว่าเป็นคนพม่าไปโดยปริยาย!


 


รสิตา บอกเล่าความหลังอันขมขื่นให้ฟังว่า หลังจากข้ามมาอยู่ฝั่งไทย ตอนแรกเธอมาเรียนหนังสืออยู่ชั้น ป.3 ที่ ร.ร.แห่งหนึ่ง ใน จ.พังงา ครั้นพอจบชั้น ป.3 ญาติก็พามาเรียนที่ จ.ระนอง


 


"พอขึ้น ป.5  ครูขอเลข 13 หลัก ฉันก็ไม่ได้บอก เพราะคิดว่าเราไม่พูด เดี๋ยวครูก็ลืมไปเอง พอวันที่ 2 วันที่ 3 ครูก็มาขออีก ฉันก็บอกครูว่าไม่ได้เอามา ครูบอกว่าทุกคนให้หมดแล้ว มีแต่ฉันที่ไม่ได้ให้ ก็เลยบอกครูว่าหนูไม่ได้เกิดที่นี่ เป็นคนไทยพลัดถิ่น ครูก็บอกว่าเธอไม่ใช่คนไทยเป็นพม่าใช่ไหม พูดไทยชัดนะ เพื่อนเค้าก็ได้ยินหมดเลย ก็พูดกันว่า...ดีนะห้องเรียนเรามีพม่ามาเรียนด้วย"


 


นับแต่วันนั้น เธอตัดสินใจออกจากโรงเรียนทันที ทั้งๆ ที่เธอยังเรียนอยู่ชั้น ป.5


เป็นการตัดสินใจเดินออกจากห้องเรียนด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ถูกครูและเพื่อนล้อหยันเช่นนั้น ว่าเป็นคนพม่า ทั้งๆ ที่เธอก็มีเลือดเนื้อเชื้อไทยเหมือนกัน


 


"จริงๆ ฉันก็ไม่ได้ต่อว่าพวกเขา เพราะคนเราก็มีสิทธิ์คิดกัน แต่พอมาถึงตอนนี้ เวลานี้สิ ก็ยังเกิดปัญหาอยู่ ถึงแม้ว่าโรงเรียนจะเปิดให้มีการเรียนอย่างเสรี แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ เพราะยังถามหาเลข 13 หลักอยู่ดี มีปัญหากันอยู่ทุกโรงเรียน" เธอบอกเล่าทั้งน้ำตา


 


เป็นการบอกเล่าถึงปัญหาด้านสิทธิในการศึกษา ของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ยังคงถูกจำกัดสิทธิอยู่แม้กระทั่งในขณะนี้ เพียงเพราะยังไม่ได้รับสัญชาติไทย


 



 


ในขณะที่ "สุทิน กิ่งแก้ว" ประธานเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง  ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ก็บอกย้ำว่า เรียนหนังสือตอนนี้ก็ยังมีปัญหา ลูกหลานทุกคนที่เรียนหนังสือ บางที่ก็ได้วุฒิ แต่ที่ไม่ได้มากกว่า ที่แย่กว่านั้นก็คือ ครูน่าจะเข้าใจมากกว่าชาวบ้าน แต่ครูมากีดกันเด็กเสียเอง เวลาจะทำอะไรก็ขอแต่สำเนาทะเบียนบ้าน เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน พอไม่มีก็พูดดูถูกดูแคลน


 


"จริงๆ แล้ว ถ้าจะพูดให้มันถูกต้อง เราไม่ใช่คนไทยพลัดถิ่น...ถิ่นมันพลัดเราไป เราไม่ได้ไปไหน เรายังอยู่ที่เดิม แต่พอมีการแบ่งแยกดินแดนก็หมายความว่า เราไม่ใช่คนไทยไปแล้วหรือ แล้วตอนแบ่งดินแดน มีการบอกบรรพบุรุษเราไหมว่า เราจะเสียสัญชาติไทยไปด้วย..."  เขาพูดด้วยน้ำเสียงน้อยใจ


 


เขาบอกเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่มาในดินแดนไทย ก็พยายามเรียกร้องสิทธิ แต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือและแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น หนำซ้ำพวกเขากลับถูกกระทำย่ำยีมาโดยตลอด


 


"พี่น้องโดนข่มขืน โดนทำร้ายร่างกาย ก็ไปแจ้งความไม่ได้  พอไปแจ้งความตำรวจก็บอกว่าเราไม่มีบัตรอะไรเลย ไม่ให้ความช่วยเหลือ..."


 



 



 



ที่มาภาพ : www.thaipladthin.org


 


กระทั่ง พวกเขาต้องรวมตัวกันเป็น "เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง  ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์" เพื่อเรียกร้องสิทธิให้รัฐบาลไทยคืนสัญชาติให้แก่เหล่าคนไทยพลัดถิ่นทั้งหมด


 


ซึ่งปัจจุบัน จำนวนคนไทยพลัดถิ่น ที่มีการลงทะเบียนชื่อไว้ใน เครือข่ายฯ มีทั้งหมด 4,686 คน


 


ซึ่งหากรวมกับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่อยู่กระจัดกระจายและไม่ได้ลงทะเบียนในเครือข่ายฯ คาดว่าจะมีประมาณกว่า 20,000 คน


แน่นอนว่า พวกเขาในนาม "เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง  ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์" ได้พยายามเรียกร้องสิทธิในความเป็นคนไทยให้กลับคืนมาทุกวิถีทาง โดยได้ทำหนังสือเรียกร้องถึงองค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง


แม้กระทั่ง พวกเขาเคยทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลอังกฤษ ผ่านสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย เพื่อให้รัฐบาลอังกฤษได้รับทราบถึงชะตากรรมและความเดือดร้อนของพวกตน เนื่องจากในอดีตรัฐบาลอังกฤษมีส่วนสำคัญในการทำให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนมะริด ทะวาย และตะนาวศรี ทำให้คนไทยต้องพลัดถิ่นฐานและไร้สัญชาติมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้


แต่ทางตัวแทนทูตอังกฤษ ก็บอกได้แต่เพียงว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอดีต และก็ไม่สามารถจะช่วยอะไรได้


"ณัฐพล สิงห์เถื่อน" ผู้ประสานงานโครงการให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิและสถานภาพบุคคลของชนกลุ่มน้อยผู้ประสบภัยสึนามิ มูลนิธิกระจกเงา บอกกับ "ประชาไท"ว่า  สถานการณ์ล่าสุด หลังจากที่เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น ได้เข้าไปร่วมงานวันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ที่ จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านก็กลับมาทำงานขับเคลื่อนกันอย่างต่อเนื่อง แต่กระนั้น ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากภาครัฐแต่อย่างใด


"ตัวแทนชาวบ้านเคยยื่นหนังสือร้องเรียนกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ จ.กระบี่ โดยตรง นอกจากนั้น ยังเคยยื่นหนังสือกับนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จนกระทั่งมีคำสั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการทำงานด้านคนไทยพลัดถิ่นขึ้นมา เพื่อนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา แต่สุดท้ายก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะติดขัดที่ตัวกฎหมาย"


 


สุทิน กิ่งแก้ว ประธานเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง  ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวย้ำว่า ตอนนี้ที่เราต้องการให้รัฐดำเนินการโดยเร่งด่วน ก็คือ 1.ขอสัญชาติไทยคืน 2.เรียกร้องให้ตรวจสอบ โดยที่ระหว่างการตรวจสอบขอให้กระทรวงพัฒนาสังคมและมนุษย์ ออกบัตรรับรองก่อน ระหว่างที่มีการพิสูจน์สิทธิ 


 


"เพราะว่าสิทธิขั้นพื้นฐานตอนนี้พวกเรายังไม่ได้รับเลย ไปรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ก็ต้องเสียเงิน ยกตัวอย่าง ตัวผมเอง ทุกวันนี้แม้ว่าจะทำหน้าที่เป็น อสม.ตำบล แต่เวลาป่วยเข้าโรงพยาบาลต้องเสียเงิน จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับตัวเองเลย"


 


แต่จนถึงทุกวันนี้ ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม คนไทยพลัดถิ่นกลุ่มนี้ก็ยังไม่ได้รับสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น.


 


 







 


โดยก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น หรือในนาม "เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง  ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์" ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้


• รัฐบาลต้องยกเลิกมติครม. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2519 และ 18 มกราคม 2548 ที่เป็นเรื่องที่ทำให้คนไทยพลัดถิ่นที่เป็นคนไทยต้องกลายเป็นคนต่างด้าว
• ขอให้รัฐบาลคืนสัญชาติให้แก่เหล่าคนไทยพลัดถิ่นโดยใช้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ประเพณีและวัฒนธรรม
• ให้แต่งตั้งคณะกรรมการ การคืนสัญชาติ โดยประกอบด้วย นักวิชาการ สาขากฎหมาย  สิทธิมนุษยชน นักประวัติศาสตร์ และเป็นคนที่สังคมยอมรับ
• ให้ยกเลิกการจับกุมคนไทยพลัดถิ่น เพราะไทยพลัดถิ่นเป็นคนไทย ที่มีทุกอย่างเป็นไทย แต่เพียงแค่ไม่มีบัตรประชาชนเท่านั้น
• ให้สิทธิในการศึกษา การรักษาพยาบาล การได้รับการคุ้มครองทางด้านกฎหมาย  การครอบครองทรัพย์สิน  การแจ้งเกิด-แจ้งตาย ที่เป็นสิทธิโดยทั่วไปที่คนไทยควรได้รับ


 


 


ชมคลิป "ประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกละเลย...คนไทยพลัดถิ่น มะริด ทวาย ตะนาวศรี"



ที่มา : www.chumchonthai.or.th


 


บทความที่เกี่ยวข้อง


"คนไทยพลัดถิ่น" ชะตากรรมที่ตนเองไม่ได้ก่อ ต้นตอปัญหาเกิดจากรัฐไทย - พม่า หรือนักล่าอาณานิคม!? (1) ?


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net