Skip to main content
sharethis

 "...ชาวประมงเวลาจะซื้อเครื่องมือประมงมากู้เงินออมทรัพย์ แต่พอออกเลได้สัตว์น้ำมาเอาไปขายให้เถ้าแก่ เจอปัญหาถูกกดราคาบ้าง ถูกเอาเปรียบบ้าง...เราเลยคิดว่า ทำไมเราไม่รับซื้อเอง..."
       


นี่คือ แนวคิดเริ่มต้นของแกนนำ อันเป็นที่มาของการก่อตั้ง แพปลาชุมชน บ้านหัวหิน อำเภอละงู จังหวัดสตูลในปี พ.ศ.2549


จ๊ะแหม่ม หรือ ศิริวรรณ วัจนเทพินทร์ หัวหน้าโครงการวิจัย การศึกษากระบวนการถอดบทเรียนการบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์บ้านหัวหิน งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้จัดการกลุ่มแพปลา เล่าว่า จากเดิมทางชุมชนได้มีการรวมตัวก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน และสร้างสวัสดิการชุมชน



เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่งทางกลุ่มประสบปัญหาสมาชิกค้างชำระหนี้เป็นจำนวนเงินกว่าหนึ่งแสนบาท
จากปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การทำวิจัยเพื่อถอดบทเรียนการบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นในปี 2546 ซึ่งการทำวิจัยในครั้งนั้นทำให้ ทางกลุ่มทราบถึงเหตุที่มาของปัญหาและได้นำมาปรับปรุงแก้ไขการบริหารจัดการกลุ่มให้ดีขึ้น



นอกจากนั้นยังทำให้ชุมชนเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนากิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสมาชิกในชุมชนมากยิ่งขึ้น และหนึ่งในกิจกรรมดังกล่าว คือ การก่อตั้งกลุ่มแพปลาชุมชน นั่นเอง


กิจกรรมแพปลาชุมชน ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2549 ด้วยการตั้งเป็นกลุ่มใหม่ มีเงินกองทุนเริ่มต้น 44,000 บาท ซึ่งมาจากการระดมหุ้นจากสมาชิก จำนวน 36 ราย โดยในจำนวนนี้มีกลุ่มออมทรัพย์เป็นสมาชิกผู้ลงหุ้นใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากในระยะหลังกลุ่มฯเงินออมที่เหลือจากการกู้ยืมของสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทางกลุ่มได้นำเงินไปฝากไว้ที่ธนาคาร จึงเกิดแนวคิดว่า น่าจะนำเงินก้อนนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนด้วยการลงทุนทำธุรกิจแพปลาชุมชน


"แพปลาเถ้าแก่ เป้าหมายคือ กำไร แต่เป้าหมายของแพปลาชุมชน คือประโยชน์ของสมาชิกทุกคน และชาวบ้าน ประเด็นหลัก คือ การช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน จากข้อมูลในการทำวิจัย เราพบว่า ชาวบ้านมีรายได้เพียงหน้าเดียวในขณะที่รายจ่ายมีหลายหน้า ส่วนใหญ่รายได้น้อยกว่ารายจ่าย นอกจากนั้นยังพบอีกว่า ที่มาของหนี้สินที่สำคัญประการหนึ่ง คือ หนี้สินที่เกิดจากการซื้อเครื่องมือหากิน โดยเฉพาะอวน ซึ่งราคาแพง ที่ผ่านมาชาวบ้านมักจะไม่มีเงินจะให้เถ้าแก่ซื้อมาให้ แล้วหักเงินจากสัตว์น้ำที่นำไปขายให้ ปัญหาก็คือ บางครั้งกว่าเถ้าแก่หามาให้ช้า ฤดูกาลเปลี่ยน อวนชนิดนั้นก็ใช้ไม่ได้ กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่สูญเปล่า อีกทั้งยังมักจะถูกกดราคาสัตว์น้ำ ทั้งซื้อให้ราคาต่ำ และใช้วีธีการคัดขนาดไม่ตรงกับขนาดที่แท้จริง
เป็นต้น..." ป๊ะพูน หรือ คุณตาพุ่ม อย่างดี  ผู้อาวุโสของชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญของชุมชน กล่าวถึงเป้าหมาย


ดังนั้น กิจกรรมหลักของกลุ่มแพปลาจึงมี 2 ส่วน คือ การรับซื้อสัตว์น้ำจากสมาชิกกลุ่ม และชาวบ้านทั่วไป
โดยการรับซื้อสัตว์น้ำของกลุ่มแพปลาชุมชน จึงเปิดโอกาสให้สมาชิกร่วมกันกำหนดขนาดสัตว์น้ำแต่ละเกรดร่วมกัน ส่วนราคารับซื้อต่ำกว่าราคาตลาด 2 บาท อีกส่วนหนึ่งคือ การสมาชิกยืมเงินเพื่อนำไปซื้อเครื่องมือประมง และผ่อนใช้ให้กับทางกลุ่ม โดยทางกลุ่มจะหักเงินจากยอดขาย 10% จนกว่าจะครบ
สำหรับผลกำไรนั้นจะถูกจัดสรรออกเป็น 4 ส่วน คือ 40% ปันผลให้กับสมาชิกผู้ถือหุ้น 35%เฉลี่ยคืนให้กับผู้นำสัตว์น้ำมาขายให้กับทางกลุ่มทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็น ตามสัดส่วนของยอดขาย 20% กันไว้เป็นทุนสำรอง และ 5% บริจาคเพื่อทำกิจกรรมพัฒนาชุมชน และการฟื้นฟูทรัพยากร
       


"หลังจากที่เราทำไป 6 เดือน แล้วสรุปผลการดำเนินงาน พบว่า ทั้งชาวบ้าน และสมาชิกต่างได้รับประโยชน์จาก แพปลาชุมชน อย่างมาก เพราะชาวบ้านสามารถขายสัตว์น้ำได้ในราคาที่เป็นธรรม
อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากผลกำไรอีกทางหนึ่ง ซึ่งเดิมชาวบ้านจะไม่ได้รับประโยชน์จากผลกำไรที่เกิดขึ้นเลย ที่สำคัญคือการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เราพบว่า สมาชิกที่ยืมเงินไปซื้อเครื่องมือประมงสามารถชำระเงินคืนได้ บางรายภายใน 3 เดือนเท่านั้น ไม่ต้องเป็นหนี้ ในส่วนของ กลุ่มออมทรัพย์ ก็เห็นผลชัดเจน เพราะกำไรที่ได้รับปันผลสูงถึง 10% ในขณะที่ฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยเพียง 2%
ซึ่งผลกำไรที่ได้จะถูกนำไปเฉลี่ยเป็นเงินปันผลให้กับสมาชิกลุ่มออมทรัพย์อีก"
       


ประโยชน์ในข้างต้น ทำให้ชาวบ้านนำไปขยายผลปากต่อปาก ผลก็คือ ปัจจุบันมีชาวบ้านนำสัตว์น้ำมาขายให้กับทางกลุ่มแพปลาชุมชนมากขึ้น และจากความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจดังกล่าวได้นำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มร้านค้าชุมชนขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่ง เนื่องจาก จากแกนนำชุมชนเห็นว่า ปัจจุบันชาวบ้านต้องซื้อของอุปโภค บริโภค อยู่แล้ว รวมถึงเครื่องมือประมงโดยมีหลักในการบริหารจัดการเดียวกัน
       


"หลักการของเรา คือ เงินจะหมุนอยู่ในชุมชน แทนการไหลออกเรากำลังขยับจากการออม ไปสู่การทำธุรกิจชุมชน และเงินที่หมุนอยู่ในชุมชน จะย้อนกลับมาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งช่วยยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน การสร้างสวัสดิการให้กับผู้ด้อยโอกาสในชุมชน รวมถึงการมีกองทุนเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งเป็นฐานอาชีพของชุมชน จากการทำมันทำให้เรามองเห็นอนาคตของเราได้รางๆ...จ๊ะแหม่มย้ำถึงหลักการอย่างมาดมั่น
 


เพราะ...แม้จะเป็นอนาคตที่มองเห็นได้เพียงรางๆ ..หากแต่เป็นอนาคตที่พวกเขาวาดได้ด้วยตัวเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net