Skip to main content
sharethis




11 ตุลาคม 2550


นักเคลื่อนไหวเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว



องค์การนิรโทษสากลรายงานว่า นายโควินฉ่วย สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีหนึ่งในนักเคลื่อนไหวที่ถูกจับเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา เสียชีวิตระหว่างถูกสอบปากคำ ซึ่งทางการพม่าออกมายอมรับว่าเป็นความจริงแต่ไม่ได้ให้รายละเอียดของสาเหตุการเสียชีวิต โดยขณะนี้ทางการยังไม่อนุญาตให้ครอบครัวของนายโควินฉ่วยนำศพกลับบ้านเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา (สำนักข่าว Democratic Voice of Burma)


 


 


12 ตุลาคม 2550


จีนจับมือยูเอ็นต่อต้านรัฐบาลพม่า


ทางการจีนให้การสนับสนุนคณะมนตรีสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็นครั้งแรกในการออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลพม่าที่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนที่ทำการประท้วงอย่างสันติ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด นอกจากนี้ ทางคณะมนตรีสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าร่วมเจรจากับนางอองซาน ซูจีโดยเร็ว  (สำนักข่าวThe Guardian)


 



13 ตุลาคม 2550


รัฐบาลพม่าเมินข้อเรียกร้องยูเอ็น


รัฐบาลพม่าเพิกเฉยข้อเรียกร้องของยูเอ็นที่ให้มีการปฏิรูปการเมืองและดำเนินการเจรจาร่วมกับนางอองซาน ซูจี โดยนายพลตั้นชินออกมาโต้ว่า สถานการณ์พม่าในปัจจุบันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคและนานาชาติ และรู้สึกเสียใจกับมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ออกมาประณามรัฐบาลพม่า ซึ่งรัฐบาลพม่าจะดำเนินการแผนสู่ประชาธิปไตยหรือโรด์แม็พด้วยวิธีของตนเองต่อไป (สำนักข่าวAP)


 


 


15 ตุลาคม 2550


รัฐบาลพม่าเปิดให้ใช้อินเทอร์เน็ต 24 ชั่วโมงแล้ว


รัฐบาลพม่าเปิดใช้งานอินเทอร์เน็ต 24 ชั่วโมงแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากปิดใช้งานตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน และเริ่มเปิดให้ใช้งานอีกครั้งเมื่อต้นเดือนนี้ ขณะที่เจ้าของธุรกิจร้านค้าอินเทอร์เน็ตในกรุงย่างกุ้งเผยรัฐบาลสั่งให้ติดตั้งระบบตรวจสอบในร้านอินเทอร์เน็ตทุกร้าน เพื่อป้องกันประชาชนเข้าเว็บไซต์ที่ทางการพม่าบล็อกไว้ (สำนักข่าว Mizzima)   


 


ขณะเดียวกัน ประชาชนในรัฐมอญสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม แต่ไม่สามารถรับและส่งอีเมลของเว็บไซต์ G-mail ได้ หลังมีการเผยแพร่ข้อมูลรัฐบาลพม่าทำร้ายและฆ่าพระสงฆ์และกลุ่มผู้ประท้วง (สำนักข่าว Independent Mon News Agency)



 


 


แรงงานพม่าในสุราษฎร์บริจาคเงินให้พระสงฆ์พม่า


แรงงานข้ามชาติจากพม่าทั้งชาวกะเหรี่ยง ชาวอาระกันและชาวไทยใหญ่กว่า 2, 000 คนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมแสดงความเป็นปึกแผ่นร่วมกับชาวพม่าในประเทศโดยการร่วมบริจาคเงินจำนวนกว่า 2 ล้านจั๊ต (57,895 บาท) แก่สหพันธ์พระสงฆ์พม่า (ABMA) เพื่อสนับสนุนพระสงฆ์ที่ร่วมประท้วงอย่างสันติ (สำนักข่าว Kachin News Group)


 


 


16 ตุลาคม 2550


กาชาดสากลห่วงใยผู้ถูกกุมขัง


นาย Pierre Kraehenbuehl ผู้อำนวยการกาชาดสากลแถลงว่า องค์การกาชาดสากลได้ทำเรื่องขอเข้าเยี่ยมผู้ถูกกุมขังจำนวนหลายพันคนซึ่งถูกจับในระหว่างที่รัฐบาลพม่าทำการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพม่ายังไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อข้อเสนอดังกล่าว ขณะที่กาชาดสากลรู้สึกเป็นห่วงสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ที่ยังถูกคุมขังทั้งหมด (สำนักข่าว รอยเตอร์)


 

 


พระสงฆ์บุตรชายสมาชิกNLDถูกจำคุกข้อหาแกนนำประท้วง


พระอูอินดรียะ อายุ 23 ปี ถูกจับในวัด Myo Ma ในรัฐอาระกันเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ในข้อหาเป็นแกนนำพระสงฆ์ต่อต้านรัฐบาลพม่าเมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานว่าพระรูปดังกล่าวถูกทางการพม่าจับสึกและถูกพิพากษาคดีที่ศาลแห่งหนึ่งในอำเภอมงด่อว์ โดยทางการไม่อนุญาตให้ญาติและบุคคลภายนอกเข้ารับการฟังการพิพากษาครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์รูปนี้เป็นบุตรชายของสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีประจำรัฐอาระกัน ซึ่งถูกจับเมื่อสองปีก่อนและถูกทางการพม่าตัดสินจำคุกเป็นเวลาหลายปี ขณะที่มีข่าวแพร่สะพัดว่าพระอูอินดรียะอาจต้องถูกทางการพม่าตัดสินให้จำคุกเป็นเวลานานเช่นเดียวกับบิดา (สำนักข่าว Narinjara)


 


     


17 ตุลาคม 2550


นักศึกษาปี 88 ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการยูเอ็น


กลุ่มนักศึกษาปี 1988(2531)ส่งหนังสือถึงนายบันคีมูน เลขาธิการและสมาชิกคณะมนตรีแห่งสหประชาชาติ ให้ร่วมกดดันรัฐบาลพม่ามากกว่านี้ เนื่องจากรัฐบาลพม่ายังคงไล่ล่าจับกุมนักเคลื่อนไหวและผู้เข้าร่วมการประท้วง รวมถึงเรียกร้องให้ช่วยเหลือกลุ่มผู้ประท้วงซึ่งประกอบไปด้วยพระสงฆ์และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ถูกจับอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีรายงานว่าผู้ถูกกุมขังทั้งหมดต้องถูกทางการพม่าทรมานร่างกายในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว (Democratic Voice of Burma)


 


 


รัฐบาลพม่าแบนสื่อตีพิมพ์จากต่างประเทศ



รัฐบาลพม่าประกาศแบนสื่อต่างประเทศที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ประท้วงในประเทศที่ผ่านมา ขณะที่นักข่าวในกรุงย่างกุ้งออกมาให้สัมภาษณ์ว่าได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าสื่อท้องถิ่นในพม่าจำต้องพึ่งข่าวสารจากต่างประเทศ และมีรายงานว่านักเรียนนักศึกษาต่างก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เนื่องจากต้องอาศัยสื่อนอกประเทศในการค้นคว้าศึกษา ขณะที่มีรายงานว่า รัฐบาลพม่าให้บทลงโทษจำคุก 20 ปีแก่ผู้ที่เข้าอ่านเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ Irrawaddy ซึ่งเป็นสื่อที่ต่อต้านรัฐบาลพม่า โดยมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย (สำนักข่าว Irrawaddy)



 


 


18 ตุลาคม 2550


ทางการพม่าปล่อยตัวพระเอกและดาราตลกแล้ว


นายจ่อทุน พระเอกชื่อดังพม่าและภรรยา รวมถึงนายซากานา โคทุระ นักแสดงตลก ถูกทางการพม่าปล่อยตัวแล้วเมื่อวันพุทธที่ผ่านมา หลังจากถูกจับพร้อมกับผู้ประท้วงอีกหลายๆ คนขณะเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงและถวายน้ำและอาหารแก่พระสงฆ์ที่เจดีย์ชเวดากองเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า นายซากานามีสุขภาพไม่ค่อยดีหลังถูกปล่อยตัว (สำนักข่าว Mizzima)


 


นายพลพม่าปล่อยตัวผู้ค้ายาเสพติด


เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยด้านเจดีย์ด่านสามองค์เผย พลอากาศโทลาอูของพม่า จากกองพัน 308 ประจำชายแดนพม่าบริเวณเจดีย์ด่านสามองค์ ได้สั่งการให้ปล่อยตัวพ่อค้ายาเสพติด ชื่อนายมิ้นเทวิน ซึ่งถูกจับกุมเมื่อสองวันก่อนในข้อหามีสารนิโคตินในครอบครอง โดยการร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยและพม่า อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า มีการลอบขายสารนิโคตินในพื้นที่เพิ่มขึ้น (สำนักข่าว Kaowao)


 


 






 


  


 


 CHUEM NEWS โดย ศูนย์ข่าวสาละวิน


 ติดตามสถานการณ์ในพม่าและบทความต่าง ๆ ที่น่าสนใจได้ที่ www.salweennews.org


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net