Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2550 นายวสันต์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมการในสิทธิทรัพยากรชายฝั่ง แร่และสิ่งแวดล้อม ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เดินทางลงสำรวจความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ 2 แห่ง ที่ถูกกำหนดโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง ประกอบด้วยพื้นที่รอบอ่าวละงู จังหวัดสตูล ที่จะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ในพื้นที่ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู และพื้นที่หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 11 ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ถูกกำหนดสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่สอง เนื่องจากมีการร้องเรียนว่า ทั้ง 2 โครงการอาจจะส่งผลกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่


 


โดยในช่วงเช้านายวสันต์ พร้อมคณะได้เดินทางได้ที่ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล อำเภอเมืองจังหวัดสตูล มีชาวบ้านจะพื้นที่ 4 หมู่บ้านรอบอ่าวละงู จำนวนกว่า 40 คน มาให้ข้อมูล โดยนายยายา ตรุรักษ์ แกนนำชาวประมงพื้นบ้านบ้านปากบรา ระบุว่า ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มชาวประมงพื้นที่บ้าน ทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราน้อยมาก


 


"ตอนนี้มีการปล่อยข่าวว่า จะไม่มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราอีกแล้ว จึงทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก รวมทั้งฝ่ายรัฐเองก็ไม่ได้มาชี้แจงให้ชาวบ้านรู้อะไรมากนัก" นายยายากล่าว


 


นายยายา ชี้แจงต่อว่า ขณะนี้ทราบมาว่า ได้มีการบรรจุโครงการนี้ไว้ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในระยะ 5 ปีด้วย แสดงว่าท่าเรือน้ำลึกต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่มีความมั่นคงในอาชีพ รวมทั้งที่ทำมาหากิน ไม่สามารถรับมือได้ทัน เนื่องจากในแผนดังกล่าว ไม่ได้ระบุแผนรองรับสำหรับชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมง รวมทั้งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐ ทั้งที่เช่นขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ และที่ราชพัสดุ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอาจถูกใช้เป็นพื้นที่ลานตั้งตู้สินค้าขนาดใหญ่ หรือ คอนเทนเนอร์


 


นางเสาวนีย์ สำลี แกนนำอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า จากการประเมินโดยสายตา คาดว่าน่าจะมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐ กว่า 500 ครัวเรือน ที่อาจจะได้รับผลกระทบหากจะมีการนำที่ดินของรัฐในตำบลปากน้ำไปใช้เป็นที่ตั้งตู้สินค้าขนาดใหญ่ ทั้งนี้พื้นที่เช่าขององค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ มีประมาณ 130 กว่าไร่


 


ทั้งนี้ ในที่ประชุมชาวบ้านส่วนใหญ่ แสดงความเป็นว่า ไม่สามารถที่จะคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือนำลึกได้ แต่ต้องการให้รัฐได้มีการชดเชยในสิทธิในที่ทำกินของชาวประมงพื้นบ้าน รวมทั้งที่อยู่อาศัยด้วย แต่ขอให้ชาวบ้านทราบข้อมูลให้มากก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะมีท่าทีของโครงการนี้อย่างไรต่อไป พร้อมทั้งมีการระบุว่าเหตุที่ส่งหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็เนื่องมาจากชาวบ้านไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับท่าเรือน้ำลึกปากบารามากนัก


 


ต่อมาในช่วงบ่ายวันเดียวกันนายวสันต์ ได้เดินทางต่อไปยังริมชายทะเลบริเวณหมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 11 ตำบลนาทับ โดยมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งมาให้ข้อมูล โดยพบว่า มีชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ดินสาธารณะที่ถูกกำหนดจะสร้างเป็นพื้นที่หลังท่าเรือจำนวน 73 ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าว โดยมีเอกสารสำคัญที่หลวง (นสล.) มายืนยันด้วย


 


นายวสันต์ เปิดเผยหลังจากสอบถามข้อมูลจากชาวบ้านทั้งสองแห่งว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้มองในภาพรวมว่า เมื่อรัฐมีโครงการก่อสร้างท่าเรือทั้งสองสองฝั่งทะเล คือฝั่งอ่าวไทย ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กับฝั่งทะเลอันดามัน ที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยจะมีการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อจนส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่เชื่อมท่าเรือทั้งสองฝั่งทะเล ซึ่งต้องมีการก่อสร้างลาดตั้งตู้สินค้าดังกล่าวด้วย ซึ่งชาวบ้านทั้งสองแห่งได้ส่งหนังสือร้องเรียนว่า อาจส่งผลกระทบกับที่อยู่อาศัยของพวกเขา ร่วมทั้งสูญเสียพื้นที่จับสัตว์น้ำจากการสร้างท่าเรือน้ำลึก


 


นายวสันต์ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่บ้านปากบารา พบว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรม ทั้งที่เป็นที่เช่าและที่อยู่ฟรี หากจะมีการนำพื้นที่ดังกล่าว ไปใช้เป็นที่ตังตู้สินค้าขนาดใหญ่ จะให้พวกออกไปอยู่ที่ไหน ส่วนในพื้นที่อ่าวปากบารา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวละงู หากมีการถมทะเลสร้างท่าเรือแล้ว พวกเขาจะไปหากินที่ไหน โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุม เพราะบริเวณดังกล่าว ชาวประมงพื้นบ้านจะออกเรือจับสัตว์น้ำในช่วงมรสุมจำนวนมาก เพราะไม่สามารถออกไปจับสัตว์น้ำที่อื่นได้


 


"หากทั้งบ้านและที่หากินได้รับผลกระทบจากท่าเรือน้ำลึก แน่นอนก็ต้องส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตไปด้วย" นายวสันต์ กล่าว


 


นายวสันต์ เปิดเผยอีกว่า ส่วนพื้นที่ตำบลนาทับ อำเภอจะนะมีลักษณะไม่แตกต่างกัน แต่ปรากฏว่าทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่กลับระบุว่าสามารถเจรจากับชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวได้ แต่ก็ไม่ได้มีแผนรองรับว่าจะให้พวกเขาไปอยู่ที่ไหน


 


นายวสันต์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในพื้นที่ชายฝั่งตำบลนาทับ มีปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุแรงอยู่ด้วย ซึ่งมีงานวิจัยระบุชัดเจน มีสาเหตุมาจากเขื่อนดักทรายที่สร้างขึ้นโดยการถมหินยื่นออกไปในทะเล บริเวณปากคลองนาทับ ซึ่งได้ดักทรายให้ทับถมทางด้านทิศตะวันออกของเขื่อน ส่วนทางด้านทิศตะวันตก ชายฝั่งถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง เนื่องจากไม่มีทรายมาทับถมคืน หากมีการสร้างท่าเรือก็ต้องมีการสร้างเขื่อนกันคลื่นยาวออกไปในทะเลหลายกิโลเมตร เนื่องจากเป็นทะเลเปิดไม่มีเกาะกำบัง ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะส่งผลกระทบให้เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงมาขึ้นอีกหรือไม่


 


นายวสันต์ เปิดเผยด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณดังกล่าวนั้น ทางกรมขนส่งทางน้ำและพานิชยนาวี กระทรวงคมนาคม กำลังสร้างแนวกำแพงกันคลื่นตลอดแนวชายฝั่ง ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ เคยเขาไปตรวจสอบแล้ว เนื่องจากได้รับการร้องเรียนเช่นกัน เห็นว่า เป็นวิธีการที่ยังไม่ถูกต้อง แต่ชาวบ้านในพื้นที่เห็นว่า การกัดเซาะกำลังจะถึงพื้นที่ชุมชน จึงไม่คัดค้านวิธีการดังกล่าว โดยไม่ได้มองที่สาเหตุที่แท้จริง ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า ควรตัดเขื่อนดักทรายบริเวณปากคลองนาทับให้สั้นลง เพื่อให้ทรายได้เคลื่อนที่ไปทับถนแทนส่วนที่ถูกกัดเซาะไป ส่วนจะทำให้ทรายไปทับถมปิดปากคลอง ทำให้เรือแล่นผ่านไม่ได้ ก็ใช้วิธีขุดลอกอย่างที่เคยทำมาในอดีต ซึ่งไม่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงเช่นปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net