รพ.รามัน การแพทย์วิถีมุสลิมกลางไฟใต้

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

 

"รามัน"  เมืองที่เป็นศูนย์รวมการค้าและความบันเทิงในอดีต แต่ทุกวันนี้ รามัน คืออำเภอที่อยู่ท่ามกลางความร้อนแรงของสถานการณ์ไฟใต้ที่ยากจะดับ โรงพยาบาลรามัน คือส่วนเล็กในอำเภอแห่งนี้ที่ยืนหยัดอยู่เป็นที่พึ่งที่รักษาดูแลชีวิตของชาวรามัน

 

จากโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กที่ไม่ได้รับความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชน กลายเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีระดับการพัฒนาสูงที่สุดในจังหวัดยะลา ที่รับภาระการดูแลประชาชนกว่า 82,000 คน ด้วยความมุ่งมั่นและพยายามของ   นพ.รอซาลี ปัตยะบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน ผู้ยึดหลักการให้บริการที่ใส่ใจทุกบริบทของวัฒนธรรมมุสลิมได้ใช้กระบวนการที่ได้จากเวทีสานเสวนาเมื่อปี 2548 ซึ่งมีการระดมสมองจากกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขและประชาชนในพื้นที่มาพูดคุยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อปรับเปลี่ยนระบบบริการสาธารณสุขให้ถูกต้องตามหลักปฏิบัติในวิถีมุสลิม จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ (สวรส.ใต้.มอ.) ภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

           

นพ.รอซาลี ปัตยะบุตร กล่าวว่า ชาวรามันที่มาเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลรามันเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีความละเอียดอ่อนในวิถีวัฒนธรรม และมีหลักปฏิบัติที่เคร่งครัด การให้บริการที่ใส่ใจในทุกบริบทของวัฒนธรรมจะทำให้ประชาชนรู้สึกสบายใจเมื่อมาใช้บริการที่โรงพยาบาล ตัวอย่างเช่น การให้การดูแลหรือตรวจร่างกายผู้ป่วยหญิงมุสลิม ส่วนใหญ่จะจัดให้แพทย์หญิงเป็นผู้ดูแล หรือถ้าหากมีแต่แพทย์ผู้ชายจะต้องให้มีเจ้าหน้าที่หญิงอยู่ด้วยเสมอ และต้องทำในห้องที่มิดชิด ซึ่งนอกจากหลักปฏิบัติดังกล่าวแล้ว ยังมีการปรับปรุงการให้บริการอื่นๆ ที่อิงกับหลักการปฏิบัติตามศาสนาอิสลาม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนา และได้ดูแลรักษาสุขภาพของตนตามหน้าที่ของมุสลิมที่ดี

 

"หลักการให้บริการของโรงพยาบาลรามันที่สำคัญคือ ต้องดูแลโดยยึดหลัก Patient Center หรือ การมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนของโรงพยาบาลจะต้องให้บริการอย่างรู้จักและเข้าใจในวัฒนธรรมของชุมชน อันดับแรกคือการสื่อสารกับชาวบ้านซึ่งใช้ภาษายาวีเป็นภาษาถิ่น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุซึ่งมักไม่ค่อยเข้าใจภาษาไทย การสื่อสารด้วยภาษายาวีง่ายๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถบอกกล่าวอาการเจ็บป่วยได้อย่างตรงใจ และยังสามารถเข้าใจคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาได้อย่างชัดเจนขึ้น ดังนั้นโรงพยาบาลจึงจัดให้มีการอบรมสอนภาษายาวีเบื้องต้นแก่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทุกคน และจัดทำคู่มือภาษายาวีขึ้น การที่เจ้าหน้าที่ที่เป็นคนไทยพุทธ และมุสลิมพูดจาสื่อสารกับผู้ป่วยด้วยภาษาถิ่น แม้จะกระท่อนกระแท่นแต่จะทำให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความประทับใจ รู้สึกเป็นกันเองมากขึ้น"        

 

นอกจากนี้ ยังมีการปรับรูปแบบการให้บริการที่ใส่ใจวัฒนธรรม โดยคำนึงถึงทุกบริบทของวิถีอิสลาม อาทิเช่น การดูแลหญิงมีครรภ์และการคลอด ชาวมุสลิมส่วนใหญ่จะนิยมคลอดกับหมอตำแย หรือ โต๊ะบิดัน เนื่องจากการคลอดที่บ้านจะทำให้ทารกและแม่ได้รับความอบอุ่นและกำลังใจจากครอบครัว และทันทีที่ได้ยินเสียงแรกของทารก ทารกจะได้รับการอาซาน หรือ คำปฏิญาณตนของคนมุสลิมนำทางให้เด็กมีจิตใจศรัทธาต่อพระอัลลอฮฺ ซึ่งเป็นการให้พรจากผู้เฒ่าที่ได้รับความเคารพ

 

ดังนั้นเพื่อเป็นการลดปัญหาการติดเชื้อหรือความเจ็บป่วยของแม่และเด็ก โรงพยาบาลจึงจัดให้มีการอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้โต๊ะบิดัน โดยการสนับสนุนอุปกรณ์การทำคลอด เช่น กรรไกรตัดสายสะดือ แอลกอฮอล์ และมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างโต๊ะบิดันกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ให้เกิดความคุ้นเคย ลดข้อขัดแย้ง และเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ด้านโรงพยาบาลก็ได้เรียนรู้วิธีการทำคลอด และดูแลแม่และเด็กในวิถีของโต๊ะบิดัน พร้อมทั้งปรับปรุงการให้บริการการคลอดใหม่ คือ อนุญาตให้ผู้หญิงหรือโต๊ะบิดันเข้าไปให้กำลังใจในห้องคลอดได้ และเมื่อเด็กเกิดก็มีบริการถ่ายรูปพ่อแม่ลูกให้เป็นที่ระลึกก่อนกลับบ้านด้วย

 

นพ.รอซาลี กล่าวอีกว่า ชาวรามันจะมีความเคร่งครัดเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจอย่างมาก เช่น การถือศีลอด หรือ รอมฎอน ที่ทุกคนต้องถือศีลอดปีละ 1 เดือน ซึ่งในช่วงการถือศีลนี้การรักษาบางอย่างไม่สามารถทำได้ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการให้บริการให้เหมาะสมกับช่วงเวลาถือศีลอด เช่น การสั่งยารับประทานจะเปลี่ยนเป็นวันละ 2 เวลา แทนวันละ 3 หรือ 4 เวลา งดการให้ยาสอดช่องคลอด หรือยาเหน็บทวาร เปลี่ยนจากยาที่ออกฤทธิ์สั้น และออกฤทธิ์ยาว ไม่รักษาด้วยการฉีดยา หรือการเจาะเลือด การนัดหมายเพื่อรักษาโรคเรื้อรังจะนัดเป็น 2 เดือน เพื่อให้พ้นช่วงการถือบวช เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการดูแลและให้คำปรึกษาด้านสุขภาพสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจจ์ ที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบีย เรียกว่า คลินิกฮัจจ์ คือ ให้บริการฉีดวัคซีนตามมาตรฐาน ตรวจสุขภาพ จัดยาโรคประจำตัวให้เพียงพอ หรือหากเป็นผู้หญิงจะแนะนำให้ใช้ยาเลื่อนประจำเดือน เนื่องจากหากมีประจำเดือนจะไม่สามารถประกอบพิธีได้" นพ.รอซาลี กล่าว

 

อย่างไรตาม ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงนี้ได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล โดยปัญหาของชาวบ้านคือ สถานีอนามัยต้องปิดบริการบ่อยครั้ง ผู้ป่วยจึงมักมารับบริการที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะในช่วงกลางวัน ขณะที่โรงพยาบาลมีภาระเพิ่มมากขึ้นและยังมีความเสี่ยงต่อการถูกทำร้าย เจ้าหน้าที่จึงมีความเครียดมาก มาตรการหนึ่งที่ทำได้สำหรับเจ้าหน้าที่ คือ เสริมด้านความปลอดภัยในโรงพยาบาลให้มากที่สุด เช่น ปรับปรุงสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลให้สะดวกต่อการดูแล ฝึกอบรมการป้องกันตัวด้วยอาวุธปืนให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทุกคน จัดรถรับส่งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และที่สำคัญคือสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่โรงพยาบาลในระยะยาว โดยต้องไม่สร้างความไม่พอใจให้ชุมชน ปัญหาทุกปัญหาต้องทิ้งไว้ในโรงพยาบาลอย่าปัญหาเอากลับบ้าน เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงกับเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล การจัดบริการที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมชุมชนมุสลิมจึงเป็นหัวใจของการสร้างศรัทธาในชุมชน และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับโรงพยาบาลรามัน ช่วยให้เกิดความสงบสุขได้ทั้งกับคนในชุมชน และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรามัน

 

นอกจากนี้ เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาผลกระทบจากความรุนแรงของชายแดนภาคใต้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุขและหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ฯลฯ เตรียมจัดงานสัมมนาวิชาการเรื่องการจัดการความรู้ระบบสุขภาพเพื่อสันติสุขภาวะพื้นที่ภาคใต้ ขึ้นในระหว่างวันที่ 7 - 8 พฤศจิกายน 2550 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร โดยมุ่งหวังที่จะวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ นำไปสู่ข้อเสนอเชิงระบบ เพื่อนำเสนอต่อผู้บริหาร ผู้แทนพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท