Skip to main content
sharethis

พม่าเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดป้องกันการชุมนุมประท้วงครั้งใหม่...ผู้นำพม่ายอมเปิดการเจรจากับผู้นำฝ่ายค้านแล้ว ...ตั้ง เต็ง เส่ง นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี...ชี้แจงพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ ไม่อาจหลีกเลี่ยงใช้กำลังปราบ...นายกอบต.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ผลักดันเปิดจุดผ่อนปรนค้าชายแดน...ผบ.สส.ตรวจ ระนองโมเดล นำร่องแก้ปัญหาแรงงาน... ระบุทหารพม่ายังคงกระทำทารุณต่อชนกลุ่มน้อย...จีนยังคงยืนยันท่าทีเดิมต่อพม่า

 

สถานการณ์ในประเทศพม่า

 

พม่าเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดป้องกันการชุมนุมประท้วงครั้งใหม่

พม่าเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดป้องกันการชุมนุมประท้วงครั้งใหม่ ในโอกาสครบรอบ 1 เดือนของเหตุการณ์นองเลือดจากการใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง

 

ตำรวจปราบจลาจลพม่าหลายร้อยนายพร้อมอาวุธปืนและแก๊สน้ำตากระจายกำลังรักษาความปลอดภัยตามสถานที่ต่างๆทั่วนครย่างกุ้งในวันนี้ เพื่อป้องกันประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงในโอกาสครบรอบ 1 เดือนของเหตุการณ์นองเลือดจากการที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่มีพระสงฆ์เป็นแกนนำเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่ประตูทางตะวันออกของเจดีย์ ชเวดากอง ได้มีการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา พร้อมทั้งมีการนำลวดหนามมาขึงไว้รอบบริเวณดังกล่าว เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เป็นใจกลางการประท้วงครั้งก่อน

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 26/10/2550)

 

 

ผู้นำพม่ายอมเปิดเจรจากับผู้นำฝ่ายค้าน ขณะที่สหรัฐเร่งกระบวนการสมานฉันท์เต็มรูปแบบด้วย

นางออง ซาน ซูจี  ผู้นำฝ่ายค้านของพม่าได้ออกจากบ้านพักในกรุงย่างกุ้งไปยังเรือนรับรองของทางการเพื่อพบเจรจากับพลตรี อ่อง ยี รัฐมนตรีความสัมพันธ์ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าแต่งตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 8 เดือนนี้เพื่อดำเนินการเจรจากับนางซูจีโดยเฉพาะ การเจรจามีขึ้นเมื่อเวลาราว 14.00 น.ถึง 15.15 น เมื่อวันที่ 25 ภาพที่ปรากฎทางโทรทัศน์ของพม่า ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลทหารพม่าจัดที่นั่งเจรจาหารือให้แก่นางซูจีเฉกเช่นบุคคลสำคัญ หาใช่ผู้ที่มีความผิดจนต้องถูกกักบริเวณมาเป็นเวลานานไม่ โทรทัศน์พม่ายังระบุว่า การจัดตั้งนายพล อ่อง ยี ขึ้นมาเป็นผู้แทนรัฐบาลเพื่อเจรจากับนางซูจีนี้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของนายอิบราฮิม กัมบารี ผู้แทนของสหประชาชาติที่มีขึ้นในขณะเยือนพม่าเมื่อปลายเดือนที่แล้ว 

 

ทางด้านสหรัฐนั้น นายซัลเมย์ คาลีซาด ทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า การที่รัฐบาลทหารพม่ายอมเปิดเจรจากับนางซูจี เป็นเรื่องที่ดี แต่ยังดีไม่พอ ควรมีการเริ่มต้นกระบวนการสมานฉันท์และการถ่ายโอนอำนาจไปสู่ประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบไปพร้อมๆ กัน พร้อมกับแนะว่า การเจรจาที่มีขึ้นควรให้นายกัมบารีเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย อีกทั้งนางซูจีควรได้รับสิทธิในการปรึกษาหารือกับสมาชิกพรรคของนางด้วย นายคาลีซาดยังแนะว่า สหประชาชาติและสหรัฐต้องเร่งผลักดันอินเดีย จีน และกลุ่มประเทศสมาคมอาเซียนให้กดดันรัฐบาลทหารพม่าให้ยอมปรับเปลี่ยนสถานภาพของนางซูจี  เร่งการเดินทางเยือนพม่าของนายกัมบารีให้มีขึ้นโดยเร็ว และให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด

 

สำหรับนายกัมบารีนั้น เมื่อวันที่ 25 ได้หารือกับผู้แทนรัฐบาลจีนที่กรุงปักกิ่งเป็นวันที่ 2 แล้ว และในวันนี้จะเดินทางต่อไปยังกรุงโตเกียวเพื่อหารือกับนายกรัฐมนตรี ยาซูโอะ ฟูกูดะและรัฐมนตรีต่างประเทศ มาซาทากะ โคมูระต่อไป ขณะเดียวกัน ทางด้านฝรั่งเศสนั้น นายแบร์นาร์ คูชเนอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศได้เริ่มการเยือนเอเชียเพื่อขอความร่วมมือในการกดดันรัฐบาลทหารพม่าแล้วโดยเริ่มต้นที่สิงคโปร์ จากนั้นจะมายังเมืองไทยและต่อไปยังประเทศจีนในระหว่างการเยือนนี้นายคูชเนอร์จะหาโอกาสพบกับผู้อพยพลี้ภัยชาวพม่าและผู้นำฝ่ายค้านของพม่าด้วย

(สำนักข่าวไทย วันที่ 26/10/2550)

 

 

พม่าตั้ง "เต็ง เส่ง" นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

สื่อของทางการพม่า รายงานเมื่อวันพุธ (24 ต.ค.) ว่า รัฐบาลได้แต่งตั้งพลโทเต็ง เส่ง ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างเป็นทางการ แทนพลเอกโซ วิน ซึ่งเสียชีวิตจากอาการป่วย เมื่อวันที่ 12 ต.ค.

 

พลโทเต็ง เส่ง วัย 61 ปี เป็นผู้นำอันดับ 5 ของรัฐบาลทหาร และดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่พลเอกโซ วิน สละอำนาจชั่วคราวเมื่อเดือนพ.ค. เพื่อรักษาอาการป่วย อย่างไรก็ดี การแต่งตั้งครั้งนี้ไม่น่าจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย ซึ่งกำหนดโดยผู้นำระดับสูงของรัฐบาลทหาร ขณะที่นายกรัฐมนตรีไม่ค่อยมีอำนาจบริหารประเทศ

 

พม่ากำลังเผชิญแรงกดดันจากนานาชาติให้ปฏิรูปการเมือง หลังการสลายผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน แต่ฝ่ายต่อต้านชี้ว่ามีผู้ถูกสังหาร 200 คน และถูกคุมขัง 6,000 คน ในจำนวนนี้รวมถึงพระสงฆ์หลายพันรูป

 

รัฐบาลสหรัฐกำลังพยายามคุมเข้มเส้นทางโอนถ่ายเงินของแกนนำรัฐบาลพม่ากับต่างแดน ด้วยการพุ่งเป้าธุรกิจและครอบครัวของนายเทย์ ซา มหาเศรษฐีชาวพม่า ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้มีบทบาททางเศรษฐกิจสูงสุดรายหนึ่งในประเทศ

 

ฝ่ายต่อต้านและนักธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ธุรกิจของนายเทย์ ซา เฟื่องฟูในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เพราะความใกล้ชิดกับบรรดาผู้นำทหาร โดยมีการขยายกิจการจากการค้าอัญมณีไปจนถึงสายการบินระหว่างประเทศ

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐได้ขึ้นบัญชีดำนายเทย์ ซาร์ นางธิดาร์ ซอว์ ภรรยาของเขา และนายเปีย พโย ลูกชาย รวมทั้งอายัดทรัพย์สินทั้งหมดของพวกเขาในสหรัฐ และห้ามบริษัทในประเทศดำเนินธุรกิจกับครอบครัวของนายเทย์ ซา

(กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26/10/2550)

 

 

พม่าชี้แจงพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ ไม่อาจหลีกเลี่ยงใช้กำลังปราบ 

นสพ. นิวไลท์ ออฟ เมียนมาร์ รายงานเมื่อวันที่ 25 ว่า รัฐมนตรีกระทรวงศาสนาพม่ากล่าวปราศรัยต่อบรรดาพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ก่อนจะถึงเทศกาลทางศาสนาของชาวพุทธ โดยขอให้เข้าใจถึงเหตุการณ์ที่รัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงเมื่อเดือนที่แล้วว่า เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ พร้อมตำหนิพระสงฆ์ว่าเป็นต้นเหตุของการประท้วงดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินมาตรการต่อต้านพระสงฆ์ซึ่งเป็นแกนนำในการประท้วงอย่างไม่มีทางเลือก เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อหลักการของศาสนาพุทธและชาติ

 

ระหว่างการปราศรัยรัฐมนตรีกระทรวงศาสนาพม่า ยังได้ขออภัยต่อกรณีที่มีการจับกุมพระสงฆ์บางคนไปสอบปากคำ แต่ปฏิเสธว่าไม่มีพระสงฆ์มรณภาพจากเหตุการณ์ไม่สงบ พร้อมทั้งได้ขอให้บรรดาพระชั้นผู้ใหญ่ดำเนินมาตรการควบคุมพระสงฆ์อย่างเข้มงวดด้วย

(สำนักข่าวเนชั่น วันที่ 25/10/2550)

 

 

การค้าชายแดน

 

 

นายกอบต.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ผลักดันเปิดจุดผ่อนปรนค้าชายแดน

นายสมศักดิ์ อาทรสิริรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี กล่าวว่า "ช่องตะโกปิดทอง" หมู่ที่ 8 ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่จังหวัดราชบุรีพยายามผลักดันเปิดเป็นจุดผ่อนปรนการค้าชายแดน และพัฒนาเปิดด่านการค้าถาวร จากช่องทางตะโกปิดทองออกสู่ทะเลอันดามันที่จ.ทวาย ประเทศพม่า มีระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร เนื่องจากช่องทางดังกล่าวนอกจากเป็นพื้นที่เหมาะสมด้านการท่องเที่ยวแล้ว ยังสามารถร่นระยะทางการขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ออกสู่ทะเลอันดามัน ปัจจุบันต้องบรรทุกสินค้าเรือผ่านทางตอนใต้ของประเทศไทยที่มีระยะทางไกลหลายร้อยกิโลเมตร ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางจำนวนมาก

 

ส่วนหนึ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนคือ ทางจังหวัดมีมติให้อบต.สวนผึ้งร่วมกับทางอำเภอ จัดตลาดนัดชายแดนบริเวณช่องตะโกปิดทอง หมู่ที่ 8 ตำบลสวนผึ้ง เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นช่องทางหนึ่งที่จะเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนขึ้น แต่ยังติดปัญหาหลายประการ ทั้งการเจรจาข้อตกลงกับทางพม่าต้องเป็นระดับหน่วยเหนือขึ้นไป ซึ่งทางจังหวัดดำเนินการอยู่ ทางอำเภอสวนผึ้งพร้อมมานานแล้ว สำหรับการจัดตลาดนัดชายแดน เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและค้าขาย ท้องถิ่นกำลังทำผังการสร้างตลาดนัด และเข้าข้อบัญญัตินำงบประมาณมาเปิดตลาดนัดชายแดน สำหรับเส้นทางได้ลาดยางเข้าไปส่วนหนึ่งแล้ว เหลือเพียงประมาณ 4 กิโลเมตรที่ยังเป็นถนนลูกรัง กำลังทำแผนผังให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอีก 3 กิโลเมตรเศษทำถนนขึ้นไป อบต.วางกรอบทำแผนสาธารณูปโภคเรื่องระบบไฟฟ้าเพื่อเตรียมการเปิดตลาดนัดชายแดนช่องตะโกปิดทองให้ได้ อย่างน้อยอำเภอสวนผึ้งยังมีตลาดนัดชายแดนให้ผู้คนสองประเทศได้มาค้าขายกัน

(ข่าวสด วันที่ 26/10/2550)

 

 

แรงงานข้ามชาติ

 

ผบ.สส.ตรวจ "ระนองโมเดล" นำร่องแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ

พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ในฐานะประธานอนุกรรมการประสานการจัดระบบป้องกันเพื่อจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน เปิดเผยระหว่างการเดินทางลงพื้นที่ จ.ระนอง เพื่อติดตามและรับทราบแนวทางการดำเนินงานโครงการนำร่องในการจัดระบบป้องกันพื้นที่ชายฝั่งทะเลและเกาะแก่งของ จ.ระนอง หรือที่เรียก ระนองโมเดล ว่า สืบเนื่องจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้ บก.สส.จัดทำโครงการนำร่องในการจัดระบบป้องกันและการสื่อสารพื้นที่ชายแดนฝั่งทะเลและเกาะแก่ง โดยเน้นให้นำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมในการจัดระบบเฝ้าตรวจพื้นที่ชายแดนและวางระบบสื่อสารให้ครอบคลุม ผบ.สส.กล่าวว่า คณะอนุกรรมการได้พิจารณาเลือก จ.ระนอง นำร่องภายใต้ชื่อ ระนองโมเดล เพราะเป็นจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมาก แม้จะเป็นจังหวัดเล็ก แต่การแก้ปัญหายากและท้าทาย ถ้าสำเร็จก็จะนำไปเป็นต้นแบบใช้กับจังหวัดอื่นๆต่อไป คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในต้นปี 2551

 

ด้านนางกาญจนาภากี่หมัน ผู้ว่าฯ ระนอง กล่าวว่า จ.ระนองมีแรงงานต่างด้าวประมาณ 2 ใน3 ของประชากรชาวระนอง หรือประมาณ 7 หมื่นคน และกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความหนักใจให้จังหวัด รวมถึงประชาชนที่เริ่มวิตกกังวลต่อความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โรคติดต่อต่างๆ หากปล่อยไว้โดยไม่มีการควบคุมคงไม่ได้ ที่ผ่านมาแก้ปัญหาอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง ขณะนี้รู้สึกดีใจและมีความหวังมากขึ้นที่รัฐบาลได้ให้ จ.ระนองเป็นจังหวัดนำร่องในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว 

 

ปัจจัยที่ทำให้มีการหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าเนื่องจาก จ.ระนองมีอาณาเขตติดกับประเทศพม่ายาวถึง 169 กิโลเมตร ผู้ประกอบการในประเทศไทยต้องการแรงงานประมง การเกษตร และแปรรูปสัตว์น้ำราคาถูกเพื่อแข่งขันทางการค้าได้ ทำให้การหลบหนีเข้าเมืองเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

การเข้ามาอาศัยของแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมากทำให้เกิดปัญหาสังคมและกระทบต่อความมั่นคง ทั้งเรื่องยาเสพติด ซึ่งแรงงานต่างด้าวบางส่วนลักลอบนำเข้ามา นอกจากนี้ ยังผลิตสารทดแทนยาเสพติดขึ้นใช้ภายในกลุ่ม และปัจจุบันได้แพร่ระบาดเข้าสู่ราษฎรไทย รวมถึงปัญหาอาชญากรรม ทั้งลักขโมย โจรกรรมรถข้ามชาติ เรียกค่าคุ้มครอง ปัญหาโรคติดต่อร้ายแรง อาทิ มาลาเรีย วัณโรค เท้าช้าง อหิวาตกโรค

(คมชัดลึก วันที่ 24/10/2550)

 

 

อคติทางชาติพันธุ์ละเมิดชีวิตแรงงานมอญพม่ามหาชัย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยร่วมกับสำนักงานสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน สำนักข่าวชาวบ้าน ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ และโครงการก่อตั้งมูลนิธิสื่อสารสาธารณะ (PUDSA) จัดเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง "อคติทางชาติพันธุ์ละเมิดชีวิตแรงงานมอญพม่ามหาชัย" เพื่อเปิดมุมมองด้านมายาคติแรงงานต่างด้าวที่ถูกเหมารวมเรียกว่าแรงงานพม่านั้น มีแรงงานชาวพม่าและชนชาติอื่นอยู่ราว 30% แต่อีก70% เป็นแรงงานชาวมอญที่อพยพหนีความยากจนและภัยรุกรานจากรัฐบาลพม่า ขณะเดียวกันก็ถูกละเมิดสิทธิจากนายจ้างและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงได้มีการนำเสนอแนวคิดตั้งสหภาพแรงงานชาวมอญขึ้นมา

 

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า ได้เสนอให้จัดตั้งสหภาพแรงงานชาวมอญขึ้นมา โดยมีแนวคิดมาจากกลุ่มแรงงานไทยในประเทศเกาหลีใต้ที่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มนักสอนศาสนา องค์กรพัฒนาเอกชนให้ความช่วยเหลือจนสามารถก่อตั้งสหภาพแรงงานไทยในประเทศเกาหลีใต้ได้สำเร็จ ขณะเดียวกันแรงงานไทยในฮ่องกง ซึ่งเป็นแรงงานผู้หญิงที่ทำงานเป็นแม่บ้านก็มีการตั้งสหภาพแรงงานกลุ่มแม่บ้านไทยในฮ่องกงมาแล้ว หากตั้งสหภาพแรงงานจะมีสิทธิต่อรอง ป้องกันถูกเอาเปรียบ ซึ่งเป็นสิทธิที่แรงงานทุกชาติพึงกระทำได้ แต่กฎหมายไทยยังห้ามคนต่างชาติตั้งสหภาพแรงงาน ตอนนี้กลุ่มแรงงานชาวมอญจึงเริ่มต้นด้วยการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทอผ้าใน จ.สมุทรปราการก่อน หากมีโอกาสก็จะขยับตั้งเป็นสหภาพแรงงาน แต่คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี

 

ด้าน น.ส.สุกัญญา เบาเนิด เลขาธิการชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ กล่าวว่าชุมชนชาวมอญที่อยู่กว่า 16 ชุมชน มีประเพณีและวัฒนธรรมที่คล้ายกัน จึงต้องมีภาษาที่ใช้สื่อสารกัน เพื่อแสดงตัวไม่มีเจตนาจะยึดครองแผ่นดินไทย ทั้งนี้ อักษรตัวกลมๆ ที่ปรากฏทางหนังสือพิมพ์เป็นภาษามอญไม่ใช่ภาษาพม่า ในแง่ประวัติศาสตร์ชาติมอญกับชาติพม่าแตกหักทางการเมืองมานานแล้ว มอญแยกออกจากพม่า เช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เรื่องภาษามอญเรามีมาก่อนภาษาพม่า ภาษามอญที่นำมาแสดงในมหาชัยเป็นการผสมผสานกับความเป็นไทย

 

นายอดิศร เกิดมงคล รองประธานมูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Burma Issue) กล่าวเสริมว่า หากเอาความมั่นคงของรัฐไปกดทับแรงงานข้ามชาติ ยิ่งจะสร้างปัญหามากขึ้นและไม่ควรจัดเป็นพื้นที่โซนนิ่ง แต่ควรเปิดพื้นที่ให้มีการสนทนาสื่อสารระหว่างคนไทยกับคนมอญจะให้มีความเข้าใจในความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากขึ้น

 

ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ที่ปรึกษา รมว.วัฒนธรรม มองว่าการที่คนลุกขึ้นมาขุดหารากเหง้าของตนเองไม่ใช่เรื่องผิด เพราะลึกๆ แล้วคนเราอยากรู้รากเหง้าของตนเอง แต่กลุ่มแรงงานต่างด้าวฟื้นรากเหง้าของตนเองกลับถูกมองว่าขัดต่อความมั่นคงของชาติ ขณะเดียวกัน มีการรื้อฟื้นรากเหง้าเพื่อการท่องเที่ยวกลับไม่โดนวิจารณ์เรื่องความมั่นคงของชาติ"เรามีนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น เน้นการจัดการชุมชนด้วยตนเอง อยากให้รัฐแค่ติดตามดูได้ แต่อย่าไปแทรกแซง หากเราลดอคติ เปิดมุมมองให้กว้างขึ้นคนพลัดถิ่นจะได้มีความภาคภูมิใจ สิ่งใดที่เป็นการทำนุบำรุงจิตใจมนุษยชาติเราก็ควรทำ ไม่อยากให้มองเรื่องความมั่นคงอย่างเถรตรงเกินไป

 

นายสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า ต้องคอยจับตาดูนโยบายการดูแลแรงงานต่างด้าวที่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะผลักดันกลับประเทศให้หมดและรับเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย ทัศนคติแบบนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนและนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิดพลาด ขณะที่คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วัฒนธรรม มองว่า กลุ่มแรงงานข้ามชาติจะมากลืนวัฒนธรรมไทยนั้น เราหลงลืมรากเหง้าของตัวเองก็ไม่ใช่ไทย แต่วัฒนธรรมไทยเป็นการผสมกลมกลืนของชาติต่างๆ รัฐต้องเข้าใจวัฒนธรรมใหม่

 (คมชัดลึก วันที่ 24/10/2550)

 

 

3  องค์กรจับมือทำงานด้านความมั่นคง ดูแลความปลอดภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ

นายอภิรักษ์  โกษะโยธิน  ผู้ว่าราชการกรุงเทพะมหานคร  และพลโทประยุทธ์  จันทร์โอชา  แม่ทัพภาคที่ 1 เปิดการสัมมนาความร่วมมือด้านการรักษาความมั่นคงภายในและการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างกองบัญชาการตำรวจนครบาล  กองทัพภาคที่ 1 และกรุงเทพมหานคร  โดยในส่วนของกรุงเทพมหานครมี ดร.วัลลภ  สุวรรณดี  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.พงษ์ศักติฐ์  เสมสันต์  ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกทม. ร่วมสัมมนา ที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต

 

การสัมมนาความร่วมมือด้านการรักษาความมั่นคงภายในและการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตกรุงเทพมหานคร  เป็นการสร้างความร่วมมือที่ดีที่ทหาร  ตำรวจ  และกรุงเทพมหานคร ในระดับผู้บังคับบัญชาในการรักษาความสงบเรียบร้อยได้มีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็นและกำหนดแนวทางปฏิบัติงานในการนำปัญหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงานด้านการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  การป้องกันปราบปรามยาเสพติด  การจัดการแรงงานต่างด้าว  การหลบหนีเข้าเมือง  และภัยคุกคามรูปแบบใหม่  ซึ่งจะเป็นการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดด้วยการประสานงานในลักษณะการแลกเปลี่ยนการข่าว  รวมถึงการประสานข้อมูลกันกับเอกชน  เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ให้การรักษาความมั่นคงภายในและความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ในส่วนของกรุงเทพมหานครมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร (กอ.รมน.กทม.) ที่ดำเนินการทั้งในระดับส่วนกลางและในระดับเขต ประสานกับตำรวจพื้นที่ในด้านการรักษาความปลอดภัย ความมั่นคงต่างๆ นอกจากนั้นแล้วกรุงเทพมหานครได้ติดตั้งกล้อง CCTV ในพื้นที่สำคัญๆ เช่น ถนนราชดำเนิน สนามหลวง พระบรมมหาราชวัง สถานที่ราชการสำคัญๆ ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงการใช้งานกับหน่วยงานตำรวจ ทหาร ที่ทำหน้าที่ด้านความปลอดภัยด้วย

(แนวหน้า วันที่ 25/10/2550)

 

 

กสม.แนะปลดล็อค "กองทุนเงินทดแทน" ยกกรณีศึกษา-คุ้มครองแรงงานข้ามชาติ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้พิจารณาข้อร้องเรียนกรณีนางหนุ่ม ไหมแสง แรงงานข้ามชาติชาวไทยใหญ่ ซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน จนร่างกายพิการถาวร แต่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) โดยนางหนุ่มกล่าวว่า เข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2545 โดยจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตั้งแต่ปี 2547 ทำงานก่อสร้างได้ค่าจ้างวันละ 130 บาท (ค่าจ้างขั้นต่ำเชียงใหม่วันละ 155 บาท) และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2549 ขณะที่กำลังทำงานอยู่ในสถานที่ก่อสร้าง ปรากฏว่าแบบเทปูนขนาดใหญ่ได้ตกลงมาจากชั้น 12 ของตึกทับตนจนได้รับบาดเจ็บสาหัสกระดูกสันหลังแตก และได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราช โดยใช้ค่ารักษาจากบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว สุดท้ายต้องตกอยู่ในสภาพที่เป็นอัมพาต 70%

 

"เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมเชียงใหม่ ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2550 ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนให้ดิฉันเป็นรายเดือน แต่ที่ผ่านมากลับไม่ได้รับแจ้งใดๆ จากนายจ้างเลย ซึ่งสามีของดิฉันซึ่งทำงานที่เดียวกันได้เรียกร้องไปที่นายจ้าง ซึ่งเขาสัญญาว่าจะจ่ายให้ แต่ก็ยังไม่ได้ แถมเสนอให้ดิฉันและสามีกลับพม่า โดยจะจ่ายให้ 3 หมื่นบาท และค่าเดินทางอีก 1 หมื่นบาท" นางหนุ่มกล่าว และว่า ทั้งนี้ ฝ่ายกฎหมายที่เข้ามาช่วยเหลือบอกว่า ตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติเงินทดแทน ตนควรได้รับเงินทดแทนอย่างน้อย 4 แสนบาท

 

นางสุนี ไชยรส กรรมการ กสม. กล่าวว่า ปัญหาเฉพาะหน้าคือ สปส.ต้องช่วยเหลือนางหนุ่มนำมาฟื้นฟูที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เพราะขณะนี้โรงพยาบาลได้ให้นางหนุ่มออกแล้ว และระหว่างที่เรื่องกำลังอุทธรณ์ ทาง กสม.จะส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และเลขาฯ สปส. เพราะมีประกาศปี 2544 ว่าต้องมีใบอนุญาตทำงานถึงจะเข้าไปใช้เงินกองทุนทดแทนได้ ซึ่งเป็นการออกระบียบที่ละเมิด เพราะกองทุนเงินทดแทนควรคุ้มครองแรงงานต่างด้าวทุกคน และแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่มีใบอนุญาตที่ทางการออกให้ แต่ไม่ใช่ใบอนุญาตทำงาน

 

ถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่ดี เพราะแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยหลายแสนคน ควรได้รับการดูแล เพราะในกฎหมายระบุอยู่แล้วว่านายจ้างต้องคุ้มครอง แต่ดันไปติดขัดประกาศของ สปส.ที่ล็อคเอาไว้

 (ข่าวสด วันที่ 24/10/2550)

 

 

ต่างประเทศ

 

 

"ฮิวแมนไรท์ วอทช์" ระบุทหารพม่ายังคงกระทำทารุณต่อชนกลุ่มน้อย

กลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน "ฮิวแมนไรท์ วอทช์" กล่าวว่า กองทัพของรัฐบาลทหารพม่า ยังคงกระทำทารุณอย่างรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยในประเทศ ในการบุกเข้าปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบที่ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 500,000 คน ต้องย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย

 

ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในสหรัฐ กล่าวว่า ทางกลุ่มเกรงว่า การบังคับชนกลุ่มน้อยให้อพยพย้ายถิ่นในรัฐกะเหรี่ยงทางตะวันออกของประเทศมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ทางกลุ่มเริ่มจัดทำรายงานสถานการณ์เรื่องนี้เมื่อสองปีก่อน และจนถึงขณะนี้ ทางกลุ่มก็ยังได้รับรายงานการกระทำทารุณกรรมอย่างรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยอย่างต่อเนื่อง โดยมีการบังคับใช้แรงงาน ทุบตี ล่วงละเมิดทางเพศ ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ระบุว่า ทางการพม่าบังคับให้ชนกลุ่มน้อยอพยพย้ายถิ่นในเบื้องต้นด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง แต่ยังมีการบังคับย้ายถิ่นด้วยสาเหตุเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการให้สัมปทานทางธุรกิจ เช่น เขื่อน การวางท่อส่งแก๊สและเหมืองต่าง ๆ

 (สำนักข่าวไทย วันที่ 26/10/2550)

 

 

จีนยังคงยืนยันท่าทีเดิมต่อพม่าหลังจากการเจรจากับผู้เเทนสหประชาชาติ

นาย ถัง เจียฉวน สมาชิกสภาเเห่งรัฐของจีนกล่าวหลังจากการหารือกับ นาย อิบราฮิม กัมบารี ผู้เเทนพิเศษของสหประชาชาติในการเเก้ไขปัญหาพม่าว่า จีนยังคงยืนยันว่า ปัญหาในพม่า รัฐบาลเเละประชาชนพม่าต้องเเก้ไขกันเองผ่านวิธีการเจรจาเเละปรึกษาหารือ ขณะเดียวกันประชาคมโลกก็ควรหาหนทางช่วยเหลือที่เหมาะสมเพื่อยุติความขัดเเย้งในพม่าไม่ใช่มุ่งเเต่จะใช้วิธีการเเทรกเเซง ด้านนาย หวัง ยี่ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของจีนก็มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

ท่าทีดังกล่าวของจีนมีเป้าหมายเพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลทหารพม่าไว้เเละปกป้องโครงการด้านพลังงานของจีนในดินเเดนของพม่า

 

ขณะเดียวกันนักเคลื่อนไหวพากันจัดการประท้วงที่ด้านนอกสถานฑูตจีนในกรุงเทพฯ , นครซิดนีย์ และอีกหลายแห่งทั่วโลก เพื่อพยายามกดดันจีนที่สนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า

 

จีนได้ชื่อว่าผู้สนับสนุนรายใหญ่ของพม่า และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักที่ใช้นโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายในของพม่า และระบุว่าจะไม่สนับสนุนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่าแต่นายกัมบารี ได้ยกย่องจีนที่มีบทบาทในการช่วยให้เขาได้เข้าไปในพม่าเมื่อเดือนที่แล้ว และช่วยไกล่เกลี่ยการเจรจาระหว่างเขากับพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย และนางอองซาน ซูจี ผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตย

 

สำหรับประเทศต่อไปที่นาย อิบราฮิม กัมบารี ผู้เเทนพิเศษของสหประชาชาติในการเเก้ไขปัญหาพม่า จะเดินทางไประหว่างการเดินทางเยือนเอเชียคือ ญี่ปุ่น

(ศูนย์ข่าวแปซิฟิค , สำนักข่าวเนชั่น วันที่ 25/10/2550)

 

 

เครือข่ายสันติภาพฯบุก ปตท.จี้ถอนลงทุนในพม่า

ที่สำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถ.วิภาวดีรังสิต ได้มีกลุ่มเครือข่ายสันติภาพเพื่อพม่า เช่น องค์กรประชาสังคมในประเทศไทยและประเทศพม่า รวมกว่า 30 องค์กร นำโดย นางสมศรี หาญอนันทสุข แกนนำกลุ่มสันติภาพเพื่อประเทศพม่า

 

ทั้งหมดได้มาชุมนุมบริเวณสำนักงานใหญ่ ปตท. และได้ยื่นหนังสือถึง นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้ทบทวนการลงทุนของ ปตท.ในประเทศพม่า และแสดงความห่วงใยต่อการลงทุนของ ปตท. ในพม่า โดยเนื้อหาของหนังสือดังกล่าวระบุขอให้ ปตท. พิจารณาในสองประเด็นใหญ่ คือ 1.ขอให้เลื่อนการทำสัญญาการซื้อขายแก๊สธรรมชาติทั้งหมด จากหลุมก๊าซที่ M 9 ในอ่าว มะตะบัน ออกไปโดยไม่มีกำหนด และ 2.ขอให้ทยอยถอนการลงทุนของ ปตท. ในประเทศพม่าที่มีอยู่ในปัจจุบันออกไปจนกว่ารัฐบาลทหารพม่าจะยอมให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

นายสรัญ รังคสิริ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ เป็นตัวแทนรับมอบพร้อมกล่าวว่า จะนำจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวของทางเครือข่ายฯนำเสนอให้กับ ทางผู้ใหญ่พิจารณา โดยทาง ปตท.จะทำให้ดีที่สุดเพื่อส่วนรวม และพร้อมจะให้คำตอบกับทางเครือข่ายฯโดยเร็ว

 (สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น วันที่ 25/10/2550)

 

 

ส.ว.หญิงสหรัฐฯ ขอร้องอินเดียกดดันพม่ายุติความรุนแรง

บรรดาวุฒิสมาชิกหญิงสหรัฐฯ จำนวน 16 คน ได้ส่งหนังสือถึงนายมานโมฮัน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดีย เมื่อวานนี้ เพื่อขอให้อินเดียกดดันพม่ายุติการปราบปรามประชาชนที่ให้การสนับสนุนการปกครองแบบประชาธิปไตย

 

หนังสือฉบับดังกล่าวได้กล่าวย้ำถึงคุณค่าและความรับผิดชอบร่วมกันของสหรัฐฯ และอินเดีย และยังได้แสดงความวิตกกังวลอย่างรุนแรง ต่อการจำหน่ายอาวุธและน้ำมันของอินเดีย ให้กับรัฐบาลทหารพม่าด้วย

(ผู้จัดการ วันที่ 25/10/2550)

 

 

ออสเตรเลียควํ่าบาตรผู้นำพม่า

นายอเล็กซานเดอร์ ดาวเนอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวจะมีผลต่อผู้นำรัฐบาลทหารพม่าและครอบครัวรวม 418 คน รวมทั้งพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ โดยห้ามทำธุรกรรม ทั้งโอนหรือจ่ายเงินให้แก่ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าและผู้สนับสนุนที่มีชื่อในบัญชี โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลออสเตรเลีย นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังมีคำสั่งห้ามส่งออกอาวุธและจำกัดการออกวีซ่า มาตรการคว่ำบาตรใหม่นี้มีเป้าหมายเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารพม่า โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน

 

ในขณะที่สมาพันธ์สหภาพการค้าระหว่างประเทศ ก็ออกมาเรียกร้องให้ทั่วโลกคว่ำบาตรบริษัทที่ทำธุรกิจกับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า เช่นบริษัทน้ำมัน โทเทล เอสเอของฝรั่งเศส ทั้งนี้ รัฐบาลทหารพม่า ไม่ได้สนใจต่อความคิดเห็นและกระแสกดดันของชาวโลกระหว่างการอยู่ในอำนาจ 45 ปี แต่ยังกอบโกยผลประโยชน์จากการอนุญาตให้บริษัทต่างชาติ เช่น โทเทล เข้าทำธุรกิจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

 

ขณะเดียวกัน สตรี 6 ใน 7 คน เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ ร่วมลงนามในหนังสือเรียกร้องประชาคมโลก ร่วมมือกันกดดันให้รัฐบาลทหารพม่าฟื้นฟู เสรีภาพ และปฏิรูปประชาธิปไตย ส่วนรัฐบาลทหารพม่ามีท่าทีอ่อนลงต่อกระแสกดดันของนานาชาติยอมตกลงเมื่อวันอังคารให้นายอิบราฮิม     กัมบารี เจ้าหน้าที่ทูตพิเศษของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เดินทางเข้ามาในพม่าได้อีกครั้งในต้นเดือนพ.ย.

(เดลินิวส์ วันที่ 25/10/2550)

 

 

ผู้แทนสิทธิฯ ยูเอ็นประกาศจะหาวิธีเยือนพม่าอย่างเป็นอิสระ

นายเปาโล เซอร์จิโอ ปินเฮโร ผู้แทนสหประชาชาติในกิจการสิทธิมนุษยชนพม่า กล่าวภายหลังเข้าบรรยายสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ระบุว่า กำหนดการเยือนพม่าของเขาจะมีขึ้นหลังจากการเยือนของนายอิบราฮิม กัมบารี ที่กำหนดเยือนพม่าครั้งที่ 2 ในต้นเดือนพฤศจิกายน

 

นายปินเฮโร ยืนยันว่า กำหนดการเยือนพม่าของเขาจะต้องมีขึ้นก่อนวันที่ 17 พฤศจิกายน และก่อนการประชุมผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์ และจะพยายามให้การเยือนพม่าของเขานั้นสามารถเข้าถึงทุกฝ่ายได้โดยอิสระ โดยเฉพาะกับนักโทษการเมืองในเรือนจำต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลจริงมากที่สุด โดยนายปินเฮโร ระบุว่า เอกอัครราชทูตพม่าประจำยูเอ็นให้การรับรองว่า พม่าจะให้ความร่วมมือเต็มที่ในการเยือนพม่ารอบนี้

 

รัฐบาลทหารพม่าถูกประชาคมโลกกดดันอย่างหนักหลังจากเกิดเหตุใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลในนครย่างกุ้งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นอกเหนือจากอนุญาตให้นายปินเฮโรเข้าเยือนพม่าเป็นครั้งแรกในรอบเวลา 4 ปีแล้ว ทางการพม่ายังอนุญาตให้นายกัมบารีเข้าเยือนพม่าเป็นครั้งที่ 2 ในรอบเวลาไม่ถึง 1 เดือนดังกล่าว

(สำนักข่าวไทย วันที่ 25/10/2550)

 

 

ทูตยูเอ็นเผยอินเดียหนุนความพยายามแก้ไขปัญหาพม่า

นายอิบราฮิม กัมบารี ทูตสหประชาชาติ กล่าวในวันที่ 23 ว่า เขาได้รับคำมั่นจากอินเดียว่าจะสนับสนุนความพยายามในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในพม่า

 

นายกัมบารี กล่าวภายหลังพบปะกับบรรดาผู้นำอินเดีย ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกรณีที่ยังคงนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่รัฐบาลทหารพม่าใช้ความรุนแรงจัดการกับบรรดาผู้ประท้วงนำโดยพระสงฆ์ โดยระบุว่า เขาได้รับกำลังใจจากคำตอบของทั้งนายกรัฐมนตรีมานโมฮัน ซิงห์ และนายประนาบ มุกเคอร์จี รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย ที่ว่าจะร่วมมือกับเลขาธิการสหประชาชาติ นายกัมบารี เดินทางเยือนอินเดีย อันเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงสนับสนุนความพยายามของสหประชาชาติในการผลักดันการปฏิรูปประชาธิปไตยในพม่า

 

ก่อนหน้านี้ อินเดียแสดงความวิตกต่อการปราบปรามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ประกาศมาตรการคว่ำบาตร

 (สำนักข่าวไทย วันที่ 23/10/2550)

 

 

อาเซียนเจรจาทางการทูตแก้ปัญหากับพม่า   

นายจอร์จ เยียว รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่าชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนจะเลือกใช้การเจรจาทางการทูตกับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อคลี่คลายวิกฤตประชาธิปไตย เนื่องจากมองว่าการใช้มาตรการคว่ำบาตรจะใช้ไม่ได้ผล ซึ่งลำดับแรกสิงคโปร์จะสนับสนุนความพยายามของนายอิบราฮิม กัมบารี ทูตพิเศษสหประชาชาติหรือยูเอ็น ที่กำลังรับบทบาทสำคัญในการคลี่คลายวิกฤตดังกล่าว

 

นอกจากนี้นายเยียวยังกล่าวอีกว่า วิกฤตดังกล่าวน่าจะได้รับข้อยุติ และทุกฝ่ายจะต้องผลักดันให้บรรดานายพลระดับสูงในรัฐบาลพม่าเจรจากับนางอองซาน ซูจี หัวหน้าสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยพม่าหรือเอ็นแอลดี ซึ่งอาเซียนเชื่อมั่นว่า พม่าก็ไม่ต้องการให้สถานการณ์เลวร้ายลง อาเซียนจึงยังไม่ได้ถอดถอนพม่าออกจากการเป็นสมาชิกอาเซียนในช่วงนี้

(สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น วันที่ 23/10/2550)

 

 

 

 

 

Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทยที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆติดตามได้ที่ www.burmaissues.org/En/Index.html หรือ http://www.oknation.net/blog/burmaissues

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net