ยุติธรรมเพื่อสันติภาพ-เปิดใจคิด: โศกนาฏกรรมตากใบ …ความสูญเสียที่ยังไม่ยุติ

เมื่อเดือนรอมฎอนมาถึง ผู้หญิงหลายคนในจังหวัดนราธิวาสโดยเฉพาะที่อำเภอตากใบ อดที่จะกลั้นน้ำตาไว้มิได้ เมื่อคิดถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของเดือนรอมฎอนหรือเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม อีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงวัน "รายอ" ซึ่งเป็นวันแห่งความรื่นเริง การบริจาคทานและการให้อภัย

วันนั้น ผู้ชายหลายคนออกจากบ้านเพื่อซื้ออาหารเตรียมละศีลอด เด็กหนุ่มหลายคนออกไปหาซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ให้แม่หรือคนรักเพื่อใส่ในวันรายอ แต่คนเหล่านั้นหลายคนกลับถึงบ้านในเย็นวันรุ่งขึ้นด้วยสภาพที่ปราศจากลมหายใจ หลายคนบาดเจ็บ หลายคนพิการทุพพลภาพและหลายคนถูกควบคุมตัวดำเนินคดี ส่วนอีกหลายรายซึ่งสามปีแล้วยังไม่มีใครได้พบเห็น กลายเป็นบุคคลสาบสูญและไม่มีโอกาสกลับบ้าน

ไม่มีใครตอบได้ว่า ทำไม เมื่อมีการสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณหน้า สภอ.ตากใบ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์จึงถูกมัดมือไพล่หลัง ถูกบังคับให้ต้องคลานไปกับพื้นดินที่ร้อนระอุ ขณะที่พวกเขากำลังอยู่ในช่วงถือศีลอด ยังไม่มีใครให้คำตอบว่า "ใคร" เป็นผู้คิดค้นวิธีการขนย้ายประชาชนจากหน้าสภอ.ตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี โดยให้นอนทับซ้อนกัน 4-5 ชั้นบนรถบรรทุกของทหารที่มีผ้าใบคลุมปิดทับและมีเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือควบคุมอยู่

ไม่มีใครตอบได้เลยว่า ทำไมผู้เสียชีวิตหลายรายจึงมีบาดแผลฉกรรจ์ที่ใบหน้า ตามลำตัวและพบว่าฟันหักโดยยังคงมีเลือดสดๆ ซึมอยู่ ไม่มีใครให้คำตอบว่าเพราะเหตุใดญาติพี่น้องของบรรดาผู้เสียชีวิตทั้ง 85 คน จึงได้รับแจ้งเหตุหลังจากคนที่เขารักเสียชีวิตไปแล้วกว่า 24 ชั่วโมงและยังคงไม่มีคำตอบว่าหลายคนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นหายไปไหน

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังคงเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ ในขณะที่สื่อต่างชาติ สะท้อนถึงเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งนี้ไว้อย่างชัดเจน ปรากฏภาพเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทารุณต่อประชาชนชาวตากใบเหมือนมิใช่มนุษย์ ในขณะพี่น้องร่วมชาติกลับไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อเท็จจริง ด้วยเพียงเหตุผลของความมั่นคง แต่ท่ามกลางความพยายามที่จะปิดกั้นการนำเสนอของสื่อ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลับถูกถ่ายทอดจากปากคำของประจักษ์พยานผู้อยู่ในเหตุการณ์ จากปากต่อปาก ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งแม้รัฐจะสามารถปิดกั้นการรับรู้ของประชาชนจากอำนาจที่รัฐมีอยู่แต่รัฐมิอาจปิดกั้นความเป็นจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นได้

แม้ที่ผ่านมา พล.อสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี จะได้ออกมากล่าวคำขอโทษพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แทนรัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชิณวัตร แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบในโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ยังคงไม่มีคำตอบว่า ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการและการหายสาบสูญของประชาชนผู้บริสุทธิ์ซึ่งอยู่ในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่

แม้เหตุการณ์นี้จะผ่านมาแล้วถึง 3 ปี และรัฐยอมถอนฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 58 คน อีกทั้งได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกรณีญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน เป็นโจทก์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐ โดยมีระบุไว้ในสัญญาข้อหนึ่งว่า "โจทก์จะต้องไม่ติดใจฟ้องร้องจำเลยทั้งทางแพ่งและอาญาอีกต่อไป" และในขณะเดียวกันคดีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจากการขนย้ายผู้ชุมนุมซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 78 ศพ รวมทั้งอีก 7 ศพ ที่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

จากรายงานพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา เรื่องกรณีความรุนแรงที่ตากใบกับปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สรุปความเห็นว่าทั้ง 7 คน เสียชีวิตเพราะถูกกระสุนปืนที่ยิงมาจากระยะไกลและเกือบทั้งหมดถูกยิงที่บริเวณศีรษะ ทั้งหมดนี้กำลังดำเนินอยู่ที่ศาลจังหวัดสงขลาซึ่งคดีถูกโอนย้ายมาจากศาลจังหวัดปัตตานี เชื่อว่า ปลายปี 2550 นี้กระบวนการยุติธรรมไทยจะต้องตอบคำถามแก่สังคมว่า ประชาชนจำนวน 85 คน ทั้งที่เสียชีวิตหน้า สภอ ตากใบ รวมทั้งผู้ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายจากหน้า สภอ.ตากใบมายังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานีนั้น เสียชีวิตเพราะเหตุใดและใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิตของบรรดาผู้บริสุทธิ์เหล่านั้น

โศกนาฏกรรมครั้งนี้ แม้จะผ่านพ้นมาแล้วถึง 3 ปี แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น ยังคงปรากฏอยู่และเมื่อได้สัมผัสกับบรรดาผู้ทุกข์ยากซึ่งได้เสียชีวิต บาดเจ็บ พิการและบรรดาญาติพี่น้องที่อยู่ข้างหลังซึ่งได้รับผลกระทบจากความรุนแรงแล้วจะพบว่ามีเรื่องราวเล่าขานอีกมากมายซึ่งถ่ายทอดจากบรรดาผู้สูญเสียเหล่านั้น

แยนะ สะแลแม เป็นหญิงวัยกลางคนที่ต้องไปจับจ่ายซื้อของที่ตลาดตากใบเมื่อช่วงสายของวันที่ 25 ตุลาคม 2547 และเป็นหนึ่งในหลายพันคนที่เข้าไปมุงดูการชุมนุมที่หน้า สภอ.ตากใบ ซึ่งที่นั่นเธอพบลูกชายวัย 20 ปีซึ่งออกมาซื้อเสื้อผ้าที่จะใส่ในวันรายอร่วมอยู่ในฝูงชนนั้นด้วย จนเมื่อมีการสลายการชุมนุม มีการใช้น้ำฉีดเข้าใส่ฝูงชน ใช้แก๊สน้ำตา และตามด้วยเสียงปืนที่ดังขึ้นหลายนัด พร้อมเสียงร้องของผู้หญิงและเด็กที่อยู่ในเหตุการณ์ แยนะ และลูกชายถูกแยกจากกัน ผู้หญิงและเด็กได้รับการปล่อยตัว ในขณะที่ผู้ชายเกือบ 1,300 คนถูกควบคุมตัวโดยถูกมัดมือไพล่หลัง นำตัวขึ้นรถออกไป มูฮำหมัดมะรูวาซี มะหลง ลูกชายของ แยนะ เป็นหนึ่งใน 58 คนที่ถูกฟ้องฐานมั่วสุม และใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ และด้วยความเป็นคนมีน้ำใจโอบอ้อมอารี แยนะ จึงกลายเป็นผู้ประสานงานระหว่างทนายความ กับญาติผู้ต้องหา และผู้เสียชีวิต ในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ค่อยได้

จนเมื่อปี 2550 แยนะก็ได้รับรางวัล ผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ใครๆ มักตั้งคำถามว่า การที่แยนะมีบทบาทนอกบ้านค่อนข้างมาก ผิดกับผู้หญิงมุสลิมทั่วไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะส่งผลกระทบต่อครอบครัวของเธอหรือไม่ เรื่องนี้ แยนะ มักตอบคำถามทุกคนว่า "อาแบ(สามี) อนุญาตให้ทำเพราะเราต้องช่วยลูกเราอยู่แล้ว ก็ต้องช่วยคนอื่นๆที่เดือดร้อนอีกด้วย ถ้าเราไม่ช่วย เขา ( เจ้าหน้าที่รัฐ -ผู้เขียน) นึกจะทำอะไรกับเราก็ได้ "[1]

12.30 น.วันที่ 10 ตุลาคม 2550 ที่ผ่านมานี้เอง สามีของแยนะ นายมะยูโซะ มะหลง ถูกยิงเสียชีวิตใกล้ร้านน้ำชาข้างบ้าน ที่ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ ก่อนที่จะถึงวัน "ฮารีรายอ" เพียง 3 วัน โดยมีประจักษ์พยานเห็นชายที่นั่งบนรถกระบะสีเขียวกราดกระสุนจากปืน M -16 เข้าสู่ร่าง มะยูโซะ จนเสียชีวิตโดยทิ้งลูก 8 คนและหลานอีก 5 คนไว้ข้างหลัง

ในขณะที่ มะลีกี ดอเลาะ ชายหนุ่มอายุ 29 ปี หน้าตาดี ร่าเริง ยิ้มง่าย จากบ้านตะโละแนง ผู้ซึ่งควรจะจบการศึกษาจากวิทยาลัยสารพัดช่าง จังหวัดนราธิวาส และได้ทำงานเป็นช่างไฟฟ้าในโรงงานสักแห่งเพื่อช่วยเหลือครอบครัว และสามารถส่งน้องสาว ซาปียะ ดอเลาะ อดีตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกริก ให้เป็นบัณฑิตดังความตั้งใจ หากไม่มีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 วันนั้น

มะลีกี ตั้งใจออกไปหาซื้อผ้าที่ตลาดตากใบให้แม่ไว้ตัดเย็บเสื้อผ้าชุดใหม่เพื่อใส่ในวัน "รายอ" ซึ่งใกล้จะมาถึง เมื่อเดินผ่านหน้า สภอ.ตากใบ เขาเป็นคนหนึ่งที่เข้าไปดูเหตุการณ์การชุมนุมและได้ถูกควบคุมตัวในเวลาต่อมา มะลีกี เป็นเหยื่อคนหนึ่งที่รอดชีวิตเพื่อกลับมาบอกเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดให้พี่น้องร่วมชาติได้รับรู้ เขาเล่าว่า เขาถูกผลักขึ้นรถให้นอนซ้อนในชั้นที่สองของผู้ถูกควบคุมตัวที่ต้องนอนทับซ้อนกันถึง 5 ชั้น และมีผ้าใบคลุมปิดทับข้างบน เมื่อรถออกไปได้ระยะหนึ่ง เขาเห็นผู้ชายที่อยู่ชั้นล่างสุดมีเลือดท่วมทั้งตัว เขาได้ยินหลายคนพยายามเอ่ยนามของพระผู้เป็นเจ้า แต่ทุกครั้งเมื่อสิ้นเสียง พวกเขาก็จะถูกเจ้าหน้าที่ทุบศีรษะด้วยปลายด้ามปืน จนเสียงเหล่านั้นเงียบหายไปในที่สุด

มะลีกี โชคดีที่รอดชีวิต แต่โชคร้ายที่เขาบาดเจ็บสาหัส ร่างกายเขาบวมช้ำทั้งตัว มีอาการไตวายต้องล้างไต ขาข้างขวาขาดเลือดไปเลี้ยงจนต้องตัดทิ้งตั้งแต่บริเวณเหนือเข่า แขนทั้งสองข้างมีแต่เนื้อตาย จนหมอจะขอตัดทิ้ง แต่แม่ของเขาไม่ยอม มือทั้งสองข้างบิดเบี้ยว หงิกงอเนื่องจากถูกมัดมือไพล่หลังและถูกกดทับนานจนขาดเลือดไปเลี้ยง แม้เขาโชคดีที่รอดชีวิต แต่โชคร้ายที่ต้องพิการไปตลอดชีวิตกลายเป็นภาระของพ่อแม่ที่ชรามากแล้ว และน้องสาวที่กำลังเรียนในมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯก็ต้องลาออก

แม้รัฐจะพยายามชดเชยด้วยเงินจำนวนหนึ่ง แต่มันไม่มากพอที่จะดูแลเขาได้ตลอดชีวิต และเงินก็ไม่สามารถทดแทน "ความยุติธรรม" ได้ ถ้ามะลีกีเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับบาดเจ็บ พิการจากเหตุการณ์ความรุนแรงนี้ เขาก็คงเป็นเยี่ยงวีรบุรุษ คงได้รับการปูนบำเหน็จรางวัลความดีความชอบมากมาย และครอบครัวเขาคงไม่ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากดังเช่นทุกวันนี้

นูรฮูดา เป็นเด็กผู้หญิงอีกคนหนึ่งซึ่งสูญเสียพ่อจากเหตุการณ์ตากใบ วันนี้เธออายุ 18 ปีเต็มและเป็นเยาวชนอีกคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อต้นปี 2550 ที่ผ่านมา แม่ของเธอพร้อมเพื่อนบ้านผู้ชายอีกคนหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปสอบสวนกรณีที่พ่อของเธอถูกกล่าวหาเป็นหนึ่งในแกนนำการประท้วงที่หน้า สภอ ตากใบเมื่อสามปีก่อน แม่ของเธอถูกควบคุมตัวอยู่หลายวัน จนที่สุดทั้งแม่และเพื่อนบ้านก็ได้รับการปล่อยตัว อีกไม่นานนักเพื่อนบ้านคนดังกล่าวก็ถูกลอบยิงเสียชีวิต ในขณะที่ตัวเธอ แม่ และน้องชายอายุ 15 ปีได้เดินทางไปร่วมงานศพของเขา เธอและน้องชาย ก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปสอบสวน

นูรฮูดา และน้องชายร้องไห้ทุกวันระหว่างการถูกควบคุมตัว เธอเล่าว่าเจ้าหน้าที่พยายามสอบถามเธอและน้องว่า "รู้ไหมว่าพ่อเธอเป็นแกนนำการประท้วงที่ สภอ.ตากใบ" ซึ่งขณะเกิดเหตุการณ์เมื่อพ่อของเธอเสียชีวิต นูรฮูดา เพิ่งมีอายุได้เพียง 15 ปี ในขณะที่น้องชายของเธออายุเพียง 12 ปีเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ก็พยายามให้เธอทบทวนว่าพ่อของเธอได้ติดต่อกับใครบ้าง

นูรฮูดาเพิ่งจบการศึกษาระดับมัธยม เธอสามารถสอบเข้าเรียนผู้ช่วยพยาบาลที่สถาบันพยาบาลแห่งหนึ่งได้ และมีกำหนดที่จะต้องรีบไปรายงานตัว เธอและน้องชายพยายามร้องขอให้ได้รับการปล่อยตัวเพื่อกลับไปเรียนหนังสือ สุดท้ายเธอและน้องชายก็ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ก่อนวันสุดท้ายที่จะต้องรายงานตัวเพื่อเข้าเรียนผู้ช่วยพยาบาลเพียงวันเดียว

ไม่มีใครรู้ว่ายังมีผู้บริสุทธิ์อีกมากมายเพียงใดที่ยังคงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ และไม่มีใครรู้ว่าเมื่อใดการสูญเสียจะยุติลงเสียที

เหตุการณ์ตากใบคงเป็นบทเรียนอันมีค่าที่สอนให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยสันติวิธี ด้วยสติ และใช้ปัญญาในการเรียนรู้ที่จะร่วมทุกข์ ร่วมสุข บนพื้นฐานของความแตกต่างทางศาสนา และวัฒนธรรม การเผชิญหน้ากับการต่อต้านด้วยการใช้มาตรการความรุนแรงเพียงอย่างเดียว แสดงถึงความอ่อนแอของสังคมอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ สังคมไทยจะต้องเรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องไม่ละเลยเพิกเฉยต่อปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นอีกต่อไป และจะต้องไม่นิ่งดูดายต่อบรรดาผู้ที่ใช้อำนาจโดยมิชอบในการทารุณ ข่มเหงต่อผู้ที่อ่อนแอกว่า ด้อยกว่า

 สังคมไทยควรสร้างประวัติศาสตร์แห่งการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความจริง พูดความจริง และให้สิทธิแก่ประชาชนในการทวงถามหาความจริง แม้ความจริงจะทำให้ต้องเจ็บปวด แต่การอยู่กับความจริงจะทำให้สังคมไทยแข็งแรงขึ้น ความสมานฉันท์และการให้อภัยคงไม่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีการเปิดเผยความจริง และการยอมรับผิด โศกนาฏกรรมตากใบแสดงให้เห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของสังคมไทย ทำอย่างไรความรุนแรง และความไม่เป็นธรรมเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก คงเป็นคำถามที่ท้าทายบรรดาผู้รักความเป็นธรรม นักคิด และนักสิทธิมนุษยชนทั่วไป

ทำอย่างไรแม่น้ำตากใบ หรือลำน้ำทุกสายที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงสังคมไทย จะไม่ต้องรองรับเลือดเนื้อ และหยาดน้ำตาของของบรรดาผู้บริสุทธิ์ และประชาชนคนยากคนจน ไร้อำนาจ ปราศจากอาวุธ จะไม่ต้องหลั่งน้ำตาให้กับความอหังการ์ และความลุแก่อำนาจของผู้ปกครองที่อยุติธรรมอีกต่อไป

 

                                                            เลเหอเลหลวง

                        เลน้ำตาตวง                  ตกในตกนาน

                        เลือดดินหลั่งเดือด           เลือดท่วมลำธาร

                        ตกในตกนาน                 คั่งฟ้าคับดิน

                                                                       

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

            ขอคารวะต่อดวงวิญญาณของผู้บริสุทธิ์ทุกคน และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสูญเสียและความทุกข์ยากของทุกชีวิตที่อยู่ข้างหลัง ขอเป็นกำลังใจให้ทุกชีวิตที่ยังคงต้องต่อสู้เพื่อ "ความยุติธรรม"

ด้วยความสมานฉันท์
อังคณา นีละไพจิตร คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

 





[1] มัทนี จือนารา, จันจิรา สมบัติพูนศิริ และคณะ "ตากใบ" ในอากาศ ; ความทรงจำที่ปลิดปลิวจากการรับรู้ " , ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี(คพส) มหาวิทยาลัยมหิดล.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท