Skip to main content
sharethis

 

ธีรมล บัวงาม
สำนักข่าวประชาธรรม


กว่าครึ่งศตวรรษของการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดลงของปัญหาความยากจน รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น มักถูกนำมากล่าวอ้างเสมอ จนกลบทับความเสี่ยงหรืออันตรายของสังคมสมัยใหม่ ดังสะท้อนผ่านเหตุการณ์สารเคมีระเบิดที่ท่าเรือคลองเตย (2534) โรงงานเคเดอร์ไฟไหม้จนคนงานเสียชีวิต188 ราย (2536) โรงงานอบลำไยระเบิด การรั่วไหลของโคบอลต์ -60 (2542) ฯลฯ แต่เหนือไปกว่านั้นคนงานยังเสี่ยงต่อภัยและอันตรายที่มองไม่เห็น เช่น โรคจากการทำงาน ฝุ่นฝ้าย สารโลหะหนัก หรือสารเคมีที่ปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ กระทบกับต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และคนในชุมชนโดยที่ไม่มีใครรู้ตัว


ล่าสุด 15 ตุลาคม 2550 สำนักงานประกันสังคมได้ปรับปรุงประกาศกฎกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง กำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน ฉบับลงวันที่ 2 ..2538 เพื่อให้สอดคล้องกับกับบัญชีรายชื่อโรคขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยปรับเพิ่มชนิดของโรคจาก 32 โรค เป็น 80 โรค เช่น โรคหูตึง โรคติดเชื้อหรือโรคปรสิต เนื่องจาการทำงาน โรคหืดจากการทำงาน โรคปอดจากโลหะหนัก โรคด่างขาวจากการทำงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายกลับมองว่าเรื่องนี้เป็นแค่การสร้างภาพ เป็นเสือกระดาษ เพราะกลไกของสปส.และกองทุนเงินทดแทนไม่สามารถคุ้มครองชีวิต ความปลอดในการทำงานและสภาพแวดล้อมได้จริง!


สมบุญ สีคำดอกแค อดีต-ผู้นำสหภาพแรงงานโรงงานทอผ้ากรุงเทพ ปัจจุบัน-ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย และประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย อันเกิดจากการรวมตัวของคนงานที่เจ็บป่วยอีกจำนวนหนึ่งในราวปี 2536 ซึ่งหวังจะรวมกลุ่มช่วยเหลือกันในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การต่อสู้ทางคดี และการดำรงชีวิต


กระทั่งปัจจุบันการต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิผู้ป่วย ได้พัฒนาไปสู่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบโครงสร้าง เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า "โรคจากการทำงาน" มีอยู่จริง


สมบุญ แบ่งปันเวลาถ่ายทอดประสบการณ์การขยับเขยื้อนทางนโยบาย และบอกเล่าถึงความสำคัญของคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานตามกลไกของ "สถาบันคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ" ซึ่งผ่านการขบคิดอย่างมีส่วนร่วมโดยขบวนการแรงงาน 


คนในสังคม-ภาครัฐเข้าใจประเด็นอาชีวอนามัยอย่างไร?


นี่ก็เกือบ 15 ปีแล้วสำหรับเหตุการณ์โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ เรื่องของสถานการณ์ก็มีความเข้าใจเยอะ แต่เรื่องกลไกนโยบายมันไม่ค่อยเอื้อกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทางสภาเครือข่ายก็พยายามเชื่อมประสานกับผู้นำ และหน่วยงานหลายส่วน แต่ติดตรงระบบมันถูกบิดเบือน เช่น กรณีคนงานที่ประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลผ่านระบบประกันสังคม พอเข้าไปรับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจากการทำงานหรือไม่ แพทย์ก็ไม่กล้าจะบอกว่าคนงานเป็นโรคเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน ยกตัวอย่างกรณีความเจ็บป่วยทางร่างกายที่เห็นชัดๆ ไม่ต้องเป็นสารเคมี เช่น คนงานที่ต้องใช้มือยกของหรือเสาเครื่องสายพานแล้วกล้ามเนื้ออักเสบ หรือเส้นเลือดขอด ก็ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย จึงไม่สามารถใช้สิทธิตามเงื่อนไขของกองทุนเงินทดแทนได้ สถิติคนเจ็บป่วยจากการทำงานจึงไม่ขยับ พอไม่เข้ากองทุนเงินทดแทน การเยียวยารักษาก็ทำที่ปลายเหตุเรื่อยๆต่อไป ไม่มีการป้องกันต้นตอของปัญหา


สิ่งที่สภาเครือข่ายพยายามประสานงาน ทำงานในพื้นที่ และยกกรณีปัญหาขึ้นมา เชื่อมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้คนงานกลุ่มนี้ได้รับการคุ้มครองสิทธิการเจ็บป่วยจากการทำงาน หรือผลักดันให้ผลิตแพทย์ด้านอาชีวอนามัย การสร้างหน่วยงานทางอาชีวเวชศาสตร์ ซึ่งทางสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ ก็นำประเด็นที่สภาฯ เคลื่อนไหวนำไปตั้งคลินิกจำนวน 9 แห่งทั่วประเทศ แต่กระนั้นมันก็ไม่มีกลไกให้โรงพยาบาลเหล่านั้นวินิจฉัยและระบุในรับรองแพทย์ว่าเจ็บป่วยจากการทำงานอยู่ดี


นอกจากนี้จากการประสบการณ์ในการเชื่อมประสานกับโรงพยาบาล ยังพบว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายด้านนี้โดยตรงทำให้หน่วยงานปฏิบัติการไม่มีงบประมาณในการจ้างแพทย์ประจำ หรืองบอุดหนุนการตรวจวินิจฉัย ซึ่งหมดไปตั้งแต่มกราคมปีที่ผ่านมา เรื่องนี้สภาเครือข่ายฯพยายามติดต่อกับนายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงทราบว่ากองทุดแทนไม่เอาเงินไปสำรองให้โรงพยาบาลเหมือนเดิม


ส่วนตัวคิดว่าปัญหาระดับชาติแบบนี้ ทำไมกลับไม่มีนโยบายทางด้านสาธารณสุขโดยตรง แม้คนงานจะมีกองทุนเงินทดแทน แต่กองทุนนี้กลับยึดอำนาจการบริหารจัดการ อำนาจการวินิจฉัยโรค อำนาจการจ่ายเงินให้คนงาน ดังนั้นความเกรงใจทางนโยบายทำให้คนงานไม่ได้รับความเป็นธรรม ยิ่งไปกว่านั้นคนงานที่ได้รับสารเคมียิ่งไม่มีระบบการจัดการ เช่น กรณีที่สารซัลเฟอร์รั่วไหลจากโรงงานสิ่งทอ ล่าสุดที่ จ.อ่างทอง พบว่า คนงานกว่า 90 คนล้มป่วย ทางสภาให้หน่วยงานเข้าไปเก็บข้อมูล เพื่อทำการติดตามในระยะยาวไม่ใช่แค่รักษาอาการเบื้องต้นเท่านั้น


ดังนั้น ถึงแม้สังคมจะตื่นตัวก็จริง แต่ระบบในการป้องกัน วินิจฉัยโรคยังไม่คืบหน้าหรือพัฒนาในทางที่จะคุ้มครองได้ ในส่วนของกระบวนการแรงงานเองจึงคิดว่าการสร้างกลไกอำนาจให้คนงานมีสัดส่วนในการบริหารระบบสุขภาพได้น่าจะเป็นเรื่องดี นั่นก็คือการจัดตั้งสถาบันอิสระ ซึ่งสภาฯผลักดันมากว่า 10 ปี จนกลายเป็น พ...ส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างไรก็ตามการผลักดันเนื้อหากฎหมายก็ถูกเบี่ยงเบนจากกระทรวงแรงงานถึง 3 รอบ ตั้งแต่ ปี 2540 ที่ยื่นข้อเรียกร้องกับสมัชชาคนจน กล่าวคือคณะกรรมการจัดตั้งร่วมกันจากฝ่ายรัฐ เอกชน คนงาน พอเปลี่ยนรัฐบาลถูกอย่างก็เปลี่ยนแปลง


สรุป คือ สภาเครือข่ายฯได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบจัดทำร่างนโยบายด้านสุขภาพความปลอดภัยของแรงงาน เห็นว่าระบบบ้านเรายังล้าหลังมาก ซ้ำยังไม่มีนโยบายทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม แพทย์ทั่วไปไม่ทำการวินิจฉัยโรค คนป่วยจากงานจึงไม่ได้รับสิทธิ์ เพราะการวินิจฉัยโรคไปอยู่ในกองทุนเงินทดแทน ซึ่งเป็นทั้งผู้วินิจฉัยโรค และจ่ายเงินในองค์กรเดียวกัน


เมื่อคนงานไม่รู้จักโรคเพราะไม่ได้รับการวินิจฉัย จึงไม่รู้จักการป้องกันตัวเอง ปัญหาการเจ็บป่วยก็เรื้อรัง หากคนงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมก็ถูกจัดเป็นการป่วยนอกงานกันไปหมด สถิติจากกองทุนเงินทดแทนไม่มีโรคจากสารพิษจากการทำงาน ชะตากรรมของคนงานเมื่อป่วยก็คือลาออกไปเอง หรือรอให้ถูกไล่ออกเมื่อทำงานไม่ไหว


เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะลักษณะการผูกขาดอำนาจในการจัดการดูแลปัญหาอยู่ในมือรัฐ เมืองไทยขาดแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนี้ เนื่องจากไม่มีนโยบาย หน่วยงานทำงานซ้ำซ้อนแต่ขาดประสิทธิภาพ ขาดการประสานงานที่ดีระหว่างกรมกองกระทรวง เจ้าหน้าที่น้อย ยังขาดทัศนคติความรับผิดชอบรู้ไม่เท่าทันนายจ้างหรือสถานประกอบการ ระบบที่มีอยู่ไม่ได้เอื้อประโยชน์มากนัก แก่ผู้ใช้แรงงาน รวมถึงขาดการมีส่วนร่วมของคนงานอย่างแท้จริง ฉะนั้นการบริหารจัดการเรื่องนี้ของรัฐมีลักษณะอนุรักษ์นิยมเข้าใจว่าตนเองเป็นผู้รู้ดีที่สุดคิดว่ากองทุนใหญ่โตคือผลสำเร็จ ไม่คำนึงถึงชีวิตคนงานที่มีความเสี่ยงต่อเครื่องจักรและสารพิษจากการทำงานทุกเสี้ยววินาที


ด้วยระบบที่มีอยู่ยังล้าหลัง เน้นแต่การจ่ายเงินทดแทนแถมยังสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ตั้งมากมาย เพราะเป็นการลดสถิติการเจ็บป่วย คนงานไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ ต้องเกิดความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดเวลา 10 กว่าปี จึงมีการผลักดันองค์กรอิสระในด้านการบริการความปลอดภัยมาร่วม 7 ปีแล้วกับรัฐบาลชุดนี้ร่าง พ...จัดตั้งสถาบันฯ ผ่านการพิจารณาสำนักกฤษฎีกา กลับกลายเป็นร่าง พ...ความปลอดภัยเฉยๆ ที่ไม่เป็นอิสละในการบริหารงานจากภาครัฐ แบบเบญจภาคี คือมีฝ่าย ลูกจ้าง นายจ้าง ภาครัฐ ผู้ถูกผลกระทบ และนักวิชาการผู้เชี่ยว ไม่มีระบบทำงานที่ครบวงจร ป้องกันดูแลรักษา ฟื้นฟู ทดแทน ขาดอำนาจการตรวจสอบสถานประกอบการและขาดการโอนเงินกองทุนทดแทนมาอยู่ในสถาบันใหม่ตามข้อเสนอฉบับขบวนการแรงงานและภาคประชาชน


สรุปว่ากองทุนเงินทดแทนคุ้มครองคนงานไม่ได้?


กองทุนเงินทดแทนไม่สามารถเข้ามาคุ้มครองแรงงานในเรื่องอาชีวอนามัยได้เลย เพราะต้องไปคุยถึงนโยบายด้านสาธารณสุข ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะให้ความรู้กับกองทุนประกันสังคมได้อย่างไร ปัจจุบันพอมีคนไข้ที่น่าจะเจ็บป่วยจากการทำงาน แต่เขาก็ไม่ส่งต่อไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล(ที่มีคลินิกอาชีวเวชศาสตร์) คือไม่มีการส่งต่อหรือวินิจฉัย


แต่เรื่องสำคัญที่สุดคือเกณฑ์การวินิจฉัยโรค อย่างกรณี พี่ป่วยตั้งแต่ปี 2535 แล้วไปรักษากับคุณหมออรพรรณ เมธาดิลกกุล เกณฑ์ที่คุณหมอใช้คือองค์กรอนามัยโรค แต่พอเราต่อสู้ กองทุนทดแทนก็ไปออกกฎเกณฑ์ โดยระดมความเห็นจากแพทย์ ซึ่งป็นเกณฑ์ที่แข็งมาก ถ้าคนงานไม่ป่วยจนแทบปางตาย ก็ไม่มีทางที่จะเจอโรค


ฉะนั้นคนงานที่เจ็บป่วยจากสารเคมีก็ต้องรับสบไปเรื่อยๆ ซึ่งพี่มองว่าเกณฑ์แบบนี้กระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ต้องให้ผู้มีอำนาจในการมีส่วนส่วนเสียมาออกเกณฑ์วินิจฉัยโรค ซึ่งพวกเราก็พยายามผลักดันกันอยู่ จาก 15 ปี จนถึงวันนี้ พี่คิดว่าปัญหาจะเลวร้ายกว่าเดิม ทุกครั้งที่เราไปหาคนงานในโรงงานเราเห็นเขาป่วย เห็นเขาเจ็บ เห็นเขาแย่ ในคนกำลังเผชิญภาวะแรงงานราคาถูก ถูกกดขี่ เร่งผลผลิตต่างๆ นานา แล้วคนงานจะมีปัญญาอะไรพาตัวเองไปหาหมอที่มีความเชี่ยวชาญ แล้วอุตสาหกรรมก็พัฒนาไปสู่การเป็นนิคมที่เน้นผลิตอย่างดุเดือดข้ามหัวข้ามชีวิตของแรงงานไป


บางรายทำงานจนกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ข้อต่อคนแตก แต่หมอและกองทุนเงินทดแทนก็บอกว่าไม่ใช่ความเจ็บป่วยจากการทำงาน และผลักภาระมาให้คนงานที่ไม่มีทาสู้ต้องไปดิ้นรนอุทธรณ์ฟ้องศาลหาทนายกันอีก ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ เท่านั้น ถ้าเกิดเข้าไปลึกๆ ในหลายๆ นิคม หลายสหภาพจะเห็นภาพอย่างนี้ชัดเจนว่ามันโหดร้ายสำหรับแรงงานหรือคนยากจน


แล้วหวังว่ารัฐบาลนี้จะมีดำเนินการอย่างไร?


คือถ้ารัฐบาลจะเสนอให้มีกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานและสภาพแวดล้อม ก็ต้องเสนอร่างของกระบวนการแรงงาน เพราะถึงแม้จะเอาร่างของราชการบวกด้วยมาตรา 52 ก็ไม่ได้เป็นผลดี เพราะโครงสร้างเป็นของราชการทั้งหมด ที่สำคัญกฎหมายของราชการไม่กำหนดเรื่องอำนาจในการตรวจสอบสถานประกอบการ เรื่องคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ แล้วกองทุนสุขภาพที่จะเอาไว้ที่กรมสวัสดิ์ ก็เป็นกองทุนที่ราชการถือไว้ทั้งหมด มันก็จะซ้ำรอยกองทุนเงินทดแทน กองทุนประกันสังคม ซึ่งผลประโยชน์ทั้งหมดไม่ได้ตกที่คนงาน


เราก็เลยคิดว่าในช่วงรัฐประหารก็มีการเคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญ พวกเราก็พยายามไปทุกเวทีและเสนอกฎหมายให้บรรจุไว้ในมาตรา 44 ที่ว่าคนงานทั้งต่างชาติ คนงานในระบบ นอกระบบ ควรที่จะมีการคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัย และมีองค์กรอิสระ ซึ่งคิดว่าปัญหานี้ต้องร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป เพราะว่าถ้าไม่มีก็จะอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างนี้เรื่อยไป           


ช่วยเปรียบเทียบร่าง กม.ความปลอดภัยฉบับราชการและขบวนการแรงงาน?


ตัวร่างทั้ง 2 ฉบับมันต่างกันตั้งแต่แนวคิด เพราะจุดเริ่มต้นของร่างกฎหมายฉบับกระบวนการแรงงานมีพื้นฐานมาจากการประสบอันตรายของพี่น้องโรงงานเคเดอร์ แต่ฐานคิดของฉบับกระทรวงแรงงาน มาจากฐานที่ตัวเองมีอำนาจ คิดจากบนสู่ล่าง ซึ่งมันผิดหลักการและไม่มีจิตวิญญาณในเนื้อหาของร่าง ส่วนตัวกฎหมายจริงๆ ในเรื่องของอำนาจบริหารทางราชการของเป็นไตรภาคี ส่วนของแรงงานเห็นว่ากระบวนการไตรภาคีมันล้มเหลว ควรจะเป็นเบญจภาคี


นอกจากนี้ในร่างกฎหมายของกระบวนการแรงงานจะมีโครงการฝ่ายละ 5 คนในการบริหารงานเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัยโดยการโอนให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสถานประกอบการแบบมีส่วนร่วม เน้นการทำงานแบบครบวงจร คือในสถาบันส่งเสริมมันจะต้องมีหน่วยงานอาชีวเวชศาสตร์เป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่นมาออกเกณฑ์การวินิจฉัยและมาตรฐานต่างๆ ในคลินิกนี้ แต่ของกระทรวงแรงงานไม่มีตรงนี้


ในส่วนร่างสถาบันส่งเสริมต้องยกอำนาจในการวินิจฉัยโรค การตรวจสอบสถานประกอบการ การชดเชยทดแทน การตรวจสอบและฟื้นฟูสุขภาพ ควรมีอิสระเพราะการให้กองทุนทดแทนบริหารแบบเดิมก็ทำไปแบบเช้าชามเย็นชาม และเน้นเรื่องการชดเชย แต่สถาบันส่งเสริมจะเน้นเรื่องการป้องกัน ก็คือตรวจสอบโรงงาน จัดตั้งศูนย์วินิจฉัย และทำการเผยแพร่ให้ความรู้ ที่สำคัญคือเน้นการมีส่วนร่วม เราไม่ได้ทำงานแบบหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมันเป็นงานตามพ...ที่ล้าหลัง และบริหารงานด้านความปลอดภัยไม่ได้


ดังนั้น ร่างทั้ง 2 ฉบับจึงมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ตัวหนึ่งออกกฎหมายมีกองทุนสุขภาพ ซึ่งรัฐบริหาร รัฐควบคุมแล้วการทำงานเน้นเรื่องการให้ความรู้เพียงอย่างเดียว จึงมีคำถามว่าถ้าพ...ความปลอดภัยออกมา ถ้ามีความสามารถเพียงแค่นี้จะออกมาทำไม แต่เป็นการออกเพื่อกันพ...ของบวนการแรงงานมากกว่า ก็คือ เป็นพ...ที่ให้โอกาสนายทุน และภาครัฐ ส่วนพ...ที่เน้นกลไกการมีส่วนร่วม ตรวจสอบ ป้องกันกลับถูกละทิ้งไป


แล้วจะเคลื่อนไหวกันอย่างไรต่อไป


สภาเครือข่ายได้ยื่นพ...ของขบวนการแรงงานไปที่สนช. ซึ่งทีแรกสนช.ได้นำไปพิจารณาร่วมกับร่างพ...ของราชการและบวกมาตรา 52 เข้าไป แต่พอได้เข้าไปชี้แจงสนช.ก็ไม่ยื่นร่างประกบกันแล้ว ซึ่งกระบวนการพิจารณาคาดว่าจะค้างที่สนช.ต่อไป แต่ส่วนกระบวนการของเราก็พิจารณากันอยู่ว่าหากกฎหมายลูกในเรื่องการรวบรวมรายชื่อ 10,000 คน เสร็จสิ้นก็จะดำเนินการต่เสนอกฎหมายต่อไป เพราะมีบทเรียนจากกรณีของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีปัญหา


อย่างไรก็ดีหลังจากที่สภาผู้ป่วยได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ทำให้สามารถลงไปสร้างเครือข่ายแรงงาน และชุมชนป้องกันการเจ็บป่วย ซึ่งสามารถสร้างแกนนำที่พร้อมจะขยายความคิด และในแต่ละพื้นที่ก็มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานรับเรื่องร้องทุกข์ แก้ปัญหาของผู้ใช้แรงงาน โดยประสานงานตรงกับสภาเครือข่าย และหน่วยงานภาครัฐให้มีการแก้ไขที่ต้นเหตุได้ ถือเป็นหูเป็นตาได้ แม้ยังไม่มากนัก แต่นี่ก็คือความหวัง.


ข้อมูลเสริม


รายงานการศึกษา เรื่อง โครงการศึกษาสถานการณ์การให้บริการด้านอาชีวอนามัยในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) อ้างถึงข้อมูลของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน กระทรวงแรงงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงานประมาณ 34 ล้านคน โดยครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคเกษตรกรรม ที่เหลือจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ที่ทำงานประสบอันตรายหรือบาดเจ็บจากการทำงานปีละประมาณ 2 แสนราย จากเหตุผลดังกล่าวจึงสมควรที่มีการจัดการทางด้านสาธารณสุขขึ้นเพื่อรองรับ และให้เรียกว่าการให้บริการทางด้านอาชีวอนามัย ซึ่งวัตถุประสงค์ของการให้บริการไม่จำเพาะแค่การรักษาพยาบาลโรคแต่มุ่งเน้นการป้องกันและควบคุมโรคจากการทำงาน และความปลอดภัย ตามหลักการขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)


อย่างไรก็ตามรายงานการศึกษา ดังกล่าว ระบุถึงอุปสรรคและปัญหาในการดำเนินงานการให้บริการอาชีวอนามัยของประเทศไทยว่า ปัจจุบันจำนวนบุคลากรในด้านต่างๆ ของงานอาชีวอนามัยยังมีจำนวนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถด้านนี้ยังมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณของงาน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคุลม ยิ่งภาครัฐมีนโยบายจำกัดจำนวนข้าราชการทำให้การจัดสรรบุคลากรที่จะมาทำงานด้านนี้ ซึ่งเป็นงานใหม่เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ส่วนด้านทัศนคติและการตระหนักถึงความสำคัญทางด้านอาชีวอนามัยของนายจ้างและลูกจ้าง พบว่า ปัจจุบันยังไม่ได้ให้ความสำคัญ ยิ่งเศรษฐกิจตกต่ำ การที่นายจ้างคิดลงทุนด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คงเป็นเรื่องยากหรือให้ความสำคัญในลำดับท้ายๆ


สำหรับแผนงานและนโยบายของรัฐบาล พบว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของชาติ จึงอาจะทำให้การคัดกรองประเภทของอุตสาหกรรม หรือคุณภาพของโรงงานลดลง เมื่อทางรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยมากนัด จึงทำให้เจ้าของกิจการที่ได้ดำเนินการไปแล้วไม่ให้ความสำคัญไปด้วย นอกจากนี้ปัจจุบันมีหน่วยงานของรัฐบาลที่ดูแลและมีส่วนเกี่ยวข้องหลายหน่วย ทำให้แผนงานโครงการไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีปัญหาในการประสานงานอีกด้วย หรือในประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการบังคับใช้พบว่า แม้จะมีกฎหมายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยมาบังคับใช้แล้ว แต่ความครอบคลุมของเนื้อหายังไม่สมบูรณ์ ที่สำคัญ การบังคับให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายยังเป็นไปได้น้อย


รายงานวิจัยดังกล่าว เสนอแนะว่า การพัฒนาระบบการให้บริการอาชีวอนามัยมีความสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชากรวัยแรงงานไทย ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการบริการอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงทั้งหลาย ซึ่งปัญหาเร่งด่วนของการให้บริการคือการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ ทัศนคติของนายจ้างลูกจ้าง รวมทั้งนโยบายทางภาครัฐเอง ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาคือการมีส่วนร่วมของตัวแทน นายจ้าง ลูกจ้าง และหน่วยงานราชการต่างๆ มาร่วมในการกำหนดนโยบายในการให้บริการ รวมทั้งเพิ่มการมีส่วนร่วมของการภาคเอกชนในการให้บริการด้วย.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net