Skip to main content
sharethis

วันนี้ (31 ต.ค.50) เครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และกลุ่มพันธมิตร องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสถานะบุคคล นักวิชาการ นักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ "คัดค้านร่างแก้ไขกฎหมายสัญชาติและกฎหมายทะเบียนราษฎร ฉบับกรมการปกครอง"


 


โดยในแถลงการณ์ ระบุว่า สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบต่อ ร่างพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ...... และ ร่างพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร(ฉบับที่...) พ.ศ....  จัดทำและเสนอโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2550 และวันที่ 25 กันยายน 2550 ตามลำดับ ปัจจุบันร่างแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ อยู่ระหว่างรอนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป


 


เครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ร่วมกับพันธมิตรผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิและสถานะบุคคล นักกฎหมาย และกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน  ได้จัดเวทีหารือความคิดเห็นต่อร่างแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดประชุมเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2550 ณ ห้องประชุมจามจุรี บ้านธารแก้ว จ.เชียงใหม่ ที่ผ่านมา  ที่ประชุมมีมติ ไม่เห็นด้วยและขอคัดค้าน ร่างแก้ไขกฎหมายสัญชาติ และกฎหมายการทะเบียนราษฎร ที่ยกร่างโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยมีเหตุผลประกอบดังต่อไปนี้


 


ประการแรก เครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์และพันธมิตร  มีความเห็นว่า ร่างแก้ไขกฎหมายสัญชาติฉบับกรมการปกครอง มิได้มีเจตนาที่จะแก้ไข เยียวยาและลดจำนวนปัญหาสถานะบุคคลและคนไร้รัฐไร้สัญชาติอย่างแท้จริง แต่มุ่งเน้นการควบคุมจำกัดสิทธิมนุษยชนกลุ่มคนไทยไร้รัฐ-ไร้สัญชาติยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติหลายมาตรายังมิได้รับการแก้ไขปรับปรุง อาทิ


 


(1)กรณีมาตรา 7 ที่กำหนดถึงการได้รับสัญชาติไทยของบุตรตามหลักสายโลหิตจากบิดา ซึ่งต่อมีการตีความจนกลายเป็นแนวปฏิบัติว่า จะต้องเป็นกรณีที่เป็น "บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย" เท่านั้น บทบัญญัติที่ไม่ชัดเจนประกอบกับการตีความดังกล่าว ทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยต้องกลายเป็นเด็กไร้สัญชาติ เพียงเพราะว่าบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสกัน ซึ่งกรมการปกครองเองก็รู้เห็นและเข้าใจถึงสภาพข้อกฎหมายและแนวปฏิบัติที่สร้างปัญหาและเพิ่มจำนวนเด็กไร้สัญชาติมาโดยตลอด


 


(2) กรณีมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 ที่กำหนดให้เด็กแรกเกิด ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องกลายเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย มีโทษทางอาญาตั้งแต่แรกเกิด เพียงเพราะเด็กคนดังกล่าว เกิดจากพ่อหรือแม่ที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย  แม้ว่าพ่อหรือแม่นั้นจะได้รับอนุญาตให้สามารถอยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวในประเทศไทยแล้วก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากเด็กตามมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 จะเป็นเด็กไร้สัญชาติแล้ว ความไร้สัญชาตินี้ยังตกทอดไปยังรุ่นลูก-หลานต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


                 


เครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์และพันธมิตร เห็นว่า ความผิดอาญาฐานเข้าเมืองผิดกฎหมายไม่ควรส่งผลถึงเด็กซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งการที่ประเทศไทยเป็นภาคีในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ผูกพันให้ประเทศไทยต้องดำเนินการให้เด็กที่เกิดในประเทศไทยมีสัญชาติ ตามข้อ 24 ข้อย่อยที่ 3 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และข้อ 7 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก


 


(3)กรณีมาตรา 9 ที่กำหนดแต่เพียงให้หญิงสามารถร้องขอสัญชาติไทยตามสามีได้เท่านั้น เครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์และพันธมิตร เห็นว่า สิทธิที่บุคคลในครอบครัวเดียวกันจะมีสัญชาติเดียวกันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์และการก่อตั้งครอบครัว ไม่ว่าหญิงหรือชายควรมีสิทธิยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยโดยการสมรสได้ทั้งสิ้น


                 


จะเห็นได้ว่า กรมการปกครองในฐานะหน่วยงานรัฐที่รับรู้ เข้าใจข้อจำกัดโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และสภาพปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดของคนไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ รวมถึงผู้มีปัญหาสถานะบุคคลมาโดยตลอด แต่เมื่อมีการยกร่างแก้ไขกฎหมายสัญชาติ กรมการปกครองกลับละเลย ไม่ใส่ใจแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและยุติธรรม


 


ประการที่สอง เพื่อให้มีความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการควบคุมจัดการ  กรมการปกครองได้สร้างกลไกอำนาจใหม่เพิ่มขึ้นมา คือ คณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ (มาตรา 25 (2)) เพื่อมาบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติ ซึ่งเครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์และพันธมิตร มีความเห็นว่าคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ดังกล่าวไม่สามารถทำหน้าที่แก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ-ไร้สัญชาติได้ เนื่องจาก


การระบุสัดส่วนและองค์ประกอบของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ  มิได้คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมไทย เนื่องคณะกรรมการกลั่นกรองฯ  มีตัวแทนจากภาครัฐจำนวนถึง 12 คน โดยจำนวนกว่าครึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานด้านความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ยังคงให้รัฐมีบทบาทนำในเรื่องการแก้ไขปัญหาคนไทยไร้สัญชาติ มิใช่เป็นเรื่องของประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนและภาควิชาการ  จึงหลักเลี่ยงไม่ได้ที่จะดึงเอาปัญหาคนไร้สัญชาติไปผูกโยงกับความมั่นคงของชาติ


(1)           แม้มาตรา 25(3) จะเปิดโอกาสให้มีการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีประสบการณ์การทำงานด้านสัญชาติ  แต่ก็เป็นเพียงสัดส่วน 1 ใน 3 ของจำนวนคณะกรรมการทั้งหมด


(2)          นอกจากนี้ ที่มาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ยังมาจากการ "คัดเลือก" โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองฯ แต่อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาก็จะยังคงขาดความอิสระ ความเป็นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์และพันธมิตร มีคำถามถึงดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักระหว่างความตระหนักในสิทธิมนุษยชน และความมั่นคงของมนุษย์ กับความตระหนักในความมั่นคงของชาติ


(3)          ยิ่งไปกว่านั้น เครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์และพันธมิตร พบว่า อำนาจการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้สัญชาติไทย ยังคงผูกติดกับรัฐมนตรี  โดยคณะกรรมการกลั่นกรองฯ กล่าวอ้างว่าเป็นกลไกใหม่ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วน กลับมีอำนาจหน้าที่เพียง "เสนอความเห็น" และยังเป็นความเห็นที่ไม่ผูกพันให้รัฐมนตรีต้องรับฟังเพื่อพิจารณาสั่งการตาม  


              


ซึ่งจากประสบการณ์ปัญหาประเทศชาติวิกฤตที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ด้วยสาเหตุเกิดจากการมอบอำนาจให้ผู้บริหารประเทศเพียงคนเดียวในการทำหน้าที่บริหารแบบเบ็ดเสร็จ  จึงไม่สามารนำพาประเทศชาติพ้นวิกฤตความล่มจมไปได้  ยิ่งหากได้ผู้นำที่ไร้วุฒิภาวะและลุแก่อำนาจด้วยแล้วยิ่งส่งผลกระทบไม่เพียงคนไร้รัฐ-ไร้สัญชาติเท่านั้น แต่ส่งผลโดยตรงต่อประเทศชาติโดยรวมด้วย จึงไม่ควรให้อำนาจรัฐมนตรีมหาดไทยเพียงคนเดียวในการตัดสินใจ  


 


ประการที่สาม ต่อกรณีร่างแก้ไขกฎหมายทะเบียนราษฎร ในเบื้องต้น เครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์และพันธมิตร มีความเห็นว่า ร่างแก้ไขฉบับกรมการปกครอง มาตรา 10/1 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ให้นายทะเบียนสามารถออกคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้บุคคลผู้ถูกระทบสิทธิดำเนินการโต้แย้งก่อน อันถือเป็นการยกเว้นบทบัญญัติในทางกฎหมายปกครอง คือ พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 30  ซึ่งเป็นการละเมิดต่อสิทธิในสถานะบุคคลอย่างร้ายแรง ดังกรณีตัวอย่างคนแม่อาย 1,200 คน ที่เคยถูกถอนสัญชาติเมื่อปี พ.ศ.2547 และชนเผ่าพื้นเมืองในอำเภอแม่แตง 5,000 คน ที่ถูกระงับความเคลื่อนไหวทางทะเบียนด้วยเหตุเพียงน่าสงสัยว่าทุจริต เมื่อปี พ.ศ.2548 ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนกลุ่มนี้เสียสิทธิต่างๆมากมาย เช่น สิทธิการเข้าถึงบริการต่างๆของรัฐ และสิทธิทางการเมือง


 


ในท้ายของแถลงการณ์ ทางเครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์และพันธมิตร สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ได้แสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านร่างแก้ไขพ.ร.บ.สัญชาติ และร่างแก้ไขพ.ร.บ. ทะเบียนราษฎร ที่ยกร่างโดยกรมการปกครอง และขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใช้ดุลพินิจอย่างรอบด้านในการพิจารณาผ่านหรือไม่ผ่านกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยเครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์และพันธมิตร เสนอให้ สนช. พิจารณาความเห็นของเครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์และพันธมิตร ที่มีต่อร่างแก้ไขพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่...)  พ.ศ.... และร่างแก้ไขพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร(ฉบับที่ ...) .....ฉบับที่ยกร่างโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย


              


ทั้งนี้ เครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์และพันธมิตร มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยสัญชาติเป็นกฎหมายที่สำคัญต่อการกำหนดและรับรองสถานะบุคคลที่เกิดและปรากฏตัวในประเทศไทย ส่วนพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎรก็เป็นกฎหมายที่กำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติในการออกหลักฐานทางทะเบียนราษฎรเพื่อรับรองสถานะบุคคล กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ล้วนส่งผลต่อการเพิ่มหรือลดปริมาณความไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ ในประเทศไทย


 


จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจักต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมและการรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสถานะบุคคล และบุคคลในท้องที่ซึ่งมีความใกล้ชิดกับปัญหา  ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง แก้ไขร่างกฎหมายทั้งสองฉบับให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดการแก้ไข ป้องกันและเยียวยาปัญหาความไร้รัฐ-ไร้สัญชาติและสิทธิของบุคคลที่ยั่งยืนซึ่งหมายถึงความมั่นคงของชาติ และจะส่งผลทำให้ประเทศไทยมีความทัดเทียมนานาอารยประเทศอย่างมั่นใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net