Skip to main content
sharethis


ภาพประกอบจาก: http://oleeunlen.multiply.com


 


"คนรวยก็อาจจะไม่มีปัญหา แต่คนจนมันต้องการยา ไม่มียามันก็ไม่มีลมหายใจครับ"


 


เสียงบอกเล่าของบุคคลดำเนินเรื่องในหนัง คือ นายกมล อุปแก้ว อดีตประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เกริ่นถึงช่วงหนึ่งในอดีตที่ได้ต่อสู้กับสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิต นั้นคือเรื่อง "ยา"


 


ภาพยนตร์สารคดีสั้น เรื่อง "ยาใจคนจน" เป็นภาพยนตร์ที่ชนะการประกวดจากโครงการหนังม่านรูด 3 ในหัวข้อ เอดส์รักษาได้ : Staying posi+ive เนื้อหาในหนังเล่าถึงชีวิตคนเล็กๆ ที่มีชีวิตไม่ต่างจากคนทั่วไป คู่ขนานไปกับส่วนต่อสู้ในเรื่องมหภาค ผ่านกรณีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ เมื่อต้นปี 2549 มาจนถึงประเด็น (CL) ซีแอลของประเทศไทยในปัจจุบันซึ่งกำลังเป็นที่จับตาไปทั่วโลก


 


…เพราะรัฐบาลไทยในยุคที่มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศใช้ซีแอลเป็นประเทศแรก…


 


CL หรือสิทธิบัตรเหนือสิทธิบัตรยา มันมีความพิเศษอย่างไร?


 


ทำไมถึงเป็นที่ถกเถียงกันจนเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยๆ แต่ไม่เห็นมีใครบอกว่าความเป็นมาเป็นอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไรไม่มีใครรู้?


 


CL เกิดขึ้นมาเพราะปัญหายาราคาแพงของบริษัทขายยาจากประเทศยักษ์ใหญ่ จนประเทศโลกที่ 3 หลายๆ ประเทศไม่สามารถเข้าถึงยาได้ เพราะต่างคนต่างไม่มีเงินซื้อ ก็เลยเพิกเฉยที่จะหันมาพึ่งการรักษาโดยการใช้ยา


 


จนกระทั่งยาเริ่มราคาถูกลงจากการที่ยาตัวหนึ่งหมดสิทธิบัตร จึงเริ่มเกิดคำถามว่า ที่ยาราคาแพงนั้น อาจไม่ได้เกิดจากต้นทุนที่ราคาแพงอย่างที่คิด แต่เกิดจากการ "ผูกขาด" ของบริษัทเพียงบริษัทเดียวในตลาด ซึ่งบริษัทยานั้นจะกำหนดราคาเท่าไรก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงผู้ที่เจ็บป่วย 


 


สิ่งที่หนัง "ยาใจคนจน" กำลังบอก คือ เราทุกคนที่เป็นประชาชนคนตัวเล็กๆ ควรลุกขึ้นมาเรียกร้อง สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ สำหรับหนังเรื่องนี้นั่นหมายถึง การเรียกร้องสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป และรัฐบาลไม่ควรนิ่งเฉยกับเรื่องนี้


 


"เราไม่ควรฝากชีวิตไว้กับคนบริหารประเทศอย่างเดียว ต้องเป็นเรื่องที่เรามีส่วนร่วมลุกขึ้นมาติดตาม ลุกขึ้นมาบอกว่าเขาควรจะทำยังไง ต้องลุกขึ้นมาชี้นำคนที่อยู่นโยบายว่า คุณควรจะต้องทำแบบนั้นแบบนี้ แต่การชี้นำก็ควรจะต้องฟังความคิดเห็นของคนในสังคมด้วย"


 


เสียงจากตัวดำเนินเรื่องดังออกมาจากภาพยนตร์ สื่อสารกับเราได้ชัดเจน ถึงเรื่องราวอันแสนทรหดของตัวละคร และที่สำคัญ มันคือ "ชีวิตจริง"


 


"เพราะว่าเรื่องนี้คือเรื่องของชีวิต มันมีประสบการณ์ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการที่เราไม่มียาสักเม็ด เพื่อนเราตายเป็นใบไม้ร่วง พอเราเริ่มมียา ยาก็มีนิดหน่อย ขณะที่คนต้องการมันทั่วประเทศ เราก็พยายามผลัก ก็เริ่มมีมากขึ้น ถามว่าเหนื่อยมั้ย ผมบอกได้เลยว่าเหนื่อยมาก คนทำงานเรื่องเอดส์ก็เหนื่อยเยอะ พอมาถึงทุกวันนี้ก็มันก็ยังมีรอยยิ้มบ้าง"


 


กมล บอกต่อว่าสมัยนี้ในทางร่างกายหมายถึงการรักษา วิทยาศาสตร์มันพัฒนาไปจนบอกได้ว่า ผู้ที่มีเชื้อเอชไวอีสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ แต่เรื่องจิตใจและการยอมรับจากสังคม ยังเป็นบาดแผลที่ผู้ติดเชื้อต้องเผชิญต่อไปตราบใดที่สังคมยังไม่เข้าใจเรื่องโรคเอดส์ ดีพอ มันก็จะสร้างความจนจนโอกาสจนการยอมรับจากสังคม ให้กับผู้ติดเชื้อต่อไป


 


"หนังเรื่องนี้เหมือนยา ที่มาช่วยรักษาบาดแผลทางสังคมให้กับเขา"กมล อุปแก้ว ตัวละครหลักในเรื่องยาใจคนจน อดีตประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย



 


ขณะที่โลกหมุนไปเร็วมาก มีคนกลุ่มหนึ่งถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และบางทีอาจเป็นคนที่เรารัก...


 


นัยยะเรื่องเอดส์ตอบคำถามในใจบางอย่างกับวัยรุ่นผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ทั้งสองคนได้ชัดเจน ในยุคที่สังคมเหลื่อมล้ำกันมาก และค่าความสำเร็จของคนวัดกันด้วยตัวเลขทางธุรกิจ


 


Deleted Scenes


 


เสียงสัมภาษณ์ "นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์" เลขาธิการสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์ที่ต้องถูกตัดออกไป เนื่องเพราะต้องรักษาสมดุลความเป็นหนังไว้ และการประกวดได้จำกัดความยาวของหนังไว้ที่ 20 นาที


 


(สัมภาษณ์โดย เอกและอีฟ


2 ผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์สารคดีสั้นเรื่อง ยาใจคนจน)



 


ต้องบอกว่านี่เป็นแค่ "บางส่วน" เพราะสัมภาษณ์กันเกือบชั่วโมง


 






 


 


 


ยาใจคนจน : เราจะเข้าเรื่อง CL กันนะครับ อยากให้คุณหมอพูดศัพท์ง่ายๆ ให้ชาวบ้านเข้าใจได้


นพ.สงวน : CL (ซีแอล) ภาษาไทยเรียกว่า "สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา" แปลว่าอย่างนี้ครับ โดยปกติทั่วไปเขามีการคุ้มครองเวลาเขาเสนอโปรเจ็คต์ยาใหม่ๆ ออกมา หรือมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เราก็สามารถที่จะไปจดสิทธิบัตรว่าเป็นสิทธิบัตรที่จะต้องได้รับความคุ้มครอง เพื่อที่จะส่งเสริมให้เกิดความริเริ่มใหม่ขึ้นมาในประเทศหรือในโลก ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่อารยประเทศยอมรับกัน แต่ทางด้านตรงข้าม ในแง่ที่ว่าการรับสิทธิบัตรบางเรื่อง สิ่งที่เป็นสิ่งที่คิดค้นเป็นสิ่งที่มีผลต่อสุขภาพ ผมยกตัวอย่างเช่น เรื่องยา มีผลกระทบต่อสุขภาพ ถ้าบังเอิญมีการปกป้องด้วยสิทธิบัตรเป็นเวลานาน ยาก็จะมีราคาแพง แปลว่า "คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงครับ" 


 


คนที่เป็นคนยากจนต่างๆ ก็ไม่สามารถเข้าถึงยาได้ทั่ว อย่างเช่น เราอาจคิดไม่ถึงว่า เราอาจจะต้องกินยาเม็ดหนึ่งทุกวัน วันละ 2,000-3,000 บาท กินเม็ดเดียวนะครับราคา 2,000-3,000 บาท กิน 30 เม็ดต่อเดือน เดือนหนึ่งก็ตกประมาณ 75,000 บาทแล้ว เพราะฉะนั้น ผมว่าแม้แต่ชนชั้นกลางก็ไม่มีตังค์ในการที่จะมาซื้อยาเหล่านี้


 


การที่เป็นอย่างนี้มันก็เกิดข้อถกเถียงขึ้นที่ WTO หรือองค์การการค้าโลกว่า เอ๊ะ ข้อตกลงในการคุ้มครองสิทธิบัตรเป็นสิ่งที่ดีก็จริง แต่ว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้การคุ้มครองเหล่านี้ไม่ลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ทางด้านความเป็นอยู่ การมีชีวิตหรือสุขภาพนะครับ ประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถที่จะออกสิ่งที่เรียกว่า "สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา" หรือ CL ได้ นี่เป็นข้อยกเว้นนะครับ พอมีการดำเนินการไปแล้วก็อาจจะเกิดความเข้าใจผิด บางคนก็นึกภาพไปว่าประเทศไทยกำลังละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ที่มีสิทธิอยู่ แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ประเทศไทยก็ดำเนินไปตามสิ่งที่ข้อตกลงที่องค์การการค้าโลกได้มีให้ไว้นะครับ


 


+คุณหมอมีความคิดเห็นว่าอย่างไรกับการล๊อบบี้ของบริษัทยายักษ์ใหญ่


การล๊อบบี้ของบริษัทยาคงเป็นปกติน่ะนะครับ แต่ถ้าเราไม่ได้เปิดโอกาส พูดง่ายๆ คือเราไม่ได้เปิดโอกาสในเชิงผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นก็คงไม่สามารถล๊อบบี้อะไรได้ เพราะเราเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง จะมาล๊อบบี้อย่างไรก็ตามก็คงไม่สามารถจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้


 


+ความคิดเห็นส่วนตัวของคุณหมอ คิดว่า Abbott ทำถูกหรือผิดมากเกินไปหรือเปล่า


เราจะไปกล่าวหาบริษัทยาโดยตรงก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ ในแง่ที่ว่าเขาเองก็จำเป็นต้องปกป้องในสิทธิ คือสิ่งที่เค้าได้ผลิต แต่การทำให้ประชาสังคมได้รับทราบถึงข้อดีข้อเสีย ทำให้ Abbott เองทราบข้อดีข้อเสีย ซึ่งAbbott ไม่ได้หมายถึงตัวบริษัทอย่างเดียว แต่หมายถึงตัวบอร์ดด้วย บอร์ดบริหารบางท่านของ Abbott ก็ไม่ได้เห็นด้วย เราถึงอยากมาทำในแง่ของการที่จะออกมาคัดค้าน แล้วทำให้กระทบต่อประชาชน ก็เป็นข่าวไปแล้วด้วย ฉะนั้นผมคิดว่า ผู้รักความเป็นธรรมน่ะมันมีอยู่ทั่วไป แต่จะทำอย่างไรเราถึงจะเอาสารต่างๆ เหล่านี้ หมายถึงสารที่ดีนะครับ ว่ามันเป็นประโยชน์อย่างไร แล้วประเทศหรือประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง ถ้าสิ่งเหล่านี้ได้มีการสื่อสาร ผมเชื่อว่าผู้รักความเป็นธรรม แม้แต่ในบริษัทยาต่างชาติเองก็จะให้การสนับสนุน และเชื่อว่าถึงตอนนั้นปัญหาก็คงจะมีน้อยลง


 


+คุณหมอมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องลิขสิทธิ์ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย


ลิขสิทธิ์โดยทั่วไปในด้านของการที่จะปกป้องความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผมก็เห็นด้วยนะ แต่ที่ว่าเมื่อคิดลิขสิทธิ์ออกมาได้แล้ว ปรากฏว่าประชาชนเข้าไม่ถึงยาเหล่านั้น โดยเฉพาะถ้ายาตัวนั้นเป็นตัวยาดีๆ ผมก็ไม่เห็นด้วย มันต้องมีการจัดลำดับสิทธิ


 


+สิทธิทางด้านการค้าไม่มีทางที่คุณจะสูงกว่าสิทธิทางด้านมนุษยชน


สิทธิมนุษยชนควรจะเป็นอันดับหนึ่งนะครับ การที่ประชาชนจะอยู่ได้ มีชีวิตได้ มีสุขภาพที่ดีได้ อันนี้ควรจะเป็นอันดับหนึ่ง แล้วถ้าตรงนี้ได้รับการปกป้องแล้ว เรามาปกป้องต่อถึงเรื่องสิทธิ การคิดค้น หรือสิทธิบัตร หรือสิทธิทางด้านการค้า อันนั้นผมเห็นด้วย แต่ถ้าสิทธิในเรื่องการค้ากับสิทธิการคิดค้นออกมาแล้วเกิดผลกระทบ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับบริการ หรือทำให้เกิดข้อหายนะอย่างใหญ่หลวงต่อโลก ผมเองก็ไม่คิดว่าสิทธิบัตรเหล่านั้นดี


 


เราก็เคยเห็นเหมือนกับหนังสือกำลังภายในเอย หรือแม้แต่หนังสือโดยทั่วไปที่เขียนถึงผู้ที่คิดค้นอะไรได้  แต่รู้สึกว่าตัวเองควบคุมเทคโนโลยีนั้นไม่ได้ แล้วจะเป็นอันตรายต่อโลก สุดท้ายเขาก็ยอมทำลายเทคโนโลยีนั้นด้วยตัวเอง แล้วตายพร้อมกับเทคโนโลยีที่ตัวเองคิด แต่นั่นก็เป็นหนังน่ะนะ แต่ว่ามันก็สะท้อนให้เห็นว่า ในเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ เนี่ย เราต้องคิดถึงข้อดีข้อเสียอย่างรอบด้าน แล้วก็คิดถึงว่า มีเทคโนโลยีออกมาเพื่ออะไร ถ้าไม่ได้มีเพื่อรับใช้มนุษย์แล้วไม่มีความหมาย มันมีขึ้นมาเพื่อรับใช้มนุษย์นะครับ แต่คราวนี้ประเด็นมันมีอยู่ว่า หลายคนก็อาจจะประเมินว่ามนุษย์ชั้นไหน มนุษย์รวยหรือมนุษย์จน  ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ามนุษย์ก็คงเป็นมนุษย์ระดับทั่วๆ ไป


 


เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีที่ออกมาเราเห็นด้วยนะครับ เราก็จำเป็นที่จะต้องปกป้องเทคโนโลยี เพราะคงไม่มีใครอยากจะคิดค้นของใหม่นะครับ แต่ในด้านกลับ ผมยังเคยคิดเลย ถึงขนาดที่ว่า น่าจะมีกองทุนกลางของโลกสักกองทุนหนึ่ง ใครคิดเทคโนโลยีอะไรได้ที่มีผลต่อสุขภาพ กองทุนนี้ก็ให้ตังค์ไปเลย เชื่อไหมครับว่าโรคที่เป็นกันมากอย่างในประเทศที่ยากจน ไม่มีอะไรเกิดขึ้นนะครับ เช่น พวกวัคซีนหรือยารักษาโรค ไม่เกิดขึ้น เพราะว่ามันไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีแรงจูงใจในการผลิต บริษัทไม่ยอมผลิตเพราะว่า ผลิตออกมาเสร็จปั๊บ-ไม่มีคนซื้อ เนื่องจากว่าคนซื้อนี่เป็นคนที่ยากจนทั้งนั้น


 


+มองอีกด้านหนึ่งเป็นการเสียผลประโยชน์ของบริษัทยามั้ย


เขาก็เลยไม่มีแรงจูงใจในการที่อยากจะทำนะ  ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาระดับโลกในการที่จะพูดในเครือข่ายนักวิชาการว่า Neglected Disease คือโรคที่ถูกละเลย ซึ่งบางโรคที่เป็นโรคที่ถูกละเลย แต่เป็นโรคขนาดใหญ่นะครับ คนจำนวนล้านตายในแต่ละปี แต่ไม่มีใครมาสนใจค้นคว้าเทคโนโลยีในการรักษาในการป้องกัน เพราะฉะนั้นมันก็ต้องตั้งคำถามว่า เอ๊ะ ถ้าอย่างนั้นโลกมนุษย์พัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเรายังจะทอดทิ้งคนกลุ่มใหญ่จำนวนไม่น้อยเลยในสังคมที่เป็นคนยากคนจนให้แย่ลงหรือ ผมเองยังนั่งฝันว่าน่าจะมีกองทุนยักษ์สักกองทุนหนึ่ง ใครคิดค้นเทคโนโลยีก็เอา แล้วขอซื้อนะครับ อาจจะไม่ซื้อในราคาที่บริษัทได้กำไร แต่ว่าซื้อมาในราคาที่เชื่อว่าบริษัทนี่ไม่ถึงกับแย่นัก แล้วเราก็นำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาให้กับประเทศต่างๆ ได้มีการดำเนินการ ยาจะได้ไม่แพงเกินไป หรืออย่างวัคซีนของคนจน วัคซีนโรคคนจนหรือยาสำหรับโรคคนจนหรือแอฟริกา คนพวกนี้ส่วนใหญ่เขาจะเป็นแอฟริกากับละตินอเมริกา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแอฟริกาเป็นหลัก ถ้ามีเทคโนโลยีเกิดขึ้นก็คงจะทำให้คนที่นั่นล้มตายน้อยลง ปัจจุบันก็ล้มตายมากเลยจาก โรคที่เรียกว่าเราก็รู้ว่าเป็นโรคติดเชื้อ แต่ไม่มีใครที่ขวนขวายจริงจังในการที่จะไปหาวิธีการปราบปรามรักษาโรคเหล่านั้นให้ดี เพราะเทคโนโลยีทางด้านนี้มันขายไม่ได้ ซึ่งมันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นเลย ความจริงเป็นอย่างนั้นมันก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่โลกเราก็ทิ้งอีกสังคมหนึ่งให้ไร้การดูแล


 


+ตอนนี้ทางที่ดีที่สุดของประเทศไทยก็คือทำ CL 


ประเทศที่ยากจน หรือประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวย ก็ต้องยืนยันว่าเราทำ ไม่ได้เพื่อผลประโยชน์ทางด้านการค้าของใคร ทำเพื่อผลประโยชน์ทางด้านชีวิตทางสุขภาพของประชาชน


 


+มีกระแสตอบรับจากทั่วโลกยังไงบ้างครับ


ดีมากครับ เรื่อง CL นี่ดีมาก คือ กระแสตอบรับทั่วโลกเลย ดีเกินกว่าที่ผมคาดอีก ผมคิดอยู่แล้วว่าพอเริ่มทำปุ๊บจะมีคนสนับสนุน แต่ผมไม่คิดว่าจะกว้างขวางขนาดนี้ ที่กว้างขวางขนาดนี้ได้ก็เพราะว่าแรงบีบของบริษัทยาที่เป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง เลยเกิดแรงต้านกลับมาให้กำลังใจ


 


+อยากให้ลองวิเคราะห์กลุ่มเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ว่าภาคประชาสังคมที่แข็งแรงสามารถผลักดันเรื่องใหญ่ๆ ได้


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ได้สนับสนุนเครือข่ายผู้ป่วยจำนวนหลายเครือข่ายด้วยกันนะครับ  ก็ยอมรับว่าเครือข่ายผู้ติดเชื้อ (HIV/AIDS) เป็นเครือข่ายที่มีความเข้มแข็งที่สุด ผมก็พยายามพูดให้เครือข่ายอื่นฟังนะครับ ยกตัวอย่างเช่น เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง คนไข้ที่เป็นมะเร็งมากมายนะครับ ยาก็แพงนะครับ เอ๊ะ! ทำไมไม่เคลื่อนไหวเหมือนคนอื่น เหมือนกับทางกลุ่มผู้ติดเชื้อบ้าง หรืออย่างคนไข้หัวใจคนไข้โรคไต ตอนนี้คนไข้โรคไตก็เริ่มเคลื่อนไหวด้วยความช่วยเหลือจากเครือข่ายเพื่อนเอดส์นี่นะครับ คือ เรียกร้องสิทธิในเรื่องการล้างไต ไม่ได้มีในระบบหลักประกันสุขภาพของไทย ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดมีขึ้นได้นะครับ


 


+ทราบว่าคุณหมอเติบโตมาในยุคตุลา สมัยนี้นักศึกษาต่างจากสมัยก่อนยังไงบ้าง


คงเปรียบเทียบกันยาก เพราะกระแสสังคมสมัยนั้นมันเป็นประชาสังคมที่ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่รวมทั้งกระแสสากลด้วย ในแง่ที่จะส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวมามีบทบาทในสังคม กระแสสมัยนี้มันมีกระแสบริโภคนิยมซะเยอะ ทำให้คนหนุ่มสาวนี่หันมาทางด้านบริโภคมากเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม กระแสด้านที่การเคลื่อนไหวในแง่ที่เป็นประโยชน์ในสังคมมันก็ยังมีอยู่โดยทั่วนะครับ ไม่ว่าในระดับนานาชาติหรือว่าในระดับประเทศก็ตาม


 


ถ้าถามว่าแตกต่างกันอย่างไร คงแตกต่าง แต่ว่าถึงขนาดที่ว่าปัจจุบันแย่กว่าเดิมเยอะไหม ผมคิดว่าเราคงไม่ไปว่านักศึกษาสมัยนี้ คงต้องดูสภาพแวดล้อม แต่ว่าถ้าให้กำลังใจถึงตัวผู้ที่กำลังทำดำเนินการอยู่ ก็มีหลายคนที่กำลังดำเนินการอยู่ ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ในเรื่องของเอดส์ ในเรื่องของการช่วยเหลือผู้ยากไร้ ในเรื่องของการเมือง มีนักศึกษาทำอยู่จำนวนหลายกลุ่มเยอะแยะเลยในปัจจุบัน


 


+ถ้าจะฝากบอกถึงรัฐบาลปัจจุบันชุดต่อไปนี่จะบอกอะไรครับ


ผมคิดว่าเรื่องของการพิจารณา CL รัฐบาลชุดใหม่ก็คงต้องพิจารณานะครับ แล้วก็จะเอาผลประโยชน์ของประชาชนหรือเอาส่วนที่กระทบต่อกรมการค้าเป็นตัวตั้ง รัฐบาลต้องพิจารณาให้รอบคอบนะครับ ในด้านหนึ่งสิ่งที่ทำแล้วดีกับประชาชนก็คือใน CL การทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น ทั่วโลกเองก็จะสนับสนุนแล้วก็ส่งเสริม แต่ถ้าสมมุติว่าเราคิดเรื่องการค้า บางครั้งผลกระทบมันมีเยอะ สำคัญกว่าอาจจะต้องพิจารณา ผมคิดว่ารัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบนะครับ อาจส่งผลถึงเสียงสนับสนุนของประชาชนได้


 


+สำหรับประชาชนทั่วไปจะมีส่วนร่วมยังไงบ้างที่จะทำให้เกิดภาคประชาสังคมที่แข็งแรง


ผมคิดว่าถ้าประชาชนทั่วไปเห็นเรื่องนี้มีความสำคัญ สุดท้ายอาจจะมีคนนึกถึงตนเองด้วย อย่างที่ผมยกตัวอย่างเช่น ถ้ายามันราคาแพงแล้วเกิดตัวเองเป็นขึ้นมาจะไปมีตังค์ที่ไหนซื้อ เพราะฉะนั้น ถ้าสมมุติเกิดตระหนักขึ้นมาในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ สามารถรวมตัวกันได้ มันก็จะช่วยในการที่จะให้เกิดกระบวนการ เกิดความเข้มแข็งต่อการที่จะต่อสู้กับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ แต่ว่าถ้าประชาชนไม่สามารถที่จะรวมตัวกันได้เนื่องจากมีข้อจำกัด ผมคิดว่าอาจช่วยได้ในเรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ในเรื่องของการให้กำลังใจแก่ผู้ที่ทำงาน การสนับสนุนกับผู้ที่ทำงานทั้งในเรื่องของเงินทองทั้งในรูปของกำลังใจน่ะ ผมคิดว่าก็ถ้าทำได้ มันก็สามารถที่จะช่วยให้กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ดีขึ้นได้นะครับ


 


+คุณหมอวาดฝันเรื่องหลักประกันสุขภาพอย่างไรบ้าง


ผมคิดว่าหลักประกันสุขภาพของประเทศ คุณต้องเป็นหลักประกันที่มีคุณภาพ ประชาชนมีความมั่นใจ  ปัจจุบันไม่ใช่ไม่มีคุณภาพนะ ปัจจุบันมีคุณภาพอยู่ แต่ผมคิดว่าในเรื่องของการขาดความมั่นใจยังมีอยู่ ทำอย่างไรถึงจะทำให้เกิดความมั่นใจนี้เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่ามันมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ในระบบปัจจุบัน ไม่ว่าจะจากผู้ที่จ่ายเงินเอง จากผู้ที่เป็น มีฐานะทางด้านอื่น เช่น เป็นข้าราชการหรืออื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบ แต่อย่างไรก็ตามผมคิดว่าเราควรมีหลักประกันที่มีระยะยาว ก็คือเป็นระบบที่ 1.มีคุณภาพ ประชาชนมีความมั่นใจ  2.ฐานมันจะต้องกว้าง เราไม่ได้ทำให้คนจนอย่างเดียวแต่เราทำให้คนชนชั้นกลางด้วยนะครับ เพราะฐานมันต้องกว้างก็คือชนชั้นกลางเข้ามาร่วมด้วยอย่างเต็มที่ เพราะอันนี้เป็นผลดีต่อชนชั้นกลางโดยตรง


 


เวลาที่ผมพูด ผมพูดถึงยาราคาแพงนะครับ หรือแม้แต่ว่ายารักษาพยาบาลนี่ ถ้าบังเอิญทางชนชั้นกลางไม่ได้มีสิทธิจากบริษัทในอนาคต คือปัจจุบันคนที่มีสิทธิก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน แต่เมื่อไหร่ที่ไม่มีสิทธิก็ต้องมาเข้าสู่รูปแบบประกันถ้วนหน้า แล้วตัวเองเงินไม่พอ แล้วระบบนี้เป็นระบบที่ไม่ดีนะครับ เขาก็คงจะมีความรู้สึกว่าเขาต้องมาทนทุกข์ทรมาน  ฉะนั้นผมคิดว่าทำอย่างไร มาสร้างระบบนี้ให้ดีเสียดีกว่านะครับ  เป็นระบบที่ทุกคนสามารถพึ่งพาได้ ไม่ใช่เป็นระบบที่คิดว่าสำหรับคนจนคุณภาพต่ำ ไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ ฉะนั้นนั่นคือความฝันที่อยากให้เกิดขึ้น



 


 


 


 


ถ้าอยากทราบว่า How to ทางสังคมต่างกับ How to ทางธุรกิจอย่างไร ลองไปหาอ่านรายละเอียดเพิ่มได้ที่: หนังสือ บนเส้นทางหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เขียนโดยนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์


เลขาธิการสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เครือสำนักพิมพ์มติชน


 


หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งในข้อมูลการทำหนังเรื่อง ยาใจคนจน เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มีตัวอย่าง การเขยื้อนภูเขาให้สำเร็จ หมายถึงการแก้ไขปัญหายากๆได้นั่นเอง ทฤษฎีนี้เรียกว่า สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา


เหลี่ยมทั้งสามด้านประกอบด้วย


 


เหลี่ยมที่ 1 คือ ปัญญา ได้แก่ ความรู้จริงในเรื่องที่จะแก้ไข ถือว่าสำคัญที่สุด


เหลี่ยมที่ 2 คือ การเคลื่อนไหวทางสังคม ได้แก่ การมีส่วนร่วมของคนในสังคมที่จะแก้ไขปัญหานั้นๆร่วมกัน และร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันในสิ่งที่คิดว่าอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง


เหลี่ยมที่ 3 คือ ภาคการเมือง เป็นเหลี่ยมสุดท้ายเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดนโยบายทางการเมืองที่สามารถนำไปแก้ปัญหาได้จริง


 


ถ้าทั้งสามเหลี่ยมนี้เกื้อกูลและส่งเสริมกันและกัน จะก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่เป็นจริงได้


 


ก่อนกลับคุณหมอฝากกำลังใจให้เด็กวัยรุ่นอย่างผมเป็นข้อความที่เขียนลงในหนังสือว่า


 


"มอบแรงกำลังใจ ให้ทำงานสู่สังคมที่ดีขึ้นเรื่อยๆ"


 


 


........................................................................................................


 


 


 


*ข้อมูลในภาพยนตร์เรื่องนี้มาจากการอ่านหนังสือของคุณกรรณิการ์ กิตติเวชกุล และเว็บไซต์ประชาไท*


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net