Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากกรณีที่มีการบังคับโดยสมัครใจให้ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพในค่ายทหาร 3 แห่ง คือ ที่จังหวัดระนอง ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เป็นระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งเมื่้อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา ศาลทั้ง 3 จังหวัด ไต่สวนออกมาแล้วว่า การปฏิบัติดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทหารปล่อยตัวผู้ที่ต้องการยุติการฝึกอบรมได้กลับบ้าน


 


แต่ปรากฏว่า พลเมืองที่ถูกกักในค่ายทั้งสามจังหวัด แม้จะได้ออกมาจากค่ายแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถกลับบ้านได้ ด้วยติดคำสั่งของแม่ทัพภาค 4 ลงวันที่ 31 ต.ค. 50 ที่ห้ามมิให้บุคคลที่ได้รับการปล่อยตัว รวมถึงคนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง รวม 384 คน เข้าไปหรืออยู่อาศัยในพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะเป็นภูมิลำเนาเดิมของบุคคลเหล่านั้นก็ตาม


 


เหตุดังกล่าว ทำให้พลเมืิองเหล่านั้น ต้องอาศัยมัสยิดกลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นที่พักพิงชั่วคราว แต่แล้วก็กลับมีคำสั่งจับกุมพลเมืองอีกโดยอ้างพ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ นายมะยากี หมันปูเต๊ะ ซึ่งถูกจับกุมไปเมื่อวันที่ 3 พ.ย. นายนิเซะ ฮะยีตาเละ และ นายอับดุลรอมัน ดือราแม ซึ่งถูกจับกุมไปเมื่อวันที่ 4 พ.ย. และนายนายมูฮัมหมัด เจ๊ะแม และ นายอิมรอน สา ซึ่งล่าสุด มีหมายจับออกมาแล้วในวันนีั้ ( 5 พ.ย.) ส่งผลให้บุคคลดังกล่าวที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัว ต้องกลับเข้าไปอยู่ในการควบคุมของรัฐอีกครั้ง


 


ล่าสุด ในวันนี้ ( 5 พ.ย.) ตัวแทนทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดยะลา กรณีพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอกาบัง  จังหวัดยะลา ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดยะลาเพื่อขอออกหมายจับนายมะยากี หมันปูเต๊ะ ตามพรก.ฉุกเฉิน ว่า เป็นการออกหมายจับที่มิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอกาบัง จังหวัดยะลาไม่มีอำนาจที่จะขออนุญาตศาลเพื่อออกหมายจับนายมะยากี  หมันปูเต๊ะ ได้อีก เนื่องจากนายมะยากีฯ ได้เคยถูกควบคุมตัวตามหมายจับตามพรก.ฉุกเฉินมาครั้งหนึ่งแล้ว


 


และในวันเดียวกัน ตัวแทนทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานีเช่นกัน ในกรณีของนายนิเซะ ฮะยีตาเละและนายอับดุลรอมัน ดือราแม ที่ได้รับผลกระทบในลักษณะกรณีเดียวกัน


 


นอกจากนี้ ทั้งสามคนเป็นบุคคลที่ศาลมีคำสั่งในวันที่ 30 ต.ค. ให้ปล่อยตัวจากกรณีถูกฝึกอาชีพ แต่แม้จะออกจากการกักกันแล้ว ไม่เพียงแต่จะไม่สามารถกลับบ้านได้เพราะติดคำสั่งห้ามกลับเข้าพื้นที่กฎอัยการศึกแม้จะเป็นภูมิลำเนาบ้านเกิดตน จนทำให้ต้องไปพักชั่วคราวที่มัสยิดกลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่กลับถูกจับซ้ำ โดยอ้างพ.ร.ก.ฉุกเฉิน


 


ปัจจุบัน พลเมืองที่พักอาศัยชั่วคราวที่มัสยิดจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีจำนวนกว่า 180 คน ทั้งหมดยังคงรอคอยให้มีการยกเลิกประกาศห้ามเข้าพื้นที่ รายงานข่าวแจ้งว่า มีหลายหน่วยงาน รวมทั้งการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วย พยายามกดดันให้ชาวบ้านกลับเข้ารับการฝึกอบรมให้ครบกำหนด 4 เดือน โดยมีข้อแม้ว่าถ้ากลับเข้ารับการอบรมฯ แล้ว จะไม่ต้องถูกออกหมายจับเหมือนบุคคลทั้ง 5 ข้างต้น


 


ทั้งนี้ ตาม "แผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้" ที่นำไปสู่ยุทธการปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุม ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยอ้างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยปราศจากหมายจับและหมายค้น และเพื่อการควบคุมตัวเพื่อซักถามได้เป็นเวลา 7 วัน ตามกฎอัยการศึก และอีก 30 วัน ตามพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ นั้น โดยหลักการ ภายใต้กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับดังกล่าว เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 37 วันที่ถือว่าเป็น การควบคุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่รัฐควรต้องมีหลักฐานเพียงพอสำหรับการดำเนินการ 2 แนวทาง คือ "ปล่อยตัวไป" หรือ "ฟ้องเป็นคดีอาญา" แต่แล้ว ก็มี "โครงการฝึกอบรม 4 เดือน" ที่ค่ายทหาร 3 แห่ง คือ ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี ค่ายกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร และค่ายรัตนรังสรรค์ จ.ระนอง ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อยืดระยะเวลาการควบคุมตัวออกไป 


 


 


 


000


 


 


รายชื่อบุคคลในมัสยิดจังหวัดสุราษฎธานี


ถูกจับกุม และถูกข่มขู่ว่าจะออกหมายจับ


 


บุคคลที่ถูกนำตัวไปศปกตร.


1. นายมะยากี  หมันปุเต๊ะ   อายุ  23 ปี มีหมายฉฉ.  ตำรวจจับกุมไปวันที่ 3 พ.ย. หมายออกวันศุกร์ที่ 2 พย.  ถูกจับกุมจากต. ธารคีรี  อ. สะบ้าย้อย  จังหวัดสงขลา ด้วยหมายพรก. แล้ว ถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธ์ ก่อนนำตัวมาที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอปล่อยตัวได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม  ปัจจุบันถูกนำตัวไปศปกตร. ส่วนหน้า จังหวัดยะลา


 


2. นายนิเซะ ฮะยีตาเละ อายุ 40 ปี มีหมาย ฉฉ. ของศาลจังหวัดปัตตานี  ถูกนำตัวไปที่ศปกตร.ส่วนหน้า จังหวัดยะลาในวันอาทิตย์ที่ 4 พ.ย.  ภูมิลำเนาอยู่ที่ต. บาเจาะ อ. บันนังสตา จ.ยะลา  เคยถูกบังคับให้รับการฝึกอบรมที่ค่ายทหารจังหวัดชุมพร  ญาติได้ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม และได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550  ก่อนถูกจับกุมครั้งที่สองพักอาศัยชั่วคราวที่มัสยิดกลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี


 


3. นายอับดุลรอมัน ดือราแม อุสต๊าส อายุ 51 ปี  มีหมาย ฉฉ. ถูกนำตัวไปที่ศปกตร.ส่วนหน้า จังหวัดยะลาในวันอาทิตย์ที่ 4 พ.ย. ภูมิลำเนาอยู่ที่ต. บาเจาะ อ. บันนังสตา จ.ยะลา  มีญาติเป็นบุคคลที่ประสานงานเพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายมาโดยตลอด   เคยถูกบังคับให้รับการฝึกอบรมที่ค่ายทหารจังหวัดชุมพร  ญาติได้ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม และได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550  ก่อนถูกจับกุมครั้งที่สองพักอาศัยชั่วคราวที่มัสยิดกลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี


 


บุคคลที่มีหมายฉฉ. แต่จะได้รับการยกเลิก


4. นายลาเต๊ะ นิซอ มีหมาย ฉฉ   มีรายชื่อปัจจุบันที่ค่ายอบรมที่ท่าแซะ ปัจจุบันขอลากิจกลับบ้านแต่จะกลับเข้ามาอบรมต่อ (จะมีการยกเลิกหมายฉฉ.)


 


บุคคลที่มีชื่อว่าจะถูกดำเนินการออกหมายฉฉ (มีหมายแล้ว ในวันจันทร์ที่ 5 พย)


5. นายมูฮัมหมัด เจ๊ะแม   เคยอยู่ที่ค่ายอบรม จังหวัดระนอง  ญาติไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแต่ได้แสดงความจำนงขอยุติการอบรม และได้เดินทางออกมาจากค่ายอบรมฯ ที่จังหวัดระนองในวันที่ 2 พฤศจิกายน 


 


6. นายอิมรอน สาและ เป็นผู้ประสานงานติดต่อขอความช่วยเหลือการต่อสู้ทางคดี ให้กับตนเองและผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดในค่ายอบรมอ. ท่าแซะ จังหวัดชุมพร     ในวันที่ 19 กันยายน ได้เป็นตัวแทนทำหนังสือร้องเรียนถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เมื่อมีการตรวจเยี่ยม เพื่อขอกลับบ้านเพราะไม่สมัครใจเข้ารับการฝึกอบรม   นายอิมรอนไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาล แต่แสดงความจำนงขอยุติการอบรม ได้ออกจากค่ายอบรมที่ท่าแซะ ในวันที่ 1 พย. 


 


7. นายมะนาวี มะ ยังไม่มีหมาย ฉฉ ณ ปัจจุบันอยู่ในค่ายอบรมที่ท่าแซะ จังหวัดชุมพร (จะมีการยกเลิกหมายฉฉ.)


 


 


ข่าวประกอบ:


ยุติธรรมเพื่อสันติภาพ-เล่าข่าวร้อน: "180 ผู้พลัดถิ่น ภายในแผ่นดินเกิดตัวเอง"



 



อ่านประกอบ:


ยุติธรรมเพื่อสันติภาพ: ประณามการใช้กฎหมายแบบฉ้อฉล


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net