Newsline สรุปข่าวพม่า 4 - 6 พ.ย. 2550





สถานการณ์ในประเทศพม่า

 

"ตาน ฉ่วย" ไม่ยอมพบ "กัมบารี"

 

(มติชน วันที่ 06/11/2550) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน รัฐบาลทหารพม่าได้ลดระดับความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยบริเวณด้านหน้าบ้านพักของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านลงอย่างเห็นได้ชัด ก่อนหน้าการพบปะซึ่งคาดว่าน่าจะมีขึ้นระหว่างนางซูจีกับนายอิบราฮิม กัมบารี ทูตพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

 

ในวันที่ 3 ของการเดินทางมาปฏิบัติภารกิจเพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมืองในพม่า นายกัมบารียังคงอยู่ในกรุงเนปยีดอว์ เมืองหลวงของพม่า โดยครั้งนี้เป็นการเดินทางเยือนพม่าครั้งที่ 2 ของกัมบารี หลังจากที่รัฐบาลทหารใช้ความรุนแรงในการปราบปรามกลุ่มพระสงฆ์และประชาชนที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

 

มีการลดระดับความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยที่หน้าบ้านพักของนางซูจีลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่ารัฐบาลทหารต้องการที่จะลดการสร้างความอึดอัดใจให้กับทูตพิเศษของยูเอ็น โดยในวันที่ 5 พฤศจิกายนมีเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลประจำการอยู่หน้าบ้านพักของนางซูจีเพียงแค่ 6 นายเท่านั้น โดยมีการยกเลิกการใช้เรือตรวจการณ์ในทะเลสาบที่ติดกับบ้านพักของนางซูจี รวมทั้งมีการยกกระสอบทรายที่ตั้งกั้นไว้ตามจุดตรวจต่างๆ ออก

 

เดิมทีนายกัมบารีจะเข้าพบกับรัฐมนตรีข่าวสารของพม่าในวันเดียวกันนี้ แต่มีการเลื่อนกำหนดการดังกล่าวออกไป 1 วัน โดยกัมบารีจะพบกับเจ้าหน้าที่ของสภากาชาดสากลและผู้นำของชนกลุ่มน้อยจำนวนมากที่กรุงเนปยีดอว์ ในวันเดียวกันนี้ และพบกับรัฐมนตรีข่าวสาร และพล.ท.เทียน เส่ง นายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 พฤศจิกายน หลังจากนั้นจะเดินทางมาที่นครย่างกุ้งเพื่อพบกับนางซูจีในวันที่ 7 พฤศจิกายน

 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่านายกัมบารีจะได้พบกับ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย ผู้นำสูงสุดของรัฐบาลทหารพม่าหรือไม่ จนถึงตอนนี้นายกัมบารียังไม่มีกำหนดการที่จะเข้าพบกับ พล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วยแต่อย่างใด

 

พม่ายอมพานักข่าวอาเซียนทัวร์ แต่ขอตรวจข่าวก่อนเผยแพร่

 

(ศูนย์ข่าวแปซิฟิค วันที่ 06/11/2550) ในขณะที่นายอิบราฮิม กัมบารี ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติเยือนพม่าเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านพม่า พร้อมเร่งความคืบหน้ากระบวนการประชาธิปไตย ทางการพม่ายังได้ต้อนรับผู้สื่อข่าว และเจ้าหน้าที่ด้านการข่าว 18 คนจาก 9 ประเทศสมาชิกอาเซี่ยนให้สามารถเดินทางเข้าประเทศได้เป็นครั้งแรกในเวลานานกว่า 1 เดือนนับตั้งแต่เกิดเหตุประท้วงรัฐบาลอีกด้วย พลจัตวา จอส่าน รัฐมนตรีข่าวสารของพม่า กล่าวว่า การเดินทางครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการวัฒนธรรมและสารสนเทศของกลุ่มสมาชิกอาเซี่ยน ซึ่งที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนข่าวสารกันภายในหมู่สมาชิก แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการนำเสนอภาพรวมของอาเซี่ยนในระดับสากล

 

ขณะเดียวกันยังมีความต้องการให้อาเซี่ยนนำเสนอสถานการณ์ที่แท้จริงของสมาชิกโดยปราศจากความลำเอียง และการยอมรับความแตกต่างด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของสมาชิกด้วย ด้านนายไซมอน เทย์ ประธานสถาบันกิจการต่างประเทศของสิงคโปร์ กล่าวว่า ท่าทีของทางการพม่าในครั้งนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพม่าสนใจว่าประชาชนในภูมิภาคเดียวกันคิดอย่างไร พวกเขายังทราบด้วยว่าสื่อของภูมิภาคนี้มีปฏิกิริยาต่อพม่าอย่างไร ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าชนชั้นปกครองและชนชั้นสูงของพม่าติดตามข่าวจากทางโทรทัศน์ดาวเทียม และอ่านข่าวจากเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้รัฐบาลพม่าตระหนักว่าจำเป็นที่จะต้องมีเพื่อนไว้บ้าง ซึ่งเพื่อนเหล่านี้จะต้องมีมุมมองที่แตกต่างไปจากสายตาของชาติตะวันตก

 

อย่างไรก็ตามบรรดาผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ด้านการข่าวของกระทรวงข่าวสารของสมาชิกอาเซี่ยนที่เดินทางเข้าพม่าในครั้งนี้ มีข้อจำกัดในการทำงานมากมาย รวมถึงห้ามพูดคุยสัมภาษณ์กับชาวพม่าโดยลำพัง ทั้งยังต้องถูกตรวจสอบเนื้อหาของข่าวด้วย แต่ทางสมาคมผู้สื่อข่าวของพม่า ยืนยันว่า พวกเขามีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวอย่างเต็มที่

 

รัฐบาลทหารพม่าจัดฉากการชุมนุมรับ "กัมบารี" เยือนพม่าครั้งที่ 2

 

(ไทยโพสต์ วันที่ 05/11/2550) "เราเคารพยูเอ็น, เราเคารพกัมบารี, เคารพพม่าด้วย" สถานีโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ของรัฐอ้างคำขวัญของผู้ชุมนุมในมัณฑะเลย์ พื้นที่หนึ่งในหลายแห่งที่จัดการชุมนุมขึ้น โดยประชาชนบอกว่าพวกตนถูกบังคับให้เข้าร่วม เพื่อต้อนรับการเดินทางกลับมาเยือนพม่าของนายอิบราฮิม กัมบารี ทูตพิเศษขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันเสาร์ที่ 3 เพื่อสนับสนุน "การเจรจาและความปรองดองแห่งชาติ" ในพม่า

 

ข่าวการเยือนพม่าเป็นครั้งที่ 2 ของทูตพิเศษผู้นี้ ถูกบดบังด้วยข่าวนายชาร์ลส์ เพทรี หัวหน้าคณะทูตยูเอ็นประจำพม่า ได้รับแจ้งจากรัฐบาลทหารพม่าหลังถูกเรียกเข้าพบที่กรุงเนปีย์ดอเมื่อวันศุกร์ที่ 2 ว่า พม่าไม่ยินดีต้อนรับเขาอีกต่อไป เนื่องจากไม่พอใจที่เขาทำลายภาพพจน์ของประเทศ ด้วยการออกรายงานเมื่อวันที่ 24 ต.ค.ระบุว่า ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในพม่าคือชนวนเหตุการประท้วงครั้งใหญ่เมื่อเดือนกันยายน จนนำไปสู่การปราบปรามด้วยกำลัง จนมีผู้ประท้วงทั้งพระสงฆ์และประชาชนเสียชีวิตไปอย่างน้อย 13 ราย และถูกจับอีกหลายพันคน

 

คำแถลงของยูเอ็นเมื่อวันเสาร์กล่าวว่า นายกัมบารีได้รับฟังรายงานสรุปจากเพทรีทันทีที่เขาเดินทางถึงเมืองย่างกุ้ง และทูตพิเศษผู้นี้ได้ย้ำชัดเจนต่อคณะเจ้าหน้าที่ทูตยูเอ็นประจำพม่ารวมทั้งนายเพทรีเองว่า นายบัน กีมูน เลขาธิการยูเอ็น ยังสนับสนุนการทำหน้าที่ของพวกเขา

 

นายกัมบารีได้ถ่ายทอดกำลังใจจากเลขาธิการฯ ต่อคณะเจ้าหน้าที่ประจำพม่า และผู้ประสานงานประจำพม่า และสนับสนุนงานสำคัญที่พวกเขาจะต้องทำต่อไปเพื่อปรับปรุงสถานการณ์ด้านสังคมเศรษฐกิจและมนุษยธรรม

 

อย่างไรก็ดีหนังสือพิมพ์แสงใหม่แห่งพม่า โจมตีรายงานของนายเพทรีไว้ในบทบรรณาธิการฉบับวันอาทิตย์ว่า ไม่มีมูลความจริง คำแถลงของคณะเจ้าหน้าที่ยูเอ็นประจำพม่าละเลยต่อสภาพการณ์โดยทั่วไปของพม่าอย่างสิ้นเชิง และอันที่จริงแล้วมันแทบจะไร้มูลความจริง

 

 





การค้าชายแดน

 

กระทรวงเกษตร เร่งเดินหน้าแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี-เจ้าพระยา -แม่โขง

 

(กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 06/11/50) นายพินิจ กอศรีพร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังการประชุมเรื่องยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม หรือแอคเมคส ว่าในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางภาคเศรษฐกิจสูงเมื่อเทียบกับ สมาชิก ทั้ง 4 ประเทศ ดังนั้นจึงมีแนวทางจะผลักดันให้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือฯ นี้เกิดผลในรูปธรรมมากที่สุด โดยเฉพาะความร่วมมือทางด้านการเกษตร

 

ทั้งนี้จากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิก เสนอความต้องการที่จะพัฒนาทางด้านการเกษตร พบว่า พม่าต้องการที่จะพัฒนา การทำประมง การวิจัย พืช ปศุสัตว์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการจัดทำมาตรฐานการตรวจสอบน้ำผึ้ง ในขณะที่ลาวต้องการ พัฒนาการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งทั้งหมด ไทยจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประสานงาน และเชิญเจ้าหน้าที่จากทั้ง 2 ประเทศ เข้าศึกษาดูงานในประเทศไทยด้วย

 

ในส่วนของพม่า ยังไม่แน่ใจว่าความต้องการพัฒนาทางด้านการประมง จะครอบคลุมถึงประมงน้ำจืดด้วยหรือไม่ โดยจะหารือร่วมกันอีกครั้งแต่ความร่วมมือในเรื่องนี้ คาดว่าจะไม่รวมถึงการอนุญาติให้ไทย

 

นอกจากนี้จากการหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส มีโครงการที่ประเทศสมาชิกต้องการจะดำเนินการร่วมกัน 4 โครงการ คือ 1.โครงการพัฒนามาตรฐานสุขอนามัย พืช และสุขอนามัยสัตว์ หรือ SPS ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้ง 4 ประเทศ โดยไทยจะเป็นหน่วยดำเนินการงานประสานต่อไป 2. การกักกันสัตว์ตามบริเวณชายแดน ซึ่งทุกประเทศจะเพิ่มบุคคลกรในด้านนี้มากขึ้น 3. การพัฒนาดิน ทุกประเทศเห็นชอบจะให้มีการเก็บตัวอย่างดินของแต่ละประเทศเพื่อตรวจเช็คธาตุอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของดินในแต่ละพื้นที่ และ 4. การผลิตเมล็ดพันธุ์ ในเรื่องนี้ไทยถือว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุด ดังนั้น จึงจะเปิดโอกาสให้ทุกประเทศเข้ามาศึกษาดูงานต่อไป

 

ส่วนไทยต้องการจะเดินหน้าเรื่องการทำฟาร์มสัญญาหรือคอนแทคฟาร์มมิ่ง ซึ่งในเร็วๆนี้จะลงนามข้อตกลงหรือเอ็มโอยู ร่วมกับประเทศสมาชิก เพื่อให้เป็นความร่วมมืออย่างเป็นทางการ จากปัจจุบัน มีเอกชน และนักลงทุนของไทย เข้าไปดำเนินการแล้ว เช่นบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัทน้ำตาลมิตรสยาม และ บริษัทไทบเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) ที่ เข้าสนับสนุนให้ปลูกพืชพลังงาน ประกอบด้วย น้ำตาล มันสำปะหลัง อ้อยข้าวโพด และถั่วเหลือง

 

ทั้งนี้การผลักดันเรื่องคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ไทยต้องการจะดำเนินการในประเทศ ลาว และกัมพูชาก่อน เนื่องจากมีระยะทางใกล้ พื้นที่อุดมสมบูรณ์ และมีความมั่นคง จะเป็นที่สนใจของนักลงทุนมากกว่าเมื่อเทียบกับพม่า

 

การค้าชายแดนเมืองกาญจน์สูญ 400 ล้าน หอการค้าจี้รัฐเจรจาให้พม่าเปิดด่านพญาตองซู

 

(โพสต์ทูเดย์ วันที่ 06/11/2550) นายธีรชัย ชุติมันต์ ประธาน หอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า จนถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 8 เดือนแล้ว ที่ทางการพม่ายังไม่ยอมเปิดด่านพญาตองซู ด้านตรงข้ามด่านเจดีย์สามองค์ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ทำให้การค้าชายแดนซบเซาลงอย่างมาก ไทยต้องสูญเสียรายได้ไปถึง 40-50 ล้านบาท ต่อเดือน รวมความสูญเสียที่เกิดขึ้น 8 เดือน ประมาณ 400 ล้านบาท

 

จากการหารือกับภาครัฐเห็นว่า ระยะเฉพาะหน้าจะหามาตรการให้พ่อค้าผ่อนคลายทางการค้าได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวควรจะเร่งให้มีการเปิดการเจรจาเปิดด่านโดยเร็ว

 

ไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง นำเข้าแร่ และเฟอร์นิเจอร์ไม้จากพม่า หากสามารถเปิดด่านได้สำเร็จ จะสามารถส่งออกสินค้าได้มากกว่า 100 ล้านบาทต่อเดือน

 

 





ผู้ลี้ภัย

 

นายทุนแอบพากะเหรี่ยงคอยาวหนีออกจากหมู่บ้านโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์วิถีชีวิตชนเผ่าปะต่อง(กะเหรี่ยงคอยาว)

 

(ผู้จัดการ วันที่ 06/11/2550) นายสมพร วรจารุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านห้วยเดื่อ ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ได้พานายย่าแทะ อายุ 43 ปี ราษฎรชาวปะต่องในหมู่บ้านโครงการหมู่บ้านอุนรักษ์วิธีชีวิตชนเผ่าปะต่อง (กะเหรี่ยงคอยาว) เพื่อความมั่นคงจังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านห้วยปูแกง ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เข้าแจ้งความกับพันตำรวจตรีวรพจน์ พุทธวงศ์ หัวหน้าสถานีตำรวจน้ำเพียงดิน เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า นางมะแซ อายุ 34 ปี และบุตรสาว 1 คน อายุ 8 ขวบ และบุตรชาย 1 คน อายุ 6 ขวบ ได้หายออกจากหมู่บ้านโครงการอนุรักษ์วีชีวิตชนเผ่าปะต่องฯ ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.50 จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามเมียและลูกทั้งสองคนกลับมายังที่เดิม

 

นายย่าแทะ อายุ 43 ปี ราษฎรชาวปะต่อง เปิดเผยว่า ก่อนที่เมียและลูกทั้งสองคนจะหายตัวไปนั้น ตนได้เดินทางไปรับลูกชายที่เรียนอยู่โรงเรียนบ้านผาบ่อง เมื่อเดินกลับมายังหมู่บ้านฯ ก็ไม่พบเมียและลูกทั้งสองคน จึงได้ออกติดตามไปยังหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า (หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว) ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 3 กิโลเมตร ปรากฏว่า นางมะลิ อายุ 21 ปี ด.ช.ลาหยือ อายุ 10 ชวบ และ ด.ญ.กือโบมะ อายุ 11 ขวบ บ้านห้วยเสือเฒ่า ต.ผาบ่อง ก็หายตัวไปเช่นกัน และจากการสอบถามเพื่อนบ้าน ปรากฏว่าก่อนที่กะเหรี่ยงคอยาว จำนวน 6 คนจะหายไปจากบ้าน ได้มีคนแปลกหน้าเดินทางเข้ามาในหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่าด้วย

 

ขณะนี้ตนกำลังป่วยเป็นไข้มาลาเรียไม่สามารถออกติดตามเมียและลูกทั้งสองคนและเพื่อนกะเหรี่ยงคอยาว จึงได้ให้ผู้ใหญ่บ้านพามาแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจน้ำเพียงดิน ที่ผ่านมาตนกับเมียไม่เคยทะเลาะกันต่างก็ช่วยกันทำมาหากินมาโดยตลอดเวลา จนกระทั่งทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดตั้งหมู่บ้านโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์วิถีชีวิตชนเผ่าปะต่องฯ จึงได้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าว

 

ด้าน พ.ต.ต.วรพจน์ พุทธวงศ์ สว.สถานีตำรวจน้ำเพียงดิน เปิดเผยว่า จะออกติดตามกลุ่มกะเหรี่ยงคอยาวทั้ง 6 คน ที่หายตัวไป โดยจัดชุดสืบสวนออกหาข่าวในพื้นที่และต่างพื้นที่ ซึ่งพอจะทราบแล้วว่ากะเหรี่ยงคอยาวนั้นอยู่ในพื้นที่ใด แต่จะต้องสืบหาให้ชัดเจน ก่อนขอหมายศาลเข้าจับกุมกลุ่มที่ลักพาตัวกะเหรี่ยงคอยาวจากแม่ฮ่องสอนไปยังต่างจังหวัดต่อไป

 

 





ต่างประเทศ

 

สหรัฐเรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารสิงคโปร์ ตัดการเชื่อมโยงการทำธุรกรรมทางการเงินของรัฐบาลทหารพม่า

 

(ไทยโพสต์ วันที่ 06/11/50) คริสเต็น ซิลเวอร์เบิร์ก เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ เผยกับผู้สื่อข่าวในไทยระหว่างการมาเยือนภูมิภาคนี้เพื่อสนับสนุนให้อาเซียนแสดงท่าทีอย่างเข้มงวดในการต่อต้านพม่าว่า "เราเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ปกครองพม่ามีบัญชีธนาคารในสิงคโปร์ เราหวังว่าสถาบันทางการเงินสิงคโปร์จะไม่ใช้เป็นที่ทำธุรกรรมทางการเงินกับรัฐบาลทหารพม่า"

 

สหรัฐต้องการให้สิงคโปร์ดำเนินมาตรการขั้นต่อไปให้เด่นชัดในรูปของการเจรจา, มาตรการคว่ำบาตรทางการเงิน หรือข้อจำกัดในการเดินทางกับสมาชิกของรัฐบาลทหารพม่าและพวกวงญาติของเขา ดังเช่นที่สหรัฐและออสเตรเลียได้กระทำต่อพม่าเมื่อเดือนที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม ซิลเวอร์เบิร์กไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะมีมาตรการลงโทษกับบุคคลที่ 3 หรือธุรกิจซึ่งไม่ใช่ของสหรัฐที่ไปทำธุรกิจกับพม่าหรือไม่ โดยที่มาตรการนี้กำลังอยู่ในขั้นพิจารณาในรัฐบาลสหรัฐ ถ้าพวกนายพลไม่ยินยอมที่จะปฏิรูปการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

 

อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่สิงคโปร์ได้คัดค้านมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินต่อที่สาธารณะ แต่ในระยะ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางธนาคารในสิงคโปร์ได้เขยิบตัวออกมาห่างๆ จากพม่า

 

ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ เตือนพม่าขับทูตยูเอ็นอาจเบี่ยงประเด็น

 

(กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 04/11/2550) นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการกลุ่มสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย เตือนว่า ความเคลื่อนไหวของพม่าในการขับทูตขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกนอกประเทศ อาจลดความสำคัญของการเจรจาเรื่องการปฏิรูประหว่างผู้นำทหารกับยูเอ็นช่วงสุดสัปดาห์นี้

 

รัฐบาลพม่าประกาศกะทันหันเมื่อวันศุกร์ (2 พ.ย.) ว่าจะไม่ต่ออายุการทำงานของนายชาร์ลส์ เปตรี ผู้แทนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) และผู้ประสานงานหน่วยงานทุกแห่งของยูเอ็นภายในพม่า การตัดสินใจมีขึ้นก่อนที่นายอิบราฮิม กัมบารี ผู้แทนพิเศษของยูเอ็น เดินทางเยือนพม่าวานนี้ เพื่อกดดันให้ผู้นำทหารปฏิรูปประชาธิปไตย หลังเกิดเหตุประท้วงครั้งใหญ่เมื่อปลายเดือน ก.ย.

 

ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ เตือนว่า ความขัดแย้งดังกล่าวอาจทำให้การเยือนครั้งที่ 2 ของนายกัมบารี นับตั้งแต่การกวาดล้างผู้ประท้วงที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และเบี่ยงเบนประเด็นหารือเรื่องการปฏิรูปประชาธิปไตย

 

สถานการณ์อันตรายในขณะนี้ก็คือ นายกัมบารีจะต้องพูดคุยเกี่ยวกับบทบาทของยูเอ็นในพม่า แทนที่จะหารือเรื่องความจำเป็นในการยุติการกวาดล้าง และการปฏิรูปอย่างแท้จริง นายกัมบารีต้องยึดมั่นกับวาระเดิม โดยไม่ตกหลุมแผนการของรัฐบาลพม่า ซึ่งพยายามทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกดดันให้หารือเรื่องการปฏิรูปอย่างแท้จริง

 

ทั้งนี้ ยังไม่แน่ชัดว่านายเปตรีต้องเดินทางออกจากพม่าเมื่อใด หลังจากเข้าประจำการตั้งแต่ปี 2546

 

ในส่วนของปฏิกิริยาจากนานาประเทศ นายบัน คี มูน เลขาธิการยูเอ็น แสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจขับทูตยูเอ็นของพม่า และมอบหมายให้นายกัมบารีนำประเด็นดังกล่าวขึ้นหารือกับผู้นำทหาร ขณะที่นายซัลเมย์ คาลิลซัด ทูตสหรัฐประจำยูเอ็น ประณามการตัดสินใจของพม่า รวมถึงการปิดกั้นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในพม่า ก่อนการมาเยือนของนายกัมบารี

 

ด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประธานปัจจุบันของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ตามวาระเวียน แสดงความผิดหวังอย่างยิ่งต่อการขับทูตยูเอ็นของพม่า โดยมองว่าการตัดสินใจมีขึ้นในช่วงสำคัญอย่างยิ่ง

 





Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของ โครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทยที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆ ติดตามได้ที่

www.burmaissues.org/En/Index.html หรือ http://www.oknation.net/blog/burmaissues

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท