ผ่านร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคง: ประวัติศาสตร์อันอดสูของประชาธิปไตยไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
ประวัติศาสตร์อันอดสูของประชาธิปไตยไทย ได้พลิกไปสู่อีกหน้าหนึ่ง เมื่อสภารับใช้ทหารที่ชื่อว่า สนช. รับร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคง โดยหลักการ เมื่อวันพฤหัสที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา ผู้เขียนในฐานะที่ได้ร่วมชมฟังความอดสูนี้กับตา ณ รัฐสภา ขอคัดคำพูดสำคัญๆ ของทั้งฝ่ายสนับสนุนและต้าน ใน สนช. มาแลกเปลี่ยนกันและขอตั้งข้อสังเกตเพื่อให้ฝากกันไปคิดต่อ
 
"รัฐบาลนี้เสนอช้าไป ควรจะเสนอมาชาติหนึ่งแล้ว เพื่อความมั่นคงของประเทศ รอแม้กระทั่งวินาทีก็ไม่ได้เพราะไม่รู้อะไรจะเกิดเมื่อไหร่ คนเลวไม่ต้องใช้สิทธิ ใช้อำนาจเลย"
สมภพ เจริญกุล สนช.
 
 
 "ประเทศเพื่อนบ้านของเรามีกฎหมายมั่นคงแบบนี้มานาน ... [พ.ร.บ.นี้] หลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นต้องทำ"
เชน วิพัฒนอมรวงศ์ สนช.
 
 
 "ความมั่นคงเป็นเสมือนออกซิเจน เมื่อใดที่ท่านไม่มีออกซิเจนมาหายใจท่านจะรู้สึก"
           
"[พ.ร.บ.นี้] เป็นยาเบาๆ หน่อยที่ทุกฝ่ายพอจะรับได้ เมื่อเทียบกับกฎอัยการศึก สิ่งที่ไม่ใช่หรือครับที่ประชาชนเรียกร้องให้ยกเลิก เราก็สนองตอบก็เลยเกิด พ.ร.บ. นี้ขึ้นมา"
 
"ฝ่ายทหารมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าให้ประชาชนอยู่อย่างเป็นสุข ฝ่ายทหารไม่ได้ต้องการแสวงหาอำนาจอะไร อำนาจเรามีพอแล้ว แต่เราต้องการปฏิบัติหน้าที่อันทรงเกียรติ [หาก] เป็นการกำจัดสิทธิเสรีภาพเพื่อนำความสงบสุขสู่ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมก็ต้องยอมรับ"
พล.อ.โชคชัย หงษ์ทอง สนช.
 
 
            "อาเซียนเกือบทุกประเทศก็มี [พ.ร.บ.นี้เหมือน] เกราะอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะคุ้มครองให้ลูกหลานต่อไป เราอย่าไปห่วงครับว่ารายละเอียดกฎหมายจะมีปัญหา เพราะชั้นนี้เป็นชั้นรับหลักการ"
ไพศาล พืชมงคล สนช.
 
 
"[ปัญหา] หากปล่อยให้ลุกลามแล้ว แม้ใช้ยาแรงก็อาจรักษาไม่ได้"
พล.อ.องค์กร ทองประสงค์
 
 
            "[ร่าง พ.ร.บ. นี้] ปรับปรุงไปค่อนข้างมากแล้ว เรื่องความมั่นคงของประเทศเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง ปัญหามีหลายรูปแบบ ปัญหาที่เกี่ยวกับภัยคุกคามที่อาจคาดการณ์ได้และไม่อาจคาดการณ์ได้ เช่นการแพร่ระบาด โรคระบาดจากสัตว์ถึงคน ภัยแล้ง น้ำท่วม ปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ ปัญหาความมั่นคงทางชายแดน แรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมาย ปัญหายาเสพติด ปัญหาเหล่านี้มีการบีบรัดขยายตัวจนเราอาจคาดไม่ถึงเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมา .... จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง"
                                                                        ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
แถลงต่อ สนช.
 
 
"ผลกระทบ [ของร่าง พ.ร.บ.นี้] ร้ายแรงไม่แพ้กฎอัยการศึก ไม่แพ้กฎหมายบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้เป็นหลักประกันสูงสุด"
           
"รัฐบาลและ สนช. ชุดนี้เป็นผลผลิตของรัฐประหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เราก็ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติเป็นเป้าหมายสูงสุด ไม่ใช่คำนึงถึงผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะที่จะฉวยโอกาสเอาอำนาจไปใช้โดยไม่พิจารณาให้ดี"
 
"บ้านเมืองเราในขณะนี้มาไกลพอสมควรในเรื่องการเมืองระบอบประชาธิปไตย เรามาไกลเกินกว่าจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวากลับไปหาระบอบอำนาจนิยมให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหยิบไปใช้"
 
"[ผม] อ่านร่างเหมือนกับกำลังเซ็นต์เช็คเปล่าให้ผู้อื่นเอาไปกรอกจำนวนเอาเองตามใจชอบ"
 
"กอ.รมน.สามารถเข้าไปสวมแทน ทำแทนหน่วยงานราชการอื่น [ซึ่ง] ต้องถ่ายโอนอำนาจไปให้ กอ.รมน.ใช้ ฝากให้คิดว่าวิธีการเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่ ... ข้าราชการทุกคนทุกฝ่ายของรัฐได้รับผลกระทบหมด [ใครจะชี้] ว่าข้าราชการผู้นี้เป็นภัยต่อความมั่นคง"
   
"สมัยกฎหมายต้านคอมมิวนิสต์มีประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐ ผมไม่อยากเห็นอดีตกลับมาอีกครั้งหนึ่ง"
 
(ประสงค์ยังได้กล่าวถึงรายละเอียดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องอำนาจในการสั่งห้ามออกนอกเคหะสถาน และห้ามใช้เส้นทางพาหนะ)
 
"ม.18 [ของร่าง พ.ร.บ.] ให้ ผอ. และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ ผอ. มอบหมายเป็นพนักงานสอบสวน คือทำได้ตั้งแต่ ป้องกัน กำหนดและปราบปราม คือจับก็ได้ สอบสวนเองอีก ไอ้นี่ กฎหมายเขียนอย่างนี้ ม.22 ในการปฏิบัติการเจ้าหน้าที่พนักงานไม่ต้องรับผิดทางแพ่งหรืออาญา หากเชื่อว่าการปฏิบัติเป็นไปตามสุจริต ก็ไม่ต้องรับโทษตาม ม.นี้ ก็หมายความว่า ม.นี้ไม่ต้องรับผิด แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นใครรับผิดชอบ และท่านละเลยกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา"
 
"ทั้งหมดนี้นอกจากว่าทำลายหลักการสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคทางกฎหมายแล้ว ทางด้านศาล ท่านอยู่เหนือ องค์กรตรวจสอบอื่นๆ ไม่มีเลย"
 
"กฎหมายอย่างนี้เป็นกฎหมายที่ประเทศของเรามาไกลเกินสมควรแล้วที่จะเลี้ยวซ้ายเลี้ยววาไปหาอำนาจนิยม [ร่าง พ.ร.บ.นี้] แม้แต่หลักการก็ยังไม่สมควรที่จะรับ"
ประสงค์ สุ่นศิริ สนช.
 
 
 "อำนาจพิเศษ [ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.] ก็จะกลายเป็นอำนาจที่ใช้เกือบปกติ นี่จะกลายเป็นอันตราย ที่ผ่านมา ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องประชาชนยังมีที่พึ่งคือศาลปกครอง
 
"ความกลัวบางทีไม่มีเหตุผล เป็นความหวาดระแวงสะสมมาจากอดีต ไทยเคยมีเหตุการณ์ลุอำนาจ"
 
"สิทธิมนุษยชนก็เหมือนออกซิเจน เพราะไม่รู้วันใดเราแจ็คพอตถูกละเมิด น่าจะมีการพูดคุย ร่าง พ.ร.บ. นี้อย่างกว้างขวาง"
โคทม อารียา สนช.
 
 
"[ร่าง พ.ร.บ.] ไม่น่าจะนำมาใช้ในเวลาที่บ้านเมืองกำลังก้าวพ้นจากเผด็จการอันสืบเนื่องมาจาก รัฐประหาร19 ก.ย.  กฎหมายฉบับนี้เป็นการทำลายบรรยากาศการให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างสิ้นเชิงและแสดงถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลที่จะคืนอำนาจแก่ประชาชน ซึ่งดิฉันไม่เห็นด้วยและรับหลักการมิได้"
บัญญัติ ทัศนียะเวช สนช.
 
 
            "[ร่าง พ.ร.บ.นี้] ใช้ถ้อยคำที่กว้างจนไม่อาจนิยามได้ หรือกรณีใดๆ ก็อาจใช้กฎหมายนี้ได้ [เพราะ] ไม่มีนิยามที่จะระบุเงื่อนไขต่อการใช้อำนาจเช่นนี้เลย"
 
"[หาก] รับก่อนและแปรญัตติอาจจะมีปัญหา ถึงขนาดให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการมีอำนาจถึงขนาดเหมือนเป็นเจ้าพนักงาน สอบสวนด้วย จำเป็นด้วยหรือไม่ อำนาจเจ้าหน้าที่ไปไกลค่อนข้างมาก [อำนาจ] เป็นไปโดยไม่มีกรอบระยะเวลา เหตุใดจึงยกเว้นความรับผิดทางอาญา มันเป็นอย่างเดียวกันการเซ็นเช็คไม่กรอกวันที่ กฎหมายนี้จะอยู่ต่อไปไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ผมอยากให้ใคร่ครวญให้ดี เรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน"
สุรพล นิติไกรพจน์ สนช.
 
 
"อำนาจครอบจักรวาล มันกว้างมากจนกระทั่งจะทำอะไรก็ได้ในอนาคต จะมีผู้ใช้อำนาจในทางที่ผิดอย่างมาก ถ้ามันไม่ชัดเจนมันสามารถกล่าวหาใครในห้องนี้ก็ได้ว่าเป็นภัยความมั่นคง เมื่อเราเขียนกฎหมายออกมาอย่างนี้ แล้วเราจะปกป้องประชาชนผู้สุจริตได้อย่างไร [พ.ร.บ.นี้] จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคู่ต่อสู้ทางการเมือง"
ตวง วรรณชัย สนช.
 
 
            "ผมไม่เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะรักษาความมั่นคง การใช้อำนาจคนที่มีอำนาจต้องมีความรับผิดชอบและต้องมีการตรวจสอบ ไม่งั้นจะเกิดการละเมิด"
วิริยะ นามศิริพงษ์พันธุ์ สนช.
 
 
"สองสามวันนี้ ผมนอนไม่หลับ ครุ่นคิดว่าควรรับโดยหลักการไปก่อนไหม [ร่าง พ.ร.บ. นี้] มีโอกาสขัดรัฐธรรมนูญได้มากในหลายมาตรา และเป็นสัญญาณไม่ดีต่อการเลือกตั้งที่จะมาถึง"          
           
"ร่าง พ.ร.บ.นี้ พูดถึงอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวางครอบจักรวาล นิยามยังไม่ชัดเจน หลักการยังไม่ได้ถกให้ตก ลำบากที่จะเห็นด้วยกับหลักการกฎหมายฉบับนี้"
สุริชัย หวันแก้ว สนช.
 
 
"[ร่าง พ.ร.บ. นี้] จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ถึง 10 มาตรา [ในรัฐธรรมนูญ]  ทีเดียว ที่จริงมาตราเดียวก็มากเกินไปแล้ว [อำนาจในการยกเลิก] เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและรายงานข่าวอันนี้เท่ากับทำลายผมทั้งชีวิตเลย"
 
"ผมเกิดมา 59 ปีก็เพิ่งเจอวันนี้ ท่านจะดักฟังโทรศัพท์ อีเมลของผม แน่นอนเลย ถ้าสงสัยว่าผมเป็นภัย"
 
"ถ้าจะทำอย่างนี้ไม่มีพลเมืองใดที่จะให้ตัวแทนของเขาออกกฎหมายปิดกั้น จำกัด"
สมเกียรติ อ่อนวิมล สนช.
 
 
"แทนที่จะแก้ปัญหาเรากลายเป็นสร้างปัญหามากขึ้นหรือไม่"
โสภณ สุภาพงษ์ สนช.
 
 
 
ฟังดูแล้ว ผู้อ่านควรจะคิดต่อ เพราะผลกระทบนั้นจะใหญ่หลวงนัก สำหรับผู้เขียนขอตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้น ดังนี้
 
หนึ่ง พ.ร.บ. นี้ได้ทำให้สิทธิภายใต้กฎหมายทั่วไป และรัฐธรรมนูญฉบับทหารไร้น้ำยา
 
สอง พวกนักวิชาการ และภาคประชาสังคมที่เข้าไปอยู่ในสภาหุ่นกระบอกนี้ เช่น สุริชัย หวันแก้ว โคทม อารียา สุรพล นิติไกรพจน์ ได้ช่วยเป็นตัวละครประกอบให้กับการผ่านร่างกฎหมายเผด็จการนี้ [โดยรู้ตัวหรือเจตนาหรือไม่ก็ตาม] และทำให้การลงคะแนนรับร่าง พ.ร.บ. ดูมีความเป็น "อิสระเสรี" และ "ประชาธิปไตย" ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรที่เป็นประชาธิปไตยเกี่ยวกับสภานี้ ซึ่งถูกกลุ่มทหารที่ก่อรัฐประหารแต่งตั้งแม้แต่น้อย คนเหล่านี้ได้ทำร้ายประชาชน และสังคม ประวัติศาสตร์จะจารึกถึงแม้พวกเขาอาจจะโหวตต้าน พ.ร.บ. ก็ตาม ว่าพวกเขาคือพวกสมรู้ร่วมคิดชนิดหนึ่ง สมรู้ร่วมคิดให้การผ่านร่างกฎหมายนี้ดูเหมือนมีความชอบธรรม
 
สาม จากนี้ไป ประชาชนคงต้องเสียเลือดเนื้อ เสรีภาพอีกมาก จนกว่าจะสู้มาได้ซึ่งสิทธิเสรีภาพตามที่ทุกคนพึงมี นี่กลายเป็นการถอยหลังลงคลองไปยิ่งกว่ายุคทักษิณหรือยุค รสช. เสียอีก วันพฤหัสที่ 8 พ.ย. เป็นวันแห่งโศกนาฎกรรมของประชาธิปไตยไทยวันหนึ่ง
 
สี่ ทางผู้สนับสนุนทั้งใน สนช. และนอก สนช. อ้างว่า อำนาจสูงสุดจะอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรีที่น่าจะมาจากการเลือกตั้งและเป็น ผอ.รมน. โดยตำแหน่ง ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.นี้ แถมคณะรัฐมนตรีจะต้องรับทราบ ปัญหาคือ แม้สมัยทักษิณ ซึ่งใครๆ ก็บอกว่า เป็นยุคที่นายกฯ เรืองอำนาจมาก ทหารก็ยังก่อรัฐประหารได้ เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า ตัว รอง ผอ.รมน. ซึ่งตามตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ. จะไม่กลายเป็นผู้กุมอำนาจครอบจักรวาลตัวจริง รัฐธรรมนูญยังฉีกได้เลย นับอะไรกับ พ.ร.บ. สามานย์นี้
 
ห้า ภาคประชาชนควรถามแต่ละพรรคที่กำลังแข่งขันเลือกตั้งว่าจุดยืนต่อเรื่อง พ.ร.บ. นี้เป็นอย่างไร และล่าลายเซ็นต์ล้มกฎหมายนี้รวมถึงกฎหมายเผด็จการอื่นๆ ที่ทำคลอดภายใต้รัฐบาลทหาร
 
หก ดูเสียงโหวต 101 ต่อ 20 แล้ว หมดหวังว่าการแปรญัตติจะนำไปสู่อะไรที่ดีขึ้น เพราะโหวตกี่ที พวกที่อ้างว่า "หวังดี" และไปอยู่ใน สนช. ก็คงแพ้ ดีไม่ดี มันจะแปรญัตติให้กฎหมายนี้เลวร้ายขึ้นอีกด้วยซ้ำไป
 
เจ็ด ประชาชนควรเตรียมศึกษาการใช้กฎหมายความมั่นคงในสิงคโปร์และมาเลเซียให้จงดี เพราะเขากดขี่และละเมิดสิทธิประชาชนกันมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว หากคุณเท่าทันรัฐและสถาบันสำคัญต่างๆ นั่งๆ นอนๆ เขาก็อาจลากคุณเข้าตารางโดยไม่ต้องขอหมายศาลได้
 
แปด ทหารเตรียมเฮได้เลย (จริงๆ พวกเขาคงเฮไปแล้ว เพราะงบประมาณใช้จ่ายเรื่องความมั่นคงจะเพิ่มจนนับแบงค์แทบไม่ทัน แต่อย่าเพิ่งดีใจจนเกินงาม เพราะสุดท้าย การปะทะกันระหว่างประชาชนผู้รัก ประชาธิปไตยและความเป็นธรรม จะต้องเกิดขึ้น พวกเขาจะต่อสู้กับกฎหมายเถื่อน ที่ชงโดยรัฐบาลเถื่อน และอนุมัติ โดยสภาเถื่อน เพราะประชาชนคงไม่ยอมเป็นควายให้พวกนี้จูงจมูกไปตลอดชีวิต
 
สุดท้าย ระหว่างนี้ เรามาคั่นเวลาเล่นเกมทายกันไหมว่า ใครและกลุ่มไหนจะโดนอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญภายใต้ พรบ. ความมั่นคงภายใน ลากไปขังทรมานก่อนกัน กลุ่มวิพากษ์เจ้า กลุ่มวิพากษ์ทหาร กลุ่มต้านเผด็จการการเมือง หรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดน
 
คำตอบอาจเป็นว่าใครก็ได้ ที่ต่อต้าน พ.ร.บ. นี้ หรือที่ผู้มีอำนาจไม่ชอบใจ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท