Skip to main content
sharethis

ระหว่างที่การเมืองยังฝุ่นตลบไม่ลงตัว หลายคนอยากให้สภาพนี้พ้นไปเลือกตั้งกันใหม่เร็วๆ แต่ก็พบว่าทางเลือกของพรรคการเมืองที่จะเลือกในเดือนหน้านั้นตีบตันเต็มทน และการเมืองไทยก็ชวนเบื่อหน่ายเหมือนย้อนกลับไปสิบกว่าปีก่อน  


 


ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ประกอบกับพลังความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนที่สำแดงออกในการขับไล่นายกรัฐมนตรีคนก่อน ทำให้ภาคประชาชนโดย กลุ่มเพื่อนประชาชน, สหพันธ์รัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สรส.) เครือข่ายสมานฉันท์แรงงานไทย และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย  (ครป.) ในนาม "กลุ่มศึกษาพรรคการเมืองทางเลือก" ได้ร่วมเป็นทีมงานศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อตั้งพรรคการเมืองทางเลือก ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นทางเลือกในเชิง "อุดมการณ์" เลยทีเดียว


 


"การที่เราผ่านการขับไล่ทักษิณ และ 19 กันยา หลายส่วนสุกงอมขึ้น สิ่งที่เราเคยคิดว่าได้ใช้การเมืองแบบมีส่วนร่วมหรือการตรวจสอบอำนาจรัฐ การเขียนสิทธิเสรีภาพมากๆ ในรัฐธรรมนูญน่าจะทำให้ประชาชนเข้าไปแก้ปัญหาได้ แต่ก็พบว่ากลับไม่ใช่ ถ้าเรายังเดินอยู่แบบนี้ก็เป็นองค์กรที่โดดเดี่ยว องค์กรที่ไม่พูดถึงอำนาจรัฐอย่างแท้จริง จะกลายเป็นแค่เรืองแจวเรือจ้าง หรือตะขอเกี่ยวไว้กับเรือลำอื่น หรือเรือพ่วงของพรรคการเมือง อำนาจอื่นเอาผลประโยชน์หรือพลังของเราไปฝากไว้กับบางพรรค ไปต่อรอง ขอร้อง เรียกร้องว่าพรรคจะตอบโจทย์นี้ ถ้าตอบโจทย์นี้เราก็เชียพรรคนั้น เราทำได้แค่นั้นในระบบการเมืองเก่า" เอกสารสรุปการเสวนาของกลุ่มศึกษาพรรคการเมืองทางเลือก เมื่อ 9 ก.ย.50 ระบุ


 


กลุ่มนี้ได้จัดสัมมนาไปแล้วทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการหลายครั้ง เพื่อศึกษาพรรคฝ่ายซ้ายของละตินอเมริกา ยุโรป ตลอดจนพรรคกรีนสากล และล่าสุด มีการประเมินความเป็นไปได้ในประเทศไทย สำหรับพรรคแนว "สังคมประชาธิปไตย" ซึ่งปรับมาจากแนวคิดสังคมนิยมที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งโรจน์และเป็นความหวัง เป็นทางเลือกหนึ่งอย่างแท้จริงในสังคมไทย....เมื่อนานมาแล้ว


 


ล่าสุด เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนก็มีการจัดเสวนากันอีกครั้งว่าด้วย "ความเป็นไปได้ในการสร้างพรรคสังคมประชาธิปไตยในประเทศไทย" มีวิทยากรที่น่าสนใจเข้าร่วมหลายคน


 


ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงานจากมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท กล่าวว่า แนวโน้มใหม่ของพรรคการเมืองทางเลือกแนวสังคมนิยมนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากรากฐานเดิมของ Marxism โดยเป็นในแนวปฏิรูปในระบบทุนนิยมเป็นส่วนมาก


 


สำหรับประเทศไทย แนวคิดสังคมนิยมเคยมีบทบาทในประวัติศาสตร์ไทย โดยมี 2 สายหลัก คือสายปฏิวัติโดยพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย (พคท.) กับสายปฏิรูป กลุ่มมีบทบาทชัดคือกลุ่มของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งกุมอำนาจรัฐหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดูได้จากการที่พรรคสหชีพ และพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ได้มีส่วนบริหารประเทศ หลังจากนั้นทั้งสองแนวทางก็มาเติบโตอีกทีช่วง 14 ตุลาคม 2516 แต่พอหลัง 6 ตุลาคม 2519 ฝ่ายก้าวหน้าก็ต้องถอนตัวเพราะไม่สามารถต่อยอดสังคมประชาธิปไตยได้ และหลังจากนั้นไม่ได้มีการพัฒนาพรรคแนวนี้ในทางรัฐสภาแต่อย่างใด


 


ศักดินากล่าวว่า จนถึงทุกวันนี้ยังมีโอกาสความเป็นไปได้ของการเกิดพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศไทย เพราะอุดมการณ์นี้สอดรับกับสังคมไทยซึ่งเชื่อเรื่องการประนีประนอม ส่วนเงื่อนไขที่จะทำให้สำเร็จในการลิดรอนฝ่ายทุน เช่น การสร้างระบบภาษีก้าวหน้านั้น ต้องมีปัจจัยสำคัญคือ


 


(1.) ต้องมีองค์กรภาคประชาชนที่จัดตั้งหนาแน่นพอสมควร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงานซึ่งมีถึง 35.5 ล้านคน สหภาพแรงงานต้องมีการฟื้นฟูใหญ่และต้องสร้างเอกภาพให้ได้ ต้องมีการนิยาม "แรงงาน" แบบใหม่ให้สอดคล้องกับการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคโลกาภิวัตน์ เนื่องจากพรรคแบบนี้ต้องมีมวลชนสนับสนุน


 


(2.) ต้องทำความเข้าใจกับสังคมว่าแนวทางนี้ต่างจากสังคมนิยมในอดีตอย่างไร เพราะแนวคิดสังคมนิยมนั้นเป็นภาพติดลบในสังคมไทย แล้วต้องรณรงค์ทางอุดมการณ์ให้ผู้คนรู้ว่าเป็นทางเลือก


 


โชคชัย สุธาเวศ กล่าวว่า ในช่วงคณะราษฎรมีอำนาจ ขบวนการสังคมนิยมยังไม่ทันได้วางรากฐานในสังคมไทย ทำได้เพียงผิวเผิน หลังจากนั้นแม้มีความพยายามตั้งพรรคฝ่ายซ้ายแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ หลังการล่มสลายของ พคท.ก็ไม่มีการสานต่ออะไรอีก ล่าสุด พรรคไทยรักไทยรวบรวมนักคิดฝ่ายซ้ายได้มากมาย แต่พวกฝ่ายซ้ายดังกล่าวก็ไม่มีความชัดเจนในหลักการ จนไม่รู้ว่าใครกลายเป็นเครื่องมือของใคร


 


บางคนในจำนวนนั้นบอกว่าต้องร่วมมือกับทุนก่อน แต่ถามว่าในอนาคต ทุนจะยอมให้ปฏิวัติพวกเขาหรือ? เมื่อเกิดสถานการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขึ้น ทำให้ฝ่ายซ้ายในพรรคไทยรักไทยหลายคนต้องออกมาประกาศว่า ทุนนิยมสามานย์ยังดีกว่าศักดินาล้าหลัง ก็ถือว่าการเดินไปสู่แนวงทางสังคมนิยมประชาธิปไตยไม่สำเร็จอีก


 


โชคชัย กล่าวว่า จุดอ่อนที่ผ่านมาอยู่ที่การสร้างพรรคที่เป็นหัวขบวนเฉยๆ ไม่สามารถสร้างพรรคมวลชนได้ ขณะนี้อาจมีการตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ขบวนการแรงงานควรจะมีพรรคการเมือง แต่ก็มีโจทย์ว่าจะเป็นพรรคแบบไหน เพราะเคยมีพรรคแนวสังคมประชาธิปไตยเกิดขึ้นแล้วแต่ก็ล้มเลิกไป ที่จดทะเบียนอยู่ตอนนี้ก็มีพรรคแนวสังคมประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก ทางกลุ่มของเขาจึงได้จดทะเบียนพรรคใหม่ในชื่อว่า พรรคสังคมธิปไตย อยู่ระหว่างการตรวจสอบพิจารณาของ กกต.และกำลังจะเปิดรับสมาชิก เป็นพรรคที่เปิดรับทุกฝ่าย ไม่ใช่แนวซ้ายจัด ไม่ได้รบกับนายทุนให้ตายไปข้าง แต่ต้องการควบคุมกลุ่มทุนเท่านั้น


 


ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเริ่มต้นถึงความสำคัญของพรรคการเมืองว่ามันเป็นการใช้อุดมการณ์ยึดอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง แทนที่จะใช้กำลังอาวุธ หากไม่มีพรรคการเมืองประชาชนจะไม่มีสิทธิกำหนดนโยบายได้เลย พรรคการเมืองเป็นช่องทางเดียว จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย โดยพรรคการเมืองในยุโรปซึ่งมีประสบการณ์ในระบอบประชาธิปไตยมายาวนาน แบ่งอุดมการณ์หลักของพรรคได้ 3 แบบคือ อนุรักษ์นิยม(Conservative) สังคมประชาธิปไตย (Social Democrat) เสรีนิยม (Liberal) และในช่วง 20 ปีมานี้ยังมีการก่อตั้งพรรคทางเลือก เช่น พรรคกรีนขึ้นมาด้วย


 


สำหรับประเทศไทย ดร.ปริญญากล่าวว่า เพิ่งมีระบบพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่องได้ครั้งแรกราวปี 2524 ก่อนหน้านั้นพรรคการเมืองจะถูกยุบทุกครั้งหลังมีการยึดอำนาจ โดยจุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่ก่อนหน้าปี 2517 รัฐธรรมนูญไม่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคและหลังจากนั้นก็กำหนดการสัดส่วนการส่ง ส.ส.ลงสมัคร จนกระทั่งปี 2540 รัฐธรรมนูญไม่กำหนดสัดส่วน แต่ระบบการเลือกตั้งก็ออกแบบให้ไม่สนับสนุนพรรคเล็ก ทั้งยังกีดขวางด้วยซ้ำ ทำให้มีพรรคอย่างไทยรักไทยเกิดขึ้นและเสนอตัวพร้อมนโยบายประชานิยม ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็นำมาปฏิบัติได้จริงเมื่อได้รับเลือกตั้ง


 


"มันทำให้พรรคการเมืองอื่นต้องนำเสนอนโยบายด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่ทุกพรรคต้องมีนโยบาย เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญและดูจะมีความถาวรระดับหนึ่ง ต้องถือว่าไทยรักไทยมีคุณูปการในแง่นี้"


 


อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ดร.ปริญญากล่าวว่า พรรคการเมืองไม่มีอุดมการณ์อะไรชัดเจน เพราะมีอายุสั้น และถูกใช้เป็นแค่เครื่องมือในการส่ง ส.ส.ลงเลือกตั้งเท่านั้น


 


ส่วนความเป็นไปได้ในการตั้งพรรคขนาดเล็กที่มีอุดมการณ์ในสังคมไทยนั้น ดร.ปริญญากล่าวว่า แม้จะมีโอกาสเพราะพรรคแบบนี้ในตลาดการเมืองไทยยังไม่มี แต่ก็ควรพิจารณาในเบื้องต้นว่าควรหรือไม่ควร โดยต้องตั้งคำถามเสียก่อนว่าเป้าหมายคืออะไร หากเป้าหมายคือต้องการมีเสียงข้างมากในสภาคงเป็นไปได้ลำบาก แต่ก็มีตัวอย่างพรรคเล็กที่มีที่นั่งในสภาอยู่บ้างอย่างพรรคกรีนของเยอรมันซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม ทำให้พรรคใหญ่อื่นๆ ต้องมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน หากการตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตยตั้งเป้าให้เกิดผลสะเทือนเช่นพรรคกรีนนี้ก็น่าสนใจที่จะทำ


 


อย่างไรก็ตาม ดร.ปริญญาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เราควรดูบทเรียนจากยุโรป อเมริกา แล้วลองมองข้ามไปอีกขั้นหนึ่งจะได้ไหม เพราะสถานการณ์ในขณะนี้พรรคการเมืองในยุโรป อเมริกา เริ่มกลืนเข้าหากันมากขึ้น มีนโยบายไม่แตกต่างกัน และการเลือกพรรคของประชาชนก็เป็นการเลือกพรรคที่ขึ้นกับสถานการณ์เฉพาะหน้าเสียเป็นส่วนใหญ่


 


ประสบการทางเลือกใน "ละตินอเมริกา"


 


ในส่วนประสบการณ์ของพรรคทางเลือกในละตินอเมริกานั้น มีการจัดพูดคุยกันในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลอิสระที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการเมืองของภูมิภาคนี้ ได้เกริ่นนำว่า ในละตินอเมริกามีความขัดแย้งทางชนชั้น เชื้อชาติ และถูกกดขี่ขูดรีดจากระบบเสรีนิยมใหม่สูงมาก ทำให้การต่อต้านเสรีนิยมใหม่อย่างหนัก แนวคิดสังคมนิยมและมาร์กซิสมีอิทธิพลสูง  


 


ปี 1994 (พ.ศ.2537) เกิดเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ นาฟต้า เป็นการทดลองเขตการค้าเสรีของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ตอนนั้นมีแนวความคิดว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้รับชัยชนะเด็ดขาด แต่แล้วก็เกิดทางเลือก การลุกฮือของซาปาติสต้า เป็นคนพื้นเมืองระดับล่างสุดของเม็กซิโก ซึ่งได้รับการจัดตั้งจากปัญญาชนฝ่ายซ้าย ผสานกับแนวคิดชนพื้นเมือง เกิดเป็นลัทธิซาปาติสตาสู้กับรัฐ แตกต่างจากสมัยก่อนที่เป็นกองทัพจรยุทธ์ แต่ครั้งนี้กลับสู้เชิงอุดมการณ์โดยใช้อินเตอร์เน็ตเป็นอาวุธเป็นหลัก จนซาปาติสตาสร้างเขตปกครองตนเองขึ้นมา มีวิธีการดำเนินการทางการเมืองที่ต่างออกไป กลายเป็นทางเลือกที่เรียกได้ว่าเป็นรัฐซ้อนรัฐในเม็กซิโก โดยมวลชนส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ เพราะมีการจ้างงานแบบเหมาช่วงมหาศาล ทั้งนี้ ซาปาติสตา ปกครองแบบประชาธิปไตยทางตรง แบ่งเขตการปกครองย่อยๆ ไม่ได้เป็นพรรคการเมือง แต่เป็นองค์กรทางการเมืองที่มีรูปแบบใหม่ นำเป็นหมู่คณะ และมติต่างๆ มาจากล่างขึ้นบน


 


ภัควดีกล่าวว่า แนวทางกลุ่มนี้มีเป้าหมายระยะยาวทั้งหมด ไม่มีเป้าหมายระยะสั้นและระยะกลาง ทำให้เกิดปัญหาว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เกิดขึ้นไม่สามารถทำได้ในวงกว้าง ในระยะหลังนี้จึงถูกวิจารณ์ว่าแนวทางนี้ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งระบบ ประกอบกับช่วงหลังมีปรากฏการณ์ของอูโก ชาเวซ ประธานาธิบดีของเวเนซูเอลา ซึ่งมีแนวคิดสังคมนิยม และสามารถตั้งองค์กรทางการเมืองและยึดอำนาจรัฐได้ผ่านการเลือกตั้งได้ มาร์กซิสหลายคนจึงบอกว่า จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองไปยึดอำนาจรัฐเสียก่อนจึงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้


 


ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์จากรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เส้นทางทางการเมืองที่ไม่ต่างกันมากนักของละตินอเมริกาและไทยคือช่วงประมาณ 1980 ซึ่งเริ่มมีการพัฒนาประชาธิปไตยแบบตัวแทนเข้ามาแทนที่เผด็จการ แต่การคลี่คลายกลับต่างกันออกไป คำถามสำคัญคือ ประชานิยมในละตินอเมริกากับของรัฐบาลทักษิณต่างกันไหม


 


ประภาสกล่าวว่า หากเปรียบเทียบดูจะพบว่า ประธานาธิบดีชาเวซ ของเวเนฯ ขึ้นมามีอำนาจแล้วจัดสรรความสัมพันธ์ทางอำนาจ 2-3 เรื่อง มีกฎหมาย 40 กว่าฉบับที่เพิ่มอำนาจให้ชาวบ้านจัดสรรทรัพยากรเอง สร้างประชาธิปไตยทางตรงต่างๆ ซึ่งประเทศไทยไม่ค่อยได้พูดถึงมากนัก แต่แทบทุกประเทศในละตินอเมริกาต่างเน้นการสถาปนาเส้นทางประชาธิปไตยทางตรงให้กับประชาชน


 


ทั้งนี้ ประชาธิปไตยทางตรงมีหลายความหมาย แต่หัวใจสำคัญคือการถ่ายโอนอำนาจไปสู่ประชาชนให้ได้ตัดสินใจมากขึ้น กรณีประเทศไทยตอนนี้ผู้มีอำนาจยังคงกลัวประชาชนเป็นเหยื่อ "ทักษิณ" ทำให้ถ่ายโอนอำนาจไปไม่สุด


 


แม้จะมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ก็ตาม แต่ก็ยังไม่เคารพว่าประชาชนนอกเหนือจากชนชั้นกลางในเมืองว่าจะสามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผล แต่ถ้าดูในรัฐธรรมนูญในละตินอเมริกา จะเห็นว่ากลไกของประชาธิปไตยทางตรงของเขาขยายไปมากและหลากหลายกว่า


 


พงษ์ทิพย์ สำราญจิตร กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขบวนการเคลื่อนไหวในละตินอเมริกาอยู่ในขั้นตอนพยายามจะเรียนรู้ระหว่างการยึดอำนาจรัฐและปฏิเสธอำนาจรัฐ หลายที่ชุมนุมประท้วงแล้วก็ได้รัฐบาลห่วยมาบริหารประเทศเหมือนเดิม แต่ประสบการณ์ใหม่ที่น่าสนใจคือ การมีคนอย่าง "ชาเวซ" เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าแนวทางเปลี่ยนแปลงสังคมสู่ความเป็นธรรมจะเป็นอย่างไรในท้ายที่สุด เพราะการจัดตั้งฐานมวลชนในเวเนซุเอลาไม่เข้มแข็ง ชาเวซเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากในระยะหลัง และระบบราชการในเวเนซุเอลาก็ยังเหนียวแน่นมาก มีคนของฝ่ายขวามาก ทำให้ประธานาธิบดีชาเวซดำเนินนโยบายได้อย่างยากลำบาก รอบปีที่ผ่านมาเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรไปแล้วกว่า 10 คน


 


อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีความช่วยเหลือจากคิวบาไปช่วยจัดตั้งฐานมวลชนในเวเนซุเอลา รวมถึงกลุ่มขบวนการชาวนา เวีย คัมปาซินา ด้วย เพราะเป็นห่วงไม่อยากให้ชาเวซล้ม โดยเฉพาะสหรัฐก็เล็งจะเล่นงานประเทศหัวแข็งอย่างเวเนฯ และโบลิเวียอยู่ องค์กรประชาชนมองว่า ถ้าชาเวซถูกสหรัฐจัดการ ระบบที่วางไว้ทั้งหมดจะล่ม


 


"ธงในช่วงหลังของประเทศในละตินค่อนข้างชัดคือ ต่อต้านทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ แตช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ขบวนการสังคมต่อต้านทุนนิยมโดนบริษัทข้ามชาติรุกคืบมากขึ้น ปะทะกันรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติด้านการเกษตร" พงษ์ทิพย์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net