Skip to main content
sharethis

จากบทความเดิมชื่อ: "นักสิทธิฯ ทหาร และสถานการณ์ไฟใต้"


 


พิราบไร้นาม


 


ตอนนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มี 2 เรื่องที่เป็นกระแสที่ผู้สื่อข่าวสนใจติดตาม เรื่องหนึ่งคือกรณีการนำผู้ต้องหาตามหมายจับ พ..ก.ไปฝึกอาชีพ อีกเรื่องนั้น คือเรื่องความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้งใหญ่จะมาถึงในเดือนหน้า เรื่องเลือกตั้งก็ดำเนินไปตามวิถี แต่เรื่องการฝึกอาชีพเป็นประเด็นร้อนแรงที่หวั่นว่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ตกกระแสในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง


 


กรณีการฝึกอาชีพให้ผู้ต้องหาตามหมาย พ..ก.นั้นเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันมาหลายเดือนแล้ว รายละเอียดมีมากมายที่เล่าไม่หมด เริ่มตั้งแต่การควบคุมผู้ต้องหาจำนวนหลายร้อยคนจาก "ยุทธการพิทักษ์ชายแดนใต้" ที่ฝ่ายความมั่นคงปิดล้อม กวาดล้าง จับกุมในพื้นที่ต่างๆ ภายใน 3 จังหวัด และนำไปแยกควบคุมกันภายในค่ายต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงขลา แทบทั้งหมดมีหมายจับตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ..ก.) หลังจากนั้นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รับช่วงต่อ นำผู้ต้องหาทั้งหมดไปฝึกอาชีพต่อกันที่จังหวัดชุมพร สุราษฏร์ธานี และระนอง


 


หากมองกันเผินๆ เรื่องคงไม่มีอะไรมาก ฝ่ายรัฐพยายามใช้หลักรัฐศาสตร์แก้ไขปัญหาแทนหลักนิติศาสตร์ ด้วยเหตุผลว่าหากมีการจับกุมดำเนินคดีบุคคลเหล่านี้ก็สามารถกระทำได้ รังแต่จะทำให้เกิดความระแวงแคลงใจจากญาติพี่น้องและสังคมมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท้ายที่สุดอาจขยายแนวคิดความรุนแรงให้แพร่กระจายออกไป ที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีการ ปล่อยข่าว "ทหารกลั่นแกล้งมุสลิม" มาแล้วหลายครั้ง ทุกครั้งก็ไม่สามารถเข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจให้กระจ่างชัดได้ เกิดการปลุกม็อบ ยุแหย่สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกับรัฐ จนแก้ไขได้ยาก


 


ครั้งนี้ ผู้ต้องสงสัยทุกคนมีหมายจับ บางส่วนก็มีหลักฐานแน่นหนา สามารถสั่งฟ้องได้ แต่ฝ่ายรัฐพยายามพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสอันดี นำทุกคนไปฝึกอาชีพเพิ่ม สลายพฤติกรรมและความคิดความเชื่อผิดๆ ซ้ำยังยิงนกเพิ่มขึ้นอีกตัว คือการพิสูจน์ให้ญาติพี่น้องและสังคมมุสลิมเห็นว่า การแก้ไขปัญหาของรัฐ ตั้งอยู่บนความหวังดี ปรารถนาดีต่อประชาชนอย่างแท้จริง เรื่องข่าวลือข่าวลวงต่างๆ เป็นเพียงกระบวนการโจมตีภาพลักษณ์ของฝ่ายรัฐโดยขบวนการความไม่สงบเท่านั้น


 


ส่วนผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาเองก็ได้ประโยชน์จากการฝึกอาชีพ นอกจากได้รับทักษะที่เพิ่มขึ้น สามารถนำไปใช้ทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้ ยังได้รับใบประกาศนียบัตรจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานการันตีไว้อีกด้วย แต่ทางฝั่งนักสิทธิมนุษยชนและกลุ่มทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งได้ตามตรวจสอบโครงการนี้มาอย่างใกล้ชิดกลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะตั้งแต่การควบคุมตัวอยู่ตามค่ายต่างๆ ในพื้นที่ก็มีภาพโรงนอนที่แออัด สกปรก หรือการนำคนเหล่านี้ไปควบคุมตัวของฝ่ายรัฐก็เป็นลักษณะการเหวี่ยงแห การนำไปฝึกอาชีพ ก็เป็นการพรากลูกพรากสามีไปจากครอบครัว บางคนแก่ชราภาพจนไม่น่าเชื่อว่าจะไปมีส่วนร่วมกับการก่อเหตุใดๆ ได้อีก หรือมีลักษณะพิกลพิการก็ยังถูกควบคุมตัวมาด้วย


 


สิ่งเหล่านี้ทำให้กลุ่มผู้ตรวจสอบได้ติดตามโครงการนี้ของรัฐอย่างใกล้ชิด มีการออกแถลงการณ์ออกมามากมายหลายฉบับ เพื่อขอคำอธิบายจากฝ่ายความมั่นคง เพราะแม้ว่าการนำตัวไปเข้าค่ายฝึกฝนอาชีพที่ภาคใต้ตอนบนจะอยู่ในความดูแลของกระทรวง พม.และสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ยังอยู่ในการชักโยงของกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง


 


กระแสเริ่มแรงขึ้นก่อนหน้าวันฮารีรายอ (วันละศีลอดของชาวมุสลิม-ผู้เขียน) เนื่องจากกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนพยายามเรียกร้องให้ฝ่ายความมั่นคงปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดกลับมาร่วมกิจกรรมละศีลอดที่บ้าน กระทั่งผู้ถูกส่งไปฝึกอาชีพส่วนหนึ่งออกจากค่ายไปอาศัยที่มัสยิดกลางของแต่ละจังหวัด (สุราษฏร์ธานี ระนอง และชุมพร) และมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น พอกระบวนการไต่สวนเริ่มต้นก็ตรงกับวันฮารีรายอพอดี ทำให้คนเหล่านี้ไม่ได้กลับบ้าน (ประมาณ 80 คน) เรื่องราวก็เริ่มปรากฏตามสื่อต่างๆ ส่วนคนที่ฝึกอาชีพเสร็จก็ได้รับการปล่อยตัวกลับมาหลังจากนั้น คนที่ยื่นฟ้องกับศาลก็ยังติดอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ไม่สามารถกลับสู่ภูมิลำเนาได้


 


เรื่องก็น่าจะไม่มีอะไร แต่แล้วทาง พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 ก็มีคำสั่งฟ้าผ่าลงมา เป็นคำสั่งประกาศ "ห้ามบุคคลเหล่านี้รวมกับบุคคลที่ปรากฏชื่ออยู่ในหมายจับของฝ่ายความมั่นคงเข้าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดสงชลาเป็นระยะเวลา 6 เดือนเป็นการชั่วคราว" ด้วยเหตุผลที่ว่า เกิดเหตุความรุนแรงเพิ่มขึ้นในพื้นที่ด้วยรูปแบบ วิธีการต่างๆ จึงต้องใช้อำนาจกฏอัยการศึกออกประกาศดังกล่าว


 


ประเด็นนี้จะเป็นที่ถกเถียงและต่อสู้กันไปอีกพักใหญ่ เพราะทางฝั่งนักสิทธิฯ และ กลุ่มผู้ฝึกอาชีพก็กำลังต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมในประเด็นการละเมิดสิทธิ ส่วนกองทัพก็ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม ประกาศคำสั่งออกมา ซึ่งไม่กี่วันก่อน ทาง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็เพิ่งออกมาขอให้ทางแม่ทัพภาคที่ 4 ทบทวนคำสั่งดังกล่าว เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการนำไปขยายประเด็นการละเมิดสิทธิฯ อีก แต่ก็ทางฟากกองทัพภาคที่ 4 ก็ยังเงียบอยู่ ไม่มีท่าทีใดๆ ออกมา


 


จริงๆ ประเด็นนี้อยู่ที่การนำเอาผู้ต้องหาไปฝึกอาชีพตั้งแต่แรก ฝั่งหนึ่งพยายามใช้หลักรัฐศาสตร์แก้ปัญหา และใช้ความโปร่งใสเป็นธงนำ อีกประการหนึ่งคือยังมีคดีความมั่นคงที่คั่งค้างอยู่ในศาลอีกหลายพันคดี หากนำชาวบ้านเหล่านี้ไปส่งฟ้องก็ต้องใช้เวลานาน การแก้ปัญหาก็ไม่จบไม่สิ้น อีกฝั่งก็ติดตามตรวจสอบตามหน้าที่ แต่เถรตรงจนเกินไป ไม่ฟังเหตุผลและไม่สนใจบริบทใดๆ ทั้งสิ้น


 


ไปสอบถามคนในพื้นที่ดู คนมุสลิมหลายคนก็เห็นด้วยกับการนำเอาผู้ต้องหาไปฝึกอาชีพ เท่ากับรัฐมองว่า กลุ่มผู้ต้องหาความไม่สงบคือ "ผู้หลงผิด" ไม่ใช่ "ผู้ก่อการร้าย" ที่ต้องบีบให้มั่นคั้นให้ตาย ไม่ต้องส่งฟ้องในกระบวนการยุติธรรมเสมอไป ยิ่งบางคนที่มีหลักฐานปรากฎชัด หากถูกสั่งฟ้องแล้วติดคุกขึ้นมาจะเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตมากกว่านี้


 


ข้อเสนอจาก "ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี" นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี คือ ต่อไปทั้งสองฝ่าย (นักสิทธิฯ และ ฝ่ายความมั่นคง) ต้องมาคุยกัน พูดคุยให้เห็นปัญหาซึ่งกันและกัน และยื่นข้อเสนอให้กับผู้ต้องหาว่าจะเลือกเอาแบบไหน ระหว่างการฝึกอาชีพและส่งฟ้องศาล เพื่อเจ้าตัวจะได้เป็นผู้เลือกเอง หากมั่นใจว่าหลักฐานของตนไม่มี และบริสุทธิ์ใจก็สู้กันไปตามกระบวนการยุติธรรม หรือหากสามารถไกล่เกลี่ยกันได้ก็จบไป แต่หากไม่มั่นใจในหลักฐาน หรือหากกลับเนื้อกลับตัวจริงก็ไปฝึกอาชีพเพื่อนำมาใช้ชีวิตใหม่ ส่วนคนที่ไม่กลับเนื้อกลับตัวนั้นคงเป็นโจทย์ใหญ่ และเป็นเรื่องน่ากลัว ไม่ว่าจะส่งฟ้องหรือฝึกอาชีพ หากกลับคืนสู่หมู่บ้านก็จะกลับไปก่อเหตุร้ายอีก เช่นในรายที่ส่งฟ้องและได้ประกันตัว ปรากฏว่ามีการหลบหนีไม่สู้คดี และยังกลับมาก่อเหตุร้ายได้อีก ประเด็นเช่นนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบายจากนักสิทธิฯ ว่าจะจัดการกันเช่นไร


 


ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ ผู้เขียนเองซึ่งอยู่ตรงกลางเชื่อมั่นว่า หากพูดคุยกันและประสานข้อมูลกันบ้างก็น่าจะส่งผลดี ไม่ใช่หลับหูหลับตาทำกันไปตามหน้าที่ของตนเอง โดยไม่ลืมตาขึ้นมาดูว่า คนบริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อรายวัน วันละกี่ศพ


 


เคยไปคุยกับฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร ก็บอกว่าภาพที่นักสิทธิฯ มองทหารนั้น "แค่ตดก็ผิด" ส่วนฝั่งนักสิทธิฯ เองก็บอกว่า "ทหารมองเราเหมือนเป็นศัตรูตัวฉกาจ เห็นหน้าเราเหมือนเห็นหน้าโจร"


 


ไม่รู้ว่าฝั่งไหนพูดเล่นพูดจริง แต่ที่แน่ๆ สถานการณ์ภาคใต้มันมาไกลกันเกินกว่าที่จะมาทะเลาะกันเอง!!  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net