บทความ : ที่ดินและความยากจน ประชาชนจะได้อะไรจากการเลือกตั้ง

สุริยันต์ ทองหนูเอียด

ผู้ปฏิบัติงานกลุ่มเพื่อนประชาชน

 


ที่มาภาพ : สำนักข่าวประชาธรรม


นับเป็นเวลา ๓๓ ปีของการจัดตั้ง "สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย" ที่ได้ลุกขึ้นเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สิน ปฏิรูปที่ดินและราคาข้าวตกต่ำ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๗ แต่ดูเหมือนว่าการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรชาวนาอันเป็นกระดูกสันหลังของชาติจะไม่มีความคืบหน้ามากนัก

งานวิจัยเรื่อง  "นโยบายเศรษฐกิจที่ดินของไทยในศตวรรษใหม่" โดยปรีชา วทัญญู ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเศรษฐกิจที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน (๒๕๔๔) ระบุว่า "ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือของคนส่วนน้อย กล่าวคือร้อยละ ๑๐ ของคนทั้งประเทศเป็นเจ้าของผู้ถือครองที่ดินมากกว่า ๑๐๐ ไร่ ที่เหลือร้อยละ ๙๐ เป็นผู้ถือครองที่ดินน้อยกว่าหรือเท่ากับ ๑ ไร่เท่านั้นคนไทยอีกประมาณ ๘๑๑,๘๗๑ ครอบครัวยังไม่มีที่ดินเป็นของตนเองส่วนเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินไม่เพียงพอต้องเช่าที่ดินทำกินมีจำนวน ๑-๑.๕ ล้านครอบครัว"

"บทสรุปจากโครงการพัฒนาระบบข้อมูลและกลไกบริหารจัดการที่ดินระดับท้องถิ่น" โดย ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๙ กล่าวว่า

"ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๓๒๐.๗ ล้านไร่ จากข้อมูล ปี ๒๕๔๔ เป็นเนื้อที่ป่าไม้ ๑๐๐.๖๓๘,๒๐๐ ไร่ เนื้อที่ถือครองทางการเกษตร ๑๓๑.๐๕๙,๙๗๔ ไร่ เกษตรกรถือครองที่ดินของตนเอง ๑๐๗,๖๙๘,๐๗๘ ไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดินที่เกษตรกรถือครองโดยไม่มีภาระใด ๆ จำนวน ๙๒,๗๕๒,๗๙๑ ไร่ จำนองผู้อื่น ๑๔,๗๖๑,๔๐๒ ไร่ ขายฝาก ๑๘๓,๘๘๕ ไร่ ส่วนเกษตรกรที่ถือครองที่ดินของผู้อื่นเป็นเนื้อที่รวม ๒๒,๙๐๒,๔๗๓ ไร่ ในจำนวนนี้เป็นการเช่าที่ดิน ๑๔,๗๙๔,๔๐๖ ไร่ รับจำนอง ๗๙๔,๓๘๔ ไร่ ได้ทำฟรี ๗,๕๓๐,๕๙๕ ไร่"

การศึกษาของมูลนิธิสถาบันที่ดินเมื่อปี ๒๕๔๔ พบว่าที่ดินประมาณร้อยละ ๗๐ ของประเทศนั้นใช้ประโยชน์ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ คือมีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย การใช้ประโยชน์จากที่ดินไม่เต็มที่นี้อาจเกิดจากปัญหาการเก็งกำไร หรือปัญหาการบริหารจัดการที่ดินของผู้ถือครองที่ดินเอง ความสูญเสียจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินไม่เต็มที่ โดยการประเมินขั้นต่ำ ประเทศไทยต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ ๑๒๗,๓๘๔.๐๓ ล้านบาทต่อปี

ข้อมูลจากการจดทะเบียนคนจน ชี้ให้เห็นว่า มีคนจนจำนวนมากที่ต้องการที่ดินทำกินและอยู่อาศัย โดยมีถึง ๔.๑๒ ล้านปัญหา ประกอบด้วย

๑) ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ๑.๓๑ ล้านคน ขอที่ดิน ๑๖.๐๙ ล้านไร่

๒) มีที่ดินไม่เพียงพอ ๑.๖๗ ล้านคน ขอที่ดินเพิ่ม ๒๑.๓๘ ล้านไร่

๓) ขอเช่าที่ดินของรัฐ ๐.๑๓ ล้านคน เป็นที่ดิน ๑.๖๓ ล้านคน เป็นที่ดิน๑.๖๓ ล้านไร่

๔) ถือครองที่ดินของรัฐ ๐.๒๗ ล้านคน เป็นที่ดิน ๒.๙๔ ล้านไร่

รวมเนื้อที่ดินที่คนจนต้องการประมาณ ๔๒.๐๔ ล้านไร่ ขณะที่รัฐจัดหาได้แค่ ๒๘.๘๙ ล้านไร่

คำถาม ก็คือ รัฐจะเอาที่ดินที่ไหนมาแจกให้คนจนอีก ประมาณ ๑๓.๑๕ ล้านไร่

ในขณะที่ปัญหาที่ดินซึ่งชาวบ้านกลุ่มเกษตรกรได้เคยเรียกร้องให้หลายรัฐบาลแก้ไข กลับถูกรัฐบาลละเลยทั้งสิ้น เช่น

๑.การชุมนุมเรียกร้องของสมัชชาคนจนกรณีที่ดิน ประกอบด้วยกลุ่มปัญหาที่ดินในเขตป่า ๘๗ กรณี กลุ่มที่สาธารณประโยชน์ ๑๕ กรณี ที่ผลักดันให้รัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ แก้ไขปัญหาและทิ้งค้างไว้มาจนถึงรัฐบาลทักษิณ ก็กลับไม่ได้เร่งนำข้อร้องเรียนของสมัชชาคนจนมาดำเนินการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิสูจน์สิทธิในที่ดิน ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อกันเขตที่ดินทำกินออกจากเขตป่า หากปรากฏว่าประชาชนทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่า กลับไม่มีการดำเนินการให้เสร็จสิ้นและไม่สรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ปรากฏว่าในหลายพื้นที่เจ้าหน้าที่ป่าเร่งดำเนินการจับกุมประชาชนที่อยู่ในเขตป่า

๒.กรณีปัญหาการถือครองที่ดินของกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ที่เรียกร้องให้รัฐดำเนินการปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ จังหวัดลำพูน-เชียงใหม่-เชียงราย ซึ่งการพิสูจน์ข้อมูลพบว่า รัฐน่าจะออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินโดยไม่ชอบ ทั้งในที่สาธารณประโยชน์ ที่ สปก. และที่ดินของเอกชน และเสนอให้รัฐบาล นำที่ดินที่เป็นหนี้เสียเหล่านั้นมาดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกร เพื่อนำที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาใช้ประโยชน์ โดยให้ชุมชนดำเนินปฏิรูปที่ดินและจัดการที่ดินด้วยชุมชนเองในพื้นที่นำร่อง ๒๗ พื้นที่ของ สกน. เพื่อป้องกันการขายที่ดินให้แก่ผู้อื่น แต่ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว กลับโดนแจ้งความดำเนินคดีนับพันครอบครัว

๓.กรณีบริษัทเอกชนทำสวนป่าปลูกปาล์มและยางพารา และทำเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ๙ แห่งที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน ๔๓ ราย และจังหวัดกระบี่ จำนวน ๑๔ ราย  จากการตรวจสอบของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจน ได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินให้แก่เกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน เมื่อวันที่ ๑๐-๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เครือข่ายฯพบว่ามีที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติถูกนำไปใช้ประโยชน์ทำสวนป่าอย่างผิดกฎหมาย ข้อมูลของป่าไม้พบว่า พื้นที่เช่าหลายแปลงได้หมดสัญญาเช่า และอยู่ในระหว่างการขอต่อสัญญาเช่า แต่บริษัทยังครอบครองและทำประโยชน์ในพื้นที่เหล่านั้น ปรากฏว่าการตรวจสอบร่วมกับรัฐไม่คืบหน้าแต่อย่างใด  เครือข่ายฯ จึงเข้าไปครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนฯที่ทำสวนป่าเพื่อเรียกร้องให้รัฐเร่งดำเนินการตรวจสอบโดยเร็ว แต่รัฐบาลทักษิณกลับละเมิดสิทธิมนุษยชนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับที่ลำพูนด้วยการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๑๔-๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๖

๔.กรณีของเครือข่ายสลัม ๔ ภาคที่เรียกร้องให้รัฐปรับปรุงและพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิมที่ชุมชนตั้งอยู่ และให้สิทธิความมั่นคงในรูปแบบการเช่าที่ดินระยะยาว ยุติการไล่รื้อ ปัญหาที่พบคือ รัฐไม่สามารถนำที่ดินมาจัดที่อยู่อาศัยโดยให้เช่าในระยะยาวได้ แม้นว่า กรณีที่ดินการรถไฟฯ จะสามารถเจรจา ขอเช่าระยะยาว ๓๐ ปี และระยะสั้น ๓ ปี ได้บ้างบางชุมชนแต่จำนวนชุมชนทั่วประเทศ กว่าประมาณ ๓,๗๕๗ ชุมชน จำนวน ๑.๑๔ ล้านครอบครัว ประชากร ๕.๑๓ ล้านคน ยังคงเป็นโจทย์ให้รัฐบาลใหม่ ต้องคิดใหม่และแก้ไขปัญหาตามหลักการที่ว่า โครงการของรัฐจะต้องอยู่บนหลักการพื้นฐานว่า บ้านมั่นคงของชุมชนเมืองจะต้องอยู่ใกล้แหล่งงานและอาชีพ การทำสัญญาเช่าที่ดินที่มีความมั่นคงในระยะยาว ย่อมเป็นแรงจูงใจในการปับปรุงที่อยู่อาศัยของชุมชน  และให้ชุมชนมีส่วนร่วมตัดสินใจในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยด้วยตนเอง 

๕.กรณีล่าสุดกลุ่มปัญหาที่ดินของผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สึนามิ ๖ จังหวัดภาคใต้ ภายหลังคลื่นหายไป พบว่าที่ดินเกือบทั้งของชุมชน หรือที่สาธารณะประโยชน์ในหมู่บ้านริมฝั่งทะเล ถูกเอกชนนายทุนหรือนักการเมืองระดับชาติ นำมาออกเอกสารสิทธิ์ เก็งกำไรกับธุรกิจท่องเที่ยว เกือบทั้งสิ้น        

ความล้มเหลวของรัฐนานหลายทศวรรษในการแก้ไขปัญหาที่ดินและความยากจน ยิ่งไม่ต้องสงสัยว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะถึงนี้ คนจนจะได้อะไร

หากแต่พรรคการเมืองทั้งหลายต้องตอบคำถาม ที่ว่า

๑.หากท่านได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่ ๘ แนวนโยบายด้านที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.๘๕ แห่งรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ ที่บัญญัติว่า

"รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดหลักเกณฑ์ การใช้ประโยชน์ในที่ดิน ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ทั้งผืนดิน ผืนน้ำ วิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น และการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และกำหนดมาตรฐานการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน โดยต้องให้ให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อหลักเกณฑ์การใช้ที่ดินนั้นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย

(๒) กระจายการถือครองที่ดินอย่างธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงและพอเพียง โดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น รวมทั้งจัดหาแหล่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสมแก่การเกษตร..."

๒.ท่านกล้าแก้ไขความยากจน โดยให้มีมาตรการแก้ปัญหาเบื้องต้นตามสภาพเร่งด่วนหรือไม่ เช่น

- กรณีชุมชนไม่มีความมั่นคงในที่ดินทำกิน รัฐควรนำร่องแก้จนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ชุมชนพึ่งตนเอง ด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกันเน้นจัดรูปที่ดินลักษณะกรรสิทธิ์ชุมชนที่มีความหลายหลายตามลักษณะของแต่ละภูมิประเทศและวิถีการผลิต ส่งเสริมทำเกษตรทางเลือกปลอดสารพิษ ไม่เน้นการส่งออกป้องกันและควบคุมไม่ให้ทุนบริโภคกระแสหลักเข้าไปแทรกแซงชุมชน เป็นต้น

- กรณีชุมชนได้รับการแทรกแซงหรือถูกทำลายจากทุนกระแสหลัก กลายเป็น เกษตรกรเอ็ลพีแอล ให้รัฐเร่งฟื้นฟู จัดการปัญหาหนี้สิน ด้วยการวางมาตรการ หลายๆ รูปแบบเพื่อการจัดหนี้นิ่ง ก่อนเข้าสู่มาตรการฟื้นฟูจนเกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร เน้นการแปรรูป พืชผลทางการเกษตร เช่น โรงงานแปรรูปน้ำลำไย น้ำมะม่วงในระดับอำเภอ หรือตำบล รวมทั้งป้องกันการปั่นที่ดิน หรือ กว้านซื้อที่ เก็งกำไร จัดจำแนกพื้นที่การทำเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรมที่ชัดเจน เป็นต้น

- กรณีชุมชนมีศักยภาพเข้าสู่ระบบการแข่งขันควรเน้นการทำตลาดภายใน ผ่านกลไกการหนุนเสริม ทุกระดับ ในการกระจายสินค้า การจัดทำวัสดุภัณฑ์ ลดผ่อนการเก็บภาษี โดยผ่านกลไก อบต. เป็นต้น

๓.ท่านจะสร้างเครื่องมือทางนโยบายมาหนุนเสริมการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างไร เช่น โครงการหมู่บ้านแก้จนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ออกกฎหมายเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าและกฎหมายคุ้มครองพื้นที่เกษตร กฎหมายว่าด้วยค่าจ้างที่เป็นธรรม และรัฐสวัสดิการสังคมด้านต่างๆ เป็นต้น

๔.ท่านกล้าจัดสรรงบประมาณแก้จนในลักษณะ "เมกกะโปรเจกต์" หรือไม่ เหมือนกับกรณีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนน รถไฟฟ้า เช่น รัฐควรจัดตั้งงบประมาณจัดซื้อ หรือเวนคืนที่ดินเอ็นพีแอลทั้งหลายของนายทุนเพื่อนำมาปฏิรูปที่ดินที่ดินให้เกษตรกรคนจน จัดงบประมาณแทรกแซงหรือประกันราคาพืชผลตกต่ำ จัดหางบประมาณให้เปล่าเพื่อศึกษาโครงการวิจัยชุมชนหรือชาวบ้าน เป็นต้น

ทั้งนี้ ท่านยังคิดได้แค่คำขวัญเพื่อพรรคท่านเอง เขตท่านเอง ปัญหาที่ดินและความยากจนก็สิ้นหวัง.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท