Skip to main content
sharethis

20 พ.ย. 2550 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยตั้งโจทย์การวิจัย "การศึกษาและวัฒนธรรม" เตรียมสนับสนุนให้ชาวบ้านทำวิจัยในชุดประเด็นวัฒนธรรมอิสลามมาลายูหวังช่วยคลี่คลายชีวิตความเป็นอยู่และความไม่สงบในพื้นที่จากความรู้ความเข้าใจที่ร่วมกันสร้างให้เกิดขึ้น


 


ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค โดยการนำของ ผศ.ปิยะ กิจถาวร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เริ่มดำเนินกิจกรรมส่งเสริม และสนับสนุนให้กลุ่มคนหรือชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ใช้กระบวนการวิจัยเพื่อแก้ไข หรือ "จัดการ" ปัญหาของตนเองมาเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี เกิดโครงการวิจัยที่ดำเนินโครงการโดยชาวบ้านซึ่งเป็น "คนในพื้นที่" กว่า 60 โครงการ


 


หนึ่งในนั้นคือ "ชุดโครงการวิจัยในมิติวัฒนธรรมอิสลามมาลายู" ซึ่งประกอบด้วยประเด็นข้อเสนองานวิจัยจากพื้นที่(ชาวบ้าน)ให้ความสำคัญและเสนอขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยคือ การศึกษาในมิติอิสลามศึกษาและวัฒนธรรมมลายู อาทิ การทำกริชรามัน การผลิตหมวกกะปิเยาะห์ โรตีกรอบที่ปูยุด หรือแม้แต่ชุดมลายูภาษาถิ่น


 


นายสมบูรณ์ อัพภาสกิจ ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค กล่าวว่า ชุดประเด็นงานวิจัยในมิติวัฒนธรรมอิสลามมาลายู เป็นผลมาจากการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปได้ระยะหนึ่งและพบว่ากลุ่มงานวิจัย หรือโครงการวิจัยที่ชาวบ้านเสนอโครงการเข้ามามักมีเรื่อง หรือประเด็นที่เกี่ยวกับมิติทางวัฒนธรรมอิสลามมลายูค่อนข้างมาก จึงเกิดการพัฒนาต่อเป็นชุดประเด็นงานวิจัยดังกล่าวเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขณะเดียวกันงานวิจัยส่วนใหญ่ซึ่งมีชาวบ้านซึ่งเป็นคนมุสลิมเป็นหัวหน้าโครงการ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากความต้องการของชาวบ้าน ซึ่งไม่แน่ว่าเป้าหมายสุดท้ายหากมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องหรือขยายขึ้นเต็มพื้นที่ ความสุขสงบอาจกลับมา"


 


ด้านนางตุแวคอลิเยาะห์ กาแบ พี่เลี้ยงโครงการวิจัยจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคใต้ กล่าวว่า จากการทำงานภายในศูนย์ประสานอิสลามศึกษาและวัฒนธรรม ซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พบว่าการสนับสนุนงานวิจัยชาวบ้านที่ผ่านมา ชาวบ้านจะให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษามากที่สุด รองลงมาเป็นเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งมีทั้งเป็นเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น และส่วนหนึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับหลักความเชื่อทางศาสนาของคนในพื้นที่ เนื่องจากคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม กระบวนการดำเนินงานต่าง ๆ จึงมีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องกับหลักการของศาสนาอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้


 


"การสนับสนุนงานวิจัยในมิติของวัฒนธรรมอิสลามมาลายูจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะยกระดับความรู้ ความเข้าใจต่อเรื่องดังกล่าวตามหลักการวัฒนธรรมอิสลาม เพราะในความหมายของวัฒนธรรม คือ วิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคม เป็นเรื่องที่สังคมยอมรับ ซึ่งวัฒนธรรมจะมีการเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขและเมื่อเกิดการค้นพบสิ่งใหม่ หรือประดิษฐ์ใหม่ หากแต่วัฒนธรรมอิสลาม คือ วิธีคิด วิถีการดำเนินชีวิตของมุสลิมที่อยู่บนหลักการสำคัญคือ ต้องเป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ และท่านศาสดาทรงอนุญาตเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่บนวิถีของคนมุสลิมโดยปกติอยู่แล้ว ดังนั้น การสนับสนุนงานวิจัยในชุดประเด็นดังกล่าว เป็นการสร้างสำนึกและยกระดับให้คุณค่าของสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรมอิสลามให้แจ่มชัดและชัดแจ้งยิ่งขึ้น"


 


นางตุแวคอลิเยาะห์ กล่าวอีกว่า หากคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีความหลากหลายในความเชื่อ ประเพณี ศาสนา ภาษา ตลอดจนมีวัฒนธรรมบางอย่างเป็นการเฉพาะของชาติพันธุ์ตนเองได้เรียนรู้และเข้าใจในคุณค่า ความหมายและแก่นแท้ของวัฒนธรรมของชนชาติพันธ์ของแต่ละศาสนาแล้ว นอกจากจะนำมาซึ่งการสร้างความเข้มแข็งทางด้านองค์ความรู้ของคนที่มีวัฒนธรรมนั้นแล้ว การได้เรียนรู้ในความเป็นพิเศษของแต่ละวัฒนธรรมและแต่ละชาติพันธุ์ในสังคม ย่อมเป็นการสร้างความเข้มแข็งของผู้ศึกษา ของชุมชน และของสังคม


 


"หากเรามีความเข้าใจกัน และรู้จักกันในความแตกต่างและความเหมือนกัน ในที่สุดสังคมก็จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายที่ดีต่อกันได้ในที่สุด" นางตุแวคอลิเยาะห์กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net