Skip to main content
sharethis


วิสุทธิ์   มโนวงค์


 


องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น"วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก" เพื่อรำลึกถึงนักต่อสู้หญิงชาวโดมินิแกน 3 คน ซึ่งถูกลอบสังหารอย่างทารุณโดยผู้นำเผด็จการ เมื่อปี พ.ศ. 2503


 


สำหรับประเทศไทย มีการรณรงค์เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2538 โดยมูลนิธิเพื่อนหญิง องค์กรสตรีต่างๆองค์กรแรงงาน นักวิชาการและนักศึกษา ได้มีการนำเสนอมาตรการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก กับรัฐบาล สาธารณชนและสังคม เพื่อให้เกิดความตระหนักว่าความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของผู้หญิงคนใดคนหนึ่งแต่เป็นปัญหาของสังคมที่ต้องร่วมกันแก้ไข


 


อย่างไรก็ตาม ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยมีสูงขึ้น จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขปี 2549 พบว่าผู้บาดเจ็บจากการถูกทำร้ายร่างกายกว่า 2 แสนคน เสียชีวิตกว่า 3,000 คน ร้อยละ 60 อยู่วัยหนุ่มสาว กว่าครึ่งเมาเหล้า ชายมากกว่าหญิง 7 เท่าตัว และพบเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ถูกทำร้ายปีละ 5-7 คน


 


ปัญหาความรุนแรงมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย และการหาทางออกจากความเครียดของชีวิตด้วยดื่มสุราก็เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง ซึ่ง ผลการวิจัยเรื่อง "ผลกระทบของสุราในฐานะปัจจัยร่วมการเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว" จัดทำโดยมูลนิธิเพื่อนหญิง ร่วมกับ รศ.บุญเสริม หุตะแพทย์  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และเครือข่ายผู้หญิงต่างๆ พบว่า ผู้ชายกลุ่มตัวอย่างหนึ่งยอมรับว่า เมื่อดื่มเหล้าแล้วมีอารมณ์รุนแรงติดตามมา จนยับยั้งความโกรธได้ลำบาก และมักลงมือทำร้ายคนใกล้ตัวมากที่สุดคือภรรยาหรือลูกๆ รวมถึงพูดจาด่าทออันเป็นการกระทำรุนแรงทางวาจาด้วย 


 


ส่วนผู้หญิงที่ถูกทำร้ายจากสามีหรือคนในครอบครัวเพราะเมาสุรานั้น พบว่าได้รับผลกระทบต่อสุขภาพทางกายและสุขภาพจิตมากที่สุด หลายคนตกอยู่ในอาการหวาดผวาทุกครั้งที่สามียกแก้วเหล้าขึ้นดื่ม และเกือบทั้งหมดของกลุ่มตัวอย่างผู้ได้รับผลกระทบตอบว่า ไม่กล้าต่อสู้กลับ และไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง แม้กระทั่งไปพบแพทย์ เพราะอับอายและคิดว่าเป็นเรื่องที่คนเป็นภรรยาต้องยอมทนและรองรับอารมณ์ของสามีให้ได้ในฐานะภรรยาที่ดี


 


ที่สำคัญ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมาจากค่านิยมสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ก่อให้เกิดความเชื่อที่ว่าผู้ชายเป็นผู้นำของครอบครัว สามีเป็นเจ้าของภรรยามีสิทธิดุด่าทำร้ายทุบตี หรือบังคับให้หลับนอนด้วยได้ ประกอบกับทัศนคติค่านิยมที่มองว่าเรื่องภายในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว


 


ดังนั้น การเกิดความรุนแรงล้วนมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการดื่มเหล้า กระบวนการทำงานเพื่อป้องกันมิให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมของชุมชนและแรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน


 


และการตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว มูลนิธิเพื่อนหญิง ร่วมกับ ชมรมเพื่อนเพื่อเพื่อน และสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ได้ทำกิจกรรมรณรงค์ลด ละเลิกเหล้า ยุติความรุนแรงของชุมชน - คนงานขึ้นเนื่องจากในพื้นที่ชุมชนบ้านศรีบุญยืน ต.เหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นชุมชนที่มีแรงงานที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก


 


จากการศึกษาพบว่า คนงานจำนวนไม่น้อยมีการดื่มเหล้าสูง เกิดปัญหาและความรุนแรงในพื้นที่มาก เช่น การทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ  อีกทั้งมีพฤติกรรมเสี่ยงในการเปลี่ยนคู่นอน นำมาสู่การเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดความรุนแรงในครอบครัว


 


จากสภาพปัญหาดังกล่าว หากไม่มีการรณรงค์และแก้ไขการดื่มสุราของคนงานจะทำให้เกิดความเคยชินกับปัญหา และก่อให้ความรุนแรงจากการดื่มเหล้าขยายออกไปเป็นวงกว้าง และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญ ทำให้คนงานไม่ได้คิดค้นหาทางออกปัญหาของคนงานเองในด้านต่างๆ เช่น ปัญหาสภาพการจ้าง ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านสุขภาพ ฯลฯ ที่เกิดจากนโยบายรัฐและกระบวนการเอาเปรียบคนงานของระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์  


 


ดังนั้น การหยุดดื่มสุราจะช่วยทำให้คนงานมีเวลาในการสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม


 







 


วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2550 ตั้งแต่เวลา 16.00 . - 20.00 .  ณ บริเวณลานหน้าวัด ศรีบุญยืน ต.เหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน ได้มีกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก และเวทีเสวนาหัวข้อ" เราจะ เสริมสร้างความอบอุ่น ลดความรุนแรง อย่างไร  ?"


 


 


 


 


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net