โสภณ พรโชคชัย : อย่าเพิ่งเชื่อเรื่อง "โลกร้อน"


ดร.โสภณ พรโชคชัย

ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

 

            ใครได้ ใครเสียประโยชน์จากการรณรงค์เรื่อง "โลกร้อน" ประเด็นนี้สะท้อนถึงการใช้อิทธิพลของการโฆษณาชวนเชื่อในการทำให้ประชาชนมืดบอดหรือไม่ และถือเป็น "เครื่องมือทำมาหากิน" สำหรับใครบางคนหรือไม่

            ผมได้ยินเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนมานานพอสมควร และเชื่อว่าทุกคนก็คงได้ฟังและชักเกิดความห่วงใยต่อโลกในประเด็นนี้เช่นกัน แต่เมื่อนายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลโนเบลจากการรณรงค์เรื่องโลกร้อน ผมกลับเริ่มสงสัยว่าการเคลื่อนไหวในประเด็นร้อนแรงนี้ส่งผลถึงขนาดให้ท่านได้รับรางวัลนี้เลยหรือ ผมเชื่อว่าทุกวันนี้ผู้คนมักเชื่อไปในแนวทางเดียวกันโดยไม่มีโอกาสได้ฟังเหตุผลในทางตรงกันข้าม ผมจึงขอเสนอข้อมูลในอีกแง่หนึ่งบ้างเผื่อจะได้ไม่ถูกครอบงำโดยการโฆษณาชวนเชื่อและข้อมูลด้านเดียว

คำถามต่อ An Inconvenient Truth
            ท่านที่อ่านหรือชมภาพยนต์เรื่อง An Inconvenient Truth (AIT) "คงรู้สึกตรงกันอย่างหนึ่งว่า อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน . . . คงจะไม่เป็นการเกินเลยไปนัก หากจะเรียกขบวนการดังกล่าวว่าเป็นภารกิจกู้โลก เพราะวิกฤตการณ์เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนนั้นเกิดขึ้นแล้วจริงๆ และกำลังส่งผลกระทบอย่างกว้างไกลเกินจินตนาการ" วลีที่อ้างถึงนี้สะท้อน "อารมณ์" ได้ดีมาก ทำให้ผมนึกถึงภารกิจ "กู้ชาติ" ของกลุ่ม "พันธมิตร" เมื่อปี 2549 อย่างไรก็ตาม AIT มีจุดอ่อนด้านข้อมูลมากมาย ซึ่งสังคมมักไม่มีโอกาสรับรู้ เช่น:

            1. การมองด้านเดียว: AIT ไม่เคยมองถึงบทบาทที่จำเป็นของน้ำมัน ก๊าซและถ่านหิน (Hydrocarbon) ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจน ช่วยเพิ่มอายุขัยของประชากร ฯลฯ AIT ละเลยอัตราการตายที่สูงขึ้นในยามที่โลกเย็นลงในอดีตที่ผ่านมา

            2. ความเข้าใจผิด: สาเหตุหลักของการตายของมนุษย์ปัจจุบันไม่ใช่เป็นเพราะภัยธรรมชาติ คล้ายกับการตื่นกลัวไข้หวัดนกจนเกินเหตุทั้งที่โรคปอดบวมทำคนไทยตายมากมาย โดยในปี 2550 ไม่มีคนป่วยและตายด้วยไข้หวัดนกในประเทศไทยเลย แต่คนไทยป่วยด้วยโรคปอดบวมจนต้องนอนโรงพยาบาลถึง 88,841 ราย และตาย 765 รายในปี 2549 นอกจากนี้ AIT ยังอ้างทำนองว่านักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นพ้องกับตน แต่ความจริงเสียงส่วนใหญ่เห็นตรงข้ามกับ AIT

            3. การพูด "ใส่ไข่" จับเอาปรากฏการณ์ครั้งคราวมาเป็นสรณะ: การอ้างว่าหมีขั้วโลกจมน้ำตายเพราะน้ำแข็งละลายทั้งที่เป็นเพราะพายุ การกล่าวถึงฝนตกหนักถึง 37 นิ้วในนครมุมไบในปี 2548 ทั้งที่ตลอด 45 ปี ไม่พบแนวโน้มการเพิ่มขึ้นเลย การโยงเรื่องโลกร้อนกับอุทกภัยในจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทั้งที่ใน 1-2 ศตวรรษก่อนมีอุทกภัยที่รุนแรงยิ่งกว่านี้มากมาย การโทษว่าโลกร้อนทำให้ทะเลสาบชาด (Chad) แห้งหายไปหรือทำให้แนวปะการังเสียหายทั้งที่เป็นเพราะปัจจัยทางเฉพาะภูมิภาค ปัจจัยทางสังคมและอื่น ๆ การกล่าวว่าธารน้ำแข็งเกาะกรีนแลนด์จะเลื่อนลงสู่ทะเลทั้งที่ตั้งอยู่ในแอ่งที่ไม่มีทางออก

            4. การพูดผิดความจริง เช่น การอ้างว่าโลกร้อนในอดีตเป็นเพียงระยะสั้น ทั้งที่มีระยะเวลานับร้อยปีในอดีตที่เคยร้อนกว่าปัจจุบัน จนทำให้ครั้งหนึ่งชาวไวกิ้งสามารถไปตั้งถิ่นฐานในเกาะกรีนแลนด์ที่หนาวเย็นในขณะนี้ได้ การอ้างว่าโลกร้อนขึ้นมากทั้งที่เพิ่มเพียง 0.17 องศาเซลเซียสในรอบ 30 ปีล่าสุด และร้อนขึ้น 0.5 องศาเซลเซียสในรอบ 100 ปี และที่ผ่านมาก็มีลักษณะขึ้น ๆ ลง ๆ การอ้างว่าคลื่นร้อนยุโรปที่ทำให้คนตายมากมายเป็นผลจากโลกร้อนทั้งที่เป็นเพราะสาเหตุอื่น

            ในประเทศอังกฤษ มีการฟ้องศาลให้ห้ามฉาย AIT ในโรงเรียนมัธยม ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า AIT มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ผิดไปถึง 9 ประการ แต่ให้ฉายได้โดยต้องเพิ่มเติมข้อมูลที่ถูกต้อง และให้ครูที่จัดฉายต้องชี้ให้นักเรียนเข้าใจถึงข้อผิดพลาดของ AIT ด้วย นอกจากนี้ AIT ยังทำการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง ตัวอย่างความผิดพลาดสำคัญ ได้แก่ การกล่าวว่าหิมะบนยอดเขาคิลิมันจาโรซึ่งสูงถึง 6 กิโลเมตร ละลายเพราะภาวะโลกร้อน แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นแย้ง สาเหตุการละลายคงเป็นเพราะแสงอาทิตย์ การใช้ที่ดินโดยรอบตลอดจนความร้อนใต้พิภพ เพราะหากแม้ผิวโลกจะร้อนขึ้น อุณหภูมิบนยอดเขาก็ยังต่ำกว่าจุดเยือกแข็งอยู่ดี

ข้อมูลในอีกแง่มุมหนึ่ง
            กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ 19,000 คนได้ร่วมกันลงชื่อใน The Petition Project ว่าจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าการใช้ Hydrocarbon เพิ่มขึ้นทำให้เกิดภาวะโลกร้อนหรือภาวะเรือนกระจกแต่อย่างใด แม้โลกได้ร้อนขึ้นเล็กน้อย ก็ไม่ได้มีผลเสียหายร้ายแรง (อาจมีไวรัสบางชนิดเกิดขึ้น แต่ในช่วงโลกเย็นก็อาจเกิดโรคอื่น) แต่กลับเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกในเขตอบอุ่น การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเป็นผลดีต่อชีวิตสัตว์และทำให้การเพาะปลูกพืชผลได้มากขึ้น นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้จึงหนุนให้สหรัฐอเมริกาไม่ลงนามในพิธีสารเกียวโต ซึ่งได้กำหนดข้อผูกพันทางกฎหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศภาคี

            บทวิพากษ์ของ The Petition Project ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า

            1. การกลับหนาว-ร้อนของโลกมีลักษณะที่เป็นวัฏจักร ไม่ใช่มีแต่ร้อนขึ้นอย่างเดียว

            2. ธารน้ำแข็งละลายเร็วมานับร้อยปีแล้วก่อนที่จะมีการใช้ Hydrocarbon เสียอีกและละลายเร็วในอัตราเดียวกันมาตลอด 150 ปีแล้ว

            3. อากาศที่ร้อนขึ้นเกิดจากสาเหตุหลายอย่าง ภาวะเรือนกระจกอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีสาเหตุอื่นอีกมาก เช่น แสงแดด เมฆ ความชื้น การเปลี่ยนแปลงของผิวน้ำในมหาสมุทร ความร้อนใต้พิภพ ฯลฯ อย่างเช่นในประเทศไทยของเรา ที่ผมสังเกตเห็นว่าภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป นั่นก็เป็นเพราะปรากฏการณ์เอลนีโญ ลานีญา และเอ็นโซ ตามกระแสน้ำอุ่น แต่กลับมีการทึกทักเอาว่าเป็นเพราะภาวะโลกร้อน

            4. พายุทอร์นาโดในสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มลดลง ส่วนพายุเฮอริเคนจากมหาสมุทรแอตแลนติก ก็ไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยกเว้นอาจเห็นใหญ่เป็นพิเศษเช่นพายุ Katrina ในปี 2548 เช่นเดียวกับกรณีประเทศไทย พบว่าพายุหมุนเขตร้อนมีปริมาณลดลงตลอดในช่วงปี 2494-2549   การถือเอาปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิด (ซ้ำ) ขึ้นมาในระยะนี้ มาทึกทักเป็นตุเป็นตะกับภาวะโลกร้อนซึ่งอาจเป็นวัฏจักรนับพันปี จึงเป็นสิ่งที่ควรทบทวนเป็นอย่างยิ่ง

            5. ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 7 นิ้วในรอบศตวรรษและเพิ่มมาก่อนยุคที่ใช้ Hydrocarbon และผมขอเพิ่มเติมว่า ที่อ่าวไทยพบว่าระดับน้ำทะเลกลับลดลงนับแต่ปี 2483 ที่สำรวจ ส่วนที่เห็นน้ำท่วมโบสถ์วัดขุนสมุทร นั้น คงเป็นเพราะการทรุดตัวของดินจากผลของการสูบน้ำบาดาลเกินขนาด การพังทลายของตลิ่งและอื่น ๆ ซึ่งเป็นมาโดยตลอดมากกว่าเพราะภาวะโลกร้อนแต่อย่างใด

            6. ป่าไม้ในสหรัฐอเมริกาได้รับการปลูกเพิ่มขึ้น 40% ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการปลูกป่าก็อาจไม่ได้ช่วยแก้ไขโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญนัก แต่ที่บ้านเรา "เห่อ" กันจนเป็นแฟชั่น

อย่าเป็น "กระต่ายตื่นตูม"
            มีอยู่ภาพหนึ่งในภาพยนต์เรื่องนี้ เป็นภาพทะเลสาบ Aral Sea ในคาซัคสถาน ซึ่งแต่เดิมมีขนาดใหญ่มาก แต่กลับแห้งไป มีเรือจอดอยู่บนพื้นคล้ายทะเลทราย ภาพดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้ห่วงใยโลกเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นภาพแห่งการบิดเบือน เพราะการเหือดหายไปของทะเลสาบนี้ เป็นผลมาจากการสูบน้ำและเป็นที่คาดหมายมานานแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนแม้แต่น้อย

 

 

ที่มาภาพประกอบ

http://unimaps.com/aral-sea/aral-pic.gif

 

ถ้าวันนี้เกิดการระเบิดของภูเขาไฟ ระดับเดียวกับภูเขาไฟกรากะตัว ในอินโดนีเซียเมื่อปี 2426 เราคงลืมเรื่องโรคร้อนเป็นแน่ และนึกว่าโลกต้องแตกแน่แล้ว เพราะ "แรงระเบิดนั้นคร่าชีวิตทุกคนที่ยังอยู่บนเกาะ พื้นที่ร้อยละ 65.52 ของเกาะกลายเป็นเถ้าธุลี (รวมทั้งแก๊สมากมาย) ลอยสูงขึ้นไปถึง 80 กิโลเมตร ในรัศมี 240 กิโลเมตร เถ้าธุลีบดบังแสงอาทิตย์จนมืดมิดคล้ายตอนกลางคืน . . . อยู่ห่างจากกรากะตัวถึง 4,776 กิโลเมตรก็ได้ยิน (เสียงระเบิด) . . . เกิดคลื่นสึนามิ สูงกว่า 30 เมตร เดินทางไปถล่มเกาะหลายแห่ง แรงแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตรวจจับได้แม้แต่ที่สหราชอาณาจักร รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ประมาณ 36,000 คน (อากาศยังเย็นลง 1.2 องศาทั่วโลกเป็นเวลาถึง 5 ปี)" ดังนั้นเราจึงไม่ควรเป็น "กระต่ายตื่นตูม" กับปรากฏการณ์ชั่วคราวจนเกิดปริวิตกเกินเหตุ

 

แล้วไง สะท้อนอะไร!
            โลกร้อนขึ้นย่อมไม่มีข้อสงสัย แต่จะปักใจเชื่อว่าเกิดจาก Hydrocarbon โดยไม่ฟังข้อมูลรอบด้าน ย่อมแสดงถึงการขาดความรอบรู้และเป็นการคิดอย่างไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เราควรมีมีเวทีการถกเถียงเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนในวงกว้าง เป็นการส่งเสริมสังคมอุดมปัญญา มีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่สังคมที่สักแต่เชื่อกันด้วยศรัทธาอย่างมืดบอดอันถือเป็นอันตรายต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความรู้ของประชาชนในระยะยาว

            วิชามารในการหลอกล่อนั้นมักทำใน 3 ด้าน ได้แก่ การล่อด้วยความกลัว ถึงผลร้ายของการเกิดโลกร้อนจนเกินจริง การล่อด้วยความน่ารัก น่าสงสารของคน สัตว์และสิ่งของเพื่อให้คล้อยตาม และสุดท้ายที่ถือเป็น "หมัดเด็ด" ในการปิดปากผู้ใฝ่รู้ความจริงก็คือการป้ายสีพวกเขาว่าเป็นผู้ไม่หวังดีต่อโลก เราจึงควรมีการวินิจฉัยด้วยตนเองให้ชัดเจนตามหลักธรรมกาลมสูตร ก่อนที่จะเชื่ออะไรง่าย ๆ

            นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่อาศัยความไม่รู้ของประชาชน มาหลอกให้คนตื่นกลัวเรื่องโลกร้อน แสดงถึงการขาดจรรยาบรรณของการศึกษาวิจัยเป็นอย่างยิ่ง บุคคลเหล่านี้เห็นชาวบ้านเป็นดั่งวัวควายที่อธิบายกันดีๆ ไม่ได้ ผู้ที่กล้าพูดความจริงบางส่วนเพื่อให้ตนได้รับความเชื่อถือนับเป็นผู้ที่น่ากลัว อย่างบ้านของนายอัล กอร์เองก็ใช้ไฟฟ้ามากกว่าคนอเมริกันทั่วไปถึง 20 เท่า ใช้เงินค่าไฟฟ้าและแก๊สรวมกันปีละเกินกว่า 1 ล้านบาท

            ใครบ้างที่ได้ดีจากการพูดเรื่องโลกร้อน คนทำดีพูดดีเรื่องโลกร้อนก็อาจได้รับรางวัลใหญ่น้อย เผลอ ๆ อาจสั่งสมบารมีจนได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาอันทรงเกียรติ อาจกล่าวได้ว่าการรณรงค์ที่ใช้เวลา 10-30 ปีที่อาจไร้ผลนั้น อย่างน้อยก็ส่งผลดีต่อผู้รณรงค์เอง เช่น ทำให้บางคนมีอาชีพเป็นนักอนุรักษ์ นักประท้วง นักแบกป้ายเพื่อ "กู้โลก" หาเลี้ยงชีพไปได้ชั่วชีวิต เป็นต้น

            การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ยังอาจถือเป็นการเบี่ยงประเด็นสาระสำคัญของปัญหาในโลกนี้ อันได้แก่ โรคภัยไข้เจ็บที่เผชิญอยู่ทุกวัน การกดขี่เอารัดเอาเปรียบต่อผู้ด้อยโอกาส สงครามและการก่อการร้าย อำนาจเผด็จการที่ปิดกั้นเสรีภาพประชาธิปไตย ตลอดจนการปล้นสดมภ์ของประเทศมหาอำนาจต่อประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้น

            การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ยังถือเป็นการบิดเบือนความจริง เช่น การส่งเสริมแฟชั่นการปลูกป่า (ซึ่งถือเป็นรูปแบบการทำดีที่นำสมัยและมีระดับ ไม่ใช่พื้น ๆ แบบการบริจาคให้มูลนิธิการกุศล) แต่เชื่อว่าปีหนึ่ง ๆ ป่าไม้ในไทยถูกทำลายไปมากกว่าป่าที่ปลูกเสียอีก และป่าที่ปลูกอย่างลูบหน้าปะจมูกนี้ก็คงตายไปมากกว่าจะงอกงามขึ้นได้ บาปของแฟชั่นการปลูกป่านี้ก็คือการช่วยบิดเบือน ปกปิดไม่ให้อาชญากรรมทำลายป่า ได้รับการตระหนักโดยสังคมส่วนรวม บางทีเราเองเงินรณรงค์เรื่องโลกร้อนไปช่วยคนทุกข์ยากยังอาจได้ประโยชน์มากกว่า

 

            โปรดสังวรไว้ว่าบางที "นักบุญ" ที่พูดกับท่านถึงภาวะโลกร้อนนั้น แท้จริงอาจเป็น "ซาตาน" ผู้ก่ออาชญากรรมด้วยการกล้าบิดเบือนหรือพูดความจริงเพียงบางส่วนเพื่อตักตวงประโยชน์ทางการเมือง ฉกฉวยความดีหรือหาประโยชน์เฉพาะตน คนที่กล้า "แหกตา" พวกเราถึงขนาดนี้ น่าจะเป็นบุคคลอันตรายจริง ๆ เราควรส่งเสริมให้มีการระดมความคิด ถกเถียงค้นคว้าอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มีสติค่อย ๆ คิด และต่อต้านการงมงายอย่างมืดบอดในทุกรูปแบบ ประเทศชาติจึงจะเจริญด้วยสังคมอุดมปัญญาที่แท้จริง

 

…………………………………..

ที่มา:

ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็นกรรมการที่ปรึกษาหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย และกรรมการสภาที่ปรึกษา Appraisal Foundation ซึ่งก่อตั้งโดยสภาคองเกรสเพื่อการควบคุมการประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา Email: sopon@thaiappraisal.org

มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaiappraisal.org

ข่าว "'อัล กอร์'-ไอพีซีซี โนเบลสันติภาพ" ไทยรัฐ 13 .. 50 http://www.thairath.com/offline.php?section=hotnews&content=64404

เว็บไซต์เกี่ยวกับภาพยนต์นี้ดูได้ที่ http://www.climatecrisis.net และ http://www.an-inconvenient-truth.com (แฟนคลับ)

     เพชร มโนปวิตร บทความ "รายงานโลกใบใหญ่ / สิ่งแวดล้อม : An Inconvenient Truth กับภารกิจกู้โลก" ในนิตยสารสารคดี พฤศจิกายน 2549: http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=633

โปรดอ่านบทวิพากษ์ภาพยนต์เรื่อง An Inconvenient Truth ได้ที่ Marlo Lewis  "A Skeptic's Guide to An Inconvenient Truth": http://www.cei.org/pages/ait_response-book.cfm และ Mary Ellen Tiffany Gilder "Diagnosing Al Gore: Truth in the Balance" http://sitewave.net/news/MaryEllenGilder.htm

ฝ่ายวิเคราะห์และประมวลข่าวสาร สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข 11 ตุลาคม 2550: "ในปี พ.. 2549 . . . ผู้ป่วยโรคปอดบวมที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลอีก 88,841 ราย/ ตาย 765 ราย ซึ่งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นต้นเหตุ สำหรับในปี พ.. 2550 จนถึงสัปดาห์ที่ 39 . . . มีรายงานผู้ป่วย. . . โรคปอดบวมที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลอีก 60,188 ราย ตาย 619 ราย . . . อย่างไรก็ตามจากการสำรวจของกรมควบคุมโรคในปี 2550 นี้ยังไม่พบผู้ป่วยจากโรคไข้หวัดนก หรือผู้เสียชีวิต" ที่ http://www.moph.go.th/show_hotnew.php?idHot_new=9516

โปรดอ่านข่าว "Gore climate film's nine 'errors'" BBC News, October 11, 2007: http://news.bbc.co.uk/1/hi/education/7037671.stm

โปรดดูรายละเอียดของโครงการนี้ได้ที่ Petition Project http://www.oism.org/pproject/s33p1845.htm

    พิธีสารเกียวโต Kyoto ดูรายละเอียดภาค ภาษาอังกฤษฉบับเต็มได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Kyoto_Protocol หรือภาคภาษาไทยได้ที่ http://www.jgsee.kmutt.ac.th/greenhouse/unfccc/unfccc.php#unfccc

    ปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญา โปรดศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=17

    ดูรายละเอียดพายุ Katrina ถล่มนครนิวออลีนส์ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Hurricane_Katrina

    ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ www.tmd.go.th/programs/uploads/cyclones/track-56y.pdf

    ข่าว "อัล กอร์ มั่ว น้ำทะเลอ่าวไทยลดลงทุกปี" ไทยรัฐ 17 ตุลาคม 2550 http://www.thairath.com/news.php?section=society03&content=64807 และข่าว "อย่าตระหนก โลกร้อนไม่ทำให้กรุงเทพจมบาดาล" http://www.tei.or.th/hotnews/071116-globalwarming1-manager.htm

    โปรดดูภาพและคำอธิบายเกี่ยวกับการกัดเซาะของทะเล (แต่ไม่ใช่เพราะน้ำทะเลเพิ่มสูงขี้นตามข้ออ้างของผู้ที่เชื่อว่าเพราะโลกร้อน) ได้ที่เว็บไซต์วัดขุนสมุทร สมุทรปราการ http://www.khunsamut.com

    ผลการศึกษาของ Lawrence Livermore National Laboratory เรื่อง "Plant a tree and save the Earth?" ที่ http://www.llnl.gov/pao/news/news_releases/2006/NR-06-12-02.html และเรื่อง "Models show growing more forests in temperate regions could contribute to global warming" ที่ http://www.llnl.gov/pao/news/news_releases/2005/NR-05-12-04.html

    อ่านรายละเอียด Aral Sea ได้ที่ http://unimaps.com/aral-sea/print.html

    อ่านรายละเอียดภูเขาไฟกรากะตัวได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7

    กาลามสูตร 10 คือ อย่าปลงใจเชื่อ 1.ด้วยการฟังตามกันมา 2.ด้วยการถือสืบ ๆ กันมา 3.ด้วยการเล่าลือ 4.ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ 5.ด้วยตรรก 6.ด้วยการอนุมาน 7.ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล 8.เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน 9.เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ และ 10.เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา เราจะเชื่อก็ต่อเมื่อพิจารณาเห็นด้วยปัญญา (ที่มาคือ http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/002684.htm)

    ข่าว "เมื่อกระแสโลกร้อนย้อนมาเล่นงานอัล กอร์" สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ 7-15 มีนาคม 2550 โปรดอ่านข่าวภาษาอังกฤษที่ http://www.guardian.co.uk/international/story/0,,2022869,00.html (The Guardian) และ http://www.usatoday.com/news/washington/2007-02-27-gore-house_x.htm (USA Today)

 

หมายเหตุ: โปรดอ่านเพิ่มเติมในกระทู้ "กระทู้รวมพล คนที่ "ไม่เชื่อ" ว่ามนุษย์ทำให้โลกร้อน" และประจักษ์หลักฐานรวมทั้งความเห็นเพิ่มเติมอื่น ๆ ที่มีต่อกระทู้นี้ http://www.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X5912617/X5912617.html

 

..................................

หมายเหตุจากประชาไท ผู้เขียนขอแก้ไขข้อมูลเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 50

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท