Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภัควดี วีระภาสพงษ์ รายงาน


 


 


การลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของเวเนซุเอลาที่จะจัดขึ้นในวันที่ 2 เดือนธันวาคมนี้ กลายเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงและการแสดงพลัง ทั้งจากฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ เปลือกนอกของความขัดแย้งวนเวียนอยู่รอบประเด็นการแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ลึกลงไปและเป็นสิ่งที่สื่อกระแสหลักมักไม่กล่าวถึง ยังมีอีกหลายประเด็นที่เป็นความขัดแย้งทางชนชั้นด้วย


 


 


นาฏกรรมราโชมอนในความตายของนักศึกษา


สื่อกระแสหลักในโลกตะวันตกไม่เคยชอบประธานาธิบดีอูโก ชาเวซอยู่แล้ว ยิ่งคราวนี้มีการตายของนักศึกษาเกิดขึ้นด้วย หนังสือพิมพ์อเมริกันเกือบทุกฉบับ (ยกเว้น วอชิงตันโพสต์) จึงโหมประโคมในทำนองว่า การประท้วงอย่างสันติของนักศึกษาที่ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน กลับกลายเป็นการนองเลือดเพราะมีมือปืนใส่หน้ากากฝ่ายชาวิซตา (ฝ่ายสนับสนุนชาเวซ) ขี่มอเตอร์ไซค์เข้าไปยิงโจมตีฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในเขตมหาวิทยาลัยเวเนซุเอลา จนนำไปสู่การบาดเจ็บของนักศึกษาหลายคนและมีคนหนึ่งเสียชีวิต ข้อกล่าวหานี้มีหลักฐานยืนยันเป็นภาพถ่าย


 


แต่หนังสือพิมพ์ไม่ได้รายงานเรื่องเล่าอีกฟากฝ่ายหนึ่ง แม้นักศึกษาประท้วงอย่างสันตินอกเขตมหาวิทยาลัยก็จริง แต่เมื่อพวกเขากลับเข้าไปในมหาวิทยาลัย เหตุการณ์ก็ซับซ้อนขึ้นมาทันที จากปากคำของฝ่ายชาวิซตา พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์และภาพวิดีโอเทปที่สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นแห่งหนึ่งบันทึกไว้ นักศึกษาฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไล่ต้อนและใช้แก๊สน้ำตาโจมตีนักศึกษาชาวิซตากลุ่มหนึ่งที่ถือป้ายสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนฝ่ายหลังหนีไปหลบอยู่ในคณะสังคมสงเคราะห์ ซึ่งมีนักศึกษาที่สนับสนุนชาเวซอีกกลุ่มหนึ่งกำลังประชุมกันอยู่ ฝ่ายต่อต้านเข้าล้อมตึก ยิงปืน ขว้างก้อนหินและระเบิดขวดเข้าไปข้างใน รวมทั้งจุดไฟเผาทางเข้าออกอาคารด้วย ฝ่ายสนับสนุนชาเวซอ้างว่า กลุ่มคนขี่มอเตอร์ไซค์ที่สื่อตะวันตกกล่าวหาว่าเป็นมือปืน แท้ที่จริงแล้วเข้ามาช่วยเพื่อนที่ติดอยู่ในอาคารจากฝ่ายต่อต้านที่ล้อมอยู่ข้างนอกต่างหาก พวกเขาให้เหตุผลว่า ที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะตามกฎหมายของเวเนซุเอลา กองทัพหรือตำรวจไม่ได้รับอนุญาตให้ล่วงล้ำเข้ามาในเขตมหาวิทยาลัย (ขอกฎหมายแบบนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับหน้าบ้างนะคะ)


 


ความเป็นจริงคืออะไร? คงไม่มีใครตอบได้ เพราะตอนนี้ความเป็นกลางปลาสนาการไปแล้วจากเวเนซุเอลา การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้นำไปสู่ความแตกแยกในเวเนซุเอลาอีกครั้ง ยิ่งกว่านั้นยังเกิดความแตกแยกภายในรัฐบาลชาเวซเองด้วย อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของชาเวซออกมาเรียกร้องเป็นนัยๆ ให้กองทัพเข้าแทรกแซง ซึ่งหมายถึงการรัฐประหารนั่นเอง กลุ่มฝ่ายขวาที่มีสหรัฐฯ หนุนหลังกำลังเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ความกลัวว่าจะเกิดรัฐประหาร อันจะนำไปสู่การนองเลือดของประชาชนที่สนับสนุนชาเวซอย่างแน่นอน ทำให้ฝ่ายซ้ายในตะวันตกที่เกาะติดสถานการณ์ในเวเนซุเอลา เขียนเข้าข้างฝ่ายสนับสนุนชาเวซเต็มที่ แม้กระทั่งศาสตราจารย์เจมส์ เพทราสที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ชาเวซอย่างเผ็ดร้อน ก็ยังเขียนบทความเข้าข้างชาเวซอย่างผิดสังเกต (โปรดดู James Petras, "Venezuela: Between Ballots and Bullets," venezuelanalysis.com; November 15, 2007.)


 


 


เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด


อดีตรัฐมนตรีกลาโหมคนข้างต้นคือ ราอูล บาดูเอล หนึ่งใน 4 นายทหารร่วมน้ำสาบานกับอูโก ชาเวซ ซึ่งช่วยกันก่อตั้งกลุ่ม MBR-200 ในปี ค.ศ. 1982 สมัยที่ทั้งสี่ยังเป็นแค่นายทหารในกองทัพ บาดูเอลเป็นวีรบุรุษในการล้มรัฐประหารของฝ่ายขวาได้สำเร็จเมื่อปี ค.ศ. 2002 (รายละเอียดโปรดดูใน ฟ้าเดียวกัน: ปีที่ 3 เล่มที่ 3) การกลับลำของเขาครั้งนี้เป็นที่คาดหมายมาบ้างก่อนหน้านี้แล้ว


 


บาดูเอลประกาศต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยประณามว่าเป็น "การรัฐประหารด้วยรัฐธรรมนูญ" ซึ่งเป็นคำกล่าวหาที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลปีกขวาใช้โจมตีชาเวซเช่นกัน ระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ซึ่งมีแต่สื่อมวลชนสายต่อต้านชาเวซได้รับเชิญเท่านั้น บาดูเอลอ้างว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น "การยึดอำนาจจากประชาชน" เขาเรียกร้องให้โหวต "โน" ในการลงประชามติ และเรียกร้องให้กองทัพ "พิเคราะห์ดูให้ลึกซึ้ง" ถึงข้อเสนอที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้างของกองทัพ บาดูเอลบอกว่า "ต้องหยุดยั้งการแก้ไขครั้งนี้" และรัฐบาลไม่ควรดูเบาต่อ "ความสามารถของนายทหารเวเนซุเอลาในการคิดวิเคราะห์"


 


มีการคาดการณ์ไปต่างๆ นานาเกี่ยวกับนัยยะในถ้อยแถลงของบาดูเอล เพียงสองชั่วโมงถัดมา นายพลอดีตรัฐมนตรีกลาโหมอีกคนหนึ่งและพลเรือเอกในกองทัพเวเนซุเอลาก็ออกมาให้สัมภาษณ์ไม่เห็นด้วยกับบาดูเอล รองประธานาธิบดีฮอร์เก โรดิเกซตอบโต้ว่า คำพูดของบาดูเอลไม่มีผลกระทบเลยแม้แต่น้อยต่อกองทัพ ประธานาธิบดีชาเวซประณามบาดูเอลเป็น "คนทรยศ" และกล่าวหาว่าเขาเป็นแค่ "เบี้ยตัวหนึ่งในเกม [ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล]"


 


ประธานาธิบดีชาเวซยังกล่าวต่อไปด้วยว่า การที่บาดูเอลย้ายข้าง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในบริบทของการต่อสู้เพื่อหยั่งรากสังคมนิยม "ไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อใดที่เรือดำน้ำดำลึกลงไป แรงกดดันย่อมมีมากขึ้น และต้องมีลูกเรือบางคนหลุดลอยไปบ้าง จุดอ่อนต้องทิ้งเรือไป และผมเชื่อว่าพวกเขาไปเสียได้ก็ดีแล้ว" เขายังพูดแสดงความเชื่อมั่นในกองทัพ แต่ก็บอกด้วยว่า จะต้องมีการเรียกประชุมผู้บังคับบัญชาระดับสูง


 


แต่ก็มีชาวิซตาบางคนออกมาพูดตรงๆ ถึงผลสะเทือนครั้งนี้ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติสายชาวิซตา ลูอิซ ทัสคอนกล่าวว่า การย้ายข้างของบาดูเอลแสดงให้เห็นถึง "ความแตกแยกภายในของฝ่ายชาเวซ" โดยเฉพาะราอูล บาดูเอลเป็นที่เคารพนับถืออย่างกว้างขวางในหมู่ชาวิซตา ทัสคอนเตือนว่า แทนที่จะมัวโจมตีบาดูเอล สิ่งที่สำคัญกว่าคือควรเปิดการวิวาทะทางการเมืองกันให้ชัดเจน และต้องยอมรับว่าอาจมีความแตกแยกเกิดขึ้นอีกในหมู่ชาวิซตา


 


ความเคลื่อนไหวของบาดูเอลสอดรับกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มอิทธิพลฝ่ายขวาและกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจ พรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค ซึ่งก่อนหน้านี้เรียกร้องให้คว่ำบาตรการลงประชามติ หันมาเรียกร้องให้โหวต "โน" แทน นอกจากนั้น พรรค Podemos พรรคการเมืองสายสังคมนิยมประชาธิปไตยที่เคยอยู่ในค่ายชาวิซตา ก็หันมาจับมือกับฝ่ายค้านด้วย ทั้งนี้เพราะไม่พอใจมาตรการแบบสังคมนิยมถึงรากถึงโคนที่เสนออยู่ในบทแก้ไขรัฐธรรมนูญ


 


หมากของบาดูเอลอาจไม่ใช่การกระตุ้นให้กองทัพออกมารัฐประหารจริงๆ นักวิเคราะห์ทั้งสายสนับสนุนและต่อต้านชาเวซต่างเห็นพ้องต้องกันว่า นี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้เพราะฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติในกองทัพเป็นคนกลุ่มน้อย อีกทั้งกองทัพก็ถูก "ชำระ" จนเปลี่ยนโฉมหน้าไปตั้งแต่การรัฐประหารที่ล้มเหลวใน ค.ศ. 2002 กระนั้นก็ตาม เมื่อการปฏิวัติโบลิวาร์หยั่งรากลึกลง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความแตกแยกภายในกองทัพโดยได้รับผลสะท้อนจากความแตกแยกในสังคม อีกทั้งสหรัฐอเมริกาและฝ่ายขวาในเวเนซุเอลากำลังดิ้นรนหาทางตอกลิ่มในกองทัพให้มากขึ้น


 


เป็นไปได้ที่ราอูล บาดูเอลคือตัวเลือกใหม่และตัวเลือกชั้นดีของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล การได้เขามาเป็นผู้นำฝ่ายต่อต้านจะช่วยขยายฐานประชาชนและดึงชาวิซตาบางส่วนมาได้ บาดูเอลประกาศว่าเขายังยึดมั่นใน "แนวทางโบลิวาร์" เพียงแต่ปฏิเสธส่วนที่ถึงรากถึงโคนเกินไป ทำให้เขาดูเหมือนเป็นคู่แข่งที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับประธานาธิบดีอูโก ชาเวซได้ในระดับหนึ่ง


 


 


มีอะไรใหม่ในข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ?


หัวใจสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อยู่ที่การกระจายอำนาจและเพิ่มอำนาจให้ละแวกบ้านท้องถิ่นกับสภาชุมชนมีบทบาทในการตัดสินใจและจัดสรรงบประมาณมากขึ้น สภาและสถาบันชุมชนจะเข้ามามีอำนาจในการจัดสรรเงินแทนเทศบาลและผู้ว่าการรัฐ โดยเน้นระบบประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) เพื่อเข้ามาแทนที่ระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน


 


แต่ส่วนที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือ การแก้ไขให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้ไม่จำกัดสมัยหากเขายังได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน รวมทั้งยืดวาระของตำแหน่งประธานาธิบดีจาก 6 ปีไปเป็น 7 ปี ในเรื่องนี้ศาสตราจารย์เจมส์ เพทราสอ้างว่า นายกรัฐมนตรีเฮาเวิร์ดของออสเตรเลียก็ดำรงตำแหน่งมา 5 สมัยแล้ว มาร์กาเร็ต แธตเชอร์และโทนี แบลร์ก็ได้รับเลือกตั้งหลายสมัย ฯลฯ นี่ไม่ใช่ประเด็น "รวบอำนาจ" อย่างที่ฝ่ายต่อต้านชาเวซอ้าง ตราบที่การเลือกตั้งดำเนินไปอย่างเสรี และมีการคานอำนาจกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ผู้มีตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งทุกคน รวมทั้งประธานาธิบดี สามารถถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ก่อนครบวาระ หากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งจำนวน 20% จากผู้มีสิทธิ์ทั้งหมดลงนามในคำฎีกาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่


 


มีข้อเสนอแก้ไขกฎหมายให้ฝ่ายบริหารสามารถประกาศภาวะฉุกเฉินและเข้าไปแทรกแซงสื่อมวลชนได้ในกรณีที่มีความพยายามล้มล้างสถาบันประชาธิปไตย


 


ประเด็นต่อมาคือการลดอายุของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งจาก 18 เป็น 16 ปี เป็นการเพิ่มจำนวนผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งและทำให้เยาวชนมีเสียงทางการเมืองมากขึ้น


 


รับรองสิทธิของชาวรักร่วมเพศ ซึ่งนับว่าเป็นประเทศแรกในอเมริกาใต้ที่จะรับรองเรื่องนี้ (ประเทศส่วนใหญ่ในละตินอเมริกาค่อนข้างเคร่งศาสนาและหัวโบราณในเรื่องเพศ) รวมทั้งคุ้มครองสิทธิและวัฒนธรรมของชาวเวเนซุเอลาเชื้อสายแอฟริกัน


 


มีข้อเสนอให้ลดเวลาทำงานต่อวันลงเหลือ 6 ชั่วโมง นี่เป็นประเด็นที่ฝ่ายต่อต้าน ซึ่งนำโดยสมาคมธุรกิจ FEDECAMARAS ต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ได้รับการสนับสนุนท่วมท้นจากสหภาพแรงงานและคนงานทุกภาคส่วน การลดเวลาทำงานก็เพื่อให้คนงานมีเวลามากขึ้นสำหรับครอบครัว การศึกษา การอบรมทางการเมือง การฝึกอาชีพ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในสภาชุมชน


 


แรงงานนอกระบบจะได้รับเบี้ยเลี้ยงชีพ เงินทุนหลังเกษียณ ค่าจ้างในวันหยุดและลาพักหลังคลอดบุตรได้


 


มีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายแรงงานและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เพิ่มบทบาทของกรรมสิทธิ์การถือครองแบบรวมหมู่ ส่งเสริมอำนาจต่อรองของแรงงาน และขยายระบอบประชาธิปไตยในสถานประกอบการให้มากขึ้น


 


ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศจะได้รับการคุ้มครองจากการแปรรูป


 


ประการสุดท้ายคือ ข้อเสนอให้ยกเลิกระบบแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารชาติ โดยเปลี่ยนเป็นเจ้าหน้าที่ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องตอบรับเสียงเรียกร้องของผู้ลงคะแนนเสียงในการตัดสินใจเกี่ยวกับงบประมาณสาธารณะและนโยบายทางการเงิน ผลพวงที่จะตามมาประการหนึ่งคือ การนำเงินสำรองของประเทศมาใช้ในการโครงการทางสังคมมากขึ้น กระจายสกุลเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารชาติถือไว้ให้หลากหลายมากขึ้น ลดการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศและการสร้างหนี้ที่ไม่มีเหตุผล ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมองว่า นี่คือการทำลายความเป็นอิสระของธนาคารชาติ แต่อีกฝ่ายก็โต้แย้งว่า ปรกติธนาคารชาติก็ไม่เคยเป็นอิสระและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนายธนาคาร นักลงทุนต่างชาติและสถาบันการเงินระหว่างประเทศเสมอมา


 


การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน มีการเปิดวิวาทะเกี่ยวกับข้อเสนอทั้งหมดอย่างกว้างขวางในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคมที่ผ่านมา มีการประชุมระหว่างสมาชิกสมัชชาแห่งชาติและประชาชนถึง 9,000 ครั้ง รวมทั้งมีการหารือกับกลุ่มแรงงาน ผู้หญิง นักศึกษาและกลุ่มสังคมอื่นๆ ด้วย


 


วันที่ 2 ธันวาคมนี้ หีบบัตรลงประชามติจะกลายเป็นสังเวียนการต่อสู้ระหว่างชนชั้นสูงและชนชั้นล่างของเวเนซุเอลาอีกครั้ง ดังที่ศาสตราจารย์เพทราสกล่าวไว้ หวังว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะมีบัตรลงคะแนนเป็นอาวุธ ไม่ใช่ลูกกระสุนปืน


 


 


 


เรียบเรียงจาก


JoJo Farrell, "U.S. Media Bias and Recent Student Violence in Venezuela," ZNet (http://www.zmag.org/weluser.htm) ; November 15, 2007.


 


Federico Fuentes, "Venezuela: Reform Battle Continues As Chavez Ally Splits,"


 


Green Left Weekly (http://www.greenleft.org.au/); November 17, 2007.

Lauren Carroll Harris, "Media lies about Venezuela"s democratic revolution," International News, Green Left Weekly issue #732; 21 November 2007.


James Petras, "Venezuela: Between Ballots and Bullets," venezuelanalysis.com; November 15, 2007.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net