Skip to main content
sharethis

วานนี้ (24พย.) ที่โรงแรมโรสการ์เด้นท์สวนสามพราน อ.สามพราน จ.นครปฐม พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมสัมมนาเพื่อพิจารณากำหนดเร่งด่วนการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ของกระทรวงกลาโหม ว่า เป็นการประชุมสัมมนาจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทย ที่จะให้สอดคล้องกับภัยคุกคามในอนาคต


 


เมื่อถามว่า แต่ละเหล่าทัพมีการนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับความต้องการอาวุธมาบ้างหรือไม่ พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า เราตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาก่อนหน้านี้แล้ว และวันนี้จะมีการนำมาเสนอให้ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงในที่ประชุม ไม่ว่าจะเป็น ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.เหล่าทัพ เพื่อให้ได้พิจารณาร่วมกันอีกครั้งหนึ่งว่าสิ่งที่ทางอนุกรรมการเตรียมเสนอนั้นจะตกลงใจกันอย่างไร


 


เมื่อถามว่า เหล่าทัพไหนมีความจำเป็นที่สุด พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า ต้องรอฟังในที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในที่ประชุมจะพูดถึงภัยคุกคามงบประมาณ และความเร่งด่วน ทั้งนี่จะให้ ผบ.เหล่าทัพนำข้อเสนอของอนุกรรมการไปพิจารณา และพรุ่งนี้ (25 พ.ย.)


 


ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า เหล่าทัพไหนมีความขาดแคลนมากที่สุด พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกันพบว่ากองทัพเรือมีความขาดแคลนมากที่สุด ซึ่งตอนนี้กองทัพเรืออยากได้เรือดำน้ำ แต่ทั้งนี้จะต้องมาประชุมร่วมกันทุกเหล่าทัพว่าตกลงเหล่าทัพไหนมีวามจำเป็นมากกว่ากัน โดยทุกเหล่าทัพจะต้องมีความเห็นร่วมกัน ไม่ใช่เหล่าทัพใดเหล่าทัพหนึ่งเท่านั้น


 


ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อเสนอเหล่านี้จะเตรียมไว้เพื่อให้พรรคการเมืองหาเสียงอยู่หรือพรรคการเมืองที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาลนำไปพิจารณาหรือไม่ พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า เป็นการเตรียมการ และให้รัฐบาลชุดต่อไปเป็นผู้พิจารณาดำเนินการต่อไปเหมือนกับพิมพ์เขียวเอาไว้ว่าในอนาคตจะมีภัยคุกคามอย่างนี้ แล้วเราก็เตรียมที่จะหายุทโธปกรณ์เพื่อที่จะมีความสอดคล้องกับภัยคุกคามเหล่านั้น ซึ่งเราจะต้องมองย้อนไปในอดีตที่ผ่านมา เพราะ 10 ป ที่ผ่านมา กองทัพได้รับงบประมาณน้อย และมีความขาดแคลนอย่างไร ปัจจุบันพูดได้ว่า ถ้าเป็นคนป่วยก็สามารถลุกขึ้นยืนแล้ว แต่ยังไม่สามารถเดิน หรือ วิ่งได้ เพราะฉะนั้นเรามาเตรียมการว่าจะทำอย่างไรที่จะได้อาวุธที่สามารถนำมาใช้เผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ ได้


 


เมื่อถามว่า มีความเป็นกังวลหรือไม่ว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะไม่เห็นความสำคัญการซื้ออาวุธ เท่ากับรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มาจากการปฏิวัติ พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า คิดว่าผู้ที่จะมาทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็น รมว.กลาโหม ก็จะต้องคิดแบบเดียวกันตน ต้องมาดูว่ากองทัพเป็นอย่างไร มีความล้าสมัยหรือไม่ มีภัยคุกคามอย่างไรในอนาคต มีผลประโยชน์ของชาติที่จะต้องไปคุ้มครองที่ไหนอย่างไร เขาต้องคิดแบบเดียวกัน คือเราคิดไว้ก่อน และในส่วนของงบประมาณจะได้มากน้อยแค่ไหนมันถึงจะเอามาพิจารณากันอีกที เป็นการจัดความสำคัญเร่งด่วนเอาไว้ ทั้ง 3 กองทัพ ซึ่งครั้งนี้เป็นการคิดแบบรวมการเราจะเห็นว่ากองทัพไทยที่ยังไม่พร้อมกว่าเพื่อนเราก็พยายามที่จะปรับปรุงกองทัพให้ได้ระดับเดียวกับกองทัพอื่น


 


ส่วนการจัดซื้อจะเป็นระบบแพ็คเกจเหมือนรัฐบาลชุดที่แล้วหรือไม่ พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า คล้ายกัน แต่คราวนี้ อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงว่า กองทัพจะได้งบประมาณมากน้อยแค่ไหน แต่เราจะเรียงลำดับไว้แล้วว่า ความเร่งด่วนในอันดับ 1-2-3 มีอะไร เพราะฉะนั้นใครที่มาเป็นลำดับที่ 1 ก็ให้ผ่านไปก่อน คงเป็นไปในลักษณะนั้น เสร็จแล้วจะต้องมีการทบทวนตลอด คือทุกปีจะต้องมีการทบทวนไปเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าหากเราคิดตอนนี้เราสามารถมองภาพไปอีก 5-10 ปีข้างหน้า


 


เมื่อถามย้ำ ในฐานะที่ดูแลด้านความมั่นคงคิดว่าเหล่าทัพไหนมีความจำเป็นในการจัดซื้อเร่งด่วน พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า ทุกเหล่าทัพมีความสำคัญเหมือนกัน แต่ละเหล่าทัพจะต้องดูตัวเองว่ามีความพร้อมแค่ไหน ยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในปัจจุบันมีเสื่อมสภาพสมควรเปลี่ยนหรือไม่อย่างไรและสอดคล้องกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เราให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ทางกองทัพบกจะต้องมาดูว่าอาวุธที่ใช้งานขาดเหลืออะไรบ้าง ส่วนกองทัพเรือ และ กองทัพอากาศก็เช่นเดียวกัน ทั้งนี้บางส่วนก็มีการวางแผนจะจัดหาอยู่แล้ว แต่บางส่วนยังไม่ได้มีการวางแผนเราจะต้องมาคุยกันว่า ได้แค่นี้ไปพอหรือยัง


 


พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า การจัดซื้อจะต้องมีเหตุมีผลไม่ใช่มาบอกกันเฉยๆ ไม่มีอะไร ซึ่งในที่ประชุมจะมีการบรรยายสรุปไปถึงภัยคุกคามในอนาคตว่ามีประเด็นอะไรบ้าง จากนั้น จะมาดูกำลังพลยุทโธปกรณ์ที่จะไปเผชิญกับภัยคุกคราม และการจะได้มากน้อยขึ้นอยู่กับงบประมาณ โดยเราเพียงแต่ร่างไว้ก่อน ถ้าเราได้งบประมาณแค่ไหน ก็จัดไปตามนั้น


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า การจัดซื้อรถหุ้มเกราะยูเครน มีความคืบหน้าไปถึงไหน พล.อ.บุญรอดกล่าวว่า กองทัพบกกำลังชี้แจงถึงข้อที่ สตง.ติดใจอยู่ เพราะฉนั้นทางกลาโหมต้องรอความกระจ่างในเรื่องนี้ว่าทางสตง.ยังติดใจหรือไม่ หากว่าไม่มีข้อติดใจทางกระทรวงกลาโหมก็สามารถลงนามอนุมัติการจัดซื้อได้ หากติดใจอยู่ก็ต้องชลอไว้ก่อน


 


ส่วนเรื่องการจัดซื้อเครื่องบนไอพ่นกรินเฟ่น นั้น รมว.กลาโหม กล่าวว่า ขณะนี้ทางกองทัพอากาศกำลังเจรจาในเรื่องรายละเอียดรวมถึงการต่อรอง เมื่อได้ครบแล้วถึงจะทำขึ้นมาใหม่อีกที


 


เมื่อถามว่า มีความกังวลหรือไม่ว่าการประชุมครั้งนี้ในส่วนของการเมืองจะนำไปโจมตี รมว.กลาโหม กล่าวว่า เราทำด้วยความเปิดเผย แต่ถ้าทำอย่างมีเงื่อนไขมีวาระซ่อนเร้นเราคงไม่มาประชุมแบบเปิดเผยอย่างนี้ ตนยืนยันว่า เราไม่มีวาระซ่อนเร้น เรื่องการเมืองตอนนี้มันจบไปแล้ว วันนี้เรามาพูดถึงความมั่นคงของกองทัพเท่านั้น


 


ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคการเมืองอาจมองว่าการประชุมครั้งนี้เพื่อสกัดพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง พล.อ.บุญรอด กล่าวว่า เราได้พูดไปตลอดเวลาว่าเราทำอะไรโดยเปิดเผยและบริสุทธิ์ใจ เราไม่ได้กลัวอะไร ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวถามได้ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการประชุม เราเปิดเผยทุกขั้นตอน ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า มองการจับขั้วของพรรคการเมือง 3 พรรค อย่างไร พล.อ.บุญรอดกล่าวว่า ไม่ขอตอบเรื่องนี้


 


 


เรือดำน้ำเป็นอาวุธทางยุทธศาตร์ ...


กองทัพเรือเห็นว่าจำเป็นต้องมีเพื่อรักษาความมั่นคงด้านนี้


แต่ถ้าใครไม่ให้การสนับสนุนจะต้องรับผิดชอบ


หากถึงเวลานั้นเกิดอะไรขึ้นมาจะมาบอกว่ากองทัพเรือไม่พร้อม


หรือกองทัพเรือทำไม่ได้ ถือว่าไม่ถูกต้อง


เพราะฉะนั้นคนที่ปฏิเสธหรือคนไม่เห็นด้วยต้องรับผิดชอบ


 


 


ด้าน พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผบ.ทร. ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า กองทัพเรือเราอยากได้เรือดำน้ำถือเป็นความฝันของกองทัพเรือ ซึ่งไม่ใช่เรือดำน้ำของกองทัพเรือ แต่เป็นเรือดำน้ำของประเทศไทย เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่ทุกเหล่าทัพให้การสนับสนุนเรื่องเรือดำน้ำ แต่ปัญหาอยู่ที่งบประมาณเพราะราคาค่อนข้างสูง

เมื่อถามว่า การทำโครงการในรัฐบาลนี้ แต่รัฐบาลหน้าอาจจะไม่อนุมัติ ผบ.ทร.กล่าวว่า เรือดำน้ำเป็นอาวุธทางยุทธศาตร์ ในเวลาปกติถือเป็นอาวุธป้องปรามไม่ให้ใครเข้ามารุกรานหรือรบกวนยุทธศาสตร์ของเรา โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจและทรัพยากรในทะเล กองทัพเรือเห็นว่าจำเป็นต้องมีเพื่อรักษาความมั่นคงด้านนี้ แต่ถ้าใครไม่ให้การสนับสนุนจะต้องรับผิดชอบ หากถึงเวลานั้นเกิดอะไรขึ้นมาจะมาบอกว่ากองทัพเรือไม่พร้อม หรือกองทัพเรือทำไม่ได้ ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นคนที่ปฏิเสธหรือคนไม่เห็นด้วยต้องรับผิดชอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่าภัยคุกคามข้างหน้าต้องใช้เรือดำน้ำใช่หรือไม่ ผบ.ทร. กล่าวว่า ขณะนี้ในภูมิภาคมีเรือดำน้ำกันหมด เรือดำน้ำทำงานใต้น้ำการต่อสู้กับเรือดำน้ำต้องใช้เรือดำน้ำเท่านั้น เครื่องบินทำอะไรเรือดำน้ำไม่ได้ เรือผิวน้ำก็ปราบเรือดำน้ำได้แต่อยู่ในขีดความสามารถที่จำกัด เพราะเรือดำน้ำอยู่ใต้น้ำไม่เห็นตัว ใครที่มีเรือดำน้ำย่อมได้เปรียบในการรุกรานหรือทำอะไร นอกจากนี้เรือดำน้ำใช้เวลาสร้าง 6 ปี จะมาบอกว่ารอให้ถึงเวลานั้นแล้วค่อยไปหาซื้อเรือดำน้ำมาใช้ก็ไม่ทัน ขณะนี้ยืนยันว่าเรามีจุดอ่อนเรื่องสงครามใต้น้ำ เราต้องจำเป็นต้องพัฒนาจุดนี้


ด้าน ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งไปบรรยายให้ผู้นำเหล่าทัพฟัง ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ได้สรุปเรื่องความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆของโลกให้ที่ประชุมฟังหลายเรื่อง

แต่สถานการที่น่าจะเป็นภัยคุกคามภายในประเทศของเรา ในช่วงเฉพาะหน้า 2-3 ปีนี้ น่าจะมีอยู่ 3 ปัญหาหลัก คือวิกฤติอันเกิดจากสถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้งที่จะมีความผกผันอย่างมากจนท้าทายทหารในการเข้าไปแทรกแซงทางการเมืองอีกครั้ง นอกจากนั้น ก็เป็นปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัญหาเศรษฐกิจถดถอย จากนี้สถานการณ์อันเนื่องมาจากการเมืองจะรุมเร้ามากขึ้น ซึ่งกองทัพจะต้องบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ให้นำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้ง โดยอาจจะมีการจำลองสถานการณ์ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร แล้วใช้วิธีการใดในการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้มีทหารเข้าแทรกแซงอีก เพราะหากมีการทำอีก ประชาชนก็คงยากที่จะรับได้

ดร.ปณิธาน ยังเชื่อว่า พรรคพลังประชาชน ยังมีคะแนนนิยมดีอยู่ และนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ก็มีแววที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นกลุ่มผู้เสียประโยชน์จะเคลื่อนไหว สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องท้าทายผู้นำเหล่าทัพที่จะต้องบริหารจัดการโดยไม่ให้ไปสู่จุดของการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงการเมืองเกิดขึ้นอีก


 


สำหรับการประชุมช่วงเช้า จะเป็นการพูดคุยในเรื่องยุทธศาสตร์ของกองทัพ และภัยคุกคาม รวมทั้งการหารือร่วมกันของผู้นำกองทัพ ช่วงบ่ายเป็นการหารือนอกรอบและมีงานเลี้ยงรับรองในช่วงเย็น จากนั้นผู้นำเหล่าทัพจะมาร่วมงานประเพณีลอยกระทง โดยในวันที่ 25 พ.ย.จะประชุมสรุปผลการหารือเพื่อตกลงใจร่วมกัน โดยใช้งบประมาณการประชุม 2 วันเป็นจำนวน 4 แสนบาท


 


สำหรับคณะกรรมการกำหนดความเร่งด่วนการจัดหายุทโธปกรณ์กระทวงกลาโหม เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถและความพร้อมรบของกองทัพ ประกอบด้วย พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.พล.ร.อ.สถิรพันธ์ เกยานนนท์ ผบ.ทร. พล.อ.อ.ชลิต พุกพาสุข ผบ.ทอ. พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ผอ.สำนักงบประมาณ กระทรวงกลาโหม ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่พิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถและความพร้อมรบของกองทัพให้สอดคล้องกับยุทธ์ศาสตร์การป้องกันประเทศ รวมถึงพิจารณากำไหนดความเร่งด่วนการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพ


 


 


………………….


เรียบเรียงจาก : คมชัดลึก, แนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net