วิถีวิจัยครั้งที่ 3: ปฏิบัติการจริงของพี่น้องชาวบ้านในการสร้างสังคมเป็นสุข

วิทยากรจากซ้ายไปขวา พ่อหลวงจอนิ โอโดเชา นางบุญ พงษ์มา อ.ลักขณา พบร่มเย็น รศ.ดร.สุวิทย์ รุ่งวิสัย น.ส.วรวิมล ชัยรัต และ รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ผู้ดำเนินรายการ

 

วานนี้ (25.. 2550) ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีเวทีในวันวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 3: สู่สังคมร่มรื่นและเป็นสุข มีการอภิปรายหัวข้อ "สำนึกสิ่งแวดล้อมกับการสร้างความหมายใหม่ของชุมชน" โดย น.ส.วรวิมล ชัยรัต ตัวแทนจากชุมชนวัดเกต นายจอนิ โอโดเชา ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ อ.ลักขคณา พบร่มเย็น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นางบุญ พงษ์มา ตัวแทนจากกลุ่มแม่อาย และ รศ.ดร.สุวิทย์ รุ่งวิสัย มหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา ดำเนินการอภิปราย โดย รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

 

วิถีวัดเกต: แนวทางการพัฒนาเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขอย่างคนเมือง

น.ส.วรวิมล ชัยรัต ตัวแทนจากชุมชนวัดเกตกล่าวว่า พวกเราชาวบ้านตกลงกันว่า "ของใหม่ก็เอา ของเก่าก็บ่ละ" หมายถึง การอยู่ร่วมกันของชาวบ้านวัดเกต จะรักษาของเก่าและมีวิถีชีวิต บอกเล่าวัฒนธรรมอันดีงาม สิ่งเหล่านี้สร้างความเป็นสุขให้แก่เมืองเชียงใหม่ สำหรับย่านวัดเกตประกอบด้วยคนต่างชาติ ต่างศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ ซิกข์ เราอยู่ร่วมกันได้ โดยความช่วยเหลือของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หลายคน ชุมชนจึงมีคิดเก็บรักษาของเก่าในชุมชน เช่น รูปปูนปั้นแบบจีน และสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นในวัด มีการอนุรักษ์วัดเกต ซึ่งพวกเราถือว่าพระธาตุที่วัดเกตุถือเป็นศูนย์กลางรวมจิตใจ

 

น.ส.วรวิมล ยังกล่าวถึงสถาปัตยกรรมทางศาสนาที่หลากหลายที่พบในชุมชนวัดเกต นอกจากวัดเกตแล้วยังมีโบสถ์เก่าของเชียงใหม่คริสเตียน และสมาคมศรีคุรุสิงห์สภาของชาวซิกข์ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ชุมชนยังมี แผ่นพับบอกเล่าเรื่องตำนานวัดเกต รวบรวมเรื่องราวเก่าๆ ในย่านวัดเกตว่า มีการทำหนังสือคู่มือนำเที่ยววัดเกต การทำป้ายบ้านอู้ได้ (บ้านพูดได้) การศึกษาวัฒนธรรม เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และฟื้นประเพณีตักบาตรเทโวฯ ฟื้นบรรยากาศเก่าๆ ให้เห็นว่าเชียงใหม่ มีเสน่ห์ เป็นเครือญาติ ในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

 

นอกจากนั้น น.ส.วรวิมล กล่าวถึง ปัญหาของวัดเกตเรื่องการวางผังเมือง ที่ล่าสุดถูกกำหนดให้เป็นเขตสีแดงในเขตผังเมืองใหม่ และมีการเตรียมวางโครงการขยายถนนด้วย โดยชาวบ้านวัดเกตทราบจาก ดร.ดวงจันทร์ เจริญเมืองว่าเขตสีแดง คือ พื้นที่ย่านชุมชนหนาแน่น และจะถูกเวนคืนเพื่อขยายขอบถนน เหมือนกับกรมโยธาธิการ ได้ปิดตาของเราเอาไว้ไม่ให้เรารู้ แสดงว่าไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตั้งแต่ต้นของกระบวนการเรื่องการวางผังเมือง ไม่มีการให้ข้อมูลต่อสาธารณะ พอเราไปขอข้อมูล ก็ไม่ให้เรา และการสำรวจข้อมูลเขตแดงไม่รอบด้าน ละเลยผลประโยชน์ของประชาชน และสิ่งที่กรมโยธาธิการ ทำไม่ใช่เพียงแค่ย่านวัดเกต แต่ทำกับทั้งเชียงใหม่

 

น.ส.วรวิมล นำเสนอทางออกว่า ต้องยกเลิกเขตแดง และเลิกโครงการขยายถนนย่านถนนวัดเกต และฟ้าฮ่าม อันจะก่อให้เกิดกระบวนภาวะโลกร้อนมหาศาล เพราะถนนคือตัวก่อให้เกิดพื้นผิวร้อน และชาวบ้าน ข้ามถนนยาก จะเกือบโดนรถชน ซึ่งเรื่องที่เราอยากได้ คือ เราอยากมีส่วนร่วมการวางผังเมืองเชียงใหม่โดยมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับชาวบ้านถึงระดับประเทศ สิ่งที่เขาทำตอนนี้มันยัดเยียดให้เรา แต่ดูเหมือนว่ามันยังเลื่อนลอย สิ่งที่เขาทำมันขัดแย้งกับเรา ซึ่งเราขอทำบนพื้นฐานของสิทธิพลเมือง สิทธิชุมชน ในการอยู่อาศัยกับสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สุดท้าย เราขอแนะนำให้เมืองมีพื้นที่รับรองภัยพิบัติและพื้นที่สีเขียว น.ส. วรวิมล กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้

 

ศาสนาและความแตกต่างทางชาติพันธุ์ในเชียงใหม่

รศ.ดร.สุวิทย์ รุ่งวิสัย กล่าวว่า ผมสนใจศึกษาศาสนาและความแตกต่างทางชาติพันธุ์ในชุมชนเชียงใหม่วิธีที่ รศ.ดร.สุวิทย์ ใช้ศึกษา ได้แก่การเชิงสำรวจแบบสอบถาม โดยสำรวจที่ย่านวัดเกต เพราะเป็นแหล่งที่มีผู้นับถือศาสนาหลากหลายมาก เช่นมีผู้นับถือศาสนาอิสลามในย่านนี้ด้วย และเพื่อศึกษาปัจจัยที่ทำให้ศาสนิกในชุมชนวัดเกตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพื่อใช้สำหรับแก้ไขปัญหาภาคใต้

 

สำหรับการศึกษานี้ ได้สุ่มตัวอย่าง 360 รายนั้น พบว่าในวัดเกตมีผู้นับถือทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ซิกข์ และศาสนาฮินดู โดยศึกษาประเด็นความเชื่อทางศาสนา ก้ปรากฏว่า ทุกศาสนาสอนให้ทุกคนมีความรัก เมตตาต่อกัน ดังนั้น ความเชื่อทางศาสนา คนแต่ละศาสนาจะไม่ขัดแย้งกัน เพราะมีความรัก ความผูกพันกัน จากการสั่งสอนทางศาสนา สำหรับท่าทีของชาวพุทธกับการแต่งงาน ต่างศาสนากันแต่งงานได้ แต่ชาวมุสลิมนั้นแต่งงานกันได้ถ้ามาเข้าศาสนาอิสลามของเขาเป็นต้น

 

รศ.ดร.สุวิทย์ กล่าวถึง ความรักที่ไม่มีพรมแดนทางศาสนา ทั้งชาวพุทธ คริสต์ อิสลาม ในชุมชนวัดเกตต่างเข้าร่วมกิจกรรมของศาสนาอื่น กลุ่มตัวอย่างแต่ละคนต่างเคยเข้าร่วมของศาสนาอื่นเกือบทั้งหมด มีการช่วยเหลือกัน แล้วก็สอบถามถึงปัญหาว่า ทำไมไม่เกิดความขัดแย้งของชุมชนในเชียงใหม่ ทั้งที่มีความแตกต่างกันทางศาสนา ก็พบว่าพวกเขาไม่ว่าศาสนาไหนเวลาติดต่อกับราชการ ก็ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ

 

รศ. ดร. สุวิทย์ กล่าวถึง การมีส่วนร่วมของชุมชนวัดเกตว่า โดยภาพรวมแล้วย่านวัดเกตไม่ได้มองเรื่องศาสนาที่แตกต่างกัน แต่มองว่าคนในชุมชนมีความผูกพันกัน ด้วยความร่วมมือแบบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ศาสนาไม่ใช่ตัวทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่ศาสนาทำให้มีการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยนึกถึงความเป็นชุมชนด้วย

 

ทั้งนี้ รศ. ดร. สุวิทย์  กล่าวว่า ย่านวัดเกตมีความผูกพันกับชุมชน ในส่วนข้อเสนอเชิงนโยบาย เห็นว่า สมควรที่ชุมชนอื่นจะได้นำตัวอย่างจากชุมชนวัดเกตไปประยุกต์ใช้

 

ในส่วนของปัญหาทางภาคใต้  รศ.ดร.สุวิทย์ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่าทางภาคเหนือและทางสามจังหวัดภาคใต้มีลักษณะเหมือนกัน นอกจากเรื่องศาสนาแล้วก็มีปัญหาของสถานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันและมีปัญหาความยากจนสูง ดังนั้น รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาของความยากจนไปด้วย ในท้ายที่สุดบางครั้งข้าราชการก็มองว่าคนต่างศาสนาเป็นวัฒนธรรมแปลกแยก การมองแบบนี้จึงกลายเป็นปัญหาไป ซึ่งผมขอเสนองานวิจัยนี้เอาไว้เป็นตัวอย่างแก้ไขปัญหาภาคใต้ นี่คือตัวอย่างที่ดีของเชียงใหม่ที่ว่า เราอยู่ร่วมกันได้ดีด้วยความสมานฉันท์ได้ รศ. ดร. สุวิทย์ กล่าวสรุป

 

บทพิสูจน์ชาวเขาอยู่กับป่า

นายจอนิ โอโดเชา กล่าวว่า แต่เดิมสังคมเป็นสุข ตอนนี้มันกลับมีปัญหาสถานการณ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคนไทยกล่าวหาพวกเราว่า "ชาวเขาทำลายป่า" คือไม่รู้จะโทษใครก็โทษชาวเขา จริงๆ แล้วชาวเขา เขาทำไร่หมุนเวียน เลยถูกตราหน้าว่าทำไร่เลื่อนลอย เราไปบอกเขา เขาก็ไม่ยอมเชื่อ เราพยายามเข้าไปคุยกับกรมป่าไม้ ไปดูแผนที่กันว่า ที่ไหนมีชาวเขา ที่นั่นยังมีป่าอยู่ อย่าไปโทษชาวเขา

 

ชาวเขาอยู่กับความเชื่อเรื่องป่า ต้องเข้าใจเรื่องวัฒนธรรม จิตวิญญาณ ถ้าสังคมอยากจะคืนดีกับเชียงใหม่ หรือคืนดีกับโลก แล้วอยู่อย่างเป็นสุข ต้องคืนดีกับป่า และต้องความเข้าใจ ความเชื่อ ความเป็นอยู่ ดิน น้ำ ป่า วัฒนธรรม วิถีชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร เข้าใจว่าพันธุ์พืชที่ดี อย่างไร เช่น ไปเรียนรู้กับอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) และคนเมือง ก็เรียนรู้กับชาวป่า ชาวเขา ตอนนี้ พรบ.ป่าชุมชน ออกมาก็ปรากฏว่าออกกฎหมายมาแล้วคนอยู่กับป่าไม่ได้ ซึ่งไม่ยุติธรรม

 

เราต้องเผชิญโลกร้อน ซึ่งเราแก้ไม่ได้ ก็เผชิญกันต่อไป แล้วชาวเขา ก็ยังโดนว่า พวกชาวเขาเผาป่า ชาวเขาเป็นคนทำอีก ซึ่งโทษผิดวิธี ถ้าจะโทษถูกวิธีต้องโทษทุกคน แต่ว่ามันต้องคืนดีกับใจคน ที่ประเทศไม่ทะเลาะกันรุนแรง เพราะมีข้าวกิน

 

นายจอนิ อธิบายแผนที่ บอกเล่าจำนวนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ใช้สอยของป่า ต่างๆ และความเชื่อของปกากะญอ ที่มีการดูแลดิน น้ำ และดูแลผืนดิน

 

นายจอนิ กล่าวว่า เรื่องทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า เรื่องที่ดิน แต่ละเผ่าอาจมีความเชื่อไม่เหมือนกัน แต่เรื่องศาสนาเราจะไม่ทะเลากัน จะทะเลาะกันเรื่องผลประโยชน์ "แล้วปัญหาว่าจะกระจายการศึกษา กระจายอำนาจ กระจายผลประโยชน์ กระจายเงินเดือน ยกตัวอย่างอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) มีเงินเดือน และผมไม่มีเงินเดือนสักบาท ผมก็เดือดร้อน แล้วเราจะกระจายผลประโยชน์อย่างไร" นายจอนิ กล่าวทิ้งท้ายไว้

 

แม่อายสะอื้น กรณีถูกถอนสัญชาติ

อ.ลักขคณา พบร่มเย็น กล่าวถึงกรณีสัญชาติที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าชาวเขาใช้ชีวิตกลมกลืนอยู่กับป่า ในสมัยก่อนเดินทางขึ้นเขาลำบากในการมาแจ้งเกิดตามกฎหมาย ก็ทำให้เกิดปัญหาต่อมาว่า ชาวเขามักไม่ไปแจ้งเกิด แล้วเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ขึ้นไปสำรวจบนเขา เพราะการเดินทางลำบากใช้เวลาเกือบครึ่งวัน แล้วตรงนี้ก็เกิดปัญหาว่า ชาวเขาไม่ได้สัญชาติ ไม่มีการแสดงสถานะบุคคล และเกิดจากความล้มเหลวของภาครัฐ เรื่องลงทะเบียนการเกิด การตาย และความล้มเหลวของการแจ้งเกิด แจ้งตายดังกล่าว

 

โดยผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ได้ไปแจ้งเกิดให้กับพวกเขา ก็เลยเกิดปัญหาทางสถานะบุคคล ไม่มีรายชื่อในทะเบียนบ้าน กลายเป็นปัญหาเกิดขึ้นในภาพรวมของภาคเหนือ และมีการแก้ปัญหา แค่ทำบัตรสีให้กับพวกเขา ก็ไม่แสดงว่าเป็นสัญชาติไทย ซึ่งบัตรสี หมายความว่า คุณเข้ามาในประเทศ ตั้งแต่เมื่อไหร่เท่านั้นเอง ก็เลยเกิดปัญหาที่ อ.แม่อายเช่นกัน และเกิดทั่วไปในภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน

 

ทั้งนี้ อ.ลักขคณา กล่าวว่า ชาวเขาไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน และเราก็ไปตั้งคณะกรรมการ สำหรับแก้ไขปัญหานี้ ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ซึ่งบัญชีที่เสนอที่ผ่านมา ก็ผ่านผู้ใหญ่บ้าน อำเภอก็คัดเลือก มี 1,273 ราย และก็มีกรณีถูกจับ 2 คนเท่านั้น เกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด แต่เขาก็ดูกรณีเรื่องสัญชาติ แล้วกลายเป็นปัญหาต่อกลุ่มแม่อาย กลับโดนปัญหาถูกถอดสัญชาติจากทะเบียนราษฎร มาเป็นทะเบียนบ้านของต่างด้าวทั้งหมดเลย ผลก็คือ ถูกถอนสัญชาติไทย ทั้งหมดจากบัญชีทะเบียนราษฎร และเกิดผลกระทบกับกลุ่มแม่อาย ไม่ว่าจะเคย เป็นครู ตชด. (ครูตำรวจตระเวนชายแดน) ก็ต้องออกจากงาน และเคยได้ บัตร 30 บาท รักษาทุกโรคก็ไม่ได้อีก ซึ่งมีปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

 

โดยฟ้องศาลปกครอง อยู่หลายขั้นตอน ซึ่งชาวบ้านฟ้องกรมการปกครอง ปรากฏว่า ศาลปกครอง ก็บอกว่า เพิกถอน (ประกาศลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545) ของอำเภอแม่อายเรื่องการถอนชื่อราษฎรสัญชาติไทย เพราะคำสั่งของอำเภอแม่อายไม่ชอบด้วยกฎหมายและ ไม่ให้โอกาสผู้มีผลกระทบอย่างชาวบ้านแม่อาย ที่จะโต้แย้งได้ นี่คือคำสั่งในศาลปกครองชั้นต้น แต่ปรากฏว่า คำสั่งของศาล ที่ให้มีผลกระทบกับผู้ฟ้องคดีตั้ง 800 กว่าราย กลับปรากฏว่า กรมการปกครองได้อุทธรณ์คำสั่งนั้นเอง

 

อ.ลักขคณา กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุด มีสองขั้นตอน จะมีองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด คอยพิจารณา โดยฟังคำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดี แล้วในที่สุดองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด ก็จะเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งจะฟังหรือไม่ฟังความเห็นของตุลาการผู้แทนก็ได้ นี้เป็นการคานอำนาจศาล ปรากฏว่าในคดีนี้

 

ขณะที่คำพิพากษาศาลชั้นต้นชี้ว่า ผลของคำพิพากษา ก็มีผลต่อชาวบ้านที่ฟ้องคดีเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนเพียงแปดร้อยกว่าคน แม้เราจะทราบว่า คำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีไม่ได้มีผลผูกพันองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งมีหน้าที่พิพากษาคดีดังกล่าว แต่ความเสียใจ ปรากฏในชาวบ้านแม่อายจำนวนมากที่มาฟังการแถลงคดีในวันนั้น โดยกรณีนี้ทุกคนอาจจะ คิดว่าคดีจบ เพราะกรณีแม่อาย ศาลตัดสินว่าไม่ชอบด้วยกฏหมายแล้ว แต่ว่ามันไม่จบแค่นั่น

 

เนื่องจาก พอเริ่มคดีแม่อายแล้ว คนที่รู้ปัญหาดีที่สุด คือ ชาวบ้าน และชาวบ้านต้องทนฟังอย่างหนักมากกับการมาอบรมความรู้เกี่ยวกับคดี เพราะ ต้องมาฟังปัญหาทุกวัน ตอนแรก ชาวบ้านจะสนใจเพียงแต่ปัญหาของตัวเอง คือพอฟังเสร็จ แล้วก็กลับไป แต่ว่า "คุณบุญ" (ตัวแทนจากกลุ่มแม่อาย) ไม่ได้มองแค่ตัวเอง แต่พยายามติดตามว่า มีปัญหามากมาย หลังจากเกิดคดี ทำให้เรียนรู้คดีเพิ่มขึ้น อ.ลักขคณา กล่าวทิ้งท้ายไว้

 

ทั้งนี้ นางบุญ พงษ์มา ตัวแทนจากกลุ่มแม่อาย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับคดีแม่อายว่า ญาติพี่น้อง กลายเป็นคนไทยดั้งเดิม ที่ตกหล่น หลังคำพิพากษา ทำให้จิตใจของฉันเศร้า ทั้งที่เป็นคนไทยแท้ๆ แล้วฉันก็อยากจะกลับคืนเป็นคนไทย

 

ท้ายที่สุดในปัญหาของการเพิ่มความสุขให้แก่สังคมไทย ในเวที วันวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "สำนึกสิ่งแวดล้อมกับการสร้างความหมายใหม่ของชุมชน" ก็มีหลายแง่มุมให้ขบคิดกันต่อไป ที่จะต้องสนใจเกี่ยวกับการปฏิบัติจริงของชาวบ้านในสังคมไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท