Skip to main content
sharethis


สัมภาษณ์ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี


เลขาธิการพรรคพลังประชาชน


16 พฤศจิกายน 2550


----------------------------------


เรื่อง :  มุทิตา เชื้อชั่ง, คิม ไชยสุขประเสริฐ / ภาพ : คิม ไชยสุขประเสริฐ


 


 


 


 



ถ้าเรายังคิดแต่เรื่องจะแก้แค้นในขณะที่เราต้องทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ


เราจะไม่มีความสนใจอย่างเพียงพอที่จะไปแก้ปัญหาที่ประเทศชาติเผชิญอยู่ในทุกวันนี้



ไม่ควรมีอำนาจเบ็ดเสร็จในคนใดคนหนึ่ง


หากเราได้รับความไว้วางใจเป็นรัฐบาลในอนาคต


เราก็ไม่เห็นด้วยที่จะมาให้อำนาจอย่างนี้ แม้จะเป็นกับตัวเราเองก็ตาม



วันนี้ใครจะเสนอนโยบายที่ใช้เงินเสนอก็ได้ทั้งนั้น


แต่ถามว่าเงินมาจากไหนไม่มีใครพูดถึงเลย


ถ้าคุณเอามาจากภาษี


แล้วคุณมีนโยบายอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนมีรายได้พอเสียภาษี



หลายคนบอกว่า พรรคการเมืองเดิมไม่ใช่สถาบัน ก็อาจเป็นความจริงอยู่บ้าง


เพราะขณะที่ภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง กระบวนการตัดสินใจในลักษณะเป็นระบบพรรคไม่เกิด แต่ในปัจจุบันนี้ เราพยายามสร้างกระบวนการตัดสินใจของระบบพรรคมากขึ้น



จนกระทั่งเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา


พรรคการเมืองหนึ่งนำเสนอนโยบาย


ที่ประชาชนเห็นได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาอย่างแท้จริง และเห็นผลได้ชัดเจน


มันถึงเกิดความรู้สึกได้ว่า การเมืองเป็นเรื่องแก้ปัญหาชีวิตประจำวันให้กับเขาได้ การเมืองเป็นเรื่องกินได้


เราจะเห็นได้ว่า คะแนนนิยมของพรรคการเมืองนั้นมีสูง


ซึ่งบางฝ่ายยังเข้าใจผิดว่าเป็นการซื้อสิทธิ์ขายเสียง


มันเป็นความเข้าใจในกระบวนทัศน์แบบเดิม


และถ้าเขายังเข้าใจแบบนั้น


จนถึงวันนี้เขาก็ยังจะสู้ไม่ได้


เพราะกระบวนทัศน์ของประชาชนได้เปลี่ยนไปแล้ว



สังคมไทยต้องก้าวไปสู่สังคมข้อมูลข่าวสารอย่างแท้จริง


เรื่องอินเตอร์เน็ตต้องกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้ทุกคนได้เรียนรู้


เรามีโทรทัศน์ 6 ช่อง ใครกำหนดทิศทางของ 6 ช่องได้ ก็กำหนดการรับรู้ของสังคมได้


หากเรามีอินเตอร์เน็ตเป็นหมื่นเป็นแสนเว็บไซต์


คนที่อยากจะรับรู้ข้อเท็จจริงสามารถเข้าถึงได้และใช้วิจารณญาณของตนเอง


นั่นถึงจะเป็นหลักประกันที่มั่นคงว่าเป็นการเปิดกว้างอย่างแท้จริง


และทำให้กระบวนการเรียนรู้ตามระบอบประชาธิปไตย


เพื่อกำหนดอนาคตของตัวเองของทุกคนเป็นจริงได้อย่างที่เราอยากเห็น



ปัญหาที่เกิดขึ้น


เป็นปัญหาที่ต้องอาศัยการวิพากษ์วิจารณ์ภายใต้กระบวนการทางประชาธิปไตย


ถ้าหากใครที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลชุดที่แล้วทำ


ก็ต้องไปเปิดเผยข้อบกพร่อง ข้อไม่เห็นด้วย


แต่ก็ต้องมีจริยธรรมของตัวเองด้วยคือต้องไม่บิดเบือนข้อมูล


ถ้าหากเกรงว่าการสื่อสารสู่ประชาชนจะถูกจำกัด สกัดกั้น


มันก็ได้พิสูจน์แล้วว่า


สุดท้ายเมื่อเกิดการเสื่อมศรัทธาในรัฐบาล


รัฐบาลก็ไปสกัดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารไม่ได้เลย




ต่อจากนี้ผมก็ทั้งเตือนตัวเอง ทั้งเตือนทุกคนว่า


ต้องอดทน


ให้เวลาประชาธิปไตยได้เยียวยาตัวเอง


 


 


 


 


 


ใกล้เลือกตั้งเข้าไปทุกที เหล้าเก่าในขวดใหม่อย่างพรรค "พลังประชาชน" ยังคงติดโพลอันดับหนึ่งทิ้งห่างคู่แข่ง ทั้งที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไรไม่ค่อยได้ แกนหลักๆ ที่เคยเงียบไปพักใหญ่อย่าง หมอเลี๊ยบ- น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ต้องเข้ามาทำงานขับเคลื่อนออกหน้าในฐานะเลขาธิการพรรคเงาร่างของไทยรักไทย และกำลังจะได้พิสูจน์ตัวต่อไปในกาลข้างหน้าถึงความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง?


 


เส้นทางของพลังประชาชนจะเป็นอย่างไร แนวคิด นโยบาย ข้อเด่น ข้อบกพร่องจะทาบทับกับไทยรักไทยเพียงไหน "ประชาไท" พาไปคุยกับ "หมอเลี๊ยบ" เสนาธิการคนสำคัญ


 


 


จุดขายของพลังประชาชนคราวนี้คืออะไร


เราคิดว่าต้องโชว์นโยบาย 2 แนวทาง 3 ยุทธศาสตร์ 4 เป้าหมาย คำว่า 2 แนวทางเกิดขึ้นจากที่เราวิเคราะห์ปัญหาที่ประชาชนเผชิญอยู่ทุกวันนี้ เท่าที่สำรวจความคิดเห็นก็ชัดเจนว่าหนึ่งปี่ที่ผ่านมาทุกอย่างแย่ลง เศรษฐกิจก็แย่ลง


 


วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ต่างจากวิกฤติเมื่อปี 2540 ตรงที่วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 เป็นวิกฤติที่ยอดของพีระมิด เป็นวิกฤติที่สถาบันการเงิน แล้วลงมาสู่ระดับฐานล่างของพีระมิด แต่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้เป็นวิกฤติจากฐานรากของพีระมิดแล้วส่งผลกระทบขึ้นไปถึงยอดพีระมิด เพราะว่าวันนี้สถาบันการเงินยังแข็งแกร่ง เงินในธนาคารท่วม เงินสำรองในประเทศมากขึ้น แต่การลงทุนลดน้อยลงทั้งในระดับในประเทศและต่างประเทศ การลงทุนจากต่างชาติหดหายไปหมด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความไม่เชื่อมั่นในอนาคตของประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากการไม่ยอมรับระบบเผด็จการที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา


 


ดังนั้น นานาประเทศขณะนี้ปฏิบัติต่อเราในลักษณะเป็น เซมิแซงก์ชั่น (Semi-Sanction) คือการไม่ประกาศแซงก์ชั่นอย่างชัดเจน แต่ไม่คบค้า ไม่ร่วมมือ ไม่สนับสนุน แล้วคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนด้านล่างของพีระมิด


 


สิ่งเหล่านี้จึงเป็นที่มาว่า ถ้าเราจะเสนอนโยบายอะไรตอนนี้ต้อง 2 แนวทาง 3 ยุทธศาสตร์ 4 เป้าหมาย


2 แนวทาง หมายความว่า เราจะต้องทำเศรษฐกิจคู่ขนานเหมือนที่รัฐบาลชุดที่แล้วเคยทำ ก็คือเศรษฐกิจภายในประเทศก็ต้องมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เศรษฐกิจภายในประเทศที่หายไปเลยตอนนี้เป็นเรื่องการส่งเสริม SMEs การส่งเสริม OTOP


 


ส่วน 3 ยุทธศาสตร์ ก็คือ 1.สร้างความปรองดอง 2.สร้างความเชื่อมั่น และ 3.สร้างความรุ่งเรือง


ที่เราหยิบยกยุทธศาสตร์สร้างความปรองดองมาเป็นยุทธศาสตร์ที่ 1 เพราะเราคิดว่านี่เป็นปัญหาใจกลางของปัญหาทั้งหมดที่มันเกิดขึ้นในขณะนี้ ความแตกแยกทางความคิดในช่วงประมาณ 3 ปีที่ผ่านมานำไปสู่ความแตกแยกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย เราพูดกันเสมอว่า คิดแตกต่างกันได้แต่ต้องไม่แตกแยก แต่ความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่ามีกระบวนการทำให้เกิดความแตกแยกทั้งในลักษณะที่สร้างข่าวเท็จ พยายามทำให้เกิดความเข้าใจผิด แล้วนำไปสู่การกระทบกระทั่งทั้งทางกาย ทางวาจา จนในที่สุดนำมาสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน


 


 


รูปธรรมของการสร้างความสมานฉันท์จะเป็นอย่างไร ท่าทีของหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน คุณสมัคร สุนทรเวช ดูจะแข็งกร้าวไปไหม จะทำให้การแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายยังคงมีอยู่ต่อไปในสังคมไทยหรือไม่


คุณสมัครไม่เคยประกาศว่า จะไม่ทำงานการเมืองกับใคร มีแต่พรรคการเมืองอื่นประกาศ คุณสมัครยังพูดเลยว่าก่อนเลือกตั้งอย่าพึ่งไปพูดเลยว่าจะไปจับกับใคร เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ดังนั้นทุกคนก็ควรตั้งหน้าตั้งตาเสนอนโยบายให้ประชนลงความเห็น ว่าชอบหรือสนับสนุนนโยบายของพรรคไหน ทำให้ตัวเองได้รับเลือกให้มากที่สุด แต่หากสุดท้ายจะต้องจับมือกับใครก็ค่อยมานั่งพิจารณาว่า พรรคใดมีนโยบายใกล้เคียงกันที่จะสามารถร่วมมือกันได้


 


ทีนี้หลายๆ พรรคการเมืองที่เขาประกาศจะไม่ร่วม วันนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนเริ่มรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะจับขั้วอย่างนั้นอย่างนี้ โดยที่ไม่ฟังเสียงของประชาชน หลายพรรคการเมืองเห็นชัดเจนว่ามีท่าทีต้องการให้เกิดการปรองดองมีมากขึ้นจากเมื่อก่อน นอกจากพลังประชาชนแล้ววันนี้เชื่อว่ามีอย่างน้อย 3 พรรคที่ประกาศออกมาแล้วว่าพร้อมจะจับมือกันถ้าหากประชาชนไว้วางใจ


 


จนถึงวันนี้ยังมีความพยายามสร้างขั้วบอกว่าจะไม่จับมือกับคนนั้นคนนี้ ยิ่งทำให้ความแตกแยกมันยิ่งร้าวฉานมากขึ้น พลังประชาชนประกาศชัดเจนว่าจะต้องไม่มีการแก้แค้นใดๆ เกิดขึ้นถ้าหากเราได้รับความไว้วางใจกลับมาเป็นรัฐบาล เพราะว่าการแก้แค้นไม่ได้นำพาอะไรมาเลย นอกจากความเสื่อม ถ้าเรายังคิดแต่เรื่องจะแก้แค้นในขณะที่เราต้องทำหน้าที่ในการปริหารประเทศ เราจะไม่มีความสนใจอย่างเพียงพอที่จะไปแก้ปัญหาที่ประเทศชาติเผชิญอยู่ในทุกวันนี้


 


เพราะฉะนั้น อะไรที่เห็นต่างกัน มาแลกเปลี่ยนแล้วก็หาข้อสรุปที่ดีที่สุด ถ้าเราเป็นรัฐบาล เราก็จะดำเนินการร่วมกับทุกๆ ฝ่าย ทั้งฝ่ายค้าน ภาคประชาชน และองค์กรต่างๆ เพื่อที่จะได้ดูว่าหลายเรื่องเราจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดแล้วก็รอบคอบมากที่สุด แต่ถ้าเราเป็นฝ่ายค้าน เรื่องไหนที่รัฐบาลทำดีก็ต้องพูดให้ชัดว่าเรื่องนั้นดี เราสนับสนุนเต็มที่ แล้วก็ให้ทำอย่างเต็มกำลัง แต่ถ้าเราไม่เห็นด้วยในหลายเรื่อง เราก็นำเสนอว่าเรื่องเหล่านี้จุดอ่อนคืออะไร โดยไม่ค้านแบบหัวชนฝาแบบไม่เสนอแนะแนวทางประกอบอย่างสร้างสรรค์


 


เรื่องนี้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ที่ 2 ในเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่น เราเชื่อว่าความปรองดองเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำมาสู่ความเชื่อมั่นของทั้งคนไทยกันเองและก็คนต่างชาติด้วย เราจะต้องเน้นเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นโดยการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยเข้าสู่ระบอบการเลือกตั้งที่แท้จริงให้ได้ ผมเชื่อว่าความเชื่อมั่นที่ประเทศไทยพิสูจน์กับสังคมโลกว่าเรากำลังกลับสู่หนทางประชาธิปไตยจะเป็นความเชื่อมั่นที่สำคัญ


 


การที่คนไทยประกาศว่ายอมรับผลการเลือกตั้ง ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ ตรงนี้จะเป็นท่าที่ที่สำคัญ การที่ผู้บัญชาการทหารบกบอกว่าจะไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารใดๆ เกิดขึ้นแน่นอน ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน นี่ก็เป็นท่าที่ที่ชัดเจนที่ผมเชื่อว่าสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ แล้วผมยังคิดอีกต่อไปว่า การยกเลิกกฎอัยการศึกก็ดี การประกาศว่าจะไม่เดินหน้าเรื่อง พ.ร.บ.ความมั่นคงก็ดี ควรเป็นท่าทีที่สำคัญของรัฐบาลในขณะนี้ที่ควรเร่งกระทำ รัฐบาลในขณะนี้เป็นรัฐบาลรักษาการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนี้คือสภาที่รอให้สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่มาทำหน้าที่ เพราะฉะนั้นในระหว่างนี้กฎหมายสำคัญๆ จึงไม่ควรพิจารณาเลย


 


 


พูดถึง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ คุณคิดอย่างไร


กฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคงฯถือเป็นกฎหมายที่สำคัญมาก เป็นกฎหมายที่น่าห่วงใยว่าจะกระทบสิทธิขั้นพื้นฐาน อาจจะให้อำนาจบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่จะใช้อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการภายในคนๆ เดียวกัน อีกทั้งยังไม่สามารถจะเอาผิดได้ด้วยหากใช้อำนาจนั้นในทางที่ผิด นี่คือการใช้กฎหมายที่หลายๆ ฝ่ายในสังคมไทยไม่สบายใจเป็นอย่างมาก ฉะนั้นรัฐบาลรักษาการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่กำลังรอสภาที่เป็นของประชาชนไม่สมควรที่จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา และเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะบั่นทอนความเชื่อมั่น แม้ตอนนี้ผ่านวาระ 1 ไปแล้วแต่ก็ยังมีวาระ 2 วาระ3


 


 


ในหลายประเทศก็มีกฎหมายความมั่นคง


แต่โดยหลักการ กฎหมายความมั่นคงที่จะให้การคุ้มครองกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ความคุ้มครองนั้นจะต้องสามารถตรวจสอบได้ แล้วก็ไม่ควรมีอำนาจเบ็ดเสร็จในคนใดคนหนึ่ง หากเราได้รับความไว้วางใจเป็นรัฐบาลในอนาคต เราก็ไม่เห็นด้วยที่จะมาให้อำนาจอย่างนี้ แม้จะเป็นกับตัวเราเองก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราเห็นว่าควรต้องชะลอ


 


 


กลับมาเรื่องยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยังไม่ได้อธิบาย


ขอพูดต่อเรื่องความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นอีกอันหนึ่ง คือความเชื่อมั่นของข้าราชการที่ต้องทำงานตามนโยบาย วันนี้เราพบเลยว่ากลไกในการขับเคลื่อนระบบราชการชะงักลง ข้าราชการระดับสูงจำนวนมากไม่กล้าตัดสินใจ เพราะกลัวว่าจะถูกเช็คบิล ฉะนั้นจึงไม่มีใครกล้าทำอะไรเลย ประเทศชาติเดินหน้าไม่ได้ เราต้องให้ความเชื่อมั่นได้ว่ากระบวนการยุติธรรมจะต้องให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการที่ทำงานตามนโยบายที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แม้มีบางแง่มุมที่อาจมีการตั้งคำถามขึ้นมา ตรงนี้ต้องให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่


 


ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ การสร้างความรุ่งเรือง ถ้าในช่วงเวลานี้เราไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในการทำธุรกิจภายในประเทศได้เร็วนักก็คงจะต้องมีกระบวนการที่จะลงทุนโดยรัฐ มีโครงการเมกะโปรเจ็ค (Mega Project) เพื่อให้เกิดการสร้างงาน เกิดการหมุนเวียนของเงินในกระแสเศรษฐกิจ


 


สำหรับ 4 เป้าหมาย เป้าหมายที่ 1. คือลดรายจ่าย 2.เพิ่มรายได้ 3.ขยายโอกาส และ 4.เป็นการต่อยอดจากสามเป้าหมายแรก ก็คือสร้างปัญญา


 


เรื่องการลดรายจ่ายหลายอย่างที่ทำมาก็ต้องทำต่อไป เช่นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค วันนี้มาถึงจุดที่เราต้องรักษาคุณภาพมากขึ้น ทั้งในเรื่องการรักษาคุณภาพของการรักษาพยาบาล คุณภาพของระบบส่งต่อซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นอยู่


 


เรื่องสร้างรายได้ จะต้องมีกระบวนการที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับการส่งเสริมในด้านกระบวนการผลิต กระบวนการทางการตลาดที่รัฐจะต้องไปเอื้ออำนวยส่งเสริม


 


ประการที่ 3 ขยายโอกาส ทำอย่างไรที่จะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน หลายๆ โครงการที่ถูกระงับไปไม่ว่าโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ธนาคารประชาชน หรือ SMEs ที่ถูกให้ความสำคัญลดน้อยลงก็ต้องรื้อฟื้นกลับมา


สุดท้ายเรื่องการสร้างปัญญา เรามองว่าในระยะยาวการที่จะทำให้ประเทศไทยแข่งขันได้ ต้องเริ่มปูฐานการศึกษาตั้งแต่ในปฐมวัย การศึกษาที่ต่อยอดเป็นเรื่องใหญ่ และไม่ใช่การต่อยอดการเรียนรู้เพื่อเรียนรู้ แต่ต้องเป็นการเรียนรู้เพื่อเป็นอาชีพและสร้างรายได้ ยกตัวอย่างเรื่องอินเตอร์เน็ตโรงเรียน ต้องยอมรับว่าในเวลาที่เรามืดมนที่สุดอยู่ในบรรยากาศเผด็จการ อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางที่สำคัญมากที่ทำให้คนจำนวนมากที่ใฝ่หาประชาธิปไตยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข่าวสารกัน โดยปิดกั้นได้ยาก เพราะฉะนั้นอินเตอร์เน็ตจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากสำหรับการสร้างปัญญาต่อไปในอนาคต รัฐจึงต้องสร้างโครงข่ายอินเตอร์เน็ตอย่างจริงจัง การสร้างอินเตอร์เน็ตโรงเรียนจึงเป็นเป้าหมายที่เราสามารถดำเนินการได้อย่างแน่นอน


 


เรื่องคลังความรู้ขนาดใหญ่อย่างห้องหนังสือก็ยังมีความสำคัญ แม้แต่ในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการอย่างอเมริกา สิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้ก็ยังมีห้องสมุดดีๆ การที่มี TCDC (ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ) ที่เอ็มโพเรียม ซึ่งวันนี้ถกเถียงกันมากว่าย้ายไปดีหรือไม่ดี คำถามมันไม่ใช่แค่ว่าควรมีหรือไม่มี แต่ต้องถามว่าควรมีมากกว่านี้หรือเปล่า วันนี้มีหลายประเทศที่สร้างผลิตผลการเติบโตได้มากจากการที่เพียงแค่เปลี่ยนมุมมองในแง่ของการออกแบบ


 


 


ดูเหมือนนโยบายส่วนใหญ่เป็นการต่อยอดจากรัฐบาลที่แล้ว นโยบายด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับรากหญ้าหลายๆ โครงการที่ผ่านมาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่าเป็นนโยบายประชานิยมที่ผิวเผิน ไม่ยั่งยืน เลยอยากจะถามไปไกลสักหน่อยว่า คิดอย่างไรกับกระแสเรียกร้องการสร้างรัฐสวัสดิการ


เรื่องประชานิยม ผมมองว่ามันเป็นวาทกรรมทางการเมืองเพื่อทำให้ความสำเร็จของคู่แข่งขันทางการเมืองได้รับการรับรู้ว่ายังไม่สำเร็จ หรือสำเร็จน้อยลง อย่างโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเป็นโครงการที่หลายประเทศมาดูงาน ถ้าบอกว่าห่างไกลจากรัฐสวัสดิการ ต้องบอกว่าการที่ทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายอีก ผมไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้ว การพูดอย่างนี้เป็นการดิสเครดิต เป็นการหยิบยกแต่จุดอ่อนซึ่งต้องยอมรับว่ามันไม่มีทางทำอะไรได้ 100% แม้แต่ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการมานานแล้วอย่างประเทศแถบสแกนดิเนเวียก็ยังมีปัญหา เพียงแต่มันเป็นปัญหาเล็กน้อย แล้ววันนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า สิ่งที่เป็นประชานิยมทุกพรรคก็ทำเหมือนกันหมด


 


วันนี้ใครจะเสนอนโยบายที่ใช้เงินเสนอก็ได้ทั้งนั้น แต่ถามว่าเงินมาจากไหนไม่มีใครพูดถึงเลย ถ้าคุณเอามาจากภาษี แล้วคุณมีนโยบายอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนมีรายได้พอเสียภาษี


 


 


นโยบายอีกอย่างที่ทางพรรคระบุว่าจะรื้อฟื้นขึ้นมา คือการทำสงครามกับยาเสพติด พูดเท่านี้ภาพเรื่องการฆ่าตัดตอนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ออกมาหลอนแล้วหรือไม่


นโยบายเรื่องสงครามยาเสพติด เราทำทั้ง 3 ด้าน ทั้งปราบปราม ป้องกัน และบำบัด ข้อหาฉกรรจ์ก็คือ การฆ่าตัดตอน วันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า 2,500 คนนั้นมาจากไหน แหล่งข้อมูลคืออะไร เป็นตัวเลขที่อยู่ๆ ก็หยิบยกกันขึ้นมา และถ้าคิดในเชิงตรรกะ คนที่ปราบปรามยาเสพติด ย่อมอยากจะจับตัวการใหญ่ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนมากกว่า ไม่มีเหตุผลเลยว่าจะฆ่าตัดตอนทำไม ถ้าเราได้คนตัวเล็ก เราย่อมอยากสาวถึงตัวการใหญ่ การฆ่าตัดตอนต้องเกิดจากการป้องกันไม่ให้สาวถึงตัวการใหญ่ นี่คือวาทกรรมอย่างหนึ่งที่เป็นมุมทางการเมืองที่พูดกันต่อมา และสุดท้ายตัวเลข 2,500 คนไม่มีที่มา เราก็ยังรวบรวมกันอยู่เลย เท่าที่ทราบ ตัวเลขที่มีการฆ่าตัดตอนจริงๆ ไม่มาก และเป็นการฆ่าตัดตอนไม่ให้ถึงตัวการใหญ่จริงๆ นี่ถึงเป็นเหตุที่เมื่อกระบวนการปราบปรามมันย่อหย่อนยาเสพติดจึงกลับมาอีก เพราะตัวการใหญ่ยังอยู่


 


 


ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะมีการทำให้ชัดเจนไหมว่าตัวเลขการฆ่าตัดตอนที่ว่ามันใช่ ไม่ใช่ อย่างไร ใครทำ


จริงๆ แล้วผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิต ท่านก็มีข้อมูลพร้อมเปิดเผยได้ สำนักข่าวของบีบีซีก็เคยมาคุยแล้วก็ได้ให้ข้อมูลไป แต่อย่างว่า ข่าวร้ายมันง่ายกว่าในการที่จะพูดถึง


 


 


คุณหมอยืนยันว่า แนวทางเดิมของนโยบายสงครามยาเสพติดเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว


ถูกต้อง เรื่องการกวดขันปราบปรามเป็นเรื่องที่ต้องทำ ถ้าเราเน้นแต่ป้องกันและบำบัด ขณะที่ปล่อยให้ขบวนการค้ายาเสพติดยังเดินหน้ามันไม่มีวันหยุด เมื่อก่อนแม้แต่ในโรงเรียน การแพร่ระบาดของยาเสพติดก็มาก ทุกคนห่วงลูกหลานตัวเอง แต่วันนี้เราสบายใจขึ้นหลังจากปราบปรามอย่างจริงจัง เรายังนึกไม่ออกว่า ถ้าไม่มีการดำเนินการวันนี้จะเป็นอย่างไร การปราบปรามต้องเดินหน้า แต่แน่นอน ทั้งหมดต้องยืนอยู่บนหลักการว่า ต้องไม่ทำร้ายผู้บริสุทธิ์


 


 


กลับมาที่เรื่องการหาเสียงครั้งนี้ กระบวนการสร้างนโยบาย หรือการหาเสียงในพื้นที่ ในสมัยไทยรักไทยเคยมีทีมวิจัยนโยบาย โครงสร้างเหล่านี้ยังมีไหมในยุคพลังประชาชน


พลังประชาชนมีคนที่ทำงานในพรรคไทยรักไทยเดิมมารวมกันอยู่จำนวนมาก พรรคการเมืองเดิมเปรียบเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำอยู่ในสปอร์ตไลท์ของสังคมเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ประมาณ 1 ใน 10 เรามีนักวิชาการ ผู้สนับสนุนพรรคการเมือง ผู้ปฏิบัติงาน พัฒนากรทางการเมืองอีกมากมาย เมื่อรวมกลุ่มกันใหม่ เรายังเห็นความสำคัญของการจัดการสมัยใหม่ อาจมีหลายคนบอกว่า พรรคการเมืองเดิมไม่ใช่สถาบัน ก็อาจเป็นความจริงอยู่บ้างในด้านกระบวนการตัดสินใจในภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง กระบวนการตัดสินใจในลักษณะเป็นระบบพรรคไม่เกิด แต่ในปัจจุบันนี้ เราพยายามสร้างกระบวนการตัดสินใจของระบบพรรคมากขึ้น และเราเรียนรู้การทำงานของพรรคการเมืองในต่างประเทศด้วย แม้ว่าการหาเสียงคราวนี้จะมีข้อจำกัดมากมายที่ทาง กกต.ได้กำหนดออกมาใหม่ การหาเสียงในแง่ป้ายต่างๆ มีข้อจำกัด ขณะนี้เราเชื่อว่าการเคาะประตูบ้าน การปราศรัยย่อยในชุมชนจะเป็นหนทางในการหาเสียงแบบใหม่ เน้นการทำงานในพื้นที่มากกว่าเดิม ควบคู่ไปกับสื่อใหม่ๆ ที่ทาง กกต.ยังไม่ได้กำหนด


 


 


เวลาหาเสียงมีการขาย ส.ส.คู่กับคุณทักษิณไหม


เราถาม กกต.อยู่ว่า อะไรที่ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองทำได้และทำไม่ได้ ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบกลับมา เราจึงยังไม่กล้าทำอะไรที่อาจผิดระเบียบของ กกต. แม้แต่การขึ้นปราศรัยหาเสียงที่สนามหลวง ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์หลายท่านพร้อมจะขึ้น แต่เราก็ยังไม่ให้ขึ้น เพราะเรากลัวเป็นปัญหา


 


 


จุดยืนต่อรัฐธรรมนูญ 50 ของพลังประชาชนเป็นยังไง เพราะก่อนหน้าจะลงประชามติมีหลายพรรคพูดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้เงียบเลย


เราแก้ไขแน่นอน เพราะน่าจะเป็นจุดหนึ่งที่นำไปสู่การที่นานาประเทศจะเชื่อมั่นว่าหนทางประชาธิปไตยกำลังปูราดอย่างมั่นคงในประเทศไทย รัฐธรรมนูญนี้มีปัญหาหลายเรื่อง หลายคนที่บอกว่ารับไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง ตอนนี้ก็ได้รับผลพวงของการรับไปก่อนแล้ว เราไม่เคยเห็น ส.ส.ย้ายพรรคกันอุตลุดก่อนการเลือกตั้ง เราไม่เคยเห็นความกังวลว่า สุดท้ายแล้วหัวหน้าพรรคที่มีเสียงข้างมากอาจจะไม่ได้เป็นนายกฯ เพราะ ส.ส.ของพรรคตัวเองอาจไม่เลือกให้เป็นนายกฯ ที่มากกว่านั้น เรื่อง ส.ว. เราไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้ง 74 คน อย่างยิ่ง เรื่องการกำหนดให้พรรคการเมืองอ่อนแอและทำให้ระบบราชการเข้มแข็งจนทำให้ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนไม่สามารถกำหนดทิศทางบริหารประเทศได้ เรื่องพวกนี้ต้องแก้ไขกัน


 


ในการแก้ไข พลังประชาชนอยากเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขอย่างมีส่วนร่วมให้มากที่สุด คงไม่ใช่มาแก้ไขกันเองในหมู่ ส.ส. และ ส.ว.ซึ่งทั้งมาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง เพราะคนที่มาจากการแต่งตั้งย่อมไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงกฎกติกาที่จะทำให้ผู้ที่แต่งตั้งตัวเองเสียอำนาจไป ก็มีแนวคิดหลายแนวคิด เช่น มี ส.ส.ร.ชุดที่สาม เหมือน ส.ส.ร.ชุดที่หนึ่งที่มาจากประชาชน


 


 


ถามในฐานะนักกิจกรรมทางสังคม คุณหมอคิดว่าอะไรเป็นปัญหาของประชาธิปไตยไทย และความขัดแย้งที่แบ่งเป็นสองขั้วขณะนี้น่าจะคลี่คลายไปในทางไหน


ปัญหาของประชาธิปไตยของไทยเป็นปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับชั้น ที่ผ่านมาเราต้องยอมรับว่า แม้ประชาธิปไตยของไทยจะเกิดขึ้นมา 75 ปีแล้ว แต่มันเป็นประชาธิปไตยของชนชั้นสูง ต่อมาอาจจะเป็นประชาธิปไตยของชนชั้นกลาง แต่ไม่เคยเป็นประชาธิปไตยของชนชั้นล่าง เรื่องปัญหาซื้อสิทธิ์ขายเสียงถึงเป็นปัญหาตลอดที่ผ่านมา เพราะว่าไม่มีพรรคการเมืองใดพูดถึงว่าการเมืองจะแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องหลักประกันของประชาชนระดับชั้นล่างได้ จนกระทั่งเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา เมื่อพรรคการเมืองหนึ่งนำเสนอนโยบายที่ประชาชนเห็นได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาอย่างแท้จริง และเห็นผลได้ชัดเจน มันถึงเกิดความรู้สึกได้ว่า การเมืองเป็นเรื่องแก้ปัญหาชีวิตประจำวันให้กับเขาได้ การเมืองเป็นเรื่องกินได้ เราจะเห็นได้ว่า คะแนนนิยมของพรรคการเมืองนั้นมีสูง ซึ่งบางฝ่ายยังเข้าใจผิดว่าเป็นการซื้อสิทธิ์ขายเสียง มันเป็นความเข้าใจในกระบวนทัศน์แบบเดิม และถ้าเขายังเข้าใจแบบนั้น จนถึงวันนี้เขาก็ยังจะสู้ไม่ได้ เพราะกระบวนทัศน์ของประชาชนได้เปลี่ยนไปแล้ว


 


ถ้าจะเปรียบเทียบก็อาจจะพูดได้ว่านี่เป็นระยะก่อนรุ่งสางของประชาธิปไตย เพราะเราเริ่มเห็นชัดเจนว่า ชนชั้นรากหญ้าเริ่มเห็นแล้วว่า การเมืองผูกพันกับชีวิตเขาอย่างแท้จริง ปัญหาประชาธิปไตยจึงอยู่ที่ว่า การเมืองมันไม่สามารถส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับล่างอย่างแท้จริงได้


 


เรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารก็เป็นเรื่องสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจ เราต้องยอมรับว่า การเมืองในช่วงที่เปลี่ยนผ่าน 4-5 ปีที่ผ่านมามันไปกระทบผลประโยชน์คนบางกลุ่ม ทำให้เกิดความหวั่นไหวต่อการมีบทบาทของชนชั้นกลาง ปัญญาชนบางส่วนที่เมื่อก่อนอาจจะมีบทบาทชี้นำสังคมได้ บทบาทเหล่านี้เริ่มถูกสั่นคลอน ทำให้เกิดการนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ทำให้เกิดการเข้าใจในลักษณะที่คลาดเคลื่อนจากสิ่งที่เป็นจริง


 


ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทุกฝ่ายต้องอดทน ต้องมีสติ แล้วให้ประชาธิปไตยได้แก้ปัญหาและเยียวยาตัวเอง การเสนอมาตรา 7 ก็ดี การเห็นด้วยกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่าเป็นทางออกจากการปัญหาก็ดี หรือเป็นความขาดสติของคนบางส่วนที่เห็นว่าเมื่อประชาธิปไตยไม่เป็นไปอย่างที่ตัวเองคาดคิดก็ใช้ทางลัด ใช้กระบวนการที่ไม่คลอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยมาแก้ปัญหา ต่อจากนี้ผมก็ทั้งเตือนตัวเอง ทั้งเตือนทุกคนว่า ต้องอดทน ให้เวลาประชาธิปไตยได้เยียวยาตัวเอง และรวมทั้งต้องส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารมากที่สุด


 


ที่ผ่านมาข้อมูลข่าวสารถูกเผยแพร่ทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ต้องยอมรับว่าในช่วงปี 2549 สื่อมวลชนมีบทบาทสูงมากที่จะกำหนดทิศทางของประเทศ แต่ถ้าหากเราไม่อยากเห็นปัญหานี้เกิดขึ้นซ้ำซ้อนอีก ก็ต้องพยายามส่งเสริมให้เกิดการสื่อสารที่เสรีมากขึ้น ผมถึงได้เน้นว่า สังคมไทยต้องก้าวไปสู่สังคมข้อมูลข่าวสารอย่างแท้จริง เรื่องอินเตอร์เน็ตต้องกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ เรามีโทรทัศน์ 6 ช่อง ซึ่งถ้าใครกำหนดทิศทางของทีวี 6 ช่องได้ ก็กำหนดการรับรู้ของสังคมได้ หากเรามีอินเตอร์เน็ตเป็นหมื่นเป็นแสนเว็บไซต์ คนที่อยากจะรับรู้ข้อเท็จจริงสามารถเข้าถึงได้และใช้วิจารณญาณของตนเอง นั่นถึงจะเป็นหลักประกันที่มั่นคงว่าเป็นการเปิดกว้างอย่างแท้จริง และทำให้กระบวนการเรียนรู้ตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อกำหนดอนาคตของตัวเองของทุกคนเป็นจริงได้อย่างที่เราอยากเห็น


 


 


ช่วงที่กระแสพันธมิตรฯ กำลังสูง มีการต่อต้านรัฐบาลเก่าอย่างมาก จะเห็นว่าคนจำนวนมากกลัวความแข็งแกร่งของทุน โดยเฉพาะรัฐบาลไทยรักไทยที่ก้าวไปกับโลกาภิวัตน์อย่างรวดเร็ว คุณหมอมองยังไง และนั่นเป็นแนวทางที่ถูกต้องไหม มีความผิดพลาดอะไรบ้างหรือไม่


เรื่องทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม มันเป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญหน้า และเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และไม่ได้หมายความว่า การที่เป็นทุนนิยมจะทำให้ประเทศตกอยู่ภายใต้การครอบงำของบุคคลเพียงไม่กี่คน ในประเทศพัฒนาอีกมากมาย ในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียก็ดี ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ก็ดี หลายประเทศในยุโรปที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็ง ทุนนิยมก็พัฒนาก้าวหน้ากันไป


 


ถ้าถามว่าในอดีตรัฐบาลชุดก่อนมีข้อบกพร่องไหม ผมบอกเลยว่า มี และเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุง ต้องแก้ไข ต้องวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้รัฐบาลได้ทำหน้าที่บริหารประเทศอย่างโปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมันเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยการวิพากษ์วิจารณ์ภายใต้กระบวนการทางประชาธิปไตย ถ้าหากใครที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลชุดที่แล้วทำ ก็ต้องไปเปิดเผยข้อบกพร่อง ข้อไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องมีจริยธรรมของตัวเองด้วยคือต้องไม่บิดเบือนข้อมูล ถ้าหากเกรงว่าการสื่อสารสู่ประชาชนจะถูกจำกัด สกัดกั้น มันก็ได้พิสูจน์แล้วว่า สุดท้ายเมื่อเกิดการเสื่อมศรัทธาในรัฐบาล รัฐบาลก็ไปสกัดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารไม่ได้เลย ในปี 2549 ทิศทางของข่าวสารล้วนเป็นไปในทิศทางที่ไม่เป็นคุณต่อรัฐบาลในยุคนั้น การสกัดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน ผมไม่เชื่อว่าจะมีรัฐบาลชุดไหนทำได้ แม้แต่ในรัฐบาลชุดนี้ที่เป็นรัฐบาลจากรัฐประหารก็ตาม


 


ทางออกเมื่อเราเจอกับรัฐบาลที่เข้มแข็งแล้วคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลนั้นทำไม่เหมาะสม ต้องวิพากษ์วิจารณ์อย่างเต็มที่ภายใต้ข้อมูลที่เป็นจริง และนำเสนอให้กว้างขวางเพื่อให้ความนิยมในรัฐบาลชุดนั้นเสื่อมถอยลง และสุดท้ายเมื่อมีการเลือกตั้ง ประชาชนก็จะไม่เลือกเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net