Skip to main content
sharethis

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และดร.กิตติวัฒน์ อุชุปาละนันท์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ดำเนินรายการในการอภิปรายระดมสมองเรื่อง ร่างข้อกำหนดจริยธรรมในการผลิตรายการของสถานีโทรทัศน์สาธารณะ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 50 ณ โรงแรมแมกซ์ กรุงเทพฯ


 


ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 50 ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและ วิทยุโทรทัศน์ สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชน แห่งประเทศไทย เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาแผ่นดินเชิงคุณธรรม


และองค์กรภาคี จัด "โครงการเตรียมความพร้อมของสังคมไทยในการมีสถานีโทรทัศน์สาธารณะ" โดยมีเวทีระดมความเห็นเรื่อง "รายการโทรทัศน์ในฝันที่ช่วยสร้างสังคมคุณธรรมควรเป็นอย่างไร" และเรื่อง "เราจะร่วมกันทำให้เกิดรายการโทรทัศน์ในฝันที่ช่วยสร้างสังคมคุณธรรมได้อย่างไร"


 


ผลจากการระดมสมองครั้งนั้น ได้ข้อสรุปออกมาเป็น "ร่างกรอบจริยธรรมในการนำเสนอข่าวและรายการของสถานีโทรทัศน์สาธารณะ"


 


นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นำเสนอกรอบแนวคิดของร่างกรอบจริยธรรม ว่า มีสาระสำคัญที่ 3 กรอบใหญ่ คือ กรอบในด้านที่สนองสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน (Public"s Rights to know), กรอบในด้านการสร้างความไว้วางใจของสาธารณชน (Public Trust), กรอบในด้านการเคาระสิทธิส่วนบุึคคลของผู้อื่น และยึดมั่นในหลักการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Respect to Individual Rights and Privacy)


 


 


กรอบ 1 : สนองสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน


นายชวรงค์กล่าวว่า ทีวีสาธารณะต้องนำเสนอข่าวและรายการโดยเน้นสาธารณะประโยชน์ ปกป้องแหล่งข่าว และตระหนักรู้ถึงการนำเสนอข่าวสารของประชาชน ซึ่งประกอบด้วยหลักการต่างๆ อาทิ การนำเสนอข่าวและรายการ โดยมุ่งหวังต่อสาธารณะประโยชน์ ไม่แสวงหาประโยชน์ส่วนตน และต้องหลีกเลี่ยงในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน


 


เขากล่าวต่อไปว่า ในการนำเสนอข่าว เมื่อหลักการต้องการเน้นที่ประโยชน์สาธารณะแล้ว ต้องหลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวของแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผย เช่น เนื้อหาที่ระบุว่า มีคนเล่ามา มีคนบอกมา หากจะไม่เปิดเผยแหล่งข่าว ก็ต้องชั่งระหว่างความปลอดภัยของแหล่งข่าวกับประโยชน์สาธารณะ อย่างไรก็ดี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกล่าวว่า คงต้องถกเถียงกันในหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปกป้องความลับของแหล่งข่าวหรือแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม


 


นอกจากนี้ ในเรื่องของเสรีภาพในการเสนอข่าวสารและความคิดเห็นนั้น สถานีโทรทัศน์สาธารณะต้องส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการเสนอข่าวสารและความคิดเห็น และส่งเสริมในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ


 


ประเด็นดังกล่าว นายสุเทพ วิไลเลิศ จากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ เสนอเพิ่มเติมว่า สถานีโทรทัศน์ ต้องส่งเสริมและรักษาเสรีภาพในการเสนอข่าวสารและความคิดเห็น ของพนักงานเจ้าหน้าที่และองค์กรประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาเสนอรายการด้วย


 


 


กรอบ 2 : สร้างความไว้วางใจของสาธารณชน


นายชวรงค์กล่าวว่า ทีวีสาธารณะ ต้องเน้นการเสนอความจริงด้วยความถูกถ้วน คือ ถูกต้องอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องถูกถ้วน สมดุล ตรงไปตรงมา ด้วยวิธีการแสวงหาข่าวสารและข้อมูลในการผลิตรายการโดยสุจริต


 


ในเรื่องของ "ความเป็นกลาง" นั้น เขากล่าวว่ายังต้องถกเถียงกันว่า ระหว่าง "ความเป็นกลาง" กับ "ความเป็นธรรม" นั้น อะไรต้องมาก่อน 


 


เขาเสนอเกี่ยวกับรายการเล่าข่าวที่ปรากฏขึ้นมาในรายการโทรทัศน์ว่า มักจะแสดงความเห็นแบบผิดๆ ถูกๆ ซึ่งต้องระบุให้ชัดว่า นี่เป็นรายการที่จะแสดงความเห็น การนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์สาธารณะต้องแยกความเห็นออกจากข่าวโดยชัดเจน


 


นอกจากนี้ มีการพูดกันเรื่องความเป็นมืออาชีพของคนทำโทรทัศน์สาธารณะ ซึ่งเขากล่าวว่า การได้มาซึ่งข่าว ต้องใช้วิธีการที่สุภาพและซื่อสัตย์ ไม่แอบอ้างลอกเลียนโดยไม่ไ่ด้รับอนุญาต


 


 


กรอบ 3 : เคารพสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลอื่น


กรอบดังกล่าว ระบุว่า ทีวีสาธารณะต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาได้แสดงความจริงก่อนทุกครั้ง การพาดพิงบุคคลที่ 3 ต้องให้โอกาสในการชี้แจง ในกรณีที่มีการเสนอข้อมูลผิดพลาด จะต้องออกอากาศแก้ไขข้อผิดพลาดโดยทันที


 


นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการไม่ล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น และไม่นำเสนอข่าวหรือรายการที่มีเนื้อหารุนแรงหรือกระตุ้นทางเพศ


 


นายเทพชัย หย่อง จากเครือเนชั่น กล่าวว่า แม้เราวางกรอบไว้ดีอย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือแนวปฏิบัติของตัวบุคคล ซึ่งองค์กรสื่อต้องมีความชัดเจนในการวางแนวปฏิบัติและการลงโทษ


 


ในวงอภิปราย เกิดข้อสังเกตอื่นๆ ที่ต้องเป็นข้อคิดเพิ่มเติมต่อไป อาทิ มาตรการการลงโทษ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการไม่มีโฆษณา อย่างไรก็ดี มีผู้เข้าร่วมชี้ปัญหาว่า ขณะที่กำลังจะมีทีวีสาธารณะ แต่สาธารณะชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องนี้


 


นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะต้องย้ำหลักการว่า ทีวีสาธารณะเป็นพื้นที่สาธารณะที่เราจะใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเราเห็นร่วมกันหรือไม่ ว่าสื่อดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะ ใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา เพื่อการรับรู้ ด้านนายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ จากทีวีบูรพาตั้งประเด็นคำถามว่า ทีวีสาธารณะคืออะไร เป็นพื้นที่สาธารณะ หรือเป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเขาเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์สาธารณะมากกว่า


 


 


 


 


ข้อมูลประกอบ :


เว็บไซต์ทีวีสาธารณะ

ข้อสรุปของเวทีระดมความเห็น โครงการเตรียมความพร้อมของสังคมไทยในการมีสถานีโทรทัศน์สาธารณะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net