Skip to main content
sharethis

 



นักกิจกรรมฝ่ายตรงข้ามกับเขาไม่ว่าจะเป็น กลุ่มนักศึกษาบางส่วน กลุ่มสิทธิและกลุ่มธุรกิจ พรรคฝ่ายค้าน ศาสนจักร รวมถึงอดีตพันธมิตรทางการเมือง ต่างก็ออกมาฉลองชัยชนะบนท้องถนนในกรุงคาราคัส
[ที่มาภาพ: AP Photo/Howard Yanes]


 


 


ผลการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศเวเนซุเอลา ปรากฏว่า รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขไม่ผ่านด้วยคะแนนโหวต 51 ต่อ 49 %


 


สำนักข่าว AP รายงานว่าประธานาธิบดีอูโก้ ชาเวซ (Hugo Chavez) ออกมาแถลงยอมรับความพ่ายแพ้ หลังจากที่ผลการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 .. ผลปรากฎว่า ประชาชนไม่เห็นด้วย 51 % และเห็นด้วย 49 % จากผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งหมด 56 %


 


โดยนักกิจกรรมฝ่ายตรงข้ามกับเขา ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มนักศึกษาบางส่วน กลุ่มสิทธิและกลุ่มธุรกิจ พรรคฝ่ายค้าน ศาสนจักร รวมถึงอดีตพันธมิตรทางการเมือง ต่างก็ออกมาฉลองชัยชนะบนท้องถนนในกรุงคาราคัส (Caracas)


 


สำหรับประเด็นเนื้อหาของเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญคร่าวๆ มีดังนี้ …


 


… หัวใจสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อยู่ที่การกระจายอำนาจและเพิ่มอำนาจให้ละแวกบ้านท้องถิ่นกับสภาชุมชนมีบทบาทในการตัดสินใจและจัดสรรงบประมาณมากขึ้น สภาและสถาบันชุมชนจะเข้ามามีอำนาจในการจัดสรรเงินแทนเทศบาลและผู้ว่าการรัฐ โดยเน้นระบบประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) เพื่อเข้ามาแทนที่ระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน


 


แต่ส่วนที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือ การแก้ไขให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้ไม่จำกัดสมัยหากเขายังได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน รวมทั้งยืดวาระของตำแหน่งประธานาธิบดีจาก 6 ปีไปเป็น 7 ปี


 


ในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์เจมส์ เพทราส อ้างว่า นายกรัฐมนตรีเฮาเวิร์ดของออสเตรเลียก็ดำรงตำแหน่งมา 5 สมัยแล้ว มาร์กาเร็ต แธตเชอร์และโทนี แบลร์ก็ได้รับเลือกตั้งหลายสมัย ฯลฯ นี่ไม่ใช่ประเด็น "รวบอำนาจ" อย่างที่ฝ่ายต่อต้านชาเวซอ้าง ตราบที่การเลือกตั้งดำเนินไปอย่างเสรี และมีการคานอำนาจกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ผู้มีตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งทุกคน รวมทั้งประธานาธิบดี สามารถถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ก่อนครบวาระ หากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งจำนวน 20% จากผู้มีสิทธิ์ทั้งหมดลงนามในคำฎีกาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่


 


มีข้อเสนอแก้ไขกฎหมายให้ฝ่ายบริหารสามารถประกาศภาวะฉุกเฉินและเข้าไปแทรกแซงสื่อมวลชนได้ในกรณีที่มีความพยายามล้มล้างสถาบันประชาธิปไตย


 


ประเด็นต่อมาคือการลดอายุของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งจาก 18 เป็น 16 ปี เป็นการเพิ่มจำนวนผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งและทำให้เยาวชนมีเสียงทางการเมืองมากขึ้น


 


รับรองสิทธิของชาวรักร่วมเพศ ซึ่งนับว่าเป็นประเทศแรกในอเมริกาใต้ที่จะรับรองเรื่องนี้ (ประเทศส่วนใหญ่ในละตินอเมริกาค่อนข้างเคร่งศาสนาและหัวโบราณในเรื่องเพศ) รวมทั้งคุ้มครองสิทธิและวัฒนธรรมของชาวเวเนซุเอลาเชื้อสายแอฟริกัน


 


มีข้อเสนอให้ลดเวลาทำงานต่อวันลงเหลือ 6 ชั่วโมง นี่เป็นประเด็นที่ฝ่ายต่อต้าน ซึ่งนำโดยสมาคมธุรกิจ FEDECAMARAS ต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ได้รับการสนับสนุนท่วมท้นจากสหภาพแรงงานและคนงานทุกภาคส่วน การลดเวลาทำงานก็เพื่อให้คนงานมีเวลามากขึ้นสำหรับครอบครัว การศึกษา การอบรมทางการเมือง การฝึกอาชีพ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในสภาชุมชน


 


แรงงานนอกระบบจะได้รับเบี้ยเลี้ยงชีพ เงินทุนหลังเกษียณ ค่าจ้างในวันหยุดและลาพักหลังคลอดบุตรได้


 


มีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายแรงงานและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เพิ่มบทบาทของกรรมสิทธิ์การถือครองแบบรวมหมู่ ส่งเสริมอำนาจต่อรองของแรงงาน และขยายระบอบประชาธิปไตยในสถานประกอบการให้มากขึ้น


 


ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศจะได้รับการคุ้มครองจากการแปรรูป


 


ประการสุดท้ายคือ ข้อเสนอให้ยกเลิกระบบแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารชาติ โดยเปลี่ยนเป็นเจ้าหน้าที่ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องตอบรับเสียงเรียกร้องของผู้ลงคะแนนเสียงในการตัดสินใจเกี่ยวกับงบประมาณสาธารณะและนโยบายทางการเงิน ผลพวงที่จะตามมาประการหนึ่งคือ การนำเงินสำรองของประเทศมาใช้ในการโครงการทางสังคมมากขึ้น กระจายสกุลเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารชาติถือไว้ให้หลากหลายมากขึ้น ลดการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศและการสร้างหนี้ที่ไม่มีเหตุผล ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมองว่า นี่คือการทำลายความเป็นอิสระของธนาคารชาติ แต่อีกฝ่ายก็โต้แย้งว่า ปรกติธนาคารชาติก็ไม่เคยเป็นอิสระและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนายธนาคาร นักลงทุนต่างชาติและสถาบันการเงินระหว่างประเทศเสมอมา … (จาก ภัควดี รายงาน : เกิดอะไรในเวเนซุเอลา? เส้นทางวิบาก (อีกครั้ง) ของการปฏิวัติโบลิวาร์, ประชาไท - 24 พ.ย 2550)


 


แต่สื่อในกระแสฝ่ายขวาในประเทศ และสื่อตะวันตกมักจะโจมตีประเด็นอาทิ เช่น การลงเลือกตั้งได้โดยไม่จำกัดจำนวนสมัย, ขยายวาระการดำรงตำแหน่งในแต่ละสมัยจากเดิม 6 ปีเป็น 7 ปี, เพิ่มอำนาจให้ประธานาธิบดีเข้าควบคุมการบริหารงานของธนาคารกลาง และเพิ่มอำนาจในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินทางการเมืองหรือภัยพิบัติ เป็นต้น


 


 


 


ที่มา:


Chavez loses constitutional vote (AP - Dec 04 2007)


 


 


อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเวเนซุเอลา:


ภัควดี รายงาน : เกิดอะไรในเวเนซุเอลา? เส้นทางวิบาก (อีกครั้ง) ของการปฏิวัติโบลิวาร์ (ประชาไท - 24 พ.ย 2550)


โคปาอเมริกา: เมื่อทีมฟุตบอล "ไวน์แดงแรงฤทธิ์" สะกดอารมณ์คนทั้งชาติ (ประชาไท - 19 ก.ค 2550)


ภัควดี รายงาน: RCTV : สมรภูมิใหม่เพิ่งเริ่มต้น (ตอนที่ 3) (ประชาไท - 17 มิ.ย 2550)


ภัควดี รายงาน : ทางแพร่งของประชาชนเวเนซุเอลา (ตอน2) (ประชาไท - 7 มิ.ย 2550)


ภัควดี รายงาน : ทางแพร่งของอูโก ชาเวซ (ตอนที่ 1) (ประชาไท - 1 มิ.ย 2550)


ฆ่าเวลายุคปวงประชารูดซิปปาก อ่านสัมภาษณ์ปากไร้ซิปของ "อูโก ชาเวซ" (ประชาไท - 4 ต.ค. 2549)


คลายเครียดจากรัฐประหารหวานเย็น ด้วยสุนทรพจน์ร้อนฉ่าของ "อูโก ชาเวซ" ณ สหประชาชาติ (ประชาไท - 24 ก.ย. 2549)


 


 


กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net