Skip to main content
sharethis



 


 


 


 


คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน  ออกจดหมายเชิญชวนประชาชน ร่วมแสดงพลังปิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระบุสภาชุดนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นโดยปราศจากความสงสัยแล้วว่าได้ทำหน้าที่ออกกฎหมาย เพื่อเพิ่มอำนาจให้ระบบราชการ แต่กลับบั่นทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนำพาประเทศและสังคมไทยไปสู่ระบบราชการเป็นใหญ่ที่ทำให้ระบบราชการมีอำนาจควบคุมสังคมเพิ่มขึ้น


 


ทั้งนี้การปิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะมีขึ้นในเวลา 07.00 น. ของวันที่ 12 ธันวาคม 2550 เพื่อมิให้ สนช. เข้าประชุมสภาได้ โดยจะมีการระดมประชาชนผู้ได้รับผลกระทบหลายพันคนจากหลายเครือข่ายเข้าร่วม เพื่อเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติยุติการออกกฎหมายทุกฉบับที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพและคุกคามการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขของประชาชนโดยทันที เพื่อให้รัฐสภาที่มีตัวแทนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในอีก 20 กว่าวัน เป็นผู้ออกกฎหมาย และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อไป นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติที่ไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกต่อไป ได้ใช้วิจารณญาณแสดงความรับผิดชอบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการลาออกจากตำแหน่งโดยทันที


 


 


0 0 0


 


เอกสารประกอบ


 


แถลงการณ์ เรื่อง


ปิดสภานิติบัญญัติรักษาการ หยุดการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน



 


 


โดยที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ เป็นสภานิติบัญญัติที่เกิดจากการแต่งตั้งของคณะทหารที่ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และสถาปนาตัวเองเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ทำหน้าที่เสมือนสภาผู้แทนราษฎรในการออกกฎหมาย ทั้งที่โดยแท้จริงแล้ว เป็นสภาที่ทำหน้าที่ภักดีต่อผู้แต่งตั้ง หรือรับผิดชอบต่อระบบราชการอันเป็นฐานที่มาของสมาชิกส่วนใหญ่โดยไม่รับผิดชอบต่อประชาชน และอยู่เหนือการควบคุมตรวจสอบโดยประชาชนอย่างสิ้นเชิง


 


ดังนั้น สภาชุดนี้ จึงได้พิสูจน์ให้เห็นโดยปราศจากความสงสัยแล้วว่าได้ทำหน้าที่ออกกฎหมาย เพื่อเพิ่มอำนาจให้ระบบราชการ แต่กลับบั่นทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนำพาประเทศและสังคมไทยไปสู่ระบบราชการเป็นใหญ่ที่ทำให้ระบบราชการมีอำนาจควบคุมสังคมเพิ่มขึ้น ถือเป็นการขัดเแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ซึ่งมีความมุ่งหมาย "เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนยิ่งขึ้น สนับสนุนให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรมและมีสัมฤทธิผล" แต่ในระยะเวลาเดือนกว่ามานี้ และเหลือเวลาอยู่เพียงไม่ถึง 30 วันที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 สภาชุดนี้กลับเร่งรัดพิจารณาออกกฎหมายที่สำคัญอย่างเร่งรีบ โดยปราศจากความรับผิดชอบต่อประชาชนและต่อรัฐธรรมนูญ ดังกรณีตัวอย่าง ต่อไปนี้


 


1. ร่างกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร มีสาระสำคัญเป็นการขยายอำนาจให้กองทัพควบคุม


สังคม โดยปราศจากการตรวจสอบจากสถาบันตุลาการ อันเป็นภัยคุกคามต่อหลักสิทธิเสรีภาพ หลักการปกครอง


ระบอบประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ


 


2. ร่างกฎหมายป่าชุมชน มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเงื่อนไขตัดสิทธิชุมชนที่จัดการป่าชุมชนที่อยู่ชายขอบเขตอนุรักษ์อยู่ในขณะนี้ประมาณ 1000 ชุมชนทั่วประเทศ โดยไม่ยอมรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการ การดูแลรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามมาตรา 66 ของรัฐธรรมนูญ


 


3. ร่างกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ มีสาระสำคัญเป็นการให้รัฐมีอำนาจบริหารจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จใน 3 รูปแบบ คือ รูปแบบการพัฒนาแหล่งน้ำ การผันน้ำ การทำลายสิ่งกีดขวางทางน้ำในยามน้ำท่วม, รูปแบบการบริหารจัดการหรือการใช้น้ำ และรูปแบบการกำหนดการใช้ที่ดิน รวมทั้งไม่รับรองสิทธิของชุมชนที่จัดการน้ำที่มีอยู่เดิม ซึ่งได้รับการรับรองตามมาตรา 66 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตลอดจนผู้ใช้น้ำต้องเสียค่าใชัน้ำ


 


4. ร่างกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีสาระสำคัญเป็นการให้หน่วยงานรัฐ


เป็นเจ้าของสื่อวิทยุโทรทัศน์อยู่เช่นเดิม และการให้รัฐมีอำนาจควบคุม หรือห้ามเสนอข่าวสารโดยการสั่งการด้วยวาจา


หรือหนังสือระงับรายการที่เสนอผ่านสื่อสาธารณะ


 


5. ร่างกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ มีสาระสำคัญเป็นการให้อำนาจรัฐนำรัฐวิสาหกิจมาเปลี่ยนสภาพให้เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด และการกระจายหุ้นแก่เอกชน อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ และทำให้ประชาชนเสียสิทธิที่จะเข้าถึงสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต


 


6. ร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบหลายฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการแปรรูปมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เข้าสู่การบริหารโดยอาศัยกลไกตลาด อันจะมีผลกระทบต่อสิทธิการเข้าถึงการศึกษาของประชาชนผู้ยากจน อิสรภาพทางวิชาการ และหลักประกันทางด้านสวัสดิการของบุคลากรของมหาวิทยาลัย


 


คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน มีความเห็นว่าการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นการเพิ่มอำนาจให้หน่วยงานของรัฐ และทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดกับหลักการแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2550 รวมทั้งมีแนวโน้มจะสร้างความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐและประชาชนให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น  จึงขอเรียกร้อง ดังนี้


 


1. ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติยุติการออกกฎหมายทุกฉบับที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพและคุกคามการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขของประชาชนโดยทันที เพื่อให้รัฐสภาที่มีตัวแทนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในอีก 20 กว่าวัน เป็นผู้ออกกฎหมาย และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อไป


 


2. ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติที่ไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกต่อไป ได้ใช้วิจารณญาณแสดงความรับผิดชอบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการลาออกจากตำแหน่งโดยทันที


 


3. ให้ประชาชนเข้าชื่อกันให้มากที่สุด เพื่อเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติหยุดการทำหน้าที่ออกกฎหมาย  


 


 


แถลง ณ รัฐสภา วันที่29 พฤศจิกายน 50


คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)


และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net