Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 50 นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 โดยให้ไว้ ณ วันที่ 9ธันวาคม 2550 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80พรรษา 5 ธันวาคม 2550 นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อเป็นการถวายพระราชกุศลและเพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวัดประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป คือตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคมนี้


 


นายวันชัย กล่าวต่อว่า จากการสำรวจตัวเลขนักโทษที่มีสิทธิได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ปล่อยตัวประมาณ 25,000 ราย โดยนักโทษประหารที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต มีทั้งสิ้น 85 ราย


 


ในส่วนที่เป็นอดีตนายแพทย์ได้รับอภัยโทษ ประกอบด้วย น.ช.ศรชาติ ศิริโชติ หรือหมอแฮม อดีตแพทย์ประจำ ร.พ.พระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ถูกจำคุกคดีฆ่าเผาอำพรางศพ พ.ญ.พัทธนันท์ ไชยวงค์ หรือหมอออม แฟนสาว อดีตแพทย์ประจำ รพ.ปง จ.พะเยา คารถเก๋ง, น.ช.บัณฑิต โฆษิตชัยวัฒน์ ผู้ต้องโทษจำคุกคดีฆ่า นางศยามล ลาภก่อเกียรติ แฟนสาว และนพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ ผู้ต้องโทษฆ่าหั่นศพภรรยาที่เป็นแพทย์ รพ.จุฬาฯ หลังทั้งหมดอาสาเป็นแพทย์รักษานักโทษประจำเรือนจำกลางบางขวาง จนได้เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม รวมถึง พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือผู้พันตึ๋ง ผู้ต้องโทษฆ่าอดีต ผวจ.ยโสธร ส่วน น.ช.เสริม สาครราษฎร์ ผู้ต้องโทษจำคุกตลาดชีวิต จากคดีฆ่าหั่นศพ น.ส.เจนจิรา พลอยองุ่นศรี แฟนสาว ลดโทษเหลือจำคุก 40ปี


 


สำหรับนายรักเกียรติ สุขธนะ อดีต รมว.กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องโทษจำคุกคดีทุจริตการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์และคดีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พรบ.) ว่าด้วยการใช้เช็ค ซึ่งขณะนี้ถูกจำคุกในเรือนจำกลางอุดรธานี ได้รับลดโทษให้เหลือโทษจำคุก 4 ปี 4 เดือน 17วัน


 


ส่วน พล.ต.ต. ชะลอ เกิดเทศ อดีต ผบช.ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ผู้ต้องโทษคดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูกตระกูลศรีธนะขันธ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ไม่มีสิทธิได้รับพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้เนื่องจากคดีไม่ถึงที่สุด


 


สำหรับนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ปล่อยตัว มีทั้งสิ้น 7 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ว่ากรณีความผิดคดีเดียว หรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่รวมกันไม่เกิน 1ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ 2. ผู้ต้องโทษที่พิการตาบอด 2ข้าง มือเท้าด้วนทั้ง 2ข้าง 3. นักโทษที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน ไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์) หรือโรคจิต ซึ่งทางราชการได้ทำการรักษามาแล้วไม่น้อยกว่า  3 เดือนและแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2 คนรับรองว่าไม่สามารถจะรักษาหายในเรือนจำ 4. ผู้ต้องขังหญิงซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรกและรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของกำหนดโทษ 5. ผู้ต้องขังที่อายุไม่ต่ำกว่า 60ปีบริบูรณ์ ที่รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 6. ผู้ต้องขังที่อายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรกและรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 และ 7. นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมซึ่งเหลือโทษจำคุกรวมกันไม่เกิน 2 ปี


 


ส่วนนักโทษเด็ดขาดที่ไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ให้ได้รับพระราชทานลดโทษ ได้แก่ 1. ผู้ต้องโทษประหารให้ลดลงเป็นจำคุกตลอดชีวิต 2. ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตให้ลดลงเป็นโทษจำคุก 40ปี 3. ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษ ดังนี้ ชั้นเยี่ยม ลดโทษ 1 ใน4,ชั้นดีมาก ลดโทษ 1 ใน 5, ชั้นดี ลดโทษ 1 ใน 6, ชั้นกลาง ลดโทษ 1 ใน 7 ส่วนผู้ต้องโทษจำคุกเพราะความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทให้ลดโทษ 2 ใน 3 ส่วนนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นพิเศษอีก 1 ปี



 


 


ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net