Skip to main content
sharethis

Thaiclimate.org รายงาน


 


 


สัปดาห์นี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยงยุทธ ยุทธวงศ์ พร้อมด้วยข้าราชการระดับสูงและทีมนักวิชาการอีกรวมกว่า 50 ชีวิต ยกคณะไปยังบาหลี เพื่อร่วมประชุมสุดยอดระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดโดยองค์การสหประชาชาติ


 


แม้ว่าการประชุมคราวนี้ ทางฝ่ายประเทศไทยจะยกทีมมาเป็นคณะใหญ่สุด นับแต่เคยเข้าร่วมการประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมา แต่ความยิ่งใหญ่ของขนาดของกลุ่ม ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่าเราจะมีความสำเร็จในการเจรจาต่อรองครั้งนี้ เพราะความคาดหวังของผลลัพท์การประชุม ซึ่งว่ากันว่าจะเป็นตัวกำหนดกรอบกติกาของโลก ในการควบคุมการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายหลังพิธีสารเกียวโตสิ้นสุดระยะเวลาการบังคับ กลับแปรผกผันกับจำนวนผู้เข้าร่วมการประชุม นั่นคือผู้แทนเยอะ ความคาดหวังน้อย


 


หลังจากเฝ้าสังเกตพฤติกรรมกลุ่มของคณะผู้แทนไทยมาได้ 2-3 วัน ฉันก็ค้นพบเหตุผลเชิงประจักษ์ ว่าทำไมจำนวนผู้แทนไทยถึงไม่สะท้อนคุณภาพและความคาดหวัง


 


"เรามาที่นี่เพื่อจะเรียนรู้" เป็นคำตอบสุดคลาสสิกที่จะได้รับเมื่อคุณถามใครก็ตามที่อยู่ในทีมเจรจา คำตอบนี้จะฟังขึ้นอย่างมากหากดังขึ้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วตอนที่ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่งจะได้รับการพูดถึงในระดับโลก และการเจรจาเรื่องโลกร้อน และการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังเป็นเรื่องใหม่ แต่ปัจจุบัน อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC มีผลบังคับใช้มาแล้วนานกว่า 13 ปี และพิธีสารเกียวโต ซึ่งเป็นเครื่องมือในการลดปัญหาภาวะโลกร้อนตาม UNFCCC ก็เพิ่งจะเป่าเค้กฉลองอายุครบ 1 ทศวรรษ ไปในวันอังคารที่ผ่านมานี้เอง


 


ตลอดระยะเวลา 13 ปี ของ UNFCCC มีการประชุมของเจ้าหน้าที่อาวุโสและการประชุมสุดยอดระดับรัฐมนตรีของประเทศภาคีสมาชิกทุกปี และการประชุมที่บาหลีครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ 13 แล้ว แต่ผู้แทนไทยก็ยังคง "มาที่นี่เพื่อที่จะเรียนรู้"


 


ศุภวิทย์ เปี่ยมพงศ์ศานต์ ที่ปรึกษาองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ย้อนถามฉันว่า "คุณจะคาดหวังอะไรนักหนา ผมเพิ่งรู้ตัวว่าต้องมาก็ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง" โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงรู้ตัวว่าต้องเป็นหนึ่งในทีมคณะเจรจาช้านัก


 


ศุภวิทย์ยอมรับว่าการประชุมครั้งนี้จะมีผลต่อประเทศไทยเมื่อคณะผู้แทนมีการเตรียมตัวที่ดีพอ


 


"ที่ควรจะเป็นคือใครก็ตามที่จะต้องมาที่นี่ควรจะมีโอกาสศึกษาวาระการประชุมก่อนล่วงหน้าสัก 6 เดือน ผมเองแม้แต่ตอนนี้ยังไม่มีแม้กระทั่งเอกสารของหัวข้อการเจรจาในมือเลย แล้วคุณคิดว่า ผมควรจะพูดอะไรเมื่อต้องเข้าไปนั่งในห้องประชุมกับผู้แทนจากประเทศอื่น"


 


นักวิทยาศาสตร์ต่างพากันส่งเสียงบอกเราว่าถึงเวลาต้องลงมือทำแล้ว ทำไมเราถึงยังต้องเสียเงินจำนวนมาก ส่งคนจำนวนมหาศาล เพื่อมาปฏิบัติภาระหน้าที่ของการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งถึงที่สุดแล้วไม่ต่างอะไรกับการนั่งเสิร์ชอินเทอร์เน็ตจากที่บ้าน


 


ว่ากันว่าภาระหน้าที่ของการเป็นผู้แทนเจรจาส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์เพียงแค่ไม่กี่คน หนึ่งในนั้นคือ อารี วัฒนา ทุมมาเกิด  จากสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานเลขาฯ ในประเทศไทยของ UNFCCC


 


อารี วัฒนา เดินทางมาถึงบาหลี 2  สัปดาห์ที่แล้วก่อนที่การประชุมจะเริ่มต้นขึ้น เธอเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ทุ่มเททำงานเพื่อสิ่งที่เรียกกันว่า "ท่าทีประเทศไทย"


ผู้สังเกตการณ์บางคนบอกว่าอารี วัฒนา เกือบจะโดดเดี่ยวเดียวดายอยู่ในห้องวางยุทธศาสตร์ของไทย เพราะเธอไม่สามารถจะประสานข้ามหน่วยงานได้ นอกเหนือจาก สผ. แล้วข้าราชการระดับสูงจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพรรณพืช, กรมป่าไม้ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ รวมถึงนักวิชาการที่ได้รับการสนับสนุนการเดินทางจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ต่างก็ถือเป็นทีมคณะเจรจาหลักของฝ่ายผู้แทนไทยกันทั้งนั้น


 ดร.แสงจันทร์ ลิ่มจิรการ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงกับสิ้นหวังอย่างแรงกับการไม่มีการเตรียมตัวที่ดีของฝ่ายไทย สุดท้ายจึงตัดสินใจเข้าร่วมทีมเจรจาจากประเทศจีนแทน


 


"ดิฉันกำลังสนใจประเด็นระยะยาวอย่างการสร้างศักยภาพซึ่งเป็นประเด็นทีทีมคณะเจรจาไทยไม่ให้ความสำคัญ ดิฉันจึงคิดว่ามันน่าจะดีกว่าที่จะเข้าร่วมทีมกับเพื่อนจากเมืองจีน ทุกคนในทีมเจรจาของจีนกำลังเร่งมือแข่งกับเวลา เพื่อกำหนดท่าทีของประเทศตัวเองในเรื่องนี้" ดร.แสงจันทร์ กล่าว


 


นอกเหนือจากการเจรจาที่เป็นทางการแล้ว การประชุมที่บาหลีในครั้งนี้ ยังเต็มไปด้วยกิจกรรมคู่ขนานมากมาย รวมกว่า 200 รายการ ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและจัดขึ้นโดยองค์กรพัฒนาเอกชน มหาวิทยาลัย บริษัทที่ปรึกษา ธนาคาร หน่วยงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งหลายทั้งปวงไม่มีแม้กิจกรรมเดียวจะจัดขึ้นโดยหน่วนงานในประเทศไทย


 


ดร.สิตานนท์ เจษฎาพิพัฒน์ นักวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นผู้แทนทางการขององค์กรกาชาดสากลแห่งเนเธอร์แลนด์ และโครงการจันทร์เสี้ยวสีแดงเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Red Crescent Climate Change Programme) มองว่าตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งยกทีมมา 7 คน ภายใต้การนำของรองผู้ว่าฯ บรรณโศภิศิษฐ์ เมฆวิชัย ควรจะใช้เวทีนี้ให้เป็นประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์นโยบายและกิจกรรมดีๆ ของ กทม. เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน


 


" กทม. น่าจะเตรียมการนำเสนอแผนของตัวเองที่จะแก้ไขปัญหาจากการคมนาคมขนส่ง ซึ่งเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด ในตอนที่มีการเจรจาเรื่องของ CDM" สิตานนท์ กล่าว


 


สิตานนท์วางแผนว่าจะจัดคุยวงย่อยสำหรับคณะผู้แทนไทยและนักวิชาการภายหลังกลับจากบาหลีคราวนี้ เพื่อที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนดูว่าใคร "เรียนรู้" อะไรมาบ้าง และจัดลำดับความสำคัญของประเด็นต่างๆ


"ผมไม่อยากให้เอกสารเป็นตั้งๆ ที่เราได้จากการประชุมคราวนี้ ถูกนำกลับไปกองให้ฝุ่นเกาะจนถึงการประชุมครั้งต่อไป (ในโปแลนด์ ปีหน้า)"


 


ขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับนี้อยู่ รมต.ยงยุทธ ก็กำลังจะกล่าวปาฐกถาต่อที่ประชุมใหญ่ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าปาฐกถาของท่านรัฐมนตรีสุดท้ายก็จะเป็นเพียงอีกหนึ่งโวหารทางการทูตที่สวยหรูที่จะได้รับการบันทึกไว้ฐานะส่วนหนึ่งของโวหารมากมายของการประชุม ทายได้เลยว่าประเด็นร้อนแรงอย่างการปรับตัวเพื่อตอบรับกับปัญหาภาวะโลกร้อน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างศักยภาพ จะเป็นหัวข้อที่อยู่ในปาฐากถาของท่าน ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ตกกระแสภาวะโลกร้อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะคาดหวังได้ว่าศัพท์แสงๆ ใหญ่ๆ โตๆ เหล่านั้นจะเป็นเครื่องยืนยันศักยภาพของประเทศในการเป็นผู้นำการลดปัญหาภาวะโลกร้อน


 


จริงๆ ไม่ใช่ประเทศไทยประเดียวที่มีทีมคณะเจรจาเช่นที่พูดมา แต่นั่นเป็นลักษณะร่วมของทีมเจรจาจากประเทศกำลังพัฒนาเกือบทุกประเทศ ยกเว้นพี่ใหญ่ในการปลดปล่อยก๊าซทั้ง 3 ประเทศ คือ จีน อินเดีย และบราซิล แต่ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี ซึ่งส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้เป็นค่าเดินทางและที่พักของคณะผู้แทนไทยในการประชุมครั้งนี้ อยากเห็นผลของการเข้าร่วมประชุมที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากกว่านี้


 


ปัจจุบันคนไทยเริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อนมากขึ้น แต่รัฐบาลกลับแสดงให้เห็นว่ายังไม่ได้ใส่ใจกับบทบาทหน้าที่ของตัวเองอย่างที่ควรจะเป็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net