องค์กรผู้บริโภคผิดหวัง คณะรัฐมนตรี คืนทรัพย์ 1.5 หมื่นล. คิดค่าเช่าท่อ5% ตีความทรัพย์สินแบบแคบ

นายไชยา ยิ้มวิไล โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (18ธ.ค.) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการโอนทรัพย์สินทและท่อก๊าซฯคืนกระทรวงการคลังตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงานที่ได้หารือกับกระทรวงการคลัง และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาก่อนหน้านี้ อาทิ กรมธนารักษ์ กรมสรรพากร กรมที่ดิน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อหาแนวการดำเนินการตามพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา

 

โดยที่ประชุมฯ เห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจและสิทธิของบมจ.ปตท. ที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา ประกอบด้วย ทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ตกเป็นของกระทรวงการคลัง เป็นทรัพย์สินที่บมจ.ปตท.ได้รับจากการแปรสภาพโอนจากการปิโตรเลียมฯ ในวันที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชน โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังรับไปแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว และให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง หากมีข้อโต้แย้งด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความพิพากษาของศาล ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป

 

ทั้งนี้ บมจ.ปตท.มีสิทธิในการเช่าหรือใช้ทรัพย์สิน คือท่อส่งก๊าซฯ ที่ได้โอนคืนให้กระทรวงการลัง โดยครม.ได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดอัตราค่าเช่าในส่วนของทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อ เพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าเช่าให้แก่ บมจ.ปตท. ภายใน 3 สัปดาห์ ทั้งนี้หลักเกณฑ์การคิดค่าเช่าจะต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการทางการค้าที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย คือ กระทรวงการคลัง ปตท. ผู้ถือหุ้นปตท. และผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยคำนึงถึงภาระผูกพันต่างๆ ที่ปตท.ต้องรับ โดยเบื้องต้นคาดว่าอัตราการเช่าจะไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ของรายได้ค่าผ่านท่อ ในส่วนของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่จะต้องแบ่งแยกคืนกระทรวงการคลังตลอดระยะเวลาเช่า 30ปีนับตั้งแต่ 1 ต.ค.2544-30 ก.ย. 2574

 

นอกจากนี้ ให้กรมที่ดินรับไปพิจารณาเรื่องค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนเช่าทรัพย์สิน รวมทั้งให้คลังและมหาดไทยไปพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องในเรื่องภาระภาษีที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่การแปรสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จนถึงวันที่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินอย่างถูกต้อง

 

แหล่งข่าวจากที่ประชุมครม. เปิดเผยว่า แม้วาระการพิจารณาเรื่องนี้ กระทรวงพลังงาน จะนำเข้าสู่ที่ประชุมในวาระพิจารณาจร เรื่องที่ 1 ซึ่งมีการพิจารณาตั้งแต่ช่วงเช้า โดยใช้เวลาเพียง 10 นาที โดยไม่มีรัฐมนตรีคนใดแสดงความเห็น มีเพียงนายปิยสวัสด์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน เท่านั้นที่เป็นผู้ชี้แจง

 

"โดยเฉพาะประเด็นอัตราค่าเช่าท่อส่งก๊าซฯ ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ของรายได้ค่าผ่านท่อนั้น ไม่มีใครคัดค้านแม้แต่คนเดียว โดยใช้เวลาพิจารณาเพียง 10 นาทีเท่านั้น" แหล่งข่าวระบุ

 

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ได้เห็นชอบในหลักการที่กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงานหารือกัน ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ให้โอนอสังหาริมทรัพย์ และท่อก๊าซ ฯ ส่งคืนให้กับทางกระทรวงการคลัง นอกจากนั้นเป็นเรื่องการเสียภาษี โดยจะคิดประมาณ 5 %ของรายได้ ส่วนการจัดตั้งคณะกรรมการกลาง ได้มอบหมายให้ทั้งกระทรวงการคลังและพลังงานไปดำเนินการต่อ ในเรื่องการประเมินราคาต่างๆนั้นจะต้องมีการศึกษารายละเอียดเพื่อทำการตกลงร่วมกันอีกครั้ง

 

ส่วนสาเหตุที่ครม.เห็นชอบในการจัดเก็บค่าตอบแทนในการเช่าท่อก๊าซฯที่ 5% ซึ่งไม่สอดคล้องกับราคาตลาดกลาง พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าววว่า ได้เป็นหลักการว่าจะไม่ต่ำกว่า 5% อาจจะสูงกว่านั้น ถ้ามีการพิจารณาแล้วเห็นว่าสูงกว่านั้น

 

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า สินทรัพย์ที่ปตท.จะต้องคืนให้กับกระทรวงการคลังนั้น คือ ที่ดินที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศ ได้มาโดยการใช้อำนาจเวนคืนและได้โอนให้กับบมจ. ปตท.จำนวนเนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ อยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง มูลค่าประมาณ 7 ล้านบาท รวมทั้งสิทธิเหนือที่ดินของเอกชนที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยโอนให้กับ บมจ.ปตท. มูลค่าประมาณ 1,124 ล้านบาท

 

ขณะที่ท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 3 เส้น คือ โครงการท่อบางปะกง-วังน้อย โครงการท่อจากชายแดนไทยพม่า-ราชบุรี และโครงการท่อราชบุรี-วังน้อย ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 14,008 ล้านบาท รวมมูลค่าทางบัญชีของทรัพย์สินที่เป็นของกระทรวงการคลังตามคำวินิจฉัยของศาลปครองสูงสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 ประมาณ 15,139 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ได้มอบให้กรมธนารักษ์ดำเนินการคิดอัตราค่าเช่าในส่วนของทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อ เพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าเช่าให้ปตท. ภายใน 3 สัปดาห์ ซึ่งต้องคิดอยู่บนพื้นฐานที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย คือ กระทรวงการคลัง ปตท. ผู้ถือหุ้นของปตท. และผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยคำนึงถึงข้อจำกัดภาระผูกพันที่ปตท.ต้องรับภาระ ในเบื้องต้นอัตราค่าเช่าไม่ต่ำกว่า 5% ของรายได้ค่าผ่านท่อ ในส่วนของระบบท่อส่งก๊าซที่จะต้องคืนกระทรวงการคลัง หลังหักค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการและการบำรุงรักษา 3%

 

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า บริษัทประเมินเบื้องต้นว่า อัตราค่าเช่า จากทรัพย์สินที่โอนให้รัฐ 1.5 หมื่นล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี นับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2544 จะมีมูลค่าประมาณ 8,800 ล้านบาท โดยหากต้องจ่ายย้อนหลังค่าเช่าท่อที่ 5 % จะอยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 200 ล้านบาทต่อปี ส่วนในอนาคต อัตราค่าเช่าอาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่คาดว่าภาษีโรงเรือน ภาษีจากค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ฯลฯ คาดว่า อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท ดังนั้น จำนวนเงินที่ ปตท.ต้องจ่ายให้กระทรวงการคลังในปีนี้ อยู่ที่ 3,200 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานบ้างในไตรมาส4/2550

 

 "ในส่วนของกลุ่มองค์กรอิสระ หากไม่พอใจต่อการพิจารณาค่าภาษีที่ปตท. จะต้องจ่ายแล้วก็ยื่นคำร้องต่อศาลฯนั้น ในส่วนของปตท.ก็พร้อมที่จะชี้แจงและอธิบายได้ ซึ่งอะไรที่จะต้องจ่ายปตท.ก็พร้อมจ่าย เพราะปตท.ทำงานอย่างโปร่งใส ในส่วนของท่อก๊าซไทย-มาเลเซียนั้น ถือเป็นในส่วนของบริษัทเอกชน"นายประเสริฐ กล่าว

 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและบัญชีองค์กร บมจ.ปตท. กล่าวว่า การบันทึกความเสียหายที่เกิดขึ้นถึงแม้จะทราบผลประมาณปีหน้า แต่ตามมาตรฐานทางบัญชีจะต้องบันทึกในไตรมาสที่เกิดขึ้น ขณะที่การจ่ายค่าเช่าท่อก๊าซฯ ย้อนหลัง 6 ปี ในอัตราขั้นต่ำร้อยละ 5 จำนวนเงิน 1,200 ล้านบาท และการจ่ายภาษีอีก 2,000 ล้านบาท รวม 3,200 ล้านบาท

 

เช่นเดียวกับการโอนท่อก๊าซฯ และทรัพย์สินอื่นๆ มูลค่า 15,000 ล้านบาท จะบันทึกในงบการเงินไตรมาส 4 ซึ่ง ปตท.มั่นใจว่าไม่มีผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทมากนัก เพราะจำนวนเงินไม่สูงมาก และ บริษัทสามารถนำค่าเช่าท่อก๊าซฯ มาหักเป็นค่าใช้จ่ายในงบการเงิน ขณะเดียวกันค่าเสื่อมราคาในการดูแลท่อก๊าซฯ ซึ่งเดิม ปตท.จะต้องหักไว้จากรายได้หลังจากโอนให้กระทรวงการคลังแล้วก็จะไม่มี

 

ทั้งนี้ ปตท.เตรียมเดินสายชี้แจงข้อมูลให้กับนักลงทุนต่างชาติและกองทุนให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความวิตกกังวลในการลงทุนหุ้นปตท. โดยปตท.จะโอนทรัพย์สินและท่อก๊าซฯของ ปตท.ให้กับกระทรวงการคลังจะเสร็จสิ้นภายใน 120 วัน นับตั้งแต่มีการประกาศบังคับใช้พรบ.ประกอบกิจการพลังงานเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2550

 

นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า แนวทางในการจัดเก็บภาษีการโอนทรัพย์สินจำนวน 15,000 หมื่นล้านบาทของบมจ.ปตท.นั้นจะไม่มีภาระในส่วนการการโอน เพราะถือว่าสินทรัพย์เหล่านั้นไม่ใช่ของปตท.ตั้งแต่ต้นแต่เป็นของรับ การโอนไปมานั้นเป็นเพียงการย้ายบัญชีเพื่อให้เกิดความถูกต้องตามคำพิพากษา ดังนั้น จึงไม่มีภาระภาษี

 

อย่างไรก็ตาม การโอนทรัพย์สินดังกล่าวนั้นจะมีภาษีในส่วนของเงินลงุทนในท่อก๊าซของปตท.ในช่วงที่ผ่านมาจำนวน 15,000 ล้านบาทนั้นได้มีการลงบัญชีว่าเงินในส่วนนี้เป็นเงินลงทุนและนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายมาตลอด ดังนั้น เมื่อเงินในส่วนนี้ไม่ใช่รายจ่ายก็ต้องตีกลับมาเป็นรายได้ และต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 30% ของวงเงินดังกล่าวภายในปีบัญชีนี้ด้วย ซึ่งส่วนนี้จะต้องมีผลกระทบต่อผลประกอบการของปตท.บ้างเล็กน้อย

 

ด้านองค์กรผู้บริโภค ในฐานะผู้ฟ้องคดีปตท. แถลงภายหลังรับทราบมติคณะรัฐมนตรีว่า มีความผิดหวังคณะรัฐมนตรีที่มีมติเห็นชอบกับกระทรวงพลังงานทั้งๆ ที่ตีความทรัพย์สินของชาติแบบคับแคบ และมีแนวโน้มไม่สอดคล้องกับคำพิพากษา เปรียบเสมือนเห็นแก่ปตท. มากกว่าทรัพย์สินของชาติ พร้อมเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แถลงข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับรายการทรัพย์สินว่า โครงการไหนบ้างที่เข้าข่ายเป็นสมบัติชาติ และมูลค่าการตลาดของทรัพย์สินนั้นในปัจจุบัน ป้องกันการบิดเบือนข้อเท็จจริงของปตท. เพราะที่ผ่านมาทรัพย์สินซึ่งเป็นของรัฐลดลงจากการแถลงข่าวของปตท. จากเดิมที่อ้างว่าต้องคืนแสนล้าน วันนี้กลับแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เพียง 15,000 ล้านบาท ทั้งที่หากคิดเพียงมูลค่าท่อทางทะเลมีมูลค่าสูงถึง 150,000 ล้านบาทแล้ว หรือแม้แต่ท่อก๊าซไทยพม่าใช้เงินลงทุนมากถึง 16,500 ล้านบาท โดยยังไม่รวมการรอนสิทธิการเวนคืนที่ดิน

 

นางสาวสารี อ่องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิองค์กรผู้บริโภค หนึ่งในผู้ฟ้องคดี ระบุว่า ที่ผ่านมา ทางฝ่ายปตท. และกระทรวงพลังงาน ได้ให้ข้อมูลว่า ท่อทางทะเล ซึ่งมีความยาวถึง 1,359 กิโลเมตร ไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดิน ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและบิดเบือน คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยมาตรา 33 แห่งพ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 ได้ระบุไว้ว่าในเขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ไม่ว่าบนบกหรือในน้ำ หรือใต้พื้นท้องน้ำ หรือพื้นท้องทะเล ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใด ๆ เนื่องจากท่อส่งก๊าซใต้ทะเล

 

ดังนั้น โดยข้อเท็จจริง ไม่มีบุคคลใดที่จะสามารถใช้อำนาจในการขุดเจาะ อันเกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคแก่ระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากปตท. ดังนั้นท่อส่งส่งกาซใต้ทะเลจึงถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ปตท.สามารถมีอำนาจทำลายสิ่งอื่นใดที่อยู่ใกล้ระบบการขนส่งทางท่อได้ แม้แต่ไม่สามารถทำอาชีพประมง ทอดสมอเรือในแนววางท่อส่งกาซได้ หากพิจารณาเฉพาะระบบท่อขนส่งก๊าซทางทะเลก็มีมูลค่าสูงเกิน 100 เท่า ที่ทางปตท.แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แล้ว

 

สำหรับเรื่องภาษีควรเป็นภาระของปตท. ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่จะต้องจ่ายภาษีแทนบริษัทปตท. การคิดค่าเช่าราคาถูกเกินไปไม่สอดคล้องกับกำไรของปตท. และอนุมัติให้เช่าระยะยาวในราคาเดิมตลอดระยะเวลาการเช่า ทำให้รัฐสูญเสียประโยชน์ ขณะที่ปตท.มีกำไรมากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปีในปัจจุบัน

 

องค์กรผู้บริโภคเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดอย่างเคร่งครัด หากไม่เป็นไปคำพิพากษา จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และเรียกร้องเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการที่แต่งตั้ง และเปิดเผยบัญชีรายการทรัพย์สินและมูลค่าทรัพย์สินตามมูลค่าที่แท้จริง เพื่อให้สาธารณชนได้มีส่วนร่วมและตรวจสอบทรัพย์สินของรัฐในครั้งนี้ และเรียกร้องให้ปตท.รับผิดชอบต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ หากให้ข้อมูลเท็จหรือปั่นหุ้นต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในครั้งนี้

 

ทางด้านนายณฐกร แก้วดี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ปตท. ซึ่งในฐานะพนักงานปตท.ล้วนได้รับการจัดสรรหุ้น จะเปิดแสดงจุดยืนของพนักงานร่วมกันในวันพฤหัสฯที่ 20 ธ.ค.นี้ ที่ อาคารสำนักงานใหญ่ปตท. ถ.วิภาวดี

 

 

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท