ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: ลักษณะ 4 ประการของ "การเลือกตั้ง" ในสถานการณ์ "รัฐประหาร"

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.50   ศูนย์ศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาหัวข้อ "รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง กับความหวังของประชาชน" (คลิกที่นี่เพื่ออ่านข่าวย้อนหลัง) ที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักบริการคอมพิวเตอร์ อาคารบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย สุนันท์ ศรีจันทรา ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จินตนา แก้วขาว กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บ่อนอกหินกรูด อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ และนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแห่งรัฐฮาวายอิ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 

และนี่คือการอภิปรายของศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ซึ่งเขาเสนอว่าการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม มีลักษณะสำคัญ 4 ประการ หนึ่งในนั้นคือมันเป็นการเลือกตั้งในสถานการณ์รัฐประหาร และเขายืนยันว่ารัฐประหารครั้งนี้ไม่ใช่รัฐประหารเพื่อ "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" แต่เพื่อสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น คำตอบจะเป็นรัฐประหารเพื่อ "ระบอบอำมาตยาธิปไตยชุบแป้งทอด" หรือไม่ โปรดติดตาม

 

000

 

 

 

 

สำหรับหัวข้อ "รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง กับความหวังของประชาชน???" เป็นเรื่องที่ผมมีความเห็นบางเรื่องซึ่งอาจเหมือนผู้อภิปรายหลายๆ ท่าน และบางเรื่องอาจไม่เหมือนเสียทีเดียว เริ่มต้นด้วยการบอกว่าผมมองการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไรก่อน และถัดจากนั้นจะบอกในส่วนที่ผมมองไม่เหมือนผู้อภิปรายท่านๆ อื่น อย่างไรบ้าง

 

ประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญ และเหมือนกับผู้อภิปรายท่านอื่นๆ มี 4 ข้อ คือ

 

ข้อแรก การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีลักษณะเฉพาะมากๆ คุณจาตุรนต์ให้ภาพที่ชัดเจนอยู่แล้ว คือมีการยึดอำนาจ มีการรัฐประหาร ประเด็นที่คุณจาตุรนต์ยังไม่ได้พูดให้มากพอคือ การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสถานการณ์หลังรัฐประหาร หลังการยึดอำนาจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการเลือกตั้งในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนหลายๆ กลุ่ม ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะกลุ่มที่ผู้ยึดอำนาจมองว่าเป็นฐานของพรรคพลังประชาชน หรือผู้นิยมพรรคพลังประชาชน

 

นี่เป็นประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญมากๆ และเราจะต้องใส่ Remark ไว้ให้เยอะในฐานะที่เราเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ ว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในสภาพซึ่งผู้นิยมพรรคการเมืองบางพรรคถูกบล็อก หรือว่าการรณรงค์ทางการเมืองของพรรคการเมืองบางพรรคถูกบล็อกมันจะส่งผลกับการเมืองอย่างไรบ้าง ในฐานะคนเรียนรัฐศาสตร์นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ

 

ข้อที่สอง การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นท่ามกลางการพยายามทำลายสถาบันการเมืองในระบบรัฐสภา ในช่วงหลังวันที่ 19 กันยา รวมทั้งก่อน 19 กันยาเป็นต้นมา ผมคิดว่าประเด็นนี้ประเด็นที่สำคัญ และคนเรายังพูดกันไม่มากนัก ในการเอามาคิดเรื่องการเลือกตั้งว่า การทำลายสถาบันทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงก่อน 19 กันยา และเกิดอย่างรุนแรงหลัง 19 กันยา เป็นสิ่งที่เราควรจะเอามาคิดหรือไม่กับการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

การทำลายสถาบันทางการเมือง คืออะไรบ้าง ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาหลังรัฐประหารมีการทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง มีการทำลายสถาบันสภาผู้แทนราษฎร เรื่องของการทำลายสถาบันรัฐสภา ทำลายระบบวุฒิสมาชิก

 

ซึ่งการทำลายระบบวุฒิสมาชิกเป็นเรื่องประหลาดมากที่สุดในประเทศนี้ เพราะเรามีรัฐประหารหลังมีการเลือก ส.ว. มาได้ไม่นาน และพอรัฐประหารปุ๊บ พวก ส.ว. ที่ถูกยึดอำนาจไปก็ไม่มีใครโวยวายเลยว่าผมเพิ่งถูกประชาชนเลือกมาเป็นแสนๆ คะแนน อยู่ดีๆ ทหารมาปล้นคะแนนผมไป ผมควรจะปกป้องตัวเองอย่างไร ไม่มีใครพูดเลย

 

หรือเรื่องรัฐประหาร 19 กันยาเอง ผมคิดว่าก็เป็นเรื่องที่ตลกดี คนชอบพูดกันเยอะว่ารัฐประหาร 19 กันยาเกิดขึ้นเพราะว่าคนไม่ชอบทักษิณเยอะ หรือเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการนองเลือด

 

แต่เรื่องรัฐประหาร 19 กันยา คนไม่ค่อยพูดว่า มันเป็นรัฐประหารที่เกิดก่อนการเลือกตั้ง 2 อาทิตย์ คนที่เรียนรัฐศาสตร์ ควรจะถามว่า การก่อรัฐประหาร ในช่วงก่อน 2 อาทิตย์ที่จะมีการเลือกตั้งมีความหมายทางการเมืองอย่างไร และจะอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองได้อย่างไรบ้าง หรือว่าคนที่เรียนรัฐศาสตร์ปี 3 ปี 4 ขึ้นไป อาจจะคิดต่อว่าการก่อรัฐประหารในก่อนมีการเลือกตั้ง 2 อาทิตย์มันส่งผลกระทบต่อการเมืองอย่างไรบ้าง มันแสดงให้เห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร มองระบบการเมืองทั้งหมดอย่างไรบ้าง

 

นี่เป็นประเด็นที่ผมคิดว่ามีความสำคัญมากๆ ในการเอามาคิดกับการเลือกตั้งครั้งนี้ข้อที่ 2

 

ข้อที่สาม การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นในภาวะการเมืองที่มีการทำลายกระบวนการสร้างผู้นำทางการเมืองในสังคมไทย สิ่งที่อาจารย์อรรถจักร์พูดเรื่องบทบาททางการเมืองของ พล.อ.เปรม ผมคิดว่าเป็นช่วงที่มีสำคัญมากๆ เพราะว่าช่วง 8 ปีที่ พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งผมต้องออกตัวก่อนว่าตอนนั้นผมยังเด็กอยู่ ช่วง พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ทำให้คนไทยจำนวนมากคิดว่าอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีพลเอกเปรม น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก … เป็นของ พล.อ.เปรม (ผู้ฟังหัวเราะ)

 

ในช่วง 8 ปีนั้น สำคัญมาก เพราะเป็นไปได้อย่างไรที่คนทั้งประเทศคิดว่าอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มี "ป๋า" แต่หลังป๋าลงจากอำนาจไป เราก็มี พล.อ.ชาติชาย มีคุณชวน มีคุณบรรหาร เยอะแยะเต็มไปหมด

 

ในช่วงหลังรัฐประหารและก่อนรัฐประหารเล็กน้อย ก็มีคนพยายามที่จะทำให้คนไทยรู้สึกว่าชนชั้นนำหรือนักการเมืองที่อยู่ในระบบรัฐสภาเป็นคนที่ไม่สามารถจะเป็นผู้นำประเทศนี้ได้เลย ตัวอย่างเช่น ช่วงก่อนที่มี รัฐประหาร คนที่เป็นแคนดิเดตทางการเมืองคือคุณทักษิณ (ชินวัตร) กับคุณบัญญัติ (บรรทัดฐาน) คนที่ไม่ชอบทักษิณก็จะรู้สึกว่า เมื่อมองไปที่คุณบัญญัติ ก็เห็นว่าไม่ไหว หนวดแกสวยอย่างเดียว

 

พอหลังรัฐประหารยิ่งไปกันใหญ่ มองไปที่คนเสนอตัวเองเป็นแคนดิเดตผู้นำประเทศ เราก็จะเห็นคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, คุณสมัคร สุนทรเวช, คุณสุวิทย์ คุณกิตติ ซึ่งนักศึกษาหลายๆ คนอาจไม่รู้จักว่าเขาเป็นมาอย่างไร ทั้งที่จริงๆ เขาเป็นนัการเมืองที่ให้ความสำคัญมากกับการพัฒนากิจการสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ปี 2529 แต่หลายๆ คนก็ไม่รู้จัก เพราะในทางการเมืองเขาไม่ได้มีบทบาทอะไร และคุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ซึ่งโดนคดีไปแล้ว ทั้ง 4 คนที่เสนอตัวในการเลือกตั้งก็เป็นเรื่องน่าประหลาด ที่คนส่วนใหญ่คงรู้สึกว่าไม่น่าจะเป็นความหวังให้เราได้

 

นอกจากนี้การเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีความพยายามจะทำให้คนรู้สึกว่าผู้นำทางการเมืองหรือรัฐสภาเป็นความหวังของประเทศไม่ได้ ซึ่งก็อาจจะเป็นความจริงบ้าง แต่ผมคิดว่ากระบวนการเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญว่า ความรู้สึกแบบนี้มันเกิดมาได้อย่างไร ทำไมคนถึงรู้สึกว่าผู้นำทางการเมืองที่ดีหรือเหมาะสมไม่ได้มาจากกระบวนการของรัฐสภา แต่ต้องมาจากกระบวนการนอกรัฐสภา เช่น อาจจะนึกถึงคุณสุเมธ ตันติเวชกุล เมื่อปีก่อนก็นึกถึง พล.อ.สุรยุทธ์ เขายายเที่ยงนะครับ และเมื่อปีก่อนใครพูดเรื่องเขายายเที่ยงจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากพูดถึง แต่ตอนนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนชอบพูด

 

คำถามแบบเป็นคำถามที่สำคัญทางรัฐศาสตร์ ที่ว่ากระบวนการอะไรที่ทำให้คนไทยรู้สึกว่าผู้นำทางการเมืองที่ดีไม่ได้อยู่ในระบบรัฐสภาแต่ต้องอยู่นอกระบบรัฐสภา แล้วความหมายทางการเมืองนี้คือว่า คนไทยไม่เชื่อว่าระบบรัฐสภาไม่ใช่ทางออกของประเทศ ซึ่งนี้เป็นลักษณะสำคัญของการเลือกตั้งที่กำลังเกิดอยู่ในสภาวะแบบนี้

 

ข้อที่สี่ การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่พยายามจะใช้อำนาจซึ่งเป็นอำนาจที่มาจากส่วนกลาง อำนาจที่มาจากกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอำนาจในส่วนที่อยู่เหนือระบบราชการขึ้นไป อำนาจที่อยู่นอกระบบราชการขึ้นไป มาทำลายอำนาจที่มาจากท้องถิ่น ทำลายอำนาจที่มาจากภูมิภาค และทำลายระบบการเมืองที่เป็นทางการ

 

ขออนุญาติเน้นนิดหนึ่งว่า หลังรัฐประหาร 19 กันยา ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารจำนวนมากพยายามจะบอกว่า 19 กันยาเป็นการรัฐประหารของระบบราชการ แต่จริงๆ แล้ว 19 กันยาเป็นรัฐประหารที่มีความแตกต่างกับรัฐประหารอื่นๆ หลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะเรื่องของการประเมินสถานภาพระบบราชการในปัจจุบัน

 

เพราะตั้งแต่ 19 กันยา เราจะเห็นว่าระบบราชการไม่ใช่พลังหลักในการทำเรื่องต่างๆ แต่กลายเป็นกลุ่มพลังที่อยู่เหนือระบบราชการ กลายเป็นกลุ่มพลังที่อยู่นอกระบบราชการ แต่สามารถสั่งให้ระบบราชการทำงานแทนได้ เพราะฉะนั้น 19 กันยาไม่ใช่รัฐประหารของระบบราชการ ไม่ใช่รัฐประหารเพื่ออำมาตยาธิปไตย แต่เป็นรัฐประหารเพื่ออะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่าอำมาตยาธิปไตยขึ้นไป

 

จึงเกิดคำถามที่ว่าการเลือกตั้งภายใต้เงื่อนไขแบบนี้มันคืออะไร

 

โดยภาพรวมแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ คนที่เรียนรัฐศาสตร์สาขาการเมืองเปรียบเทียบ คงจะเคยได้ยินแนวคิดหนึ่งที่นักรัฐศาสตร์เปรียบเทียบพูดถึงสถานการณ์ที่ทหารในโลกที่ 3 เข้ามาแทรกแซงกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ นักรัฐศาสตร์จะใช้คำอธิบายเหตุการณ์หรือสถานการณ์เหล่านี้ว่า เป็นสถานการณ์ที่คนที่มีอำนาจฐานะผู้ปกครองแต่ไม่ได้ทำการปกครองเอง หรือว่า Ruling without governing

 

กรณีสังคมไทยประเด็นนี้เอามาใช้ได้ คือ คนที่มีอำนาจในฐานะเป็นผู้ปกครองแต่ไม่ได้ทำการปกครองเอง ในช่วงหลังรัฐประหารเป็นต้นมามันเกิดขึ้นได้อย่างไร form ตัวเองขึ้นมาได้อย่างไร จะส่งผลต่อการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไรบ้าง

 

อยากฝากให้คิดกันว่า ถ้าเราพิจารณาการเลือกตั้งครั้งนี้ในกรอบของความคิดว่าการเมืองไทย หลัง 19 กันยาเป็นความพยายามทำให้คนบางกลุ่มมีอำนาจในการปกครอง โดยที่ไม่ต้องแสดงตัวตนต่อสาธารณะ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นใงื่อนไขแบบนี้ มันจะมีความหมาย มีความสำคัญอย่างไรบ้าง

 

ขอยกตัวอย่างถึงความประหลาดของการเลือกตั้งครั้งนี้ ถึงความประหลาดของสถานการณ์ที่เรียกว่า Ruling without governing ซึ่งนักรัฐศาสตร์ใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน ซึ่งเราอาจปรับใช้แนวคิดนี้ อธิบายกับสถาบันที่ไม่ใช่ทหารได้

 

ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ข่าวที่ใหญ่มากๆ ในหนังสือพิมพ์การเมืองไทย คือเรื่องคุณบรรหาร ไม่ใช่เรื่องคุณบรรหารตกท่อ หรือคุณบรรหารเช็ดหน้าให้น้องแบม และคนสนใจและเป็น Entertainment นะครับ แต่ข่าวสำคัญที่เกี่ยวกับคุณบรรหารก็คือ คุณบรรหารไปพูดที่อีสานว่าไม่มีปัญหาในการร่วมมือกับพรรคพลังประชาชนในการตั้งรัฐบาล แต่พูดที่กรุงเทพฯว่าจะร่วมมือกับอภิสิทธิ์ จะไม่ทำให้ผู้ใหญ่ที่นับถือมา 30 ปีเสียใจ ต้องผิดหวัง คนก็เลยถามว่า เอ๊ะ! ตกลง คุณบรรหารนี่เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนแปลงคำพูดหรือเปล่า คุณบรรหารก็บอกว่า อย่างไรก็ตามแกจะเชื่อผู้ใหญ่ที่แกนับถือมา 30 ปี จะฟอร์มรัฐบาลกับคนที่ผู้ใหญ่ฝากไว้

 

ซึ่งถ้ามันเกิดในประเทศที่มันเป็นประชาธิปไตยมันจะเป็นเรื่องปาหี่ หรือมันตลกนะครับ สมมติไปประกาศในอังกฤษเวลาจะมีการเลือกตั้งว่า รัฐบาลพรรคแรงงานจะตั้งรัฐบาลอย่างไร แล้วหัวหน้าพรรคแรงงานบอกว่าผมจะตั้งรัฐบาลแบบที่ผู้ใหญ่ที่นับถือ 30 ปีฝากผมไว้ ในอเมริกามีการเลือกตั้ง แล้วผู้สมัครประธานาธิบดีบอกว่าผมจะตั้งแบบที่ผู้ใหญ่ที่ผมนับถือ 30 ปี ขอผมไว้ มันตลกไหมครับ

 

แต่กรณีของการเมืองไทย คำอธิบายหรือคำให้สัมภาษณ์แบบนี้ มันไม่มีใครขำ เพราะว่ามันเป็นสภาพความเป็นจริงที่ทุกคนรู้ว่า ในที่สุดแล้วการฟอร์มรัฐบาลก็ดี การตัดสินใจทางการเมืองต่างๆ ในช่วงเวลานี้ก็ดี มันไม่ได้เกิดขึ้นในกระบวนการทางรัฐสภา ไม่ได้เกิดขึ้นในกระบวนการพรรคการเมือง แต่มันเกิดในกระบวนการที่อยู่นอกรัฐสภาออกไป

 

แล้วก็เป็นปรากฏการณ์ที่อันตราย เพราะมันกลายเป็นเรื่องที่ธรรมดา มันถูกทำให้กลายเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของกระบวนการทางการเมืองในประเทศนี้ ซึ่งความคิดอย่างนี้มันผิดและไม่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการประชาธิปไตย เพราะมันทำให้เรายอมรับว่าการเลือกผู้นำประเทศไม่ได้ตัดสินที่เสียงของคนที่สนับสนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด พรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ตัดสินกันจากอิทธิพลที่อยู่นอกการเลือกตั้ง ตัดสินกันจากการเจรจาตกลงที่นอกการเลือกตั้ง ตัดสินกันจากเรื่องที่ผู้ใหญ่คุยกันมาแล้ว เพราะฉะนั้นเงื่อนไขแบบนี้การเลือกตั้งมันไม่มีความหมายทางการเมืองอะไร แล้วมันจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ทำให้คนไทยรู้สึกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันไม่มีเหตุผล มันไร้สาระ เพราะโดยตัวกระบวนการทั้งหมด มันเป็นกรอบคิดของคนไทยมาเป็นเวลานานว่าการเลือกตั้งไม่มีความหมาย เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเราถูกตัดสินจากกระบวนการที่อยู่นอกเหนือการเลือกตั้งแล้ว เพราะฉะนั้นจะไปเลือกตั้งกันทำไม

 

ผมคิดว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่คงจะไม่ช่วยทำให้ประชาธิปไตยพัฒนา เผลอๆ จะทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังก็ได้ เช่น ประเด็นหลักๆ ของการถกเถียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้อยู่ที่เรื่อง การมีนโยบายทางสังคมเพื่อประชาชน การมีนโยบายเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในปัจจุบัน หรือความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากๆ แต่เรื่องที่น่าสนใจที่สุดกลายเป็นเรื่องที่ว่า พรรคพลังประชาชนจะได้เป็นนายกฯ หรือเปล่า

 

ประเด็นอันหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญ และขอเสนอกันให้คิดคือ ถ้าเรามองการเลือกตั้งด้วยกรอบแบบนี้ เผลอๆ โจทย์ที่จะคิดในการเลือกตั้งอาจจะไม่ได้อยู่ในเรื่องที่ว่าพรรคพลังประชาชนจะได้เป็นนายกฯ หรือเปล่า หรือคุณอภิสิทธิ์หล่อจึงเหมาะที่จะเป็นนายกฯ หรือเปล่า ผมรู้สึกว่าหลายๆ คนที่เลือกคุณอภิสิทธิ์เลือกด้วยเหตุผลว่าเพราะภาษาอังกฤษดี ลีลาดี แต่ไม่มีใครพูดเลยในแง่ของนโยบายในการพัฒนาประเทศ ว่านโยบายการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคตจะเป็นอย่างไร การเลือกตั้งในครั้งนี้ผมเห็นว่าถึงที่สุดแล้วเกณฑ์การประเมิน การในการตัดสินใจในการเลือกตั้งจึงไม่ควรดูแค่เรื่องคุณอภิสิทธิ์หรือคุณสมัครว่าใครดีกว่ากัน

 

แต่เรื่องที่สำคัญมากๆ และเป็นสิ่งที่กำหนดอนาคตการเมืองไทยหลังจากนี้ไปคือ การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นในเงื่อนไขทางการเมืองที่ไม่เป็นประประชาธิปไตยในหลายๆ เรื่อง มีการใช้สถาบันนอกรรัฐสภาเข้ามาแทรกแซงการเมือง มีการใช้อำนาจที่ไม่อยู่ในระบบมาแทรกแซงตลอดเวลา ในที่สุดแล้วการเลือกตั้งจะชี้อนาคตการเมืองไทยว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ปล่อยให้รัฐสภาและพรรคการเมือง อยู่ใต้อาณัติของกระบวนการนอกรัฐสภา กระบวนนอกพรรคการเมืองหรือเปล่า

 

ผมคิดว่าประเด็นที่สำคัญว่าในการไปลงคะแนนการเลือกตั้ง คำถามที่เราควรจะคิดก็คือ นักการเมืองหรือว่าพรรคการเมือง หรือคนที่เราจะไปลงคะแนนให้เขา ผลจากการลงคะแนนของเราจะส่งผลต่อระบบการเมืองไทยในอนาคตอย่างไรบ้าง จะทำให้การแทรกแซงของพลังที่อยู่นอกระบบการเมือง จะทำให้การแทรกแซงของพลังที่อยู่เหนือการเมืองขึ้นไป ต่อระบบการเมืองในปัจจุบัน ต่อระบบพรรคการเมือง ต่อสภาผู้แทนราษฎร มันจะเติบโตขึ้นหรือจะอ่อนแอลง เรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นสำคัญ

 

นี่จะเป็นสิ่งที่จะกำหนดชีวิตของพวกเราเป็นไปอีกนานมาก ช่วงสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา หลายท่านที่ติดตามข่าวคงเห็นความพยายามที่จะออกกฎหมายต่างๆ มากมาย ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันของเราโดยตรง เช่น ร่างกฎหมายเซ็นเซอร์ มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการตั้งองค์กรบางอย่างขึ้นมาเพื่อปฏิรูปสื่อ ซึ่งกระบวนการร่างมีการกำหนดสเปกไว้แล้วว่าจะให้ใครเข้ามามีตำแหน่งบ้าง ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีความพยายามให้ผ่านสภานิติบัญญัติชุดนี้ก่อนการเลือกตั้ง

 

กระบวนการเหล่านี้มันเกิดขึ้นในช่วงแบบนี้ และหลายๆ คนไม่ให้ความสำคัญกับมันเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านี้จะผลอย่างมากกับวิถีชีวิตประจำวันของพวกเรา ตัวอย่างเช่น กฎหมายคอมพิวเตอร์ที่ตำรวจสามารถเรียกให้ผู้บริหารเว็บไซต์เก็บข้อมูลของเราในอินเตอร์เน็ตย้อนหลังได้ 90 วัน ซึ่งกฎหมายแบบนี้ทำให้อำนาจเผด็จการไม่ใช่เรื่องแค่นอกบ้านหรือท้องถนนแล้ว แต่มันกำลังจะเข้ามาอยู่หน้าประตูห้องนอนของเรา

 

การเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องมองในกรอบว่า สถาบันที่อยู่นอกการเมือง เข้ามาคุมการเมืองในระบบ และในที่สุดมันจะเข้ามาคุมชีวิตประจำวันของเราด้วย อย่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่หลายๆ ท่านก็พูดไปแล้ว ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ต้องอภิปรายกันต่อว่าจะส่งผลกระทบอะไรกับพวกเราบ้าง

 

 

 

 

ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้อง

เสวนาที่ ม.เชียงใหม่ "เลือกตั้งในสถานการณ์รัฐประหาร", ประชาไท, 8 ธ.ค. 2550

จาตุรนต์ ฉายแสง: คนบ้านเลขที่ 111 มอง "การเลือกตั้ง" ในสถานการณ์ "รัฐประหาร", ประชาไท, 18 ธ.ค. 2550

จินตนา แก้วขาว: พิทักษ์บ้านเกิด อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใต้เงา "กฎอัยการศึก" ประชาไท, 19 ธ.ค. 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท