Skip to main content
sharethis








หมายเหตุจากประชาไท


 


เหตุการณ์ยิงเยาวชนในค่ายผู้ลี้ภัยชาวกะเรนนีเสียชีวิต เมื่อคืนวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา ก่อนที่จะกลายเป็นเหตุตอบโต้ ทำลายข้าวของ ยานพาหนะของ อ.ส. โดยวัยรุ่นในค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งสื่อกระแสหลักได้พิพากษาพวกเขาแล้วว่าผู้ลี้ภัยได้ทำการ "ก่อจลาจล" นั้น


 


"ประชาไท" ขอนำเสนอบทความ "เหตุเกิดที่ "ในสอย" : อีกมุมหนึ่งของเหตุการณ์จลาจลเมื่อ 15 ธ.ค. 2550 ที่ค่ายผู้ลี้ภัยกะเรนนี แม่ฮ่องสอน" โดย ทิวา พรหมสุภา ที่ผู้เขียนต้องการให้เป็น "สื่อกลางให้ผู้ที่มักไม่มีโอกาสส่งเสียงถึงสังคมไทยได้เป็นที่รับฟังบ้าง" เพราะในช่วงที่ผ่านมา ข่าวสารในสื่อนั้นเป็นข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หรือแม้แต่มาจากการคาดเดาของนักข่าวเองโดยอ้างว่ามีผู้ให้สัมภาษณ์ ขณะที่ผู้ลี้ภัยชาวกะเรนนีไม่มีโอกาสได้ส่งเสียงผ่านสื่อมาก่อน ทั้งที่พวกเขามีสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ที่จะชี้แจงข้อกล่าวหาที่ว่า พวกเขาเป็นผู้ขออาศัยที่ไม่รู้คุณ ได้แต่ก่อความเดือดร้อนให้กับประเทศไทย


 


และนี่คือ อีกมุมหนึ่งของเหตุการณ์ที่ค่ายผู้ลี้ภัยกะเรนนี แม่ฮ่องสอน โปรดบรรจงอ่านทุกบรรทัด ทีละตัวอักษร ที่สำคัญโปรดใช้หัวใจที่เชื่อว่ามนุษย์ไม่ว่าที่ไหนก็เป็นมนุษย์ดุจเดียวกัน ด้วยหวังว่ามายาคติเรื่อง "ชาตินิยม" "แบ่งเขาแบ่งเรา" จะถูกลบเลือนออกไปจากหัวใจ


 


และเราจะเข้าใจกันและกันมากกว่าที่เป็นอยู่


 



 



งานศพของเยาวชนชายที่ถูกยิงเสียชีวิต ในค่ายผู้ลี้ภัยชาวกะเรนนี


 


 


0 0 0


 


ชื่อบทความเดิม


เหตุเกิดที่ "ในสอย" : อีกมุมหนึ่งของเหตุการณ์จลาจลเมื่อ 15 ธ.ค. 2550 ที่ค่ายผู้ลี้ภัยกะเรนนี แม่ฮ่องสอน


โดย ทิวา พรหมสุภา


 



ไม่มีการเผาตามที่บางแหล่งกล่าว


โดยทั่วไปแล้วผู้ลี้ภัยย่อมไม่เผาไฟ


เนื่องจากอาจลามติดบ้านเรือนได้




เราก็รู้ว่าถนนในค่ายเล็กนิดเดียว พอคนมามากมันก็ดูเต็มถนน


แต่ก็ไม่ได้มีการปิดกั้น ไม่ได้มีปฏิกิริยาก้าวร้าว


เพียงแต่แน่นอนว่าสีหน้าแต่ละคนไม่ปกติ


อาจจะเครียด โกรธ กังวล จึงดูน่ากลัวและทำให้เข้าใจผิด



พวกเขาส่วนใหญ่ทุกๆ ค่าย "กลัว" อ.ส.


และเข้าใจว่า อ.ส. มีอำนาจหน้าที่ใหญ่โต (อาจยิ่งกว่าทหาร)


มีผู้รายงานว่า กระทั่งเจ้าหน้าที่มหาดไทยด้วยกันยังเอ่ยปากว่า


"ไปทำอะไรเขาไว้ เขาถึงได้ต้องทำอย่างนี้"


เพราะเมื่อมีผล ก็ย่อมต้องมีเหตุ คำกล่าวว่า


ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่รู้ว่าทำไมจึงเกิดขึ้น จึงเข้าใจได้ยาก


 



อันที่จริงแล้ว หลายท่านก็ยอมรับว่า


ในหลายกรณี ผู้ลี้ภัยที่ไปมีปัญหากับอ.ส.ก็ไม่ใช่ "คนน่ารัก" นัก


บางคนก็ "เกเร" หรือเมา


แต่ทั้งนี้ อ.ส. หรือเจ้าหน้าที่รัฐไทยคนใดก็ตาม


ก็ไม่มีสิทธิทั้งตามกฎหมายและจริยธรรม


ที่จะลงโทษด้วยการ "ทุบตี" หรือ "ซ้อม" ใครทั้งสิ้น


ไม่ว่าคนไทย หรือผู้ลี้ภัย


 



ผู้เขียนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรง


ในค่ายในสอยอย่างต่อเนื่อง


ถึงข้อร้องเรียนเรื่องการลวนลามเด็กสาว


รวมไปจนถึงการใช้อำนาจและสถานะ


หลอกลวงหญิงกะเรนนีจนตั้งครรภ์แล้วไม่รับผิดชอบ


คำกล่าวอ้างว่าผู้กระทำเป็น "คนนอก" กระทำนั้น


ก็เข้าใจได้ยากอีกเช่นกัน


เนื่องจาก อ.ส.ประจำค่ายผลัดประมาณ 30 คนนั้น


เป็นที่รู้จักหน้าตากันดีในค่ายอยู่แล้ว



ผู้เขียนไม่ได้มองว่า การกระทำของเด็กวัยรุ่นที่ไปขว้างปาข้าวของใส่ อ.ส.


ตลอดจนทำลายทรัพย์สินทั้งของราชการและส่วนตัวของ อ.ส.นั้น


เป็นการกระทำที่ถูกต้อง


หากการแก้ปัญหาที่ "ถูกต้อง"


ก็ย่อมต้องสืบเสาะที่มูลเหตุที่มาที่ไป จึงจะแก้ได้


ดังนั้น อีกคำถามที่น่าคิดก็คือ


เหตุใดอ.ส.ค่ายในสอย จึงมีปัญหาความขัดแย้งกับผู้ลี้ภัย


จนมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมอ.ส.ที่นี่มากมายกว่าของค่ายอื่น


 


 


0 0 0


 


 






คำเตือนก่อนอ่าน


           


ก่อนที่ท่านจะอ่านบทความนี้ ผู้เขียนขอเรียนว่า วัตถุประสงค์ของงานชิ้นนี้ คือการเป็นสื่อกลางให้ผู้ที่มักไม่มีโอกาสส่งเสียงถึงสังคมไทยได้เป็นที่รับฟังบ้าง เพราะในช่วงที่ผ่านมา ข่าวสารในสื่อนั้นเป็นข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หรือแม้แต่มาจากการคาดเดาของนักข่าวเองโดยอ้างว่ามีผู้ให้สัมภาษณ์ ซึ่งแท้จริงแล้ว เจ้าหน้าที่องค์กรมนุษยธรรมและหน่วยงานรัฐต่างยังไม่มีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสื่อได้อย่างอิสระ ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ปฏิบัติงานและขององค์กร


           


บางท่านอาจมองว่า บทความชิ้นนี้ไม่เป็นกลางและเข้าข้างผู้ลี้ภัย ผู้เขียนจึงขอเรียนอธิบายไว้ก่อนว่า ในกรณีที่มีความอยุติธรรม ผู้เขียนย่อมเลือกข้าง โดยไม่เข้าข้างผู้กระทำผิด และแม้บทความนี้จะเลือกส่งเสียงที่มีความคิดเห็นข้อมูลในทางเดียวกัน แต่ก็เป็นด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มคนดังกล่าวไม่มีโอกาสได้ส่งเสียงผ่านสื่อมาก่อน ผู้ลี้ภัยกะเรนนีย่อมมีสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ที่จะชี้แจงข้อกล่าวหาที่ว่า พวกเขาเป็นผู้ขออาศัยที่ไม่รู้คุณ ได้แต่ก่อความเดือดร้อนให้กับประเทศไทย


           


ท้ายสุด ผู้อ่านทุกท่านมีสิทธิที่จะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อบทความนี้ เช่นเดียวกับที่ท่านมีสิทธิจะเลือกว่าท่านจะเชื่อข่าวในหนังสือพิมพ์หรือคำให้การของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่อาจยืนยันเต็มร้อยว่าข้อมูลทั้งหมดเป็นความจริง แต่ยืนยันได้ว่า ผู้เขียนได้ข้อมูลทั้งหมดมาจริง จากพยานที่เป็นบุคคลน่าเชื่อถือหลายคน และได้ใช้ตรรกะวิเคราะห์ข้อมูลแล้วอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ดี ภาพใดที่เราไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง ย่อมอาจเป็นภาพที่บิดเบือนได้เสมอ 


           


เช่นเดียวกัน มุม "ผู้ร้าย" ของผู้ลี้ภัยที่ปรากฏในสื่อ ก็เป็นภาพที่เราไม่เคยเห็นด้วยตาตัวเอง และอาจเป็นเพียงภาพบิดเบือนเท่านั้น


 


0 0 0


 


            เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่ อ.ส. ได้ยิงผู้ลี้ภัยชายวัย 21 ปีเข้าด้านหน้าทะลุท้ายทอยเสียชีวิตหนึ่งราย เนื่องจากเกิดเหตุกลุ่มผู้ลี้ภัยไม่พอใจที่อ.ส.เข้าไปทำร้าย และผู้โกรธแค้นก็เข้าทำลายทรัพย์สินของราชการ ต่อเมื่อคณะผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน พร้อมเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายอื่น ๆได้เข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัยวันรุ่งขึ้น ผู้ลี้ภัยก็ยังปิดล้อมและยื่นข้อเสนอต่าง ๆ บางข่าวถึงกับกล่าวว่ามีการเผาทำลายทรัพย์สิน และจับอ.ส.เป็นตัวประกัน


 


            ข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนได้รับทราบมาทั้งจากชาวไทยและกะเรนนีนั้น มีรายละเอียดที่ต่างออกไปไม่น้อย


 


            ผู้ลี้ภัยกะเรนนี ประกอบไปด้วยชนเผ่าย่อย ทั้งชาวกะยาห์ กะยอ กะยัง (เรารู้จักในนามกะเหรี่ยงคอยาว ซึ่งถูกเสนอภาพเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของแม่ฮ่องสอน และปีก่อนมีข่าวว่าถูกกีดกันไม่ให้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม นัยว่าจะทำให้หลายฝ่ายเสียรายได้) ปะกู (หรือกะเหรี่ยงในรัฐกะเรนนี) และอื่น ๆ ชาวกะเรนนีมีอัตลักษณ์ทางการเมือง วัฒนธรรม และภาษาแตกต่างจากชาวกะเหรี่ยง แม้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเผ่าพี่เผ่าน้องกัน แต่การที่มีข่าวพาดพิงว่าเป็น "ผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง" ถือว่าเป็นการมองภาพที่ผิดตั้งแต่ต้นเรื่อง ดังเช่นที่เราจะยืนยันว่า คนไทยและคนลาวนั้นเป็นพี่น้องกัน ทว่าก็ใช้เป็นคำเรียกแทนกันไม่ได้


 


            ผู้ลี้ภัยกะเรนนีหนีความโหดร้ายของสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่ามาหลบภัยในเขตจังหวดแม่ฮ่องสอน โดยปัจจุบันแยกกันอยู่ในสองค่าย ค่ายผู้ลี้ภัยในสอยที่อำเภอเมืองปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยที่ทำทะเบียนไว้แล้วราวหมื่นเจ็ดพันคน และที่เหลือราวสองพันเป็นผู้ขอลี้ภัยใหม่ที่กำลังรอการพิจารณา และค้างคามาเนิ่นนาน


 


            ค่ายผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง-กะเรนนีทั้งเก้าค่ายตลอดแนวชายแดน ได้รับความช่วยเหลือด้านอาหาร ยา การศึกษา ที่พัก และสิ่งจำเป็นอื่นๆ จากองค์กรมนุษยธรรมเอกชนซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นองค์กรต่างประเทศ มีปลัดอำเภอฝ่ายป้องกันเป็นหัวหน้าพื้นที่พักพิงชั่วคราว (ภาษาอังกฤษใช้ว่า camp commander หรือผู้บัญชาการค่าย ซึ่งฟังแล้วอาจจะทำให้เข้าใจขอบเขตอำนาจผิด) มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร หรืออ.ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวของรัฐ ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยภายใต้การบังคับบัญชาของปลัดฯ และมีกรรมการผู้ลี้ภัยประจำค่าย ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆในด้านการบริหารจัดการและความช่วยเหลือ


 


            เหตุจลาจลที่เกิดขึ้นที่ค่ายในสอย เป็นเหตุต่อเนื่องจากงานวันจบการศึกษา 14 ธ.ค. และเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างผู้ลี้ภัยและ อ.ส. ซึ่งดำเนินยืดเยื้อมาเป็นอย่างน้อยกว่าปี


 


            ในงานพิธีวันที่ 14 ธ.ค. เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ อ.ส.ทะเลาะกับเด็กนักเรียน ว่ากันว่ามีการทุบตีทำร้ายฝ่ายผู้ลี้ภัยดังเช่นที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง (แต่ยังไม่มีผู้บาดเจ็บมาแสดงตัว) จนกระทั่งงานวันนั้นต้องล้มเลิก ทางผู้ลี้ภัยจึงได้ขออนุญาตอำเภอจัดงานวันจบการศึกษาใหม่ในวันรุ่งขึ้นโดยขอให้ไม่มีอ.ส.มายุ่งเกี่ยว อย่างไรก็ดี ในเวลาประมาณหกโมงเย็น เหล่าอ.ส.ในค่ายซึ่งประจำการอยู่ราว 30 คน ได้เข้ามาตรวจค้นอาวุธ


           


อ.ส.กลุ่มหนึ่งกล่าวว่า เนื่องจากในงานจะมีการเก็บค่าผ่านประตูเพื่อชมการแสดงบนเวที จึงต้องมาตรวจค้นที่ปากทางเข้า แต่ผู้ลี้ภัยและเจ้าหน้าที่องค์กรมนุษยธรรมที่ทำงานอยู่แจ้งว่า ไม่มีการเก็บค่าผ่านประตูแต่อย่างใด และอ.ส.ได้แบ่งกันเป็นกลุ่มๆ ออกตรวจค้นคนที่มาเที่ยวงานไปทั่วจนทำให้วัยรุ่นหลายคนเริ่มไม่พอใจเพราะทำให้เสียบรรยากาศ จนเวลาประมาณหนึ่งทุ่ม อ.ส.กลุ่มหนึ่งได้พบมีดยาวสำหรับใช้ในบ้านหรือใช้ตัดไผ่ (หนังสือพิมพ์ลงว่าดาบ) เล่มหนึ่ง ซึ่งทั้งข้อมูลของอ.ส.และผู้ลี้ภัยตรงกันว่า ชายผู้นั้นเป็นชาวบ้านนอกค่ายที่เข้ามาเที่ยวงาน (หนังสือพิมพ์ลงว่าเป็นผู้ลี้ภัยถืออาวุธ)


 


            เมื่อถึงตอนนี้ ฝ่ายอ.ส.เล่าเหตุการณ์ไม่ตรงกัน คนหนึ่งกล่าวว่า เพียงแต่ยึดมีดไว้และปล่อยตัวไป ส่วนอีกคนหนึ่งกล่าวตรงกับผู้ลี้ภัยว่า ได้จับชายผู้นั้นไพล่หลังใส่กุญแจมือ ผู้ถูกจับตกใจจึงร้องเรียกเพื่อน


 


            เมื่อเด็กหนุ่มสาวในงานหันมาเห็น คาดว่าด้วยความไม่พอใจที่สะสมมาแต่ดั้งเดิม รวมถึงล่าสุดที่งานโรงเรียนต้องยุติไป ก็ทำให้หลายคนโกรธแค้นจนเริ่มเอากิ่งไม้และก้อนหินขว้างปากลุ่มอ.ส. อย่างที่ไม่เคยกล้ามาก่อน  ฝ่าย อ.ส.ล่าถอยกลับฐานซึ่งมีอยู่สองด้าน โดยทั้งผู้ลี้ภัยและ อ.ส.บางคนบอกว่า มีการยิงปืนขู่เป็นระยะ อย่างไรก็ดี อ.ส.บางคนกล่าวว่าไม่มีการยิงปืนขู่  ในช่วงนั้น มีวัยรุ่นกลุ่มใหม่เดินร้องเพลงปลุกใจภาษากะเรนนีเข้ามาสมทบอีก


 


            เมื่อปลัดฯ เดินทางมาถึงราวสามทุ่มกว่า ก็สั่งให้ อ.ส.สละฐานเนื่องจากกลัวว่าจะคุมสถานการณ์ไม่ได้ อ.ส.ฐานด้านซ้ายได้หลบหนีขึ้นป่าไปออกเส้นชายแดนจนกลับมาได้วันรุ่งขึ้น (หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงว่า ผู้ว่าฯได้ให้สัมภาษณ์ว่าผู้ลี้ภัยจับ อ.ส.ไว้เป็นตัวประกัน ซึ่งทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ เอกชน ผู้ลี้ภัย ต่างยืนยันว่าไม่จริง เพียงแต่ในตอนเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น อ.ส.ส่วนหนึ่งที่หลบหนีไปยังกลับมาไม่ถึง) ขณะนั้น มีเสียงปืนยิงเป็นระยะจากฐานด้านขวา และมีเด็กนักเรียนคนหนึ่งเสียชีวิต


 


            จากการชันสูตรพบว่าเป็นกระสุนจากอ.ส. แม้อ.ส.จะปฏิเสธในตอนแรกว่าไม่มีใครยิงปืน กระทั่งบางคนก็บอกว่า มีเสียงปืนเพียงนัดเดียว และบางคนว่าไม่มีเสียงปืนเลย ทั้งนี้ อ.ส.อีกหลายคนและผู้ลี้ภัยยืนยันว่า มีเสียงปืนกราดยิงไม่น่าจะต่ำกว่า 20 นัด แต่ยังไม่มีพยานให้การว่า การยิงนั้นเป็นการชี้เป้าไปที่ผู้ลี้ภัย หรือยิงขู่แล้วพลาด


 


            เมื่อมีผู้เสียชีวิต กลุ่มผู้ชุมนุมก็ตะโกนบอกกัน และมีคนไปประกาศต่อด้วยระบบเสียงตามสายในสำนักงานกรรมการค่ายฯ ผู้ลี้ภัยจำนวนมากจึงมาสมทบด้วยความโกรธแค้น  เมื่อทหารไทยเข้ามาถึงราวสี่ทุ่ม ตามคำขอของปลัดและอ.ส.ซึ่งได้ถอยออกไปก่อนหน้าแล้ว ก็ได้พบว่า ผู้ลี้ภัยกำลังทำลายข้าวของ (ไม่มีการเผาตามที่บางแหล่งกล่าว โดยทั่วไปแล้วผู้ลี้ภัยย่อมไม่เผาไฟ เนื่องจากอาจลามติดบ้านเรือนได้) ซึ่งได้แก่ที่กั้นด่าน (เช็คพอยท์) ฐานและที่พักอ.ส. มอเตอร์ไซค์อ.ส. และของส่วนตัวของอ.ส.คือร้านค้า (ซึ่งอยู่ในค่าย?) และรถยนต์สองคัน  มีรายงานว่า ทหารไทยคุมสถานการณ์โดยรักษาระยะห่าง คือไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวตราบที่ไม่มีการทำร้ายคน เจ้าหน้าที่รายหนึ่งกล่าวว่า เมื่อผู้ลี้ภัยเห็นว่าเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปใหม่เป็นทหาร ก็เริ่มเย็นลง เพราะ "เราไม่ใช่เป้าที่เขาเกลียด"


 


            เหตุการณ์เริ่มสงบลงราวเที่ยงคืน กระทั่งในวันที่ 16 ธ.ค.ราว 9 โมงครึ่ง คณะผู้ว่าฯพร้อมตำรวจทหารชั้นผู้ใหญ่และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้เดินทางเข้าไปเพื่อชันสูตรศพและเก็บหลักฐาน เมื่อศพเคลื่อนย้ายออกมา ชาวบ้านก็ค่อยๆ เดินออกมาจากบ้านมาอยู่บนท้องถนน (คาดประมาณโดยตำรวจในเหตุการณ์ว่าน่าจะเกือบหกพันคน แต่หนังสือพิมพ์ลงว่าเป็นหมื่น) างคณะผู้ว่าฯเข้าใจว่าเป็นการประท้วง (บางหนังสือพิมพ์บอกว่า ผู้ลี้ภัยปิดล้อมกักตัวผู้ว่าไว้เจรจา ซึ่งไม่เป็นความจริง และทางคณะผู้ว่าฯก็ไม่ได้เข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น) จึงสั่งให้ถอยออก และให้มีการประชุมกันบริเวณจุดก่อนจะเข้าค่ายแทน อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่รัฐหลายฝ่ายรวมทั้งตำรวจก็เข้าใจชัดเจนเมื่อเห็นภาพต่อเนื่องว่า ที่แท้แล้ว ไม่มีการประท้วง ผู้ลี้ภัยทั้งหลายเพียงแต่มาเคารพศพและดูเหตุการณ์


 


            "เราก็รู้ว่าถนนในค่ายเล็กนิดเดียว พอคนมามากมันก็ดูเต็มถนน แต่ก็ไม่ได้มีการปิดกั้น ไม่ได้มีปฏิกิริยาก้าวร้าว เพียงแต่แน่นอนว่าสีหน้าแต่ละคนไม่ปกติ อาจจะเครียด โกรธ กังวล จึงดูน่ากลัวและทำให้เข้าใจผิด"


 


            ในการเจรจา ผู้ลี้ภัยกะเรนนีเรียกร้องให้หาผู้กระทำผิดมาลงโทษและชดใช้ค่าเสียหาย อีกทั้งให้อ.ส.ทุกนายออกไปจากพื้นที่ โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่อ.ส.ได้ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ข่มขู่ทุบตีทำร้ายร่างกายผู้ลี้ภัยบ่อยครั้ง,  เมาเข้าหาบ้านผู้ลี้ภัยยามวิกาล, ลวนลามเด็กสาว และใช้เงินซื้อเด็กสาวในค่าย


 


            ผู้ลี้ภัยระดับผู้นำชุมชนรายหนึ่งกล่าวว่า เมื่อทางจังหวัดเรียกร้องให้ผู้ลี้ภัยชดเชยค่าเสียหายของทรัพย์สินเช่นกัน ตนก็เข้าใจ โดยต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมไทย หากมีการดำเนินคดีกับผู้ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุอย่างยุติธรรมแล้ว สิ่งใดที่ผู้ลี้ภัยกระทำเกินกว่าเหตุ ก็ย่อมต้องยอมรับและหาทางชดเชย


 


            ล่าสุดจนบัดนี้ ทหารไทยเป็นฝ่ายมาดูแลรอบนอกค่ายแทนอ.ส. ผู้ลี้ภัยยังอยู่ในความเครียด เด็กหนุ่มชาวกะเรนนีมานั่งกันอยู่ที่จุดตรวจเนื่องจากห่วงความปลอดภัยของพวกพ้องตน น่าเศร้าที่ความวิตกกลับไม่ได้มีต่ออันตรายจากกองทัพพม่าที่พวกเขาหนีมา หากเป็นความหวาดกลัวต่อคนของรัฐไทย


 


            น่ายินดียิ่ง ที่เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายอื่น ๆ ทั้งตำรวจและทหารยังคงทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง คนในพื้นที่หรือผู้มีประสบการณ์ตรงกับผู้ลี้ภัยย่อมทราบว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ลี้ภัยมักสงบเสงี่ยมเจียมตัวจนเกือบจะเรียกได้ว่ามากเกินเสียด้วยซ้ำ พวกเขาส่วนใหญ่ทุกๆ ค่าย "กลัว" อ.ส.และเข้าใจว่า อ.ส. มีอำนาจหน้าที่ใหญ่โต (อาจยิ่งกว่าทหาร) มีผู้รายงานว่า กระทั่งเจ้าหน้าที่มหาดไทยด้วยกันยังเอ่ยปากว่า "ไปทำอะไรเขาไว้ เขาถึงได้ต้องทำอย่างนี้" เพราะเมื่อมีผล ก็ย่อมต้องมีเหตุ คำกล่าวว่า ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่รู้ว่าทำไมจึงเกิดขึ้น จึงเข้าใจได้ยาก


 


            ผู้เขียนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงในค่ายในสอยอย่างต่อเนื่อง ถึงข้อร้องเรียนเรื่องการลวนลามเด็กสาว รวมไปจนถึงการใช้อำนาจและสถานะหลอกลวงหญิงกะเรนนีจนตั้งครรภ์แล้วไม่รับผิดชอบ คำกล่าวอ้างว่าผู้กระทำเป็น "คนนอก" กระทำนั้นก็เข้าใจได้ยากอีกเช่นกัน เนื่องจากอ.ส.ประจำค่ายผลัดประมาณ 30 คนนั้นเป็นที่รู้จักหน้าตากันดีในค่ายอยู่แล้ว นอกจากนี้ ไม่ทราบว่าจะเป็นจริงหรือไม่ แต่ผู้เขียนเคยได้รับฟังจากผู้ทำงานในพื้นที่ว่า มีคำบอกเล่ากันในเหล่า อ.ส.ว่า "เด็กในศูนย์ (ผู้ลี้ภัย) น่ะ ซื้อหมูให้กิโล ซื้อเสื้อให้ตัว มันก็มานอนด้วยแล้ว"


 


            ข้อร้องเรียนที่บ่อยครั้งที่สุด เห็นจะเป็นเรื่องเหตุ อ.ส.ทำร้ายร่างกายผู้ลี้ภัย เช่น ใช้ปืนตี เตะ กระทืบ เช่น


 


            "รายหนึ่งทำงานเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและกลับบ้านดึก เดินกลับก็เจอ อ.ส.ตรวจ แกพยายามอธิบาย จะเปิดเอาเครื่องไม้เครื่องมือให้ดู อ.ส.ก็ซ้อมฟันหักเลย บอกว่าคิดว่าเป็นปืน"


 


            อันที่จริงแล้ว หลายท่านก็ยอมรับว่า ในหลายกรณี ผู้ลี้ภัยที่ไปมีปัญหากับอ.ส.ก็ไม่ใช่ "คนน่ารัก" นัก บางคนก็ "เกเร" หรือเมา แต่ทั้งนี้ อ.ส. หรือเจ้าหน้าที่รัฐไทยคนใดก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิทั้งตามกฎหมายและจริยธรรมที่จะลงโทษด้วยการ "ทุบตี" หรือ "ซ้อม" ใครทั้งสิ้นไม่ว่าคนไทย หรือผู้ลี้ภัย


 


            ที่สำคัญ ข้อร้องเรียนเหล่านี้ไม่เคยก้าวไปถึงการดำเนินคดี เนื่องจากในที่สุดแล้ว ทั้งผู้เสียหายและพยานต่างหวาดกลัวต่อคำข่มขู่ จึงไม่มีใครกล้าแจ้งความกับตำรวจ แม้ปัจจุบันหากจะทำ ก็มีฝ่ายกฎหมายขององค์กรเอกชนและสหประชาชาติจะสามารถอำนวยความสะดวกให้เกิดขึ้นได้  เมื่อผู้ถูกกระทำไม่สามารถหาทางออกได้ด้วยกระบวนการยุติธรรม ความเครียดและคั่งแค้นจึงสะสม


 


            แน่นอนที่ว่า ผู้เขียนไม่ได้มองว่า การกระทำของเด็กวัยรุ่นที่ไปขว้างปาข้าวของใส่อ.ส. ตลอดจนทำลายทรัพย์สินทั้งของราชการและส่วนตัวของอ.ส.นั้น เป็นการกระทำที่ถูกต้อง หากการแก้ปัญหาที่ "ถูกต้อง" ก็ย่อมต้องสืบเสาะที่มูลเหตุที่มาที่ไป จึงจะแก้ได้ ดังนั้น อีกคำถามที่น่าคิดก็คือ เหตุใดอ.ส.ค่ายในสอย จึงมีปัญหาความขัดแย้งกับผู้ลี้ภัย จนมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมอ.ส.ที่นี่มากมายกว่าของค่ายอื่น


 


            จากประสบการณ์ของผู้เขียนและผู้ให้ข้อมูลต่าง ๆ อ.ส.ก็เหมือนมนุษย์ทั่วไป คือมีทั้งคนดีและไม่ดี (เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัย) แต่ในค่ายอื่น ๆ ดูเหมือนอ.ส.จะไม่กล้ากระทำการก้าวร้าวรุนแรงและบ่อยครั้งเช่นนี้ และไม่แน่ใจเช่นกันว่า ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ลี้ภัยในค่ายอื่น ๆจะเป็นไปในด้านลบมากถึงขนาดที่มีคำพูดว่า "หากไม่เชื่อฟังอ.ส.จะยิงทิ้ง" หรือ หญิงผู้ลี้ภัยที่สภาพจิตไม่สมบูรณ์ ถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์บ่อยครั้งจนต้องการความคุ้มครองจริงจัง เป็น "ตู้เชื้อโรค"


 


            คำถามสุดท้าย คงเป็นคำถามที่ผู้เขียนไม่สามารถให้คำตอบไว้ได้ในบทความนี้ และคาดว่าหลายท่านที่ทราบเรื่องคงจะมีคำตอบอยู่ในใจ ผู้เขียนหวังเพียงให้บทความนี้ได้เผยอีกแง่มุมหนึ่ง และกระตุ้นเตือนให้มีการสอบสวนอย่างจริงจังลึกลงไปกว่าการหาตัวผู้ที่ยิงผู้ลี้ภัยมาดำเนินคดี


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net