ย้อนดูภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม (ตอนที่ 1)

"มูลนิธิหนังไทย ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ" ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี จัดงานประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ไทยครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ แกลเลอรี่ 2 บางกอกโค้ด (ศูนย์ชุมชนน่าอยู่กรุงเทพ) ถ.สาธรใต้ สถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะช่วยพัฒนาวงการศึกษาภาพยนตร์ในประเทศไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และเป็นเสมือนเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนระหว่างนิสิตนักศึกษา นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป ที่มีความสนใจภาพยนตร์ไทยในแง่เชิงวิชาการ

 

ภายในงานมีการนำเสนองานวิจัยและบทความเชิงวิชาการเกี่ยวกับภาพยนตร์ 13 เรื่อง ซึ่งครอบคลุมประเด็นตั้งแต่ กระบวนการศึกษาภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ ชาตินิยม ความเป็นไทย อัตลักษณ์ ลัทธิหลังสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดฉายภาพยนตร์ชาติพันธุ์ และการสัมมนาเรื่อง "การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์: การคุกคามเสรีภาพทางปัญญา"

 

โดยในหัวข้อ ชาตินิยม และ ความเป็นไทยในภาพยนตร์ไทย อรรคพล สาตุ้ม นักวิชาการและคนทำงานศิลปะอิสระ ได้นำเสนอมุมมองเรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก ผลงานของปรีดี พนมยงค์ ที่เหนือกว่าชาตินิยม"

 

รายงานชุด ย้อนดูภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" : สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม แบ่งออกเป็น 3 ตอน ซึ่งประชาไทจะนำเสนออย่างต่อเนื่องกันไป

 

0 0 0

 

 

 

โดย อรรคพล สาตุ้ม

 

"ปรีดี พนมยงค์" เขียนนวนิยายและสร้างภาพยนตร์ เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" (The King of the White Elephant) ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์อันคล้ายคลึงกับปัญหาทางประวัติศาสตร์ของสงคราม "พม่ารบไทย"  รวมทั้งวีรกรรมอันเป็นอุดมคติของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ "พระเ้จ้าจักรา" ผู้ปกป้องราษฎรจากภัยสงคราม ซึ่ง "พระเจ้าหงสา" ผู้เป็นทรราชและมีจิตใจโหดเหี้ยมทารุณ มักมากในกาม ส่งกองทัพบุกประเทศ เนื่องจากพระเจ้าจักราไม่ยอมประทาน "ช้างเผือก" ตามที่กษัตริย์หงสาขอไว้ ดังนั้น พระเจ้าจักราจึงได้ยกกองทัพไปเผชิญทัพหงสาที่ชายแดน เพราะไม่ต้องการให้ราษฎรเดือดร้อน และได้ท้าทายให้กษัตริย์ของหงสาออกมาต่อสู้กัน "ตัวต่อตัว" บนหลังช้าง เพื่อไม่ให้ทหารต้องบาดเจ็บล้มตาย ซึ่งพระองค์ได้ชัยชนะ แต่แทนที่จะจับทหารศัตรูเป็นเชลย กลับทรงประกาศสันติภาพว่า "อโยธยา มิได้เป็นศัตรูกับชาวหงสา แต่เป็นศัตรูกับกษัตริย์หงสาที่โหดเหี้ยม" จากนั้นจึงปล่อยทหารศัตรูกลับไปสู่อิสรภาพ

 

ในที่สุด พระเจ้าจักรา กษัตริย์แห่งอโยธยา "ผู้เป็นธรรมราชก็ได้รับพระนามใหม่ว่า "พระเจ้าช้างเผือก" ผู้มีเมตตาต่อประชาชนของพระองค์ นอกจากนี้ พระองค์ไม่โปรดความโอ่อาหรูหราในราชสำนัก ไม่โปรดขนบธรรมเนียมประเพณีที่ล้าสมัย เช่น ไม่ประสงค์จะมีพระสนมมากมายถึง 365 นาง แต่พระองค์โปรดการขับช้าง ซึ่งสะท้อนคติโลกทัศน์ทางสิ่งแวดล้อมออกมา เกี่ยวกับคน-สัตว์ คือ ช้าง มีบทบาทสำคัญ ดังที่ปรากฏจำนวนมากในภาพยนตร์อีกด้วย

           

ภาพยนตร์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" โดยปรีดี พนมยงค์ ถูกสร้างขึ้นภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่มีการเรียกร้องสร้างกระแสชาตินิยมไทยขึ้นมาโดยกลุ่มจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งแนวคิดเรื่องชาตินิยมของจอมพล ป.มีอิทธิพลต่อภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในยุคก่อนที่สยามจะกลายเป็นไทย แต่ว่าภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" แตกต่างออกไปจากอุดมการณ์ชาตินิยมดังกล่าว เพราะการเกิดขึ้นของกระแสสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" คือ ตัวแทนของอุดมการณ์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องการสื่อความหมายถึงสันติภาพ และมีจุดประสงค์เพื่อสะท้อนภัยของสงคราม

 

ภายใต้ความขัดแย้งของกระแสชาตินิยมอันแบ่งเขา-แบ่งเราดังที่ว่า ภาพยนตร์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" บ่งชี้ให้เห็นว่า สงครามของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อ โดยไม่เกิดสันติสุขทางใจแต่อย่างใด

 

ด้วยเหตุดังกล่าวซึ่งเป็นความสำคัญของงานวิจัยนี้ ได้ช่วยให้เกิดการค้นคว้าข้อมูลและหลักฐานในบริบทประวัติศาสตร์ของผู้เขียนนวนิยาย ควบคู่ไปกับการตีความผลงานภาพยนตร์ ทำให้อ่านความหมายที่ซ่อนรหัสของภาพยนตร์ออกมา และสิ่งที่ผู้สร้าง คือ ปรีดี พนมยงค์ กับตัวบทของภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" สะท้อนให้เห็นก็คืออุดมการณ์ของชาตินิยมอีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะรื้อให้เห็นความหมายที่เหนือกว่าชาตินิยมในแบบของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งการช่วงชิงของปรีดีได้นำไปสู่ความหมายของการให้ความสำคัญกับสัตว์ คือ จากช้างถึงคน อันเป็นเพื่อนร่วมโลก

 

แนวคิดทางการวิจัยเรื่องชาตินิยมในสื่อภาพยนตร์

"ผลงานชุมชนในจินตนาการ" ของ "เบเนดิก แอนเดอร์สัน" สามารถนำมาวิเคราะห์ภาพยนตร์เกี่ยวกับชาตินิยม [1] โดยการสร้างชุมชนในจินตนาการผ่านประวัติศาสตร์ กฎหมาย ความเชื่อ แผนที่ประเทศ หรือสื่อ มีอิทธิพลต่อวงการศึกษาภาพยนตร์ [2] ฯลฯ เป็นต้น

 

ผู้วิจัยกล่าวสรุปแบบรวบรัดว่า แนวคิดในการศึกษาชาตินิยม ประกอบด้วยเงื่อนไข 3 ประการ ได้แก่ ทุนนิยม, นวัตกรรมการพิมพ์ และความหลากหลายทางภาษา โดยมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบทุนนิยมและเทคโนโลยีการพิมพ์ ซึ่งต่อมา แนวคิดถูกนำมาขยายเสนอเชิงรูปธรรมในการอธิบายเรื่องแผนที่ ในผลงานของธงชัย วินิจจะกูล [3] คือการขยายความว่า แผนที่สร้างอำนาจให้แก่ "อาณาเขตของสยาม" ในกระบวนการของรวมรัฐชาติ ที่เป็นชุมชนในจินตนาการเข้าร่วมกัน ส่วนผู้วิจัยนำเสนอว่า "ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก"  ในรูปแบบของนวนิยาย และภาพยนตร์ต่อต้านการตกเป็นอาณานิคมของพม่า โดยอโยธยาต้องป้องกันข้าศึก (คือพม่า ไม่ใช่ฝรั่งเศส) จากการช่วงชิงช้างเผือก

 

แนวคิดที่เหนือกว่าชาตินิยมของผู้วิจัย คือ "ไม่ใช่ช่วงชิงเขตแดน" แต่เกี่ยวกับหลักธรรมทางปรัชญาพุทธศาสนา คติเกี่ยวกับการเวียนว่าย-ตาย-แล้วเกิดเป็นคนหรือสัตว์ [4] และช้างเผือก เชื่อมโยงคติไตรภูมิ ซึ่งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติว่า คนกับสัตว์ล้วนตกอยู่ในสังสารวัฎเดียวกัน ดังที่ ผู้วิจัยอ่าน นวนิยายและภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" ต้องการสื่อสารความหมายเกี่ยวกับระบบนิเวศ-สิ่งแวดล้อม ดังปรากฏคติธรรมและธงช้างในภาพยนตร์ 

 

การที่พระเจ้าช้างเผือกเลือกมเหสีองค์เดียว เป็นไปเพื่อสันติสุขในหลักการธรรมะ โดยต่างกับแนวคิดวิทยาศาสตร์ อันเกี่ยวกับความเชื่อ และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีทางการทหาร ส่งผลกระทบในความความคิด "ร่างกาย" สมัยใหม่ ที่ปรากฏในบริบทสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้น ผู้วิจัย ย้อนนิยาม "ชาติภพ"เกี่ยวกับ "อาณาเขต"ในคติไตรภูมิ ที่ "ร่างกายตายแล้ว" เวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์โลก โดยมีความแตกต่างของ "ชาติ" ภายใต้สัญลักษณ์ "อาณาเขตของแผนที่" (territory of map) ก็สะท้อนองค์ประกอบของชาตินิยม ที่แตกต่างกันของตัวแทนของชาติ คือ "ช้างเผือก" จึงมีในการวิเคราะห์สื่อภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก"

 

ข้อสังเกตเชิงสัญลักษณ์ "ช้างเผือก" ตั้งแต่ยุคพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ-รัชกาลที่ 8

ผู้วิจัยมองประเด็น "ช้างเผือก" ในมุมมองของแอนนา หรือ "แหม่มแอนนา" ซึ่งถูกเรียกว่า ตัวแทนสตรีฝรั่งผิวขาว มีความรู้ จนเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ในสยามเมื่อครั้งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษของรัชกาลที่ 5 ได้สะท้อนว่า การนับถือช้างเผือก หรือ White Elephant คือ ความเชื่อในทางพุทธศาสนาของสยาม ซึ่งแอนนากล่าวถึงปรัชญาทางพุทธศาสนาและความจำเป็นของพุทธองค์ที่ต้องเปลี่ยนร่าง เวียนว่ายตายแล้วเกิดเป็นสัตว์สีขาว มีดังว่า หงส์ นกกระสา นกพิราบ นกกระจอก ลิง และช้าง เป็นต้น

 

โดยสรุปแล้ว แอนนา อธิบายแนวคิดดังกล่าวว่าเป็นจิตวิญญาณที่ดีและยิ่งใหญ่ [5] ซึ่งได้บอกเพิ่มเติมว่าช้างเผือก เป็นลักษณะที่เชื่อกันว่าคือ จิตวิญญาณของกษัตริย์หรือวีรบุรุษ แต่ความคิดอื่นๆ ของแอนนาในหนังสือก็มีความน่าสนใจ ที่สะท้อนเรื่องยุคสมัยก่อน โดย "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" กล่าวว่า แหม่มแอนนาประณาม Polygamy หรือ การที่ผัวเดียวมีเมียหลายๆ คน [ 6] เป็นต้น แต่เนื่องจากสัญลักษณ์เกี่ยวกับช้าง มีจำนวนมาก จึงขอเน้นที่ช้างเผือกประจำรัชกาล และธงช้างเผือก เป็นหลัก ดังนี้

 

ในรัชกาลที่ 5 มีช้างเผือกทั้งหมด 19 เชือก ซึ่งมีมากกว่ารัชกาลที่ 4 ที่มี 14 เชือก ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงนำมาเป็นสัญลักษณ์ธงชาติ คือ ธงช้างเผือกของสยาม เป็นตัวแทนในด้านการเมืองเกี่ยวกับ "ชาติ" ของพระองค์ แต่ว่าความคิดเรื่องไตรภูมิ ก็เปลี่ยนไปตามความคิดของแผนที่  ภายใต้อิทธิพลวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ทั้งที่จริงแล้ว ช้างเผือก คือโรคชนิดหนึ่งของช้าง ดังที่ ส.ธรรมยศ กล่าวไว้[7] ซึ่งแม้จะเป็นเหตุผลที่ตรงกันข้ามกับความคิดทางวิทยาศาสตร์ แต่การบูชาช้างเผือกก็ยังไม่ถูกเปลี่ยนไป

 

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ช้างเผือกค่อยๆ หายไป จนแทบจะไม่มีช้างเผือกในยุครัชกาลที่ 6 (มีจำนวน 1 เชือก) จึงมีการตราพระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่าพระพุทธศักราช 2464 ขึ้น โดยกำหนดให้ช้างป่าเป็นของหลวงสำหรับแผ่นดิน ผู้ใดจะจับไปใช้สอยต้องขออนุญาตรัฐบาล พระราชบัญญัตินี้มุ่งหมายจะช่วยป้องกันอันตรายแก่ช้างป่า และบำรุงพันธุ์ช้างป่าให้เจริญขึ้นด้วย ในมาตราเดียวกันนี้ ได้กำหนดบทลงโทษว่า ผู้ใดมีช้างสำคัญ ช้างสีประหลาด หรือช้างเนียม แล้วปล่อยเสียหรือปิดบังซ่อนเร้นช้างนั้นไว้ ไม่นำขึ้นถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500 บาท แต่โทษนี้ไม่ลบล้างการที่ช้างนั้นต้องริบเป็นของหลวง

 

จะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่มีชนิดใดเรียกว่า ช้างเผือกเลย[8] และรัชกาลที่ 7 (มีจำนวน 1 เชือก) กลับตรงข้ามกันเลย มีจำนวนช้างเผือกน้อยมาก อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งของการเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับช้างเผือก ดังที่มีการเปลี่ยนธงช้าง เป็นธงไตรรงค์[9] ว่าเกี่ยวกับการเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 และถกเถียงว่าจะใช้ธงไตรรงค์ หรือธงช้างในสมัยรัชกาลที่ 7  ในปี พ..2470[10] โดย ปริศนาของสัญลักษณ์ช้างเผือกประจำพระองค์ ลดจำนวนไป มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า เกิดปัญหาทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จึงหาช้างเผือกได้จำนวนน้อย เพราะว่า ในที่สุดแล้ว "ช้างเผือกประจำรัชกาลที่ 8[11] หายไป หรือไม่มีช้างเผือก"  (พ..2477-89)

 

แม้ว่าทางรัฐบาล ใน พ..2480-81 จะประกาศให้มีการคล้องช้างขึ้นอีกที่ลพบุรี เพื่อฟื้นฟูประเพณีเดิม ที่หยุดไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว แต่ก็ "ไม่มีช้างเผือก"  ซึ่งในเวลาต่อมามีการสร้างภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก หรือท้าทายสัญญะของชาติ ดังที่มีการสร้างสัญลักษณ์ของคณะราษฏร ผู้เปลี่ยนสยามเป็นไทย และสร้างสถาปัตยกรรมแบบคณะราษฎร เช่น โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ซึ่งตรงข้ามกับรูปแบบโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง[12] ฯลฯ เหล่านี้เกี่ยวข้องบริบทของภาพยนตร์ของเรื่องพระเจ้าช้างเผือก โดยปี พ.. 2483 หลังสงครามกับฝรั่งเศส ปัญหาเรื่องปักปันเขตแดนแม่น้ำของหรือโขง เกิดปรากฏการณ์ในหนังสือนวนิยาย มีสัญญะแฝงนัยยะสันติภาพของปรีดี พนมยงค์ ในฐานะคณะราษฎร และผู้สำเร็จราชการฯ ซึ่งมีบทบาทในการเขียนนวนิยายเรื่องพระเจ้าช้างเผือก และผลิตภาพยนตร์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก"

 

ประวัติเกี่ยวกับการสร้างชาติ คือ อาณาเขตของสยาม และบริบทชุมชนในจินตนาการ : บางแง่มุมของการเปลี่ยนแปลง ที่เป็นตัวแทนความคิดในยุค ร.5 - 2477

 

แผนที่แห่งชาติในรัชกาลที่ 5

เมื่อเกิดปัญหาการสร้างอาณาเขตของรัฐชาติ ตั้งแต่ในรัชกาลที่ 4 ก็ได้นำเหตุผล และเทคโนโลยีใช้ผลิตแผนที่ ทั้งที่ยุคก่อนไม่จริงจังเรื่องพรมแดน แต่โดนแรงบีบจากการขู่ทำสงครามจากตะวันตก เพราะว่าสยามไม่ทันสมัย จึงต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดภูมิศาสตร์

 

ดังนั้น การรับรู้ธรรมชาติแบบใหม่เพิ่งเกิดในรัชกาลที่ 4 กลายเป็นรากฐานความรู้ ความจริง เชิงประจักษ์ทางกายภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้ สยามรับรู้และให้ความหมายแก่ภูมิศาสตร์ด้วยชุดความรู้ทางพื้นที่แบบไตรภูมิ แต่ว่าเหตุภัยจากการล่าอาณานิคม ก็นำไปสู่อาณาเขตว่าด้วยภายใต้จุดหนึ่งในพลังแผนที่ กับการต่อรองระหว่างสยามและฝรั่งเศสเพื่อเข้าถึงภูมิภาคลาวในแม่น้ำโขงตอนบน ก็เกิดการหายไปของอาณาเขตสยาม ซึ่งสิ่งนั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริงของสยาม แต่พลังของตัวตนภูมิศาสตร์ของสยามและการรวมอาณาเขต(Territory) สิ่งที่หายไปกลับปรากฏเข้ามาในแผนที่ เพราะเพื่อการช่วงชิงสร้างแผนที่ในสังคมสมัยใหม่[13] ซึ่งแผนที่ช่วยเป็นอำนาจของการสร้างเขตแดนที่ชัดเจน และผนวกกลืนล้านนาได้ด้วย(รวมถึงพยายามกลืนด้านศาสนา สร้างพรมแดนของภาษาด้วย)

 

ดังกล่าวว่า สมัยรัชกาลที่ 5 ยุคปฏิรูปที่ดิน[14] มีการใช้ช้างเพื่อธุรกิจการขนไม้สักในภาคเหนือกับอังกฤษ และ สยามถูกดึงเข้ากระแสพัฒนาแนวตะวันตกอย่างไม่อาจหลีกได้ เมื่อพิจารณาในเชิงการจัดการทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมแล้ว มีการจัดการทรัพยากรใหม่ตามระบบตะวันตก ผลกระทบจากการเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศส ในกรณีเสียดินแดนฝั่งซ้ายและฝั่งขวาแม่น้ำโขง เขตเมืองน่าน ดังกล่าว คือสืบเนื่องจากบทบาทการค้าของคนจีน ที่ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงการค้า มีผลกับที่เชียงใหม่ อันเป็นศูนย์กลางของล้านนา แต่ว่าการขัดแย้งทางภาคเหนือ กบฏพญาผาบ เป็นต้น ที่จะจัดการนายภาษีอากรชาวจีน และ กบฏเงี้ยว กบฏพระศรีอาริย์[15] ต่างๆ ซึ่งเกิดภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สะท้อนความขัดแย้งหัวเมืองลาว (หรือประเทศราช) และยังมีหัวเมืองมลายู อื่นๆ ในระยะเปลี่ยนผ่านไม่ว่าจะเป็นการเลิกทาสที่สำคัญนี้ จึงมีผลต่อบทบาทของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงปกป้องอาณาเขตของสยาม

 

จากแผนที่สยาม สู่อาณาเขตแห่งชาติในรัชกาลที่ 6

การปฏิรูปสืบต่อจากรัชกาลที่ 5 ทรงยก "เมือง" ขึ้นเป็น "จังหวัด" นั้น กระบวนการการสร้างสำนึกของชาติยังไม่สิ้นสุด  ถึงรัชกาลที่ 6 เกิดปัญหาในปี พ..2455 คือ กบฏ ร..130  และในปี พ..2458 (ห่างกัน 5 ปี) โปรดให้รวบรวมมณฑลต่างๆ ออกรวมเป็น 4 ภาค คือ ปักษ์ใต้ พายัพ อีสาน และอยุธยา ส่วนกรุงเทพมหานครนั้นเป็นอีกมณฑลหนึ่งต่างหาก ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของรัฐราชสมบัติสยาม ในขณะนั้น ก็ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลง และการท้าทายอย่างใหม่ โดยกระแสความคิดทางการเมืองการปกครอง และลัทธิสังคมเศรษฐกิจ เช่น คอนสติติวชั่น ปาลิเมนต์ (กรณีเทคโนโลยีการพิมพ์หนังสือ สมัยรัชกาลที่ 5 มีคนอย่างเทียนวรรณ เป็นต้น) ความคิดแบบเก๊กเหม็ง รีปับลิก อานาคิช โสเชียลิสต์ ฯลฯ สะพัดอยู่ในหมู่ชนชั้นกลางทั้งในและนอกราชการ อันเป็นชนชั้นนักอ่าน นักเขียน นักแปลในสยาม เกินขอบเขตพระราชอำนาจสมบูรณ์ทางทฤษฎี ทว่าถูกจำกัดในทางปฏิบัติจากสิทธิสภาพนอกเขตของฝรั่ง และระบบราชการสมัยใหม่ ซึ่งเติบโตพร้อมกับทุนจีนเสรี ต่างๆ ในสถานการณ์นั้น รัชกาลที่ 6 ทรงพระนิพนธ์ ยิวแห่งบุรพทิศ (ซึ่งมีผลกระทบต่ออัตลักษณ์จีนสยาม) และอุตตรกุรุ : ดินแดนอัศจรรย์ของเอเชีย  คือ รัชกาลที่ ๖ ทรงเปรียบเทียบแนวคิด ยูโทเปีย และลัทธิโซเชียลิสต์สมัยใหม่ โดยเปรียบว่า สิ่งนั้นมีอยู่ในไตรภูมิ-อุตรกุรุทวีป-ยุคพระศรีอาริย์  และดุสิตธานีเป็นเมืองทดลองประชาธิปไตย ฯลฯ เป็นต้น

 

กล่าวโดยสรุป โลกทัศน์ที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับศิลปะทำให้เกิด "กรมศิลปากร" แต่ขอยกตัวอย่างโลกทัศน์ที่เปลี่ยนไปความรู้เกี่ยวกับสัตว์ในยุครัชกาลที่ 6 ด้านทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอาณาเขตของแผนที่สมัยใหม่ ทำให้เริ่มมีการอนุรักษ์สัตว์น้ำ ตามแผนที่ได้ติดต่อ ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิท ผู้ชำนาญเรื่องปลามาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้สำรวจพันธุ์สัตว์น้ำจืดและสัตว์น้ำทะเลของไทยเกือบทั่วราชอาณาจักร ซึ่งความรู้อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ และก้าวต่อไปก็คือ การตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำ คือ กรมประมง[16] โดยตามรอยเขตแดนแผนที่ของสยาม ซึ่งแนวคิดการเวียนว่ายตายเกิด แล้วเกิดเป็นสัตว์ กลับมาเป็นคน ก็เปลี่ยนไปตามความคิดชีวทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ ที่มองสัตว์แยกออกจากมนุษย์[17] โดยช้างเผือก ก็อาจจะถูกเปลี่ยนความคิดเหมือนกับจากธงช้างเป็นธงไตรรงค์

 

แน่นอนว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการสร้างธงชาติใหม่ และใช้ธงชาติแทนการรักษาตัวตนของอาณาเขตชาติ ฝ่ายสัมพันธมิตรส่วนใหญ่ประสงค์จะเห็นไทยเข้าสู่สงครามโดยเข้าข้างฝ่ายตน มิฉะนั้นสัมพันธมิตรจะต้องตกอยู่ในฐานะลำบาก เพราะต้องคอยปกป้องอาณานิคมของตนในเอเชียตะวันออกเฉียงให้พ้นจากการโจมตีของฝ่ายตรงข้าม[18] โดยประสบความสำเร็จได้รับชัยชนะ แล้วมีภาพต้อนรับทหารไทย จากหนังสือดุสิตสมิต เทพยดาโปรยดอกไม้[19] ซึ่งสะท้อนว่าเทพยดา ก็เชื่อมโยงกับความคิดชาตินิยม "ร่างกายกำลังเปลี่ยนไป"  ดังนั้น เมื่อสยามก็เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ที่มีประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส โดยเจ้าอาณานิคมนั้น ก็ควบคุมเขตแดนลาว เขมร พม่า เรียบร้อยปลอดภัยสะดวกแก่การปกครองอย่างมาก โดยส่วนเรื่องภาพยนตร์ที่สำคัญ คือ "นางสาวสุวรรณ" ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยฮอลลีวู้ดของอเมริกา คือฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งภายใต้เปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ แล้วภาพยนตร์จะเป็นสื่อที่มีความสำคัญทางธุรกิจการแข่งขัน ดังที่มีสยามภาพยนตร์บริษัท ซึ่งเป็นกิจการของพ่อค้าคนจีนผูกขาดซื้อหนังฮอลลีวู้ด แม้ว่าจะมีการสนับสนุนในรัชกาลที่ 6 ทรงให้ตั้งสยามนิรามัย จำกัด ที่มีพี่น้องตระกูลวสุวัต ก็มาแข่งขันสู้พ่อค้าจีนไม่ได้ต้องปิดกิจการไป[20] ดังนั้น ภาพยนตร์ มีพลังมากกับสังคม ดังจะกล่าวต่อไป

 

อาณาเขตแห่งชาติ และภาพยนตร์ในรัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงนิยมการถ่ายภาพยนตร์ และมีการสร้างโรงภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่อย่างเฉลิมกรุง มีการสันนิษฐานว่า กิจการภาพยนตร์เป็นพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และของรัฐบาลในการที่จะควบคุมกิจการภาพยนตร์ในฐานะเป็นมหรสพและสื่อสารมวลชน ที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง[21] ภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกที่พี่น้องวสุวัต ประเดิมถ่ายทำได้แก่ภาพยนตร์ข่าว สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณ ีเสด็จนิวัต พระนคร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ต่อมาภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ออกฉาย สู่สาธารณะที่ โรงภาพยนตร์พัฒนากร ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2474 ได้รับความชื่นชมจากประชาชนเป็นจำนวนมาก [22]

 

ในยุคของพระองค์ มีภาพยนตร์เรื่อง "ช้าง" เข้ามาใช้ฉากสถานที่ถ่ายทำในประเทศสยามโดยฮอลลีวู้ด  (โดม สุขวงศ์ ไปตามหาภาพยนตร์เรื่องนางสาวสุวรรณ ยุครัชกาลที่ 6 แต่กลับพบภาพยนตร์เรื่องช้างแทน) และนำมาฉายในประเทศสยาม[23] อันสร้างความตื่นเต้นไม่น้อยแก่ประชาชนชาวสยาม หลังจากที่ไม่ได้เปลี่ยนธงไตรรงค์กลับไปเป็นธงช้าง (ซึ่งเคยปักในดินแดนของลาว ก่อนที่เราจะเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศส) ดังนั้น ในปี พ.. 2471 ภาพยนตร์เรื่องเกี่ยวกับช้าง ในยุคอุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ด ก็ประชาสัมพันธ์เต็มที่ เรื่อง "ช้าง" ที่ดูจะเป็นตัวแทนของสยามจึงกลับมาได้รับความนิยม โดยภาพยนตร์บอกเล่าถึง  การดำรงชีวิตรอดของชาวบ้านป่าในประเทศไทย การต่อสู้กับภัยธรรมชาติ และสิงสาราสัตว์เพื่อความอยู่รอด ความมโหฬารของการถ่ายทำอยู่ที่เรื่องโขลงช้างที่พากันมาทำลายหมู่บ้าน ในที่สุดหนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ย่อมเหนือสัตว์ ไม่ว่าจะดุร้ายใหญ่โตเพียงใดมนุษย์ก็สามารถเอามาฝึกใช้ประโยชน์ได้เสมอ[24] …" สรุปให้ไม่ยากเกินไปว่า ภาพยนตร์เปลี่ยนโลกทัศน์ของคนสมัยนั้น ในเรื่องการต่อสู้คนกับธรรมชาติ หรือเอาชนะธรรมชาติ และการที่คนสามารถควบคุมสัตว์ได้ ซึ่งเหมาะแก่ยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงเพื่อใช้ประโยชน์จากช้าง ที่แตกต่างจากโลกทัศน์เรื่องเคารพในธรรมชาติ และสรรพสัตว์ในกฎแห่งกรรม ที่เวียนว่ายตาย แล้วเกิดมาชดใช้กรรม อันสะท้อนการไม่เบียดเบียนกัน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีภาพยนตร์เข้ามา ก็มีกระแสพระราชดำรัสของพระปกเกล้าฯ ทรงเล็งเห็นความสำคัญของภาพยนตร์อย่างมาก มีการตั้งโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง เป็นต้น[25] เกิดการตื่นตัวทางภาพยนตร์ โดยภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีเสียงพูด ชื่อว่า "หลงทาง" ออกฉายในวันที่ 1 เมษายน 2475[26] ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของสยามขณะนั้น (ต่อมามีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่) และเป็นวันเริ่มต้นการเฉลิมฉลองพระนคร 150 ปีพอดี ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม

           

อาณาเขตแห่งชาติในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

การศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้น มีผลงานหนังสือมากพอสมควรแล้ว รวมถึงการวิเคราะห์ด้วย ซึ่งผู้วิจัยจะไม่อ้างอิงทั้งหมด แต่กล่าวถึงบางประเด็นที่ยังไม่มีผู้สนใจ กับบริบทอาณาเขต อันเกี่ยวข้องเรื่องชาตินิยม ที่มาเกี่ยวข้องเรื่องภาพยนตร์เท่านั้น ซึ่งคณะราษฎร เป็นแค่กองหน้าของมวลราษฎร ที่มีความต้องการเสรีภาพและความเสมอภาค และคณะราษฎรทำตามความต้องการของมวลราษฎรไทย ที่ต้องการเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งก่อนหน้าคณะราษฎร ก็มี "คณะ ร.. 130" เคยเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาแล้ว แต่ถูกปราบปรามเสียก่อน[27] (ซึ่งการอ้างนี้ เป็นเหตุผลสิทธิชอบธรรม และแถลงการณ์เกี่ยวกับยุคศรีอาริย์ด้วย-ผู้วิจัย) ซึ่งมันสมองของคณะราษฎร คือ ปรีดี กล่าวชี้แจงให้เหตุผลในเรื่องคณะราษฎรทำการยึดอำนาจโดยวิธีการรัฐประหารนั้น เพราะว่า

 

"คำนึงถึงสภาพของสยาม ที่ถูกแวดล้อมโดยอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งชาติทั้งสองนี้ มีข้อตกลงกัน คือ เอาสยามเป็นประเทศกันชน แต่เขาอาจพร้อมกันยกกำลังทหารเข้ามายึดครองแล้ว แบ่งดินแดนสยามไปเป็นเมืองขึ้น หรืออยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของประเทศทั้งสอง ดังนั้น เราจึงเห็นว่าวิธีการเปลี่ยนการปกครองดังกล่าวจะต้องกระทำโดยวิธี COUP D"ETAT ซึ่งเรียกกันโดยคำไทยธรรมดาว่า การยึดอำนาจโดยฉับพลัน ในสมัยนั้น ยังไม่มีผู้ใดตั้งศัพท์ไทยว่า รัฐประหาร เพื่อถ่ายทอดศัพท์ฝรั่งเศสดังกล่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแทรกแซงของมหาอำนาจ เพราะเมื่อคณะราษฎรได้อำนาจโดยฉับพลันแล้ว มหาอำนาจก็จะต้องเผชิญต่อสถานการณ์ ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า FAIT ACCOMPI คือ พฤติการณ์ที่สำเร็จรูปแล้ว" ทัศนะของคณะราษฎร หรือ พรรคราษฎรนั้น ซึ่งชื่อก็บอกอยู่ชัดๆ แล้วว่า "คณะราษฎร" และมีการยืนยันจากปรีดีว่า ไม่มีความลำบากมากนักในการชวนผู้ตื่นตัวในเมืองไทยให้เข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎร เพราะเขามีพื้นฐานแห่งความต้องการนั้นอยู่แล้ว การที่ชวนเป็นสมาชิกประเภทดี 1 เพียง 100 คณะ ก็เพราะจำนวนนั้นเป็นการเพียงพอที่จะลงมือทำการเป็นกองหน้าของราษฎรและเพื่อรักษาความลับในวงจำกัด[28]

 

ดังจะกล่าวถึง แถลงการณ์ของคณะราษฎร์ ฉบับที่หนึ่ง ได้สะท้อนมโนทัศน์เรื่อง "ชาติ" ของปรีดี ดังว่า "ราษฎรทั้งหลาย พึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง…." และบัดนี้คณะราษฎรได้ยึดอำนาจของรัฐบาลกษัตริย์รวมทั้งได้แจ้งความเห็นให้กษัตริย์ทราบแล้ว ซึ่งในแถลงการณ์ประกาศว่า "ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธ หรือไม่ตอบตกลงภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตัว ว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้น[29] …" ดังนั้น การกล่าวถึงชาติของปรีดี คือหมายถึง "ประชาชาติ" หรือ "ประชาชน" อันเป็นราษฎร โดยสำคัญอย่างมาก

 

แต่ว่าในทางตรงกันข้าม "องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ก็ยังมีประโยชน์อยู่มาก เพราะย่อมทรงเป็นเครื่องโยงความสัมพันธไมตรีของคนทุกชั้น ให้แน่นแฟ้นต่อกัน เรายังจะต้องอาศัยบารมีของพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องผูกรัดเขตต์แดนสยามเท่าที่ปรากฏในแผนที่เวลานี้ ให้ผูกโยงกันอย่างแน่นหนา เพราะเราต้องไม่ลืมว่าเวลานี้ เรามีเจ้าประเทศราช ถ้าเรายังบูชากษัตริย์ เจ้าประเทศราชก็จะนิยมเรา ถ้าเราลบหลู่กษัตริย์ เจ้าประเทศราชอาจท้อถอยขาดความเลื่อมใสในรัฐบาลใหม่ [30]

 

จากข้อความข้างต้น อาจจะตีความเป็นไปได้สองทาง ซึ่งขอยกตัวอย่างในบริบทกรณี ปี 2477 เมื่อไม่เสด็จกลับมาก็มีข่าวลือ แบ่งแยกดินแดนต่างๆ ดังที่มีการเดินทางไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นการด่วน เพื่อเข้าเฝ้าพระองค์เจ้าอานันทฯ รัชทายาทผู้มีสิทธิธรรมจากสายสกุลมหิดลฯ ซึ่งเจ้าประเทศราช ก็มีบทบาทอย่างชัดเจน มานานมากแล้ว ที่จงรักภักดีกับเจ้ากรุงเทพฯ ช่วง  2475[31] แต่ว่าในตัวแทนของภาคเหนือบทบาทของเจ้ากาลิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ (บุตรเขยของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ)เฝ้าอยู่เคียงข้าง รัชกาลที่ 7 ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ขณะเกิดการปฏิวัติของคณะราษฎร ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการ กับจุดยืนของความเป็นคนกลาง ที่ยืนสองฝ่ายของหลวงวิจิตรวาทการ เหมือนกับชนชั้นข้าราชการ โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นักกฏหมายและขุนนางในระบอบเก่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ท่านถือเสมือนว่าเป็นคนกลางที่ช่วยประนีประนอม[32]

 

ด้วยว่าความเป็น "คนกลาง" ที่ชวนให้สงสัยมาก ยกตัวอย่างข้อความนี้ "….ข้าพเจ้ามิได้มีเชื้อสายเป็นเจ้า และในเวลาที่เขียนหนังสือเล่มนี้ ก็ยังมิได้เข้าเป็นสมาชิกใน "คณะราษฎร" แต่ในส่วนตัวข้าพเจ้าก็เป็นมิตรกับบุคคลทั้งสองฝ่าย ข้าพเจ้าเคยมีเจ้านายที่เป็นเจ้า และเจ้าที่เป็นนายของข้าพเจ้าก็เผอิญเป็นเจ้าที่ดี….(กล่าวถึงปรีดีว่าเป็นเพื่อนกันด้วย) …ฉะนั้นเสียงของข้าพเจ้าที่จะกล่าวอะไรออกไปจึงต้องถือว่าเป็นเสียงของคนกลางที่สุด[33]…" เพราะ ในเรื่องเบื้องหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475[34] กล่าวว่า หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง) ซึ่งในเวลานั้นตั้งตัวเป็นหัวหน้า "คณะชาติ" (ขอจัดตั้งช่วงเดือนม.. 2476 แต่ไม่สำเร็จ-ผู้วิจัยเขียนเพิ่มเติม) และมีคนเข้าด้วยเป็นอันมาก ส่งคนมากราบทูลว่าอย่าให้เสด็จกลับเข้าไปในกรุงเทพฯ เพราะพวกทหาร มีพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้าจะคอยดักยึดรถไฟพระที่นั่งไว้ที่บางซื่อ (อันเป็นแดนทหารอยู่) แล้วจะบังคับให้ทรงเซ็นลาออกอย่างพระเจ้าซาร์เพื่อเป็นริปับลิก…."

 

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ผ่านมา ไม่ว่าการให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง ก็เกิดขึ้นโดยปรีดี จึงเกิดเป็นสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ รวมถึงข้อโต้แย้งเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่เสนอโดยปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถูกข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์ ที่สำคัญที่สุดคือข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศ และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ เป็นผลนำไปสู่การนำกำลังทหารก่อกบฏ โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อันเป็นที่มาของชื่อ "กบฏบวรเดช" ใน พ..2476 ต่อมากลายเป็นพวกนักโทษการเมือง ก็มีหนังสือพิมพ์ "น้ำเงินแท้"..จงกล ไกรฤกษ์ และ มรว.นิมิตรมงคล และคนใช้นามปากกาว่า แม่น้ำโขง[35] (อ่ำ บุญไทย) ส่วนหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ได้ทรงแต่งเพลง"น้ำเงินแท้" ฯลฯ เป็นต้น 

 

กระนั้น ในโลกของธุรกิจภาพยนตร์ อันตรงกันข้ามกับความวุ่นวายทางการเมืองนั้น แม้แต่กลุ่มพ่อค้าชาวจีนในสยาม ยังสนใจสร้างเรื่อง "ความรักในเมืองไทย" ในปี พ..2476 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย โดยว่าจ้างคณะพี่น้องวสุวัต สร้างภาพยนตร์เสียงในฟิลม์พูดภาษาจีนกวางตุ้ง ออกฉายในโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อเดือนสิงหาคม พ..2476 

 

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดภาพยนตร์ เรื่อง "เลือดทหารไทย" ก็ปรากฏสู่สายตาพลเมือง ปี พ..2477 โดยคณะพี่น้องวสุวัตได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประชาธิปไตย เกี่ยวข้อง จอมพล ป. ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำออกฉายปี พ..2478 ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งหมายเพื่อเผยแพร่กิจการของกองทัพ ปลุกใจให้รักชาติ โดยบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ได้รับการว่าจ้างจากกระทรวงกลาโหมให้ถ่ายทำภาพยนตร์เผยแพร่กิจการทหารทั้งสามเหล่าทัพ โดยนำเสนอเป็นภาพยนตร์บันเทิงมีพระเอกนางเอกด้วย

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำพอสมควรเนื่องจากต้องทำงานในขอบเขตที่ใหญ่โตกว่าการถ่ายภาพยนตร์ทั่วๆ ไป โดยเฉพาะฉากที่ต้องแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพของกองทัพไทย ซึ่งต้องใช้ทหารจากสามเหล่าทัพเข้าร่วมแสดงเป็นจำนวนมาก และภาพยนตร์เรื่องเลือดทหารไทยเป็นบทประพันธ์ของขุนวิจิตรมาตรา ซึ่งเขาคือผู้ผลักดันกระแสชาตินิยมคนหนึ่ง[36] เช่นกัน (แต่ว่าเขาไม่เข้าไปมีส่วนร่วมกับตำแหน่งทางการเมืองอย่างหลวงวิจิตรวาทการ) และอาจจะด้วยกระแสชาตินิยม ก็คงได้รับอิทธิพลของหลวงวิจิตรวาทการ [37] ผู้แต่งบทประพันธ์จำนวนมาก รวมถึงพิมพ์หนังสือออกมาในตลาดก็ขายดีมากด้วย ซึ่งภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนั้น ทำให้เป็นตัวแทนของผู้นำทางการทหาร ที่จอมพล ป.ขึ้นมาสู่อำนาจ ในปี พ.. 2481 ก่อนสยามเป็นไทย

 

……………………….

 

เชิงอรรถตอนที่หนึ่ง

 

* ผลงานชิ้นนี้ผ่านความคิดตกตะกอนจากปี พ.. 2543 ยาวนาน 7 ปี เพราะสมัยเรียนวิชา Art Criticism โดยกลุ่มของผมจัดกิจกรรมวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผมในฐานะตัวแทนของกลุ่ม ก็ติดต่อมูลนิธิหนังไทย กับคุณโดม สุขวงศ์ ส่งม้วนวิดิโอมาให้กับพวกผม จัดฉายภาพยนตร์ โดยแนะนำให้กลุ่มของผมส่งจดหมายแจ้งให้ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ รับทราบ ที่เกริ่นดังกล่าวไปแล้ว ในฐานะอดีคนักศึกษา มช. (ลูกช้างคนหนึ่ง) ก็ขอบคุณ มูลนิธิหนังไทยซึ่งผมเคยได้ส่งหนังสั้นเข้าประกวด รวมถึงได้รับโอกาสการฉายหนังด้วย  สุดท้ายสำหรับ 66 ปี ภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก"; 67 ปี ที่นิยายกำเนิดขึ้น และความผิดพลาดประการใดเป็นของผู้วิจัยที่เคยมีผลงานวิจารณ์ภาพยนตร์เล็กน้อย

 

[1] John Hill and Pamela Church Gibson Edited. Stephen Crofts "Concepts of national cinema" in The Oxford Guide to Film Studies Oxford ; New York : Oxford University Press, 1998.: 385 และ Benedict Anderson.  Imagined communities: reflections on the origin and spread of nationalism London : Verso, 1991.และ เบน แอนเดอร์สัน ได้วิเคราะห์ภาพยนตร์ไทยเรื่อง สัตว์ประหลาด ซึ่งเขามองอิทธิพลของภาพยนตร์เรื่องสัตว์ประหลาด เกี่ยวกับเสือสมิงไว้อย่างน่าสนใจ เช่น คนกลายเป็นเสือสมิง

 

[2] สัณห์ชัย โชติรสเศรณี ภาพยนตร์เอเชียอุษาคเนย์ ครั้งที่ 3 ที่มา http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=95

 

[3] Thongchai Winichakul, Siam Mapped : a History of the geo-body of a Nation.  Chiang Mai: Silkworm Books, 1994.

 

[4] อ้าง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน อรรคพล สาตุ้ม "การอ่านภาษาภาพจิตรกรรมกับอักษรธรรมล้านนา: ชื่อของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แม่น้ำโขง" นำเสนอการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษย์ศาสตร์ไทย ครั้งที่3 "ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม" คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2549.

 

[5] ดูเพิ่มเติม Anna Harruette Leonewens . "The original Anna and the King of Siam From The English Governess at The Siamese Court : Being Recollections of Six Years In The Royal Palace at Bangkok." London : Trubner & co., 60, Paternoster  Row   : 139

 

[6] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ "แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม" สารคดี พ.. ปีที่ 15.177, 2542  : 158-164

 

[7] อสิธารา ค้นคว้า รวบรวมและเรียบเรียง งานและชีวิตของส.ธรรมยศ.กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2531 :126-127

 

[8] สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์. ช้างไทย. กรุงเทพฯ : มติชน 2540 : 46-48  

 

[9] ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม. การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย กรุงเทพฯ : มติชน, 2546 : 100-103

 

[10] ปรีดี พนมยงค์ กลับมาประเทศสยามแล้ว หลังจากสำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศสร่วมวางแผนก่อตั้งคณะราษฎรที่นั่น

 

[11] ดูเพิ่มเติม ใน สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์. ช้างไทย. กรุงเทพฯ : มติชน 2540 : 95-99  ในหนังสือของ สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ ไม่มีปรากฏข้อมูลว่า "ช้างเผือกหายไปไหน?" เปรียบเทียบกับผลงานของอารีย์ ทองแก้ว เรื่อง "ช้าง" ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะวิชามนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏสุรินทร์ เช่นกัน ไม่มีช้างเผือก  ซึ่งต่อมาการกลับมาของช้างเผือกในรัชกาลที่ 9 มีช้างเผือกทั้งหมด 21เชือก และผู้วิจัยรับรู้เพิ่มเติมว่ามีการให้ความสำคัญของช้างเผือก คือช้างประจำชาติ ในปี พ..2505 โดย เปิดประเด็นสำหรับการศึกษาต่อไปในอนาคต  อาทิเช่นไม่มีสัญลักษณืช้างเผือกบนเหรียญกษาปณ์

 

[12] ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547: 274-276

 

[13] Thongchai Winichakul, Siam Mapped : a History of the geo-body of a Nation.  Chiang Mai: Silkworm Books, 1994. :129

 

[14] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. การศึกษาพรมแดนความรู้ทางประวัติศาสตร์ ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม.  เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541.:127

 

[15] เฉลิมเกรียติ ผิวนวล. ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ กรุงเทพฯ มูลนิธิโกมลคีมทอง,2529: 48-52

 

[16] อรรคพล สาตุ้ม. ผลกระทบของการพัฒนาและโลกาภิวัตน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำโขงตอนบน: การหายไปของปลา วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2548 และ Akkaphon Satum. "Impact of  Development  and Globalization on Natural Resources in the Upper Mekong River : TheDecline of  Fish."นำเสนอในงาน First ASEAN Graduate Scholars Workshop Organised By Asia Research Institute, National University of Singapore,

Singapore 28 - 29 July  2006.

 

[17] ความคิดแบบนี้ มีปรากฏใน ฟริต จ๊อบคอปร้า ในเรื่องชีวทัศน์เชิงกลไล และชีวทัศน์แบบดาร์วินเกี่ยวกับพันธุ์ศาสตร์แล้ว ยังใช้เพื่อการเมืองด้วย เช่น ในหนังสือจุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ.

 

[18] ไกรฤกษ์ นานา ภาพปลุกระดม "ชาตินิยมโลก"ในสงครามโลกครั้งแรก สยามสู้วิกฤต ราชบัลลังก์โลกสะเทือน เมื่อสิ้นจักรวรรดินิยม ศิลปวัฒนธรรม ปีที่23 .14.. 2545  : 162

 

[19] ไกรฤกษ์ นานา เรื่องเดียวกัน เพิ่งอ้าง : 160

 

[20] โดม สุขวงศ์ "หนึ่งศตวรรษภาพยนตร์ไทย" ในเว็บ มูลนิธิหนังไทย โดยบอกประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องภาพยนตร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่5 และยุครัชกาลที่ 6 ฉายกระจกพระบรมรูปกษัตริย์ บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีด้วย

 

[21] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. พลังของแนวคิดชาติ-ชาตินิยมกับการเมืองไทยในสมัยแรกเริ่มของรัฐประชาชาติ รัฐศาสตรสาร ปีที่ 21.3, 2542 :10

 

[22] ภาณุ อารี "ความรุ่งโรจน์ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคบุกเบิก (2470 - 2489)" ที่มาhttp://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=9

 

[23] สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ เพิ่งอ้าง : 219

 

[24] สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ เพิ่งอ้าง หน้าเดียวกัน

 

[25] ซึ่งในส่วนของเอกชน ก็เริ่มมีภาพยนตร์ ที่เป็นธุรกิจข้ามชาติของฮอลลีวู้ด มีระบบการตลาด โฆษณาแบบทุนนิยม สร้างกระแสเกิดผลทางเศรษฐกิจเข้ามาในสยาม

 

[26] โดม สุขวงศ์ ประวัติภาพยนตร์ไทย กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา 2533: 24

 

[27] สุพจน์ ด่านตระกูล ประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุค 2475 ที่ถูกบิดเบือน  กรุงเทพฯ : สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม, 2536  : 16-17

 

[28] สุพจน์ ด่านตระกูล เพิ่งอ้าง : 32-33

 

[29] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อ้างแล้ว : 61

 

[30] กำพล จำปาพันธ์ การเมืองของการสมมตินามประเทศจากสยามและไทยกลายเป็นไทย (ระหว่างทศวรรษ ๒๔๓๐-๒๔๘๐) โดย (อ้างใน หลวงวิจิตรวาทการ การเมืองการปกครองกรุงสยาม 2475 ) ในวารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ 26.1.มิย.-พย. 2546:76

 

[31] อานันท์ กาญจนพันธุ์ "ความขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลงในสังคมลานนาไทย (ระหว่างปี พ..2398-2520)" สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 ตุลาคม 2522- มีนาคม  2523 หน้า17-18

 

[32] สันติสุข โสภณสิริ บก. ชาญวิทย์  เกษตรศิริ "จากสยามเป็นไทย : นามนั้นสำคัญไฉน?" ใน ประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทย กรุงเทพฯ : มูลนิธิเด็ก, : 71-72

 

[33] เฉลียว พันธุ์สีดา หลวงวิจิตรวาทการและงานด้านประวัติศาสตร์  (อ้างในเหลวงวิจิตรวาทการ,ข้อความเบื้องต้น การเมืองการปกครองกรุงสยาม) กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2520 :109

 

[34] ..พูนพิศมัย ดิศกุล "เบื้องหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕" ศิลปวัฒนธรรม ปี่ที่ 20.8 มิ.. 2542 : 92

 

[35] ณัฐพล ใจจริง "การรื้อสร้าง 2475" : ฝันจริงของนักอุดมคติ "น้ำเงินแท้" ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 27. 2 ธค. 2548 :88-90

 

[36] นครินทร์ อ้างแล้ว : 51-53

 

[37] Wang Gungwu edited. Craig J Reynolds.  "Nation and State in Histories of Nation-Building, with Special Reference to Thailand" in Nation-Building Five Southeast Asian Histories. Singapore, Institute of Southeast Asian Studies 2005: 29

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท