GMOs กับกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ


ธีรมล บัวงาม
สำนักข่าวประชาธรรม


จีเอ็มโอ

(Genetically Modified Organisms :GMOs) หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า (Living Modified Organisms LMOs) สิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปลงทางพันธุกรรม กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมอีกครั้ง หลังจากเจ้ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุมหัวพยายามเปิดทางสะดวกให้กับการทดลองจีเอ็มโอในทุกระดับ โดยไม่สนใจต่อข้อเท็จจริง ความเสี่ยง เสียงคัดค้านจากประชาชนทั่วประเทศ หรือกระทั่งความพร้อมของระบบตรวจสอบควบคุมต่างๆ

ราวกลับว่าการทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นาและในสภาพเปิด จนหลุดลอดออกไปปนเปื้อนในพื้นที่เกษตรกรรมถึงสองครั้ง ครั้งแรกคือกรณีฝ้ายบีทีเมื่อปี 2542 และกรณีมะละกอจีเอ็มโอเมื่อปี 2547 ไม่เคยเกิดขึ้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมกว่า 519 องค์กร ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อคัดค้านการทดลองจีเอ็มโอในไร่นาหรือระบบเปิด พร้อมย้ำว่าปัญหาการการหลุดรอดออกไปปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอระหว่างการทดลอง ชี้ให้เห็นว่าปัญหามิได้อยู่ที่การมีระเบียบและแนวทางปฏิบัติ สำหรับควบคุมการทดลองเท่านั้น แต่ปัญหาอยู่ที่แนวปฏิบัติไม่ได้รับการนำไปบังคับใช้อย่างเข้มงวดเนื่องจากเป็นเพียงหลักเกณฑ์ที่ออกภายใต้กฎกระทรวงที่ไม่มีสภาพบังคับ และไม่มีความรับผิดในกรณีที่มีการละเมิด หรือไม่มีการบังคับให้ผู้ที่กระทำผิดหรือละเมิดต้องชดเชยและเยียวยาความเสียหาย ดังนั้นรัฐบาลในอดีต องค์กรอิสระ และองค์กรภาคประชาชนจึงเห็นร่วมกันว่าให้มีการผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพออกมาบังคับใช้เสียก่อน โดยปัจจุบันกระบวนการร่างกฎหมายก็อยู่ระหว่างการดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งควรจะสนับสนุนให้กระบวนการดังกล่าวดำเนินต่อไป

อย่างไรก็ดี ในส่วนของกระบวนการยกร่างกฎหมายสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แม้จะได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความเห็นของสาธารณะต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพเนื่องจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม พ.ศ. .... ไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2549 รวมถึงการประชุมคณะกรรมการยกร่างฯ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2550 ก็มีความคืบหน้าที่เห็นเป็นรูปธรรมเพียงแค่การเปลี่ยนชื่อเป็น (ร่าง) พ.ร.บ.ว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ. ... แต่เนื้อหาสาระของกฎหมายทั้งฉบับกลับหายเข้ากลีบเมฆ ยากอย่างยิ่งที่คนเดินธรรมดาจะหามาอ่านศึกษา คงเหลือไว้แต่ความทรงจำว่ามีไทยเคยมีกระบวนการยกร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพเฉกเช่นนานาอารยะประเทศ

ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล นักวิชาการด้านกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาและทรัพยากรชีวภาพ จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หนึ่งในผู้ (เคย) เข้าร่วมกระบวนการยกร่างกฎหมายบอกเล่าถึงเบื้องหน้า เบื้องหลัง ประเด็นต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ c.


เราจำเป็นต้องมีกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพหรือไม่


ความจำเป็นนี้มันขึ้นอยู่กับนโยบายการใช้ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ หากประเทศไทยเรามีนโยบายเรื่องการทดลองวิจัยทางด้านจีเอ็มโอ ก็ขึ้นอยู่ว่าระดับของนโยบายจะเปิดกว้างมากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันก็มีการทดลองวิจัยจีเอ็มโอตามห้องแลปหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ อยู่ แต่มันไม่จบแค่นั้น ปัญหามีอยู่ว่าเมื่อเขาทดลองเสร็จแล้วมันก็มีความพยายามจะทดลองในระดับที่ใหญ่ขึ้น เพราะเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การนำผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอออกสู่ตลาด ซึ่งโดยหลักการทั่วไปก่อนจะถึงกระบวนการจัดจำหน่ายสู่ตลาด จะต้องมีการทดลองในภาคสนามเพื่อดูเรื่องผลกระทบต่างๆ ก่อน

ด้วยเหตุนี้กลุ่มที่เรียกร้องให้มีการเปิดให้ทดลองจีเอ็มโอในระบบเปิด เขาก็ต้องการพิสูจน์ว่าจีเอ็มโอไม่มีโทษ เพื่อให้มันขายได้ แต่ในขณะนี้ประเทศไทยมีมติครม. 3 เมษายน 2544 ที่ไม่ให้มีการทดลองในระดับไร่นา โดยเหตุผลที่มาที่ไปของการห้าม เนื่องจากก่อนหน้านั้นเราเคยเชื่อภาคราชการว่ามีกฎเกณฑ์เข้มงวดพอที่จะควบคุมไม่ให้พืชจีเอ็มโอหลุดรอดหรือปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมในระหว่างการทดลอง เพราะยังไม่มีใครบอกได้ว่ามันปลอดภัย 100%

เมื่อราชการกล่าวอ้างว่ามีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด ก็เลยปล่อยให้มีการทดลองกันในอดีต แต่ผลก็คือมันหลุดรอดออกมา ดังกรณีของฝ้ายบีที มะละกอจีเอ็มโอ ซึ่งนี่เป็นข้อเท็จจริงที่เถียงไม่ได้ และครั้งนั้นเองที่ภาคประชาชนได้เรียกร้องไม่ให้มีการทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นา หรือระบบเปิด จนกว่าจะมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งความมุ่งหมายก็คือการมีกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ

ปัจจุบันแรงผลักดันของฝ่ายที่ต้องการให้มีการทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นามีสูงมาก ทั้งนี้ก็เพื่อขยับขั้นตอนไปสู่การจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งเบื้องหลังสำคัญคือบริษัทต่างชาติที่มีผลประโยชน์หรือเป็นเจ้าของเทคโนโลยีด้านนี้อยู่ ขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากภาคราชการของเราหลายส่วน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มุ่งเน้นแต่ความก้าวหน้า ต้องการมีหน้ามีตาทางวิทยาศาสตร์ว่าบ้านเราก็ทำได้ จนมองข้ามผลกระทบทางด้านสังคมที่มีมากพอ เพราะฉะนั้นหน่วยงานพวกนี้ก็พยายามที่จะผลักดันและให้ข้อมูลในบางด้าน เป็นข้อมูลที่บอกไม่ครบ

อย่างไรก็ดี หน่วยงานราชการ สผ. ก็พยายามร่างกฎหมายตัวนี้อยู่แต่ก็ยังไม่เสร็จ หลังสุดจึงมีความพยายามที่จะผลักดันการทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นาโดยไม่ต้องรอกฎหมาย ด้วยการขอให้แก้ไขมติครม.ดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ผิดไปจากมติครม.เดิมที่ระบุว่าการจะทดลองในระดับใหญ่ได้ต้องมีกฎหมายเสียก่อน แต่เขาก็ยังผลักดันเนื่องจากคาดการณ์ว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีทางเสร็จทันภายในการพิจารณาของสนช. หรืออาจมองว่ารัฐบาลกำลังจะหมดวาระลงถ้าจะทำอะไรต้องรีบทำ และไม่แน่ใจว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายเรื่องจีเอ็มโออย่างไร

เรื่องนี้ภาคประชาสังคม ภาคประชาชนก็กำลังจับตาและระมัดระวังพอสมควร เนื่องจากกังวลว่าหากมีการเสนอกฎหมายให้สนช.พิจารณา และผ่านทั้ง 3 วาระรวดในวันสุดท้ายของสนช.มันก็จะเป็นปัญหาขึ้นมา ถ้าถามว่าตอนนี้เรามีความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพหรือไม่ หากดูจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่มีการเรียกร้องให้มีการทดลองในระดับไร่นา ผมมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายตัวนี้ก่อน เนื่องจากกฎระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่มันพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถป้องกันการหลุดรอดของจีเอ็มโอออกสู่สภาพแวดล้อมได้

แล้วกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพควรมีหลักการสำคัญๆอย่างไร

กฎหมายตัวนี้จะอยู่ภายใต้พิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) โดยหลักการสำคัญมีอยู่ข้อเดียวคือการระมัดระวังล่วงหน้า หรือบางคนเรียกว่าหลักเตือนภัยล่วงหน้า เนื่องจากจีเอ็มโอยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าปลอดภัยจริง หากมีการหลุดรอดออกมาแล้วเกิดเป็นอันตรายมันจะกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งแก้ไขไม่ได้ เสียแล้วเสียเลย เพราะฉะนั้นในพิธีสารคาร์ตาเฮนาจึงคำนึงว่าหากมีความเสี่ยงแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะไม่ยินยอมให้มีการปล่อยจีเอ็มโอออกสู่สิ่งแวดล้อม

จากหลักการของกฎหมายนี้ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีของ cbd ต้องทำตามพิธีสารคาร์ตาเฮนา อย่างไรก็ตามการใช้หลักการนี้อย่างเคร่งคัดจะสร้างความไม่สะดวกกับผู้นำเข้า หรือผู้ประกอบการใดๆ ที่เกี่ยวกับจีเอ็มโอ เพราะมีโอกาสง่ายมากที่ผู้ส่งออกจากต่างประเทศที่ส่งสินค้าจีเอ็มโอเข้ามาในประเทศไทยจะถูกปฏิเสธ ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานแสดงว่าปลอดภัยจริง หรือว่ามีความเสี่ยง จุดนี้จะกระทบกับการค้าขายสินค้าจีเอ็มโอโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่าฝ่ายที่ผลักดันโดยเฉพาะประเทศอเมริกา ต้องการสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากสินค้าจีเอ็มโอ แต่ประเด็นของไทยอยู่ที่เรื่องความปลอดภัย ไทยจึงควรจะมีกฎหมายที่สามารถห้าม หรือสร้างกลไกระมัดระวังภายในก่อน

ไทยเป็นประเทศเกษตร ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นจะรุนแรงกว่าประเทศอุตสาหกรรม เพราะเรามีการปลูกพันธุ์พืชจำนวนมาก หากหลุดรอดขึ้นมาจะเกิดผลอะไรขึ้น ดังนั้นการปลอดภัยไว้ก่อนจึงน่าจะเหมาะสม และการที่เราเป็นเกษตรกรรม มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ยิ่งควรจะใช้หลักการนี้ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้นด้วย

มีข้อสังเกตอย่างไรต่อกระบวนการยกร่างกฎหมาย

กระบวนการนี้ สผ.ได้พยายามจัดทำมานานพอสมควร และพยายามยกร่างขึ้นมาจนมีการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด 4 ครั้ง แต่ส่วนตัวขอไม่เรียกว่าเป็นการประชาพิจารณ์ เพราะในการประชุมแต่ละครั้งตัวร่างก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดังนั้นการมีส่วนร่วมจึงไม่ครบถ้วนกับการรับฟังจากทุกภาคส่วน เรื่องกฎหมายมันจึงขึ้นอยู่ว่าแรงผลักดันในกระทรวงทรัพย์ฯ เป็นอย่างไร แต่เมื่อเจ้ากระทรวงทรัพย์ในวันนี้เป็นคนเดียวกับรัฐมนตรีกระทรวงวิทยฯ ย่อมเห็นทิศทางได้ชัดเจนแล้วว่าเขาต้องสนับสนุนจีเอ็มโออย่างแน่นอน

ในส่วนของภาคประชาสังคมอย่างคนทำเกษตรอินทรีย์ คนส่งออกข้าว เขาห่วงกังวลมาก ตอนนี้เราไม่มีสินค้าจีเอ็มโอ แต่หากเราเปิดให้มีเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเข้ามา ปัญหาต่อไปก็คือการขายสินค้าให้สหภาพยุโรป หรือประเทศที่มีต้องสินค้าอินทรีย์แล้วเขาจะเชื่อได้อย่างไรว่าสินค้าไทยปลอดจีเอ็มโอ แล้วภาระที่เกิดขึ้นต่อมาอย่างแรกคือการไม่สั่งสินค้า อย่างกรณีการหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมของมะละกอจีเอ็มโอจากแปลงทดลองที่จ.ขอนแก่น สหภาพยุโรปก็ยกเลิกการนำเข้ามะละกอจากไทยทันที แล้วถ้ากรณีเกิดขึ้นกับข้าว ลองคิดดูว่าผลกระทบจะมหาศาลขนาดไหน

ฉะนั้นกระบวนการในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ สผ.ก็มีความพยายามอยู่เหมือนกันแต่ก็ยังไม่เปิดกว้างให้ภาคส่วนอื่นๆ มีส่วนร่วมอย่างเพียงพอ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่กระบวนการยกร่างไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยเฉพาะเกษตรกร กลับไปคำนึงถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ละเลยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

มีข้อเสนอต่อครม.ชุดนี้อย่างไรก่อนที่จะมีการพิจารณายกเลิกมติครม.ที่ห้ามทดลองจีเอ็มโอในไร่นา ในวันที่ 4 ธ.ค.50

รัฐบาลไม่ควรแก้ไขมติครม.3 เม.ย. ยังควรที่จะห้ามอยู่เหมือนเดิมและควรกำชับซ้ำให้ชัดเจนว่า กระทรวงทรัพยฯ ควรจะจัดทำกฎหมายที่ว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพให้เรียบร้อยเสียก่อน โดยการจัดทำกฎหมายต้องผ่านการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ครบถ้วนรอบด้าน โดยสผ.ต้องคำนึงถึงประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ หรือการที่บ้านเราเป็นประเทศเกษตร ให้มากกว่าความมีหน้ามีตาของนักวิทยาศาสตร์ไทย

เท่าที่ทราบมาไม่มีประเทศไหนปล่อยให้มีการทดลองแบบเปิด ขณะที่ไม่มีกฎหมายควบคุม ของไทยมันก็มีกฎหมายเหมือนกันแต่จากกรณีฝ้ายและมะละกอ มันก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมจึงเกิดการหลุดลอดทั้งที่ภาครัฐยืนยันว่ามีกฎหมายที่เข้มงวดและเพียงพอแล้ว หรือว่านี่เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทย

ผศ.ดร.สมชาย ทิ้งท้ายประเด็นเอาไว้ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยเรื่อง นโยบายของประเทศไทยเรื่องสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และโครงการ BRT ที่ระบุว่า แม้ไทยจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางชีวภาพมากกว่า 10 ฉบับ แต่โดยเนื้อหาของกฎหมายกลับไม่ได้ครอบคลุม และกำกับดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมโดยตรง แม้ว่ากฎหมายบางฉบับจะปรับบทบัญญัติให้ใช้บังคับกับจีเอ็มโอได้ เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 พ.ร.บ.กักพืช 2507 เป็นต้น แต่กฎหมายเหล่านี้ก็ไม่ได้มีจุดประสงค์โดยตรงที่จะนำมา กำกับดูแลกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับจีเอ็มโอ ดังนั้น จึงทำให้เกิดช่องโหว่ของการบังคับใช้กฎหมาย โดยคิดว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อควบคุม และกำกับดูแลกิจกรรมที่เกี่ยวกับจีเอ็มโอที่ครอบคลุมสิ่งมีชีวิตทุกชนิด

ทั้งนี้ งานวิจัยระบุถึงเนื้อหาของกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพของไทย ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 10 เรื่องใหญ่ ตั้งแต่การให้คำนิยามศัพท์ต่างๆที่มีความสำคัญต่อการใช้กฎหมาย ข้อกำหนดเกี่ยวกับการขออนุญาต หรือการขอความรับรองในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับจีเอ็มโอ นอกจากนี้ พ.ร.บ.ที่จะร่างขึ้นมาต้องครอบคลุมสิ่งมีชีวิต ดัดแปลงพันธุกรรมทุกชนิดทั้งจุลินทรีย์ พืช และสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์สืบเนื่อง รวมทั้งต้องมีมาตรการในการหารือกับประชาชนและการมีส่วนร่วมของสาธารณชน เช่น การให้ข้อมูลว่าจะมีการอนุญาตให้ปลดปล่อยจีเอ็มโอออกสู่สิ่งแวดล้อม หรือการติดประกาศให้รู้ว่ามีการอนุญาตให้วางตลาดสินค้าจีเอ็มโอ เป็นต้น

นอกจากนี้ต้องมีการกำหนดข้อบังคับในการประเมินความเสี่ยงในกฎหมาย การวางกรอบของกฎหมายต้องอยู่บนหลักการระมัดระวัง บทบัญญัติเกี่ยวกับการบ่งระบุและการติดฉลาก ที่สำคัญต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับความรับผิดและการเยียวยา โดยเฉพาะการรับผิดนั้นต้องเด็ดขาดกับความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยอาจใช้หลักผู้ก่อมลภาวะต้องรับผิดชอบ และต้องไม่เพียงแค่บุคคล ทรัพย์สิน แต่ต้องรวมถึงความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยพืช สัตว์และมนุษย์ด้วย ทั้งนี้ ต้องให้บุคคลทั่วไปสามารถฟ้องร้องเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และต้องมีมาตรการในการดำเนินคดีทางอาญาเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด และละเว้นต่อการปฏิบัติหน้าที่ได้

ดังนั้นหลังจากนี้เราคงต้องจับตากันต่อไปว่ารัฐบาลที่ประกาศจะเดินตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นรัฐบาลชุดเดียวกันที่ยกเลิกวาระแห่งชาติเรื่องเกษตรอินทรีย์ พร้อมกับเดินหน้าเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น จะพิจารณาประเด็นต่างๆ ของเรื่องจีเอ็มโออย่างรอบคอบหรือไม่อย่างไร น่าติดตาม.


ข้อมูลประกอบ

**** ปัญหาของการปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา (Field Trial) หรือสภาพเปิด (Open Condition)
การอนุญาตให้มีการปลูกทดลองเรื่องจีเอ็มโอในสภาพเปิดทำให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมถึง 2 ครั้ง
1. การอนุญาตให้มีการปลูกทดลองฝ้ายจีเอ็มโอของบริษัทมอนซานโต้เมื่อปี 2538 และนำไปปลูกในสภาพเปิดในปี 2540 ทำให้เกิดเกิดหลุดลอดของฝ้ายจีเอ็มโอในปี 2542 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "นายเนวิน ชิดชอบ" ประกาศจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน ผลการสอบสวนปรากฏว่ามีการปนเปื้อนของฝ้ายจีเอ็มโอจริง แต่ไม่ปรากฏรายงานว่าปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าวเกิดขึ้นโดยวิธีใด และผู้ใด
รัฐบาลในขณะนั้นจึงประกาศให้มีการยุติการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นาเอาไว้ชั่วคราว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 พร้อมกับตั้งคณะกรรมการขึ้นมายกร่างกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพโดยมีตัวแทนจากกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ภาคเอกชน นักวิชาการอิสระ และองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการยกร่าง แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวกลับไม่คืบหน้าใดๆในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
2. ความผิดซ้ำซากของการทดลองได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปี 2547 เมื่อมะละกอจีเอ็มโอซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองที่สถานีวิจัยพืชสวนท่าพระ จ.ขอนแก่น หลุดลอดผสมปนเปื้อนในเมล็ดพันธุ์ที่ศูนย์แจกจ่ายให้แก่เกษตรกร และปนเปื้อนในแปลงของเกษตรกรที่ปลูกมะละกอ กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบตัวอย่างมะละกอที่มีการปนเปื้อน 329 ตัวอย่าง จากแปลงของเกษตรกร 85 ราย
**** อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity CBD)
ได้มีการรับรองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2535 และได้มีการเสนอเพื่อการลงนามในการประชุม Earth Summit ณ นครริโอเดอจาไนโร ประเทศบราซิล เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2535 มีผลบังคับใช้ 90 วัน หลังจากที่มีการให้สัตยาบัน (Ratification) โดยประเทศภาคีครบ 30 ประเทศ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2536
วัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ คือ การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน การแบ่งปันผลประโยชน์ที่ยุติธรรม และทัดเทียมกันจากการใช้ทรัพยากรทางพันธุกรรมต่างๆ รวมถึงการเข้าถึงทรัพยากรทางพันธุกรรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและเหมาะสม โดยพิจารณาถึงสิทธิเหนือทรัพยากรและเทคโนโลยีเหล่านั้นและการให้ทุนสนับสนุนที่เหมาะสม
มาตรา 19 วรรค 3 ของอนุสัญญาระบุว่าประเทศภาคีจะพิจารณาให้รูปแบบของพิธีสาร (Protocol) ที่มีวิธีการที่เหมาะสม รวมถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อตกลงในการแจ้งล่วงหน้า (Advance Informed Agreement AIA) ในการเคลื่อนย้าย การดูแล และการใช้สิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปลงทางพันธุกรรม (Living Modified Organisms LMOs) ที่เป็นผลมาจากเทคโนโลยีชีวภาพที่อาจมีผลในทางลบต่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
นอกจากนั้น มาตรา 8 ของอนุสัญญาฯ กล่าวถึงการอนุรักษ์ในพื้นที่ (In-situ Conservation) ให้มีการสถาปนาระบบพื้นที่คุ้มครองที่มีมาตรการในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ และในมาตราย่อย 8(g) ให้มีการสถาปนาและรักษาไว้ วิธีดูแล จัดการ และควบคุมความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ และการปลอดปล่อยชีวินทรีย์ หรือ LMOs ที่ได้มาจากเทคโนโลยีชีวภาพ ที่อาจมีผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจมีผลไม่อำนวยต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ โดยพิจารณาถึงความเสี่ยงต่างๆ ต่อสุขอนามัยของมนุษย์ด้วย
**** พิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety to the Convention on Biological Diversity)
พิธีสารคาร์ตาเฮนาจะเกี่ยวข้องกับมาตรา 19 (การดูแลเทคโนโลยีชีวภาพและการแจกจ่ายผลประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพ) วรรค 3 (การมีพิธีสารให้มีวิธีการถ่ายโอน ดูแล และการใช้ LMOs) วรรค 4 (การให้ข้อมูล การใช้ และระเบียบควบคุมความปลอดภัยหรือผลกระทบของ LMOs) มาตรา 8(g) (การให้มีมาตรการควบคุม ดูแล จัดการความเสี่ยวเกี่ยวกับการใช้ และการปลอดปล่อย LMOs สู่สิ่งแวดล้อม) และมาตรา 17 (การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร)
โดยแนวทางการระมัดระวัง (Precautionary Approach) ของหลักการที่ 15 ของปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา วัตถุประสงค์ของพิธีสารฉบับนี้ คือ สนับสนุนให้มีความแน่ใจในการป้องกัน ในระดับที่เพียงพอ ในด้านความปลอดภัยทาง ชีวภาพในการเคลื่อนย้าย การดูแล และการใช้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่ได้รับการดัดแปลงทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่อาจมีผลกระทบซึ่งไม่อำนวยต่อ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสุขอนามัยของมนุษย์ด้วย กับเน้นในเรื่องการเคลื่อนย้ายข้ามแดน (Transboundary Movement) เป็นพิเศษ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท