Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปรับทุกข์กับเพื่อนรักคนหนึ่ง ในคืนที่ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วยเสียงท่วมท้น 105 ต่อ 8 ว่า บ้านเมืองของเราจะเจออะไรต่อไปในกาลข้างหน้า ?


 


ในบทสนทนาช่วงหนึ่ง ผมสัมผัสได้ถึงน้ำเสียงทดท้อที่มีต่อการชุมนุมประท้วงที่หน้ารัฐสภาซึ่งนำโดย จอน อึ๊งภากรณ์ เพื่อให้ สนช. เลิกทำหน้าที่ซึ่งแน่นอนประสบความล้มเหลว ไม่สามารถหยุดยั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ แล้วเธอก็ได้แต่ปลอบใจตัวเองว่า "สักวันหนึ่ง สังคมไทยจะรู้สึกว่า เรามาประท้วงทำไม และทำไมต้องหยุดร่าง พ.ร.บ.นี้"


 


ด้วยความซื่อตรงที่มีต่อเพื่อน ผมตอบกลับไปว่า สังคมไทยอาจจะไม่มีวันรู้ก็ได้ เพราะวันที่เราคัดค้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ใช้มาตรา 7 ขอนายกฯพระราชทาน ก็เป็นวันที่เราเอื้อนเอ่ยประโยคใกล้เคียงกันนี้ไม่ใช่หรือ


 


"สักวันหนึ่ง สังคมไทยจะรู้สึกว่า เรามาคัดค้านทำไม"


 


ที่สุดก็เกิดการรัฐประหาร เกิดคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เกิด สนช. แล้วก็เกิด พ.ร.บ.ความมั่นคง...


 


นี่เป็นราคาที่เราต้องจ่ายให้กับการอ่อนด้อยของพันธมิตรฯในวันนั้น ไม่ใช่หรือ


 


ไม่ได้มาฟื้นฟอยหาตะเข็บ หากแต่นี่คือบทเรียนแสนแพง และราคาที่ต้องจ่ายก็ยังมีอีกมาก


 


ไม่แน่ว่า วันหนึ่งการรณรงค์เรื่องเด็กไร้สัญชาติของภาคประชาชน (งานหลักของ สนช.ท่านหนึ่ง) จะถูกให้ความหมายว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง


 


ไม่แน่ว่า การที่ สนช.อีกท่านหนึ่ง เขียนข่าวอย่างเมามันไล่รัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรมเหมือนที่เคยทำตอนไล่รัฐบาลทักษิณ ก็อาจจะถูกให้ความหมายว่า เป็นภัยคุกคามความมั่นคง


 


ไม่แน่อีกว่า วันที่ภาคประชาชนออกมาประท้วงโครงการพัฒนาของรัฐ ซึ่งทำให้นายทุนข้ามชาติเสียประโยชน์ และรัฐบาลต้องเอาเงินภาษีอากรไปชดเชยให้ให้กับนักธุรกิจเหล่านั้นในฐานะ "คนชาติ" ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ทำไว้กับหลายประเทศ ก็อาจจะถูกยัดเยียดความหมายว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ


 


ยาที่ราคาแพงและภาคประชาชนขอให้บังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร ซึ่งทำให้บริษัทยาเสียประโยชน์ จนกระทบการลงทุนก็อาจจะเป็นภัยความมั่นคงได้เหมือนกัน


 


พูดตามตรง กฎหมาย "การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์" ยังดีเสียกว่า เพราะอย่างน้อยผู้ที่ได้รับกระทบและถูกละเมิดสิทธิ ก็พอจะจำกัดได้ว่า เป็นใครแบบไหน แต่ ความผิดเกี่ยวกับ "ความมั่นคง" นี่คืออะไรหรือ?


 


เพราะการตีความ "ความมั่นคง" บ้านเรา ไร้ซึ่งหลักเกณฑ์ ไม่มีความแน่นอน และขึ้นอยู่กับ "อำนาจ" (กลไก) "ภาพความดี" (ผู้ชี้นำ) และ "กระแส" (สื่อ) เหมือนที่ความหมายของคำว่า "รักษาประชาธิปไตยไทย" ก็เคยตกอยู่ในมือของคณะรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง


 


พูดตามตรง การคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้มีพลังน้อยมาก ปัจจัยหนึ่งก็เนื่องมาจากการเมืองไทยในวันที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านสภาเป็นการเมืองที่จดจ่อไปที่การเลือกตั้ง


 


อีกปัจจัยหนึ่งนั้นเชื่อได้ว่า เพราะเราเชื่อกันว่า การใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ของทหาร จะไม่คุกคามหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะวัฒนธรรมทางการเมืองบ้านเราได้พัฒนาไปไกลมากแล้ว


 


แต่ประทานโทษ ผมไม่เชื่อ ผมกลับเชื่อว่า สังคมไทยโดยรวมคิดว่า "ทหาร (ชุดนี้) คงไม่ทำอย่างนั้น"


 


พูดอีกอย่างก็คือ ผมเชื่อว่า เราเห็นปัจจุบันมากกว่า แต่ไม่ได้คิดไปไกลว่า แล้วทหารอีกห้าปีข้างหน้าสิบปีข้างหน้าจะทำอย่างนั้นหรือไม่


 


อย่าลืมด้วยว่า กฎหมายบ้านเรานั้น ล้มเลิกหรือแก้ยากกว่า การฉีกรัฐธรรมนูญเสียอีก


 


อาจจะจริงที่ว่า วัฒนธรรมการเมืองไทยที่ตระหนักในสิทธิเสรีภาพได้ก้าวหน้าขึ้นบ้าง แต่แน่นอนยิ่งกว่า คือวัฒนธรรมการเมืองบ้านเรายึดติดกับตัวบุคคล และความเชื่อว่ามี "เผด็จการโดยธรรม" นั้น ฝังรากลึกเกินกว่าจะถอนราก 


 


ลองอ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ดูเถิด แล้วจินตนาการถึงประเทศไทยในวันข้างหน้า ทหารที่ถูกลดบทบาทนั้นได้กลับเข้ามามีอำนาจทางการเมืองอย่างไร และจะมีโอกาสพัฒนาไปสู่ "รัฐทหาร" หรือไม่


 


สำหรับผมแล้ว วันที่ 20 ธันวา ก่อนวันเลือกตั้ง 3 วัน อันเป็นวันที่ สนช. ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้  ทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมายไปโดยสิ้นเชิง


 


เพราะจะเลือกตั้งไปทำไม ในเมื่อทหารยังคงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน


 


โชคดีนะประเทศไทย ฉันจะร้องไห้กับคุณเสมอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net