Skip to main content
sharethis


นายแพทย์อนันต์ชัย ไทยประทาน แกนนำเครือข่ายกลุ่มการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 ม.ค.51 ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จะจัดเวทีพบปะกับว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทุกพรรคการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพูดคุยและเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรก หลังการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.50 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายดับไฟใต้ตามที่พรรคต่างๆ ได้หาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้ง


 


นายแพทย์อนันต์ชัย เปิดเผยด้วยว่า พร้อมกันนี้ทางเครือข่ายกลุ่มการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น ยังจะเสนอร่างนโยบายภาคประชาชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ว่าที่ ส.ส.ด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.50 ได้จัดเวทีนำเสนอให้กับผู้สมัคร ส.ส.มาแล้ว ขณะนี้ว่าที่ส.ส.ทุกพรรคการเมืองตอบรับที่จะเข้าร่วมแล้ว


 


โดยร่างนโยบายดังกล่าวเกิดจากการระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากองค์กรต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา กว่า 40 องค์กร รวมทั้งจากตัวแทนภาคประชาชน ชุมชนทั้งไทยพุทธและมุสลิม ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 50 เป็นต้นมา


 


สำหรับเนื้อหาของร่างนโยบายดังกล่าว ประกอบด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหาทางด้านต่างๆ ที่ครอบคลุมถึงนโยบายทางด้าน นโยบายด้านการเมือง การปกครอง ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน นโยบายด้านเศรษฐกิจและทรัพยากร นโยบายด้านสังคมและการศึกษา


 


นอกจากนี้ ช่วงก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.50 ประชาคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ กลุ่มสถาบันทางวิชาการ องค์กรสื่อ องค์กรพัฒนาเอกชนในภาคใต้ กลุ่มครู ผู้นำศาสนา เป็นต้น ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมกันเสนอนโยบายแห่งชาติเพื่อการแก้ปัญหาวิกฤตความรุนแรงชายแดนใต้ ต่อพรรคการเมือง เพื่อใช้แก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย


 


 


.....................................


 


 






 


 


(ร่าง)นโยบายภาคประชาชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


 


 


เครือข่ายการเมืองภาคประชาชน เกิดขึ้นจากการรวมตัวขององค์กรภาคประชาชนระดับต่างๆในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อันประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสงขลา ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำนโยบายของภาคประชาชน นำเสนอต่อพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


(ร่าง) นโยบายดังกล่าว ประกอบด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาทางด้านต่างๆที่ครอบคลุมถึงนโยบายทางด้าน นโยบายด้านการเมือง การปกครอง ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน นโยบายด้านเศรษฐกิจและทรัพยากร นโยบายด้านสังคมและการศึกษา โดยมีรายละเอียดต่างๆดังนี้


นโยบายด้านการเมือง การปกครอง ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน


 


นโยบายด้านการเมือง การปกครอง ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เป็นแนวทางสำคัญที่จะปฏิรูปรูปแบบการปกครอง พร้อมปรับปรุงระบบความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน  ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยเน้นหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง โดยกำหนดนโยบายต่างๆออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการเมืองและการปกครอง และด้านความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน


 


1. ด้านการเมืองและการปกครอง


1. กำหนดให้มีการปฏิรูปรูปแบบการเมืองการปกครองในพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงของพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนารูปแบบการเมืองการปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสมกับท้องถิ่น เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยประชาชน หรือการสรรหาผู้ที่มีความเหมาะสม เป็นต้น


2. กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นเพื่อทำหน้าที่ในการถ่วงดุลอำนาจรัฐและให้ข้อเสนอแนะในการบริหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


3.  ให้มีการกระจายอำนาจที่แท้จริงให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ พร้อมกับบูรณาการผู้นำส่วนท้องถิ่นอย่างเป็นเอกภาพ ให้ครอบคลุมถึง เช่น ตำรวจท้องถิ่น หลักสูตร การศึกษาท้องถิ่น การคลัง การคัดสรรบุคลากร รายได้ของท้องถิ่น เป็นต้น


4. ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการยกระดับผู้อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้เทียบเท่าปลัดกระทรวง และควรให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรดังกล่าวบางส่วนเป็นผู้ที่มาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีระบบตรวจสอบ ศอ.บต. โดยจัดตั้งสภาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาจากการเลือกตั้งหรือสรรหาจากคนท้องถิ่น (สภา ศอ.บต.)


5. ให้นำรัฐธรรมนูญมาตรา 87 วรรค 4 ว่าด้วยการเมืองภาคประชาชนมาใช้ให้เป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน


6. ผลักดันให้มีการจัดตั้งภาคการเมืองท้องถิ่น


 


2. ด้านความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน


1. ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมชุมชน โดยเฉพาะการจัดตั้งคณะกรรมการยุติธรรมชุมชนในระดับตำบลทุกตำบล โดยมีองค์ประกอบสำคัญที่ประกอบด้วยผู้นำศาสนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำทางธรรมชาติในท้องถิ่นนั้นๆ และผู้ทรงคุณวุฒิที่ชุมชนยอมรับ เพื่อเป็นกระบวนการในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และแก้ไขปัญหาของชุมชนระดับชุมชน


2. ปรับปรุงกระบวนการสืบสวนและสอบสวนของตำรวจ โดยตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาล


3. แยกระบบศาลชารีอะห์ออกจากศาลทั่วไป


4. ให้ยกเลิก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กฎอัยการศึก และ ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.... เพื่อคงไว้ซึ่งสิทธิของประชาชนและลดเงื่อนไขในการสร้างปัญหาเพิ่มเติม


5. ให้ยึดหลักการความมั่นคงของมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหา


 


นโยบายด้านเศรษฐกิจและทรัพยากร


           


นโยบายด้านเศรษฐกิจและทรัพยากร เป็นแนวนโยบายที่กำหนดโดยการตั้งอยู่บนพื้นฐานของการผลิตทางเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับฐานทรัพยากรธรรมชาติ โดยกำหนดนโยบายด้านต่างๆออกได้เป็น 4 ด้านด้วยกัน คือ ด้านทรัพยากร ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเฉพาะด้าน และด้านการแก้ไขปัญหาบัณฑิตว่างงาน ซึ่งมีรายละเอียดของแต่ละประเด็นดังนี้ คือ 


 


1. ด้านทรัพยากร ประกอบด้วยทรัพยากรที่ดินและทรัพยากรชายฝั่งทะเล


1.1 ปัญหาทรัพยากรที่ดิน


            1. กรณีอุทยานแห่งชาติทับที่เทือกเขาบูโด ให้ดำเนินการ ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง อุทยานทับที่  กั้นแนวเขตพื้นที่ที่ชาวบ้านครอบครองมาก่อนอุทยานอย่างชัดเจน และออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ประชาชนถือครองมาเป็นระยะเวลานาน


            2. กรณีนิคมสร้างตนเองอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ที่ประชาชนรับสภาพหนี้จากการนิคม ให้ดำเนินการและยุติการคิดดอกเบี้ยในอนาคตยกเลิกดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในอดีต


            3. กรณีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินสำหรับอยู่อาศัยบริเวณพื้นที่ชุมชนประมงชายฝั่ง ให้ดำเนินการ ให้มีการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ที่อยู่มาเป็นระยะเวลานาน และ ให้จัดหาที่ดินแห่งใหม่สำหรับพื้นที่ที่มีความคับแคบเกินไป


 


1.2 ทรัพยากรชายฝั่งทะเลและประมงเสื่อมโทรมอย่างรุนแรง ให้ดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติการประมง 2490 อย่างเร่งด่วน พัฒนานโยบายทางการประมงให้มีการคุ้มครองสิทธิชาวประมงพื้นบ้านที่ยากจน และเตรียมอาชีพรองรับลูกหลานชาวประมง


                       


2. ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ให้ดำเนินการ


            1. จัดสร้างตลาดจำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตรจังหวัดชายแดนภาคใต้


            2. ประกันราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ลองกองและเงาะ เป็นต้น


            3. จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรของชุมชนในระดับชุมชน และสร้างเครือข่ายการเงินการธนาคารเพื่อการลงทุนตามหลักการอิสลาม


4. ส่งเสริมและพัฒนาสถาบันการเงินที่มุสลิมสามารถเข้าถึงได้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เช่น สหกรณ์  โรงรับจำนำ เป็นต้น


            5. เพิ่มศักยภาพการลงทุนในพื้นที่ โดยเน้นการระดมทุนจากภูมิภาคตะวันออกกลาง


            6. จัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจมุสลิม 3 จังหวัด เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ และเป็นที่ปรึกษาของนักลงทุนต่างๆ พร้อมกับผลิตผู้เชี่ยวชาญ


            7. ผลักดันการปรับปรุงสนามบินนราธิวาสให้ครบวงจร


           


3. ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเฉพาะด้าน ให้ดำเนินการ


            1. ผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะฝีมือ เช่น พยาบาล เพื่อส่งออกไปยังตะวันออกกลาง  ช่างฝีมือทางด้านการต่อเรือ และบุคลากรสำหรับเรือพาณิชย์ เป็นต้น


            2. สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศขนาดเล็กโดยเฉพาะการทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน


            3. สนับสนุนอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในพื้นที่ให้ครบวงจร


            4. สนับสนุนการดำเนินงานของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลใน 2 รูปแบบ ประกอบด้วย 1)  รูปแบบ SMEs ในระดับชุมชน หมู่บ้าน หรือการรับเหมาช่วงต่อจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยรัฐพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการอำนวยความสะดวกต่างๆ และ (2) รูปแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยให้มุ่งเน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรในพื้นที่ และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ


            6. สนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตภายในครัวเรือน โดยเฉพาะการตัดเย็บเสื้อผ้าและปักจักร โดยรัฐสนับสนุนเรื่องการตลาดและการจัดหาวัตถุดิบ


            7. สำรวจและพัฒนาพื้นที่สำหรับการทำเหมืองทองคำและแร่ดำ


            8. คงไว้ซึ่งอาชีพที่มีผลต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆที่สำคัญของชุมชน เช่น การทำนาเกลือ


 


4. ด้านบัณฑิตว่างงาน ดำเนินการโดย


            1. พักชำระเงินกู้ยืมสำหรับบัณฑิตที่ยังไม่มีงานทำ


            2. พัฒนาทักษะพื้นฐานที่สำคัญให้แก่กลุ่มบัณฑิต เช่น ทักษะด้านภาษาอังกฤษ  การสื่อสาร ฯ


3. จัดหาอาชีพในระยะเร่งด่วนสำหรับบัณฑิตที่ยังไม่มีงานทำ เช่น การจ้างเป็นอาสาสมัครพี่เลี้ยงพยาบาลที่ศึกษาอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เป็นต้น


            4. ให้สถาบันการศึกษากำหนดนโยบายระยะยาวในการผลิตบัณฑิตตามความต้องการของตลาดแรงงาน


 


นโยบายด้านด้านสังคม การศึกษาและวัฒนธรรม


 


นโยบายด้านสังคม การศึกษาและวัฒนธรรม มุ่งเน้นการสร้างสังคมที่ปลอดอบายมุข การมีส่วนร่วมของชุมชน และการจัดการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับความเป็นท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ควบคู่กับความเป็นชาติ โดยกำหนดนโยบายต่างๆออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านสังคม และด้านการศึกษาและวัฒนธรรม


 


1. ด้านสังคม ให้ดำเนินการ


 


            1. สนับสนุนการสร้างสังคมที่ปลอดจากอบายมุขทั้งปวง โดยการลดจำนวนแหล่งอบายมุข จัดแบ่งเขตพื้นที่สำหรับแหล่งอบายมุขและบันเทิงเริงรมย์อย่างชัดเจน มีการกำหนดกฎเกณฑ์และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอบายมุขที่ชัดเจนและเข้มงวด


            2. ส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ฯลฯ ร่วมสร้างกระบวนการให้เกิดความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว และชุมชนอย่างกว้างขวางโดยเร่งด่วน ด้วยหลักการธรรมาภิบาล


            3. ส่งเสริมกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างมีความสุข


            4. ส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยชุมชนเป็นแกนหลักและบริหารจัดการกิจกรรมด้วยชุมชนเอง   เช่น  ครอบครัวมั่นคง  การพัฒนาทางด้านกายภาพ และจิตวิญญาณที่สมบูรณ์ การมีส่วนร่วมของสตรี  เพื่อเตรียมอนุชนที่ดีและสมบูรณ์ที่สามารถส่งต่อการพัฒนาให้เต็มศักยภาพต่อไป


            5. ใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง


            6. ส่งเสริมให้ชุมชนที่มีความพร้อมจัดตั้ง "เขตสันติภาพ"


            7. เพิ่มมาตรการการคุ้มครองความปลอดภัยแก่เด็กและสตรีให้มากยิ่งขึ้น โดยใช้มาตรการสันติวิธี


 


2. ด้านการศึกษา และวัฒนธรรม ให้ดำเนินการ


 


            1.  สนับสนุนให้ชุมชนสามารถจัดการการศึกษาและการบริหารจัดการด้วยชุมชนเอง หรือ มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างเต็มที่ในทุกระดับ


            2. ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาทางเลือกที่เป็นสถาบันการศึกษาปอเนาะ ตาดีกา และ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในมัสยิด ในการพัฒนาหลักสูตร บุคลากร งบประมาณที่พอเพียง  พัฒนาระบบการบริหารจัดการโดยตนเอง


             3. พัฒนารูปแบบการศึกษาตามอัธยาศัย เช่น พัฒนาการศึกษาที่บ้าน และพัฒนาการศึกษาแก่สถาบันครอบครัวและชุมชน


             4. ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการบริหารการศึกษาของรัฐมากขึ้น โดยกำหนดโครงสร้างการบริหาร และรูปแบบการบริหารการศึกษาที่ให้ชุมชนมีบทบาทมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งกำหนดสัดส่วนคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนของพื้นที่ที่เหมาะสม


             5. พัฒนา "หลักสูตรท้องถิ่น" ทั้งระดับสถานศึกษาขยายไปสู่ระดับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในภาพรวม และใช้กระบวนการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเป็นเครื่องมือให้เกิดการตื่นตัวของภาคชุมชนโดยการสืบค้นประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น ภูมิปัญญา ศาสนา เทคโนโลยีที่เหมาะสม และทุนทางสังคมทุกด้าน นำไปเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับบริบทของวิถีชีวิตชุมชนในปัจจุบัน


             6. พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่สมดุล บูรณาการที่เหมาะสมกับหลักการต่างๆอย่างรอบด้าน สอดคล้องกับหลักศาสนา วิถีชีวิตชุมชน และจิตวิทยาพัฒนาการ เช่น การพัฒนาโรงเรียนสองระบบให้แพร่หลาย


             7. เร่งพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา สถานศึกษา ครู นักเรียน ปัจจัยทางการศึกษา  แหล่งการเรียนรู้ในชุมชนฯ เพื่อให้เยาวชนสามารถศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น และในสาขาที่มีความจำเป็นของชุมชน และสอดคล้องกับการพัฒนาในพื้นที่ เช่น สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บุคลากรทางการสาธารณสุขและการแพทย์


             8. พัฒนาให้มีองค์กรบริหารการศึกษาและวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เฉพาะ/แบบพิเศษ มีบทบาทในการกำหนดหลักสูตร นโยบายและแผนการพัฒนาการศึกษา  มาตรฐานการศึกษา ฯลฯ ในพื้นที่ตามมาตรฐานสากล


             9. สร้างและพัฒนาเครือข่ายขององค์กรด้านการศึกษาภาคประชาชนเพื่อให้มีพลังในการต่อรองในการพัฒนาการจัดการศึกษาในพื้นที่


            10. ส่งเสริมและสนับสนุนวัฒนธรรมท้องถิ่นพื้นบ้านที่เหมาะสม โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน


            11. กำหนดทิศทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ชัดเจน


            12. จัดตั้ง "มหาวิทยาลัยอิสลาม" ในพื้นที่ที่มีการเรียนการสอนทุกสาขาวิชา พร้อมทั้งยกฐานะ      มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นมหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบ สู่สังคมอุดมปัญญา


 


นโยบายด้านอื่นๆ


นำข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. มาปรับใช้ให้เป็น


สนับสนุนสื่อท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นมีชิ่งทางในการสื่อสารมากขึ้น


ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจดำเนินโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ


พิจารณาชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้พระราชกำหนด (พรก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้เหมาะสม


 


ข้อเสนอพิเศษสำหรับผู้สมัคร ส.ส.


ประสานงานจัดตั้งวิป หรือผู้ประสานงานระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านมุสลิมในสภาผู้แทนราษฎร


 


 


 






 


 


นโยบายแห่งชาติเพื่อการแก้ปัญหาวิกฤตความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


 


 


เสนอโดย


 


สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ


สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


สถาบันข่าวอิศรา


สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข


สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11


สมาคมวิทยุโทรทัศน์ไทย


สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้


เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคใต้


เครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ (ครต.)


เครือข่ายและกลุ่มภาคประชาสังคมภาคใต้


 


 


 


๑. การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการเฉพาะพื้นที่


๑.๑ การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการของ ศอบต. ให้เป็นองค์กรอิสระ ขึ้นตรงกับ นายกรัฐมนตรี


       โดยเป็นองค์กรที่มีคุณลักษณะดังนี้


•           มีอำนาจในการตัดสินใจในการแก้ปัญหาและการวางแผนพัฒนา


•           มีอำนาจเบ็ดเสร็จในเรื่องงบประมาณ


•           มีอำนาจในการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐทุกสังกัด ที่มาปฏิบัติงานในพื้นที่ พิจารณาการย้ายข้าราชการเข้ามาในพื้นที่และการเสนอย้ายข้าราชการที่มีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมออกนอกพื้นที่ รวมทั้งการจัดอบรม ปฐมนิเทศ การให้บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษแก่ข้าราชการที่มีผลงานดีเด่น


•           ใช้การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม เช่น สัดส่วนของคณะกรรมการบริหารองค์กรให้มีคนในพื้นที่มากกว่าคนนอกพื้นที่


•           คณะกรรมการบริหารองค์กรต้องเป็นที่ยอมรับจากประชาชนในพื้นที่


๑.๒ การใช้วิถีมุสลิมบูรณาการกับการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจัดให้มีสมัชชาประชาชน หรือ สภาชุมชนที่ใช้กระบวนการซูรอ เป็นกระบวนการในการพัฒนาการเมืองแบบมีส่วนร่วม


 


๒. การปฏิรูประบบความยุติธรรม


 


๒.๑ การจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อความยุติธรรมในพื้นที่ ขึ้นตรงกับ นายกรัฐมนตรี


        โดยเป็นองค์กรที่มีคุณลักษณะดังนี้


•           มีระบบการร้องเรียน ร้องทุกข์เพื่อความเป็นธรรมเป็นภาษาถิ่น


•           มีระบบการร้องเรียนโดยเฉพาะเรื่องการเยียวยา


•           บูรณาการและเชื่อมประสานกับระบบยุติธรรมของรัฐ


๒.๒ การตั้งผู้พิพากษาศาลซารีอะห์ในระบบยุติธรรมคดีครอบครัวและมรดก


๒.๓ การตั้งศูนย์นิติวิทยาศาสตร์ในชายแดนภาคใต้


 


๓. การปฏิรูประบบการศึกษา


๓.๑ การคงความหลากหลายของการจัดการศึกษาในพื้นที่


๓.๒ พัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งสามัญศึกษา ศาสนศึกษา อิสลามศึกษา และอาชีพ ในโรงเรียนของรัฐ โรงเรียนเอกชน โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ ทั้งด้านหลักสูตร  และครูผู้สอนให้มีความเป็นเลิศ


๓.๓ การพัฒนาเป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษาและอาหรับศึกษา


๓.๔ การจัดหลักสูตรในทุกระดับให้มีการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม


๓.๕ การจัดการศึกษาเพื่อผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์


๓.๖ การจัดตั้งองค์กรเฉพาะเพื่อการแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดกับครู การหยุดเรียนของนักเรียน


๓.๗ เสนอให้วันศุกร์วันเสาร์เป็นวันหยุดเรียนของโรงเรียนทุกประเภทในพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของท้องถิ่น และเป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับความหลากหลายของการจัดการด้านต่างๆในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


๔. การปฏิรูประบบเศรษฐกิจ


๔.๑ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อขจัดความยากจน เช่น


•           การฟื้นฟูนาร้าง


•           การยกเลิกเรืออวนรุน อวนลาก เรื่อปั่นไฟปลากะตะ การมีพรบ.ประมง ใหม่


•           การแก้ปัญหาที่ทำกินที่บูโด สุไหงปาดี


๔.๒ การพัฒนาฝีมือแรงงานไทยในพื้นที่ให้มีความสามารถ มีทักษะ และส่งเสริมให้ไปทำงานในต่างประเทศ รวมถึงการดูแลแรงงานไทยในต่างประเทศ


๔.๓ การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล การเป็นครัวโลก


๔.๔ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และส่งเสริมการค้าไทย - มาเลเซีย


 


๕. การปฏิรูปสังคม ประเพณี วัฒนธรรม


๕.๑ การจัดสวัสดิการสังคมภายใต้ ระบบซากาต


๕.๒ การพัฒนาให้เป็นพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ความเป็นพหุวัฒนธรรมและความสมานฉันท์


๕.๓ สนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านศาสนาของชุมชน


๕.๔ การพัฒนาการสื่อสารสาธารณะ ให้อยู่บนฐานของความรู้ที่สังเคราะห์จากความเป็นจริงในพื้นที่


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net