Skip to main content
sharethis

ประชาไท - ภายหลังจากตำรวจสันติบาล 3 นาย เข้าตรวจสอบงานสัมมนาทางวิชาการครั้งที่ 10 ของสถาบันไทยคดีศึกษา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 มกราคม พ.ศ.2551 ได้มีการแจ้งว่า สาเหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าไปตรวจสอบงานวิชาการดังกล่าว เนื่องจากการเสวนากลุ่มย่อย ในหัวข้อ Critical Comments on Paul Handley's The King Never Smiles (panel discussion) ในวันที่ 10 ม.ค.ได้อ้างถึงหนังสือของ นายพอล แฮนด์ลีย์ (Paul Handley) ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้ามมิให้เผยแพร่และห้ามนำเข้ามายังประเทศไทย เพราะมีเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ


 


เมื่อมีการสอบถามไปยัง นายอนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้จัดงานสัมมนาวิชาการดังกล่าว เปิดเผยว่า ตำรวจสันติบาล 2-3 นาย ได้ขออนุญาตเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้จริง และทางสถาบันก็มิได้ขัดข้อง แต่ไม่ได้มอบเอกสารหรือตำราประกอบการสัมมนาให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะไม่มีการใช้เอกสารอ้างอิงในวงเสวนากลุ่มย่อยที่วิพากษ์วิจารณ์หนังสือเรื่อง The King Never Smiles และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นายพอล แฮนด์ลีย์ ผู้เขียนหนังสือดังกล่าว ไม่ไ้ด้เข้าร่วมในงานสัมมนาแต่อย่างใด 


 


ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา กล่าวว่า แม้จะชอบหรือไม่กับหนังสือเล่มดังกล่าว แต่ความจริงที่ปรากฏก็คือ หนังสือ The King Never Smiles ถูกนำไปอ้างอิงมากมายในฐานะสื่อการเรียนการสอนเรื่องไทยคดีศึกษา (Thai Studies) ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ การเสวนาครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่คนไทยจะได้รับรู้รับฟังว่า นักวิชาการต่างประเทศคิดอย่างไรกับเนื้อหาในหนังสือ


 


ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมอภิปรายและวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาของหนังสือดังกล่าว ได้แก่ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, ดร.เครก เรย์โนลด์ส มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย, ดร.แอนเน็ต แฮมิลตัน มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ และ ดร.กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร มหาวิทยาลัยเปอกูรูอัน สุลต่าน อิดริส ประเทศมาเลเซีย


 


วงเสวนาได้พูดถึงข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนในหนังสือ The King Never Smiles และมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับทัศนคติของนายพอล แฮนด์ลีย์ ซึ่งสรุปเรื่องราวของสถาบันกษัตริย์ไทย โดยอาศัยข้อมูลที่รวบรวมจากบุคคลและเอกสารอ้างอิงที่จำกัด แต่ ดร.แอนเน็ต แฮมิลตัน นักมานุษยวิทยา ซึ่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียและอยู่ในเมืองไทยมากว่า 20 ปี ชี้ให้เห็นถึงคุณูปการของหนังสือเล่มดังกล่าว โดยระบุว่า


 


"หนังสือเล่มนี้ (The King Never Smiles) ยกระดับความสำคัญของเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของราชอาณาจักรได้อย่างน่าทึ่ง ประเด็นหลักก็คือ มันท้าทายความยินยอมพร้อมใจที่จะเงียบ หรือความยินยอมที่จะไม่ขัดแย้งทางความคิด ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ประเทศไทยใช้ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความสามัคคี แ่ต่เราได้เห็นแล้วว่า วิธีนี้ไม่สามารถการันตีว่าจะมีแต่ความสงบสุข"


 


"เพราะแทนที่จะเป็นเช่นนั้น มันกลับส่งผลให้เกิดสถานการณ์ที่ปิดกั้น ทั้งความหวาดกลัว ความคาดหวัง ความใฝ่ฝัน และการตีความต่างๆ เป็นระยะเวลายาวนานหลายทศวรรษ ทำให้ข่าวลือและการซุบซิบนินทาแพร่ขยายในวงกว้าง และอาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรงที่น่าหวาดวิตก"


 


ในทัศนะของ ดร.แฮมิลตัน บทลงโทษผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถือเป็นกฎหมายที่ล้าหลัง และเป็นอุปสรรคที่ทำให้พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไทย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากภาคประชาชน ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ตรัสอย่างชัดเจนแล้วในปี 2548 ว่า กษัตริย์มิได้ทรงอยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่รัฐบาลกลับสั่งให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ ตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2549 เป็นต้นมา


 


"หนังสือของแฮนด์ลีย์ท้าทายทัศนคติที่หยั่งรากลึกของคนไทย ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่มีปฏิกิริยาตอบโต้ที่เต็มไปด้วยความกลัวและการต่อต้าน การสั่งห้ามไม่ให้เผยแพร่หนังสือเล่มนี้จึงเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นเผด็จการอย่างหนึ่ง" ดร.แฮมิลตัน กล่าว


 


ทางด้าน ดร.เครก เรย์โนลด์ส นักวิชาการชาวออสเตรเลีย หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า ทัศนคติของคนไทยส่วนใหญ่ มองว่านักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นเพียง "คนนอก" ผู้ไม่มีสิทธิ์แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทย แต่การปิดกั้นหนังสือ The King Never Smiles กลับทำให้การลักลอบเผยแพร่หนังสือดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก


 


การปิดกั้นมิให้มีการพูดถึงหนังสือ The King Never Smiles ทำให้แนวคิดที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเกี่ยวพันกับการเมืองและทรงสนับสนุนคณะทหาร กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในทางลับ โดยไม่มีใครกล้าออกมาชี้แจงเหตุผลเพื่อโต้แย้งข้อสันนิษฐานในหนังสือดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องต้องห้าม


 


อย่างไรก็ตาม จากการรายงานของ ซีเจ ฮิงเก กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT: Freedom Against Censorship Thailand) ระบุในเว็บไซต์ของกลุ่มว่า เสวนากลุ่มย่อยเพื่อวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาของหนังสือ The King Never Smiles มีผู้เข้าร่วมเสวนาประมาณ 350-400 คน ซึ่งถือเป็นช่วงที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดเมื่อเทียบกับวงเสวนาเรื่องอื่นๆ ที่จัดในเวทีเดียวกัน


 


จำนวนคนที่เข้าฟังการเสวนาอาจชี้ให้เห็นว่า ผู้สนใจเนื้อหาของหนังสือเรื่องนี้มีจำนวนไม่น้อย และ ซีเจ ฮิงเก กล่าวว่า The King Never Smiles มีคุณค่าต่อแวดวงวิชาการของไทย ในแง่ของการเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงกันในประเด็นซึ่งถูกปิดกั้นมานานด้วยกฎหมายและสัญนิยมทางสังคม


 


อย่างไรก็ตาม ฮิงเก ได้ตั้งคำถามว่า เหตุใดตำรวจสันติบาลจึงต้องปรากฏตัวเข้าร่วมในงานสัมมนาครั้งนี้ด้วย ในเมื่อการจัดงานดังกล่าวได้รับการยอมรับจากแวดวงทางวิชาการทั่วโลก และการปรากฏตัวของเ้จ้าหน้าที่ตำรวจเป็นไปเพื่อจะข่มขวัญผู้เข้าร่วมอภิปรายหรือไม่


 


 


ข่าวประกอบ:


 


Scholars Debate Biography of Thai King


Police watch Thai Studies Conference


Banned royal book stirs rare debate in Thailand


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net