Skip to main content
sharethis

ชำนาญ จันทร์เรือง


 


ในขณะที่เรากำลังเบื่อหน่ายต่อระบบการเลือกตั้งของเมืองไทยเราอยู่ในขณะนี้ที่มีแต่ข่าวคราวความขัดแย้งกันอยู่ทุกวี่วัน เลือกตั้งมาแล้วได้พรรคที่ได้เสียงมากที่สุดก็ไม่แน่ว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาลหรือแม้ว่าจะได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่แน่ว่าหัวหน้าพรรคนั้นจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ในทำนองกลับกันพรรคที่ได้ชื่อว่าอยู่ในขั้วตรงข้าม เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้วมีจำนวนน้อยกว่า แทนที่จะแสดงมารยาทด้วยการโทรศัพท์หรือแสดงความยินดีผ่านสื่อไปยังหัวหน้าพรรคที่ได้เสียงมากที่สุด ก็กลับออกข่าวทุกวันว่าจะตั้งรัฐบาลแข่งเสียนี่ คอการเมืองหลายคนรวมทั้งผมด้วยเลยออกอาการเซ็งๆ หันไปสนใจข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเสียยังจะมีรสชาติกว่า


 


ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้น มีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร แม้แต่ชาวอเมริกันเองบางคนก็ยังงงๆอยู่เหมือนกันเมื่อถูกขอให้อธิบายระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเขา แต่ที่แน่ๆก็คือ คนทุกอาชีพ(ที่สุจริต)มีโอกาสได้เป็นประธานาธิบดี อาทิ นายแบบ - เจอร์รัลด์ ฟอร์ด ,คนเก็บขยะ - ลินดอน จอห์นสัน,  นักธรณีวิทยา - เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์,คนงานบนเรือเฟอร์รี - เจมส์ การ์ฟิลด์,นักสำรวจ - จอร์จ วอชิงตัน,นักแสดง - โรนัลด์ เรแกน,และแม้กระทั่งชาวไร่ชาวนา เช่น มิลเลิร์ด ฟิลมอร์,อับราฮัม ลินคอล์น,ยูลิซิส เอส แกรนท์,เบนจามิน แฮริสัน,วอร์เรน ฮาร์ดิง,แคลวิน คูลลิดจ์,   แฮร์รี ทรูแมน และ จิมมี คาร์เตอร์ ก็มีโอกาสเป็นประธานาธิบดีด้วยเช่นกัน


           


คุณสมบัติของผู้สมัครประธานาธิบดี


รัฐธรรมนูญฯกำหนดไว้ว่าต้องอายุ 35 ปีขึ้นไป ได้รับสัญชาติอเมริกันโดยกำเนิด(โรบินฮู้ดหรือผู้อพยพที่ได้สัญชาติอเมริกันภายหลัง เช่น ผู้ว่าฯอาร์โนลด์ชวาชเนกเกอร์นั้นหมดสิทธิ์) อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกามาไม่น้อยกว่า 14 ปี ไม่เคยเป็นประธานาธิบดีมาแล้ว 2 สมัย ฯลฯ


 


ขั้นตอนการหยั่งเสียง ปัจจุบันมี 3 วิธี คือ


 


1)      อาจได้จากวิธีการแบบ primary ซึ่งหมายถึงการจัดการเลือกตั้งขั้นต้นขึ้นในมลรัฐ


 


2)      แบบ caucus คือ การประชุมกลุ่มย่อยของสมาชิกพรรคในแต่ละระดับ ตั้งแต่หน่วยเล็กสุดขึ้นมาเพื่อเสนอความคิดเห็น


 


3)      แบบ state-covention ที่หมายถึงการประชุมใหญ่ของพรรคในระดับมลรัฐ เพื่อคัดเลือกผู้ที่ได้รับคะแนนนิยมสูงสุดเป็นตัวแทนพรรค


 


จาก 1 ใน 3 วิธีข้างต้น จะทำให้ได้ผู้แทนหรือที่เรียกว่า delegates จำนวนหนึ่งเพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกจากที่ประชุมใหญ่ของพรรค(National Convention)ให้เหลือตัวแทนพรรคเพียงคนเดียว ถ้าสามารถเลือกผู้แข่งขันได้ในครั้งแรกของการประชุมพรรค จะเรียกว่า first ballot victory


 


การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง


ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ "วันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนของปีที่มีการเลือกตั้ง" เป็นวันลงคะแนนเสียงสำหรับผู้ที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้วในเขตเลือกตั้งของตน ซึ่งครั้งนี้ตรงกับวันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน 2551 โดยคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็คือ มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีสัญชาติอเมริกัน มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ฯลฯ


 


ผลการเลือกตั้ง


จะมี 2 แบบ เรียกว่า popular vote กับ electoral vote เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมริกานั้นมิใช่การเลือกตั้งโดยตรง แต่ประชาชนจะไปเลือกผู้แทนของเขา (popular vote) เพื่อไปเลือกตั้งประธานาธิบดี (electoral vote) อีกทีหนึ่ง การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจึงเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม คนที่ได้เป็นประธานาธิบดีจะต้องชนะในส่วนของ electoral vote โดยคณะผู้เลือกตั้ง(electoral college)จะมีจำนวนเท่ากับจำนวนผู้แทนราษฎรรวมกับจำนวนวุฒิสมาชิกในมลรัฐของตนที่มีอยู่ในสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา


 


ประเด็นสำคัญที่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ใช้คณะผู้เลือกตั้งนี้คือกติกาที่ว่า ผู้ชนะได้ไปทั้งหมด(winner-take-all) ซึ่งหมายความว่าผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงส่วนมากจากประชาชนในมลรัฐ ก็จะได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งไปทั้งหมด ดังนั้น มลรัฐ ที่มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งมากๆก็จะเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้สมัคร เช่น คาลิฟอร์เนีย(55) ,เท็กซัส(34), นิวยอร์ก(31), ฟลอริดา(27), เพนซิลเวเนีย(21) เป็นต้น


 


ซึ่งก็มีหลายครั้งที่คนชนะ popular vote แต่ไปแพ้ electoral vote ก็อดเป็นประธานาธิบดี เช่น แอนดรู แจ็กสัน แพ้ต่อ จอห์น อดัมส์, แซมมวล ทิลเดน แพ้ต่อ รูเธอฟอร์ด เฮย์ ,กริฟเวอร์ คลีฟแลนด์ แพ้ต่อ เบนจามิน แฮริสัน และล่าสุดก็คือ อัล กอร์ ผู้พิชิตรางวัลโนเบลสันติภาพ ก็แพ้ต่อ จอร์จ บุช จนมีเรื่องมีราวไปถึงศาลสูง(supreme court)นั่นเอง


 


การรับตำแหน่ง


การรับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่จะรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม ของปีถัดไป โดยประธานาธิบดีคนเก่าจะอยู่ในตำแหน่งจนถึงเที่ยงวันของวันที่ 20 มกราคม


 


การสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดี


ในกรณีที่ประธานาธิบดีได้ขึ้นดำรงตำแหน่งไปแล้วแต่ต่อมาถูกกล่าวโทษ(impeachment)หรือตาย ผู้ที่จะสืบตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดีจนหมดสมัยโดยไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ คือ รองประธานาธิบดี,ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ประธานวุฒิสภา, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการมหาดไทย ตามลำดับ


 


ที่กล่าวมาพอสังเขปนี้คงพอทำความเข้าใจในเบื้องต้นของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้บ้าง อย่างน้อยก็สามารถติดตามข่าวสารการเลือกตั้งฯได้อย่างมีรสชาติไปจนถึงปลายปีนี้ นะครับ


 


 


...........................................................


หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 16 มกราคม 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net