Skip to main content
sharethis

กอแก้ว วงศ์พันธุ์


นักเขียนอิสระ


 


 


ประเทศไทยอยู่ห่างจากประเทศพม่าประมาณ 2,000 กิโลเมตร มีพรมแดนติดต่อกันหลายพื้นที่ ไม่ว่าเป็นแถบภาคเหนือ-แม่สอด ตาก ภาคตะวันตก-กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้-ระนอง จำนวนแรงงานพม่าในประเทศไทยทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายมีอยู่ประมาณ 2 ล้านคนและเป็นผู้หญิงเกือบครึ่งหนึ่ง คือ ประมาณ 1 ล้านคน แสดงว่าเงินตราเข้าประเทศพม่ามีผู้หญิงเป็นเรี่ยวแรงในการนำเงินตราเข้าทุกปี จะเห็นว่า ผู้หญิงนั้นมีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อประเทศพม่าอย่างมาก


 


พื้นที่จังหวัดพังงาเป็นพื้นที่หนึ่งที่ต้องการแรงงานพม่ามาช่วยงานและพยุงเศรษฐกิจ เพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งมีอุตสาหกรรมโรงงานปลาป่น ธุรกิจเรือประมง สวนยางพารา และธุรกิจท่องเที่ยวที่กำลังเฟื่องฟู ที่พังงาจึงมีแรงงานพม่าเข้ามาขายแรงงานจำนวนมากทั้งที่เข้ามาอย่างผิดกฏหมายและถูกกฎหมาย ในจำนวนนั้นมีแรงงานผู้หญิงที่ขึ้นทะเบียนที่แรงงานจังหวัดมากถึง 5,367 คน เรียกว่าเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย แต่จากการลงภาคสนามพบว่ามีแรงงานผู้หญิงที่ไม่มีบัตรและขึ้นทะเบียนกับแรงงานจังหวัดอีกจำนวนมาก และอาศัยอยู่ในทุกพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจของจังหวัดพังงา โดยเฉพาะอำเภอตะกั่วป่า ซึ่งเป็นอำเภอที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือ เขาหลัก ธุรกิจโรงแรมกำลังเฟื่องฟู มีการก่อสร้างกระจายไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่างหลายแห่ง และธุรกิจประมงขนาดกลางที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้


 


หากศึกษาในเรื่องทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เรื่องตลาดแรงงานและทฤษฎีระบบโลกเรื่องการย้ายถิ่น ซึ่งมักจะเน้นปัจจัยเรื่องอุปสงค์และอุปทานด้านแรงานในระดับโลก เป็นธรรมชาติที่จะมีการไหลบ่าของแรงงานในประเทศที่ด้อยพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาและมีการจ้างงานมากกว่า เป็นไปตามระบบทุนนิยมและระบบเศรษฐกิจไร้พรมแดน  


 


บทบาทของแรงงานผู้หญิงพม่าที่เข้ามาค้าแรงงานในประเทศไทย เธอมีความสำคัญกับความมั่นคงของครอบครัวสูง ในบริบทของสังคมพม่าในอดีตบทบาทของผู้หญิงถูกกดมาตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์เพราะสังคมยุคนั้นให้ความสำคัญกับการเมืองการปกครอง ซึ่งในอดีตมีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่มีความสำคัญ เช่น พระเจ้าบุเรงนองมีความสำคัญในการขยายดินแดน พระเจ้าอลองพญา มีความสำคัญในการนำพม่ามายิ่งใหญ่ เป็นต้น สมัยประวัติศาสตร์มีพื้นที่ให้ผู้หญิงน้อยมาก


 


แม้ว่าในเชิงวัฒนธรรม ตามคำบอกเล่าของแรงงานพม่าบอกว่าในนิยายปรัมปรา คนพม่านับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นผู้หญิงอยู่บ้าง เช่น ผีบ้านผีเรือนเป็นผู้หญิงชื่อนางหน้าทองดอลัต กับเทพีแห่งสติปัญญา ซึ่งเทพีแห่งสติปัญญาเป็นผู้หญิง น่าจะมีความสำคัญกับสังคมพม่าอย่างมาก แต่ในประวัติศาสตร์พม่าก่อนการรวมชาติเป็นดินแดนที่มีการสู้รบอยู่กันหลายยุคหลายสมัย ในอดีตต่างก็เป็นรัฐอิสระ เช่น มอญก็มีกษัตริย์และมีอาณาจักรเป็นของตนเอง คะฉิ่น ยะไข่ ไทใหญ่ กระเหรี่ยงต่างก็มีกษัตริย์และอาณาจักรของตนเอง จึงมีศึกสงครามแย่งชิงและป้องกันอาณาจักรของตน ซึ่งมีแค่ผู้ชายที่นำทัพจับศึก พื้นที่ทางสังคมในประวัติศาสตร์ ชายจึงเป็นใหญ่ จนมาถึงยุคอาณานิคม กษัตริย์และดินแดนของพม่าทุกก๊กถูกแบ่งแยกและทำลายโดยอังกฤษ การรบพุ่งหรือระแวงต่อกันก็ยังไม่จบสิ้น


 


พม่ามีความพยายามที่จะรวมชาติ เลิกทำสงครามต่อกันในยุคต่อสู้อาณานิคม พม่าประกาศอิสรภาพและรวมชาติพม่า แต่ในท้ายที่สุดพม่าก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการยุติการรู้รบและสงครามการเมืองแต่อย่างใด ปัจจุบันยังคงมีความขัดแย้งและทำสงครามต่อกันระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยต่างๆ


แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคอาณานิคมได้เริ่มมีนักสู้เพื่อเอกราชเป็นผู้หญิงและเป็นนักเขียน คือ Lu Htu Daw Amar (ลู ทุ ดอ มา) เธอเป็นนักเขียนที่เขียนบทความ กวีเพื่อต่อต้านอาณานิคม ความคิดของเธอมีอิทธิพลต่อคนพม่าอย่างกว้างขวาง เธอไม่เพียงแต่ต่อต้านและต่อสู้กับอาณานิคมเท่านั้น ในยุคเผด็จการทหาร เธอก็ยังคงเขียนบทความและกวีต่อต้านเผด็จการทหารด้วย ปัจจุบันเธอยังมีชีวิตอยู่ ด้วยวัย 99 ปี จากยุคสงครามรบพุ่งกัน มาสู่ยุคต่อสู้เพื่อเอกราช ผู้หญิงพม่าก็ได้มีพื้นที่ในทางการเมืองมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว


 


ยุคอาณานิคม เกิด Lu Htu Daw Amar ในยุคต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมี Aung San Suu Kyi (ออง ซาน ซู จี) ผู้นำและผู้ต่อสู้ทางการเมืองสตรียังอีกมากมายแต่ไม่ปรากฎชื่อ ที่น่าสนใจก็คือว่า บทบาทของผู้หญิงในพม่าเปลี่ยนแปลงในทางการยอมรับทางการเมืองมากขึ้น มีการตั้งข้อสังเกตว่า บทบาทของผู้หญิงมีแฝงมานานตั้งแต่อดีตแล้วหรือไม่ การที่พม่ายอมรับและบูชา ออง ซาน ซู จี กับ ลู ทุ ดอ มาเปรียบเสมือนราชินีของพม่านั้น คงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นมาห้าสิบปีแล้ว อำนาจของผู้หญิงพม่าที่แฝงฝังในสังคมพม่าน่าจะมีมาตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์


 


ในสังคมเผด็จการทหารพม่านี้เองที่บทบาทของผู้หญิงในพม่าเริ่มเปลี่ยนแปลง วิถีความเป็นผู้หญิงในสังคมพม่าค่อนข้างคล้ายกับสังคมไทย ซึ่งอยู่ภายใต้สังคมของชายเป็นใหญ่ สังคมไทยกำหนดคุณสมบัติความเป็นหญิงที่ดีควรมีครบตำราเบญจกัลยาณี หญิงที่แตกต่างถูกมองว่าเป็นหญิงที่มีคุณค่าต่ำกว่า สังคมพม่าเองก็กำหนดคุณสมบัติหญิงงามตามตำราโลกนิตไว้ว่า หญิงที่จัดว่างามนั้นต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 8 ประการ ได้แก่ 1.มีผิวพรรณดี 2.มีดวงตาสดใสดั่งตากวาง 3.มีเอวคอด 4.มีขาเรียว 5.มีผมดกดำ 6.มีฟันเป็นระเบียบ 7.มีสะดือบุ๋ม และ 8.มีความประพฤติดีงาม


 


การกำหนดคุณค่าของหญิงเช่นนี้ มองเห็นคุณค่าของหญิงแต่เพียงรูปกาย ผู้หญิงเป็นเพียงแค่วัตถุรองรับทางเพศของชายเท่านั้น เพราะคุณสมบัติเหล่านี้มีไว้เพื่อให้ชายหนุ่มหลงใหลเท่านั้น ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นการกำหนดบทบาทของเพศด้วย ดังที่ นักสตรีนิยม วารุณี ภูริสินสิทธิ์ พูดถึง บทบาทของชายหญิงว่า เป็นสิ่งสังคมกำหนดความเป็นเพศขึ้น โดยให้ผู้หญิงมีคุณลักษณะบางอย่าง และผู้ชายมีคุณลักษณะบางอย่างและเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นำไปสู่การกำหนดบทบาทหน้าที่ รวมทั้งสถานะสูงต่ำที่แตกต่างกันของคนสองเพศ ผู้หญิงอยู่ในสภาพเป็นผู้ที่ด้อยกว่า เป็นผู้ตาม เป็นผู้ถูกกำหนด ในขณะที่ผู้ชายอยู่ในฐานะที่เหนือกว่า เป็นผู้นำ เป็นผู้กำหนด


 


ปัจจุบันหญิงสาวพม่ายังคงเสริมแต่งเรือนกายตามคุณสมบัติแปดประการเพราะกลายเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายของผู้หญิงพม่า แต่ที่เปลี่ยนแปลงไปคือ ผู้หญิงพม่าไม่ใช่นั่งคอยให้สามีเลี้ยงดูแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ผู้หญิงต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ รัฐบาลทหารพม่าบริหารประเทศล้มเหลวทางเศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิง นโยบายปิดประเทศทำให้ค่าของเงินจั๊ตต่ำมาก รายได้ของประชากรต่ำ แต่ค่าครองชีพสูงจนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในประเทศได้ เพื่อให้ครอบครัวดำรงอยู่ได้ชาวพม่าทั้งหญิงและชายไหลบ่าเข้าไปหางานทำในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทยและมาเลเซีย


 


เมืองไทยแดนสวรรค์


ผู้หญิงพม่าที่เดินทางเข้ามาทำงานในภาคใต้ส่วนใหญ่จะผ่านเส้นทางพรมแดนไทย-พม่า ที่เกาะสองเข้าสู่จังหวัดระนอง เพราะเป็นเส้นทางที่สะดวกที่สุดในการเข้ามา เพราะมีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการค้าตามแนวชายแดนว่า ประชากรสองประเทศสามารถผ่านเข้าออกได้โดยการบัตรผ่านแดนและสามารถอยู่ในแผ่นดินทั้งสองประเทศได้ไม่เกิน 7 วัน หมายความว่า คนไทยสามารถเข้าประเทศพม่าได้เพียงแต่ทำใบผ่านแดน ไม่จำเป็นต้องทำพาสปอร์ต แต่ต้องกลับมาภายใน 7 วัน ซึ่งพม่าก็เช่นเดียวกัน


 


ส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงพม่าที่ตั้งใจเข้ามาขุดทองในประเทศไทย มาด้วยวิธีจ่ายค่าใบผ่านแดน เมื่อมาถึงแล้วก็ไม่กลับไปฝั่งพม่าอีก โดยอาศัยอยู่กับเพื่อน ญาติพี่น้องที่มาทำงานก่อนหน้านั้นแล้ว บางคนโชคดีได้งานทำทันที แต่บางคนต้องรองานนานหลายเดือนก็ยังไม่ได้งาน แต่เขายังมีความหวัง ไม่ยอมกลับ เพราะถึงกลับไปก็ไปเจอสภาพเดิม ที่พม่าไม่มีงาน ค่าจ้างก็ต่ำ ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ แรงงานพม่าทราบดีว่า เงินเดือนที่รับที่เมืองไทยจำนวนแค่ 2000-3000 บาท พวกเขาสามารถเลี้ยงครอบครัวทั้งครอบครัวได้ทั้งเดือน เพราะฉะนั้นผู้หญิงพม่าจะอดทนอย่างที่สุดเพื่อที่จะได้อยู่ในประเทศไทยได้นานที่สุด


 


ระบบนายหน้า


วงจรการค้าแรงงานในพม่าไม่ต่างจากการค้าแรงงานต่างประเทศของไทยเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา คนจนส่วนใหญ่มีสภาพคล้ายกัน คือ มีความซื่อ และขาดแคลนข้อมูลความรู้ในการไปทำงานยังต่างประเทศ ในอดีตชาวนาไทยถูกหลอกให้ขายไร่ขายนาและทำการกู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่านายหน้าเพื่อหวังที่จะได้ไปขุดทองยังประเทศแถบเอเชียตะวันออก ซาอุดิอาระเบีย บางคนถูกหลอกจนหมดตัว บางคนโชคดีร่ำรวยได้บ้านได้ที่นาเพิ่มขึ้น วงจรแรงงานย้ายถิ่นพม่าก็เช่นเดียวกัน ผู้หญิงพม่าและครอบครัว ต้องจ่ายค่านายหน้าเพื่อสะดวกต่อการทางมายังประเทศไทย นายหน้าบางคนให้การรับรองว่าเมื่อมาถึงก็จะได้งานทำทันที บางครั้งแรงงานผู้หญิงเหล่านี้ก็ถูกหลอก การผ่านระบบนายหน้าทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนบ้าน บางคนต้องจำนอง จำนำบ้านและที่ดิน หรือ และผ่อนคืนในระยะยาว


 


ระบบนายหน้าเริ่มตั้งต้นตั้งแต่ในหมู่บ้าน แต่ถึงพวกเขาต้องจ่ายเป็นจำนวนเงินที่สูงก็ยอม นอกจากค่านายหน้าแล้ว พวกเขายังเผชิญกับการจ่ายเบี้ยบ่ายรายทางให้กับด่านต่างๆ ที่ทหารพม่าตั้งจุดตรวจ การออกจากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในประเทศพม่าไม่ได้ทำกันอย่างง่ายดายและมีเสรีภาพ พวกเขาต้องรายงานตัว รายงานวัตถุประสงค์ในการไปยังที่จุดหมายปลายทาง ทหารพม่ามีสิทธิที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้พวกเขาข้ามพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเทคนิคในการคอรัปชั่น


 


วงจรค่านายหน้าในการนำทางเข้าประเทศเพื่อหางานทำแล้ว ผู้หญิงเหล่านี้ยังต้องจ่ายค่านายหน้าสำหรับผู้ติดต่องานให้ทำอีกด้วย ความต้องการงานทำมีสูง การแข่งขันเพื่อให้ได้งานทำก็มีมากเช่นกัน ปัญหานี้ได้เปิดช่องให้กับนายหน้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานพม่าที่เชี่ยวชาญในพื้นที่ ทำงานในไทยมาเป็นเวลานาน รู้จักผู้คนกว้างขวาง


 


การฝากงานแต่ละครั้งพวกเขาจะเสียค่านายหน้าประมาณ 500 บาท นอกจากนี้แล้ว ยังมีระบบนายหน้าที่สำคัญซึ่งผู้หญิงพม่าเหล่านี้ไม่สามารถปฏิเสธได้ นั่นคือ ระบบนายหน้าที่ทำหน้าที่ส่งเงินกลับบ้านที่พม่า เพราะแรงงานหญิงเหล่านี้ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ พวกเธอไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้ จึงต้องพึ่งพานายหน้า แต่เป็นระบบนายหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับแรงงาน คล้ายกับการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพราะระบบนายหน้าประเภทนี้มีการทำงานอย่างเป็นระบบ และอาศัยความซื่อสัตย์อย่างยิ่ง หากไม่มีความซื่อสัตย์ระบบนี้ก็จะล้มลงโดยง่ายดาย เพราะแรงงานจะบอกกันปากต่อปาก เพราะฉะนั้นคนที่ยืนหยัดทำงานนี้อยู่ได้ หมายถึงการได้รับการนับถือและเชื่อถือจากแรงงานพม่าอย่างมาก เพราะครอบครัวที่อยู่ข้างหลังสำคัญที่สุด เป้าหมายที่ทุกคนเข้ามาในประเทศไทยก็เพื่อส่งเงินกลับบ้าน


 


ลูกค้าจะบอกว่าต้องการส่งเงินกลับบ้านกี่พัน นายหน้าก็จะโทรให้หุ้นส่วนที่พม่าจัดการโอนเงินให้ถึงมือญาติของลูกค้า โดยหักค่าจัดการประมาณร้อยละสิบบาท จากนั้นลูกค้าก็จะนำเงินมาให้นายหน้าที่เมืองไทยตามจำนวนที่ส่งกลับ นายหน้าจะได้รายได้อีกต่อหนึ่งคือ มีรายได้จากการแลกเปลี่ยนเงินตราด้วยการนำเงินสกุลไทยฝากเข้าธนาคารในพม่าในวันที่อัตราแลกเปลี่ยนสูงสุด ระบบนี้ทั้งนายหน้าและลูกค้าต้องซื่อสัตย์ต่อกันระบบนี้จึงจะอยู่ได้


 


การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ


กฎหมายแรงงานต่างด้าวของไทย กำหนดให้แรงงานต่างด้าวต้องมีการขึ้นทะเบียนรายงานต่อเจ้าหน้าที่รัฐ คือต้องรายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้าน และขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว การขึ้นทะเบียนคนต่างด้าวไม่ได้หมายความว่าพวกเขาสามารถทำงานในประเทศไทยได้ แต่สามารถอยู่ในหมู่บ้านได้ ถ้าหากจะทำงาน แรงงานผู้หญิงเหล่านี้ต้องทำบัตรสีชมพู หรือที่เรียกว่าใบอนุญาตทำงาน (work permit card) ซึ่งจะต้องต่ออายุปีละครั้ง ค่าธรรมเนียนในการทำบัตร 3,800 บาท ในกรณีของการทำบัตรอนุญาตทำงานจะคุ้มครองสุขภาพด้วย แรงงานผู้หญิงเหล่านี้ตรวจรักษาพยาบาลได้ในราคา 30 บาทสิทธิเท่าเทียมกับคนไทย แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่แรงงานผู้หญิงไม่เคยทำบัตรมาก่อน เป็นการทำบัตรครั้งแรก ค่าธรรมเนียมจะแพงกว่าการต่อบัตรเก่า 6,800 บาท


 


เนื่องจากค่าธรรมเนียมค่อนข้างแพง นายจ้างคนไทยส่วนใหญ่จึงหลีกเลี่ยงด้วยการไม่ทำบัตรให้แรงงานผู้หญิงเหล่านี้ การทำบัตรให้จึงไม่คุ้มกับการลงทุน และถึงแม้จะทำบัตรให้ อย่างไรเสียก็ต้องจ่ายค่าคุ้มครองให้ตำรวจทุกเดือน การทำบัตรหรือไม่ทำบัตรให้แรงงานต่างด้าวมีค่าเท่ากันเท่ากับต้องจ่ายให้ตำรวจ ปัญหาจึงตกอยู่ที่แรงงาน กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ต้องอยู่ต่างหลบซ่อนและหวาดกลัวตำรวจจะจับอยู่ตลอดเวลา หากถูกจับหมายความว่า อนาคตของครอบครัวจะพังทลายลงทันที เพราะตามกฎแล้วพวกเขาจะต้องถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศพม่า ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขากลัวที่สุด และจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อที่จะไม่ให้ต้องถูกส่งตัวกลับ ตรงนี้ได้เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยคอรัปชั่น ด้วยการข่มขู่รีดไถเงินจากแรงงาน เป็นการแลกเปลี่ยนกับอิสรภาพ


 


แรงงานต่างด้าวจึงต้องอยู่อย่างจำนนต่อนายจ้างและเจ้าหน้าที่ตำรวจ แรงงานผู้หญิงบางคนถูกตำรวจข่มขู่ที่จะฉีกบัตรอนุญาตทำงาน บางคนถูกข่มขู่ว่าจะยึดบัตร หากไม่จ่ายเงินให้เขา แม้พวกเธอจะทราบดีว่า พวกเธอไม่ได้ทำผิดและในกรณีมีบัตร ตำรวจไม่สามารถจับหรือสอบสวนพวกเธอ แต่ก็ไม่เคยมีใครต่อรอง หรือโต้ตอบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พวกเธอจำเป็นต้องจ่าย เพราะเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะได้บัตรและอิสรภาพคืน ทุกครั้งที่พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่จะต้องจ่ายเงินอย่างน้อยครั้งละ 1,000 บาท เท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินเดือน พวกเธอต้องหยิบยืมจากเพื่อนบ้านเพื่อมาจ่ายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ พวกเธอต้องทำงานหนักและเก็บหอมรอบริบเพื่อใช้หนี้ แรงงานหญิงบางคนโชคร้ายถูกจับ 2 ครั้งภายในหนึ่งเดือน เท่ากับว่าเธอต้องเป็นหนี้ระยะยาว เงินเดือนแทบไม่ได้ใช้ ต้องคืนหนี้สินเสียก่อน จึงกลายเป็นปัญหาต่อเนื่อง เธอต้องเป็นหนี้เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เงินเดือนออกก็ต้องใช้หนี้คืน เมื่อเงินไม่พอชักหน้าไม่ถึงหลังก็ต้องหยิบยืมอีก เป็นวงจรหนี้ระยะยาวที่ไม่มีวันหมด


 


นอกจากปัญหาการข่มขู่รีดไถเงินแล้ว แรงงานผู้หญิงเหล่านี้ยังเผชิญกับปัญหาการคุกคามทางเพศจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่รัฐตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับได้ ผู้หญิงบางคนถูกกักตัวและถูกละเมิดทางเพศ จากนั้นจึงปล่อยตัวพวกเธอกลับไป เป็นปัญหาที่แรงงานต่างด้าวรับทราบโดยทั่วกัน ผู้หญิงพม่ามีสภาพคล้ายกับผู้หญิงไทย พวกเธอจะอับอายกับเรื่องนี้ ถือว่าเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุดในชีวิตของลูกผู้หญิง จึงไม่มีใครกล้าปริปากและไม่กล้าเรียกร้องให้องค์กรสิทธิมนุษยชนต่อสู้เอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยข้อหาละเมิดทางเพศ เพราะความอับอาย คุณค่าของผู้หญิงพม่าจะต้องเรียบร้อย บริสุทธิ์ สะอาด และสง่างาม การถูกล่วงละเมิดทางเพศจึงเป็นความเจ็บปวดที่พวกเธอต้องแบกไว้บนบ่าแต่เพียงผู้เดียว


 


ความไม่เท่าเทียมเรื่องค่าจ้าง


งานส่วนใหญ่ในอำเภอตะกั่วป่าจังหวัดพังงาสำหรับแรงงานผู้หญิงมีให้เลือกไม่มากนัก งานส่วนใหญ่เป็นงานชั้นต่ำที่คนไทยไม่รับจ้างทำกันแล้ว เช่น งานก่อสร้าง รับจ้างเป็นลูกเรือประมง รับจ้างคัดแยกปลา งานแม่บ้าน ตัดยาง แรงงานหญิงพม่าจึงมีทางเลือกน้อย ส่วนใหญ่จะทำงานหนักเท่าเทียมกับผู้ชาย เช่น งานก่อสร้าง เป็นคนงานรับจ้างตัดยาง รีดยาง เก็บยางพารา เป็นต้น แต่ค่าแรงของผู้หญิงพม่าจะต่ำกว่าค่าแรงงานชายเกือบเท่าตัว ถ้าแรงานชายได้ 200 บาท แรงงานผู้หญิงจะได้เพียง 100 บาทเท่านั้น ทั้งที่แบกปูน แบกคานแบบเดียวกับแรงงานชาย การจ่ายค่าแรงที่ไม่เท่าเทียมกันจึงเป็นที่ยอมรับในหมู่แรงงานผู้หญิงพม่าในอำเภอตะกั่วป่า การจะทำให้พวกเธอตระหนักถึงการเรียกร้องความไม่เท่าเทียมกันเรื่องค่าจ้างแรงงาน ทำได้ยากมาก และเป็นปัญหาที่ซ้อนกันอยู่สองระดับ


 


หนึ่ง คือเธอเป็นแรงงานต่างด้าว ไม่กล้าเรียกร้องสิทธิใดๆ จากนายจ้าง จำนนกับความกลัว กลัวตกงาน กลัวถูกจับ กลัวถูกส่งกลับบ้าน เป็นต้น


 


สอง การยอมจำนนกับสังคมชายเป็นใหญ่ การยอมรับว่า แรงงานหญิงมีคุณค่าน้อยกว่าแรงงานชาย ค่าแรงที่ไม่เท่าเทียมกันเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว


 


ผู้เขียนพบว่า งานก่อสร้างหลายแห่ง มีการจ้างแรงงานหญิงกว่าครึ่งหนึ่ง เพราะแรงงานหญิงสามารถทำงานได้ดีเท่ากับชาย และรับผิดชอบในการทำงานมากกว่า แต่จ่ายค่าแรงน้อยกว่าเกือบเท่าตัว จะมีแต่งานระดับต้องใช้ทักษะและความชำนาญพิเศษในเรื่องการก่อสร้างเท่านั้นที่แรงงานผู้หญิงมาแทนแรงงานชายไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะผู้หญิงพม่ามีการศึกษาน้อยกว่าผู้ชายมาตั้งแต่อยู่ในสังคมพม่า  ผู้หญิงได้รับการศึกษาน้อยกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นล่างของสังคมพม่า แรงงานผู้หญิงเหล่านี้มาจากกลุ่มชนชั้นล่างที่ยากจนในสังคมพม่า การต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางด้านค่าแรงจึงเป็นการทำงานที่ยาก ซับซ้อนหลายระดับ  


ความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องค่าจ้างทำให้นำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจในแรงงานผู้หญิงพม่าด้วย ทำให้เกิดการพึ่งพาผู้ชาย ตลอดจนนำไปสู่ปัญหาการยอมจำนนต่อการเป็นเบี้ยล่างเมื่อมีปัญหาครอบครัวผู้หญิงพม่าไม่กล้าปริปาก ตอบโต้ ขัดขืน ปัญหาหนึ่งในครอบครัวแรงงานพม่าคือ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การทุบตี ทารุณภรรยา ผู้ชายดื่มเหล้า และเล่นการพนัน แรงงานผู้หญิงตระหนักดีว่า เธอทำงานได้ดีกว่า อดทนได้ดีกว่าผู้ชาย การจ้างงานระยะยาวหากนายจ้างไม่กดขี่ขูดรีดมากเกินไป จนกระทั่งพวกเขาต้องหนีหรือย้ายงาน แรงงานผู้หญิงจะทำงานอยู่นานและทำได้ดีกว่า แต่องค์ประกอบในความเป็นแรงงานต่างด้าว เช่น ค่าแรงต่ำ ไม่มีบัตรทำงาน ภัยคุกคามผู้หญิง ทำให้แรงงานผู้หญิงไม่สามารถอยู่ด้วยตนเองได้ ผู้เขียนพบว่า ผู้หญิงที่ถูกสามีทอดทิ้ง หรือหนีจากสามีที่ทารุณกรรมมาได้ ส่วนใหญ่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ต้องแต่งงานใหม่ อยู่กับผู้ชายคนใหม่ หากมีลูกติดก็จะเกิดปัญหา ลูกติดกับลูกของเราอีกปัญหาหนึ่งด้วย


 


บทบาท แม่ เมีย ลูกสาว


ผู้หญิงแบกโลกไว้ครึ่งหนึ่งเป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง แต่สำหรับแรงงานผู้หญิงพม่า ต้องบอกว่าเธอแบกโลกไว้ทั้งโลก ผู้หญิงพม่าอยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่สอนให้ผู้หญิงอ่อนน้อม สุภาพ กตัญญู เชื่อฟังผู้ใหญ่ แต่งงานไปก็ต้องเชื่อฟังสามี มีหน้าที่ดูแลครอบครัวให้ดี ผู้หญิงพม่าต้องทำงานอย่างหนัก แบกภาระจากการกำหนดหน้าจากสังคมแล้ว เธอยังแบกภาระทางอ้อมอย่างหนักตั้งแต่ยังอยู่ในประเทศบ้านเกิดมาเกือบครึ่งศตวรรษ โดยเฉพาะผู้หญิงพม่าระดับรากหญ้ามีฐานะยากจน สภาพสังคมพม่าปกครองโดยระบบสังคมนิยมมีรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าปกครองประเทศอยู่นานถึงเกือบกึ่งศตวรรษ ด้วยสภาพการปกครองสังคมนิยมเผด็จการรัฐบาลทหารพม่า มีผลกระทบต่อคนระดับรากหญ้าอย่างมาก นอกจากปัญหาเศรษฐกิจที่ล้มเหลว ประชาชนไม่มีงานทำ รายได้ไม่พอกินแล้ว นโยบายในการสร้างประเทศของพม่าในรูปแบบสังคมนิยมยังกดขี่ขูดรีดชาวบ้านโดยที่พวกเขาไม่มีทางเลือก ผลกระทบจากรัฐบาล คือ


 



  1. การเก็บภาษีผลผลิตทางการเกษตร ชาวนา ชาวไร่ในประเทศพม่า เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจะต้องจ่ายเป็นภาษีในรูปของผลผลิต เพื่อที่รัฐจะนำเข้าไปเป็นกองกลางพัฒนาประเทศ บางปีรัฐบาลเรียกเก็บผลผลิตเกือบครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือชาวนา ชาวไร่แทบไม่พอกิน บางครั้งขายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว

  2.  ในแต่ละปี รัฐบาลจะมีนโยบายสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ หลายโครงการ รวมไปถึงสร้างสถานบริการของรัฐในรูปแบบต่างๆ ตามระบอบสังคมนิยมแบบเผด็จการทหารพม่าจะใช้วิธีเกณฑ์แรงงานจากครอบครัวชาวนามาเพื่อช่วยก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ในหนึ่งครอบครัวต้องส่งแรงงานชายฉกรรจ์ที่มีความแข็งแรงมาช่วยงานบริการสังคม ถือว่าเป็นหน้าที่ของพลเมืองพม่า หากไม่ปฏิบัติตาม รัฐบาลทหารพม่ามีสิทธิพิจารณาตัดสินโทษอย่างเบ็ดเสร็จ หากครอบครัวใดไม่มีแรงงานชายฉกรรจ์ ไม่สามารถส่งแรงงานมาร่วมได้ ครอบครัวนั้นจะต้องรับผิดชอบร่วมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยทั่วไปแล้ว มักจะจ่ายเป็นเงินทดแทนให้กับรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นเงินที่มากสำหรับครอบครัวชาวนา คือ วันละ 3,000 จั๊ดหรือประมาณ 100 บาท ชาวนาที่ฐานะยากจนจึงไม่สามารถจ่ายเป็นเงินทดแทนได้ เพราะฉนั้นจึงต้องสละชายฉกรรจ์ไปทำงานในโครงการของรัฐบาล บางครั้งอาจเป็นพ่อบ้าน หรือลูกชาย

 


ปัญหาเหล่านี้นอกจากส่งผลกระทบกับครอบครัวและฐานะทางเศรษฐกิจแล้ว ยังกระทบต่อชีวิตผู้หญิงพม่าด้วย เมื่อพวกเธอต้องแบกรับภาระและปัญหาทุกอย่างแทนหัวหน้าครอบครัว ทั้งทำงานบ้าน ทำงานในสวนในไร่ และดูแลครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ บรรดาผู้หญิงจะรับภาระงานบ้าน และงานนอกบ้านเพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัว บางคนทำงานมากกว่าหนึ่งอย่างในแต่ละวัน เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวอยู่รอดได้ และเนื่องจากปัญหาความล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ของประเทศพม่า รายได้งานรับจ้างที่นั่นจึงต่ำมาก วันหนึ่งรายได้เพียง 1,500 จั๊ตหรือประมาณไม่เกิน 50 บาท


 


การประสบปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ผู้หญิงพม่าเริ่มต้องก้าวออกมาต่อสู้กับปัญหายากจนของครอบครัว เข้ามาขายแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ที่แม่สอดจังหวัดตาก โรงงานทอผ้า โรงงานเซรามิก เกือบทั้งหมดเป็นแรงงานผู้หญิงพม่า ในขณะที่ตะกั่วป่าจำนวนแรงงานหญิงพม่าสูสีกับแรงงานชายมาก จำนวนใกล้เคียงกัน แต่แรงงานผู้หญิงพม่าเสี่ยงมากกว่า เพราะพวกเธอล้วนเป็นแรงงานผิดกฎหมาย จากตัวเลขที่จดทะเบียนแรงงานอนุญาตทำงานที่สำนักงานแรงงานจังหวัดพังงา แรงงานชายจดทะเบียนอนุญาตทำงานถึง 11,732 คน แต่ผู้หญิงมีเพียง 5,367 คนเท่านั้น แต่ตัวเลขจริงทั้งแรงงานหญิงและชายประมาณห้าหมื่นคน จำนวนชายและหญิงมีครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว ทั้งนี้เพราะความต้องการทางด้านตลาดแรงงานมีมายาคติบทบาททางเพศแฝงอยู่ ที่มองผู้หญิงด้อยกว่าชาย ทั้งด้านสติปัญหา การมีเหตุผล และมองว่าผู้หญิงมีปัญหามากกว่าชายในหลายเรื่องเช่น การท้อง ความอดทน ผู้หญิงใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เป็นต้น


 


จากอคติเหล่านี้ ตัวเลขการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเป็นแรงงานถูกกฎหมายจึงน้อยกว่าชายเกือบครึ่งหนึ่ง ในความเป็นจริงแล้ว แรงงานผู้หญิงพม่าทำงานได้ทุกประเภท และถูกจ้างงานจำนวนมากกว่าชาย เพราะค่าแรงถูกกว่าครึ่งหนึ่งด้วย ฉะนั้นแรงงานผู้หญิงพม่าต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย


 


นอกจากพวกเธอจะแบกภาระที่สังคมมอบให้แล้ว แรงงานผู้หญิงพม่ายังแบกภาระของความเป็นผู้หญิงของครอบครัวอีกหลายระดับ ในฐานะ แม่ เมีย และลูกสาว


 


ในฐานะแม่ บทบาทของความเป็นแม่มีส่วนผลักดันให้แรงงานผู้หญิงพม่าต้องออกมาเผชิญกับโลกภายนอกมากที่สุด และพบกับความกดดันในฐานะแม่มากที่สุดอีกด้วย ในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่บอกว่า ทำงานและเผชิญปัญหาทุกอย่างในฐานะแรงงานต่างด้าวนั้นและยอมอดทนได้เพราะทำเพื่อลูก ซึ่งส่วนใหญ่ลูกจะอยู่กับพ่อแม่ในพม่า เงินที่ส่งกลับบ้านส่งไปเพื่อเป็นค่าเล่าเรียนของลูกและจุนเจือครอบครัวในพม่า หลายคนบอกว่าหากลูกเรียนจบในระดับใดระดับหนึ่ง ระดับสูงที่สุดคือ ระดับปริญญาตรี ก็จะหายกังวล เมื่อลูกเรียนจบ การทำงานในประเทศไทยอาจจะสำคัญรองลงไป คือ อยู่ทำงานต่อหรือกลับพม่าก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลอีกต่อไปแล้ว


 


นอกจากแม่ ประเภทที่มีลูกรอคอยอยู่ที่พม่าแล้ว ยังมีแม่ ประเภทที่แต่งงานมีลูกเกิดในประเทศไทยอีกเกือบห้าสิบเปอร์เซ็นต์ แม่ประเภทนี้มีความกังวลต่อการเจริญเติบโตและความก้าวหน้า การศึกษาของลูก เพราะข้อจำกัดของกฎในโรงเรียนของประเทศไทย บุคคลที่จะเข้าศึกษาในสถานศึกษาของไทยได้นั้นต้องมีสัญชาติไทย เชื้อชาติไทย มีเอกสารรับรองที่ถูกกฎหมาย เช่น ทะเบียนบ้าน สูจิบัตร เอกสารที่ถูกกฎหมายของผู้ปกครอง ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้เด็กพม่าที่เกิดในประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่มีโรงเรียนไหนรับเด็กเหล่านี้เข้าโรงเรียน นอกจากมีกฎข้อบังคับกำหนดไว้แล้ว พวกเขายังเป็นลูกของคนผิดกฎหมาย เป็นลูกของแรงงานเถื่อนในประเทศไทยอีกด้วย


 


ทางออกของแม่ประเภทนี้คือ เมื่อลูกอายุที่จะเข้าโรงเรียนได้ คือ 5 ขวบ พวกเธอจะส่งลูกกลับไปอยู่พม่ากับตา ยาย หรือญาติ ฉะนั้นสิ่งกังวลของพวกเธอก็คือ ต้องเก็บเงินเพื่อพาลูกกลับไปบ้าน หากมีลูกหลายคนเกิดในประเทศไทย ก็จะนำไปส่งพร้อมกันในเทียวเดียวเลย เพราะต้นทุนในการเดินทางกลับบ้านเกิดต้องใช้เงินสูงมาก ส่วนตัวพวกเธอเอง แม้จะคิดถึงบ้านมากแค่ไหนก็ต้องอดทน เก็บความคิดถึงไว้ข้างใน การส่งเงินกลับบ้านและเก็บเงินก้อนโตสำคัญกว่าสิ่งอื่น แรงงานผู้หญิงพม่าบางคนไม่ได้เดินทางกลับบ้านเลยในรอบห้าปีที่มาทำงานในประเทศไทย เมื่อภาระส่งลูกกลับบ้านแล้ว แม่ประเภทที่สองยังต้องรับภาระหนัก และเป็นยอมรับสภาพแรงงานเถื่อนในประเทศไทยต่อไป จนกว่าลูกๆ ของพวกเธอจะจบการศึกษาและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน


 


และอีกส่วนใหญ่ แรงงานผู้หญิงพม่ามีลูกหลายคน ไม่สามารถส่งลูกเรียนได้ครบทุกคน ลูกที่ไม่ได้รับการศึกษาและลูกคนที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานคือ ชั้นประถมแล้ว ก็มักจะดิ้นรนหาทางมาอยู่ประเทศไทยเพื่อหางานทำ ซึ่งก็ไม่พ้นที่จะตกเป็นภาระของเธออีก จนกว่าลูกจะแยกครอบครัวแต่งงานออกไป แต่โดยทั่วไปแล้ว แม่ประเภทนี้ยังต้องรับภาระเลี้ยงดูหลาน เป็นวงจรภาระที่ไม่จบสิ้นของความเป็นแม่ แรงงานผู้หญิงพม่า


 


แรงงานผู้หญิงพม่าในฐานะเมีย ฐานะของผู้หญิงจะด้อยกว่าชายตามบริบทสังคมพม่า ภาระเรื่องการดูแลครอบครัวให้สงบสุข ภาระในการดูแลลูก ภาระในการห้องหาอาหาร ภาระในการดูแลบ้านจึงตกเป็นของผู้หญิงทั้งหมด พวกเธอต้องทำงานบ้านให้เรียบร้อย หากขาดตกบกพร่อง จะมีแต่ข้อตำหนิติเตียนจากทั้งสามีและเพื่อนบ้าน ภรรยาเป็นส่วนค้ำจุนสามี ซึ่งเป็นภาระในหน้าที่เมียที่แรงงาผู้หญิงพม่าต้องแบกไว้ แต่หากเธอแต่งงานกับผู้ชายที่มีความรับผิดชอบครอบครัวย่อมนับว่าเป็นโชคดี แต่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ครอบครัวแรงงานต่างด้าวมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ทุกคนมาจากครอบครัวที่ยากจน ฉะนั้นแรงงานผู้หญิงพม่า เมื่อแต่งงานแล้วก็ยังต้องทำงานนอกบ้านอีกด้วย นอกจากช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจให้ครอบครัวแล้ว ยังต้องรับผิดชอบภาระครอบครัวตนเองในประเทศพม่าด้วย ซึ่งก็คือ ฐานะลูกสาว พี่สาว น้องสาวที่ต้องส่งเงินให้กับพ่อแม่ พี่น้อง และญาติในประเทศพม่าอีกด้วย ซึ่งเป็นวงจรการรับภาระครอบครัวของแรงงานผู้หญิงพม่า


 


ความเป็นแรงงานต่างด้าว คนชายขอบของสังคมไทย


ประเทศไทยจะใช้นโยบายการกลมกลืน หรือ assimilation ในยุคสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงครามที่ใช้วัฒนธรรมไทยสร้างความเป็นชาติไทย การใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก สร้างรูปแบบการแต่งกายแบบไทย เป็นต้น การสร้างชาตินิยมไทยในยุคนั้น การสร้างไทยให้เป็นแบบเดียวกัน ได้ลดความความสำคัญของสังคมเดิมที่ประกอบด้วยความหลากหลายชาติพันธุ์ลงไป ก่อนหน้านี้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีหลากหลายวัฒนธรรม เมื่อวัฒนธรรมไทยเป็นหนึ่งเดียวด้วยการพูดภาษาไทย มีเชื้อชาติไทย ความเป็นชาติถูกตอกย้ำอยู่ในตำราเรียน อยู่ในสื่อ และระบบราชการอันเข้มแข็งผดุงความเป็นไทยไว้อย่างเหนียวแน่น เมื่อกลุ่มอื่น คนอื่นที่แตกต่างออกไป ก็จะถูกตัดสินว่าไม่ใช่ไทย แต่เป็นอื่น เช่น ชาวเขา ชาวมุสลิม ชาวลาว ชาวเขมร เป็นต้น


 


เมื่อไม่เป็นไทย การปฏิบัติต่อพวกเขาก็ไม่เท่าเทียมทั้งในทางปฏิบัติและในเรื่องนามธรรม คือ ความรู้สึกแบ่งแยก แบ่งเขา แบ่งเราชัดเจน ประกอบกับ พม่าถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นชาติไทย โดยใช้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ยุคเสียกรุงศรีอยุธยา สร้างบาดแผลให้มองว่าพม่าเป็นศัตรูของประเทศ เพื่อรักษาความสามัคคีกลมเกลียวของชาติ "ไทยรบพม่า" จึงเป็นวาทกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อสร้างชาติไทย เป็นวาทกรรมที่สร้าง "ความเป็นอื่น และแบ่งเขา แบ่งเรา" ระหว่างไทยกับพม่าที่เข้มข้น เพราะประวัติศาสตร์ลบและเลือนออกอยากยิ่ง ประวัติศาสตร์เรื่องนเรศวรมหาราชเป็นส่วนหนึ่งในการตอกย้ำสำนึกความเป็นไทย และการเรียนประวัติศาสตร์ในสถานศึกษา เป็นการดำรงความเป็นไทยอย่างแนบแน่น


 


รากเหง้าที่เห็นพม่าเป็นศัตรูยังคงมีอยู่โดยเฉพาะในกลุ่มคนไทยผู้ใช้แรงงาน หากเป็นคนไทยระดับปัญญาชนจะมองพม่าในฐานะคนที่สถานต่ำกว่าคนไทย เป็นกลุ่มคนที่อันตราย โหดร้าย ใจเหี้ยม จากการรับข่าวสารในสื่อที่มักจะลงข่าวเรื่องพม่าฆ่า ปล้นนายจ้างเป็นประจำ นอกจากนี้ยังมองแรงงานพม่าว่าเป็นกลุ่มคนที่นำเชื้อโรคร้ายมาสู่ประเทศไทย เพราะความล้าหลังของวิทยาการเทคโนโลยี และการแพทย์ของพม่า คนพม่ายังคงป่วยในโรคที่หายสาบสูญไปจากสังคมไทยแล้ว นำกลับมาแพร่ในสังคมไทยใหม่อีกครั้ง ภาพพจน์จากสื่อเหล่านี้ จึงทำให้ในสายตาของคนไทยระดับปัญญาชนให้ความรังเกียจและหวาดกลัว มากกว่าจะเห็นใจ แรงงานพม่าบางคนบอกว่า "แม้แต่สุนัขของคนไทย พวกเขายังไม่กล้าเตะ" เพราะความกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย กลัวจะตกงาน กลัวจะถูกแกล้ง สุนัขของคนไทยยังมีสถานะดีกว่าแรงงานต่างด้าวชาวพม่า


 


สำนึกความเป็นไทยนี้ผลักแรงงานผู้หญิงพม่าให้เป็นอื่น พวกเธอถูกดูถูกจากสังคมไทยในแง่คนขายแรงงานที่ทำงานชั้นต่ำ และเป็นชนชั้นที่ต่ำกว่า แรงงานผู้หญิงพม่าได้รับเกียรติน้อยกว่าผู้หญิงต่างชาติชาติอื่นๆ โดยเฉพาะชาติผิวขาว ผมแดงชาวตะวันตก เพราะพวกเธอเป็นแค่แรงงานยากจน คนไทยไม่มองข้อดีที่พวกเขามาช่วยสร้างเศรษฐกิจของไทยให้ดีขึ้น แม้ว่าพวกเธอจะทราบดีว่า หากนายจ้างขาดแรงงานอย่างพวกเธอ จะมีผลทางฐานะเศรษฐกิจของนายจ้าง และส่งผลไปสู่เศรษฐกิจของประเทศได้ แต่พวกเธอมีทางเลือกน้อย เพราะความด้อยในสถานะในทุกด้าน หนึ่ง พวกเธอส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในสถานะแรงงานเถื่อน มีโอกาสถูกจับและส่งกลับประเทศพม่าเมื่อไรก็ได้ สอง พวกเธอคือหญิงพม่า คือแรงงานและคนไทยคือเจ้าชีวิต ชี้เป็นชี้ตายพวกเธอ แรงงานผู้หญิงพม่าเกือบห้าสิบเปอร์เซ็นต์เคยถูกโกงค่าแรง เคยถูกใช้งานหนักเกินติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง  สาม การมีลูกมากของพวกเธอ และในฐานะคนท้องกลับเป็นความผิดของเธอแต่ผู้เดียว การท้องของเธอกลายเป็นคนด้อยโอกาสเรื่องความรู้เรื่องสุขอนามัย เป็นตัวสร้างภาระให้กับรัฐบาลไทยที่ต้องรับภาระในการทำคลอดของพวกเธอ "ลูกยั้วเยี้ย" เป็นคำพูดที่แสดงออกในบริบทของการตำหนิ ปนสังเวช ในความเป็นแม่ของเธอ


 


สรุป


แรงงานหญิงพม่านอกจากเธอจะประสบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน การกดขี่ค่าแรง ปัญหาสุขอนามัย อันเป็นภาระในฐานะผู้ขายแรงงานต่างด้าวและคนชายขอบที่เธอต้องแบกบนบ่าแล้ว เธอยังแบกภาระครอบครัวในฐานะ แม่ เมีย และลูกสาวอีกด้วย แรงงานผู้หญิงพม่าเป็นเรี่ยวแรงสำคัญทั้งของครอบครัว ผู้นำเข้าเงินตราต่างประเทศให้กับประเทศพม่า และในขณะเดียวกัน พวกเธอเป็นส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า แต่การปฏิบัติต่อพวกเธอของรัฐบาลไทย และเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนนายจ้างคนไทย กลับไม่ยุติธรรม ก่อปัญหาให้พวกเธอมากกว่าก่อประโยชน์ พวกเธอต้องเผชิญทั้งปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาที่เป็นผลมาจากกฎหมายแรงงานต่างด้าว รวมไปถึงปัญหาคุณภาพชีวิต โดยปราศจากวี่แววความสนใจในปัญหาของรัฐบาลไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net